Trianon, Treaty of (1920)

สนธิสัญญาตรียานง (พ.ศ. ๒๔๖๓)

สนธิสัญญาตรียานงเป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่ลงนามเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ณ วังตรียานงใหญ่ (Grand Trianon) ในพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ระหว่างมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรกับฮังการีซึ่งเป็นรัฐที่แยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First Word War)* ยุติลงตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนี้แม้ฮังการีจะได้รับการรับรองให้เป็นรัฐเอกราช แต่ถูกกำหนดเขตแดนใหม่ให้มีพื้นที่เหลือเพียงร้อยละ๒๘ของพื้นที่ราชอาณาจักรฮังการีก่อนสงคราม โดยต้องสูญเสียดินแดนต่าง ๆ ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในฝ่ายชนะสงครามจนเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล นอกจากนี้ จำนวนพลเมืองก็ถูกลดลงจากจำนวน ๒๐.๙ ล้านคนในช่วงก่อนสงครามเหลือเพียง ๗.๖ ล้านคน ทั้งยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมากและถูกจำกัดจำนวนในเรื่องกำลังกองทัพและอื่นๆอีกหลายประการซึ่งมีผลทำให้ฮังการีกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอในเวลาต่อมา ชาวฮังการีจึงเห็นว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำกับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๑๙

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ใกล้จะยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* รัฐบาลฮังการีได้ประกาศถอนตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และหลังการประกาศความพ่ายแพ้ของเยอรมนีอย่างเป็นทางการเพียง ๕ วัน ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ฮังการีก็จัดตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการี (Hungarian Democratic Republic) ขึ้น โดยมีมิฮาลี คารอลยี (Mihály Károlyi)* เป็นประธานาธิบดี ในขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็สนับสนุนให้เบลา คุน (Bela Kun)*คอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ที่วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ไว้วางใจให้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และดำเนินการช่วงชิงอำนาจจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการีในเวลาต่อมา ฉะนั้น ช่วงเวลาจากเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงเวลาของการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง เพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับต่าง ๆ ฮังการีซึ่งแพ้สงครามจึงยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการีจึงถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะมีความไม่สงบภายใน ในขณะเดียวกันกองทัพโรมาเนียก็ยกข้ามพรมแดนฮังการีตามแนวหยุดยิงเข้ามาจนถึงแม่น้ำทิสซอ (Tisza) เพื่อครอบครองบริเวณดังกล่าว รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการีต้องเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งยังถูกบีบบังคับจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้ยอมให้กองทัพโรมาเนียเข้ายึดครองดินแดนของฮังการีเพิ่มขึ้น

 รัฐบาลของประธานาธิบดีคารอลยีไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้จึงประกาศลาออกในวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เบลา คุน หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จึงเจรจาขอจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยฮังการี (Hungarian Social Democratic Party) ทันทีและในวันที่ ๒๑ มีนาคมก็ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* อย่างไรก็ดีการรบช่วงชิงดินแดนฮังการีระหว่างเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* กับกองทัพแดง (Red Army)* ของฮังการีก็ยังคงดำเนินต่อไป จนในที่สุดก็มีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกันในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ การสู้รบจึงยุติลงในวันที่ ๔ กรกฎาคม

 ในเดือนเดียวกัน มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้สัญญากับรัฐบาล เบลา คุน ว่าจะเชิญผู้แทนฮังการีเข้าร่วมประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซาย เพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการีที่ยังคั่งค้างอยู่อย่างไรก็ดี ฮังการีก็ไม่ได้รับเชิญ เพราะมหาอำนาจไม่ไว้ใจคุนซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหภาพโซเวียตรัฐบาลสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีจึงสั่งให้กองทัพแดงทำการสู้รบกับโรมาเนียต่อไปหลังจากรบได้เพียง ๕ วันกองทัพฮังการีก็พ่ายแพ้แก่กองทัพโรมาเนียเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่ก่อนจะพ่ายแพ้ กลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวานำโดย พลเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด นอจบานยา (Nikólaus Miklós Horthy de Nagybánya)* ก็ทำการปฏิวัติล้มล้างอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จและยึดอำนาจได้ในวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ส่งผลให้สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีสิ้นสุดลง หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นโดยความช่วยเหลือของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร

 ในวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ ๑๙๑๙ รัฐบาลใหม่ของฮังการีได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซาย ก่อนการเจรจาอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นผู้แทนฮังการีรวมทั้งผู้แทนออสเตรียต่างคาดหวังและเชื่อมั่นว่า มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรจะยึดหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านดินแดนด้วยการแสดงประชามติ (plebiscite) ของประชาชนเป็นแนวทางในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ แต่ผู้แทนของประเทศทั้งสองต้องผิดหวังเพราะแนวทางดังกล่าวถูกมหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษมองข้ามอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังยกร่างสนธิสัญญาสันติภาพไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้ถามความเห็นจากผู้แทนฮังการีแต่ประการใดมีการกำหนดแนวพรมแดนของฮังการีใหม่โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และความใกล้ชิดทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมแต่ประการใด ยกดินแดนและประชากรให้แก่ประเทศต่าง ๆ ตามที่ตนเห็นสมควร ปัญหาชนกลุ่มน้อยในหลายประเทศที่จัดตั้งขึ้นใหม่จึงกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมานอกจากนี้ยังมีดินแดนหลายแห่งที่มหาอำนาจตกลงยกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของฮังการีตั้งแต่ก่อนการเจรจาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นอีกด้วย การเชิญผู้แทนฮังการีเข้ามาร่วมการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาเป็นเพียงพิธีการตามประเพณีปฏิบัติเพื่อให้รับทราบโดยไม่มีข้อโต้แย้งเท่านั้น ผู้แทนฮังการีซึ่งไม่มีทางเลือกจึงจำต้องยินยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพตรียานง เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐

 ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนี้ ฮังการีต้องยอมรับความเสียหายจากสงครามที่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและฝ่ายมหาอำนาจกลางเป็นผู้ก่อขึ้น ทั้งยังให้การรับรองว่าฮังการีเป็นประเทศเอกราชที่แยกตัวจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่ล้มเลิกไปแล้วอย่างสิ้นเชิงโดยมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นอิสระจากออสเตรียที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* กับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยแยกกันกับฮังการี ส่วนในเรื่องดินแดนนั้น สนธิสัญญาตรียานงได้กำหนดแนวพรมแดนใหม่ให้แก่ฮังการีโดยให้ฮังการีมีพื้นที่เพียง ๙๓,๐๗๓ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ ๓๒๕,๔๑๑ ตารางกิโลเมตรของราชอาณาจักรฮังการีเดิม ดินแดนนอกเหนือจากนี้และเมืองใหญ่ ๆ ของราชอาณาจักรฮังการีเดิมอีก ๑๐ เมืองนั้นมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรยกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของฮังการีทั้งหมด ดินแดนที่เป็นประเทศฮังการีตามสนธิสัญญาตรียานงจึงถูกล้อมรอบด้วยดินแดนที่ยกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านจนทำให้ฮังการีไม่มีทางออกทะเล ซึ่งในสมัยที่รวมตัวเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ฮังการีใช้เส้นทางออกสู่ทะเลโดยตรงผ่านริมฝั่งทะเลริเอกา (Rijeka) และผ่านริมฝั่งทะเลโครเอเชีย-สลาโวเนีย (Croatia-Slavonia) โดยทางอ้อมแต่ตามสนธิสัญญาตรียานงเส้นทางเหล่านี้ตกเป็นของเพื่อนบ้านทั้งหมด

 นอกจากนี้ สนธิสัญญายังกำหนดให้ฮังการีมีประชากรที่อาศัยอยู่ภายในพรมแดนที่กำหนดใหม่เพียง ๗.๖ ล้านคน หรือเพียงร้อยละ ๓๖ ของประชากรจำนวน ๒๐.๙ ล้านคนของราชอาณาจักรฮังการีเดิมแม้ว่าประชากรที่ไม่ได้เป็นชาวแมกยาร์ (Magyar) หรือฮังการีแท้ส่วนใหญ่ถูกยกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านพร้อม ๆ กับดินแดนต่าง ๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชาวฮังการีแท้ราว ๓.๓ ล้านคนหรือร้อยละ ๓๑ ต้องอยู่ภายนอกฮังการีที่กำหนดโดยสนธิสัญญาฉบับนี้ในขณะที่โรมาเนียซึ่งได้ครอบครองทรานซิลเวเนีย (Transylvania) จะได้ชาวโรมาเนียราว ๒,๘๐๐,๐๐๐ คน กลับไปอยู่ใต้การปกครองของตนก็ตาม แต่ก็ยังมีชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวฮังการีราว ๑,๖๐๐,๐๐๐ คน และชาวเยอรมันอีกราว ๒๕๐,๐๐๐ คน ติดไปด้วยสนธิสัญญายังกำหนดให้ฮังการีมีกองทัพที่มีทหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรวมกันเพียง ๓๕,๐๐๐ คน ไม่ให้มีกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ในขณะที่ราชนาวีหรือกองทัพเรือของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกล้มเลิกโดยสิ้นเชิง ห้ามฮังการีเกณฑ์ทหาร (Conscription)* เพิ่ม รวมทั้งไม่ให้มีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และรถถังชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติมในกองทัพ และห้ามสร้างทางรถไฟรางคู่เพิ่มอีกด้วย เพราะทางรถไฟเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์

 โรมาเนีย เชโกสโลวะเกีย และยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) เป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการกำหนดเขตแดนใหม่และการแบ่งแยกดินแดนของราชอาณาจักรฮังการีเดิมเป็นอย่างมาก โรมาเนียได้มากที่สุด คือได้ทรานซิลเวเนียทั้งหมด ซึ่งดินแดนส่วนใหญ่นี้โรมาเนียได้มาก่อนการจัดทำสนธิสัญญาตรียานง และได้รับเพิ่มอีกส่วนหนึ่งในภายหลัง ทั้งได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาฉบับนี้ทั้งหมดการที่โรมาเนียได้ดินแดนมากที่สุดเพราะอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรโดยอ้างว่าได้เข้าร่วมรบในสงครามอย่างแข็งขันและได้รับความสูญเสียมากกว่าประเทศอื่น ๆ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงต้องจำยอมแม้ว่าตามความเป็นจริงจะมีประเทศอื่นที่ประสบความสูญเสียมากกว่าโรมาเนียก็ตาม ในขณะเดียวกัน เชโกสโลวะเกียซึ่งจัดตั้งประเทศขึ้นใหม่ก็ได้คาร์เพเทียนรูทิเนีย (Carpathian Ruthenia) และสโลวาเกีย (Slovakia) เป็นการตอบแทน ซึ่งสอดคล้องกับสนธิสัญญาแซงแชร์แมงที่ได้ลงนามไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ อย่างไรก็ดีการแบ่งแยกนี้มีผลให้ชาวฮังการีราว ๙๐๐,๐๐๐ คน ติดอยู่ในเชโกสโลวะเกียหลัง ค.ศ. ๑๙๒๐ ส่วนยูโกสลาเวียได้ดินแดนที่ประกอบเป็นรัฐสโลวีน (Slovenes) โครเอเชีย (Croatia) เซอร์เบีย (Serbia) และบานัต (Banat) ดินแดนเหล่านี้รวมเข้าด้วยกันในชื่อราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes) แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เปลี่ยนชื่อเป็นยูโกสลาเวีย สนธิสัญญายังกำหนดให้นครฟีอูเม (Fiume)* อยู่ในการยึดครองของกองทัพอิตาลี ในขณะที่ดินแดนส่วนใหญ่ของแคว้นบัวร์เกินลันด์ (Burgenland) มหาอำนาจยกให้ออสเตรียตามที่ปรากฏในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงเช่นเดียวกัน ยังคงมีเพียงดินแดนโชปรอน (Sopron) เพียงแห่งเดียวที่อยู่ในความดูแลของฮังการีจนกว่าจะมีการแสดงประชามติเกิดขึ้นในภายหลัง และในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ประชากรโซปรอนก็แสดงความประสงค์ที่จะอยู่กับฮังการีต่อไป

 นอกจากการสูญเสียดินแดนแล้ว ฮังการียังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในฝ่ายชนะสงครามอีกด้วยแต่สนธิสัญญาตรียานงยังไม่ได้กำหนดจำนวนค่าปฏิกรรมสงครามที่แน่นอน ผู้แทนฮังการีต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างรุนแรง และชาวฮังการีก็รู้สึกขมขื่นเป็นอย่างมากต่อการลงโทษอย่างรุนแรงของฝ่ายสัมพันธมิตร ความรู้สึกต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตรของประชาชนชาวฮังการียังคุกรุ่นต่อไปอีกยาวนาน

 สนธิสัญญาตรียานงยังมีผลต่อความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของฮังการีหลัง ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็นอย่างมากเพราะการแยกฮังการีออกจากออสเตรีย รวมทั้งฮังการีต้องยกดินแดนที่เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมให้แก่เพื่อนบ้านทำให้ฮังการีกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียวและยากจนลง ในขณะเดียวกัน ฮังการียังต้องพยายามหาเงินมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามในจำนวนสูง จึงทำให้รัฐบาลฮังการีต้องพยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำได้อย่างยากลำบากมากเพราะในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ประเทศต่างๆทั้งในยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกต่างก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น อีกทั้งในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ ต่อมาจนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ซึ่งเริ่มในสหรัฐอเมริกาก่อนอย่างทั่วถึงกัน เศรษฐกิจของฮังการีจึงไม่สามารถฟื้นตัวได้

 อย่างไรก็ดีรัฐบาลฮังการีของฮอร์ทีเดนอจบานยาก็ได้พยายามขอแก้ไขสนธิสัญญาตรียานงกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดมา แต่ไม่ได้ผลในปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ ฮังการีจึงดำเนินนโยบายเข้าข้างออสเตรียเยอรมนี อิตาลี และเชโกสโลวะเกีย ซึ่งมีผลให้ฮังการีได้ดินแดนในเชโกสโลวะเกีย และรูทีเนียที่มีชาวแมกยาร์อาศัยอยู่กลับคืนมาจำนวนหนึ่งภายหลังการทำความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ค.ศ. ๑๙๓๘ และการชดเชยดินแดนที่เรียกว่า เวียนนาอะวอร์ด (Vienna Award) ครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนียังสนับสนุนให้ฮังการีได้ดินแดน ๒ ใน ๓ ของทรานซิลเวเนียจากโรมาเนียกลับคืนมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นการเพิ่มเติมอีกในเวียนนาอะวอร์ดครั้งที่ ๒ แต่ก็เป็นการได้ในระยะสั้น เพราะหลังจากนั้นแล้วเหตุการณ์สงครามในยุโรปก็พลิกผันไปอย่างสิ้นเชิงอาจกล่าวได้ว่า สนธิสัญญาตรียานงเป็นสาเหตุประการหนึ่งของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่นเดียวกับสนธิสัญญาแวร์ซาย และเป็นมูลเหตุพื้นฐานของสงครามเชื้อชาติที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น (Cold War)* ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ด้วย.



คำตั้ง
Trianon, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาตรียานง
คำสำคัญ
- กองทัพแดง
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- ความตกลงมิวนิก
- คารอลยี, มิฮาลี
- คุน, เบลา
- นอจบานยา, พลเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด
- บอลเชวิค
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยฮังการี
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจกลาง
- ยูโกสลาเวีย
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหภาพโซเวียต
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1920
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-