โรมาโน โปรดี เป็นศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์นักการเมือง และรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของอิตาลี เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๖-๑๙๙๘ และ ค.ศ. ๒๐๐๖-๒๐๐๘ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุด
โปรดีเกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ที่เมืองสกันดีอาโน (Scandiano) ในภูมิภาคเอมีเลีย (Emilia) หรือเอมีเลีย-โรมัญญา (Emilia-Romagna) เขาเป็นบุตรคนที่ ๘ ในบรรดาบุตร ๙ คนของมารีโอ โปรดี (Mario Prodi) วิศวกรที่มีพื้นเพมาจากชาวนา และเอนรีกา (Enrica) ครูสอนในโรงเรียนประถมศึกษา โปรดีมีพี่สาว ๒ คน พี่ชาย ๕ คน และน้องชายอีก ๑ คน ซึ่งในบรรดาพี่ชายกับน้องชาย ๖ คน นี้ ๕ คนเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับเขาส่วนอีกคนคือ วิตตอรีโอ โปรดี (Vittorio Prodi) เป็นสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament-EP)
โปรดีรับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่บ้านเกิดในภูมิภาคเอมีเลีย หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมลูโดวีโก อารีออสโต (Liceo Ludovico Ariosto) เขาก็เข้าศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งแซเครดฮาร์ต (Catholic University of the Sacred Heart) ที่เมืองมิลาน (Milan) และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๖๑ โดยได้รับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายจากการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง The Role of Protectionism in the Development of Italian Industry หลังจากนั้น เขาไปศึกษาต่อในระดับหลังปริญญาในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Economics) ประเทศอังกฤษ
หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๖๓ โปรดีเดินทางกลับอิตาลีและเข้าทำงานครั้งแรกที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา (Bologna) โดยได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนของเบนีอามีโน อันเดรอัตตา (Beniamino Andreatta) ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของอิตาลี การทำงานทางวิชาการของเขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะใน ค.ศ. ๑๙๖๖ โปรดีได้รับแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาองค์การอุตสาหกรรมและนโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Organization and Industrial Policy) ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ โปรดีสอนอยู่ที่โบโลญญาจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๙ ในระหว่างนั้นเขายังได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) และเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) สหรัฐอเมริกา งานวิจัยของโปรดีส่วนใหญ่ว่าด้วยกฎระเบียบของการแข่งขันและการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ เขายังให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตลาด และพลวัตของทุนนิยมในรูปแบบต่าง ๆ
โปรดีเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองของอิตาลีในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปกลางซ้าย (left-of-center reformist) เขาอยู่ในกลุ่มสานุศิษย์และผู้ที่นิยมอันเดรอัตตานักเศรษฐศาสตร์ซึ่งต่อมาเป็นนักการเมืองด้วย ชีวิตทางการเมืองของโปรดีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับชีวิตทางวิชาการ ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ในสมัยรัฐบาลจูลีโอ อันเดรออตตี (Giulio Andreotti) เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี นอกจากนี้ ตลอดทศวรรษ ๑๙๘๐ จนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ โปรดียังได้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการเมืองติดต่อกันหลายชุด
ในวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๘ โปรดีและอาจารย์ มหาวิทยาลัยโบโลญญาบางคนได้ส่งต่อใบปลิวอย่างลับ ๆ ที่เปิดเผยสถานที่ซ่อนอัลโด โมโร (Aldo Moro)* อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่ถูกพวกฝ่ายซ้ายกลุ่มบริเกตรอสเซเรดบริเกต (Brigate Rosse Red Brigates) ลักพาตัวไปกักขังไว้ให้แก่บุคคลในแวดวงมหาวิทยาลัยโปรดีอ้างว่าเขาได้รับเอกสารลับนี้มาจากคนบางคนในกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคคริสเตียนเดโมแครต โดยไม่เปิดเผยที่มาที่แท้จริง แต่อ้างว่าคนเหล่านั้น ได้เอกสารนี้ มาจากการสื่อสารกับดวงวิญญาณในหลุมฝังศพโดยผ่านทางคนทรง นอกจากนี้ เขายังอธิบายว่าคำว่า “กราโดลี” (Gradoli) ที่ปรากฏอยู่ในใบปลิวน่าจะหมายถึงตำบลหรือชนบทที่อยู่ใกล้ ๆ กรุงโรม หรืออาจหมายถึงที่อยู่ในกรุงโรมอันเป็นที่ซ่อนตัวของโมโรหรือเซฟเฮาส์ของพวกบริเกตที่ตั้งอยู่เลขที่ ๙๖ ถนนกราโดลี (Via Gradoli) ก็เป็นได้คำบอกเล่าของโปรดีก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงความเกี่ยวพันของโปรดีกับการหายตัวไปของโมโร รวมทั้งสาเหตุของการสร้างกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ชาวอิตาลีในคณะกรรมาธิการยุโรปบางคนถึงกับวิจารณ์ว่าโปรดีสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเองเพื่อปกปิดแหล่งที่มาที่แท้จริงของใบปลิวดังกล่าวซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายจัด เรื่องนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งใน ค.ศ. ๒๐๐๕ เมื่อโปรดีถูกมารีโอ สการาเมลลา (Mario Scaramella) กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกสายลับเคจีบี (KGB)* ของรัสเซีย ซึ่งเขาเคยถูกกล่าวหามาแล้วในทศวรรษ ๑๙๙๐ โดยคณะกรรมาธิการมีโตรคิน (Mitrokhin Commission) อย่างไรก็ดี ก็ไม่มีผู้ใดสามารถจับผิดโปรดีได้
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒-๑๙๘๓ และ ค.ศ. ๑๙๙๓-๑๙๙๔ โปรดี ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและเป็นนักเจรจาที่สามารถได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของสถาบันควบคุมอุตสาหกรรมหรือไออาร์ไอ (Industrial Restricting Institute-IRI) ของอิตาลีซึ่งเป็นบรรษัทอุตสาหกรรมผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในเครือที่รัฐเป็นเจ้าของในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนี้เขาถูกตั้งกรรมการสอบสวนถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเกิดจากการถูกกล่าวหาในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการให้เงินทุนแก่บริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจที่เขาเป็นเจ้าของ ส่วนในกรณีที่ ๒ เกี่ยวข้องกับการขายอาหารของบริษัทยูนิลีเวอร์ (Unilever) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่รัฐบาลมีหุ้นอยู่ โดยโปรดีถูกกล่าวหาว่าเขา ได้รับเงินตอบแทนเป็นค่าให้คำปรึกษาแก่บริษัทนี้แต่ในที่สุด เขาก็ผ่านพ้นข้อกล่าวหาทั้ง ๒ ครั้งไปได้ด้วยดี
ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ โปรดีเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งพรรคการเมืองผสมของพวกกลางซ้ายชื่อพรรคโอลีฟทรี (Olive Tree) ต่อมาเขายังได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๖ โปรดีได้รับชัยชนะเหนือซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี (Silvio Berlusconi) เขาจึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ งานสำคัญของโปรดีเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในฐานะยํ่าแย่อย่างเร่งด่วนอันเป็นการสานต่องานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานหนักที่ยังมองไม่เห็นทางว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร นอกจากนี้ เขายังต้องดำเนินการจัดการในเรื่องการเงินและการคลังของประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของระบบการเงินยุโรปหรืออีเอ็มเอส (European Monetary System-EMS) และปรับระบบต่าง ๆ เพื่อนำประเทศเข้าร่วมในเขตการใช้เงินยูโร (Eurozone) ของสหภาพยุโรปให้เสร็จเพื่อนำเสนอต่อสหภาพยุโรปภายในสิ้น ค.ศ. ๑๙๙๘ ซึ่งเขาก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานทั้ง ๓ เรื่องภายในเวลาเพียง ๖ เดือนกว่าเล็กน้อยเท่านั้น
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๗ เสถียรภาพทางการเมืองของโปรดีเริ่มสั่นคลอนเพราะพรรคคอมมิวนิสต์รีเฟาน์เดชัน (Communist Refoundation Party) ประกาศยุติการสนับสนุนรัฐบาลของเขา นอกจากนั้น รัฐบาลยังถูกพรรคฝ่ายค้านนำโดยมัสซีโม ดาเลมา (Massimo D’Alema) ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ในที่สุดรัฐบาลก็แพ้การออกเลียงในวันที่ ๒๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๘ โปรดีจึงต้องลาออกพร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ นับเป็นครั้งแรกใประวิติศาสตร์ของสาธารณรัฐอิตาลีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะต้องลาออกเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะในอดีตรัฐบาลสาธารณรัฐพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากแพ้การออกเสียงในการผ่านกฎหมายสำคัญ ๆ เท่านั้น อย่างเช่น กฎหมายงบประมาณ อย่างไรก็ดี โปรดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาจนถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ และพ้นตำแหน่งหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยดาเลมา
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ โปรดีซึ่งเป็นนักยุโรปนิยมที่แข็งขันผู้หนึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงเบอร์ลินซึ่งจัดประชุมในระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนที่ ๑๐ สืบต่อจากซองแตร์ที่ต้องลาออกพร้อมคณะกรรมาธิการทั้งชุด ในกลางเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เนื่องจากถูกตั้งกรรมการสอบสวนความไม่โปร่งใสในการดำเนินงานของกรรมาธิการบางกรม (directorate-general) ในการอนุมัติการแต่งตั้งจากรัฐสภายุโรปโปรดีได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากสมาชิกรัฐสภาในกลุ่มพรรคคริสเตียนเดโมแครต และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) นอกจากนี้ เขายังได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากหลายฝ่ายในสหภาพยุโรป
งานสำคัญชิ้นแรกของโปรดีที่นอกเหนือจากการแต่งตั้งกรรมาธิการ (commissioner) ซึ่งเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบแล้ว คือการปฏิรูปคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งคณะครั้งใหญ่และครั้งแรกนับแต่จัดตั้งประชาคมยุโรปในทศวรรษ ๑๙๕๐ ซึ่งเป็นการปฏิรูปทั้งในด้านโครงสร้างและประสิทธิภาพในการทำงานของกรมต่าง ๆ รวมทั้งมีการปรับนโยบายในบางเรื่องด้วย การปฏิรูปของโปรดีสำเร็จและประกาศใช้ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ นอกจากนี้ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๒ สหภาพยุโรปยังประสบความสำเร็จในการนำเงินยูโร (Euro)* ที่เป็นธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ออกมาใช้ในเขตการใช้เงินยูโร ๑๒ ประเทศ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สเปน โปรตุเกส และกรีซ โดยที่ประเทศเหล่านี้ได้ยกเลิกการใช้เงินในสกุลเดิมของตนที่เคยใช้กันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีและหันมาใช้เงินยุโรปร่วมกัน โปรดีจึงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้การบูรณาการทางด้านการเงินของสหภาพยุโรปบรรลุขั้นตอนสำคัญตามกำหนดเวลาซึ่งมีผลให้การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรปเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ในสมัยที่โปรดีเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปยังประสบความสำเร็จในการดำเนินงานสำคัญ ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการรับสมาชิกใหม่จากยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์รวมทั้งประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรวม ๑๐ ประเทศ ที่เริ่มสมัครเข้าเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็มาบรรลุผลในสมัยที่เขาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปโปรดีมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเปิดการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ โคเปนเฮเกน [ (Copenhagen Criteria) ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความพร้อมทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศผู้สมัคร] ครบทุกข้อ รวมทั้งให้สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จนประเทศผู้สมัครทั้ง ๑๐ ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย สโลวีเนีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย ไซปรัส และมอลตา ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไปได้และสามารถลงนามในสนธิสัญญาเข้าเป็นสมาชิก (Accession Treaty) ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ประเทศเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ทำให้สหภาพยุโรปมีสมาชิกเพิ่มจาก ๑๕ ประเทศ เป็น ๒๕ ประเทศ
งานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การลงนามในสนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๑ ซึ่งเป็นการแก้ไขสนธิสัญญามาสตริกต์ครั้งที่ ๒ และเป็นการเติมเต็มส่วนที่สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ค.ศ. ๑๙๙๗ ยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานบางเรื่องของสหภาพยุโรปเพื่อรองรับการมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ ก่อนหน้านี้จัดทำขึ้นสำหรับรองรับสมาชิกรุ่นแรก ๆ เพียง ๑๐ กว่าประเทศเท่านั้นและส่วนใหญ่ประเทศเหล่านั้นมาจากยุโรปตะวันตกซึ่งมีภูมิหลังและสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ โปรดียังเป็นผู้ริเริ่มนำระบบการประชุมที่เรียกว่า “Convention method” มาใช้เป็นครั้งแรกในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยรัฐธรรมนูญยุโรป (Treaty on Constitution for Europe) เพื่อรวมสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปเข้าด้วยกัน โดยมีวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’ Estaing)* อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นประธาน แม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ซึ่งได้รับการลงนามใน ค.ศ. ๒๐๐๔ จะไม่ผ่านการให้สัตยาบันจากชาติสมาชิกหลักบางประเทศจนต้องล้มเลิกไปในที่สุด แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญยุโรปหลายประการก็ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ค.ศ. ๒๐๐๙ ซึ่งใช้แทนสนธิสัญญาว่าด้วยรัฐธรรมนูญยุโรปความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการของโปรดี ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปในช่วงสมัยที่โปรดีเป็นประธานกลับมามีอำนาจและอิทธิพลอีกครั้งหนึ่งสื่อบางฉบับถึงกับยกย่องว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ดี โปรดีได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ก่อนการครบวาระในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ปีเดียวกันหลังจากนั้น เขาก็กลับเข้าสู่วงการเมืองของอิตาลีโดยทันทีโดยเข้าร่วมงานกับพรรคสหภาพ (The Union) ซึ่งเป็นพรรคร่วมของกลุ่มกลางซ้ายกลุ่มต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ โปรดีต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๐๖ แต่เนื่องจากเขาไม่สังกัดพรรคการเมืองใดที่จะเป็นผู้ส่งเขาลงแข่งขันในนามพรรคอย่างเป็นทางการ โปรดีจึงจัดให้มีการเลือกตั้งรอบแรก (primary election) เพื่อหยั่งเสียงก่อนการเลือกตั้งจริง ซึ่งโปรดีเห็นว่าเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่จะนำความเห็นของประชาชนเข้ามาใกล้การเมืองของประเทศมากที่สุดนับเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งประเภทนี้ถูกนำมาใช้ในยุโรปและในการเลือกตั้งรอบแรกที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ โปรดีก็ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ ๗๐ ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งจำนวนกว่า ๔ ล้านคน เขาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพรรคสหภาพในการเลือกตั้งจริงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๖ ซึ่งเขาก็ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงที่ห่างจากคู่แข่งจำนวน ๒๕,๐๐๐ เสียง
การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่ ๒ ของโปรดีต้องล่าช้าออกไปราว ๑ เดือน เนื่องจากประธานาธิบดีการ์โล อาเซกลีโอ ชีอัมปี (Carlo Azeglio Ciampi) กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระในต้นเดือนพฤษภาคมจึงไม่มีเวลาพอที่จะดำเนินงานตามกระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากการเลือกตั้งจอร์จีโอ นาโปลีตาโน (Giorgio Napolitano) เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากชีอัมปี เรียบร้อยแล้ว ประธานาธิบดีนาโปลีตาโนก็ให้โปรดีเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ โปรดีและคณะรัฐมนตรีทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลโปรดีประกอบด้วยนักการเมืองส่วนใหญ่จากพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นพวกกลางซ้าย นอกจากนี้ก็ยังมีโตมาโซ ปาโดอา-สกีออปปา (Tomaso Padoa-Schioppa) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ซึ่งไม่สังกัดพรรคการเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐบาลของเขาผ่านการลงมติรับรองจากสภาสูงหรือวุฒิสภาในวันที่ ๑๙ และจากสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ก่อนหน้านั้น ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ โปรดีได้แถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และได้กล่าวยํ้าในนโยบายต่างประเทศตอนหนึ่งว่า รัฐบาลของเขามีนโยบายที่จะถอนกองกำลังทหารอิตาลีออกจากอิรัก เพราะสงครามอิรักเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงที่มิใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างใดแต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาทางด้านความมั่นคงอย่างมาก
แม้ว่ารัฐบาลผสมของโปรดีจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในจำนวนที่วางใจได้ แต่เสียงข้างมากในสภาสูงมีจำนวนหมิ่นเหม่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ อิตาลี (Communist Party of Italy) พรรคคอมมิวนิสต์ รีเฟาน์เดชัน พรรคมาร์การีตา (Margarita) และพรรคสหภาพประชาธิปไตยสำหรับยุโรป (Union of Democrats for Europe) จึงทำให้ยากที่จะกำหนดนโยบายให้เป็นเอกภาพในเรื่องที่สำคัญ ๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศและนโยบายการส่งทหารอิตาลีไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ดี ในช่วง ๒-๓ เดือนแรกชองรัฐบาลโปรดีสมัยที่ ๒ เขาก็ประสบความสำเร็จในการเสนอให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ (International Peacekeeping Force) ในเลบานอนหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนใน ค.ศ. ๒๐๐๖
ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๐๗ เพียง ๙ เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลโปรดีก็ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อรัฐมนตรี ๓ คนประกาศว่าจะไม่ออกเสียงในรัฐสภาเพื่อสนับสนุนการอนุมัติค่าใช้จ่ายสำหรับกองกำลังรักษาสันติภาพอิตาลีในอัฟกานิสถานอีกต่อไป การประกาศ ดังกล่าวสะท้อนว่าพรรคร่วมรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพในด้านนโยบายอย่างรุนแรง ต่อมาในปลายเดือนเดียวกันแม้รัฐบาลจะมีชัยชนะในการผ่านกฎหมายการขยายฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่กาแซร์มาเอแดร์เล (Caserma Ederle) แต่ก็ชนะอย่างเฉียดฉิว จนกระทั่งรองนายกรัฐมนตรีฟรันเชสโก รูเตลลี (Francesco Rutelli) วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเพียงพอในขณะเดียวกันเกรเมนเต มัสเตลลา (Cremente Mastella) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มาจากพรรคสหภาพเดโมแครตสำหรับยุโรปก็กล่าวว่าเขายินดีที่จะเห็นรัฐบาลล้มควํ่าแทนการสนับสนุนกฎหมายที่เขาไม่เคยเห็นด้วยเหตุการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อประชาชนนับหมื่นคนเดินขบวนประท้วงการขยายฐานทัพกาแซร์มาเอแดร์เลที่เมืองวีเชนซา (Vicenza) ซึ่งมีบุคคลในระดับหัวหน้าของพรรคฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงรวมอยู่ด้วย ต่อมาในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ ก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อนในวุฒิสภา ในขณะเดียวกันดาเลมาซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ประกาศที่เมืองอีบีซา (Ibiza) สเปนในระหว่างการเยือนประเทศนั้นอย่างเป็นทางการว่า หากรัฐบาลไม่ได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนนโยบายต่างประเทศรัฐบาลจะลาออก ในวันต่อมาดาเลมายังได้กล่าวสุนทรพจน์ในวุฒิสภาในฐานะผู้แทนรัฐบาลเพื่อแถลงนโยบายต่างประเทศและขอให้สภาออกเสียงคัดค้านหรือสนับสนุนเพื่อให้ความเห็นชอบนโยบายเกี่ยวกับการขยายฐานทัพดังกล่าวแม้ว่าวุฒิสมาชิกหลายคนจะกลัวว่าความพ่ายแพ้ของโปรดีจะนำแบร์ลุสโกนีกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งแต่วุฒิสมาชิกเหล่านั้นก็ไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนโปรดีเขาจึงแพ้ด้วยคะแนนเสียง ๑๕๘ ซึ่งขาดไปเพียง ๒ เสียง จึงจะได้เสียงข้างมาก ๑๖๐ เสียง
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ โปรดีได้ยื่นใบลาออกต่อประธานาธิบดี นาโปลีตาโนซึ่งระงับการเดินทางไปเยือนโบโลญญา เพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเข้าพบ ต่อมา โฆษกนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าโปรดียอมรับที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ในกรณีที่เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพรรคการเมืองทุกพรรคที่รวมกันเป็นเสียงข้างมากเท่านั้น พร้อมกันนั้นโปรดีก็ได้ออกเอกสารที่ระบุข้อเสนอทางการเมือง ๑๒ ข้อ อันเป็นเงื่อนไขสำหรับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ บรรดาผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกลาง-ซ้ายก็ให้การสนับสนุนเอกสารดังกล่าวซึ่งทำให้ประธานาธิบดีนาโปลีตาโนยากที่จะตัดสินใจ ในที่สุดหลังการหารือกับบรรดาผู้นำพรรคการเมืองต่าง ๆ แล้วในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ เขาก็ตัดสินใจขอให้โปรดียังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมีเงื่อนไขว่าการเข้ารับตำแหน่งของเขาจะต้องผ่านการออกเสียงไว้วางใจจากสภาทั้ง ๒ สภา โปรดีรับข้อเสนอนี้และประกาศว่าจะให้มีการออกเสียงในสภาทั้งสองโดยเร็วที่สุดเมื่อมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง มีเอกภาพและมีความตั้งใจจริงในการทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ วุฒิสภาก็ผ่านการให้ความไว้วางใจแก่รัฐบาลโปรดีด้วยคะแนนเสียง ๑๖๒ ต่อ ๑๕๗ แม้ว่าจะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล กลาง-ขวา ต่อมาในวันที่ ๒ มีนาคม โปรดีกลับได้รับชัยชนะอย่างงดงามตามความคาดหมายจากการออกเสียงไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง ๓๔๒ ต่อ ๑๙๘ เสียง เขาจึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ โปรดียังได้รวมพรรคการเมืองกลุ่มกลาง-ซ้าย ๒ พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยของฝ่ายซ้าย (Democrats of the Left) และพรรคประชาธิปไตยคือเสรีภาพ (Democracy is Freedom) เข้าเป็นพรรคเดียวกันในชื่อพรรคเดโมแครต (Democratic Party) โดยเขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก
อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ โปรดีก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อมัสเตลลารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและหัวหน้าพรรคประชาชนสหภาพประชาธิปไตยสำหรับยุโรป (Popular-UDEUR) ลาออกจากตำแหน่งในต้นเดือนมกราคมหลังจากซันดรา โลนาร์ดา (Sandra Lonarda) ภรรยาของเขาถูกจับกุมในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ในตอนแรกมัสเตลลากล่าวว่าเขาจะให้การสนับสนุนรัฐบาลต่อไปแม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่อีก ๒-๓ วันต่อมา เขากลับกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลขาดเอกภาพโดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่และประกาศว่าพรรคของเขาจะไม่ออกเสียงสนับสนุนการผ่านกฎหมายใด ๆ อีก นอกจากนี้ ในวุฒิสภายังมีวุฒิสมาชิกอีก ๓ คนในสังกัดพรรคของมัสเตลลาที่เป็นกำลังสำคัญต่อต้านรัฐบาลโปรดี ทำให้รัฐบาลผสมของโปรดีมีเสียงส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างเฉียดฉิว อย่างไรก็ดีในวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๘ โปรดีก็เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นการชั่วคราวเพื่อรอให้ผ่านการออกเสียงรับรองจากสภาทั้งสองก่อน โปรดีได้รับชัยชนะในการออกเสียงรับรองเพื่อให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกตำแหน่งหนึ่งจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงข้างมากที่ชัดเจนเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม แต่ในการออกเสียงของวุฒิสภาในวันรุ่งขึ้นเขากลับพ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียง ๑๕๖ ต่อ ๑๖๑ และงดออกเสียง ๑ เสียง เขาจึงยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดีนาโปลีตาโนอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุมัติ
ในปลายเดือนมกราคม ประธานาธิบดีนาโปลีตาโนได้แต่งตั้งฟรันโก มารีนี (Franco Marini) ประธานวุฒิสภาให้ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อดำเนินการปฏิรูปรัฐสภาก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ หลังการหารือกับบรรดาผู้นำพรรคการเมืองและพลังทางการเมืองกลุ่มต่าง ๆ แล้ว ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๘ มารีนีก็เสนอให้ประธานาธิบดียุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่โปรดีจึงยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการต่อมาแต่เขาประกาศว่าจะไม่ยอมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอีกต่อไปในที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๘ แบร์ลุสโกนีแห่งพรรคผสมปีกขวาก็ได้รับชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครตของโปรดี และอีก ๒ วันหลังความ พ่ายแพ้ครั้งนี้ โปรดีก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๘
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว โปรดียังคงทำงานทางด้านการเมืองในสังกัดพรรคเดโมแครตต่อมาพร้อมกับทำงานทางด้านการสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในอิตาลีและต่างประเทศโปรดีได้รับการยอมรับในความสามารถทั้งทางด้านวิชาการและการบริหารจัดการในระดับระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ในวันที่ ๑๒ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๘ เขาได้รับแต่งตั้งจากบัน คี มูน (Ban Ki Moon) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานร่วมองค์การสหภาพแอฟริกัน-สหประชาชาติ เพื่อการรักษาสันติภาพในแอฟริกา (Joint African Union-UN Peacekeeping Panel) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๙ เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญ (Professor-at-Large) ของสถาบันวัตสันเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ (Watson Institute for International Studies) ของมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) สหรัฐอเมริกา ความเชี่ยวชาญทางด้านการสอนและการทำงานวิจัยทำให้โปรดีได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาเกือบ ๒๐ แห่ง ในอิตาลีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รวมทั้งอเมริกาเหนือ เอเชีย และแอฟริกา ทั้งยังได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติและความสามารถของเขาจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศ
ในด้านชีวิตส่วนตัว โรมาโน โปรดีสมรสกับฟลาเวีย ฟรันโซนี (Flavia Franzoni) และมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ จอร์จีโอ โปรดี (Giorgio Prodi) และอันโตนีโอ โปรดี (Antonio Prodi).