Trumbić, Ante (1864–1938)

นายอันเต ทรูมบิตช์ (พ.ศ. ๒๔๐๗–๒๔๘๑)

 อันเต ทรูมบิตช์ เป็นนักการเมืองชาตินิยมชาวโครแอตที่มีบทบาทสำคัญในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนคนหนึ่งของชาวโครแอตในสภาแห่งจักรวรรดิ (Imperial Council) ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ชาวโครแอตได้รับสิทธิเท่าเทียมกับชาวออสเตรียและชาวฮังการี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาลี้ภัยไปอังกฤษและได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟ (Yugoslav Committee)* ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เพื่อรวมดินแดนสลาฟใต้ขึ้นเป็นประเทศจนนำไปสู่การสถาปนาราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอตและสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ และทรูมบิตช์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 ทรูมบิตช์เกิดในครอบครัวยากจน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๔ ที่เมืองสปลิต (Split) ในดัลเมเชีย (Dalmatia) ใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* แม้มีโฮวิล (Mihovil) และอะนา (Ana) บิดามารดาจะเป็นกรรมกรทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ก็อบรมเลี้ยงดูบุตรอย่างดีและสนับสนุนให้ได้เรียนหนังสือ ทรูมบิตช์เติบโตในเมืองเกิดและสำเร็จการศึกษาระดับประถมและมัธยมใน ค.ศ. ๑๘๘๒ เขาทำงานทุกอย่างเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้และสามารถเข้าศึกษาต่อในสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในกรุงซาเกรบ (Zagreb) กรุงเวียนนา (Vienna) และเมืองกราซ (Graz) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกใน ค.ศ. ๑๘๙๐ จากนั้นเขากลับมาเปิดสำนักงานทนายความในเมืองเกิด ทรูมบิตช์สนใจด้านการเมืองและได้รับอิทธิพลทางความคิดจากขบวนการอิลลิเรียน (Illyrian Movement)* ของกลุ่มปัญญาชนชาตินิยมชาวโครแอตซึ่งต่อต้านฮังการีและออสเตรีย ทั้งต้องการรวมดินแดนของชนเผ่าสลาฟใต้ให้เป็นเอกภาพ เขายังเห็นด้วยกับแนวความคิดอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism)* ที่ต้องการปลดปล่อยชาวสลาฟใต้หรือยูโกสลาฟ (Yugoslav) ให้เป็นไทด้วยการแยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ทรูมบิตช์จึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคสิทธิแห่งโครเอเชีย (Croatian Party of Rights) ซึ่งมีอันเต สตาร์เซวิตช์ (Ante Starcević) เป็นผู้นำและมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวโครแอตในพื้นที่ดั้งเดิมของโครเอเชียซึ่งรวมถึงดัลเมเชียด้วย รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งชาติยูโกสลาฟ ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ทรูมบิตช์แยกตัวมาจัดตั้งพรรคสิทธิแห่งดัลเมเชีย (Dalmatian Party of Rights) ทั้งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและอีก ๓ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนคนหนึ่งของดัลเมเชียในสภาแห่งจักรวรรดิที่กรุงเวียนนา ทรูมบิตช์เสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ชาวสลาฟมีสิทธิเท่าเทียมกับชาวออสเตรียและฮังการี ทั้งเรียกร้องให้ดัลเมเชียได้รวมเข้ากับโครเอเชีย แต่ยังให้อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการีต่อไป ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากโครเอเชียอย่างดีบทบาทดังกล่าวจึงมีส่วนทำให้ทรูมบิตช์เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในฐานะนักการเมืองแนวปฏิรูปซึ่งส่งผลให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเมืองสปลิตใน ค.ศ. ๑๙๐๕

 ในปีเดียวกัน ทรูมบิตช์นำพรรคสิทธิแห่งดัลเมเชียรวมเข้ากับพรรคประชาชน (People’s Party) เป็นพรรคโครเอเชีย (Croatian Party) โดยเขาเป็นรองหัวหน้าพรรค ทรูมบิตช์และฟรานอ ซูปีลอ (Frano Supilo) นักการเมืองชาวโครแอตและผู้นำของกลุ่มการเมืองผสม “แนวร่วมโครแอต-เซิร์บ” (Croat-Serb Coalition)ร่วมกันนำเสนอนโยบาย“การเมืองแนวทางใหม่” (Politics of New Courses) ที่ยึดหลักการรวมเชื้อชาติสลาฟใต้เข้าเป็นรัฐชาติเดียวกันโดยเน้นความร่วมมือระหว่างชาวโครแอตกับชาวเซิร์บ อย่างไรก็ตามนโยบายการเมืองแนวทางใหม่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนักเมื่อเกิดวิกฤตการณ์บอสเนียใน ค.ศ. ๑๙๐๘ สืบเนื่องจากออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเซอร์เบียกับออสเตรีย-ฮังการีวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ทรูมบิตช์ตระหนักว่าแนวทางการรวมชาติของชาวสลาฟใต้ด้วยวิถีทางรัฐสภาในสภาแห่งจักรวรรดิใต้อำนาจของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายนัก เขาจึงเปลี่ยนความคิดที่จะก่อตั้งชาติสลาฟใต้ที่แยกตัวออกจากการปกครองของออสเตรีย-ฮังการี

 เมื่อออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยอ้างว่าเซอร์เบียมีส่วนรู้เห็นเรื่องการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี และมีชัยชนะในการรบในเวลาอันรวดเร็วจนสามารถยึดครองเซอร์เบียได้ในที่สุด ทรูมบิตช์จึงลี้ภัยไปอิตาลีและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่อยู่กรุงปารีส เขาร่วมมือกับฟรานอ ซูปีลอและอีวาน เมสโตรวิตช์ (Ivan Mestrović) สถาปนิกชื่อดังชาวโครแอตจัดตั้งคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers)* ให้สนับสนุนการก่อตั้งชาติยูโกสลาฟของดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการีมาก่อน ต่อมา คณะกรรมาธิการยูโกสลาฟซึ่งมีทรูมบิตช์เป็นประธานได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงลอนดอนในการสร้างชาติยูโกสลาฟ ทรูมบิตช์ตระหนักถึงความสำคัญของเซอร์เบียในฐานะชาติยูโกสลาฟใหญ่ ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาจึงเจรจากับนีโกลา ปาชิตช์ (Nikola Pašić) นายกรัฐมนตรีเซอร์เบียเพื่อขอให้เซอร์เบียเข้าร่วมต่อสู้กับคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟด้วย การเจรจาประสบความสำเร็จและนำไปสู่การทำข้อตกลงกติกาสัญญาคอร์ฟู (Corfu Pact)* เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งกำหนดให้รวมชนชาติสลาฟใต้เข้าเป็นรัฐเดียวกัน ประกอบด้วยชาวเซิร์บโครแอต และสโลวีน โดยมีราชวงศ์คาราจอร์เจวิช (Karageorgevič) แห่งเซอร์เบียปกครอง ทรูมบิตช์เป็นผู้แทนชาวโครแอตร่วมลงนามในกติกาสัญญาฉบับนี้ ส่งผลให้มีการสถาปนาราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังออสเตรีย-ฮังการีประกาศยอมแพ้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ราชอาณาจักรใหม่มีพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ (Peter I) แห่งเซอร์เบียเป็นกษัตริย์พระองค์แรก สโตยัน โปรติตช์ (Stojan Protić) คนสนิทของปาชิตช์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนทรูมบิตช์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* หลังสงคราม อิตาลีเรียกร้องสิทธิในการครอบครองดัลเมเชีย โดยอ้างว่าอังกฤษสัญญาจะยกดินแดนนี้ให้เมื่ออิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทรูมบิตช์ซึ่งเป็นผู้แทนของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ คัดค้านและพยายามปกป้องสิทธิของประเทศเหนือดัลเมเชียโดยอ้างหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ให้ชนชาติต่าง ๆ เลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง รวมถึงสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ค.ศ. ๑๙๑๙ ระหว่างออสเตรียกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่ห้ามออสเตรียรวมเข้ากับเยอรมนีและให้ดัลเมเชียเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน อย่างไรก็ตาม อิตาลีก็ยังคงได้รับดินแดนบางส่วน โดยเฉพาะเกาะที่อยู่ตามชายฝั่งของดัลเมเชีย การที่อิตาลีได้รับดัลเมเชียบางส่วนไปครอบครองทำให้ทรูมบิตช์ผิดหวังจนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันนั้น ปัญหาเรื่องดินแดนก็บรรเทาลงเมื่ออิตาลีลงนามในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* กับราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน โดยยอมรับว่าดินแดนส่วนใหญ่ของดัลเมเชียเป็นของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน

 หลังลาออกจากตำแหน่ง ทรูมบิตช์มุ่งทำงานปกป้องสิทธิของชาวโครแอต เนื่องจากตระหนักดีว่าชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดหรือราวร้อยละ ๔๐ ต้องการปกครองประเทศแบบรัฐเดี่ยวโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ในขณะที่ชาวโครแอตซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่อันดับ ๒ หรือราวร้อยละ ๒๓ ต้องการปกครองประเทศแบบสาธารณรัฐ เขาจึงเกรงว่าพวกเซิร์บจะยึดอำนาจการปกครองและเอาเปรียบพวกโครแอตและสโลวีน ต่อมา เมื่อรัฐสภาซึ่งนักการเมืองชาวเซิร์บคุมเสียงส่วนใหญ่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญวีดอฟดัน (Vidovdan Constitution) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งกำหนดให้ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บโครแอต และสโลวีนเป็นรัฐเดี่ยว อำนาจบริหารอยู่ที่รัฐบาลภายใต้กษัตริย์ และแบ่งเขตการปกครองเป็น ๓๓ จังหวัด นักการเมืองโครแอตและสโลวีนต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหนักเพราะเห็นว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่พวกเซิร์บ ความแตกแยกระหว่างพวกเซิร์บกับโครแอตจึงขยายตัวมากยิ่งขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ทรูมบิตช์เข้าร่วมกับกลุ่มชุมชนโครแอต (Croatian Community) ที่สตีเวน (สเตปัน) ราดิช [Stephen (Stjepan) Radić]* ผู้นำพรรคชาวนาของประชาชนโครแอต(CroatianPeople’s Peasant Party) เป็นสมาชิก โดยกลุ่มดังกล่าวเรียกร้องการปกครองแบบสาธารณรัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ พรรคชาวนาของประชาชนโครแอตได้รับเลือกเป็นจำนวน ๖๗ ที่นั่งจาก ๓๑๕ ที่นั่งซึ่งทำให้ราดิชได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นอย่างไรก็ตาม ทรูมบิตช์ผิดหวังมาก เพราะเห็นว่าการเข้าร่วมรัฐบาลเป็นการยอมรับรัฐธรรมนูญวีดอฟดันทรูมบิตช์จึงถอนตัวออกจากกลุ่มชุมชนโครแอต และจัดตั้งพรรคสหพันธรัฐเกษตรกรโครแอต (Croatian Federalist Peasant Party) ซึ่งชูนโยบายไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญวีดอฟดัน ต่อมา เมื่อราดิชและนักการเมืองชาวโครแอตอีก ๒ คน ถูกนักการเมืองหัวรุนแรงชาวเซิร์บยิงในรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘ นักการเมืองทั้ง ๒ คนเสียชีวิตทันที ส่วนราดิชบาดเจ็บและเสียชีวิตในต้นเดือนสิงหาคม เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวโครแอตชุมนุมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ต่อมา พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I) กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งเซอร์เบียทรงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ จึงแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยการยุบรัฐสภาและพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งยกเลิกรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ จากนั้นในวันที่ ๓ ตุลาคมปีเดียวกันจึงทรงประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia)* และทรงใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศซึ่งส่งผลให้นักการเมืองโครแอตจำนวนมากต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและบ้างถูกจับกุม

 เมื่อวลัดโก มาตเชก (Vladko Maček) ผู้นำคนใหม่ของพรรคชาวนาของประชาชนโครแอตเรียกร้องการก่อตั้งรัฐของชาวโครแอตที่ไม่อยู่ใต้อำนาจของชาวเซิร์บและเคลื่อนไหวขอการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก ทรูมบิตช์สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวและเข้าเป็นสมาชิกพรรคชาวนาของประชาชนโครแอต เขาร่วมกับมาตเชกโจมตีอำนาจปกครองของพวกเซิร์บและรณรงค์ให้ชาวโครแอตจัดตั้งรัฐของตนเอง อย่างไรก็ตาม นโยบายของมาตเชกและทรูมบิตช์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตกเท่าใดนัก และรัฐบาลก็หันมาควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มงวดจนมาตเชกถูกจับกุมใน ค.ศ. ๑๙๓๐ แม้ทรูมบิตช์จะเป็นทนายแก้ต่างให้เขา แต่ก็ล้มเหลวที่จะช่วยเขาให้เป็นอิสระ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ถูกลอบปลงพระชนม์โดยขบวนการอุสตาซา (Ustasa) หรือกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง รัฐบาลซึ่งมีเจ้าชายปอลแห่งยูโกสลาเวีย (Paul of Yugoslavia) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ (Petar II) จึงเริ่มหันมาทบทวนเรื่องการแยกตัวออกของชนชาติต่าง ๆ

 อย่างไรก็ตาม ทรูมบิตช์เห็นว่าการตั้งรัฐของชาวโครแอตเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เขาผิดหวังกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ชาวโครแอตเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และในเวลาต่อมาก็ล้มป่วยจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ที่เมืองซาเกรบขณะอายุได้ ๗๔ ปี ศพของเขาถูกนำมาฝังที่สุสานในเมืองสปลิต บ้านเกิด หลังทรูมบิตช์เสียชีวิตได้ไม่นานรัฐบาลกลางที่กรุงเบลเกรดก็ทำความตกลงกับพวกโครแอตชาตินิยมเกี่ยวกับปัญหาการแยกตัวได้สำเร็จและนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างพวกเซิร์บกับโครแอตเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยโครเอเชียมีอำนาจอธิปไตยภายในมากขึ้น แต่ยังคงรวมอยู่ในราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย รัฐบาลเบลเกรดจะยังคงควบคุมด้านกิจการต่างประเทศ การคมนาคม และการค้าระหว่างประเทศต่อไป.



คำตั้ง
Trumbić, Ante
คำเทียบ
นายอันเต ทรูมบิตช์
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาคอร์ฟู
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- ขบวนการอิลลิเรียน
- คณะกรรมาธิการยูโกสลาฟ
- พรรคสิทธิแห่งโครเอเชีย
- พรรคสิทธิแห่งดัลเมเชีย
- มหาอำนาจสัมพันธมิตร
- ยูโกสลาเวีย
- รัฐธรรมนูญวีดอฟดัน
- วิกฤตการณ์บอสเนีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาราปัลโล
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1864–1938
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๗–๒๔๘๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-