แอลัน แมทิสัน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์นักตรรกศาสตร์ และนักรหัสวิทยาชาวอังกฤษที่ได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ (Father of Modern Computer) จากการประดิษฐ์เครื่องมือถอดรหัสอินิกมา (Enigma) ที่กองทัพนาซีใช้เพื่อสื่อสารและวางแผนการรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๕)* เครื่องอินิกมาทำหน้าที่แปลงข้อความเป็นรหัสลับที่รับรู้เฉพาะในกองทัพนาซี ลักษณะพิเศษของเครื่องมือดังกล่าวคือมีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนและยากเกินกว่าที่ชาติพันธมิตรในสงครามจะเข้าใจได้เมื่อสงครามเกิดขึ้น เยอรมนีซึ่งใช้เครื่องอินิกมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ จึงเป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถบริหารจัดการกำลังพลและการรบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ประเทศพันธมิตร ชัยชนะของกองทัพเยอรมันที่ยึดครองประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้เกือบหมดยกเว้นอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้ชาติพันธมิตรพยายามหาหนทางที่จะไขรหัสลับของเครื่องอินิกมาให้ได้ ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ รัฐบาลอังกฤษได้มอบหมายให้ทัวริงค้นหาวิธีการเจาะรหัสอินิกมา และประสบความสำเร็จในการถอดรหัสอินิกมาได้ในที่สุด เครื่องอินิกมาจึงหมดบทบาทความสำคัญลงในครึ่งหลังของสงคราม อังกฤษและประเทศฝ่ายพันธมิตรสามารถวางแผนการรบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนสามารถเผด็จศึกได้ใน ค.ศ. ๑๙๔๕
ทัวริงเกิดในครอบครัวข้าราชการเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๒ ที่กรุงลอนดอน จูเลียส แมทิสัน ทัวริง (Julius Mathison Turing) บิดาเป็นข้าราชการพลเรือนอังกฤษประจำอินเดีย ส่วนเอเทิล ซารา ทัวริง (Ethel Sara Turing) มารดาเป็นชนชั้นสูงเชื้อสายอังกฤษ-ไอริชที่ติดตามสามีไปอินเดีย เมื่อตั้งครรภ์ทั้งสองตัดสินใจเดินทางกลับอังกฤษเพราะต้องการให้บุตรเติบโตและมีชีวิตในสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นตะวันตก ทัวริงเป็นบุตรชายคนที่ ๒ หลังจากให้กำเนิดบุตรชายทั้งสองแล้ว บิดามารดากลับไปรับราชการที่อินเดียต่อและให้ญาติ ๆ ช่วยเลี้ยงดู เมื่ออายุ ๖ ขวบ ทัวริงเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ไมเคิลส์ (St. Michael’s) เมืองเซนต์เลนเนิร์ดออนซี (St. Leonard-on-Sea) มณฑลอีสต์ซัสเซกซ์ (East Sussex) เขาเป็นเด็กใฝ่รู้และมีไหวพริบ ครอบครัวและครูประจำชั้นสังเกตเห็นความมุ่งมั่นใฝ่ศึกษาของเขาว่าสามารถเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ระหว่างค.ศ. ๑๙๒๒–๑๙๒๖ ทัวริงเรียนที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมเฮเซลเฮิสต์ (Hazelhurst Preparatory School) และย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเชอร์บอร์น (Sherbourne School) เมืองดอร์เซต (Dorset) ในช่วงที่เรียนที่โรงเรียนทั้ง ๒ แห่งนี้ ทัวริงได้ฉายแววให้เห็นว่าเขาสนใจทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ชอบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสนใจหาความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ด้วยตนเอง แม้ในบางครั้งจะเป็นศาสตร์ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนก็ตาม ที่โรงเรียนเชอร์บอร์น ทัวริงได้พบกับคริสโตเฟอร์ มอร์คอม (Christopher Morcom) รักแรกของเขา ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากและเป็นคู่คิดในการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๓๑ มอร์คอมในวัย ๑๙ ปีเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากการติดเชื้อวัณโรควัว (bovine tuberculosis) การเสียชีวิตของมอร์คอมทำให้ทัวริงเศร้าโศกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทัวริงหันมาทุ่มเทกับการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมเพื่ออุทิศแก่มอร์คอมเพื่อนชายที่เป็นรักแรกของเขา
หลังสำเร็จระดับมัธยมศึกษา ทัวริงเข้าศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างทางวิชาการและปราศจากอคติเรื่องเพศ ทำให้ทัวริงสามารถเปิดเผยเรื่องการรักเพศเดียวกันของเขาได้อย่างอิสระ ทั้งคณาจารย์และเพื่อน ๆ ไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจและเหยียดหยามแต่อย่างใด หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ ๑ เขาได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนถึง ค.ศ. ๑๙๓๖ การได้รับเลือกครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเก่งและฉลาดเฉลียวของเขาเพราะแต่เดิมมหาวิทยาลัยจะเลือกรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิตแล้วเท่านั้น ในช่วงที่ทำงานเป็นนักวิจัยทัวริงเริ่มศึกษาคณิตตรรกศาสตร์ (mathematical logic) อย่างจริงจัง ความสนใจหลักของเขาอยู่ที่การศึกษาและคิดค้นสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญชื่อ “On Computable Numbers, with an Application to the Entscheidungsproblem” ซึ่งได้รับการยกย่องในภายหลังว่าเป็นรากฐานทางความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ งานวิจัยดังกล่าวทำให้อะลอนโซ เชิร์ช (Alonzo Church) ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์เลือกเขาให้ไปศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) สหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๙๓๖
หลังจากสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ทัวริงเดินทางกลับอังกฤษและถูกกระทรวงการต่างประเทศเรียกไปทำงานที่ศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์ก (Bletchley Park) เพื่อค้นหาวิธีการเจาะเข้ารหัสอินิกมาของกองทัพนาซี เครื่องอินิกมาทำหน้าที่แปลงข้อความเป็นรหัสอักษรที่รับรู้เฉพาะในกองทัพนาซีซึ่งในขณะนั้นเชื่อว่าไม่มีประเทศตะวันตกชาติใดสามารถถอดรหัสได้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพนาซีได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในปฏิบัติการทางทหารและการขนย้ายกำลังพล ความซับซ้อนของระบบการสื่อสารดังกล่าวทำให้กองทัพนาซีเป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถเคลื่อนกำลังพลเข้ารุกรานและยึดครองประเทศยุโรปอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อังกฤษซึ่งเยอรมนีล้มเหลวที่จะเอาชนะและยึดครองในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain ค.ศ. ๑๙๔๐)* จึงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหาวิธีเจาะรหัสลับอินิกมาเพื่อเข้าถึงข้อมูลลับของกองทัพนาซี ศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์กจึงให้ทัวริงรับผิดชอบภารกิจในการค้นหากลไกการทำงานของเครื่องอินิกมาและวิธีถอดความหมายโดยใช้ข้อมูลหลักจากหน่วยข่าวกรองโปแลนด์ (Polish Police Cipher Bureau) ที่เคยแจ้งให้รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสทราบเรื่องแนวโครงข่ายเครื่องอินิกมารวมถึงวิธีการถอดรหัสข้อความ อย่างไรก็ดี การที่กองทัพเยอรมันเปลี่ยนแปลงรหัสลับบ่อยครั้งทำให้การถอดความรหัสอินิกมามีอุปสรรคและยากลำบาก ทัวริงจึงคิดค้นวิธีการอ่านรหัสอินิกมาโดยใช้กระบวนการถอดความแบบจำกัดวง (crib-based decryption) เพื่อหาชุดตัวอักษรและกลุ่มคำที่มีความเป็นไปได้สำหรับการถอดความ ชุดคำเหล่านี้จะมาจากคลังข้อมูลของรหัสอินิกมาที่เคยถอดความได้ก่อนหน้านี้ วิธีการดังกล่าวต้องอาศัยหน่วยงานบันทึกรายละเอียดของรหัสอินิกมาที่ได้รับ เช่น วัน เวลาที่ข้อความดังกล่าวถูกส่ง ต้นทางและปลายทางของข้อความ รวมถึงรายละเอียดด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพนาซี ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ประกอบการถอดความเพื่อล้วงความลับของกองทัพนาซีโดยเฉพาะเรื่องแผนการรบและการเคลื่อนไหวของกำลังพลและอาวุธ
ความรับผิดชอบของทัวริงที่ศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์กยังมีอุปสรรคปัญหาหลายประการโดยเฉพาะเรื่องกำลังคน การถอดรหัสอินิกมาก็มีขั้นตอนและกระบวนการที่ซับซ้อน ในแต่ละวันจะมีข้อความถูกส่งมาเพื่อถอดความอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มนักวิจัยที่สามารถถอดรหัสอินิกมากลับมีจำนวนไม่มากนักการดำเนินงานของทัวริงจึงไม่ราบรื่นเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ตลอด ค.ศ. ๑๙๔๑ ทัวริงและกลุ่มนักวิจัยก็สามารถช่วยให้อังกฤษซึ่งกำลังถูกรุกรานสามารถลดอัตราการสูญเสียเสบียงและทรัพยากรได้มากถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตันต่อเดือน ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทัวริงเขียนจดหมายถึงวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นเร่งด่วนในภารกิจของศูนย์วิจัย เชอร์ชิลล์ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบป้องกันภัยจากการรุกรานของกองทัพนาซีจึงสั่งการรัฐบาลให้ช่วยเหลือทัวริงและศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์กอย่างเร่งด่วนในปลายสงครามศูนย์วิจัยจึงมีเครื่องมือถอดรหัสอินิกมามากกว่า ๒๐๐ เครื่องสำหรับภารกิจเจาะข้อมูลกองทัพนาซี นอกจากนี้ในระหว่างสงครามทัวริงยังได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมวิจัยเครื่องมือถอดรหัสอินิกมาของสหรัฐอเมริกาเอง เขาใช้เวลาเกือบ ๑ ปี ตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒ ในศูนย์วิจัยทางคอมพิวเตอร์ที่เมืองเดย์ตัน (Dayton) รัฐโอไฮโอ (Ohio) ก่อนจะเดินทางกลับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เพื่อทำวิจัยเครื่องมือถอดรหัสอินิกมารุ่นใหม่ที่ศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์ก ทัวริงและคณะวิจัยประสบความสำเร็จในการถอดรหัสจนทำให้ระบบการสื่อสารรหัสลับของกองทัพนาซีไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป ประเทศพันธมิตรจึงสามารถตั้งรับและรุกรบจนเผด็จศึกเยอรมนีได้ใน ค.ศ. ๑๙๔๕
งานของทัวริงที่ศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์กทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์บริติชเอ็มไพร์ (Order of the British Empire) จากพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ทัวริงไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องอินิกมาต่อไปรัฐบาลอังกฤษเก็บข้อมูลงานวิจัยทุกชิ้นที่เกี่ยวกับเครื่องมืออินิกมาเป็นความลับ เขาจึงหันมาสนใจการพัฒนาเครื่องคำนวณอัตโนมัติ (automatic computing engine) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕–๑๙๔๘ เขาเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์แห่งชาติ (National Physical Laboratory) จากนั้นใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งแมนเชสเตอร์ [(Victoria University of Manchester) ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์] อีก ๑ ปีต่อมา เขาได้รับเลือกเป็นรองผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computing Machine Laboratory) ความสนใจหลักของเขาคือการคิดสูตรคณิตศาสตร์เพื่อนำมาสร้างปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ของคอมพิวเตอร์ ต่อมา เขาได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านชีววิทยาโดยเฉพาะการคำนวณการเกิดสัณฐาน (morphogenesis) ของยีนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการขององค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ชีววิทยา (mathematical biology) เช่น การคำนวณสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ในเวลาต่อมา
ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น แม้ทัวริงจะมีพฤติกรรมรักร่วมเพศตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๑เขาก็ประกาศหมั้นกับโจแอนคลาร์ก (Joan Clarke) ผู้ร่วมงานในศูนย์วิจัยเบลตช์ลีย์พาร์ก อย่างไรก็ดี เพียงไม่นานหลังจากนั้น ทัวริงก็ขอถอนหมั้นและเปิดเผยเรื่องรักเพศเดียวกันแก่คู่หมั้นซึ่งไม่ได้ตกใจและแปลกใจกับเรื่องราวดังกล่าว ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ทัวริงในวัย ๓๙ ปี พบรักกับอาร์โนลด์เมอร์เรย์ (Arnold Murray)หนุ่มน้อยวัย๑๙ปีที่กำลังตกงานความสัมพันธ์ของทั้งคู่ถูกปิดเป็นความลับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โจรงัดบ้านของทัวริงที่แมนเชสเตอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเมอร์เรย์ก็ถูกเปิดเผยเมื่อตำรวจที่รับดูแลคดีสามารถสืบสาวไปถึงเรื่องดังกล่าวได้ทัวริงก็รับสารภาพเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศดังกล่าวในเวลาต่อมาด้วยอังกฤษในขณะนั้นถือว่าการมีสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นความผิดร้ายแรงและมีโทษทางอาญา ทัวริงและเมอร์เรย์จึงถูกตัดสินในข้อหาการกระทำลามกอนาจาร (gross indecency) มีพฤติกรรมรักร่วมเพศตามมาตรา ๑๑ ในพระราชบัญญัติกฎหมายอาญา ค.ศ. ๑๘๘๕ (Criminal Law Amendment Act of 1885) และต้องโทษด้วยการเข้ารับการบำบัดด้วยสารเคมีเพื่อลดฮอร์โมนทางเพศเป็นเวลา ๑ ปี การรับสารเคมีดังกล่าวทำให้ร่างกายของทัวริงอ่อนแอและเป็นหมันทั้งเกิดเนื้องอกบริเวณหน้าอก นอกจากนี้ คดีความดังกล่าวยังทำให้เขาสูญเสียญาติมิตรที่ใกล้ชิดโดยเฉพาะพี่ชายที่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและเสื่อมเสีย เขาถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ดี เขายังคงทำงานเป็นนักวิชาการอิสระต่อไป
ทัวริงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๔ ด้วยวัย ๔๑ ปี แม่บ้านพบศพเขาในอีก ๑ วันต่อมา ผลการชันสูตรพบว่าเขาเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษไซยาไนด์และสันนิษฐานว่าเป็นการทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากในสถานที่เกิดเหตุมีแอปเปิลที่ถูกแทะไปครึ่งซีกวางอยู่ อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีการนำแอปเปิลลูกดังกล่าวไปตรวจสอบหาสารพิษแต่อย่างใด ในเวลาต่อมา นักวิชาการและบุคคลที่ใกล้ชิดเขาให้ทัศนะแย้งว่าเขาน่าจะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น มารดาเขาเชื่อว่าทัวริงน่าจะเก็บสารเคมีที่ใช้ในการทดลองไม่เรียบร้อยและได้รับสารพิษเข้าร่างกายโดยอุบัติเหตุ บ้างว่าทัวริงมีภาวะเครียดวิตกจากการเข้ารับการบำบัดทางเคมี แต่ก็มีนักวิชาการบางคนเสนอทฤษฎีสมคบคิดว่าทัวริงอาจถูกลอบสังหารโดยหน่วยสืบราชการลับที่หวาดระแวงว่าเขาจะนำความลับเรื่องงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลไปเผยแพร่แก่ประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศปัจจุบันข้อโต้แย้งถึงสาเหตุการเสียชีวิตของทัวริงยังไม่มีข้อยุติ แต่ประเด็นการทำอัตวินิบาตกรรมก็ยังคงเป็นมูลเหตุที่ยอมรับกันทั่วไปและไม่มีหลักฐานใดมาหักล้างได้
ในทศวรรษ ๒๐๐๐ เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมแก่ทัวริง เพราะสังคมอังกฤษเปิดกว้างมากขึ้นต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ กฎหมายว่าด้วยความผิดเรื่องการมีสัมพันธ์กับเพศเดียวกันได้ถูกยกเลิกใน ค.ศ. ๒๐๐๓ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์จึงนำชื่อทัวริงมาใช้เป็นชื่อตึกเรียนใหม่ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ใน ค.ศ. ๒๐๐๙ ชาวอังกฤษกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ได้ยื่นฎีกาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษขอโทษต่อทัวริงและนักโทษคนอื่น ๆ ที่โดนคดีความคล้าย ๆ กัน การรณรงค์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลอังกฤษในสมัยนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown ค.ศ. ๒๐๐๗–๒๐๑๐) กล่าวแสดงความเสียใจและขอโทษต่อทัวริงอย่างเป็นทางการ ในเวลาต่อมา แวดวงนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และสื่ออังกฤษก็เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลล้างมลทินแก่ทัวริงด้วยการอภัยโทษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II)* พระราชทานอภัยโทษแก่ทัวริงใน วันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๓ ในอีก ๑ ปีต่อมามีการนำชีวิตของทัวริงและบทบาทของเขาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ Imitation Game และออกฉายใน ค.ศ. ๒๐๑๔ เพื่อยกย่องวีรกรรมของเขา ชีวิตและบทบาทของทัวริงก็เป็นที่รับรู้ของผู้คนมากขึ้น
ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) ซึ่งกำลังจะจัดพิมพ์ธนบัตรรุ่นใหม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอชื่อนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษเพื่อพิมพ์บนธนบัตรใบละ ๕๐ ปอนด์ รุ่นใหม่ที่จะเริ่มใช้ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ มีชื่อนักวิทยาศาสตร์ราว ๑๑๔,๐๐๐ ชื่อเป็นต้นว่า สตีเฟนฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชื่อดังมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* นายกรัฐมนตรีหญิงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙–๑๙๙๐ ที่เคยเป็นนักวิจัยเคมีในทศวรรษ ๑๙๕๐ รวมทั้งทัวริงโดยทัวริงได้รับการเสนอชื่อจากชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากที่สุด ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจึงประกาศให้เขาเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์อังกฤษคนล่าสุดที่จะได้รับการตีพิมพ์บนธนบัตรของชาติ และนับเป็นการสดุดีวีรกรรมของทัวริงในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำคุณประโยชน์อย่างสูงแก่ประเทศ.