Panama Scandals (-)

กรณีอื้อฉาวคลองปานามา (-)

กรณีอื้อฉาวคลองปานามาเป็นเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third Republic of France)* เกี่ยวข้องกับการรับสินบนของรัฐมนตรีและนักการเมืองฝรั่งเศสจากบริษัทคลองปานามา (Panama Canal Company) ของแฟร์ดีนอง เดอ เลเซป (Ferdinand de Lesseps)* เพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกกฎหมายให้บริษัทสามารถออกสลากกินแบ่งระดมเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อยใน ค.ศ. ๑๘๘๘ และปิดบังข้อมูลไม่ให้ชาวฝรั่งเศสทราบว่าบริษัทคลองปานามามีปัญหาการเงินอย่างหนัก เมื่อบริษัทคลองปานามาล้มละลายใน ค.ศ. ๑๘๘๙ และการก่อสร้างคลองปานามาไม่สำเร็จ นักลงทุนรายย่อยชาวฝรั่งเศสจำนวนมากต้องสูญเสียเงินลงทุนรวมกันกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านฟรังก์กรณีอื้อฉาวคลองปานามานับเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

 กรณีอื้อฉาวคลองปานามาเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามที่จะสร้างคลองเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตประเทศโคลอมเบียซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่สเปนมีอิทธิพลในดินแดนแถบนี่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา เมื่อเลเซปประสบความสำเร็จในการสร้างคลองสุเอซ (Suez) ในอียิปต์ให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๖๙ ราคาหุ้นของคลองสุเอซในตลาดหุ้นกรุงปารีสก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนคุ้มทุนและทำกำไรให้แก่นักลงทุนได้ภายใน ค.ศ. ๑๘๗๔ เลเซปเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถสร้างคลองแบบเดียวกันนี้ ในลาตินอเมริกาได้ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เรือเอก ลูเซียง นโปเลียน-โบนาปาร์ต วิส(Lucien Napoleon-Bonaparte Wyse) วิศวกรทหารเรือชาวฝรั่งเศสได้ก่อตั้งบริษัท La Société Internationale du Canal Interoceanique ขึ้นและระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๖-๑๘๗๘ บริษัทได้ส่งคณะสำรวจไปสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างคลอง คลองปานามาถูกกำหนดให้สร้างขึ้นที่คอคอดปานำมา (Isthmus of Panama) โดยขนานไปกับเส้นทางรถไฟของบริษัทอเมริกันคาดกันว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑๔ ปี ต่อมาบริษัทได้รับสัมปทานจากรัฐบาลโคลอมเบียให้สร้างคลองปานามา โดยบริษัทมีสิทธิในการบริหารคลองปานามาเพียงผู้เดียวเป็นเวลา ๙๙ ปี แต่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเอกชนหรือบริษัทอื่นๆ ได้

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ กรรมสิทธิ์ในการสร้างคลองปานามาถูกถ่ายโอนให้แก่เลเซปด้วยราคา ๑๐ ล้านฟรังก์ เขาคาดว่าจะใช้เวลาในการสร้างคลองประมาณ ๑๒ ปี ในวงเงินประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านฟรังก์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๘๐ เลเซป ในวัย ๗๕ ปีได้สำรวจเส้นทางเลียบคอคอดปานำมาพร้อมกับครอบครัวและคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของฝรั่งเศสเมื่อกลับถึงฝรั่งเศสเขาประกาศต่อสาธารณชนฝรั่งเศสว่าการสร้างคลองปานามาจะใช้เวลาเพียง ๘ ปี และใช้เงินเพียง ๖๐๐ ล้านฟรังก์เท่านั้นใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เลเซปก่อตั้งบริษัทคลองปานามาขึ้นอย่างเป็นทางการโดยเขาเป็นประธานบริษัทด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมาจากความสำเร็จในการสร้างคลองสุเอซ ทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเชื่อมั่นและต่างชื้อหุ้นและพันธบัตรของบริษัทคลองปานามา

 เลเซปซึ่งไม่ใช่วิศวกรต้องการสร้างคลองปานามาแบบที่สูงกว่าระดับนํ้าทะเล ซึ่งเชื่อมเมืองโกลอน(Colon) บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกกับเมืองปานำมาบนฝั่งมหาสมุทรแปชิฟิก เขาโน้มน้าวให้สภาภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Geographical Congress) สนับสนุนเขาในการจะสร้างคลองปานามาแบบสูงกว่าระดับนํ้าทะเล ทั้งๆ ที่สภาพทางกายภาพของคลองปานามาซึ่งอยู่สูงเหนือระดับทะเลปานกลางถึง ๑๑๐ เมตร แตกต่างกับคลองสุเอซ ซึ่งทำให้การสร้างคลองในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยากเพราะต้องขุดคลองลึกมาก สภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาและพื้นดินที่เป็นหินซึ่งไม่ใช่ทรายเหมือนกับคลองสุเอซก็ทำให้ยากต่อการขุดเช่นกันนอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคและโรคภัยไข้เจ็บ เช่นไข้เหลือง มาลาเรียและที่สำคัญที่สุดปัญหาเรื่องแม่น้ำชาเกรส(Chagres) ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ที่จะสร้างคลองเพราะในฤดูฝนระดับน้ำในแม่นํ้าสูงมากและไหลเชี่ยวการจะสูบนํ้าทิ้งลงไปในคลองที่ขุดใหม่ย่อมเป็นอันตรายต่อเรือที่แล่นสัญจร จนทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่นํ้า

 บริษัทคลองปานามาเริ่มสร้างคลองในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๘๒ และต้องทุ่มเงินชื้อกิจการบริษัทรถไฟของชาวอเมริกันที่ผูกขาดการขนส่งในปานำมา บริษัทจึงต้องระดมเงินทุนในปลาย ค.ศ. ๑๘๘๒ และอีกครั้งหนึ่งในปลาย ค.ศ. ๑๘๘๓ การระดมเงินทุนมีผลให้บริษัทกูฟวเรอแอนด์เฮอร์เชนต์ (Couvreux & Hersent) ของเบลเยียมซึ่งเคยสร้างคลองสุเอซและรับหน้าที่สร้างคลองปานามาด้วยตระหนักว่าการสร้างคลองปานามาไม่น่าจะสำเร็จได้ตามแผน


และขอถอนตัวออกจากโครงการไป บริษัทคลองปานามาจึงต้องกระจายงานไปให้กับบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กอีกกว่า ๒๐ บริษัท และต้องระดมทุนอีกครั้งในปลาย ค.ศ. ๑๘๘๔

 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๕ เลเซปในวัย ๘๐ ปี เดินทางไปยังสถานที่ที่จะสร้างคลองปานามาอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทคลองปานามาในปีเดียวกันเขายอมรับว่ามีปัญหาด้านการเงินเป็นครั้งแรกเพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างคลองในขณะนั้นสูงเกือบ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านฟรังก์แล้วอย่างไรก็ตามนักลงทุนรายย่อยก็ยังคงชื้อหุ้นและพันธบัตรของบริษัทอยู่ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ นักลงทุนทราบข้อเท็จจริงว่าคลองปานามาเพิ่งสร้างไปได้เพียง ๑ ใน๕ ของโครงการที่กำหนดไว้เท่านั้นราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นกรุงปารีสเริ่มตกลง ซึ่งสร้างปัญหาทางการเงินให้กับบริษัทเพิ่มมากขึนบริษัทคลองปานามาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการยอมเปลี่ยนเงื่อนไขในการซื้อพันธบัตรโดยเพิ่มดอกเบี้ยตอบแทนให้ร้อยละ ๖ และรับซื้อพันธบัตรราคา ๔๐๐-๔๖๐ ฟรังก์ คืนในราคา ๑,๐๐๐ ฟรังก์ ผลตอบแทนสูงดังกล่าวจูงใจให้นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรของบริษัทที่ออกมาในช่วง ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๘๘๘ เป็นจำนวนมาก

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ เลเซปล้มเลิกความคิดที่จะสร้างคลองปานามาแบบสูงกว่าระดับนํ้าทะเล เนื่องจากเผชิญวิกฤตการณ์ด้านการเงินและปัญหาที่เกิดจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและการเสียชีวิตของคนงานผิวดำจำนวนมากที่นำมาจากอาณานิคมของฝรั่งเศสด้วยโรคภัยต่าง ๆ เขาจึงติดต่อเจรจากับกุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) วิศวกรผู้สร้างหอไอเฟลให้เข้าร่วมโครงการและใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ก็สร้างคลองปานามาแบบมีประตูกั้นนํ้า(sluice canal) ตามแนวคิดของไอเฟล ข่าวการปรับแผนโครงการดังกล่าวมีส่วนให้ราคาหุ้นของคลองปานามาร่วงลงอย่างรวดเร็วต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลได้เสนอกฎหมายที่อนุญาตให้บริษัทคลองปานามาออกสลากกินแบ่งที่จ่ายผลตอบแทนสูงโดยรัฐบาลคํ้าประกันเพื่อให้บริษัทสามารถระดมเงินทุนในการสร้างคลองปานามาแบบมีประตูกั้นนํ้าได้ การสนับสนุนของรัฐบาลเป็นผลจากการที่บริษัทได้จ่ายเงินสินบนแก่รัฐมนตรี นักการเมืองที่มีอิทธิพลสื่อมวลชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ธนาคาร อีก ๓ เดือนต่อมาบริษัทคลองปานามาออกสลากกินแบ่งจำนวน๗๒๐ ล้านฟรังก์ อย่างไรก็ตาม แม้เลเซปจะพยายามทุกวิถีทางที่จะระดมทุนให้ได้ตามเป้าแต่เขาก็หาเงินทุนได้เพียง ๓๔๐ ล้านฟรังก์เท่านั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทเลวร้ายลงมากขึ้นเมื่อไม่สามารถจำหน่ายพันธบัตรได้เลย บริษัทจึงจำต้องประกาศพักชำระหนี้ ๓ เดือนและต้องปิดกิจการลง ตลอดระยะเวลา ๘ ปี บริษัทสามารถสร้างคลองปานามาได้เพียง ๒ ใน๕ ของโครงการที่วางแผนไว้ในต้นค.ศ. ๑๘๘๙ เลเซปก็ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท

 ต่อมาในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๙ The Tribunal Civile de la Seine ได้รับมอบอำนาจให้เข้ามาตรวจสอบดูแลกิจการของบริษัทคลองปานามาซึ่งในขณะนั้นยุติการสร้างคลองปานามาแล้วคณะกรรมการพยายามที่จะจำหน่ายทรัพย์สินเครื่องมือ เครื่องจักรกล และงานที่ทำไปแล้วของบริษัทคลองปานามา แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักคณะกรรมการยังปฏิเสธข้อเสนอของนักลงทุนชาวอเมริกันหลายคนที่ต้องการเข้ามารับช่วงกิจการเพราะให้ผลตอบแทนน้อยเกินไป นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่สามารถก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารับช่วงการดำเนินงานต่อไปได้เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนในช่วงที่การก่อสร้างหยุดชะงัก บริษัทตกอยู่ในสถานะยํ่าแย่มากขึ้นเพราะเครื่องมือเครื่องใช้ที่ปล่อยทิ้งไว้ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทเสียหายเป็นจำนวนมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไปอันเนื่องจากความขึ้นและอากาศร้อนต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินโครงการสร้างคลองปานามาได้เสนอรายงานต่อรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ว่าควรจะสร้างคลองปานามาแบบมีประตูกั้นน้ำต่อไปและควรต่อสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลโคลัมเบีย สัญญาสัมปทานจึงได้รับการขยายเวลาจนถึง ค.ศ. ๑๙๐๔ โดยมีเงื่อนไข เหมือนกับสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๘๗๘

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ มีการเปิดเผยรายงานสรุปเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทคลองปานามาอย่างชัดเจนว่าในการระดมเงินทุน๙ ครั้ง บริษัทได้เงินประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านฟรังก์ ซึ่งเงินจำนวนนี่ถูกนำไปใช้จ่ายในการสร้างคลอง ปานำมาเพียง ๙๖๐ ล้านฟรังก์ จำนวนผู้ซื้อหุ้นและพันธบัตร ของบริษัทมีประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คนซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นสตรีโสดถึง ๑๕,๐๐๐ คนกลุ่มนักการเมืองชาตินิยม กล่าวหารัฐมนตรีในรัฐบาลของชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clemenceau)* รวมทั้งตัวของเกลมองโซว่ารับสินบนจากเลเซปใน ค.ศ. ๑๘๘๘ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกกฎหมาย ให้บริษัทสามารถออกสลากกินแบ่งระดมเงินทุนได้ ข้อกล่าวหาและความใกล้ชิดระหว่างเกลมองโซกับคอร์เนเลียสเฮิร์ซ (Cornelius Herz) นักธุรกิจยิวซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สินบนโดยตรงส่งผลให้เกลมองโซพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๘๙๓ นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภา ๕๑๐ คนก็ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากบริษัทด้วยเพื่อปิดบังข้อมูลไม่ให้สาธารณชนทราบว่าบริษัทคลองปานามากำลังมีปัญหาด้านการเงินมาก ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ชอง โชแรส (Jean Jaurès)* รองประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้นำพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาให้เป็นหัวหน้าคณะสอบสวนเรื่องอื้อฉาวคลองปานามา

 หลังการสอบสวนมีผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดหลายคนรวมทั้งเลเซปและชาร์ลบุตรชาย กลุ่มผู้บริหารของบริษัทคลองปานามา และไอเฟลถูกตัดสินโทษจำคุก แต่ภายหลังได้รับการลดหย่อนโทษ ส่วนเลเซปรอดพ้นจากการถูกจำคุกเพราะเสียชีวิตก่อนเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ นักการเมืองอีก ๑๐๔ คนถูกตัดสินว่ามีส่วนร่วมในการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งนี้ นอกจากนี้ นักธุรกิจชาวยิวเชื้อสายเยอรมัน๒ คนคือ บารอนไรนัค (Reinach) และคอร์เนเลียสเฮิร์ซก็ถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาติดต่อและแจกจ่ายสินบนแก่นักการเมือง ไรนัคซึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของบริษัทคลองปานามาด้านการเงินเป็นผู้ประสานงานกับนักการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยม ส่วนเฮิร์ซประสานงานกับนักการเมืองกลุ่มหัวรุนแรง ไรนัคกระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อหนีการติดคุก ส่วนเฮิร์ชหลบหนีการจับกุมลี้ภัยไปอยู่ที่อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษตามลำดับ แม้รัฐบาลฝรั่งเศสจะยื่นเรื่องต่อรัฐบาลอังกฤษหลายครั้งให้ส่งตัวเฮิร์ซกลับมารับโทษแต่ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด การสอบสวนคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงคลองปานามาหยุดชะงักไปชั่วระยะเวลาหนึ่งและกลับมาสอบสวนกันใหม่ อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๙๗ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาครั้งใหม่นี่ ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ก็ได้รับการปล่อยตัวไปเกือบหมดแล้วเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนส่วนเฮิร์ชซึ่งอ้างว่ามีข้อมูลเอกสารและจดหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนทั้งหมด ในครอบครองได้ติดต่อเสนอที่จะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๗ แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนใจไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล

 คอร์เนเลียสเอดูอาร์ ดรูมง (Cornelius Edouard Drumont) นักหนังสือพิมพ์ซึ่งต่อต้านยิวอย่างรุนแรงได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์กรณีอื้อฉาวคลองปานามาอย่างเผ็ดร้อนในหนังสือพิมพ์ La Libre Parole ของเขา เพื่อปลุกกระแสการต่อต้านยิวในหมู่ชาวฝรั่งเศสให้มากขึ้นเขายืนยันความเห็นว่าชาวยิวซึ่งมักจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นต้นเหตุของการฉ้อราษฎร์บังหลวง การที่ความสนใจของสื่อมวลชนและสาธารณชนฝรั่งเศสมุ่งไปที่นักธุรกิจชาวยิวทั้ง ๒ คนได้ทำให้รัฐบาลไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านที่รุนแรง แม้กรณีอื้อฉาวคลองปานามาไม่ได้สั่นคลอนความมั่นคงของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ เท่ากับกรณีบูลองเช (Boulanger Affair) ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ซึ่งเกี่ยวกับการยึดอำนาจทางการเมืองของชอร์ช บูลองเช (George Boulanger)* แต่ประชาชนก็สูญเสียความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อนักการเมืองไม่น้อย ผู้ที่สนับสนุนระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยกล่าวว่าเรื่องคลองปานามาแสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณรัฐก็มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเช่นกัน

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ คณะกรรมการตรวจสอบและชำระบัญชีของบริษัทคลองปานามาได้ก่อตั้งบริษัทคลองปานามาใหม่ (New Panama Canal Company) ขึ้นโดยได้เงินทุนมาจากผู้มั่งคั่งจากบริษัทคลองปานามาเดิม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้พวกเขาหลุดพ้นข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ บริษัทซึ่งได้ครอบครองทรัพย์สินเครื่องจักรกล รวมทั้งผลงานที่สร้างไว้แล้วและกิจการรถไฟของบริษัทคลองปานามาเดิมได้เริ่มสร้าง คลองปานามาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ บริษัทขยายอายุของสัญญาสัมปทานไปอีก ๖ ปีจากเดิม ที่สิ้นสุดใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เป็นวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ ซึ่งเป็นวันที่คาดว่าการสร้างคลองปานามาจะแล้วเสร็จ แต่การที่บริษัทมีเงินทุนจำกัดและไม่สามารถหาเงินเพิ่มได้อีกเพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยยังคงไม่ไว้วางใจจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบริษัทจึงเผชิญกับปัญหาด้านเงินทุนอีกครั้ง แต่ในเวลาต่อมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็แสดงความสนใจที่จะซื้อกิจการ

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงทางการทหารและผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างคลองในลาตินอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๐๑ คณะกรรมการเสนอให้สร้างคลองขึ้นที่นิการากัว(Nicaragua) นอกเสียจากว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะยอมขายกิจการคลองปานามาให้ในราคา ๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาก็ซื้อได้ในราคาที่กำหนดรัฐสภาสหรัฐอเมริกามีมติเห็นชอบให้สร้างคลองปานามา ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับสัมปทานจากรัฐบาลโคลอมเบียให้สร้างคลองปานามาและให้ถือกรรมสิทธเป็นเวลา ๙๙ ปีและมีสิทธิในการต่อสัญญาด้วย แต่สัญญาสัมปทานฉบับนี้กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของโคลอมเบียเพราะเห็นว่าได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินไป รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนให้ปานำมาประกาศเอกราชจากโคลอมเปียจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐปานำมาขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ รัฐบาลปานำมาก็ให้สัมปทานสร้างคลองปานามาแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและให้กรรมสิทธิ์เหนือคลองปานามาและบริเวณรอบคลองอย่างไม่จำกัดโดยรัฐบาลปานำมาได้รับเงินชดเชยจำนวน๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซื้อทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์เดิมของบริษัทคลองปานามาใหม่ของฝรั่งเศสเป็นเงิน๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทคลองปานามาใหม่ของฝรั่งเศสต้องยอมขายโครงการคลองปานามาให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพราะเกรงว่าทรัพย์สินและงานที่ได้ทำไว้แล้วจะสูญเปล่า การสร้างคลองปานามาแบบมีประตูกั้นน้ำที่สหรัฐอเมริกาดำเนินงานสานต่อใช้เวลา ๑๐ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๑๔ และเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงิน๓๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการเปิดใช้คลองปานามาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔.



คำตั้ง
Panama Scandals
คำเทียบ
กรณีอื้อฉาวคลองปานามา
คำสำคัญ
- กรณีบูลองเช
- กรณีอื้อฉาวคลองปานามา
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- โชแรส, ชอง
- บูลองเช, ชอร์ช
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส
- เลเซป, แฟร์ดีนอง เดอ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-