สาธารณรัฐตุรกีเป็นประเทศที่สืบมาจากจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ซึ่งเป็นพันธมิตรฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ และจัดทำสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sèvres)* กับรัฐบาลจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ซึ่งทำให้จักรวรรดิออตโตมันล่มสลายและมีการแบ่งแยกดินแดนรวมทั้งกำหนดเขตแดนใหม่ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal)* ผู้นำรัฐบาลใหม่ที่แยกตัวออกจากรัฐบาลสุลต่านที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ต่อต้านสนธิสัญญาแซฟวร์เพราะเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ตุรกีมากเกินไป เคมาลเรียกร้องให้จัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่ซึ่งนำไปสู่การจัดทำสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ อีก ๓ เดือนต่อมา เคมาลก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีจึงนับเป็นการสิ้นสลายของจักรวรรดิออตโตมันอย่างสมบูรณ์ และเป็นการเริ่มต้นของประเทศตุรกีใหม่
ตุรกีเป็นดินแดนสองทวีปเพราะมีเนื้อที่ครอบคลุมทั้งส่วนของทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ร้อยละ ๙๗ ของพื้นที่ประเทศอยู่ในเอเชียเรียกว่า อะนาโตเลีย (Anatolia) หรือเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) อีกร้อยละ ๓ อยู่ตรงปลายสุดทางทิศตะวันออกของยุโรปเรียกว่า เทรซ (Trace) ซึ่งเป็นเนินเขา ที่ราบหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำไหลผ่าน มีช่องแคบบอสพอรัส (Bosporus)* ซึ่งยาวประมาณ ๒๙ กิโลเมตร แบ่งอะนาโตเลียออกจากเทรซ และเชื่อมต่อทะเลดำกับทะเลมาร์มะรา (Marmara)ไปออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* ทิศเหนือจดทะเลดำ ทิศตะวันตกจดทะเลอีเจียน (Aegean) และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับบัลแกเรียและกรีซ ทิศตะวันออกติดต่อกับอิหร่าน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับจอร์เจียอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจัน (Azerbaijan) ทิศใต้จดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิรัก และซีเรียที่ตั้งของประเทศดังกล่าวทำให้ตุรกีเป็นจุดเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างยุโรปกับเอเชียทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในสมัยโบราณ เนื้อที่ทั้งหมด ๗๘๓,๕๖๒ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในส่วนทวีปยุโรปทางตอนเหนือและตะวันตกเป็นเขตอุตสาหกรรมและมีความทันสมัยแบบตะวันตก ส่วนในอะนาโตเลียเป็นภูเขาและที่ราบซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ทั้งประชากรยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและแบบแผนชีวิตในอดีตตามบรรพบุรุษ แม่น้ำสายหลักซึ่งยาวที่สุดคือ แม่น้ำคีซิลอิร์มัก (Kizil Irmak) ยาว ๑,๓๕๕ กิโลเมตร ไหลลงสู่ทะเลดำ ภูมิอากาศบริเวณเขตชายฝั่งทะเลเป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งฤดูหนาวไม่หนาวจัดและอากาศชื้น ฤดูร้อนร้อนและอากาศแห้งบริเวณที่ราบตอนในมีอากาศแตกต่างกัน บ้างมีฝนตกน้อยและไม่สม่ำเสมอ ฤดูหนาวอากาศเย็นและมีหิมะฤดูร้อนร้อนและแทบไม่มีฝนตก
ตุรกีประกอบด้วย ๗ ภูมิภาค และแบ่งเขตการปกครองทั้งหมดเป็น ๘๑ จังหวัด มีประชากร ๘๓,๙๕๓,๐๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๒๐) ร้อยละ ๘๕ เป็นชาวเติร์ก ร้อยละ ๑๘ เป็นชาวเคิร์ด (Kurd) ซึ่งมักอาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ได้แก่ ยิว กรีก อาหรับ อาร์เมเนียนและอื่น ๆ ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๙ นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีและที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และศาสนายูดาย ภาษาเติร์ก (Turkish) เป็นภาษาราชการ รองลงมาคือ ภาษาเคิร์ด (Kurdish) และอารบิก (Arabic) สกุลเงินคือลีราตุรกี (Turkish Lira–TRY) กรุงอังการา (Ankara) เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่อันดับ ๒ ของประเทศทั้งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งธัญพืช เพราะจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมและธัญพืชหลากหลายประเภทรวมทั้งขนสัตว์ ขนแกะที่มีคุณภาพดีของอังการาและเขตปริมณฑล นครอิสตันบูล (Istanbul หรือคอนสแตน-ติโนเปิล)เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเพราะมีสุเหร่าที่งดงามและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก เช่น ฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) อิสตันบูลยังเป็นเมืองเดียวที่มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ทั้งในเอเชียและยุโรป ส่วนที่อยู่ในยุโรปแบ่งเป็นอิสตันบูลเก่าและอิสตันบูลใหม่โดยมีทะเลและชายฝั่งที่มีลักษณะเว้าเหมือนเขาสัตว์เรียกว่า โกลเดนฮอร์น (Golden Horn) คั่นอยู่ ประชากรกว่า ร้อยละ ๔๘ อาศัยในกรุงอังการาและนครอิสตันบูลเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น อิซเมียร์ (Izmir) คอนยา (Konya) เบอร์ซา (Bursa) ตุรกีใช้ธงชาติที่มีพื้นสีแดงมีรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวสีขาวอยู่กึ่งกลาง
การสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งในปลายสงคราม จักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ต่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมภายในเมื่อกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางมีทีท่าจะแพ้สงครามอย่างแน่นอน รัฐบาลสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ (Mehmed VI)* แห่งออตโตมันจึงประกาศยอมแพ้ โดยลงนามในความตกลงหยุดยิงมูดรอส (Mudros Armistice) กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ กองกำลังสัมพันธมิตรได้เข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล และในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพกรีซและอิตาลีก็เห็นเป็นโอกาสเข้ายึดครองดินแดนของออตโตมันทางชายฝั่งทะเลตะวันตกและทางตอนใต้ของอะนาโตเลีย ต่อมา ฝ่ายสัมพันธมิตรได้บังคับให้รัฐบาลออตโตมันลงนามในสนธิสัญญาแซฟวร์เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมากจนเหลือเพียงดินแดนรอบๆกรุงคอนสแตนติโนเปิลและบางส่วนในอะนาโตเลีย ทั้งต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ตลอดจนการลดกำลังกองทัพและอื่น ๆ
สนธิสัญญาแซฟวร์ทำให้ชาวเติร์กชาตินิยมเคลื่อนไหวต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ตุรกี พวกเติร์กชาตินิยมจึงสนับสนุนให้มุสตาฟา เคมาล เป็นผู้นำก่อการปฏิวัติล้มล้างอำนาจสุลต่าน เคมาลเคยเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพออตโตมันในการรบที่กัลลิโพลี (Gallipoli Campaign)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และมีชัยชนะซึ่งทำให้กรุงคอนสแตนติโนเปิลรอดพ้นจากการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตร ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งเดียวของจักรวรรดิออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และทำให้เคมาลได้ติดยศเป็นนายพลใน ค.ศ. ๑๙๑๖ หลังสงครามยุติลง เขาได้รับคำสั่งให้ไปปลดอาวุธและปลดทหารจากประจำการในอะนาโตเลีย เมื่อเดินทางถึงอะนาโตเลีย เคมาลกลับรวบรวมกำลังผู้รักชาติและสนับสนุนให้กองกำลังที่ตั้งมั่นในอะนาโตเลียจัดตั้งเป็นกองกำลังแห่งชาติ
ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เคมาลจัดประชุมผู้แทนจากอะนาโตเลียและดินแดนต่าง ๆ ทั่วประเทศขึ้นที่เมืองซีวัส (Sivas) และจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนแห่งสหภาพเพื่อการป้องกันสิทธิของอะนาโตเลียและรูมีเลีย (Representative Committee of the Union for the Defense of Rights of Anatolia and Rumelia) ขึ้นซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของชาติเติร์กทั้งในเอเชียและยุโรป เขาเรียกร้องให้สุลต่านเมห์เมดที่ ๖ จัดการเลือกสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ขึ้นและยอมรับกติกาสัญญาแห่งชาติ (National Pact) ซึ่งมีสาระสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอะนาโตเลียและรูมีเลียกับรัฐบาลสุลต่าน สุลต่านยอมปฏิบัติตาม แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่อต้านด้วยการจับสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ที่เพิ่งเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ และเพิ่มความเข้มงวดในการยึดครอง เคมาลจึงย้ายศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการผู้แทนฯ จากเมืองซีวัสไปเมืองอังโกรา (Ankora – ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เปลี่ยนเป็นอังการา) และประกาศขับไล่กองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรและล้มล้างการปกครองของสุลต่านที่ถูกต่างชาติควบคุมและบงการ เขาจัดตั้งสมัชชาใหญ่แห่งชาติ (Grand National Assembly) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลใหม่ที่แยกตัวออกจากรัฐบาลที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ในเวลาต่อมาวันที่ ๒๓ เมษายน จึงเป็นวันสำคัญของชาติเรียกว่า วันอธิปไตยและวันเด็กแห่งชาติ (National Sovereignty and Children’s Day) เคมาลได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาใหญ่แห่งชาติและเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล เขาประกาศไม่ยอมรับความตกลงหยุดยิงมูดรอสและสนธิสัญญาแซฟวร์ทั้งปฏิเสธที่จะร่วมมือกับรัฐบาลที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล
ในช่วงเวลาที่เคมาลกำลังเคลื่อนไหวล้มอำนาจสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ กรีซซึ่งได้ครอบครองเทรซบนคาบสมุทรบอลข่านและสเมอร์นา (Smyrna) บนคาบสมุทรอะนาโตเลียตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแซฟวร์ก็ส่งกองทัพเข้าปราบปรามชาวเติร์กในอะนาโตเลียที่เคลื่อนไหวต่อต้านสนธิสัญญาแซฟวร์และสนับสนุนเคมาล การปราบปรามดังกล่าวนำไปสู่
เคมาลยึดเอเดรียโนเปิลหรือเอดีร์นา (Edirna) และสเมอร์นากลับคืนและผลักดันให้กองทัพร่วมของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประจำการที่ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ออกไปจากตุรกีได้ ชัยชนะของเคมาลในสงคราม กรีซ-ตุรกีครั้งนี้ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งชาติมอบสมญา “กาซี” (Gazi) ซึ่งหมายถึงผู้ชนะในสงครามศาสนาให้แก่เคมาล ทั้งทำให้รัฐบาลของเขาเริ่มเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจสัมพันธมิตรในช่วงเวลาเดียวกันสมัชชาใหญ่แห่งชาติก็เริ่มเรียกประเทศว่า “ตุรกี” อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ต่อมาในเดือนตุลาคมฝรั่งเศส อังกฤษ และกรีซยอมลงนามในสัญญาสงบศึกชั่วคราวและฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตรก็ยอมตกลงที่จะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนสนธิสัญญาแซฟวร์ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ มีการจัดประชุมระหว่างประเทศที่เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๓ เพื่อเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่และยุติความขัดแย้งระหว่างตุรกีกับกรีซ การประชุมหยุดลงชั่วคราวหลังวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ และเริ่มการประชุมใหม่ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายนถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓
การประชุมที่โลซานยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาโลซานซึ่งเป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่ระหว่างตุรกีกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ สนธิสัญญาฉบับนี้รับรองสถานภาพความเป็นประเทศของตุรกีโดยมีเคมาลเป็นผู้นำ และนำไปสู่การจัดระเบียบใหม่ในคาบสมุทรบอลข่านและคาบสมุทรอาหรับต่อมา เคมาลก็ประกาศยกเลิกสถาบันสุลต่านและคอลีฟะฮ์ (khalifah) หรือตำแหน่งผู้นำทางศาสนาเพื่อแยกศาสนาออกจากการเมือง และสถาปนาตุรกีเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่ง วันดังกล่าวถือเป็นวันชาติตุรกีการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีจึงนับเป็นการสิ้นสลายอย่างสมบูรณ์ของจักรวรรดิออตโตมันที่ดำรงอยู่มายาวนานรวม ๖๒๓ ปี (ค.ศ. ๑๒๙๙–๑๙๒๓) เคมาลได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ เขาเริ่มดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยและให้เป็นไปตามแบบประเทศตะวันตกโดยเน้นการปกป้องและสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่สาธารณรัฐ การสร้างระบบการศึกษาแห่งชาติที่เป็นแนวทางเดียวกัน และการชำระศาสนาอิสลามให้บริสุทธิ์เพื่อป้องกันไม่ให้อิสลามกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หลักการปฏิรูปของเคมาลมี ๖ ข้อ คือ สาธารณรัฐนิยม (Republicanism) ชาตินิยม (Nationalism) ประชานิยม (Populism) ฆราวาสนิยม (Secularism) รัฐนิยม (Statism) และปฏิรูปนิยม (Reformism) หลักการดังกล่าวเรียกชื่อว่า ศร ๖ ดอกแห่งความก้าวหน้า (Six Arrows of Progress) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า ระบอบเคมาล (Kemalism)*
ในการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นนั้น เคมาลผลักดันการออกกฎหมายยกเลิกสถาบันสุลต่านเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมค.ศ. ๑๙๒๔ส่งผลให้สมาชิกพระราชวงศ์ทุกพระองค์ของราชวงศ์ออสมัน (Osman)* ถูกขับออกนอกประเทศ ราชวงศ์ออสมันที่ปกครองจักรวรรดิออตโตมันติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ ๑๒๙๐ จึงสิ้นสุดอำนาจลงในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔มีการประกาศยกเลิกศาลศาสนาและกฎหมายศาสนาอิสลามโดยให้นำประมวลกฎหมายแบบตะวันตกมาใช้ทั้งประกาศให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ โดยศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ได้แก้ไขข้อกำหนดเรื่องศาสนาประจำชาติซึ่งทำให้ตุรกีกลายเป็นสาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular republic) ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการก็เข้ามาควบคุมรับผิดชอบเรื่องการศึกษาซึ่งจะเน้นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทนการเน้นเรื่องศาสนา มีการนำอักษรโรมันหรือละตินมาปรับใช้กับการเขียนภาษาเติร์กซึ่งมีศัพท์อาหรับและเปอร์เซียปะปนอยู่มากและเดิมเขียนด้วยอักษรอาหรับเพื่อให้อ่านและเขียนได้ง่ายขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ มีการออกกฎหมายหมวก (Hat Law) โดยให้ใช้หมวกแบบยุโรปแทนหมวกทรงถังและให้แต่งกายตามแบบตะวันตก ทั้งเปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในทางสังคม สามารถศึกษาหาความรู้ได้และในเวลาต่อมาก็มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและรับสมัครเลือกตั้งด้วยนอกจากนี้เคมาลยังพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเคิร์ดและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ซึ่งใช้ชีวิตชนเผ่าอิสระและอยู่อย่างสันโดษให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์และให้ใช้ระบบนามสกุลซึ่งยังไม่เคยใช้กันมาก่อน รัฐสภามีมติมอบนามสกุล “อะตาเติร์ก” (Atatürk) แก่เคมาล อะตาเติร์ก หมายถึง “บิดาของชาวเติร์ก” ซึ่งเป็นเกียรติที่ชาวเติร์กทั้งมวลมอบให้แก่เคมาลด้วยความเคารพรักและตระหนักในบุญคุณ
ในด้านการต่างประเทศ เคมาลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับสหภาพโซเวียตด้วยการลงนามในกติกาสัญญามิตรภาพตุรกี-โซเวียต (Turkish-Soviet Friendship Pact) ค.ศ. ๑๙๒๑ และประกาศการดำเนินนโยบาย “สันติภาพในบ้านและสันติภาพในโลก” (Peace at home, peace in the world) ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เพื่อใช้สันติภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัยและร่วมสร้างสันติภาพในโลก มีการปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งและทันสมัยทัดเทียมตะวันตกเพื่อให้กองทัพทำหน้าที่รักษาสันติภาพและปกป้องผู้อ่อนแอ นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ตุรกีได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ตุรกีก็เสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับด้วยการลงนามในกติกาสัญญาซาดาบัด (Saadabad Pact) กับอิหร่าน อัฟกานิสถาน และอิรักโดยมีข้อตกลงจะไม่รุกรานและแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ทั้งจะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาร่วมกัน ตลอดจนผนึกกำลังกันต่อต้านการขยายอำนาจของประเทศตะวันตก กล่าวได้ว่า เคมาลประสบความสำเร็จไม่น้อยในการวางรากฐานของความทันสมัยและความมั่นคงให้แก่ตุรกี ในช่วงที่เคมาลดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสันตินั้น เขาก็เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสงครามของประเทศด้วยการเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดและพยายามแก้ไขภาระหนี้สินที่รัฐบาลออตโตมันก่อไว้
หลังอสัญกรรมของเคมาลใน ค.ศ. ๑๙๓๘ อิสเมต อิเนอนิว (Ismet Inönü) อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำคนหนึ่งของพรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐ(Republican People’s Party) ได้เป็นประธานาธิบดีสืบต่อจากเคมาล พรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐจัดตั้งขึ้นตามหลักการลัทธิประชานิยมของเคมาลใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เมื่อแรกตั้งในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ใช้ชื่อว่าพรรคประชาชน (People’s Party) โดยเคมาลใช้เป็นฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสนับสนุนเขาให้มีอำนาจและผลักดันการปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐในช่วงที่เคมาลพยายามส่งเสริมประชาธิปไตย พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามคือพรรคสาธารณรัฐก้าวหน้า (Progressive Republican Party) และพรรคเสรีนิยมแห่งสาธารณรัฐ (Republican Liberal Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพยายามเคลื่อนไหวสนับสนุนสถาบันสุลต่านให้กลับมามีบทบาททางการเมืองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๗ เคมาลจึงเห็นเป็นโอกาสใช้อำนาจกดดันให้ทั้ง ๒ พรรคการเมืองยุบเลิกลงใน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐจึงกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศและนำไปสู่ช่วงสมัยการปกครองของพรรคการเมืองพรรคเดียวจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕
อิเนอนิวได้สานต่อนโยบายการปฏิรูปตามหลักการระบอบเคมาลและพยายามสร้างความสมดุลทางการเมืองระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศที่สืบเนื่องจากการขยายอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนี เมื่อฮิตเลอร์ ร่วมมือกับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตในการทำกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙ และเงาสงครามเริ่มตั้งเค้าครอบคลุมยุโรป ตุรกีต้องการทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันกับอังกฤษ แต่อังกฤษไม่สนใจเพราะเชื่อว่าเยอรมนีจะยังไม่ก่อสงคราม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ตุรกีดำเนินนโยบายเป็นกลางตลอดช่วงสงครามจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีล้มเหลวในการเผด็จศึกอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ. ๑๙๔๐และหันมาบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฝ่ายชาตินิยมตุรกีเรียกร้องให้อิเนอนิวประกาศสงครามต่อสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างชาติตุรกีใหญ่ (Greater Turkey) ในการครอบครองคอเคซัสและเอเชียกลางซึ่งฝ่ายกองทัพก็สนับสนุนแต่อิเนอนิวไม่เห็นด้วย เมื่อเยอรมนีล้มเหลวในการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* และถอนตัวออกจากพื้นที่การยึดครองในปลายเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และเริ่มล่าถอยออกจากแนวรบรัสเซีย ตุรกีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายประเทศพันธมิตรก็ประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ การประกาศสงครามดังกล่าวมีส่วนทำให้ตุรกีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ด้วย
ในการเตรียมเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม ตุรกีซึ่งต้องการให้นานาประเทศยอมรับสถานภาพของประเทศในการมีส่วนร่วมส่งเสริมประชาธิปไตยและการสร้างระเบียบโลกใหม่ในยุโรปยอมยกเลิกการปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวและเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ อัดนาน เมนเดเรส (Adnan Menderes) อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านในทศวรรษ ๑๙๓๐ จึงร่วมมือกับเจลาล ไบยาร์ (Celâl Bayar)อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗–๑๙๓๙ จัดตั้งพรรคประชาธิปไตย (Democrat Party) ที่มีแนวนโยบายอนุรักษ์เสรีนิยมขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ แม้ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นระบบการเมืองพหุพรรคของตุรกีพรรคประชาธิปไตยพ่ายแพ้พรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐอย่างยับเยินเพราะเพิ่งก่อตั้งและยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนแต่การหาเสียงที่ใช้นโยบายการเปิดเศรษฐกิจเสรีและฟื้นฟูศาสนาอิสลามให้มีบทบาทอีกครั้งในสังคมก็ทำให้พรรคเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชน ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War ค.ศ. ๑๙๔๗–๑๙๔๙)* และรับภาระแทนอังกฤษในการสนับสนุนรัฐบาลกรีซและตุรกีที่กำลังถูกลัทธิคอมมิวนิสต์คุกคามในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* ระยะแรกทั้งตุรกีและกรีซจึงได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจและใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ได้เข้าร่วมในโครงการฟื้นฟูบูรณะยุโรป (European Recovery Program) หรือที่เรียกกันว่าแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ต่อมาในเดือนสิงหาคมค.ศ. ๑๙๔๙ ตุรกีและกรีซก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสภาแห่งยุโรป (Council of Europe)* ด้วย
ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ พรรคประชาธิปไตยมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายจนทำให้พรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐที่ครองอำนาจมายาวนาน ๒๗ ปีหมดบทบาทลง และใน ค.ศ. ๑๙๕๔ และ ๑๙๕๗ พรรคประชาธิปไตยก็มีชัยชนะอีก เมนเดเรสได้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง ๓ สมัยและใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เขาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย รัฐบาลของเมนเดเรสเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างมากเพราะลดความเข้มงวดด้านศาสนาลงและอนุญาตให้มีการเปิดสุเหร่าได้ทั่วประเทศมีการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมและส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจเสรีที่รัฐจะไม่เข้าแทรกแซง ทั้งเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างมหาศาลตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจจึงเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วตุรกียังสนับสนุนสหรัฐอเมริกาด้วยการส่งกำลังทหารเข้าร่วมในสงครามเกาหลี และใน ค.ศ. ๑๙๕๒เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* พร้อมกับกรีซ ซึ่งทำให้ตุรกีกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบความมั่นคงของยุโรปซึ่งสหรัฐอเมริกาเห็นว่าตุรกีเป็น “ส่วนหนึ่งของยุโรป” ที่จะป้องกันการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตุรกียังยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพภายในประเทศ รวมทั้งฐานควบคุมตรวจการณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฐานทัพอากาศ และฐานติดตั้งขีปนาวุธ ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกกติกาสัญญาแบกแดด (Baghdad Pact) ที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลางด้วย
ใน ค.ศ. ๑๙๕๕รัฐบาลของเมนเดเรสถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ “การสังหารหมู่อิสตันบูล” (Istanbul Pogrom) หรือที่รู้จักกันว่า “การจลาจลที่อิสตันบูล” (Istanbul Riots) หรือ “เหตุการณ์เดือนกันยายน” (September Events) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง วันที่ ๖–๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๕ มีการจัดตั้งมวลชนให้ไปทำร้ายชาวกรีกซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในกรุงอิสตันบูล ก่อนหน้าการบุกทำร้ายชาวกรีก มีข่าวลือว่าสถานกงสุลตุรกีที่เมืองซาโลนิกา (Salonica) หรือเมืองเทสซาโลนีกี (Thessaloniki) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ ๒ ของกรีซทางตอนเหนือถูกวางระเบิดเสียหายเมืองซาโลนิกาได้ชื่อว่าเป็นเมืองบ้านเกิดของเคมาลเจ้าหน้าที่ชาวตุรกีที่ทำงานในสถานกงสุลเป็นคนวางระเบิด เขาถูกจับกุมและยอมรับสารภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ในกรุงอิสตันบูลรายงานข่าวเรื่องระเบิด แต่ไม่ให้รายละเอียดมากนักทั้งเสนอข่าวในทำนองว่าชาวกรีกเป็นคนวางระเบิดชาวตุรกีที่โกรธแค้นระดมกำลังพากันบุกชุมชนชาวกรีก เผาโบสถ์และอาคารสถานที่และทำร้ายชาวกรีกตำรวจและทหารวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนความรุนแรงขยายตัวและกินเวลากว่า ๙ ชั่วโมงกว่าที่รัฐบาลจะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติความรุนแรงชาวกรีกบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตกว่า ๓๐ คน เหตุการณ์ครั้งนี้มีการนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์คืนกระจกแตก (Kristallnacht; Night of Broken Glass)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ในสมัยจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ความตึงเครียดระหว่างชาวตุรกีกับกรีกยังคงคุกรุ่นตลอดทศวรรษ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ชาวกรีกจำนวนไม่น้อยอพยพออกจากตุรกีและจำนวนชาวกรีกในอิสตันบูลจาก ๘๐,๐๐๐–๑๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เหลือเพียง ๔๘,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๖๕ การต่อต้านชาวกรีกยังเกิดขึ้นที่เมืองอิสเมียร์ (Izmir) ด้วย และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๘–๑๙๕๙ ปัญญาชนและชาวตุรกีชาตินิยมยังรณรงค์คว่ำบาตรร้านค้าและธุรกิจต่าง ๆ ของชาวกรีกทั่วประเทศ การที่รัฐบาลวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกส่วนหนึ่งเป็นเพราะขณะนั้นตุรกีขัดแย้งกับกรีซในปัญหาไซปรัส โดยตุรกีต้องการให้ไซปรัสรวมเข้ากับตุรกีมากกว่ากรีซในกรณีที่อังกฤษถอนตัวออกจากไซปรัส แต่ชาวกรีซในตุรกีสนับสนุนการรวมไซปรัสเข้ากับกรีซมากกว่า
แม้การเปิดเสรีทางการค้าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแต่นโยบายเพิ่มการลงทุนกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะขาดการวางแผนที่ดี ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดดุลงบประมาณและค่าเงินลีราตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หนี้สินต่างประเทศที่เพิ่มอย่างมหาศาลและความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทำให้ความนิยมต่อรัฐบาลลดลงเรื่อย ๆ เมนเดเรสจึงเริ่มควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และพยายามกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่วิพากษ์โจมตีรัฐบาลรวมทั้งควบคุมความคิดเห็นของปัญญาชน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ เขาจัดตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวน (Committee of Inquest) ขึ้นซึ่งกรรมาธิการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเพื่อทำหน้าที่ไต่สวนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและตรวจสอบสื่อสิ่งพิมพ์คณะกรรมาธิการมีอำนาจในการสั่งจับกุมและพิจารณาโทษ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าได้สร้างความไม่พอใจทั่วไปในสังคม การต่อต้านรัฐบาลก่อตัวขึ้นจนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชน
ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ กองทัพซึ่งมีนายพลเจมาลกูร์เชล (Cemal Gursel) เป็นผู้นำจึงก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลเมนเดเรสเมื่อวันที่๒๔พฤษภาคมด้วยข้ออ้างว่าเขาละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญและสั่งบงการการสังหารหมู่อิสตันบูลใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ทั้งยักยอกเงินของรัฐ เมนเดเรสและแกนนำพรรคประชาธิปไตยถูกศาลทหารพิจารณาคดี ศาลทหารตัดสินประหารชีวิตเมนเดนเรสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนสนิทอีก ๒ คนด้วยการแขวนคอ เมนเดเรสพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษ แต่ล้มเหลว แม้อดีตนายกรัฐมนตรีอิสเมต อิเนอนิว และผู้นำประเทศตะวันตกหลายประเทศซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกาและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II)* แห่งอังกฤษจะขอให้ผ่อนปรนโทษแก่เมนเดเรส แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ซึ่งตรงกับวาระครบ ๒๙ ปีของการประหารเมนเดนเรส รัฐสภามีมติให้นิรโทษกรรมเขาและรัฐมนตรีทั้ง ๒ คน ทั้งกู้เกียรติทางสังคมคืนด้วยการย้ายศพเมนเดเรสไปบรรจุไว้ที่สุสานเมนเดเรสในกรุงอิสตันบูล และตั้งชื่อมหาวิทยาลัยและสนามบินเป็นเกียรติแก่เขา รวมทั้งชื่อโรงเรียน ถนน เขตชุมชนและอื่น ๆ
หลังการทำรัฐประหาร คณะผู้นำรัฐประหารซึ่งไม่ต้องการอยู่ในอำนาจนานสั่งให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้เสรีภาพมากขึ้นและกำหนดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ ทั้งยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมขึ้นได้ แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นก็ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก จึงมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมและชาตินิยมขึ้นบริหารปกครองประเทศโดยมีอิสเมต อิเนอนิว เป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เขาแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการริเริ่มส่งแรงงานไปทำงานนอกประเทศเป็นครั้งแรกเพื่อลดปัญหาการว่างงานและนับเป็นการเริ่มต้นของการหลั่งไหลของแรงงานตุรกีไปยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีอย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลก็ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๖๙ พรรคยุติธรรมใหม่ก็มีชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครอง แต่ปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัดและอื่น ๆ ทำให้กองทัพก่อรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๗๑ ฝ่ายทหารในเวลาต่อมาสนับสนุนบิวเลนต์ เอเจวิต (Bulent Ecevit) ผู้นำพรรคประชาชนแห่งสาธารณรัฐซึ่งมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ
ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ตุรกียกพลขึ้นบกที่เกาะไซปรัสด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องไซปรัสจากการถูกผนวกเข้ากับกรีซตามความตกลงที่ซูริก (Zurich Agreement) ค.ศ. ๑๙๕๙ ระหว่างอังกฤษ ตุรกีและกรีซที่ให้ไซปรัสเป็นสาธารณรัฐเอกราชและไม่ให้มีการแบ่งแยกประเทศ หรือรวมตัวเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งรัฐบาลกรีซตอบโต้ด้วยการส่งกำลังไปสนับสนุนชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกและนานาประเทศประณามตุรกีว่าเป็นการรุกราน ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีเอเจวิตได้สมญา “ผู้พิชิตไซปรัส” (Conqueror of Cyprus) และรัฐบาลของเขาเป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้น องค์การสหประชาชาติได้เข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศและนำไปสู่ข้อตกลงยุติการรบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๗ อย่างไรก็ตามปัญหาไซปรัสไม่ได้ยุติลงและชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กในเวลาต่อมาก็ประกาศจัดตั้งดินแดนที่ตนยึดครองเป็นสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ (Turkish Republic of Northern Cyprus)* เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๓ แต่องค์การสหประชาชาติไม่รับรองสถานภาพความเป็นเอกราชของสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ ยกเว้นตุรกีซึ่งยอมรับรองใน ค.ศ. ๑๙๘๕
การบุกไซปรัสทำให้ตุรกีถูกโดดเดี่ยวจากนานาประเทศในยุโรปหลายปี แต่รัฐบาลของเอเจวิตซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนไม่ใส่ใจต่อปฏิกิริยาจากนอกประเทศมากนัก และหันไปสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เอเจวิตใช้อำนาจปกครองประเทศอย่างอิสระและทอนอำนาจพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ก็ทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองขวาจัดกับซ้ายจัดทวีความรุนแรงมากขึ้นในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ จนเกิดการปะทะกันตามท้องถนนบ่อยครั้งและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก การขาดเสถียรภาพทางการเมืองปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของชาวเคิร์ด และความวุ่นวายทางสังคม และอื่น ๆ ทำให้นายพลเคนาน เอฟเรน (Kenan Evren) ก่อรัฐประหารขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๘๐ มีการจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๖๐ ที่ฝ่ายทหารอ้างว่าหละหลวมเกินไป เอฟเรนทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีและปกครองแบบเผด็จการด้วยข้ออ้างว่าเพื่อรักษาความสงบมั่นคงของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๒ ซึ่งประชากรร้อยละ ๙๐ ลงคะแนนเห็นชอบ เอฟเรนคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๓ พรรคมาตุภูมิ (Motherland Party) ที่มีทูร์กูต เออซัล (Turgut Özal) เป็นผู้นำและมีนโยบายอนุรักษเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจึงจัดตั้งรัฐบาล เออซัลได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๖ ของประเทศ (ค.ศ. ๑๙๘๓–๑๙๘๙) และต่อมาได้เป็นประธานาธิบดี (ค.ศ. ๑๙๘๙–๑๙๙๓)
เออซัลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนนำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่ทันสมัยมาใช้ และเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นแบบกึ่งลอยตัวและจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ทั้งให้ประชาชนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เสรีมากขึ้นเขาสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งเปิดเสรีทางการค้าโดยยอมให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายแข่งกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการแข่งขันและการพัฒนาซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๓–๑๙๘๘ เติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ ๖ ทั้งรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวก็เพิ่มสูงมากขึ้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีมีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีทางการเมืองและการทูตกับประเทศต่าง ๆ และการที่รัฐบาลยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนทั้งยกเลิกการควบคุมทางการเมือง โดยให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เคลื่อนไหวและทำกิจกรรมทางการเมืองและสังคมได้อย่างอิสระก็มีส่วนทำให้ตุรกีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศมากขึ้น การโดดเดี่ยวทางการเมืองระหว่างประเทศจึงยุติลง และตุรกีได้รับการยอมรับให้กลับเข้าประชาคมยุโรปอีกครั้ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๗ เออซัลเสนอรัฐสภาให้ตุรกีสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม การที่ตุรกีสนับสนุนสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือก็มีส่วนทำให้การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)* มีอุปสรรค
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกล่มสลายและกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ถูกทุบทำลายลง ทั้งนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในยุโรป ตุรกีซึ่งมีภูมิยุทธศาสตร์ใกล้กับตะวันออกกลางคอเคซัสและคาบสมุทรบอลข่านก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศ หลังอสัญกรรมของประธานาธิบดีเออซัลในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๓ ตุรกีมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เพราะทันซู ชิลเลอร์ (Tansu Çiller) นักเศรษฐศาสตร์ไฟแรงและผู้นำพรรคเส้นทางสัจจะ (True Path Party) แนวอนุรักษนิยมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ เธอสานต่อนโยบายของเออซัลและกระชับความสัมพันธ์กับยุโรปและโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ตุรกีบุกโจมตีอิรักตอนเหนือและโจมตีชุมชนชาวเคิร์ดซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นกลุ่มที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศ เพราะมักใช้สงครามกองโจรโจมตีทำร้ายชาวเติร์กเสมอ ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างชาวเติร์กกับเคิร์ดจึงมีส่วนบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลด้วย
ในปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ ตุรกีมีรัฐบาลผสมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นบริหารปกครองประเทศหลายชุด รัฐบาลแต่ละชุดเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่อง ปัญหาเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลัง ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของชาวเคิร์ดในภาคตะวันออก และอื่น ๆ รัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและใน ค.ศ. ๒๐๐๑ รัฐบาลขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund–IMF)* เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงิน อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานเริ่มลดลงและทำให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศมีความเชื่อมั่นอีกครั้งหนึ่งหลังค.ศ. ๒๐๐๒ เป็นต้นมา รัฐบาลเข้มแข็งและมีเสถียรภาพมากขึ้นและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นสูงและขยายตัวถึงร้อยละ ๙.๒ ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ และร้อยละ ๘.๘ ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ทั้งการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ ตุรกีก็สามารถชำระเงินกู้คืนให้ไอเอ็มเอฟได้หมด
ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ตุรกีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๘๒ โดยกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีโดยตรงแทนการให้รัฐสภาเลือกประธานาธิบดีซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ๗ ปี สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ๒ วาระ วาระละ ๕ ปี รีเซป เทยิป เอร์โดกัน (Recep Tayyip Erdoğan) อดีตผู้ว่าแห่งกรุงอิสตันบูล (ค.ศ. ๑๙๙๔–๑๙๙๘) นายกรัฐมนตรี (ค.ศ. ๒๐๐๓–๒๐๑๔) ซึ่งเป็นผู้นำพรรคพัฒนาและยุติธรรม (Justice and Development Party–AKP) เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ประชาชนเลือกตั้งโดยตรงใน ค.ศ. ๒๐๑๔ เขาพยายามสร้างการเป็นประชาธิปไตยแบบอนุรักษนิยม (conservative democracy) ด้วยการดึงอำนาจไว้ที่ตำแหน่งประธานาธิบดีและทอนอำนาจของกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าแทรกทางการเมืองและให้เป็นทหารประชาธิปไตยมากขึ้น
รัฐบาลของเอร์โดกันได้ปรับความสัมพันธ์กับสหพันธรัฐรัสเซียและจีนให้ดีขึ้นและยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาไว้ มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่างเข้มข้นด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ ลดการควบคุมจากภาครัฐ ส่งเสริมการลงทุนและการค้าต่างประเทศตลอดจนเปิดเสรีด้านการเงินและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจึงเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ก่อการร้ายชาวเคิร์ดและปัญหาไซปรัสที่ยืดเยื้อและยังคงหาทางแก้ไขไม่ได้ รวมทั้งการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองไว้ที่เอร์โดกันมากเกินไปก็มีส่วนบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของตุรกี รัฐบาลพยายามปราบปรามพวกเคิร์ดที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการจัดตั้งรัฐเคิร์ดอิสระในตุรกีและทำสงครามกับซีเรียซึ่งสนับสนุนพวกเคิร์ด ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๑๕–๒๐๑๖ พวกเคิร์ดหัวรุนแรงได้ก่อการร้ายขึ้นที่กรุงอังการาและตามเมืองต่าง ๆ รวมทั้งมีการจุดระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินและเมืองใกล้ชายแดนตุรกี-ซีเรีย พวกเคิร์ดกล่าวหารัฐบาลตุรกีว่าสนับสนุนกลุ่มไอซิส (ISIS) ให้กวาดล้างพวกตน ปัญหาการเมืองดังกล่าวส่งผลให้กองทัพก่อรัฐประหารขึ้นในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๖ เพื่อล้มรัฐบาลแต่ล้มเหลว รัฐบาลยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์และรักษาอำนาจไว้ได้ทั้งพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศเผชิญอยู่อย่างรอบคอบมากขึ้น.