พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรบาวาเรียหรือบาเยิร์น (Bavaria; Bayern) พระองค์มีพระบุคลิกภาพและพระราชจริยวัตรที่ ซับซ้อนจนทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับพระบุคลิกภาพและจินตนาการ ด้วยเหตุนี้พระราชสมัญญานามที่พระองค์ทรงได้รับจึงมีตั้งแต "กษัตริย์แห่งเทพนิยาย" "กษัตริย์ผู้ทรงอยู่ในโลกแห่งความฝัน" และ "กษัตริย์ผู้ทรงมีพระสติฟั่นเฟือน" ทรงดำรงพระชนมชีพแบบสันโดษและลึกลับ เมื่อสวรรคตสาเหตุการสวรรคตก็ยังคงเป็นปริศนาที่มีข้อสันนิษฐานและข้อโต้แย้งต่าง ๆ มาโดยตลอดจนปัจจุบัน
พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามักซีมีเลียนที่ ๒ (Maximilian II ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๖๔) แห่งบาวาเรียและเจ้าหญิงมารีอา (Maria) แห่งปรัสเซีย ประสูติใน ค.ศ. ๑๘๔๕ และทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพระราชบิดาอย่างเข้มงวด ทรงมีบันทึกส่วนพระองค์ตอนหนึ่งว่าเมื่อทรงพระเยาว์นั้น ทรงมีทุกอย่างยกเว้นความสุข ทำให้เชื่อกันว่าการที่ทรงรู้สึกขมขื่นกับการถูกควบคุมอย่างกวดขันเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรงมีพระอารมณ์อ่อนไหวและความรู้สึกละเอียดอ่อนทั้งยังทำให้ทรงชอบปลีกพระองค์สู่โลกแห่งจินตนาการ พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ขณะพระชนมายุ ๑๘ พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มรูปงามที่สุดกว่าบุรพกษัตริย์ทุกพระองค์ของบาวาเรีย พระองค์ทรงชนะใจพสกนิกรด้วยพระบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยนและมีเสน่ห์ ในช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์ ไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัยที่ จะทรงเป็นเพียง "ผู้ทรงลงพระปรมาภิไธย" เท่านั้น ในเวลาต่อมา พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงประกาศว่าชะตากรรมทำให้พระองค์ต้องทรงเป็นกษัตริย์ใน ระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (constitutional monarchy) กษัตริย์ในอุดมคติของพระองค์คือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) แห่งฝรั่งเศสแม้ว่าทัศนคติเช่นนี้จะเป็นเรื่องพ้นกาลสมัยแล้วในเวลานั้น แต่การที่พระองค์ยังทรงหมกมุ่นกับแนวความคิดนี้เนื่องจากทรงถูกปลูกฝังด้วยตำนานวีรบุรุษเยอรมันจากจิตรกรรมฝาผนังที่ปราสาทโฮเฮนชวังเกา (Hohenschwangau) ของพระราชบิดาซึ่งเป็นสถานที่ที่ พระองค์ทรงเจริญพระชันษา นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยเรื่องเล่าแปลก ๆ ของโลกตะวันออกอีกด้วย
พระบุคลิกภาพส่วนพระองค์ของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ที่ ค่อนข้างสับสนปรากฏให้เห็นจากการที่ทรงถอนหมั้นเจ้าหญิงโซฟี (Sophie) พระญาติซึ่งทรงเป็นพระขนิษฐาในจักรพรรดินีเอลิซาเบท (Elizabeth) หรือพระนางซิสซี (Sissi) พระมเหสีในจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* แม้ไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจาก การที่พระองค์โปรดราชองครักษ์รูปงามและมหาดเล็กหนุ่ม ๆ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องเล่าขานกันว่าแท้จริงพระองค์ทรงหลงรักจักรพรรดินีเอลิซาเบทซึ่งมีพระชนมายุมากกว่า ๒ ปี จักรพรรดินีเอลิซาเบททรงมีพระสิริโฉมงดงาม เป็นสตรีที่รักอิสระ และทรงเบื่อหน่ายกฎมนเทียรบาลที่เคร่งครัดของราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)* และทรงไม่ลงรอยกับอาร์ชดัสเชสโซเฟีย (Sophia) พระราชมารดาของพระราชสวามีทางออกของ พระนางคือการเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตป่าเขาลำเนาไพรที่งดงามของออสเตรียและบาวาเรีย พระนางจึงทรงสนิทกับพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ และทั้งสองพระองค์ก็เข้าพระทัยในสภาพการณ์ที่ต่างต้องประสบ นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระทัยผูกพันกับจักรพรรดินีเอลิซาเบทด้วยความรักแบบอุดมคติ บ้างก็เชื่อว่าการที่พระองค์ทรงสร้างปราสาทในฝันนอยชวันชไตน์ (Neuschwanstein) และพระราชวังลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof) ทางตอนใตของแคว้นบาวาเรียที่ เกือบติดพรมแดนออสเตรีย ก็เพื่อทำให้พระองค์ทรงรู้สึกว่าทรงอยู่ใกล้ชิดกับสตรีที่ทรงมีพระทัยผูกพัน
พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสันโดษ ไม่โปรดที่จะเข้าร่วมในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐพิธีหรืองานสังสรรค์ แม้แต่การปกครองก็ทรงปล่อยให้อัครมหาเสนาบดีโยฮันน์ ฟอน ลุทซ์ (Johann von Lutz) ดำเนินการได้อย่างเต็มที่โดยไม่เข้าแทรกแซงพระองค์มักใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับที่ปราสาทหรือพระราชวังตามลำพัง แม้กระทั่งในห้องเสวย พระองค์ก็โปรดให้ช่างจัดทำโต๊ะเสวยแบบพิเศษที่ส่งผ่านทางช่องที่เจาะได้จากด้านล่างโดยมีเครื่องเสวยที่เจ้าพนักงานจัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มหาดเล็กหรือผู้ใดมารบกวนพระองค์ ทรงเสวยโดยลำพังและบางครั้งก็จะทรงสมมติว่ามีพระราชอาคันตุกะร่วมโต๊ะเสวยด้วยนอกจากนี้ ในเวลากลางคืนขณะที่คนส่วนใหญ่พักผ่อนพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ จะทรงตื่นบรรทมและเสด็จไปตามห้องต่าง ๆ เพื่อทรงปล่อยพระจินตนาการให้โลดแล่นไปกับภาพศิลปะและฉากของการตกแต่งประดับประดาซึ่งถูกเนรมิตขึ้น ยิ่งนานวันพระองค์ก็ทรงหมกมุ่นกับการนำพระจินตนาการบนพื้นฐานของนิยายปกรณัมของเยอรมันและตำนานวีรบุรุษ กษัตริย์ผู้กล้าหาญมากขึ้นและมีพระประสงค์จะถ่ายทอดออกทางสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตมโหฬารและตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง บางครั้งในเวลากลางคืนในฤดูหนาวพระองค์ทรงประทับบนล้อเลื่อนพระที่นั่งพร้อมมหาดเล็กไม่กี่คนเสด็จเยี่ยมเยือนชาวชนบท พระองค์จะทรงผ่อนคลายและให้ความสนิทสนมดูแลชาวชนบทอย่างดีซึ่งทำให้พระองค์เป็นที่รักของชาวชนบทจำนวนมาก
พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงปกครองบาวาเรียในช่วงที่รัฐเยอรมันก่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco- Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* และดำเนินการรวมชาติ พระองค์ทรงมีส่วนขอให้ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* ร่างคำกราบบังคมทูลพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I) แห่งปรัสเซีย [ต่อมาคือ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๘)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ให้ทรงยอมรับตำแหน่งจักรพรรดิเมื่อมีการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นแม้รัฐต่าง ๆ ที่รวมเข้าเป็นจักรวรรดิเยอรมันจะมีอิสระในการปกครองตนเอง แต่ผู้ปกครองก็มีอำนาจทางการเมืองน้อยมาก พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ซึ่งทรงต้องการมีพระราชอำนาจเด็ดขาดเช่นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงต้องทรงกล้ำกลืนยอมรับความยิ่งใหญ่ของปรัสเซียเหนือรัฐเยอรมันอื่น ๆ พระองค์ทรงหาทางออกด้วยการสร้างปราสาทและพระราชวังที่อลังการสิ่งก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งดำเนินการเกือบตลอดรัชกาลได้ทำให้พระองค์เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์มากกว่าสิ่งอื่น ๆ ปราสาทและพระราชวังจึงเปรียบเหมือนสัญญาณการยืนยันถึงการทรงสิทธิของพระองค์ในฐานะกษัตริย์แห่งบาวาเรีย ขณะเดียวกันทั้งปราสาทนอยชวันชไตน์พระราชวังลินเดอร์ฮอฟ และพระราชวังแฮร์เรนคีมเซ (Herrenchiemsee) ก็ล้วนแต่สะท้อนจินตภาพจาก เทพนิยายและสิ่งก่อสร้างที่วิจิตรพิสดารและทำให้พระองค์ทรงมีหนี้สินจำนวนมหาศาลจนเกือบตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปลายรัชกาล
พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงแปรจินตภาพของพระองค์มาเป็นปราสาทนอยชวันชไตน์ด้วยการสร้างปราสาทบนเขาสูงแวดล้อมด้วยเทือกเขา เมื่อมองลงไปจะเห็นทะเลสาบซึ่งเป็นทัศนียภาพที่งดงามประดุจภาพฝัน ภูมิทัศน์แห่งนี้เป็นที่ต้องพระทัยของพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ปราสาทโฮเฮนชวังเกาของพระราชบิดาเพราะนอยชวันชไตน์สร้างอยู่บนสันเขาตรงข้ามกับโฮเฮนชวังเกา ส่วนภายในปราสาทนั้นพระองค์โปรดให้จิตรกรวาดภาพซึ่งถ่ายทอดมาจากอุปรากรหลายเรื่องของคีตกวี ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ซึ่งพระองค์ทรงหลงใหล แทบทุกห้องในปราสาทหลังนี้ยังแสดงให้เห็นถึงคตินิยมของวีรบุรุษเยอรมัน ตำนานของอัศวินผู้กล้าหาญที่ต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายและตัณหาราคะ และจบลงด้วยการพบกับความรักที่บริสุทธิ์ในความตาย ปราสาทนอยชวันชไตน์จึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญของสิ่งก่อสร้างในแนวประวัติศาสตร์นิยม (historicism) ปราสาทที่ตั้งตระหง่านบนผาสูงชันแห่งนี้เปรียบเสมือนความฝันแห่งจินตภาพของยุคที่ไกลโพ้นในอดีตกาล และเป็นตัวแทนของความฝันของกษัตริย์ในเทพนิยายผู้ทรงมุ่งมั่นและปฏิเสธที่จะรับข้อจำกัดใด ๆ ที่จะทำลายภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะผู้ปกครองตลอดกาล
ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ หลังจากพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงกลับจากการเยือนพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) พระองค์ก็ทรงฝันที่จะสร้างพระราชวังใหม่ ณ หุบเขากรัสวัง (Graswang) ที่ห่างไกล เพื่อจะทรงหลบหลีกผู้คนและโลกแห่งความเป็นจริง ทรงเห็นว่าคนร่วมสมัยของพระองค์ขาดความละเอียดอ่อน ไร้ความรู้สึกอ่อนไหวและจิตวิญญาณ ทั้งไม่เข้าใจความคิดที่แตกต่างออกไปความปรารถนาของพระองค์รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่มติมหาชนในบาวาเรียบีบให้พระองค์จำต้องปลดริชาร์ดวากเนอร์ ในฐานะคีตกวีผู้ส่งเสริมการฟื้นฟูวัฒนธรรมทั้งนี้เพราะทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์จำนวนมากในการอุปถัมภ์วากเนอร์ผู้ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ขณะเดียวกันวากเนอร์ก็ยังเป็นที่เกลียดชังของข้าราชสำนักและประชาชนซึ่งไม่ชอบคีตกวีที่มีความมัวหมองด้านศีลธรรม เมื่อโครงการของพระองค์ที่จะสร้างศาลามหกรรมวากเนอร์ถูกรัฐบาลปฏิเสธ พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ก็ทรงปลีกพระองค์สู่ความวิเวกของเทือกเขาซึ่งทรงใช้เป็นที่พำนักห่างไกลจากผู้คน พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังลินเดอร์ฮอฟขึ้นที่หุบเขากรัสวังด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมโรโกโกใหม่ (new-Rococo) ประดับประดาด้วยภาพเขียนซึ่งสะท้อนถึงความหลงใหลของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่พระราชวังแห่งนี้พระองค์จะทรงประทับบนล้อเลื่อนในคืนที่มีแสงจันทร์ส่องสว่าง ล้อเลื่อนจะตกแต่งอย่างหรูหราตามแบบคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารที่แต่งกายอย่างสวยงาม ระหว่างทางพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ก็จะหยุดพักตามหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมเยือนชาวชนบทและเรื่องราวของพระองค์ก็เริ่มกลายเป็นตำนานที่มีมนต์ขลังยิ่งขึ้น
ขณะที่พระราชวังลินเดอร์ฮอฟยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีบัญชาให้สร้างพระราชวังแฮร์เรนคีมเซขึ้นมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ต้นแบบคือพระราชวังแวร์ซายซึ่งพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงตั้งพระทัยจะสร้างให้เลิศหรูที่สุดแม้ว่าจะต้องลงทุนด้านแรงงานและทรัพย์สินจำนวนมาก พระราชวังตั้งอยู่บนเกาะแฮร์เรนคีมเซที่มีภูมิทัศน์ อันสวยงามยิ่งแถบอัลไพน์อันกว้างไกล แต่เกาะนี้สามารถไปถึงได้ด้วยเรือเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพระองค์ปรารถนาความสันโดษและทรงพบว่าที่นี่ไม่เหมือนแห่งใด ทั้งยังมีประเพณีแบบบรรพชิตที่มีความเก่าแก่มากกว่าพันปี จึงเป็นสถานที่ที่ทรงตั้งพระทัยให้เป็นอนุสรณ์สถานถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ บนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ การวางแผนและการก่อสร้างพระราชวังใหม่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ พระองค์ก็ทรงสามารถเยือนพระราชวังแห่งใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงพำนักอยู่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ คล้ายกับการจาริกแสวงบุญไปสู่วิหารของเทวราชาผู้ศักดิ์สิทธิ์ การก่อสร้างที่วิจิตรอลังการทำให้แฮร์เรนคีมเซกลายเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นเพื่อชื่นชมไม่ใช่เพื่อการประทับ พระองค์ทรงค้างแรมที่นี่ครั้งเดียวเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้นใน ค.ศ. ๑๘๘๕ ทั้ง ๆ ที่ทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นเงินถึง ๑๖ ล้านมาร์ค
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างปราสาทและพระราชวังทั้ง ๓ แห่งที่เป็นอนุสรณ์สำคัญของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ (ยกเว้นลินเดอร์ฮอฟ) มีมูลค่าถึง ๓๒ ล้านมาร์คซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลในเวลานั้น แต่ พระองค์ก็ยังมีพระราชประสงค์จะสร้างปราสาทเพิ่มขึ้นอีก ๓ แห่งตามแนวศิลปะกอทิก (Gothic) ไบแซนไทน (Byzantine) และจีน แม้จะทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง แต่ก็ไม่เคยนำเงินแผ่นดินมาใช้ เมื่อถึงปลาย ค.ศ. ๑๘๘๕ ทรงมีหนี้สินถึง ๑๔ ล้าน มาร์ค ทั้งเป็นที่น่าวิตกว่าพระองค์อาจจะถูกฟ้องร้องความจริงแล้วในเวลานั้นพระองค์ก็ทรงถูกยึดทรัพย์ไปแล้วหลายรายการ จนทำให้ต้องทรงส่งข้าราชสำนักออกไปหาเงินกู้ ข้าราชสำนักบางคนก็เดินทางไปจริง ๆ ทั้งที่ทราบดีว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ทั้งยังมีเรื่องเล่าว่าข้าราชสำนักกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปยังเมืองใหญ่ ๆ ของยุโรปเพื่อปล้นธนาคาร เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่กล้ากระทำการ
ฐานะทางการเงินของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทำให้อัครมหาเสนาบดีลุทซ์รู้สึกลำบากใจและเห็นว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจะยุติลงได้หากพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรง ถูกปลดจากบัลลังก์ นอกจากนี้ บรรดาสมาชิกราชวงศ์วิทเทลส์บาค (Wittelsbach)* ต่างก็ทรงไม่พอใจการใช้จ่ายพระราชทรัพย์ที่ ขาดพระสติของพระองค์ รวมทั้งการที่พระองค์ไม่ยอมปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะกษัตริย์ดังนั้นในกลาง ค.ศ. ๑๘๘๕ ลุทซ์และเจ้าชายลูอิทพอลด (Luitpold) พระปิตุลา (อา) จึงร่วมมือกันหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวซึ่งเจ้าชายบิสมาร์ค อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนีก็ให้ความเห็นชอบด้วยโดยจะให้รัฐบาลแห่งจักรวรรดิเยอรมันประกาศว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระสติฟั่นเฟือน
การยืนยันว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ คณะแพทย์ซึ่งมีนายแพทย์แบร์นฮาร์ด ฟอน กุดเดิน (Bernhard von Gudden) และเพื่อนร่วมงานอีก ๓ คน ใช้หลักฐานที่ รวบรวมได้ซึ่งเป็นหลักฐานที่ต่อต้านพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม มีบางกลุ่มที่เชื่อว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ที่มีพระบุคลิกแปลกประหลาดเท่านั้น แต่นายแพทย์ทั้ง ๔ คนไม่ยอมรับฟังคำให้การของพวกเขา แม้ว่าลายพระราชหัตถเลขาร่วม ๓๐๐ ฉบับที่เลขาธิการคณะเสนาบดีรวบรวมไว้นั้นก็ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่แสดงว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระสัญญาวิปลาสคณะแพทย์ยังไม่สนใจที่จะตรวจสอบหลักฐานนี้ ทั้งไม่มีการตรวจพระวรกายและพระอารมณ์ของพระองค์คณะแพทย์ออกประกาศว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงวิกลจริตและมีพระอาการประชวรที่ไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ จึงไม่สามารถใช้พระราชอำนาจในฐานะกษัตริย์ได้อีกต่อไป
ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ มีคำประกาศอย่างเป็นทางการให้เจ้าชายลูอิทพอลด์เป็นผู้สำเร็จราชการอย่างถาวร นับแต่นั้นเป็นต้นไปให้คณะ กรรมาธิการเฉพาะกิจมีหน้าที่ดูแลเรื่องการเงินและการดำรงพระชนมชีพของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ในช่วงเวลาเดียวกัน พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ก็ยังทรงประทับที่ ปราสาทนอยชวันชไตน์ต่อไป อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่ช้าหลังจากพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากเหล่าราชองครักษ์ก็ทรงสั่งจับกุมสมาชิกของคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจที่ถูกส่งมาเพื่อนำตัวพระองค์ไปควบคุม ต่อมาพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระราชหัตถเลขาเปิดผนึกถึงพสกนิกรเรียกร้องให้ทำสงครามกลางเมืองหากพระองค์ต้องถูกจับกุม ในเวลาเดียวกันก็ทรงตรัสถึงการทำอัตวินิบาตกรรม แต่ภายหลังความชุลมุนวุ่นวายและการใช้กำลังที่ เหนือกว่าของฝ่ายก่อการ พระองค์ทรงถูกควบคุมและนำขึ้นรถม้าที่ปิดช่องทางที่จะทรงหลบหนีได้
เมื่อฝ่ายก่อการนำพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ มาถึงที่คุมขังคือปราสาทแบร์ก (Berg) เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ พระตำหนักที่ประทับก็ถูกดัดแปลงแล้วเพื่อให้สามารถสอดแนมพระราชจริยวัตรและเพื่อป้องกันการหลบหนีของพระองค์ ในวันรุ่งขึ้นทรงตื่นบรรทมแต่เช้ามืด แต่ไม่ทรงสามารถหาฉลองพระองค์ใหม่ได้ ทั้งผู้คุมยังกราบทูลให้พระองค์กลับไปบรรทมต่อเพราะในคืนที่ผ่านมาทรงใช้เวลาเดินวนเวียนอยู่แต่ในห้อง เมื่อทรงตื่นบรรทมอีกครั้งในวันที่ฟ้ามืดครึ้มด้วยเมฆฝนพระองค์ไม่มีโอกาสได้ตรัสกับผู้ใด แม้จะเป็นวันอาทิตย์ของเทศกาลภายหลังวันอีสเตอร์ (Easter) เจ็ดสัปดาห์ (Whitsun) แต่พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ก็ไม่ทรงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด ซึ่งทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเครียดและสิ้นหวัง
ในเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงชวนนายแพทย์กุดเดินให้ตามเสด็จไปรอบบริเวณปราสาทโดยมีผู้คุม ๒ คนเดินตามในระยะสายตา เมื่อเสด็จกลับที่ประทับ นายแพทย์กุดเดินให้ความเห็นว่าทรงมีพระอาการสบายดี ถวายการรักษาได้ผลดีและทรงเป็นปรกติดีแล้ว นายแพทย์กุดเดินซึ่งก่อนหน้านี้เคยให้คำวินิจฉัยว่าพระองค์ทรงมีพระอาการผิดปรกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่าในช่วงระยะเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมง เขากลับเห็นว่าสามารถรักษาคนที่ มีปัญหาทางจิตให้หายเป็นปรกติได้ ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าจริง ๆ แล้วพระเจ้า ลุดวิกที่ ๒ ทรงมีพระอาการสติฟั่นเฟือนจริงหรือไม่
ในช่วงเย็นหลังเวลา ๑๘.๐๐ น. เล็กน้อยพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงสั่งให้นายแพทย์กุดเดินตามเสด็จตามที่ตกลงกันไว้อีกครั้ง แม้ว่านายแพทย์กุดเดินจะไม่เต็มใจนักแต่เขาก็ยอมทำตาม เนื่องจากทรงมีท่าทีสงบนายแพทย์กุดเดินไม่ให้ผู้คุ้มกันตามไปด้วยเพราะเขาเชื่อว่าพระองค์จะให้ความร่วมมือดีขึ้นหากทรงวางพระทัยในแพทย์ผู้ถวายการรักษา ทั้งสองออกเดินเล่นในเวลาประมาณ ๑๘.๑๐ น. โดยสวมเสื้อคลุมและถือร่มไปด้วยเพราะพายุฝนกำลังตั้งเค้า ก่อนที่จะออกไปนายแพทย์กุดเดินสั่งให้เตรียมพระกระยาหารค่ำให้เสร็จภายในเวลา ๒๐.๐๐ น. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาทั้งพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ และนายแพทย์กุดเดินก็ยังไม่กลับมา แพทย์ผู้ช่วยจึงส่งคนออกตามจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. ก็ยังไม่มีผู้ใดพบ ในเวลานั้นฝนก็ตกกระหน่ำหนักขึ้น แต่ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นต่างได้รับคำสั่งให้ค้นหาพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ และนายแพทย์กุดเดินต่อไป จนกระทั่งเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. จึงมีผู้สังเกตเห็นวัตถุสีดำลอยเหนือน้ำในจุดทางเดินที่อยู่ใกล้กับฝั่งของทะเลสาบชตาร์นแบร์ก (Starnberg) เป็นเสื้อนกและเสื้อคลุมของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็มีผู้พบร่างของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ในลักษณะคว่ำพระพักตร์ลอยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นและห่างจากฝั่งทะเลสาบไปประมาณ ๒๐ เมตรก็มีร่างของนายแพทย์กุดเดิน
พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๔๑ พรรษา ข่าวการสวรรคตสร้างความตื่นตะลึงทั่วยุโรปชาวบาวาเรียเศร้าโศกต่อการจากไปของกษัตริย์หนุ่มผู้มีหงส์เป็นสัญลักษณ์ ในขณะที่ชาวชนบทซึ่งพระองค์ ทรงใกล้ชิดด้วยร่ำไห้อาลัยรัก กลุ่มผู้ก่อการถอดถอนพระองค์จากราชบัลลังก์โดยเฉพาะอัครมหาเสนาบดีลุทซ์ถูกประชาชนเพ่งเล็ง ในกรุงลอนดอน หนังสือพิมพ์ The Times ประโคมข่าวการสวรรคตอย่างละเอียด ซึ่งทำให้ข่าวของพระองค์เป็นที่ติดตามกันมากขึ้น มีการตั้งพระศพเพื่อประกอบพระราชพิธีตามประเพณีเป็นเวลาร่วมสัปดาห์ และมีพระราชพิธีบรรจุพระศพเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ ณ วิหารเซนต์มิคาเอล (St. Michael) ในเมืองมิวนิก ต่อมามีการสร้างโบสถ์เล็ก ๆ ขึ้นใกล้กับจุดที่ พบพระศพ และในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ทุก ๆ ปี จะมีพิธีระลึกถึงพระองค์
แม้จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการว่าการสวรรคตของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ เป็นอัตวินิบาตกรรม แต่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปด้วยเหตุผลที่ว่าทรงเป็นนักว่ายน้ำที่เชี่ยวชาญและในจุดที่พบพระศพน้ำมีความลึกเพียงแค่เอว อีกทั้งรายงานการชันสูตรพระศพบ่งชี้ว่าไม่มีน้ำในพระปับผาสะ ข้อพิสูจน์เรื่องการสวรรคตของพระองค์ก็ไม่เคยมีการเปิดเผย แต่หลายคนก็เชื่อว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ น่าจะถูกศัตรูทางการเมืองของพระองค์ลอบปลงพระชนม์ หรือถูกสังหารเพราะพยายามหลบหนี บ้างก็เสนอว่าพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ น่าจะสวรรคตจากเหตุสามัญ เช่น พระทัยวายกะทันหันในระหว่างที่ ทรงพยายามหลบหนี ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีความเป็นไปได้มาก เพราะในช่วงหลังพระองค์ทรงพระเจริญมากขึ้นเนื่องจากการเสวยทั้งพระกระยาหารและน้ำจัณฑ์ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุการสวรรคตและไม่มีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
ภายหลังการสวรรคต เจ้าชายออทโท (Otto) พระอนุชาซึ่งทรงมีพระสติฟั่นเฟือนอย่างเห็นได้ชัดก็ได้เป็นกษัตริย์แต่ในนามของบาวาเรียจนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๑๖ แต่เจ้าชายลูอิทพอลด์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการคือประมุขที่ แท้จริงของบาวาเรียในช่วงดังกล่าวจนกระทั่งทิวงคตใน ค.ศ. ๑๙๑๒ พระโอรสของเจ้าชายลูอิทพอลด์ทรงสืบราชสมบัติในพระนามพระเจ้าลุดวิกที่ ๓ (Ludwig III ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๘) ดังนั้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๖ จึงเป็นช่วงที่บาวาเรียมีกษัตริย์ ๒ พระองค์ระบบกษัตริย์ของบาวาเรียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อจักรวรรดิเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
ปราสาทและพระราชวังต่าง ๆ ที่พระเจ้าลุดวิกที่ ๒ ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมหาศาลในการก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระอารมณ์ที่ หมกมุ่นกับการสร้างสิ่งวิจิตรพิสดารโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายจนพระองค์ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ปัจจุบันตกเป็นสมบัติของรัฐบาวาเรียซึ่งมีหน่วยบริหารปราสาทและพระราชวังแห่งรัฐบาวาเรีย (Bavarian Administration of State Castles and Palaces) เป็นผู้บริหารจัดการปราสาทนอยชวันชไตน์ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดอันดับ ๑ ในกลุ่มปราสาทของเยอรมนี และทุกครั้งก็จะมีการเล่าขานถึงตำนานของพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ กษัตริย์ผู้โดดเดี่ยวในโลกแห่งความฝัน.