ปีแยร์ โชแซฟ ปรูดง เป็นนักปรัชญาอนาธิปไตยชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง เป็นนักคิดคนแรกที่ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนแนวคิดลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) เขามีงานเขียนที่เป็นหนังสือหลายเล่มและบทความจำนวนมากที่พิมพ์เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์แนวอนาธิปไตยหลายฉบับ งานเขียนขึ้นสำคัญที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ Qu’est-ce que la propriété? (ค.ศ. ๑๘๔๐) หรือ What is Property? (ค.ศ. ๑๘๗๖) ในภาษาอังกฤษ
ปรูดงเกิดในครอบครัวที่ยากจนเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๙ ที่เมืองเบอซองซง (Besançon) บิดาเป็นช่างทำถังไม้ใส่เบียร์และคนดูแลโรงเตี๊ยม เมื่ออายุ ๙ ขวบ ปรูดง ทำงานเป็นเด็กดูแลฝูงวัวอยู่ในแถบเทือกเขาชูรา (Jura) ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ครอบครัวอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเพราะมารดาต้องการให้เขาได้เรียนหนังสือและพาไปสมัครเข้าโรงเรียน โดยนายจ้างของสามีช่วยเหลือให้ได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียน ปรูดงซึ่งไม่มีเงินชื้อหนังสือเรียนมักจะอ้างกับครูว่าลืมเอาหนังสือมาและทำให้ถูกลงโทษอยู่เสมอ วิถีชีวิตที่แร้นแค้นและความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนยากไร้ในชนบทจึงมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาตั้งแต่เล็ก ปรูดงใฝ่ฝันที่จะสร้างสังคมในอุดมคติที่เกษตรกร ช่างฝีมือรายย่อย และผู้ใช้แรงงานมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต มีวิถีชีวิตที่สงบ และมั่นคง
การศึกษาทั้งในระบบและการศึกษาด้วยตนเองทำให้ปรูดงมีความรอบรู้หลากหลาย และด้วยความเฉลียวฉลาดเขาจึงได้รับทุนการศึกษาของวิทยาลัยของเมืองเบอซองซง ขณะอายุได้ ๑๖ ปี หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายเขาทำงานเลี้ยงชีพเป็นช่างพิมพ์ในสำนักพิมพ์และมีโอกาสได้อ่านหนังสือ Le Nouveau monde industriel et sociétaire ของชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) นักสังคมนิยมแนวยูโทเปีย (Utopian Socialism) ซึ่งเป็นชาวเมืองเบอซองซงด้วย ปรูดงประทับใจหนังสือเล่มนี้มากจนทำให้เขาเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยมและพยายามหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักคิดเสรีนิยมและนักสังคมนิยมท้องถิ่นคนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ เขายังศึกษาค้นคว้าด้านเทววิทยาและเรียนภาษาละติน กรีก และฮีบรูด้วยตนเองจนสามารถเขียนหนังสือชื่อ Essai de grammaire générate ได้ ต่อมา ปรูดงร่วมกับช่างพิมพ์คนอื่น ๆ จัดตั้งสำนักพิมพ์ขึ้น แต่กิจการไม่ประสบความสำเร็จเพราะเขาและพรรคพวกไม่มีความสามารถด้านการบริหารกิจการใน ค.ศ. ๑๘๓๘ ขณะอายุ ๒๙ ปี ปรูดงได้รับทุนการศึกษาจากบัณฑิตยสภาแห่งเมืองเบอชองชงปีละ ๑,๕๐๐ ฟรังก์เป็นเวลา ๓ ปีติดต่อกัน
ด้วยทุนการศึกษาที่ได้รับทำให้ปรูดงไปศึกษาต่อที่กรุงปารีสใน ค.ศ.๑๘๓๙ เขาเขียนหนังสือ L’Utilité de la célébration du dimanche เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิวัติ และในปีต่อมาก็เขียนหนังสือ Qu’est-ce que la propriété? ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังในเวลาอันสั้น และวรรคทองของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ปรูดงเป็นที่รู้จักกว้างขวางคือ “ทรัพย์สินคือการโจรกรรม” (Property is theft!) เขาอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แก่บัณฑิตยสภาแห่งเบอซองซง แต่ทางสถาบันไม่ค่อยพอใจเนื้อหาของหนังสือและเกิดการถกเถียงกันว่าควรจะให้ทุนการศึกษาแก่ปรูดงต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้รับทุนการศึกษาครบถ้วนในช่วงที่อยู่กรุงปารีส ปรูดงมีโอกาสพบและรู้จักกับคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักคิดสังคมนิยม มีฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin)* ผู้นำของลัทธิอนาธิปไตย และอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* นักสังคมนิยมแนวความคิดนารอดนิค (Narodnik)* มากซ์สนใจหนังสือของปรูดงมากและติดต่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับเขา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สิน
ปรูดงเห็นว่าการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคลทำให้เกิดความอยุติธรรมในสังคมเพราะการครอบครองทรัพย์สินทำให้เกิดกำไรและนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของสังคมจนเกิดเป็นสงคราม ทำให้เกิดวัฏจักรของการเป็นหนี้สินจนเกินความสามารถของผู้ใช้แรงงานที่จะชดใช้ได้ และเกิดระบบการผูกขาด ซึ่งทำให้ผู้ใช้แรงงานกลายเป็นทาส เขาโจมตีเจ้าของที่ดินและนายทุนเพราะเห็นว่าคนเหล่านี้ช่วงชิงผลผลิตหรือกำไรจากกรรมกรที่เป็นผู้ผลิต เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงานของกรรมกร อย่างไรก็ตามปรูดงไม่ได้ต่อต้านการถือครองทรัพย์สินในทุกกรณี เขาสนับสนุนชาวนาหรือช่างฝีมือรายย่อยหรือกรรมกรให้ครอบครองทรัพย์สินขนาดเล็กได้แต่ต้องมีการจัดสรรอย่างยุติธรรม และทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตนเองใช้แรงงานในการผลิต เช่น สิทธิของชาวนาและช่างฝีมือในการเป็นเจ้าของเครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ หรือสิทธิของกรรมกรในการเป็นเจ้าของผลผลิตที่ตนเองผลิตได้ หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากการจำหน่ายผลผลิตนั้น ๆ เขาเห็นด้วยกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันของกรรมกรทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงการบริหารกิจการเองเพื่อต่อต้านการยึดครองของพวกนายทุน อย่างไรก็ตามในขณะที่วิจารณ์ระบบทุนนิยมอย่างรุนแรงว่าเป็นบ่อเกิดแห่งการเอารัดเอาเปรียบและความอยุติธรรมในสังคม ปรูดง ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสังคมนิยมที่ให้สังคมเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้จากการผลิตทั้งหมดและระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จที่ศูนย์กลาง ดังนั้น เขาจึงต่อต้านทั้งระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยม นับว่าเขาเป็นนักสังคมนิยมที่มีความคิดเสรี
ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ ปรูดงถูกฟ้องศาลที่เมืองเบอซองซง เนื่องจากหนังสือ Avertissement aux propriétaires (Warning to Proprietors) ของเขาเสนอแนวคิดที่รุนแรงในรูปของจดหมายโต้ตอบระหว่างปรูดงกับกลุ่มสังคมนิยมแต่คณะลูกขุนไม่เข้าใจประเด็นความคิดของเนื้อหาที่เขาเขียนจึงไม่สามารถตัดสินโทษเขาได้ ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ ปรูดงไปหางานทำที่เมืองลียง (Lyon) และได้งานเป็นเสมียนบริษัท ขนส่งทางนํ้า ทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมาคมช่างทอผ้าของเมืองลียง ซึ่งมีแนวคิดแบบพึ่งพากันและกัน (mutualism) โดยต่างร่วมมือกันบริหารโรงงานและช่วยเหลือกันในด้านเศรษฐกิจ ปรูดงเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการปฏิรูปสังคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการปฏิวัติด้วยความรุนแรง รูปแบบการบริหารของสมาคมช่างทอผ้าเมืองลียงจึงเป็นที่มาของลัทธิอนาธิปไตยแบบพึ่งพาอาศัยกันของปรูดงในเวลาต่อมาเขาเสนอให้กรรมกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แบบหลวม ๆ เพื่อควบคุมวิถีการผลิตร่วมกันและมีหลักการทำงานแบบประชาธิปไตยทั้งหวังว่าจริยธรรมที่แต่ละบุคคลมือยู่จะทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลหมดไปการใช้กำลังบังคับให้ทุกคน ปฏิบัติตามระบบจึงไม่จำเป็น ลัทธิอนาธิปไตยแบบพึ่งพากันและกันของปรูดงมีอิทธิพลต่อกรรมกรในกรุงปารีสซึ่งมีบทบาทในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International)* นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนชาวรัสเซียหลายคน เช่น อะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน ปีเตอร์ ลัฟรอฟ (Peter Lavrov) ปีเตอร์ โครปอตกิน (Peter Kropotkin) และเลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) รวมทั้งกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงในหลายประเทศในเวลาต่อมา เช่น กลุ่มรัสเซีย ปอปปูลิสต์ (Russian Populists)* ในรัสเซีย กลุ่มชาตินิยมอิตาลีหัวรุนแรงในทศวรรษ ๑๘๖๐ กลุ่มสนับสนุนการปกครองแบบสหพันธรัฐสเปนในทศวรรษ ๑๘๗๐ และกลุ่มขบวนการสหการนิยม (syndicalist movement) ในฝรั่งเศสตอนใต้ อิตาลี และสเปน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ ปรูดงลาออกจากงานและกลับไปกรุงปารีส
ปรูดงไม่เห็นด้วยกับการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ศูนย์กลางตามแนวคิดของมากซ์ ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เขาจึงเขียนหนังสือ Philosophie de la misère (The Philosophy of Poverty) โต้แย้งทัศนะของมากซ์ ในปีต่อมา มากช์ จึงเขียน La misère de la philosophie (The Poverty of Philosophy) ตอบโต้อย่างรุนแรงโดยวิจารณ์ปรูดงว่าเป็นนักสังคมนิยมกระฎุมพีเพราะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ความขัดแย้งระหว่างปรูดงกับมากซ์ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสังคมนิยมเสรีกับฝ่ายสังคมนิยมเบ็ดเสร็จและระหว่างกลุ่มอนาธิปไตยกับกลุ่มลัทธิมากซ์ในเวลาต่อมา
เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งทำให้ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) หมดอำนาจ ปรูดงได้เข้าร่วมการปฏิวัติที่เกิดขึ้นและเห็นว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการประกาศระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้นเป็นครั้งแรก เขาเรียกร้องให้รัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นการปฏิรูปพื้นฐานที่สำคัญที่สุด แต่ก็ผิดหวังเพราะรัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้าก่อนรวมทั้งเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง
ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๔๘ ปรูดงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งซ่อม เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๘ เขาได้รับเลือกตั้ง ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคณะกรรมการจัดตั้งโรงงานแห่งชาติ (National Workshop) ที่หลุยส์ บลอง (Louis Blanc) นักสังคมนิยมที่ร่วมในคณะรัฐบาลชั่วคราวผลักดันให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ แม้ปรูดงจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาคนว่างงานด้วยการจัดทำโครงการต่าง ๆ ของโรงงานแห่งชาติเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง แต่ต่อมาเมื่อมีการเสนอให้ยุบ เลิกโรงงานแห่งชาติเพราะดำเนินการไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เขาไม่ต้องการให้ยุบเลิกจนกว่าจะมีวิธีอื่นที่จะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้
อย่างไรก็ตาม การยุบโรงงานแห่งชาติได้นำไปสู่การจลาจลต่อต้านรัฐบาลจนเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าวันนองเลือด เดือนมิถุนายน (Bloody June Days) ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ด๘๔๘ รัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรงและควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด ปรูดงไม่เห็นด้วยกับการจลาจลที่เกิดขึ้นเพราะเขาสนับสนุนการปฏิรูปประเทศโดยสันติวิธีและต่อต้านวิธีการรุนแรงทุกรูปแบบ หลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนมิถุนายน ปรูดงถูกฝ่ายอนุรักษนิยมในสภาที่มีอาดอลฟ์ ตีเย (Adolphe Thiers)* เป็นผู้นำต่อต้านอย่างมากเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาซึ่งเสนอให้ยกเลิกการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ปัญหาการแก้เศรษฐกิจมีส่วนทำให้ความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในสภาๆ รุนแรงมากขึ้น
ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๐ ปรูดงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ คือ La représentant du Peuple (กุมภาพันธ์-สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๘) Le Peuple (กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๘ - มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๙) La Voix du Peuple (กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๙ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๐) Le Peuple de 1850 (มิถุนายน-ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๐) ปรูดงซึ่งถือว่าเขาเป็นคนนอกแวดวงการเมืองมักเขียนเยาะเย้ยถากถางและวิจารณ์นโยบายและการทำงานรัฐบาลของประธานาธิบดี ชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน (Charles Louis Napoleon)* อย่างรุนแรง แม้งานเขียนของเขาจะเป็นที่นิยมของผู้ใช้แรงงานแตกทำให้รัฐบาลไม่พอใจและมักจะถูกตรวจสอบและเซ็นเซอร์อยู่เสมอ ปรูดงเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานขึ้นมามีอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจแทนนายทุนและนักการเงินเขาเชื่อว่าการมีสถาบันการเงินที่บริหารโดยกรรมกรจะทำให้การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แพงหมดสิ้นไป ดังนั้น ในต้น ค.ศ. ๑๘๔๙ ปรูดงซึ่งต้องการสร้างแบบอย่างของการปฏิรูปด้านการเงินได้พยายามก่อตั้งธนาคารของประชาชน (People’s Bank) ขึ้นเพื่อให้บริการเงินกูดอกเบี้ยตํ่าและออกพันธบัตรแลกเปลี่ยน (exchange notes) เพื่อใช้หมุนเวียนแทนเงินตราที่ใช้ทองคำกำหนดมาตรฐาน แต่ความพยายามของปรูดงไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลจึงเห็นเป็นโอกาสดำเนินการกับเขาด้วยการให้สภาฯ ยกเลิกการคุ้มครองปรูดงจากการถูกส่งตัวฟ้องศาล เขาจึงถูกจับในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ และถูกศาลตัดสินจำคุก ๓ ปีและปรับเป็นเงิน ๓,๐๐๐ ฟรังก์ แต่เขาหลบหนีการจับกุมได้และใช้เวลา ๒ เดือนที่หลบหนีอยู่นั้นเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Le Peuple ด้วยอย่างไรก็ตามในวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๙ เขาก็ถูกจับกุมและถูกจำคุกที่แซงปาลาซี (Sainte-Pelagie)
เพื่อน ๆ ของปรูดงสามารถเข้าไปเยี่ยมเขาในคุกและเขาได้รับอนุญาตให้ออกมานอกคุกได้เป็นครั้งคราวแต่ก็ต้องอยู่ภายในกรุงปารีสเท่านั้น ในระหว่างที่รับโทษอยู่ปรูดงแต่งงานและมีบุตรชาย ๑ คนในเวลาต่อมา นอกจากนี้ เขายังเขียนหนังสือออกมาอีก ๒ เล่ม คือ Confessions d’un révolutionnaire (ค.ศ. ๑๘๔๙) ว่าด้วยการปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๘๔๘ และ Idée générale de la révolution au XIXe siècle (ค.ศ. ๑๘๔๑) หรือ The General Idea of the Revolution in the Nineteenth Century เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยให้ความเห็นแต่ละประเด็นอย่างละเอียด ปรูดงต้องการเห็นสังคมโลกเป็นแบบสหพันธรัฐที่ไม่มีการกำหนดเส้นพรมแดนหรืออาณาเขตของประเทศมีการใช้สัญญาเสรี (free contracts) แทนกฎหมายและการกระจายอำนาจการปกครองให้คอมมูนหรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น
ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ปรูดงได้รับการปล่อยตัว แต่ตำรวจยังคอยควบคุมตรวจสอบเสมอจนไม่สามารถตีพิมพ์ผลงานได้ เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการให้คำแนะนำด้านการลงทุนแก่นักลงทุนอย่างลับ ๆ และทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ปรูดงล้มป่วยและแม้จะสามารถรักษาตัวจนหายแต่สุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ หนังสือ ชุด ๓ เล่มของเขา De la justice dans la révolution et dans I’église (Justice in the Revolution and in the Church) ได้รับการจัดพิมพ์ เนื้อหาหนังสือที่โจมตีองค์กรคริสตจักรคาทอลิกว่าบั่นทอนเสรีภาพของมนุษย์ และมีปัญหาเรื่องคุณธรรมอยู่เสมอ ทำให้ตำรวจสั่งยึดและปรูดงถูกจับกุม ศาลตัดสินให้จำคุกเขา ปรูดงจึงลี้ภัยไปอยู่ในเบลเยียมจนถึง ค.ศ. ๑๘๖๒
ในหนังสือ Du Principle fédératif (Principle of Federation ค.ศ. ๑๘๖๓) ปรูดงแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดชาตินิยม และเสนอความคิดเกี่ยวกับสหพันธรัฐยุโรปโดยชี้ว่าชาตินิยมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม ฉะนั้น เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดชาตินิยม ยุโรปควรจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐยุโรป เพราะระบบสหพันธรัฐจะช่วยคํ้าประกันเสรีภาพและกฎหมาย และจะเข้ามาทดแทนระบบฟิวดัลและสังคมคริสเตียนซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องมีทหารกับพระ ปรูดงคาดการณ์ว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จะเป็นยุคของสหพันธรัฐในต้น ค.ศ. ๑๘๖๕ ขณะที่นอนป่วยอยู่บนเตียง เขาเขียนผลงานชิ้นสุดท้าย คือ De la capacité politique des classes ouvrières ซึ่งเรียกร้องกรรมกรให้ปลดแอกตัวเองโดยใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ จากนั้นไม่นาน ปรูดงก็เสียชีวิต เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๕ ศพของเขาสงอยู่ที่สุสาน มงปาร์นาส (Montparnasse) ในกรุงปารีส.