Livingstone, David (1813-1873)

นายเดวิด ลิฟวิงสโตน (๒๓๕๕-๒๔๑๖)

​     ​​​​เดวิด ลิฟวิงสโตน เป็นนักสำรวจ มิชชันนารี และแพทย์ชาวสกอตที่ใช้ชีวิตกว่า ๓๐ ปีในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สำรวจดินแดนตอนในของทวีปแอฟริกาซึ่งหลายแห่งยังไม่มีชาวตะวันตกคนใดเคยเข้าไปถึงมาก่อน เขาต้องการที่จะเปิดทวีปนี้สู่โลกภายนอกด้วยการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ หาเส้นทางสำหรับการค้าระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของทวีปและนำความเจริญเข้าไปสู่ชนพื้นเมือง เพื่อจะได้ยุติการค้าทาสที่สร้างความร่ำรวยให้แก่พ่อค้ายุโรป อาหรับ และแอฟริกา แต่กลับโหดร้ายต่อชีวิตและครอบครัวของชนพื้นเมืองที่ถูกส่งออกไปเป็นแรงงานนอกทวีป ข้อมูลต่าง ๆ ที่ลิฟวิงสโตนสะสมและเผยแพร่มีอิทธิพลต่อการสร้างทัศนคติของชาวยุโรปต่อชาวผิวดำ เขาเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ค้นพบทะเลสาบเองกามี (Ngami ค.ศ. ๑๘๔๙) น้ำตกวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๕๕) และทะเลสาบไนแอซา [Nyasa ค.ศ. ๑๘๕๙ ปัจจุบันคือทะเลสาบมาลาวี (Malawi)] ลิฟวิงสโตนรักการเป็นนักสำรวจมาก ในช่วงสุดท้ายของชีวิตแม้จะป่วยหนักเพราะร่างกายตรากตรำมานานเต็มที เขาก็ยังมุ่งมั่นอยู่กับการค้นหาแหล่งต้นน้ำ ของแม่น้ำไนล์ (Nile) อยู่
     ลิฟวิงสโตนเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ที่เมืองโลวแบลนไทร์ (Low Blantyre) ใกล้นครกลาสโกว (Glasgow) ในมณฑลลานาร์กเชียร์ (Lanarkshire) สกอตแลนด์ บิดามาจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่เกาะ อัลวา (Ulva) ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ส่วนมารดามาจากเขตที่ราบต่ำของสกอตแลนด์ ซึ่งสืบเชื้อสายจากตระกูลหนึ่งของพวกเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ที่ร่วมมือกับรัฐสภาอังกฤษโค่นอำนาจพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๖๒๕-๑๖๔๙) ในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ครอบครัวทั้ง ๒ สาย ต่างก็ยากจน บิดามีอาชีพก็เป็นเพียงเสมียนชั้นผู้น้อยในธุรกิจค้าชา เขาจึงเติบโตมาท่ามกลางพี่น้อง ๗ คนที่ได้รับการเลี้ยงดูในห้องแคบ ๆ ใต้หลังคาของโรงงานทอผ้าฝ้ายริมฝั่งแม่น้ำไคลด์ (Clyde)
     ใน ค.ศ. ๑๘๒๓ ลิฟวิงสโตนในวัย ๑๐ ปีต้องออก

ช่วยครอบครัวหารายได้ด้วยการทำงานในโรงงานทอผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นการทำงานวันละ ๑๔ ชั่วโมงและ ๖ วันต่อสัปดาห์ เขาได้รับการศึกษาขั้นต้นจากการเข้าโรงเรียนที่โรงงานจัดให้ในช่วงเวลา ๒๐.๐๐-๒๒.๐๐ น. เท่านั้นแต่ความใฝ่รู้ในตัวทำให้เขาเจียดเงินค่าจ้างอาทิตย์แรกซื้อหนังสือไวยากรณ์ภาษาละตินมาศึกษาเอง การเติบโตในครอบครัวเพรสไบทีเรียนที่ เคร่งครัดสอนให้ลิฟวิงสโตนอดทนต่อความยากจนและงานหนักอีกทั้งรักการเรียนรู้ จึงนับเป็นการหล่อหลอมจิตใจและร่างกายของเขาให้แข็งแกร่งต่อชีวิตผจญภัยในวันข้างหน้า
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ ลิฟวิงสโตนได้อ่านจุลสารของคาร์ล กึทซ์ลาฟฟ์ (Karl Gutzlaff) และได้ทราบว่าโบสถ์หลายแห่งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต้องการมิชชันนารีด้านการแพทย์ไปปฏิบัติงานในจีน เขาจึงเกิดแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพนี้ จึงไปเรียนภาษากรีกเทววิทยา และวิชาแพทย์เป็นเวลา ๒ ปีในนครกลาสโกว์ขณะที่ยังคงทำงานไปด้วยแบบไม่เต็มเวลาในโรงงาน ทอผ้า ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์แล้วสมาคมมิชชันนารีแห่งกรุงลอนดอน (London Missionary Society) ได้ตอบตกลงรับเขาเข้าทำงานแต่สงครามฝิ่น (Opium War) ที่เกิดขึ้นในจีนระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๒ ทำให้ความหวังที่จะไปจีนของเขาสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี การได้พบกับรอเบิร์ต มอฟแฟต (Robert Moffat) มิชชันนารีชาวสกอตที่มีชื่อเสียงซึ่งปฏิบัติงานทางใต้ของแอฟริกา ทำให้ลิฟวิงสโตนเกิดความคิดขึ้นใหม่ว่า แอฟริกาก็น่าจะเป็นเขตปฏิบัติงานของเขาได้ เขาได้เข้าเป็นมิชชันนารีเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๐ และต่อมาก็เดินทางไปแอฟริกา ใต้ ถึงเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๑
     ในช่วง ๑๕ ปีแรก ลิฟวิงสโตนได้ใช้ชีวิตเดินทางเกือบตลอดเวลาเข้าไปถึงตอนในของแอฟริกาด้วยความมุ่งมั่นที่จะตั้งศูนย์เผยแผ่ศาสนาคริสต์ และฝึกให้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ชนในท้องถิ่นด้วย แม้ลิฟวิงสโตนจะพอใจกับการค้นพบใหม่ ๆ ทางภูมิศาสตร์เขาก็ต้องปะทะกับพวกบัวร์ (Boer) ซึ่งไม่ต้องการให้เขาจัดตั้งมิชชันนารีท้องถิ่นในเขตทรานสวาล (Transvaal) และกับพวกโปรตุเกสซึ่งปฏิบัติต่อคนพื้นเมืองอย่างเลวร้ายและน่ารังเกียจในสายตาของเขา ในเวลาไม่นานนักลิฟวิงสโตนก็เริ่มเป็นที่ รู้จักว่าเป็นคริสเตียนที่อุทิศตนนักสำรวจใจกล้า และผู้ต่อต้านการค้าทาส
     หลังจากปฏิบัติหน้าที่แพทย์และมิชชันนารีที่คูรูแมน [Kuruman ปัจจุบันคือบอตสวานา (Botswana)] ซึ่งเป็นเขตของมอฟแฟต ลิฟวิงสโตนก็คิดที่จะขยายภารกิจขึ้นไปทางเหนือเพราะได้ยินว่ามีประชากรอยู่มาก เหมาะแก่การประกาศคำสอนของพระเยซู ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๘๔๒ เขาจึงเดินทางจากใต้มุ่งขึ้นเหนือของทวีปซึ่งเป็นดินแดนที่คนผิวขาวอื่น ๆ ยังไม่เคยไปถึง โดยเข้าสู่เขตทะเลทรายคาลาฮารี (Kalahari) ที่ทุรกันดารเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาถิ่นต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ เมื่อเขาเดินทางถึงมาบอตซา (Mabotsa) เพื่อตั้งศูนย์เผยแพร่ภารกิจ เขาถูกสิงโตตัวหนึ่งทำร้าย การบาดเจ็บในครั้งนี้ประกอบกับอุบัติเหตุอีกครั้งในภายหลังทำให้ลิฟวิงสโตนไม่สามารถใช้มือซ้ายประคองกระบอกปืนได้เที่ยง จำต้องยิงปืนจากไหล่ซ้ายและเล็งเป้าด้วยนัยน์ตาซ้ายตลอด ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ลิฟวิงสโตนเดินทางข้ามทะเลทรายคาลาฮารีสำเร็จและร่วมกับเพื่อนชาวตะวันตกค้นพบทะเลสาบเองกามีในปีเดียวกัน เขาจึงได้รับเหรียญทองและเงินรางวัลจากราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งอังกฤษ (British Royal Geographical Society) ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเขากับสมาคมนี้ตราบจนสิ้นชีวิต และกระตุ้นให้ลิฟวิงสโตนทำงานสำรวจต่อไป อีกทั้งผูกใจให้เขาทำงานเพื่อประโยชน์ของอังกฤษด้วย
     ลิฟวิงสโตนสมรสกับแมรี (Mary) บุตรสาวของมอฟแฟตเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๕ เธอเดินทางติดตามเขาไปทุกหนแห่งแม้กระทั่งยามตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้มีเสียงตำหนิเขาที่ปล่อยให้เธอระหกระเหินเกินสมควร อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพและภาระที่จะต้องจัดการศึกษาให้แก่บุตร ๔ คน ทำให้แมรีต้องกลับไปสกอตแลนด์พร้อมกับลูก ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ส่วนลิฟวิงสโตนก็ยังคงมุ่งส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ การค้าและความเจริญแบบตะวันตกในดินแดนแอฟริกาต่อไปเพราะเขาเชื่อว่าเป็นองค์ประกอบ ๓ ประการที่จะเปิดแอฟริกาสู่โลกภายนอกและจะได้ล้มเลิกการค้าทาสสำเร็จ เขาเดินทางขึ้นสู่ตอนเหนือจนเลยพรมแดนของแอฟริกาใต้เพื่อเข้าสู่ใจกลางทวีป คำพูดที่กล่าวใน ค.ศ. ๑๘๕๓ บ่งบอกชัดเจนถึงเป้าหมายของเขา นั่นคือ "ข้าพเจ้าจะเปิดเส้นทางสู่ตอนในของทวีป หรือมิฉะนั้นก็ขอตาย"
     ในปลาย ค.ศ. ๑๘๕๓ ลิฟวิงสโตนเดินทางจากเมืองลินยันติ (Linyanti) บนฝั่งแม่น้ำโชเบ (Chobe) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตามแม่น้ำแซมบีซี (Zambezi)

ซึ่งเขาคิดว่าแม่น้ำสายนี้น่าจะเป็นเหมือนทางหลวงที่ไหลผ่านใจกลางทวีปซึ่งศาสนาคริสต์ยังแพร่ไปไม่ถึง เขามีเพียงอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นและลูกจ้างชาวแอฟริกาท้องถิ่นไม่กี่คนที่พูดภาษาโลซี (Lozi) และโคโลโล (Kololo) ลิฟวิงสโตนคาดว่าการพบเส้นทางสู่มหาสมุทรแอตแลนติกจะก่อให้เกิดการค้าที่ถูกกฎหมายอันจะช่วยลดจำนวนการค้าทาสและจะเป็นเส้นทางเข้าถึงพวกมาโคโลโล (Makololo) ที่เขาคิดว่าเป็นพวกที่เหมาะสมที่จะสืบทอดงานมิชชันนารี ลิฟวิงสโตนเลี่ยงที่จะใช้เส้นทางที่ต้องผ่านเขตของพวกบัวร์ซึ่งไม่เป็นมิตร เพราะใน ค.ศ. ๑๘๕๒ พวกบัวร์เคยเข้าทำลายบ้านพักของเขาที่ โคโลเบง (Kolobeng) และทำร้ายพรรคพวกชาวแอฟริกาของเขาด้วย
     หลังจากฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในการเดินทางลิฟวิงสโตนเดินทางถึงเมืองลุอันดา (Luanda) ซึ่งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ ๑๘๕๔ ความเหน็ดเหนื่อยและความอ่อนเพลียจากการเดินทางทำให้เขาต้องพักอยู่ที่เมืองลุอันดาถึง ๔ เดือน เพื่อพักฟื้นสุขภาพ ก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองลินยันติและเอาพวกมาโคโลโลที่หันมาเลื่อมใสศาสนาคริสต์มาด้วย เขาต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ปีกว่าจะกลับถึงที่ หมาย จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๕ เขาหันไปทางทิศตะวันออกเพื่อสำรวจภูมิภาคของแม่น้ำแซมบีซีจนถึงเมืองเกลีมาเน (Quelimane) ในโมซัมบิก (Mozambique) ซึ่งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรอินเดียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ ภายในเวลา ๒๐ เดือน ลิฟวิงสโตนได้เดินทางข้ามทวีปจากตะวันตกไปตะวันออกได้สำเร็จ การเดินทางครั้งสำคัญนี้ทำให้เขาได้เห็นน้ำตกใหญ่ตระการตาแห่งหนึ่งที่ตกลงแรง ส่งเสียงกระหึ่ม และก่อให้เกิดละอองน้ำเหมือนมีควันพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำแซมบีซี ความต้องการเชิดชูอังกฤษทำให้เขาตั้งชื่อว่า น้ำตกวิกตอเรียตามพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษขณะนั้น [ชื่อเดิมของน้ำตกสายนี้คือ โมซีโออาทูนยา (Mosioatunya)]
     ลิฟวิงสโตนเดินทางกลับอังกฤษในวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ ในฐานะวีรบุรุษของประเทศ ข่าวของเขาในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับชีวิตในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาเป็นที่สนใจและสร้างจินตนาการให้แก่ผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษทุกหนทุกแห่ง ลิฟวิงสโตนบันทึกความสำเร็จของเขาอย่างถ่อมตัวแต่มีน้ำหนักมากในงานเรื่อง Missionary Travels and Researches in South Africa ( ค.ศ. ๑๘๕๗) เพื่อชี้ให้เห็นว่าดินแดนตอนในของแอฟริกาไม่ใช่ดินแดนทะเลทรายที่ร้างคนแต่มีเขตที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีป่าธารน้ำ และหุบเขาที่เขียวขจี นอกจากนี้ เขายังเปิดโปงความโหดร้ายของการค้าทาส เพื่อหวังให้ชาวยุโรปได้รับรู้ความทุกข์ยากที่ชาวแอฟริกาได้รับ หนังสือของเขาขายได้มากกว่า ๗๐,๐๐๐ เล่มซึ่งเป็นจำนวนขายที่น่าทึ่งมาก ในวงการสิ่งพิมพ์ขณะนั้น และยังสะท้อนให้เห็นความสนใจของผู้คนต่องานสำรวจและงานมิชชันนารีของเขาลิฟวิงสโตนได้รับเกียรติต่าง ๆ มากและมีรายได้เพิ่มไปจุนเจือครอบครัวที่มีฐานะยากจนนับแต่กลับมาจากแอฟริกา เขาจึงดำเนินชีวิตเป็นนักสำรวจและเป็นอิสระจากสมาคมมิชชันนารีแห่งกรุงลอนดอนได้ นอกจากนี้เขายังเดินทางเพื่อบรรยายประสบการณ์ของเขาทั่วเกาะอังกฤษเป็นเวลา ๖ เดือน ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ ลิฟวิงสโตนกล่าวว่าเขาคงไม่สามารถทำภารกิจในแอฟริกาได้เสร็จสิ้นและได้เรียกร้องให้นักศึกษาหนุ่ม ๆ สานต่องานที่เขาทำไว้ด้วย ต่อมาได้มีการรวบรวมคำบรรยายของเขาและจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Dr. Livingstone’s Cambridge Lectures ( ค.ศ. ๑๘๕๘) ซึ่งสามารถปลุกเร้าความสนใจของผู้คนได้มากพอ ๆ กับหนังสือขายดีของเขา และเกิดการจัดตั้งโครงการเดินทางสู่แอฟริกากลางของมหาวิทยาลัย (Universities’ Mission to Central Africa) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๐
     ลิฟวิงสโตนออกเดินทางสู่แอฟริกาครั้งที่ ๒ ใน เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ โดยรัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนและให้ไปในฐานะกงสุลอังกฤษประจำเกลีมาเนซึ่งครอบคลุมชายฝั่งตะวันออกและเขตปกครองอิสระตอนในของทวีปแอฟริกา และในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจภาคกลางและภาคตะวันออกของแอฟริกา การเดินทางครั้งนี้เขาจัดระบบได้ดีกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะมี เรือกลไฟเป็นพาหนะ มีผู้ร่วมเดินทางเป็นชาวแอฟริกา ๑๐ คน และชาวยุโรป ๖ คนซึ่งรวมชาลส์ (Charles) น้องชายของเขาและจอห์น เคิร์ก (John Kirk) นายแพทย์จากกรุงเอดินบะระด้วย แต่การเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ราบรื่นเพราะเกิดการทะเลาะกันในหมู่ชาวยุโรป จนบางคนถูกไล่ออกจากกลุ่ม นอกจากนี้ การเดินทางโดยการล่องเรือไปตามแม่น้ำแซมบีซีก็ไปไม่ได้ตลอดเพราะติดเกาะแก่ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๕๙ คณะสำรวจจึงลองไปตามแม่น้ำรุวูมา (Rovuma) โดยอ้อมผ่านเขตของโปรตุเกสไปยังหมู่บ้านรอบ ๆ ทะเลสาบไนแอซา และจัดตั้งศูนย์เผยแผ่นิกายแองกลิคันขึ้น คณะของเขานับเป็นชาวอังกฤษกลุ่มแรกที่ไปถึงเขตนี้ ซึ่งเป็นเขตที่คาด หมายกันว่าน่าจะเหมาะสำหรับการจัดตั้งอาณานิคมในวันหน้า อย่างไรก็ตาม การเดินทางครั้งนี้ของลิฟวิงสโตนก็มีอุปสรรคเพราะนอกจากลูกทีมจะไม่กลมเกลียวกันแล้ว ภรรยาของเขาที่ตั้งใจร่วมเดินทางสำรวจแอฟริกาด้วยได้เสียชีวิตลงที่ชูปังกา (Shupanga) ซึ่งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแซมบีซีและต้องฝังศพไว้ที่นั่นเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๒ นอกจากนี้ รอเบิร์ต บุตรชายคนโตของเขาซึ่งกำหนดจะไปสมทบกับลิฟวิงสโตนในปีถัดมา ก็ไม่ได้ไปและเดินทางไปสหรัฐอเมริกาแทนจนต่อมาไปเสียชีวิตในวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๔ เพราะสู้รบในกองกำลังของพวกฝ่ายเหนือในสงครามกลางเมืองอเมริกัน
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๓ รัฐบาลอังกฤษเรียกคณะสำรวจของลิฟวิงสโตนกลับเพราะเห็นว่าเขามุ่งมั่นเกินไปที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในเขตลุ่มน้ำแซมบีซีแต่รัฐบาลเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ลิฟวิงสโตนแสดงความแกร่งกล้าด้วยการนำเรือกลไฟขนาดเล็กที่ชื่อเลดีไนแอสซา (Lady Nyassa) และลูกเรือไม่กี่คนที่ไม่ค่อยชำนาญนักทั้งเชื้อเพลิงก็น้อยออกเดินทางไกลประมาณ ๔,๐๒๐ กิโลเมตรข้ามมหาสมุทรอินเดีย และขายเรือทิ้งที่นครบอมเบย์ [Bombay หรือมุมไบ (Mumbai) ในปัจจุบัน] ก่อนกลับสู่อังกฤษ อย่างไรก็ดี ในเวลาอีก ๓ ทศวรรษ ต่อมาปรากฏว่าการสำรวจเส้นทางตามแม่น้ำแซมบีซีครั้งที่ ๒ นี้เป็นประโยชน์เพราะให้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์มาก และการรวมดินแดนรอบ ๆ ทะเลสาบไนแอซาโดยใช้ชื่อลิฟวิงสโตนไว้ก่อนได้นำไปสู่การจัดตั้งเขตอารักขาของอังกฤษในแอฟริกากลาง (British Central Africa Protectorate) ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ซึ่งกลายเป็นไนแอซาแลนด์ (Nyasaland) ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ และเป็นสาธารณรัฐมาลาวีใน ค.ศ. ๑๙๖๖
     เมื่อกลับถึงอังกฤษในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๘๖๔ ลิฟวิงสโตนและชาลส์น้องชายได้ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มที่ ๒ เรื่อง Narrative of an Expedition to the Zambesi and Its Tributaries ( ค.ศ. ๑๘๖๕) เนื้อหาของหนังสือเปิดโปงการค้าทาสของโปรตุเกสและบรรยายความป่าเถื่อนของการค้าทาสในแอฟริกาตะวันออกจนทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องกดดันสุลต่านแห่งแซนซิบาร์ (Zanzibar) ให้ยกเลิกการค้าทาสซึ่งก็ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ในช่วงที่ลิฟวิงสโตนพำนักอยู่อังกฤษ เขาได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัดริดสีดวงทวารที่รบกวนเขามา

ตั้งแต่เริ่มสำรวจทวีปนี้เป็นครั้งแรก แต่เขาปฏิเสธ จึงเข้าใจกันในเวลาต่อมาว่าการที่เขามีเลือดออกอย่างรุนแรงน่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขาตอนปลายการเดินทางครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นครั้งสำคัญที่สุดด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ลิฟวิงสโตนกลับไปแอฟริกาอีกครั้งในฐานะกงสุลอังกฤษด้วยทุนส่วนตัวและการสนับสนุนจากราชสมาคมภูมิศาสตร์ที่ ต้องการให้เขาสำรวจสันปันน้ำระหว่างแอฟริกากลางกับต้นแม่น้ำไนล์โดยเริ่มจากแซนซิบาร์ แต่ลิฟวิงสโตนเองก็ยังคงมุ่งหมายที่จะเผยแผ่ศาสนาต่อไปและหาทางยุติการค้าทาสในชายฝั่งตะวันออกของทวีป การเดินทางครั้งนี้เขาไม่มีลูกทีมที่เป็นชาวยุโรป มีแต่ชาวแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งก็เกิดการขัดแย้งกันอีกและลิฟวิงสโตนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะวัยที่มากขึ้นและสุขภาพที่เสื่อมโทรมจากการตรากตรำที่สะสมมานาน ลูกน้องบางคนจึงทิ้งคณะสำรวจไปและหาทางเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อกลับไปถึงแซนซิบาร์ โดยสร้างเรื่องว่าลิฟวิงสโตนถูกพวกเองโกนี (Ngoni) สังหาร แม้ปีต่อมามีคนพบว่าเขายังมีชีวิตอยู่แต่รายงานข่าวเรื่องมรณกรรมของเขาก็ถูกแต่งเติมสีสันจนคนภายนอกสนใจติดตามการสำรวจของเขามาก
     ความยากลำบากของงานสำรวจยิ่งมากขึ้นเมื่อเขาเดินทางจากตอนใต้ของทะเลสาบไนแอซาขึ้นไปทางเหนือ และลูกทีมอีกคนก็ทิ้งเขาไปต้น ค.ศ. ๑๘๖๗ โดยเอาหีบเวชภัณฑ์ไปด้วย แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นสำรวจแอฟริกา กลางต่อซึ่งเป็นการเดินทางจากทิศตะวันออกมุ่งสู่ทิศตะวันตก และได้พบทะเสสาบมเวรู (Mweru) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๗ และทะเลสาบบังเกวอูลู (Bangweulu ปัจจุบันอยู่ในแซมเบีย) ในปีถัดมา ทั้งสามารถขึ้นไปจนถึงทะเลสาบแทนแกนยีกา (Tanganyika) ใน ค.ศ. ๑๘๖๙ ด้วยความช่วยเหลือของพ่อค้าชาวอาหรับ แม้ลิฟวิงสโตนจะยังคงป่วยอยู่ เขาก็อดทนเดินทางต่อจนในวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ลิฟวิงสโตนก็เดินทางถึงไนแองเว (Nyangwe) บนฝั่งแม่น้ำลูอาลาบา (Lualaba) หรืออัปเปอร์คองโก (Upper Congo) แต่เขาคิดว่าเป็นแม่น้ำไนล์ ณ ที่นั้นถือว่าเป็นจุดลึกไกลสุดกลางทวีปที่ชาวยุโรปเข้าไปถึง
     ลิฟวิงสโตนได้แวะพำนักที่เมืองอูจีจี (Ujiji) ริมฝั่งตะวันออกของทะเลสาบแทนแกนยีกาเป็นเวลาระยะหนึ่งอันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยของเขา ณ ที่นี้ เฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ (Henry Morton Stanley) ผู้สื่อข่าว ของหนังสือพิมพ์ New York Herald ได้เดินทางมาตามหาเขาเพราะมีข่าวว่าหายสาบสูญ การพบหน้ากันของทั้งคู่เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ กลายเป็นเรื่องที่จดจำกัน โดยเฉพาะประโยคแรกที่สแตนลีย์เอ่ยถามเมื่อพบเห็นร่างซูบผอมผิดรูปผิดร่างและอ่อนเพลียของลิฟวิงสโตนว่า "คุณหมอลิฟวิงสโตน ใช่นะครับ" (Dr.Livingstone, I presume) การพบสแตนลีย์ทำให้ลิฟวิงสโตนได้รับอาหารและยามาฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรมอย่างหนัก หลังจากนั้นเขาก็แข็งแรงขึ้นพอที่จะร่วมเดินทางไปกับสแตนลีย์ในการสำรวจบริเวณทางเหนือของทะเลสาบแทนแกนยีกา และไปด้วยถึงเมืองอูนยันเยมเบ (Unyanyembe) ซึ่งอยู่ไปทางตะวันออกประมาณ ๓๒๐ กิโลเมตร แต่เขาบอกปัดคำร้องขอของสแตนลีย์ที่ให้ออกไปจากแอฟริกาพร้อมกับเขา สแตนลีย์จึงกลับออกไปในวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๒
     หลังจากได้เสบียงอาหารจากสแตนลีย์ ลิฟวิงสโตนก็ออกเดินทางออกจากอูจีจีลงมาทางใต้เพราะฝังใจกับการหาต้นแม่น้ำไนล์และหวังจะเห็นการค้าทาสยุติลงแต่การบุกป่าฝ่าดงและผจญกับโรคภัยต่าง ๆ ในเขตร้อนมานานทำให้เขาป่วยหนักมากขึ้นในกลางดึกของคืนวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๓ คนรับใช้ชาวแอฟริกาก็ไปพบว่าลิฟวิงสโตนเสียชีวิตแล้วในลักษณะคุกเข่าข้างเตียงเหมือนกำลังสวดมนต์อยู่ ณ ที่พักที่ชีตัมโบ (Chitambo) ในตำบลอีลาลา (Ilala) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแซมเบีย รวมอายุ ๖๐ ปี เพื่อจะรักษาร่างของลิฟวิงสโตนไว้ ลูกทีมชาวพื้นเมืองจึงเอาหัวใจและอวัยวะภายในของเขาออกและฝังดิน ณ ที่นั้น จากนั้นก็ใช้เวลาประมาณ ๙ เดือนเอาไม้คานหามศพลิฟวิงสโตนเป็นระยะทางกว่า ๑,๖๐๐ กิโลเมตร ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ศพของเขาก็ถูกนำส่งไปยังอังกฤษและทำพิธีฝังในวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๔ ลิฟวิงสโตนเป็นนักสำรวจเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติให้ประกอบพิธีฝังศพอย่างยิ่งใหญ่ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ และในปีเดียวกันนี้ก็มีการรวบรวมบันทึกของลิฟวิงสโตนและจัดพิมพ์ในชื่อ The Last Journals of David Livingstone ด้วย
     เรื่องราวกว่า ๓๐ ปีของการเดินทางบุกป่าฝ่าดงในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาพร้อมทั้งภารกิจของการเป็นมิชชันนารีของลิฟวิงสโตนที่เผยแพร่สู่ชาวตะวันตกมีผลต่อการสร้างทัศนคติของคนผิวขาวต่อชาวแอฟริกามากกว่าชาวตะวันตกคนใดก่อนหน้าเขา การค้นพบของเขาเป็นประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ การแพทย์ และสังคม ปัจจุบันมีเมืองลิฟวิงสโตนซึ่งตั้งชื่อตามเขาอยู่ทางใต้ของประเทศแซมเบีย ใกล้แม่น้ำแซมบีซีและน้ำตกวิกตอเรียอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกทั้งเป็นประตูสู่แซมเบียด้วย เมืองนี้เคยเป็นเมืองหลวงของโรดีเซียเหนือ [ (Northern Rhodesia) ปัจจุบันคือแซมเบีย] ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๓๕ และยังมีน้ำตกลิฟวิงสโตนบนฝั่งแม่น้ำคองโกอีกด้วย ซึ่งเป็นชื่อที่สแตนลีย์ตั้งให้เป็นเกียรติแก่เขาในโอกาสเดินทางข้ามน้ำตกแห่งนี้ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ขณะที่มาสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ของแม่น้ำคองโก.


เฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ (ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๙๐๔) เกิดที่เวลส์ชื่อเดิมคือจอห์น โรว์แลนส์ (John Rowlands) ได้อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ และได้สัญชาติอเมริกันเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีฝืมือ สำนักงานหนังสือพิมพ์ New York Herald ได้ส่งเขาไปสืบหาเบาะแสของลิฟวิงสโตนเพราะมีข่าวว่าเขาหายสาบสูญไปในดินแดนตอนกลางของแอฟริกา ภายหลังสแตนลีย์ก็ได้สัญชาติอังกฤษอีกครั้ง และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญพรรคเสรีนิยม ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๐ สแตนลีย์เป็นผู้สำรวจเขตลุ่มแม่น้ำคองโกในแอฟริกาด้วย

คำตั้ง
Livingstone, David
คำเทียบ
นายเดวิด ลิฟวิงสโตน
คำสำคัญ
- อูจีจี, เมือง
- เองโกนี, พวก
- ชีตัมโบ
- อูนยันเยมเบ, เมือง
- สแตนลีย์, เฮนรี มอร์ตัน
- อัปเปอร์คองโก
- โรว์แลนส์, จอห์น
- มเวรู, ทะเสสาบ
- แทนแกนยีกา, ทะเลสาบ
- ลูอาลาบา, แม่น้ำ
- บังเกวอูลู, ทะเลสาบ
- ไนแองเว
- รุวูมา, แม่น้ำ
- ไคลด์, แม่น้ำ
- ลิฟวิงสโตน, เดวิด
- กึทซ์ลาฟฟ์, คาร์ล
- ไนแอซา, ทะเลสาบ
- ชาลส์ที่ ๑, พระเจ้า
- ลานาร์กเชียร์, มณฑล
- เพรสไบทีเรียน, พวก
- วิกตอเรีย, น้ำตก
- โลวแบลนไทร์, เมือง
- คูรูแมน
- เองกามี, ทะเลสาบ
- อัลวา, เกาะ
- เคปทาวน์, เมือง
- คาลาฮารี, ทะเลทราย
- แซมบีซี, แม่น้ำ
- โชเบ, แม่น้ำ
- บัวร์, พวก
- มาบอตซา
- บอตสวานา
- มอฟแฟต, รอเบิร์ต
- ทรานสวาล, เขต
- ราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งอังกฤษ
- ลินยันติ, เมือง
- โรดีเซียเหนือ
- เกลีมาเน, เมือง
- โคโลโล
- สงครามฝิ่น
- โคโลเบง
- โมซีโออาทูนยา
- มาโคโลโล, พวก
- ลุอันดา, เมือง
- โลซี, ภาษา
- โมซัมบิก
- เขตอารักขาของอังกฤษในแอฟริกากลาง
- แซนซิบาร์, สุลต่านแห่ง
- เคิร์ก, จอห์น
- ชูปังกา
- อีลาลา, ตำบล
- ไนแอซาแลนด์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1813-1873
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๕๕-๒๔๑๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf