Potemkin Mutin (1905)

กบฏโปเตมกิน (พ.ศ. ๒๔๔๘)

กบฏโปเตมกินเป็นการก่อกบฏของทหารเรือและกะลาสีชาวรัสเซียประจำเรือรบโปเตมกินในทะเลดำเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการของผู้บังคับการเรือ ข่าวการก่อกบฏที่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ใช้เหตุการณ์กบฏโปเตมกินไปโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองโดยชี๋ให้เห็นว่ากองกำลังของซาร์บางส่วนได้หันมาสนับสนุนการปฏิวัติเลนินเรียกร้องให้แกนนำพรรคบอลเชวีค (Bolsheviks)* เข้าไปชี้นำการเคลื่อนไหวและทำให้การก่อกบฏของทหารเรือและกะลาสีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติรัสเซียที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น แม้กบฏโปเตมกินจะล้มเหลว แต่เรื่องราวการก่อกบฏก็กลายเป็นตำนานในขบวนการปฏิวัติ รัสเซียและได้ชื่อว่าเป็น “พื้นที่การปฏิวัติที่ไม่เคยปราชัย” (undefeated territory of the revolution)

 กบฏโปเตมกินเป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของ กองเรือรบรัสเซียต่อกองเรือรบญี่ปุ่นในยุทธนาวีที่สึชิมะ (Battle of Tsushima ๒๔-๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕)* ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ กระแสการต่อต้านรัฐบาลและซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ได้ขยายตัวในวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มการเมืองต่าง ๆ จึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและกลุ่มฝ่ายซ้ายก็ผลักดันให้กรรมกรชุมนุมนัดหยุดงานและให้ชาวนาในชนบทก่อการจลาจลต่อต้านเจ้าที่ดินและขุนนางท้องถิ่น ในช่วงเวลาเดียวกัน ทหารและกะลาสีเรือที่เมืองวลาดิวอสตอค (Vladivostock) เซวัสโตโปล (Sevastopol) และครอนชตัดท์ (Kronstadt) ก็เริ่มก่อการจลาจลเพื่อสนับสนุนการชุมนุมนัดหยุดงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มอสโก และเมืองใหญ่อื่น ๆ ด้วย ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นต้นมา จึงเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ทำให้ทหารเรือและกะลาสีเรือรบโปเตมกินในทะเลดำซึ่งได้รับทราบข่าวก่อการจลาจลขึ้นในเวลาต่อมา

 เรือรบโปเตมกินได้ชื่อมาจากเจ้าชายกรีกอรี อะเล็กซานโดรวิช โปเตมกิน (Grigori Alexandrovich Potemkin) ชู้รักคนหนึ่งของซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ (Catherine II ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพิชิตกองทัพตุรกีเขาสร้างหมู่บ้านโปเตมกินขึ้นที่คาบสมุทรไครเมีย บริเวณฝั่งแม่นํ้านีเปอร์ (Dnieper) ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ล้วนมีความสุขทั้งเป็นหมู่บ้านที่มั่งคั่ง สวยงาม และเจริญ หมู่บ้านโปเตมกินนับเป็นการจัดฉากเพื่อสร้างความประทับใจแก่ซารีนาและชาวต่างชาติและเพื่อปกปิดความล้าหลังด้อยพัฒนาของรัสเซียต่อมาในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อรัสเซียขยายอำนาจและอิทธิพลในดินแดนตะวันออกไกล กองทัพเรือรัสเซียซึ่งเตรียมการที่จะเผชิญกับญี่ปุ่นทางทะเลได้เริ่มดำเนิน การสร้างเรือรบแบบใหม่ที่ทันสมัย ๒ ลำใน ค.ศ. ๑๘๙๗ เรือรบโปเตมกินเป็นเรือรบลำหนึ่งที่สร้างขึ้นที่ลู่ต่อเรือนิโคลาเยฟ (Nikolayev) บนฝั่งทะเลดำในยูเครน (Ukraine) เรือรบโปเตมกินซึ่งเป็นเรือรบลำแรกที่ใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินและมีระบบควบคุมความร้อนที่ส่วนกลางสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ และประจำการในทะเลดำ แม้กองเรือรบรัสเซียในทะเลดำจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยุทธนาวีในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* เท่าใดนัก แต่ทหารเรือและกะลาสีที่สังกัดกองเรือรบในทะเลดำจำนวนไม่น้อยก็เป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย พวกเขากำลังเบื่อหน่ายต่องานอันจำเจและไม่พอใจต่อกฎระเบียบที่เข้มงวด รวมทั้งการประจำการอยู่กับที่ที่ยาวนาน ข่าวความพ่ายแพ้ที่สึชิมะซึ่งมาถึงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ยิ่งทำให้พวกเขาหดหู่มากขึ้นอย่างไรก็ตาม ในกลางเดือนมิถุนายน เรือรบโปเตมกินก็ได้รับคำสั่งให้แล่นออกจากฐานที่เซวัสโตโปลไปลาดตระเวนและซ้อมรบที่อ่าวเทนดรา (Tendra) ซึ่งใกล้กับพรมแดนโรมาเนียและไม่ห่างไกลจากเมืองโอเดสซา (Odessa) มากนัก ในช่วงการเดินทางเรือตอร์ปิโดหมายเลข ๒๖๗ ก็ถูกส่งไปเมืองโอเดสซาเพื่อหาเสบียง

 ในเช้าวันที่ ๑๓ มิถุนายน พวกกะลาสีสังเกตเห็นว่าเนื้อสัตว์ที่เรือตอร์ปิโดนำมามีหนอนและบางส่วนเน่าเสียพวกเขาจึงปฏิเสธที่จะรับประทานเนื้อเหล่านี้ และในเวลารวดเร็วก็มีข่าวลือแพร่ไปทั่วว่าพ่อค้าและนายทหารได้ประโยชน์จากการจัดชื้ออาหาร ผู้บังคับการเรือมีคำสั่งให้ตรวจสอบและแพทย์ประจำเรือยืนยันว่ามีเพียงผิวเนื้อบางส่วนเท่านั้นที่เสีย หากนำเนื้อไปทำความสะอาดและปรุงให้สุกก็รับประทานได้ อย่างไรก็ตาม ลูกเรือส่วนหนึ่งก็ยังคงประท้วงไม่ยอมรับประทานอาหาร รองผู้บังคับการเรือจึงเรียกรวมพลและเรียกทหารยามติดอาวุธเข้าประจำที่ในช่วงเวลานั้น อะฟานาซี มัตอูเชนโก (Afanasi Matushenko) ลูกเรือหัวรุนแรงซึ่งวางแผนจะก่อความวุ่นวายเมื่อเรือเข้าเทียบฝั่งก็เห็นเป็นโอกาสปลุกระดมทางความคิดเรียกร้องความเป็นธรรมและขอร้องทหารยามไม่ให้ใช้อาวุธกับพวกเดียวกัน พลพรรคของมัตอูเชนโกพยายามปลดอาวุธทหารยามแต่ถูกต้อนไปรวมกันที่มุมหัวเรือ พวกนายทหารได้ใช้ผ้าใบโยนคลุมลูกเรือและเกิดความวุ่นวายขึ้นและนำไปสู่การจลาจลจนบาดเจ็บและเสียชีวิตกันทั้ง ๒ ฝ่าย เหล่าลูกเรือสามารถจับผู้บังคับการเรือเป็นตัวประกันและยึดเรือได้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเรือขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อควบคุมบัญชาการเรือโดยมีมัตอูเชนโกเป็นประธานเขาประกาศว่าพวกลูกเรือคือวีรบุรุษซึ่งได้จุดคบเพลิงแห่งการปฏิวัติเพื่อปลดโซ่ตรวนของความเป็นทาส และพวกเขาจะโน้มน้าวให้เรือรบลำอื่น ๆ เข้าร่วมการต่อสู้และสนับสนุนการเคลื่อนไหวปฏิวัติในภาคพื้นทวีป คณะกรรมการเรือมีมติให้แล่นเรือไปเมืองโอเดสซาซึ่งขณะนั้นมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน กรรมกรซึ่งเคลื่อนไหวนัดหยุดงานและปะทะกับตำรวจและกองทหารคอสแซค (Cossacks)* กำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

 เรือรบโปเตมกินซึ่งชักธงแดงมาถึงท่าเรือเมืองโอเดสซาในเย็นวันที่ ๑๔ มิถุนายน และมีการนำศพหัวหน้าลูกเรือที่เสียชีวิตขึ้นฝั่งไปไว้บนสะพานหินริมฝั่งเพื่อให้ชาวเมืองมาดูและเห็นความโหดเหี้ยมของผู้กดขี่ ชาวเมืองต่างโกรธแค้นและแสดงประชามติสนับสนุนลูกเรือโปเตมกินคณะกรรมการเรือได้ประสานงานการเคลื่อนไหวกับองค์การปฏิวัติในโอเดสซาและมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตำรวจและกองทหารคอสแซคหยุดปฏิบัติการอันรุนแรงต่อกรรมกรที่กำลังชุมนุมนัดหยุดงาน ไม่เช่นนั้นเรือรบโปเตมกินซึ่งคาดหวังว่าจะมีเรือรบลำอื่น ๆ มาสมทบจะใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเมืองโอเดสซา ในเย็นวันต่อมา มีเพียงเรือรบขนาดเล็กชื่อเวคคา (Vekka) ซึ่งเดินทางมาจากเมืองนิโคลาเยฟลำเดียวเท่านั้นที่เข้ามาสนับสนุนเรือรบโปเตมกิน ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้แทนกองทหาร ๒ หน่วยจากกองกำลังภาคพื้นดินก็ติดต่อขอร่วมต่อสู้กับเรือรบโปเตมกินด้วย เลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศ และทราบข่าวการก่อกบฏของเรือรบโปเตมกินเรียกร้องให้แกนนำพรรคบอลเชวิคเข้าไปชี้นำการเคลื่อนไหวของเรือรบโปเตมกิน แต่ข้อเรียกร้องของเลนินไม่ได้รับความสนใจจากผู้แทนพรรคในโอเดสซาเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมื่อฝ่ายบอลเชวิคต้องการเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับเหล่าลูกเรือโปเตมกินก็ประสบความล้มเหลวเพราะเรือรบโปเตมกินได้แล่นออกจากท่าเรือไปแล้ว

 ในคืนวันที่ ๑๕ มิถุนายน ตำรวจและกองทหารคอสแซคซึ่งเข้าใจว่าแถลงการณ์ของเรือรบโปเตมกินเป็นเพียงการข่มขวัญเท่านั้นได้ระดมกำลังเข้าล้อมปราบกรรมกร อีกครั้งหนึ่งรวมทั้งเข่นฆ่าทำร้ายชุมชนชาวยิวด้วย ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ ๒,๐๐๐ คน การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดดังกล่าวทำให้เรือรบโปเตมกินยิงถล่มเมืองโอเดสซาในวันรุ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่โรงละครเมืองซึ่งสภากองทัพกำลังประชุมกันอยู่ แต่พลาดเป้าหมาย การตอบโต้ของเรือรบโปเตมกินได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่กรรมกรและมวลชนและเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือได้ร่วมต่อสู้กับกรรมกรปัญญาชนสังคมนิยมเห็นว่าการต่อสู้ของเรือรบโปเตมกินเป็นการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่มีลักษณะมวลชน เพราะกองทัพได้ประสานและผนึกกำลังเข้ากับกรรมกรและประชาชน

 ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน รัฐบาลส่งเรือรบจำนวนหนึ่งจากฐานทัพเรือเมืองเซวัสโตโปลไปปราบปรามกบฏโปเตมกิน โดยมีคำสั่งให้จับกุมพวกกบฏไม่ว่าเป็นหรือตาย หากไม่สามารถทำได้ก็ให้จมเรือ แต่เมื่อเผชิญหน้ากัน เรือรบที่ส่งมาก็ปฏิเสธที่จะยิงใส่เรือรบโปเตมกินทั้งแล่นผ่านออกสู่น่านนํ้าไป แต่เรือรบจอร์จเดอะคองเกอเรอร์ (George the Conqueror) ซึ่งอยู่ในขบวนกลับเข้าร่วมสมทบเรือรบโปเตมกิน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์บนเรือรบจอร์จเริ่มเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา เมื่อเหล่ากะลาสีและลูกเรือส่วนหนึ่งซึ่งถูกเกลี้ยกล่อมให้หยุดการเคลื่อนไหวสนับสนุนเรือรบโปเตมกินเริ่มเรียกร้องที่จะกลับไปฐานที่เซวัสโตโปล ทหารและลูกเรือที่เหลือก็เริ่มโลเล ผู้แทนปฏิวัติจากเรือรบโปเตมกินจึงให้จับกุมนายทหารที่ยุยงลูกเรือ แต่ประสบความล้มเหลว ในท้ายที่สุด เรือรบจอร์จก็ถอนตัวจากการเคลื่อนไหวและแล่นกลับฐานทัพ การถอนตัวของเรือรบจอร์จเปิดโอกาสให้กองทัพเข้ากวาดล้างการเคลื่อนไหวในเมืองโอเดสซาและทำให้ทหารเรือและกะลาสีเรือรบโปเตมกินซึ่งกำลังอ่อนล้าเสียขวัญ พวกเขาตระหนักว่าหากยอมแพ้ก็จะถูกตัดสินโทษหนัก เพราะมีตัวอย่างมาแล้วจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งภายหลังการจลาจล ผู้ที่ยอมจำนนต่างถูกประหารด้วยการยิงเป้าหรือถูกเนรเทศไปไซบีเรีย ฝ่ายกบฏเรือรบโปเตมกินจึงตัดสินใจแล่นหนีออกไปจากน่านนํ้ารัสเซียมุ่งไปยังเมืองท่าคอนสแตนซา (Constanza) โรมาเนีย

 เมื่อเรือรบโปเตมกินแล่นมาถึงเมืองท่าคอนสแตนซา ทหารเรือและกะลาสีขอลี้ภัยในโรมาเนีย แต่รัฐบาลพระเจ้าคารอล (Carol) แห่งโรมาเนียปฏิเสธและเพียงให้พวกเขาได้เสบียง นํ้า และเชื้อเพลิงเท่านั้น เรือรบโปเตมกินจึงออกทะเลอีกครั้งและพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับเรือรบหลวงที่ถูกส่งมาตามล่าอย่างไม่ลดละ อย่างไรก็ตาม การแล่นไปในทะเลกว้างที่ไม่เห็นส่งทำให้ความหวังที่จะหนีริบหรี่ลงการขาดแคลนเสบียงและเชื้อเพลิงยังทำให้เรือรบโปเตมกินจำเป็นต้องแล่นกลับมายังฐานที่เซวัสโตโปลโดยใช้เส้นทางมุ่งหน้าไปยังเมืองท่าเฟโอโดเซีย (Feodosia) ปลายสุดแหลมไครเมียซึ่งห่างไกลจากฐานทัพของกองเรือรัสเซียเมื่อมาถึงเมืองท่าเฟโอโดเชีย ชาวเมืองเพียงให้นํ้าเปล่าและปฏิเสธที่จะให้อาหารและเชื้อเพลิง เรือรบโปเตมกินจึงข่มขู่ที่จะยิงถล่มเมือง ในระหว่างนั้นเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่ขึ้นฝั่งไปติดต่อขอความช่วยเหลือกับกองทหารลาดตระเวนชายฝั่งซึ่งทำให้ลูกเรือโปเตมกิน ๓ คนเสียชีวิตในท้ายที่สุด เรือรบโปเตมกินต้องถอนสมอหนีออกทะเลแต่ก็ไปไม่รอด เพราะเมื่อแล่นมาถึงเมืองคอนสแตนซาก็เผชิญกับเรือรบรัสเซีย ฝ่ายก่อการจึงตัดสินใจที่จะจมเรือและอนุญาตให้ลูกเรือที่ต้องการขึ้นฝั่งและยอมจำนนต่อทางการโรมาเนียรอดชีวิต ทหารเรือและกะลาสีประมาณ ๕๐๐ คน ยอมแพ้โดยรัฐบาลโรมาเนียปฏิเสธที่จะส่งตัวข้ามแดนตามคำขอของรัฐบาลรัสเซียด้วยข้ออ้างว่าการกระทำของเหล่าทหารเรือและกะลาสีไม่ใช่เป็นอาชญากรรมแต่เป็นเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเดินทางกลับรัสเซียและบ้างเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวปฏิวัติ

 ส่วนทหารเรือและกะลาสีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ขึ้นบกก็ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งให้จมเรือ การต่อต้านของพวกเขาทำให้เรือรบลำอื่น ๆ ที่ตามล่าเรือรบโปเตมกินสามารถจับกุมฝ่ายกบฏได้ทั้งหมด รัฐบาลโรมาเนียก็ส่งคืนเรือรบโปเตมกินซึ่งจอดที่น่านนํ้าโรมาเนียให้แก่รัสเซีย ศาลทหารตัดสินประหารผู้นำการกบฏ ๗ คน ๑๙ คนถูกตัดสินลงโทษให้ไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย และอีก ๓๕ คนถูกจำคุก ความล้มเหลวของกบฏโปเตมกินมีปัจจัยหลายประการ แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่ฝ่ายปฏิวัติกล่าวอ้างคือทหารเรือและกะลาสีไม่มีประสบการณ์เรื่องการปฏิวัติและขาดจิตสำนึกทางชนชั้นพวกเขาถูกปลุกระดมให้โกรธแค้นและเกลียดชังระบบการกดขี่ซึ่งทำให้ถูกโน้มน้าวให้ลุกฮือก่อกบฏได้ง่าย แต่พวกเขาก็ขาดแนวทางการต่อสู้ที่ชัดเจน เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อความเป็นเอกภาพของการเคลื่อนไหวก็สิ้นสุดลง และในเวลาที่จำเป็นต้องใช้กำลังอาวุธเพื่อชัยชนะ พวกเขาก็ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เลนินกล่าวสรุปว่าความสำคัญของกบฏโปเตมกินคือการกบฏเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับกระแสการปฏิวัติในเมืองโอเดสซาซึ่งทำให้ทั้ง ๒ เหตุการณ์ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่การขาดความเป็นเอกภาพของการเคลื่อนไหว และความล้มเหลวในการใช้ยุทธวิธีการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธ และไม่ยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นจนมีชัยชนะก็ทำให้พ่ายแพ้ อย่างไรก็ตาม การที่เรือรบโปเตมกินได้ยืนเคียงข้างกับฝ่ายปฏิวัติก็นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* โดดเด่นและมีพลังในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในระดับนานาชาติ

 แม้กบฏโปเตมกินจะพ่ายแพ้แต่ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรในพื้นที่ต่าง ๆ เพราะแกนนำพรรคบอลเชวิคและผู้นำกรรมกรใช้เหตุการณ์กบฏโปเตมกินปลุกระดมความคิดทางการเมืองและเรียกร้องการปฏิรูปประเทศจนในเวลาต่อมารัฐบาลประกาศจะให้มีการจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* ขึ้นทั้งยอมรับการจัดตั้งโซเวียตของผู้แทนกรรมกร (Soviet of Worker’s Deputies) หรือสภาโซเวียต (Soviet) ของขบวนการกรรมกร ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ มีการเปลี่ยนชื่อเรือรบโปเตมกินเป็นเรือรบปันเตเลมอน (Panteleimon) ตามชื่อนักบุญปันเตเลมอน ซึ่งก่อนเป็นนักบุญได้เสียชีวิตในทะเล

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* รัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ล่มสลาย หลังการปฏิวัติรัสเซียปกครองแบบทวีอำนาจซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อเรือรบปันเตเลมอนเป็นโปเตมกินดังเดิม แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาเพียง ๒ เดือนกว่าเท่านั้น เพราะในเดือนพฤษภาคมเรือรบโปเตมกินเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นฟรีดัมไฟเตอร์ (Freedom Fighter) ต่อมาในยุทธนาวีที่ทะเลดำ ค.ศ. ๑๙๑๘ ฝ่ายเยอรมันสามารถยึดเรือไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* กองทัพฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกด้านการเงินและกำลังอาวุธสามารถยึดเรือฟรีดัมไฟเตอร์กลับคืนได้ แต่เมื่อฝ่ายรัสเซียขาวเริ่มเพลี่ยงพลํ้าในการรบ ประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกจึงตัดสินใจจมเรือรบฟรีดัมไฟเตอร์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นของฝ่ายรัสเซียแดง หลังสงครามกลางเมืองรัสเซียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๒๑ รัฐบาลโซเวียตสั่งให้กู้เรือฟรีดัมไฟเตอร์จากก้นทะเล แต่เรือได้รับความเสียหายอย่างมากและถูกรื้อทำลายลงในที่สุด

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นวาระครบ ๒๐ ปีของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ รัฐบาลโซเวียตให้อะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatoli Lunacharsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งควบคุมดูแลงานด้านศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ ลูนาชาร์สกีจึงให้เซียร์เกย์ เอย์เซนสไตน์ (Sergei Eisenstein) ผู้กำกับและผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ เพื่อให้การศึกษาแก่มวลชนและโฆษณาความคิดทางการเมืองที่เน้นอุดมการณ์สังคมนิยมและเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นสู้ครั้งแรกของประชาชนรัสเซีย เอย์เซนสไตน์เลือกเหตุการณ์กบฏโปเตมกินและการเข่นฆ่าประชาชนที่เมืองโอเดสซาเป็นตัวแทนปรากฏการณ์ของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ และให้ชื่อว่า Battleship Potemkin เขานำเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์แบบใหม่ที่เรียกว่า “การตัดต่อ” (montage) หรือ “การปะติดปะต่อ” มาใช้ซึ่งทำให้ภาพที่จัดองค์ประกอบอย่างพิถีพิถันและจงใจ โดดเด่นและมีความหมายทั้งทำให้ผู้ชมรู้สึกถูกปลุกเร้าให้ตื่นตัวตลอดเวลา Battleship Potemkin ซึ่งเป็นภาพยนตร์เงียบขาวดำที่ออกฉายทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศต่าง ๆ ได้รับการกล่าวขวัญและชื่นชอบกันอย่างมากเพราะนำเสนอศิลปะแบบปฏิวัติและบุกเบิกเทคนิคการสร้างภาพยนตร์โดยการลำดับภาพเพื่อสื่อความหมายด้วยการตัดต่อซึ่งทำให้ภาพยนตร์เป็นการสื่อภาษาและศิลปะที่สมบูรณ์ในตัวเอง Battleship Potemkin จึงได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาลและยังคงครองอันดับ ๑ ของภาพยนตร์ดีที่สุดของโลกในจำนวน ๑๐ เรื่องจนถึงปัจจุบัน.



คำตั้ง
Potemkin Mutin
คำเทียบ
กบฏโปเตมกิน
คำสำคัญ
- กบฏโปเตมกิน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- คอสแซค
- บอลเชวิค
- โปเตมกิน, เจ้าชายกรีกอรี อะเล็กซานโดรวิช
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- ฝ่ายรัสเซียแดง
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- ฟรีดัมไฟเตอร์
- มัตอูเชนโก, อะฟานาซี
- ยูเครน
- โรมาเนีย
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาดูมา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-