Trafalgar, Battle of (1805)

ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ (พ.ศ. ๒๓๔๘)

ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์เป็นปฏิบัติการทางทะเลระหว่างกองทัพเรืออังกฤษกับกองเรือสนธิกำลัง (Combined Fleet) ระหว่างกองทัพเรือฝรั่งเศสกับสเปนทางตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมทราฟัลการ์ในสเปนเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ ในช่วงต้นของสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* กองเรือฝรั่งเศสจำนวน ๑๘ ลำ และกองเรือสเปน ๑๕ ลำ รวม ๓๓ ลำ ปืนใหญ่รวม ๒,๖๓๐ กระบอก ซึ่งอยู่ภายใต้บัญชาการของพลเรือเอก ปีแยร์ ชาร์ล เดอ วีลเนิฟว์ (Pierre Charles de Villeneuve) ปะทะอย่างดุเดือดกับกองเรือ ๒๗ ลำ ปืน ๒,๑๔๘ กระบอก ของอังกฤษซึ่งมีพลเรือเอกไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ เนลสัน (Horatio Nelson)* เป็นผู้บังคับบัญชา เนลสันซึ่งบัญชาการเรือรบหลวงวิกตอรี (HMS Victory) ซึ่งเป็นเรือธงใช้ยุทธวิธีโจมตีด้วยการแปรขบวนเรือเป็นกองเรือรบ (squadron) ๒ แถว โจมตีกองเรือรบฝรั่งเศสที่แปรขบวนเป็นแถวหน้ากระดานขนานกับชายฝั่ง ทั้ง ๒ ฝ่ายต่อสู้กันในระยะประชิด โดยเรือรบทุกลำของอังกฤษระดมยิงอย่างหนักเป็นเวลาเกือบ ๖ ชั่วโมง จนมีชัยชนะในท้ายที่สุดและสามารถยับยั้งแผนการเคลื่อนทัพทางทะเลเพื่อพิชิตอังกฤษของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นกองเรือสนธิกำลังได้รับความเสียหายกว่าครึ่งหนึ่ง แม้อังกฤษจะมีชัยชนะอย่างงดงามและไม่สูญเสียเรือแม้แต่ลำเดียว แต่ก็สูญเสียนายพลเนลสันวีรบุรุษสงครามไปอย่างไรก็ดีชัยชนะของอังกฤษครั้งนี้ทำให้กองทัพเรืออังกฤษมีอำนาจสูงสุดทางทะเลและแข็งแกร่งที่สุดเป็นเวลากว่าศตวรรษ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จำต้องล้มเลิกแผนที่จะบุกอังกฤษและคิดวางแผนใหม่ในการบีบให้อังกฤษอ่อนแอและพ่ายแพ้แก่ฝรั่งเศส ความล้มเหลวในการพิชิตอังกฤษในครั้งนี้ทำให้สงครามนโปเลียนดำเนินต่อไปอีก ๑๐ ปีและสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของฝรั่งเศส

 ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์เป็นการรบในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (Third Coalition) ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ ซึ่งประเทศพันธมิตรที่ประกอบด้วยอังกฤษรัสเซียออสเตรียและสวีเดนวางแผนปฏิบัติการในเชิงรุกจากทะเลบอลติก (Baltic) ทางตอนเหนือจนถึงทะเลเอเดรียติก (Adriatic) กองกำลังผสมรัสเซีย-สวีเดนจะรับผิดชอบการรบในทะเลบอลติกโดยกองกำลังรัสเซียจำนวนหนึ่งจะสนับสนุนปรัสเซียในดินแดนเยอรมันตอนเหนือและเนเธอร์แลนด์ ส่วนในดินแดนเยอรมนีตอนใต้จะสนธิกำลังกับกองทัพออสเตรีย ในการรณรงค์ที่อิตาลีและทะเลเอเดรียติกจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศพันธมิตรหลายชาติในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่๓นี้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงวางแผนที่จะใช้กองเรือสนธิกำลังเคลื่อนกำลังกองทัพที่เรียกว่า กร็องด์อาร์เม (Grande Armée) ซึ่งปักหลักประจำการอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสระหว่างเมืองบูโลญ (Boulogne) กับเมืองกาเล (Calais) เพื่อรอบุกอังกฤษทางช่องแคบ แต่การที่อังกฤษควบคุมน่านน้ำทางทะเลก็เป็นอุปสรรคต่อการสนธิกำลังกองเรือฝรั่งเศสกับสเปนที่แยกกันอยู่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงทรงสั่งการให้ เดอ วีลเนิฟว์รวบรวมกองเรือของทั้ง ๒ ประเทศที่กระจัดกระจายให้เป็นกองเดียวกัน โดยใช้เมืองท่ากาดิซ (Cádiz) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปนเป็นฐานทัพกองเรือ

 เดอ วีลเนิฟว์คาดว่าอังกฤษจะต้องพยายามขัดขวางการสนธิกำลังของกองเรือฝรั่งเศสกับสเปนโดยให้เนลสันผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการดังกล่าว แม้เดอ วีลเนิฟว์ จะหวาดหวั่นกับชื่อเสียงของเนลสันในการเป็นผู้บัญชาการที่เก่งกล้าและเชี่ยวชาญด้านยุทธนาวีทั้งเนลสันยังเคยพิชิตฝรั่งเศสในยุทธนาวีที่ปากแม่น้ำไนล์ (Battle of the Nile)* ค.ศ. ๑๗๙๘ และยุทธนาวีที่กรุงโคเปนเฮเกน (Battle of Copenhagen)* ค.ศ. ๑๘๐๑ แต่เขาก็ไม่กล้าทัดทานคำสั่งของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ขณะเดียวกันเดอ วีลเนิฟว์ก็มีความเห็นพ้องกับพลเรือเอก เฟเดริโก กราบีนา (Federico Gravina) ผู้บัญชาการกองเรือสเปนว่าหากเป็นไปได้ก็จะพยายามหาวิธีหลีกเลี่ยงการยุทธ์ทางทะเลที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งเดอ วีลเนิฟว์และกราบีนาต่างเห็นว่ากองเรือฝรั่งเศสและสเปนซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองเรืออังกฤษน่าจะได้เปรียบกว่าและทำให้เนลสันเพลี่ยงพล้ำในการยุทธ์ได้

 จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงวางแผนให้กองเรือของเดอวีลเนิฟว์แล่นออกไปทางมหาสมุทรแอตเเลนติกมุ่งหน้าไปรวมตัวกันที่หมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) เพื่อหลอกล่อให้กองเรือรบอังกฤษไล่ติดตามและให้กองเรือรบสเปนดักซุ่มโจมตี จากนั้นกองเรือฝรั่งเศสจะแล่นย้อนกลับไปควบคุมในเขตช่องแคบอังกฤษเพื่อให้กองทัพเรือฝรั่งเศสสามารถเคลื่อนกองทัพกร็องด์อาร์เมที่ตั้งทัพในตอนเหนือของฝรั่งเศสข้ามไปโจมตีอังกฤษ แต่เดอ วีลเนิฟว์ก็ไม่มั่นใจพอที่จะปฏิบัติตามแผนดังกล่าวและนำกองเรือฝรั่งเศสไปปักหลักที่ท่าเรือเมืองกาดิซเพื่อรอคำสั่งปฏิบัติการต่อไป ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยให้แก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นอันมากจนไม่ทรงสามารถสะกดกลั้นพระอารมณ์และเรียกเขาว่า “ไอ้ขี้ขลาด” ขณะเดียวกันเนลสันก็ซุ่มตั้งกองเรือห่างจากชายฝั่งทะเลไปประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เพื่อรอโจมตีกองเรือสนธิกำลังมีการส่งเรือลาดตระเวนขนาดเล็กไปรอบ ๆ คาบสมุทรไอบีเรียเพื่อสอดส่องการเคลื่อนไหวของกองเรือสนธิกำลัง ทั้งนี้ เนลสันไม่ต้องการให้เดอ วีลเนิฟว์ นำกองเรือสนธิกำลังหลุดรอดหนีไปทางเหนือสู่อ่าวบิสเคย์ (Bay of Biscay) เพื่อไปยังฝรั่งเศส หรือมุ่งหน้าสู่ช่องแคบยิบรอลตาร์ (Gibraltar) และทะเลเมดิเตอร์-เรเนียน ต่อมาเมื่อเดอ วีลเนิฟว์ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปขึ้นฝั่งที่เนเปิลส์ในคาบสมุทรอิตาลีในการต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายสหพันธมิตร เขาจึงนำกองเรือสนธิกำลังเคลื่อนออกจากท่าเรือกาดิซไปยังช่องแคบยิบรอลตาร์ โดยไม่รู้ว่ากองเรืออังกฤษเฝ้าซุ่มรอโจมตีอยู่นอกชายฝั่ง ทั้งเขายังได้รับข้อมูลลวงว่ากองเรืออังกฤษอยู่คนละทิศและไม่สามารถติดตามได้และจะสามารถผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น กองเรือสนธิกำลังจะไม่ปะทะกับกองเรืออังกฤษอย่างแน่นอนแต่การคาดคะเนที่ผิดพลาดดังกล่าว กอปรกับโชคไม่อำนวย กองเรือของเนลสันสามารถตรวจพบและตามไล่ล่ากองเรือสนธิกำลังได้ทันที่แหลมทราฟัลการ์ปากทางช่องแคบยิบรอลตาร์ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม หลังกองเรือสนธิกำลังออกจากกาดิซได้เพียง ๑–๒ วันเอง

 เมื่อกองเรือรบของทั้ง ๒ ฝ่ายเผชิญหน้ากันฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังเรือรบจำนวนมากกว่าพยายามชิงความได้เปรียบด้วยการจัดขบวนเรือเป็นแถวหน้ากระดานจากเหนือไปใต้ตามยุทธวิธีที่ปฏิบัติกันมา แต่กองเรือรบสเปนแต่ละลำติดตั้งปืนใหญ่จำนวนมากที่มีน้ำหนักรวมกันมหาศาลทำให้ไม่คล่องตัว และคลื่นลมก็ไม่เป็นใจ จึงแตกแถวจากขบวน ทั้งกองเรือรบสเปนทางตอนเหนือสุดก็ไม่สามารถแล่นเข้ามายังบริเวณพื้นที่หลักของการยุทธนาวีได้ เนลสันสั่งแปรขบวนเรือรบของอังกฤษเป็นกองเรือรบ ๒ แถว โดยเขาควบคุมแถวที่ ๑ และแถวที่ ๒ ให้นายพลเรือคัทเบิร์ต คอลลิงวูด (Cuthbert Collingwood) บังคับบัญชา กองเรือรบทั้ง ๒ แถวพุ่งโจมตีกองเรือฝรั่งเศสทางปีกขวา โดยเรือทุกลำเปิดฉากระดมยิงอย่างหนักจนกองเรือฝรั่งเศสคุมขบวนไม่อยู่ จึงทำให้กองเรืออังกฤษได้เปรียบ ก่อนหน้าที่จะประจัญบานกัน เนลสันได้ปลุกเร้าอารมณ์ของทหารด้วยการส่งสัญญาณธงเป็นข้อความสั้นที่ทรงอานุภาพและเป็นที่จดจำถึงทุกวันนี้ว่า “อังกฤษคาดหวังว่าทหารทุกนายจะปฏิบัติหน้าที่ของตน” (England expects that every man will do his duty.)

 การต่อสู้อย่างดุเดือดเกิดขึ้นก่อนเที่ยงวันเล็กน้อยและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องประมาณ ๖ ชั่วโมง ในช่วงยุทธนาวีที่ชุลมุนนั้น กองเรือรบจำนวน ๑๒ ลำของอังกฤษ ซึ่งมีนายพลเนลสันบัญชาการบนเรือหลวงวิกตอรีซึ่งติดตั้งปืนใหญ่ ๓ ชั้น ปืนใหญ่ ๑๐๔ กระบอกและมีกำลังพล ๘๒๑ นาย มีกัปตันทอมัส มาสเตอร์แมน ฮาร์ดี (Thomas Masterman Hardy) เป็นผู้ควบคุมเรือ ได้แล่นเรือแทรกเข้าไประหว่างเรือธงบูซองโตร์ (Bucentaure) ที่เดอ วีลเนิฟว์บัญชาการกับเรือเรอดูตาเบลอ (Redoutable) และยิงระยะประชิดกันอย่างดุเดือด จนสามารถทำลายแนวกองเรือของเดอ วีลเนิฟว์ได้สำเร็จ ในตอนแรกของยุทธนาวี กองเรือรบของอังกฤษมิได้เข้าโจมตีกองเรือของฝรั่งเศสและสเปน ๖ ลำ ภายใต้บัญชาการของพลเรือเอก ปีแยร์ ดูมานัวร์ (Pierre Dumanoir) ขณะเดียวกันกองเรือดังกล่าวก็ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือกองเรือของเดอ วีลเนิฟว์จนถึงเวลา ๑๕.๓๐ น. ก็ยังไม่สามารถกู้สถานการณ์ที่เป็นรองอังกฤษได้ ทั้งยังถูกโจมตีจนแตกกระเจิงคอลลิงวูดสามารถตีกองเรือรบแนวหลังหรือปลายขบวนของศัตรูแตกกระเจิงกว่า ๑๐ ลำ จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และยุทธนาวีได้สิ้นสุดลงในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ด้วยความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกองเรือสนธิกำลัง

 ระหว่างการประจัญบาน ขณะที่เรือรบหลวงวิกตอรีแล่นเข้าใกล้เรือเรอดูตาเบลอ เนลสันซึ่งสวมเครื่องแบบที่เห็นเด่นชัดเป็นเป้าสายตาและบัญชาการในที่โล่งจึงกลายเป็นเป้าของทหารแม่นปืนฝ่ายศัตรูในเวลา ๑๓.๑๕ น. เนลสันถูกยิงที่บริเวณไหล่เป็นแผลฉกรรจ์ จนล้มลงกับพื้นใกล้เสาเรือกลางลำ เขาเสียชีวิตอีก ๓ ชั่วโมงต่อมาที่ห้องพยาบาลใต้ดาดฟ้าเรือก่อนที่ยุทธนาวีจะสิ้นสุดลงเพียง ๓๐ นาที แต่ก็ได้รับรายงานถึงชัยชนะอย่างงดงามของกองเรืออังกฤษเหนือฝรั่งเศสและสเปน เนลสันได้กล่าววาจาเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ข้าพเจ้ามีความพึงพอใจ ขอบคุณพระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ลุล่วงแล้ว” (Now I am satisfied, Thank God I have done my duty.) ทั้งยังได้กล่าวคำพูดที่ลือลั่นในเวลาต่อมากับกัปตันฮาร์ดีเพื่อนรักและนายทหารเรือคู่ใจที่มีส่วนสำคัญในชัยชนะของยุทธนาวีครั้งนี้ว่า “จูบฉันที ฮาร์ดี” (Kiss me Hardy)

 เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. กองทัพเรืออังกฤษก็มีชัยชนะอย่างเด็ดขาด เรือรบฝรั่งเศสจำนวน ๑๐ ลำ ถูกปืนใหญ่ถล่มและถูกยึด และอับปาง ๑ ลำ อังกฤษไม่สูญเสียเรือแม้แต่ลำเดียว ทหารและลูกเรืออังกฤษซึ่งรวมทั้งเนลสัน เสียชีวิตรวม ๔๕๘ คน และบาดเจ็บ ๑,๒๐๘ คน ส่วนฝรั่งเศส ทหารและลูกเรือบาดเจ็บ ๑,๑๕๕ คน เสียชีวิต ๓,๓๗๓ คน และถูกจับไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ คน เดอ วีลเนิฟว์ก็ถูกอังกฤษจับเป็นเชลยส่วนฝ่ายสเปน เรือถูกยึด ๑๑ ลำ บาดเจ็บ ๑,๓๘๖ คน เสียชีวิต ๑,๐๒๒ คนและถูกจับกุม ๓,๐๐๐–๔,๐๐๐ คน กราบีนา ผู้บัญชาการกองเรือสเปนสามารถหลบหนีพร้อมเรือที่เหลือไม่กี่ลำ แต่เขาก็เสียชีวิตในอีก ๕ เดือน ต่อมาด้วยพิษของบาดแผลเรื้อรังที่ได้รับจากการรบรวมความเสียหายของกองเรือสนธิกำลังฝรั่งเศส-สเปน จำนวนเรือที่เสียหายอับปางจำนวน ๒๒ ลำ ทหารบาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับกุมประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน

 จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงขุ่นเคืองพระทัยอย่างมากเมื่อทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ เพราะความพินาศของกองทัพเรือฝรั่งเศสครั้งนี้ได้ทำลายเกียรติภูมิและชื่อเสียงของกองทัพเรือฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง ทรงล้มเลิกความคิดที่จะบุกเกาะอังกฤษ และคิดหาวิธีการใหม่ที่จะพิชิตอังกฤษซึ่งนำไปสู่การใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ด้วยการปิดล้อมอังกฤษทางเศรษฐกิจและห้ามประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปติดต่อค้าขายกับอังกฤษ ส่วนกองทัพเรืออังกฤษได้นำศพของเนลสันวีรบุรุษสงครามที่ผ่านยุทธนาวีสำคัญ ๆ และได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง รวมทั้งสูญเสียดวงตาข้างขวาในการรบที่เกาะคอร์ซิกา (Corsica) และสูญเสียแขนข้างหนึ่งในยุทธนาวีที่ซานตากรูซเดเตเนรีเฟ (Santa Cruz de Tenerife) ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ กลับมาประกอบพิธีฝังที่มหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul Cathedral) เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๖ โดย เดอ วีลเนิฟว์ได้รับการปล่อยตัวมาร่วมในงานรัฐพิธีนี้ด้วย เนลสันได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติและมีการสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นติดตั้งตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ ๒๑ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันทราฟัลการ์ (Trafalgar’s Day) เพื่อเป็นที่ระลึกของชัยชนะทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษและเพื่อเป็นเกียรติแก่เนลสันด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ รัฐบาลอังกฤษให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติแก่เนลสันจากปฏิบัติการในยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ ณจัตุรัสใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งเรียกกันต่อมาว่า จัตุรัส ทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) มีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นเสาสูง ๕๑.๕๙ เมตร มีรูปเนลสันยืนบนยอดเสา


เรียกกันว่า เสาเนลสัน (Nelson’s Column) ซึ่งสร้างเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๔๓ และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะใน ค.ศ. ๑๘๔๔ นอกจากนี้ อาคารสถานที่และถนนหลายสายในอังกฤษก็ใช้ชื่อเนลสันเพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงเขาด้วย ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ทำให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*.



คำตั้ง
Trafalgar, Battle of
คำเทียบ
ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์
คำสำคัญ
- นโปเลียนที่ ๑
- ยุทธนาวีที่กรุงโคเปนเฮเกน
- ยุทธนาวีที่ปากแม่น้ำไนล์
- ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์
- ระบบภาคพื้นทวีป
- วันทราฟัลการ์
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- เสาเนลสัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1805
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-