สาธารณรัฐโปรตุเกสเป็นประเทศทางตะวันตกสุดของภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งมีพัฒนาการมาจากอาณาจักรคริสเตียนในคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberia) ที่ปรากฏขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอาณาจักรที่คงความสืบเนื่องมาได้ถึงปัจจุบัน ขณะที่อาณาจักรสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เลออง (Leon) กาสตีล (Castile) นาวาร์ (Navarre) อารากอน (Aragon) และเคาน์ตีบาร์เซโลนา (Barcelona) ค่อย ๆ รวมกันเข้าเป็นประเทศสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ฐานะทางเศรษฐกิจของโปรตุเกสด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตกแม้จะเคยเป็นประเทศที่บุกเบิกการเดินเรือจากยุโรปไปเอเชียและตั้งสถานีการค้าต่าง ๆ ตามเส้นทางจนมีจักรวรรดิโพ้นทะเลซึ่งประกอบด้วยดินแดนในแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖
โปรตุเกสตั้งอยู่บนปลายคาบสมุทรไอบีเรีย มีเนื้อที่ ๙๒,๓๙๑ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศสเปน ทิศใต้และทิศตะวันตกจดมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองหลวงคือกรุงลิสบอน (Lisbon) โปรตุเกสมีภาษาราชการ ๒ ภาษา คือ โปรตุเกสและมิแรนดามีจำนวนประชากรประมาณ ๑๐,๘๑๓,๘๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ในช่วงแรก ๆ ของพัฒนาการทางการเมืองในคาบสมุทรไอบีเรีย ดินแดนที่ประกอบเป็นโปรตุเกสปัจจุบันเป็นส่วนของภูมิภาคต่าง ๆ ของสเปน กล่าวคือ ตอนเหนือเป็นส่วนหนึ่งของกาลิเซีย (Galicia)* ตอนกลางและตอนล่างเป็นส่วนหนึ่งของเอ็กซเตรมาดูรา (Extremadura) และอันดาลูเซียตะวันตก (Western Andalucía) ข้อมูลทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า มีมนุษย์อาศัยตามถํ้าและเพิงหินในบริเวณโปรตุเกสตั้งแต่สมัยหินเก่า (Paleolithic Period) และพบโครงกระดูกมนุษย์นิแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) ของสมัยต่อมาด้วย ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกเคลต์ (Celt) ได้ข้ามเทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) เข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรียเป็นระลอก ๆ และหลายกลุ่มมุ่งไปทางทิศตะวันตกชาวเคลต์จากยุโรปกลางส่วนหนึ่งได้เข้าสู่ดินแดนที่ต่อมาเป็นโปรตุเกสและแต่งงานกับชาวพื้นเมืองจึงทำให้เกิดชาวไอบีเรียเชื้อสายเคลต์ซึ่งแบ่งเป็นเผ่าต่าง ๆ เผ่าที่สำคัญคือ ลูซิเตเนีย (Lusitania) ซึ่งตั้งถิ่นฐานระหว่างแม่นํ้าโดรู (Douro) กับแม่นํ้าเทกัส (Tagus) อันเป็นบริเวณจากตอนกลางขึ้นไปทางเหนือของโปรตุเกส ใน ๒๓๘ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวคาร์เทจ (Carthage) ได้เข้าครอบครองดินแดนชายฝั่งคาบสมุทรที่ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต่อจากพวกฟินีเชีย (Phoenician) ๒๐ ปีต่อมา กองทหารโรมันชุดแรกก็ได้บุกเข้าไปและขับไล่ชาวคาร์เทจได้สำเร็จในช่วงสงครามพิวนิกครั้งที่ ๒ (Punic War ๒๑๘-๒๐๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช)
พวกโรมันเข้าครอบครองโปรตุเกสจากทางใต้ซึ่งเป็นเขตที่พวกโคนี (Conii) ซึ่งมีท่าทีเป็นมิตรอาศัยอยู่ หลายทศวรรษต่อมา พวกโรมันก็ขยายอิทธิพลในเขตชายฝั่งทางใต้และภาคตะวันออก ส่วนพวกเคลต์อยู่ทางภาคตะวันตกพวกลูซิเตเนียสามารถสกัดกั้นการขยายอิทธิพลขึ้นไปทางเหนือของพวกโรมันขณะที่มีวีราทุส (Virathus) เป็นผู้นำทั้ง ๒ ฝ่ายทำสงครามกันอย่างยืดเยื้อจนในที่สุดฝ่ายโรมันเอาชนะวีราทุสด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของลูซิเตเนียให้สังหารวีราทุสประมาณ ๑๔๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากนั้น กระบวนการยึดครองและการทำให้เป็นโรมัน (Romanization) จึงเริ่มขึ้น จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้เข้าบริหารดินแดนที่เป็นโปรตุเกสต่อมาชั่วระยะหนึ่ง ใน ๒๕ ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิออกัสตัส (Augustus ๒๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช- ค.ศ. ๑๔) ทรงสถาปนาอิเมรีตา ออกัสตาหรือเมรีดา (Emerita Augusta; Mérida) เป็นเมืองหลวงของลูซิเตเนียซึ่งอยู่ตอนกลางของโปรตุเกสในปัจจุบัน นับเป็นเวลา ๕๐๐ ปีที่อยู่ใต้การปกครองของพวกโรมันซึ่งสิ้นสุดลง ใน ค.ศ. ๔๑๑ เมื่อพวกอนารยชนเยอรมันเผ่าต่าง ๆ เข้ารุกรานดินแดนของจักรวรรดิโรมัน พวกซูเอวี (Suevi) เข้าสู่บริเวณกาลีเซียตอนใต้และผนวกลูซิเตเนียชั่วระยะหนึ่ง ต่อมาใน ค.ศ. ๕๙๐ พวกวีซิกอท (Visigoth) ได้อำนาจเด็ดขาดจากพวกชูเอวีและเปลี่ยนความเชื่อจากนิกายแอเรียน (Arianism) เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ระหว่าง ค.ศ. ๕๙๐-๗๑๑ ระบอบกษัตริย์ของวีซิกอทก็ครอบคลุมทั่วคาบสมุทร แต่ไม่ได้รับความภักดีจากขุนนางและผู้คนในท้องถิ่นทำให้การรุกรานคาบสมุทรไอบีเรียของมุสลิมซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๗๑๑ ในช่วงแรก ๆ ไม่ประสบการต่อต้านนัก
ประมาณ ค.ศ. ๗๕๐ พวกมุสลิมหันไปรวมกันอยู่เป็นจำนวนมากตามเขตเมืองและเขตที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ตอนกลางและตอนใต้ของโปรตุเกสโดยไม่สนใจบริเวณตอนเหนือของแม่นํ้ามองเดกู (Mondego) นัก ภาคเหนือของโปรตุเกสจึงเป็นดินแดนที่ไม่มีใครครอบครองกว่า ๑ ศตวรรษปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ราชอาณาจักรเลอองของพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๓ (Alfonso III) ได้รวมเขตระหว่างลุ่มแม่นํ้ามีนยู (Minho) กับลุ่มแม่นํ้าโดรูตอนเหนือของโปรตุเกสเป็นมณฑลปอร์ตุกาเลนเซหรือปอร์ตุกาเล (Portugalense; Portucale) ซึ่งมีความหมายว่า เมืองท่าที่สวยงาม เพราะมีเมืองสำคัญซึ่งเป็นเมืองโรมันเดิมคือ พอร์ตกาเล (Porte Cale) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองโอปอร์ตู (Oporto) ในปัจจุบัน บริเวณนี้ กลายเป็นดินแดนพิพาทระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมอีก ๒ ศตวรรษจนกระทั่งรัฐกาหลิบหรือคอลีฟะห์ของราชวงศ์อุมัยยะห์ (Umaiyah) แห่งกอร์โดบา (Córdoba) พ่ายแพ้และเสียดินแดนให้แก่ชาวคริสต์ หลังจากนั้น ปอร์ตุกาเลกลายเป็นดินแดนในราชอาณาจักรเลออง มีฐานะเป็นเคาน์ตีหรือมณฑล เมื่อเลอองอ่อนแอ ปอร์ตุกาเลก็เริ่มดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ แต่ใน ค.ศ. ๑๐๗๑ ความพยายามดังกล่าวทำให้สูญเสียสิทธิปกครองตนเองของเคานต์แห่งตระกูลวีมาลา เปเรส (Vimala Peres) ซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองวีมาราเมส (Vimarames) ซึ่งตั้งตามชื่อของเขา ปัจจุบันคือเมืองกีมาไรช์ (Guimarães) ๒๐ ปีต่อมาเคานต์เฮนรีแห่งเบอร์กันดี (Henry of Burgundy) ได้รับแต่งตั้งเป็นเคานต์แห่งโปรตุเกสเพื่อตอบแทนที่ช่วยพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๖ (Alfonso VI ค.ศ. ๑๐๖๔-๑๑๐๙) แห่งเลอองในการทำสงคราม เฮนรีได้รับมอบหมายให้ขยายพรมแดนลงไปทางใต้จนทำให้มีการสถาปนาอาณาจักรโปรตุเกสระหว่าง ค.ศ. ๑๑๐๙-๑๑๔๓ อาฟองโซ เอนรีเก (Afonso Henriques ค.ศ. ๑๑๒๘-๑๑๘๔) บุตรชายของเฮนรีซึ่งได้เป็นเคานต์แห่งโปรตุเกส (Count of Portugal) ได้ใช้คำนำหน้าว่าเป็นกษัตริย์ หลังการสู้รบกับพวกมุสลิม ใน ค.ศ. ๑๑๓๙ พระเจ้าอัลฟองโซที่ ๗ (Alfonso VII) แห่งเลอองและกาสตีลซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดก็ทรงยอมรับสิทธิปกครองตนเองของโปรตุเกสใน ค.ศ. ๑๑๔๓ แต่ยินยอมให้ดำรงอิสริยคักดิ์เป็นกษัตริย์ได้ใน ค.ศ. ๑๑๗๙ เมื่อพระเจ้าอาฟองโซ เอนรีเกนำโปรตุเกสอยู่ใต้สันตะปาปาและทรงสัญญาว่าจะส่งเครื่องบรรณาการให้ทุกปี ทรงเป็นกษัตริย์นักรบซึ่งเรื่องราวของพระองค์ปรากฏในนวนิยายรักสมัยกลางหลายเรื่อง ทรงกอบกู้ดินแดนจากพวกมุสลิมโดยการยึดเมืองต่าง ๆ เริ่มจากซานตาเรม (Santarém) และลิสบอน (Lisbon) ใน ค.ศ. ๑๑๔๗ ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษ ฝรั่งเศส รัฐเยอรมัน และเมืองเฟลมิช โปรตุเกสจึงมีดินแดนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พรมแดนภาคใต้ขยายไปอยู่ที่แม่นํ้าเทกัสหรือเตจู (Tejo)
ในคริสต์ศตวรรษหลังจากสมัยของพระเจ้าอาฟองโซ เอนรีเก โปรตุเกสยังสู้รบกับพวกมุสลิมหรือมัวร์ (Moor) อยู่เป็นระยะ ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๒๔๙ การกอบกู้ดินแดนจากพวกมัวร์ก็สิ้นสุดลงเมื่อสามารถยึดเขตอัลการ์วี (Algarve) ทางภาคใต้ได้ หลังจากนั้น มีการผสมกลมกลืนระหว่างประชากรเชื้อสายอาหรับทางใต้กับผู้ชนะทางภาคเหนือ มีการย้ายเมืองหลวงจากโกอิมบรา (Coimbra) ไปยังกรุงลิสบอนสมัยพระเจ้าอาฟองโซที่ ๓ (Afonso III) การค้ากับต่างประเทศเริ่มคึกคักหลัง ค.ศ. ๑๒๔๐ เมื่อพวกคริสเตียนสามารถคุมช่องแคบยิบรอลตาร์ (Gibraltar)* และบรรดาเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรอิตาลีและในเขตฟลานเดอร์ก็มีความคึกคักทางเศรษฐกิจขึ้นมาก
ในรัชกาลที่ยาวนานของพระเจ้าเดนิสหรือดีนิส (Denis; Dinis ค.ศ. ๑๒๗๙-๑๓๒๔) ซึ่งได้ฉายาว่า “กษัตริย์เกษตรกร” (farmer king) ทรงปรับปรุงวิธีการเกษตรและดำเนินโครงการกู้ผืนดินจากผืนนํ้า รัชสมัยนี้มีการสร้างกองเรือหลวง การจัดตั้งมหาวิทยาลัยโคอิมบราใน ค.ศ. ๑๒๙๐ การใช้ภาษาโปรตุเกสแทนภาษาละติน ทรงเสริมอำนาจของกษัตริย์ขณะที่ลดทรัพย์สินและสิทธิของบาทหลวงและขุนนางในด้านการต่างประเทศทรงเป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรกาสตีล-เลอองและทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิชาเบล (Isabel)
ราชวงศ์อาวีชมีอำนาจเกือบ ๒ ศตวรรษ (ค.ศ. ๑๓๘๕-๑๕๘๐) ซึ่งเป็นช่วงที่โปรตุเกสมีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดพระเจ้าจอห์นที่ ๑ หลังจากทำสัญญาสันติภาพกับกาสตีลใน ค.ศ. ๑๔๑๑ ก็ขยายอาณาจักรต่อลงไปทางใต้จนครอบครองเมืองเซวตา (Ceuta) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการด้าที่รุ่งเรืองของมุสลิมในโมร็อกโกเมื่อ ค.ศ. ๑๔๑๕ และโปรดให้ดำเนินการออกสำรวจเส้นทางเดินเรือระหว่าง ค.ศ. ๑๔๑๙-๑๔๒๐ จนได้ครอบครองหมู่เกาะมาเดย์รา (Madeira) ซึ่งยังไม่มีผู้คนอาศัย และใน ค.ศ. ๑๔๒๗ ได้หมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) การสำรวจชายฝั่งแอฟริกาในทศวรรษ ๑๔๔๐ ซึ่งมีเจ้าชายเฮนรีราชนาวิก (Henry the Navigator) พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สำคัญในการสำรวจทางทะเลได้ทำให้โปรตุเกสเช้าถึงแหล่งแร่ทองคำและแหล่งค้าทาสซึ่งนำความมั่งคั่งมาสู่โปรตุเกสเป็นอันมาก
ในสมัยพระเจ้าจอห์นที่ ๒ (John II ค.ศ. ๑๔๘๑-๑๔๙๕) นโยบายของโปรตุเกสเปลี่ยนไปเพราะกษัตริย์ไม่ทรงสนพระทัยในโมร็อกโกและบัลลังก์ของกาสตีล ทรงมีนโยบายสำรวจทางทะเลโดยมุ่งมั่นให้ถึงอินเดีย แม้ว่าจะสวรรคตก่อนโปรตุเกสทำสำเร็จ แต่พระองค์ก็ได้รับการยกย่องในเรื่องนี้ เพราะก่อน ค.ศ. ๑๔๗๔ ที่ทรงได้รับมอบหมายเรื่องงานสำรวจเส้นทางเดินเรือ เรือของโปรตุเกสแทบจะไม่เคยข้ามเส้นศูนย์สูตรจนกระทั่งรัชกาลนี้ที่นักเดินเรือโปรตุเกสเดินเรือไปถึงคองโกและแอฟริกาใต้ทั้งอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) เพื่อไปยังทวีปเอเชีย
หลังจากวาสโก ดา กามา (Vasco da Gama ค.ศ. ๑๔๖๐-๑๕๒๔) เดินเรือกลับจากอินเดีย (ค.ศ. ๑๔๙๘-๑๔๙๙) พร้อมด้วยเครื่องเทศก็เป็นการเริ่มต้น ๒ ทศวรรษ ของโปรตุเกสที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการติดต่อกับเอเชียมหาสมุทรอินเดียเปรียบเสมือนทะเลสาบของโปรตุเกส เมื่อฟรานเซสโก เด อัลเมย์ดา (Francesco de Almeida) เอาชนะกองเรือมุสลิมใน ค.ศ. ๑๕๐๙ และอาฟองโซ เด อัลบูเกิร์ก (Afonso de Albuquerque) ยึดเมืองท่าตามชายฝั่ง ได้แก่ ถัว (Goa ค.ศ. ๑๕๑๐) ในอินเดีย มะละกา (Malacca ค.ศ. ๑๕๑๑) ในคาบสมุทรมลายู และออร์มุซ (Hormuz ค.ศ. ๑๕๑๕) ริมอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ มีการตั้งค่ายทหารในบราซิลซึ่งเปโดร อัลวาเรซ กาบราล (Pedro Alvares Cabral) พบโดยบังเอิญใน ค.ศ. ๑๕๐๐ ขณะที่มุ่งหน้าจะไปอินเดีย ทำให้กษัตริย์โปรตุเกสมีพระอิสริยยศ King of Portugal and of the Algarves, on this side and overseas in Africa, Lord of Guinea, and of the Conquest, Navigation and Commerce of Ethiopia, Arabia, Persia and of India และมีการจัดตั้งอาณานิคมขึ้นที่มาเกัา (Macau) ใน ค.ศ. ๑๕๕๗ เพื่อค้าขายกับจีน แม้จะครอบครองดินแดนหลายแห่งและอยู่กระจัดกระจายแต่จักรวรรดิโพ้นทะเลของโปรตุเกสรวมแล้วมีเนื้อที่ไม่มาก เพราะไม่ได้มุ่งไปที่เขตคนอยู่หนาแน่นหรือเขตที่มั่งคั่งของเอเชีย การสร้างจักรวรรดิก็เพื่อประโยชน์ทางการค้าซึ่งต้องการครอบครองที่มั่นไม่กี่แห่ง
โปรตุเกสทำสนธิสัญญาตอร์เดซียาส (Tordesillas) กับสเปนใน ค.ศ. ๑๔๙๔ เพื่อประกันว่าการสำรวจและครอบครองดินแดนโพ้นทะเลของโปรตุเกสทางตะวันออกจะไม่ปะทะกับดินแดนสเปนทางตะวันตก จากสนธิสัญญาดังกล่าวนี้ ได้มีการแบ่งโลกออกเป็น ๒ ส่วนและมีผลให้โปรตุเกสได้ครอบครองบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ ขณะที่สเปนได้ครอบครองดินแดนส่วนที่เหลือของทวีป ราชสำนักโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จึงฟุ่มเฟือยหรูหราโดยอาศัยความมั่งคั่งที่หาประโยชน์ได้จากโพ้นทะเล ปัญหากับโมร็อกโกและกาสตีลเกิดขึ้นอีกเมื่อพระเจ้าเซบาสเตียน (Sebastian ค.ศ. ๑๔๔๗-๑๔๗๘) ทรงขึ้นบริหารประเทศอย่างจริงจัง ใน ค.ศ. ๑๔๖๘ ทรงดำเนินนโยบายขยายอิทธิพลทางเหนือของแอฟริกาจึงเป็นการแสดงความก้าวร้าวต่อโมร็อกโกซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ที่เอลคาเซเอลเคบีร์ (massacre at el-kase el-kebir) ใน ค.ศ. ๑๔๗๘ ซึ่งกองทหารฝ่ายโปรตุเกสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับและองค์กษัตริย์ก็ทรงหายสาบสูญ เข้าใจกันว่าทรงถูกสังหาร เมื่อพระเจ้าเซบาสเตียนไม่ทรงมีรัชทายาท การสืบต่อของราชวงศ์อาวีชจึงสิ้นสุดลง ดังนั้น พระเจ้าฟิลิปที่ ๒ (Philip II ค.ศ. ๑๔๔๖-๑๔๙๘) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สายสเปนจึงทรงอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์โปรตุเกส เพราะพระราชชนนีเป็นเจ้าหญิงโปรตุเกส ทรงใช้พระนามว่าพระเจ้าฟิลิปที่ ๑ (Philip I ค.ศ. ๑๔๘๐-๑๔๙๘) แห่งโปรตุเกสใน ค.ศ. ๑๔๘๐ ด้วยเหตุนี้ การดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศของโปรตุเกสมา ๔๐๐ ปีจึงสิ้นสุดลง ดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดอยู่ใต้ประมุของค์เดียวกัน
การรวมตัวกับสเปนทำให้โปรตุเกสต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในยุโรปด้วยดัตช์กลายเป็นคู่แข่งขันทางการค้าสำคัญของโปรตุเกสและเข้าโจมตีดินแดนโพ้นทะเลของโปรตุเกสจนยึดครองหมู่เกาะอินเดียตะวันออกใน ค.ศ. ๑๖๐๔ มะละกาใน ค.ศ. ๑๖๔๑ เกาะซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ใน ค.ศ. ๑๖๔๘ และมะละบาร์ (Malabar) ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียใน ค.ศ. ๑๖๖๓ ดินแดนของโปรตุเกสในทวีปเอเชียจึงเหลือเพียงเมืองกัว มาเก๊า และคิมอร์ (Timor) ความขุ่นเคืองใจจากการ
เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* ปกครองฝรั่งเศส ทรงมีพระประสงค์จะปิดเมืองท่าต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีปไม่ให้เรืออังกฤษเข้าจอด ดังนั้น จึงต้องการโจมตีโปรตุเกสซึ่งเป็นพันธมิตรของอังกฤษ กำลังทหารของพระองค์เอาชนะโปรตุเกสได้ง่ายดายโดยบุกจากที่มั่นของฝรั่งเศสในสเปนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๐๗ ด้วยเหตุนี้ พระราชวงศ์ของโปรตุเกสจึงเสด็จโดยเรือที่จอดรอในแม่น้ำเทกัสและมีเรืออังกฤษคุ้มกันหนีไปประทับที่บราซิล ทำให้ราชสำนักโปรตุเกสย้ายไปอยู่ที่กรุงริโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) เป็นเวลา ๑๔ ปี ต่อมา บราซิลก็ประกาศเอกราชในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๒๒ และปกครองโดยพระเจ้าเปโดรที่ ๔ (Pedro IV) ของโปรตุเกส หรือจักรพรรดิเปโดรที่ ๑ (Pedro I) แห่งบราซิล เมื่อสเปนตัดสินใจสู้รบกับฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๘ ก็เกิดการก่อกบฏขึ้นในโปรตุเกสซึ่งเปิดทางให้ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) นำทหารอังกฤษเข้าไป เวลลิงตันต้องใช้เวลา ๓ ปี ในการขับไล่ฝรั่งเศสผู้รุกรานออกไปสำเร็จ ภายหลังสงครามโปรตุเกสก็ยังไม่มีเสถียรภาพนักเพราะพระเจ้าเปโดรที่ ๔ ทรงสละบัลลังก์โปรตุเกสให้แก่มาเรีย ดา กลอเรีย (Maria da Gloria) พระราชธิดาวัย ๗ ปี ต่อมาทรงถูกดอม มีเกล (Dom Miguel) พระอนุชาของพระเจ้าเปโดรที่ ๔ ซึ่งมีนโยบายอำนาจนิยมยึดอำนาจใน ค.ศ. ๑๘๒๘ สงครามกลางเมืองได้เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๓๔ และสิ้นสุดลงด้วยการที่พระเจ้ามีเกลเสด็จลี้ภัย เจ้าหญิงมาเรีย ดา กลอเรีย ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ ๒ (Maria II ค.ศ. ๑๘๓๔-๑๘๕๓) ด้วยพระชันษา ๑๕ ปี ทรงเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายเสรีนิยมซึ่งต่อต้านการมีอำนาจเด็ดขาด แต่ในสมัยของพระนางจนกระทั่งสิ้นรัชกาลใน ค.ศ. ๑๘๕๓ บางครั้งก็ทรงเอนเอียงไปทางกลุ่มที่เคยสนับสนุนพระเจ้ามีเกล แต่นายพลโจเอา การ์ลูช เด ซาลดันยา (João Carlos de Saldanha) ซึ่งต่อมาเป็นดุ๊กแห่งซาลดันยา (Duke of Saldanha) อัครเสนาบดีสามารถคุมสถานการณ์ได้
ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจ
ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ พระเจ้าคาร์ลอสทรงพยายามหยุดยั้งความเสื่อมโทรมทางการเมืองโดยพระราชทานอำนาจกึ่งเผด็จการแก่อัครเสนาบดีโจเอา ฟรังโก (João Franco) ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายค้านจึงรวมตัวกันและนำไปสู่การลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ พระเจ้ามานูเอลที่ ๒ (Manuel II ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๑๐) โอรสในพระเจ้าคาร์ลอสซึ่งมีพระชันษา ๑๘ ปีและสืบราชบัลลังก์ต่อมา ได้ทรงปลดฟรังโกและนำประเทศคืนสู่การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนสูญความนิยมในสถาบันกษัตริย์โปมากแล้ว ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ ผลการเลือกตั้งในกรุงลิสบอนและเมืองโอปอร์โตชี๋ให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ตกอยู่แก่พวกสาธารณรัฐนิยม ต่อมาในเดือนตุลาคม ทหารก็ก่อการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น พระเจ้ามานูเอลที่ ๒ เสด็จลงเรือยอช์ตไปยังเมืองยิบรอลตาร์และเสด็จไปประทับที่อังกฤษจนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๓๒
ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๒๖ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ด้วยนั้น สาธารณรัฐโปรตุเกสไม่มีเสถียรภาพนัก ดังเห็นได้จากการมีรัฐบาลถึง ๔๘ ขุด ประธานาธิบดีรวม ๗ คน มีความพยายามก่อรัฐประหาร ๒๕ ครั้ง และการลอบสังหารด้วยเหตุผลทางการเมืองหลายหน ก่อน ค.ศ. ๑๙๑๖ ก็มีฝ่ายนิยมระบอบกษัตริย์ก่อจลาจลและผู้ใช้แรงงานก็ก่อความไม่สงบ ในระหว่างสงครามโลก แม้โปรตุเกสจะวางตนเป็นกลางแต่ก็ต้องถูกดึงเข้าสู่กระแสการเมืองโลกในที่สุดซึ่งก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นมากซึ่งไม่เป็นการดีต่อประเทศที่นำเข้าข้าวสาลี และเมื่อนายกรัฐมนตรีอาฟองโซ คอสตา (Afonso Costa) ผู้นำกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดตัดสินใจเข้าข้างอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เศรษฐกิจก็ยื่งอยู่ในภาวะล่อแหลมขึ้นทหารได้ประท้วงโดยมีพันตรี ซีโดนีโอ ปาอีส (Sidonio Pais) เป็นผู้นำในการขับไล่คอสตาและประธานาธิบดีเบร์นาร์ดีโน มาอาโด (Bernardino Mahado) ออกจากตำแหน่ง และจัดตั้งระบอบกึ่งเผด็จการขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ปาอีสได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ไม่เป็นที่พอใจของบรรดากลุ่มการเมือง หลังจากอยู่ในอำนาจเพียง ๑ ปี เขาก็ถูกลอบสังหาร
ภายหลังสงครามโลก โปรตุเกสก็ต้องเผชิญกับปัญหาการฟื้นฟูประเทศเฉกเช่นประเทศอื่น ๆ การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย ก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานในประเทศ ค่าของเงินเอสกูโด (escudo) ตกตํ่ามาก ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เงินโปรตุเกส ๗.๕๔ เอสกูโดมีค่าเท่ากับ ๑ ปอนด์สเตอร์ลิง ครั้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ มีค่าลดลงมากถึง ๑๒๗.๔๐ เอสกูโดต่อ ๑ ปอนด์ พวกนิยมระบอบกษัตริย์ได้คิดก่อการขึ้นอีกและกลุ่มทหารก็ต้องการทดสอบกำลัง ดังนั้น การเมืองภายในประเทศจึงอยู่ในภาวะคลอนแคลนมาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ จนถึงคืนนองเลือดในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก ๔ คนถูกสังหาร
ในช่วง ๔ ปีสุดท้ายของสมัยสาธารณรัฐ สถานการณ์พอจะดีขึ้นบ้าง ความวุ่นวายจากผู้ใช้แรงงานลดลง เศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ แต่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ชิงดี ชิงเด่นกัน และเมื่อเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมในอิตาลี และปรีโม เด รีเบรา (Primo de Rivera) ในสเปนก็กระตุ้นให้พวกโปรตุเกสทื่อยากยุติระบบรัฐสภาฮึกเหิมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ กองทัพก็ทำรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่ระบอบเผด็จการทหารที่มีนายพลอันโตนีโอ การ์โมนา (Antόnio Carmona) เป็นผู้นำ อย่างไรก็ดี ระบอบเผด็จการของโปรตุเกสไม่ประสบความสำเร็จทันทีเหมือนกับในอิตาลีหรือในสเปน มีการลุกฮือของฝูงชนทื่กรุงลิสบอนและที่เมืองโอปอร์โตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ ทั้งเกิดการก่อกบฏของกลุ่มต่อต้านทหารหลายครั้งแม้จะไม่สำเร็จ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เศรษฐกิจจึงอยู่ในภาวะปั่นป่วนจนถึงขั้นวิกฤติทำให้มีการเชิญอันโตนีโอ เด โอลีเวย์ ราซาลาซาร์ (Antόnio de Oliveira Salazar)* ปัญญาชนคาทอลิกซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยโคอิมบราเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขามีบทบาทสำคัญในรัฐบาลมากขึ้นจนกระทั่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ซาลาซาร์นำโปรตุเกสเข้าสู่ระบอบเผด็จการโดยที่ประธานาธิบดีการ์โมนาและฝ่ายทหารมีบทบาทเพียงเล็กน้อย ในช่วงนี้การเลือกตั้งครั้งต่าง ๆ ก็ดำเนินไปอย่างพอเป็นพิธี สภาก็ไม่มีอำนาจ พรรคฝ่ายค้านก็เป็นเสมือนเงาของรัฐบาล ภายนอกจึงดูเหมือนว่าโปรตุเกสเป็นสาธารณรัฐ แต่มีแนวการปกครองที่คลุมเครือซึ่งเรียกกันต่อมาว่า รัฐใหม่ (Estado Novo-New state) ซึ่งเน้นความรวมใจรักชาติและการพัฒนาอาณานิคมในทวีปแอฟริกา มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ จึงเกิดระบบการปกครองโดยพลเรือนบนพื้นฐานแบบรัฐทหาร เป็นระบอบเผด็จการที่ช่อนอยู่ในรูปการปกครองที่มีการเลือกตั้ง เป็นลักษณะระบอบฟาสซิสต์ที่ใช้การข่มขู่ให้กลัว มีการใช้หน่วยตำรวจลับที่เรียกว่าปิเด (PIDE) มีการปราบปรามแรงงานในประเทศและการกดขี่ชาวผิวดำในอาณานิคมแอฟริกา
รัฐใหม่ดำเนินไปได้เพราะบุคลิกของซาลาซาร์ที่พูดจานุ่มนวล มารยาทเรียบร้อย มีความถ่อมตน แต่สง่างามซึ่งทำให้ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ แม้เขาจะไม่ได้มีความริเริ่มสำคัญใด ๆ เพราะเป้าหมายทางเศรษฐกิจของเขาคือการสร้างเสถียรภาพมากกว่าการเจริญเติบโตนโยบายต่างประเทศก็ไม่มีความแปลกใหม่ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* โปรตุเกสเป็นอีกประเทศหนึ่งนอกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี รัฐใหม่ประสบความสำเร็จเพียงแต่ทำให้การเงินและการเมืองมีเสถียรภาพขึ้น อัตราความไม่รู้หนังสือในโปรตุเกสยังสูง สถานะเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปอื่นก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในครึ่งหลังของทศวรรษ ๑๙๕๐ เพราะเกิดการขยายตัวของระบอบทุนนิยมไปทั่วโลกซึ่งเริ่มขึ้นประมาณ ค.ศ. ๑๙๕๕ มีการกระตุ้นการพัฒนาเมืองและการทำให้เป็นอุตสาหกรรมในโปรตุเกส ขณะที่มีการอพยพของชาวโปรตุเกสจำนวนมากไปสู่เขตตอนเหนือของยุโรป ซึ่งต้องการแรงงาน (ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐-๑๙๗๐) ชาวโปรตุเกสกว่า ๑ ล้านคนอพยพออกไปยังประเทศยุโรปต่าง ๆ ขณะที่ในอดีตบราซิลเคยเป็นที่หมายสำคัญ ในอาณานิคมแองโกลาก็คึกคักขึ้นเพราะมีการพบแหล่งนํ้ามันและแร่ธาตุ อย่างไรก็ดี ระบอบเผด็จการของซาลาซาร์ไม่อาจดำเนินต่อไปเมื่อเกิดสงครามปลดปล่อยตนเองในแอฟริกาส่วนที่เป็นของโปรตุเกสใน ค.ศ. ๑๙๖๑โปรตุเกสปราบปรามและตอบโต้อย่างรุนแรงและทารุณ ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ซาลาซาร์ล้มป่วยด้วยอาการอัมพาตจนทำงานต่อไปไม่ได้และเสียชีวิต ๒ ปีต่อมา การที่ซาลาซาร์ปกครองประเทศเป็นเวลา ๓๖ ปี (ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๖๘) โดยอาศัยทหารและตำรวจลับทำให้ผู้ที่รับตำแหน่งต่อจากเขาดำเนินการปฏิรูปประเทศไม่ได้โดยง่าย
ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ กลุ่มทหารสายกลางหัวรุนแรงได้จัดตั้งขบวนการลับขึ้นชื่อว่า ขบวนการเหล่าทัพหรือเอ็มเอฟเอ (Armed Forces Movement-MFA) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๔ นายพลอันโตนีโอ สปีโนลา (Antόnio Spinola) ต้องการเปลี่ยนนโยบายที่มีต่ออาณานิคม ขบวนการเหล่าทัพจึงทำรัฐประหารในวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔ ซึ่งประชาชนให้การสนับสนุน การปกครองระบอบซาลาซาร์ก็สิ้นสุดลงภายในเวลาเพียง ๑๖ ชั่วโมง อำนาจเปลี่ยนไปอยู่ที่เอ็มเอฟเอและสปีโนลา รัฐประหารครั้งนี้มีชื่อเรียกว่าการปฏิวัติดอกคาร์เนชัน (Carnation Revolution) เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่มีดอกคาร์เนชันสีแดงตามร้านดอกไม้ทั่วไปถือเป็นรัฐประหารโดยทหารฝ่ายช้ายอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ช่วงที่ซาลาซาร์บริหารประเทศ พรรคการเมืองต่าง ๆ หมดบทบาททั้งสิ้น ภายหลังการรัฐประหารจึงมีทั้งกลุ่มทหารฝ่ายต่าง ๆ กลุ่มการเมือง และพลังมวลชนต่าง ๆ ปรากฏขึ้นมากมาย แต่เอ็มเอฟเอได้อำนาจและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ มีการโอนกิจการหลายอย่างเป็นของรัฐและจัดวางระบบสวัสดิการสังคม ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ มีการเลือกตั้งโดยเสรีครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๖ และให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ ในแอฟริกา ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ (มีการแก้ไขใน ค.ศ. ๑๙๘๒ ค.ศ. ๑๙๘๙ และ ค.ศ. ๑๙๙๒) โดยมีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระ ๕ ปี อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ วาระ มีสภาเดียวซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๒๓๐ คนจาก ๒๒ เขตเลือกตั้ง ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน และที่หมู่เกาะมาเดย์ราและหมู่เกาะ อะโซร์สซึ่งเป็นดินแดนในมหาสมุทรแอตแลนติกส่งผู้แทนได้แห่งละ ๑ คน พรรคการเมืองสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คือพรรคสังคมนิยม (Socialist Party-PS) ซึ่งคล้ายคลึงกับพรรคแรงงาน (Labour Party)* ของอังกฤษและพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party-PSD) ทั้ง ๒ พรรคต่างก็สนับสนุนนโยบายยุโรปนิยมและเน้นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๕ โจเซ โซกราตีส คาร์วัลยู ปินโต เด โซซา (José Socrates Carvalho Pinto de Sousa) จากพรรคสังคมนิยมได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้เสียงข้างมากด้วยคะแนน ๑๒๑ เสียง
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น โปรตุเกสมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาวกับอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๓๗๓ ทั้ง ๒ ประเทศเคยร่วมมือในการขับไล่กษัตริย์สเปนในสมัยสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* และโปรตุเกสช่วยให้อังกฤษไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวจากระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* การเป็นพันธมิตรดำรงเรื่อยมาจนมาร่วมกันเป็น ๒ ใน ๑๒ ประเทศ ที่ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* โปรตุเกสเป็น ๑ ใน ๘ ประเทศยุโรปที่ร่วมในการลงนามซึ่งมีอังกฤษเป็นแกนหลักสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในอิรักในต้น ค.ศ. ๒๐๐๓ และอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพอากาศที่หมู่เกาะอะโซร์สในกรณีทำสงคราม ต่อมาโปรตุเกสยังเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดฉุกเฉินเรื่องอิรักระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา สเปน และอังกฤษที่หมู่เกาะอะโซร์ส ซึ่งประกาศการใช้กำลังต่ออิรักไม่ว่าสหประชาชาติ (United Nations)* จะลงมติเห็นชอบหรือไม่ นอกจากโปรตุเกสจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรป (European Community)* หรือสหภาพยุโรป (European Union)* ในปัจจุบันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๖ แล้วโปรตุเกสยังจัดตั้งประชาคมประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมเก่าของตนเรียกว่า ประชาคมแห่งประเทศภาษาโปรตุเกสหรือซีพีแอลพี (Comunidade dos Países de Lingua Portuguesa-CPLP) อันได้แก่ โปรตุเกส แองโกลา (Angola) โมซัมบิก (Mozambique) และกินี-บิสเซา (Guinea-Bissau) ทั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ต่อกัน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเคปแวร์เด (Cape Verde) และติมอร์ตะวันออกส่วนกับบราซิลนั้น โปรตุเกสนอกจากจะคงรักษามิตรภาพระหว่างกันแล้วยังมีการทำความตกลงให้ประชากรของทั้ง ๒ ประเทศถือ ๒ สัญชาติได้ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลปัจจุบันยังถือว่าความสัมพันธ์อันดีกับสเปนเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนกับจีนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีเพราะโปรตุเกสเคยครอบครองมาเก๊ามาก่อนมอบคืนให้จีนในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ เช่นเดียวกับโมร็อกโกซึ่งโปรตุเกสเคยมีดินแดนในครอบครองโปรตุเกสก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตเก่าแก่มานับเป็นศตวรรษ ส่วนองค์การสหประชาชาตินั้น โปรตุเกสได้เข้าเป็นสมาชิกใน ค.ศ ๑๙๕๕ และได้เข้าร่วมภารกิจรักษาความสงบ ด้วยทั้งในติมอร์ตะวันออก บอสเนีย และคอซอวอ (Kosovo)*
ส่วนด้านเศรษฐกิจ นับแต่ ค.ศ. ๑๙๘๕ โปรตุเกสได้ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัย รัฐบาลชุดต่าง ๆ ได้โอนกิจการสำคัญ ๆ ของรัฐบาลหลายอย่างให้เอกชนไปดำเนินการรวมทั้งภาคการเงินและการโทรคมนาคม นอกจากนี้ได้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการมากขึ้น อุตสาหกรรมที่สำคัญของโปรตุเกสคือ สิ่งทอ หนัง รองเท้า เครื่องเรือน เซรามิก และไม้คอร์ก (cork) ซึ่งโปรตุเกสผลิตออกมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก ผลผลิตด้านเกษตรก็ยังคงมีความสำคัญอยู่โดยเฉพาะเหล้าองุ่นและน้ำมันมะกอกของโปรตุเกสซึ่งมีชื่อเสียงด้านคุณภาพ โปรตุเกสเป็นประเทศปลูกองุ่นมาแต่ดั้งเดิมและส่งออกเหล้าองุ่นมานานนับแต่อดีตกาล อย่างไรก็ดี โปรตุเกสซึ่งค้าขายกับประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลักก็ยังคงเสียเปรียบดุลการค้าอยู่ ปัจจุบันจึงได้พยายามพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยเน้นเชิงวัฒนธรรมและวิถีแห่งท้องถิ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ ๒๐๑๐ โปรตุเกสเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่สึบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจเสื่อมทรุดในกรีซและไอร์แลนด์ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปโดยรวม รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตัดค่าใช้จ่ายโครงการต่าง ๆ หยุดการจ้างงานและโบนัสรวมทั้งจัดทำงบประมาณรายจ่ายสมดุล ขณะเดียวกัน มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มและเก็บภาษีต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป สหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศร่วมกันเสนอให้โปรตุเกสกู้ยืมเงินกว่า ๑๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ.