Place, Francis (1771-1854)

นายฟรานซิส เพลซ (พ.ศ. ๒๓๑๔-๒๓๙๖)

 ฟรานชิส เพลซ เป็นนักปฏิรูปสังคมและนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงชาวอังกฤษที่มักเกี่ยวข้องกับขบวนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๘๕๔ แต่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากผลงานการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามการชุมนุม (Combination Acts) จนสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๒๔ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น แม้ว่าเพลซไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดข้อเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญใน ค.ศ. ๑๘๓๒ และต่อมามีส่วนในการร่างกฎบัตรประชาชน (People’s Charter) ของขบวนการชาร์ติสต์ (Chartism)* เพลซยังเป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นแรก ๆ ที่สนับสนุนความคิดเกี่ยวกับการคุมกำเนิดเพื่อแก้ปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 เพลซเกิดเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๑ ในเขตเรือนจำบนถนนดรูลีเลน (Druly Lane) ซึ่งไซมอน เพลซ (Simon Place) บิดาผู้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลมาร์แชลซี (Marshalsea court) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล เพลซเล่าเรียนหนังสือจากโรงเรียนหลายแห่งในละแวกถนนฟลีต (Fleet) และดรูลีเลน ตั้งแต่ ๕ ขวบจนอายุเกือบ ๑๔ ปี จึงได้เข้าเป็นลูกมือช่างตัดกางเกงหนังรัดเข่า (leather-breeches) ครั้นอายุ ๑๘ ปีก็ได้เป็นลูกจ้างรายวัน (journeyman) ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ เขาแต่งงานกับเอลิซาเบท ชาดด์ (Elizabeth Chadd) และย้ายไปอยู่ที่พักขนาดห้องเดียวย่านสแตรนด์ (Strand) ใน ค.ศ. ๑๗๙๓ เป็นที่เข้าใจกันว่าเพลซเป็นผู้นำการนัดหยุดงานของลูกจ้างรายวันที่รับจ้างตัดกางเกงรัดเข่าทำให้บรรดานายช่างตัดเสื้อ (master tailor) ของกรุงลอนดอนไม่ว่าจ้างเขาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงที่ว่างงานนี้แม้จะเผชิญกับความอัตคัดขัดสน แต่เขาใช้เวลาศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองโดยการหาหนังสืออ่านเป็นการใหญ่ทั้งคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมายจนมีหนังสือจำนวนมาก

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ เพลซเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมที่เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปรัฐสภาแห่งกรุงลอนดอน (London Corresponding Society) ซึ่งต้องการรณรงค์ให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ แต่เขาเห็นว่าชนชั้นแรงงานควรต้องได้รับการศึกษาและมีความประพฤติเหมาะสมด้วยอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์เพื่อชนชั้นแรงงานข่มขู่สมาชิกของสมาคม เพลซก็ยืนหยัดต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานจนได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการทั่วไปของสมาคม เขาดำรงตำแหน่งอยู่ ๓ ปี แต่ลาออกเมื่อเห็นว่าสมาชิกบางคนต้องการใช้มาตรการรุนแรงบีบบังคับรัฐบาลและแสดงโวหารมากจนเขาเบื่อหน่าย

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ เพลซเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าของตนเอง ณ เลขที่ ๑๖ ถนนชาริงครอส (Charing Cross) ในกรุงลอนดอน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้เขาเป็นผู้มีฐานะดีและก้าวสู่ระดับนายช่างตัดเสื้อ และจากการที่ต่อมามีบทบาทเรียกร้องกดดันนักการเมืองหรือรัฐบาลเขาจึงได้ฉายาว่า “ช่างตัดเย็บหัวรุนแรงแห่งชาริงครอส” (the radical tailor of Charing Cross) เพลซใช้เวลาวันละ ๓ ชั่วโมงทุกเย็นศึกษาด้วยตนเองจนสามารถรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่เขามีจัดตั้งห้องสมุดส่วนตัวขนาดใหญ่หลังร้านซึ่งประกอบไปด้วยหนังสือกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ และกลายเป็นคลังข้อมูลแห่งหนึ่งของพวกหัวรุนแรงทั่วไปที่ต้องการปฏิรูปสังคมมานั่งอ่านหรือหยิบยืมงานเขียน เช่น เรื่อง The Common Sense ของทอมัส เพน (Thomas Paine)* นักสาธารณรัฐนิยม และผลงานของโจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley) นักปรัชญานักวิทยาศาสตร์ผู้คันพบออกซิเจน และอื่น ๆ ห้องสมุดของเขาจึงกลายเป็นที่นัดพบแลกเปลี่ยนความเห็นของพวกหัวรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงหลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ได้สิ้นสุดลง

 เมื่อประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๘๐๗ เพลซเป็นตัวตั้งตัวตีในการคัดเลือกผู้แทนจากเขตเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) เขาสนับสนุนเซอร์ฟรานชิส เบอร์เดตต์ (Francis Burdett) บารอเนตที่ ๕ ซึ่งเป็นคนหัวรุนแรงให้เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาสามัญจากเขตนี้ ภายใน ๑๐ ปีจากนั้น อิทธิพลของเพลซในเขตเลือกตั้งนี้ก็เป็นที่ชัดแจ้ง เพลซและเบอร์เดตต์กลายเป็นเพื่อนสนิทกันและเพลซก็ได้มีโอกาสสมาคมกับนักทฤษฎีการเมืองอย่างวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) เจมส์ มิลล์ (James Mill)* รอเบิร์ต โอเวน (Robert Owen)* เจเรมี เบนทัม (Jeremy Bentham)* โจเซฟ ฮูม (Joseph Hume) และจอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill)* นอกจากนี้ เพลซได้พบกับโจเซฟ แลงคาสเตอร์ (Joseph Lancaster) นักการศึกษาผู้นับถือนิกายเควเกอร์ (Quaker) ซึ่งจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในกรุงลอนดอนที่รับผู้เรียนโดยไม่กีดกันว่านับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (Anglicanism) หรือไม่ เพลซเห็นด้วยและช่วยส่งเสริมความคิดนี้ เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยกำจัดข้อด้อยต่าง ๆ ที่ถ่วงความก้าวหน้าของผู้ใช้แรงงานได้แก่ การเสพสุรา การหย่อนศีลธรรม การมีกิริยาทรามและการมีบุตรมากเกินไป

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ขณะมีอายุ ๔๗ ปี เพลซเกษียณตนเองจากการทำงาน และปล่อยให้ลูก ๆ ดูแลกิจการร้านตัดเสื้อที่ประสบความสำเร็จแล้วต่อไปในช่วงหนึ่งเขาไปพักอาศัยที่ฟอร์ดแอบบีย์ (Ford Abbey) บ้านพักที่ดัดแปลงจากอารามเก่าของนักบวชในมณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire) ที่เบนทัมเช่าอยู่และมีพ่อลูกสกุลมิลล์มาพักด้วยเป็นเวลาหลายเดือน เพลซหันไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ให้รัฐจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนได้เล่าเรียน นอกจากนั้น เขาเห็นด้วยกับ ทอมัส มัลทัส (Thomas Malthus)* นักเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งกล่าวว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเกินกว่าจะมีปริมาณอาหารรับได้ เขาจึงสนับสนุนเรื่องการคุมกำเนิดแต่ไม่ได้ระบุว่าโดยวิธีใด แม้ตัวเขาเองจะมีบุตรถึง ๑๕ คนก็ตาม (ในจำนวนนี่ ๕ คนเสียชีวิตในช่วงเป็นทารก) เพลซผลิตงานเขียนชื่อ Illustrations and Proofs of the Principles of Population ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนสมัยนั้นมากพอควรแม้จะมีการถกเถียงกันถึงความคิดของเขา เพราะหลายคนตกใจกับการที่เพลซเอ่ยถึงการคุมกำเนิดและถึงกับเรียกเขาว่า “คนเลวฝีปากกล้า” (a bold bad man) แม้พวกหัวรุนแรงที่คบหาสมาคมกับเขาอยู่ บางคนก็เกิดความรังเกียจและเลิกคบเขาหลังงานเขียนชิ้นนี้พิมพ์เผยแพร่ อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมจำนวนประชากรแห่งชาติขึ้นครั้งแรกในอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เป็นผลมาจากแนวคิดและการกระตุ้นเดือนของเพลซด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๔ เพลซเสนอความคิดของเขาผ่านโจเซฟ ฮูม สมาชิกสภาสามัญชาวสกอต เพื่อชักจูงให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎหมายห้ามการชุมนุมที่รัฐสภาเห็นชอบเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๐ ซึ่งห้ามการชุมนุมของคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรง และการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เป็นต้น และสามารถยับยั้งไม่ให้มีการออกกฎหมายเหล่านี้อีกใน ค.ศ. ๑๘๒๕ นับเป็นความสำเร็จสำคัญในชีวิตของเขา วิธีการของเพลซคือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จากนั้นก็ส่งให้บุคคลอย่างฮูม เบอร์เดตต์ ฮอบเฮาส์ (Burdett Hobhouse) นักการเมืองผู้ประดิษฐ์วลีที่ใช้เรียกฝ่ายด้านในสภาว่า “His Majesty’s Opposition” ไปดำเนินการรณรงค์โนสภา ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๒๔ เพลซรวบรวมสถิติถึง ๘ เล่มเพื่อชี้ให้เห็นว่ากฎหมายห้ามการชุมนุมควรถูกยกเลิกโดยเชื่อว่าการยกเลิกจะทำให้สหภาพแรงงานล้มหายไปเอง เพราะเมื่อสมาคมของผู้ประกอบการหรือนายจ้างและสมาคมของผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างมีสถานะเท่าเทียมกัน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานมาต่อรองกับนายจ้างอีก แต่หลังจากกฎหมายผ่านสภา เขาก็ต้องตกใจที่เกิดผลตรงกันข้าม เพราะขบวนการสหภาพแรงงานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

 ต่อมาไม่นาน ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ภรรยาของเพลซเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เขาต้องเผชิญกับความเศร้าโศกจนเศร้าซึมแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๐ เพลซได้สมรสครั้งที่ ๒ กับนักแสดงชาวลอนดอนซึ่งหลายคนแสดงความกังขาในจรรยาความประพฤติของเธอ หลังจากนั้น เพลซเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง จนในที่สุดเขามีส่วนช่วยให้ร่างกฎหมายปรับปรุงระบบการเลือกตั้งฉบับที่ ๓ (Third Reform Bill) หรือร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ที่ลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ (John Russell)* เสนอและผ่านสภาใน ค.ศ. ๑๘๓๒ เชื่อกันว่าการที่เพลซดำเนินการต่อต้านอาเทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตันที่ ๑ (Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of Wellington)* จากการที่ฝ่ายหลังเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้เวลลิงตันไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ได้สำเร็จ

 หลังจากการออกพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ประสบความสำเร็จแล้ว อิทธิพลของเพลซก็ลดน้อยลงแม้กระทั่งในเขตเลือกตั้งเวสต์มินสเตอร์เอง และการที่เขาสูญเงินจำนวนมากไปกับการลงทุนที่เสี่ยงเพราะหลงเชื่อผู้ดูแลผลประโยชน์จนทำให้ต้องย้ายที่อยู่จากถนนชาริงครอสไปอยู่บริเวณจัตุรัสบรอมป์ตัน (Brampton Square) ซึ่งทำให้เหินห่างจากกลุ่มชนชั้นกลางนักปฏิรูปไป แต่เพลซก็ยังสนใจการข้องเกี่ยวกับการเมือง โดยมีส่วนในการยกร่าง “กฎบัตรประชาชน” เพราะไม่พอใจที่ขอบเขตการปฏิรูประบบการเลือกตั้งแคบเกินไป เขาจึงร่วมมือกับจอห์น คลีฟ (John Cleave) เฮนรี เฮเทอริงตัน (Henry Hetherington) และวิลเลียม โลเวตต์ (William Lovett) จัดตั้งสมาคมผู้ใช้แรงงานแห่งกรุงลอนดอน (London Working Men’s Association) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๖ ซึ่งเริ่มเสนอกฎบัตรประชาชนต่อสภาสามัญใน ค.ศ. ๑๘๓๘ การที่เพลซไม่นิยมการใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องสิทธิ ดังนั้น เมื่อเฟียร์กัส โอคอนเนอร์ (Feargus O’Connor) ขึ้นเป็นผู้นำขบวนการชาร์ทิสต์แทนโลเวตต์ เพลซก็ยุติการข้องเกี่ยวกับขบวนการนี้ หลัง ค.ศ. ๑๘๔๐ เพลซหันไปรณรงค์ การต่อต้านกฎหมายข้าว (Corn Laws)* และภาษีแสตมป์ที่เก็บจากสิ่งพิมพ์

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ เพลซล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองเขาจึงมีสุขภาพอ่อนแอลง ช่วงนั้นปลายชีวิต เขายังคงทำงานเขียนอัตชีวประวัติซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๒๓ ตามคำแนะนำของเบนทัม ผลงานชิ้นนี่สะท้อนสำนึกของช่างฝีมือช่วงก่อนสมัยวิกตอเรีย (Victorian Age)* และเหมาะแก่ผู้สนใจใคร่รู้ความเป็นมาของสมาคมเพื่อการปฏิรูปแห่งกรุงลอนดอนนับเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจสาเหตุของขบวนการปฏิรูปการปกครอง และประวัติศาสตร์ของกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งส่วนใหญ่ของต้นฉบับยังไม่ได้รับการจัดพิมพ์ แต่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) รวม ๗๑ เล่ม ฟรานซิส เพลซไม่ใช่นักพูดและไม่ชอบทำตัวเป็นเป้าสายตาของคนทั่วไป แต่ชอบทำงานเบื้องหลัง เช่น ป้อนข้อมูล ร่างคำร้อง จัดการรณรงค์ และกำกับคณะกรรมาธิการสภาให้แก่สมาชิกสภาสามัญ เพลชมักจะทำงานตั้งแต่ ๖ นาฬิกา และนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานจนดึกดื่น เขาแยกทางกับภรรยาคนที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ เพลซถึงแก่กรรมที่บ้านพักย่านแฮมเมอร์สมิท (Hammersmith) ของบุตรสาว ๒ คนซึ่งครองตัวเป็นโสดในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๔ ขณะอายุ ๘๒ ปี ก่อนการยกเลิกภาษีแสตมป์สำหรับหนังสือพิมพ์ในเวลาอีก ๑๘ เดือน

 เพลซสะสมหนังสือ จุลสาร แผ่นปลิว ข่าวที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จดหมาย งานเขียนต้นฉบับ และหนังสือพิมพ์ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายเพราะไม่ติดแสตมป์ที่เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๘๕๓ เป็นจำนวนมหาศาล แม้หลายชิ้นจะสะท้อนทัศนะทางการเมืองของเพลซอยู่ด้วย แต่ก็ถือว่าเบีนแหล่งเก็บข้อมูลการเมืองขนาดใหญ่ เอกสารของเพลซซึ่งเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษรวมแล้วเป็นจำนวนถึง ๑๘๐ เล่ม ถือเป็นคลังข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่รุนแรงในอังกฤษต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปัจจุบันเก็บอยู่ในรูปไมโครฟิล์ม ๕๔ ม้วน ในชื่อ เอกสารฟรานซิส เพลช (Francis Place Collection).



คำตั้ง
Place, Francis
คำเทียบ
นายฟรานซิส เพลซ
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- ขบวนการชาร์ติสต์
- คลีฟ, จอห์น
- ชาดด์, เอลิซาเบท
- นิกายแองกลิคัน
- เบนทัม, เจเรมี
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติห้ามการชุมนุม
- เพน, ทอมัส
- เพลซ, ฟรานซิส
- มัลทัส, ทอมัส
- มิลล์, จอห์น สจวร์ต
- รัสเซลล์, ลอร์ดจอห์น
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- โลเวตต์, วิลเลียม
- สงครามนโปเลียน
- สภาสามัญ
- สมัยวิกตอเรีย
- โอคอนเนอร์, เฟียร์กัส
- โอเวน, รอเบิร์ต
- ฮอบเฮาส์, เบอร์เดตต์
- เฮเทอริงตัน, เฮนรี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1771-1854
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๑๔-๒๓๙๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-