ราชรัฐลิกเตนสไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่สุดลำดับที่ ๔ ในทวีปยุโรป รองจากนครรัฐวาติกัน (Vatican City State) ราชรัฐโมนาโก (Principality of Monaco) และสาธารณรัฐซานมารีโน (Republic of San Marino) จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๑๙ และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ในอดีตมีความใกล้ชิดกับออสเตรียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งประมุขของราชรัฐก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอันดีกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ลิกเตนสไตน์ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์หลังจากสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ที่ออสเตรียเป็นผู้นำล่มสลายใน ค.ศ. ๑๘๖๖ และยึดถือนโยบายเป็นกลาง ปัจจุบันเป็นดินแดนแห่งเดียวที่หลงเหลือจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังมีเจ้าชาย (Fürst) เป็นประมุขของประเทศและประชากรพูดภาษาเยอรมัน ทั้งยังเป็นประเทศขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านอุตสาหกรรมในระยะเวลาอันสั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของทวีปยุโรปด้วย
ลิกเตนสไตน์ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตอนกลางบริเวณเทือกเขาแอลปส์ (Alps) ลักษณะพื้นที่ของประเทศเป็นรูปสามเหลี่ยม มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๖๐ ตารางกิโลเมตร อยู่ระหว่างประเทศออสเตรียกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีพรมแดนร่วมกับออสเตรียทางตะวันออก ๓๔.๙ กิโลเมตร และกับสวิตเซอร์แลนด์ทางตะวันตกและทิศใต้รวมกัน ๔๑.๑ กิโลเมตร โดยทางตะวันตกมีแม่น้ำไรน์ (Rhine) เป็นพรมแดนธรรมชาติ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเรียกว่า "doubly landlocked" เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่ ห้อมล้อมก็ไม่มีทางออกสู่ทะเลด้วย และเป็นเพียง ๑ ใน ๒ ประเทศในโลก [อีกประเทศคือสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน (Republic of Uzbekistan)] ที่มีลักษณะแบบนี้ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาร้อยละ ๖๖ ส่วนที่เหลือเป็นเนินเขาและที่ราบใหญ่ใกล้แม่น้ำไรน์ มีกรุงวาดุซ (Vaduz) เป็นเมืองหลวง เมืองสำคัญลำดับรองได้แก่ เมืองชาน (Schaan) เมืองบัลแซร์ส (Balzers) และเมืองทรีเซิน (Triesen) ประชากรทั้งสิ้นประมาณ ๓๔,๔๙๘ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) ประกอบด้วย เชื้อชาติอะลามานนี (Alemannic) ร้อยละ ๘๖ ที่เหลือเป็นพวกอิตาลี เติร์กและอื่น ๆ ชาวลิกเตนสไตน์ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๗๖.๒ นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ ๗ นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ไม่ระบุร้อยละ ๑๐.๖ และอื่น ๆ ร้อยละ ๖.๒ ภาษาราชการได้แก่ ภาษาเยอรมัน และภาษาอะลามานนีซึ่งเป็นภาษาถิ่นก็นิยมพูดกันโดยทั่วไปลิกเตนสไตน์จัดเป็นประเทศเดียวที่พลเมืองพูดภาษาเยอรมัน (ภาษาราชการ) แต่ไม่มีพรมแดนร่วมกับประเทศเยอรมนี
ชื่อของราชรัฐลิกเตนสไตน์มาจากนามของราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ซึ่งมีที่มาจากชื่อของปราสาทในโลว์เออร์ออสเตรีย (Lower Austria) ที่ราชวงศ์ครอบครองระหว่าง ค.ศ. ๑๑๔๐ - คริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ และ ค.ศ. ๑๘๐๗ จนถึงปัจจุบัน ลิกเตนสไตน์เป็นดินแดนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่มีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ ปีที่แล้ว ทั้งนี้เพราะมีภูมิประเทศเป็นเนินสูงที่ปลอดจากน้ำท่วมที่มักเกิดขึ้นเป็นปรกติในที่ราบริมฝั่งแม่น้ำไรน์ในขณะนั้น มีการค้นพบหลักฐานแหล่งชุมชนและโบราณวัตถุจำนวนมากที่บริเวณเทือกเขากูเตนเบิร์ก (Gutemberg) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ รูปบูชาสัมฤทธิ์จำนวนมาก ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของดินแดนลิกเตนสไตน์ ได้แก่ พวกรีเชียน (Rhaetian) หรือเวนอน (Venon) ขณะเดียวกัน ก็มีชนเผ่าเคลต์ (Celt) ที่อพยพมาจากภูมิภาคยุโรปตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วย
ในปีที่ ๑๕ ก่อนคริสต์ศักราช ทหารโรมันได้เข้ายึดอาณาบริเวณลิกเตนสไตน์และจัดตั้งเป็นมณฑลรีเชีย (Rhaetia) ในปกครองของจักรวรรดิโรมัน ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑ โรมันได้สร้างถนนเพื่อการทหารตัดผ่านลิกเตนสไตน์จากทิศใต้จดทิศเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนที่ทอดผ่านเทือกเขาแอลป์ไปตามช่องเขาชปลึงเงิน (Splügen pass) และฝั่งขวาของแม่น้ำไรน์ ณ บริเวณที่ราบซึ่งแต่เดิมมีน้ำท่วมตลอด ชาวโรมันได้สร้างคฤหาสน์ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของเมืองชาวัลด์ (Schaawald) และเมืองเนนเดล์น (Nendeln) ในปัจจุบันในเวลาไม่ช้า ภาษาละตินและภาษาถิ่นก็ค่อย ๆ ประสมประสานกันจนเกิดเป็นภาษารีเชียนขึ้น และวิวัฒนาการของภาษานี้ก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นหลังจากชนพื้นเมืองได้หันมานับถือคริสต์ศาสนาซึ่งเซนต์ลูคัส (St. Lucus) นำเข้ามาเผยแพร่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ขณะเดียวกัน พวกอนารยชนเผ่าอะลามานนีจากภูมิภาคยุโรปตอนเหนือก็เริ่มเป็นภัยต่อลิกเตนสไตน์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย พวกอะลามานนีก็เข้ายึดครองรีเชีย และทิ้งมรดกที่สำคัญไว้ คือ ภาษาอะลามานนี
ใน ค.ศ. ๕๓๖ รีเชียได้ถูกพวกแฟรงก์ (Frank) เข้ารุกรานและต่อมาในต้นราชวงศ์คาโรลินเจียน (Carolingian) ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแฟรงก์ ระหว่างที่อยู่ใต้อำนาจปกครองของราชวงศ์คาโรลินเจียนนั้น เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในลิกเตนสไตน์ เช่น เมืองบัลแซร์ส เมืองชาน และเมืองเอสเชิน (Eschen) ก็ปรากฏชื่อให้เห็นเป็นครั้งแรกในเอกสารราชการโดยมีฐานะเป็นเขตที่ดินของกษัตริย์ (royal domain) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ผู้ครองตำแหน่งเคานต์แห่งเบรเกนซ์ (Bregenz) ได้สิทธิปกครองรีเชียจนถึง ค.ศ. ๑๑๕๒ เมื่อสิ้นเชื้อสาย หลังจากนั้นดินแดนรีเชียก็ถูกแบ่งและแยกย่อยเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานของขุนนางตระกูลต่าง ๆ ในระยะแรกโลว์เออร์รีเชียตกเป็นของผู้ครองตำแหน่งเคานต์แห่งมอนฟอร์ท (Monfort) ซึ่งต่อมาแยกออกเป็นสายตระกูลมอนฟอร์ทและแวร์เดนแบร์ก (Werdenberg) ใน ค.ศ. ๑๓๔๒ เชื้อสายของตระกูลแวร์เดนแบร์กได้ครอบครองที่ดินบริเวณกรุงวาดุซและจัดตั้งเป็นเคาน์ตีวาดุซขึ้น ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๓๗๙ จักรพรรดิเวนเซสลอส (Wenceslaus ค.ศ. ๑๓๗๘-๑๔๐๐) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้
พระราชทานอำนาจตุลาการแก่เคานต์แห่งวาดุซซึ่งเท่ากับทำให้เคานต์แห่งวาดุซมีอำนาจปกครองราษฎรในบริเวณนั้นอย่างอิสระโดยไม่ต้องขึ้นกับรัฐบาลกลางอีกต่อไป ใน ค.ศ. ๑๓๙๖ พระองค์ยังทรงยกฐานะของเคานต์แห่งวาดุซให้สูงขึ้น โดยให้มีฐานะเป็นวาสซัล (vassal) โดยตรงของจักรพรรดิ และให้เคาน์ตีวาดุซเป็น "ดินแดนในปกครองของลอร์ด" (territorial lordship) ที่มีอำนาจอธิปไตยซึ่งประมุขขึ้นโดยตรงต่อจักรพรรดิ (imperial immediacy) สิทธิดังกล่าวนี้ได้รับการค้ำประกันจากจักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มาด้วย ใน ค.ศ. ๑๔๑๖ เมื่อเชื้อสายเคานต์แห่งวาดุซสายแวร์เดนแบร์กสิ้นสุดลงเคาน์ตีวาดุซก็ตกเป็นของบารอนแห่งบรันดิส (Brandis) ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๔๓๔ ก็ได้สิทธิเข้าครอบครองเชลเลนแบร์ก (Schellenberg) ด้วย ซึ่งเป็นดินแดนของสายของตระกูลแวร์เดนแบร์ก-ไฮลิงเงนแบร์ก (Werdenberg- Heilingenberg) และเป็นดินแดนอีกแห่งที่ ประมุขขึ้นโดยตรงกับจักรพรรดิ การมีประมุขร่วมกันของดินแดนทั้งสองดังกล่าวนับเป็นจุดกำเนิดของราชรัฐลิกเตนสไตน์ เพราะในอีก ๒ ศตวรรษต่อมา วาดุซและเชลเลนแบร์กก็ได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและได้รับการสถาปนาเป็นราชรัฐลิกเตนสไตน์ ทั้งยังเป็นการกำหนดขอบเขตและดินแดนของราชรัฐลิกเตนสไตน์ปัจจุบันด้วยเพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาพรมแดนที่จะเป็นขอบเขตของราชรัฐก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย
หลังจากที่มีการกำหนดให้แม่น้ำไรน์เป็นพรมแดนธรรมชาติถาวรที่แบ่งอาณาเขตระหว่างจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับสมาพันธรัฐสวิส (Swiss Confederation) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และทำให้วาดุซและเชลเลนแบร์กเป็นดินแดนชายขอบของจักรวรรดิ ใน ค.ศ. ๑๕๑๐ บารอนแห่งบรันดิสคนสุดท้ายก็ขายดินแดนในปกครองทั้ง ๒ แห่งนี้ให้แก่เคานต์แห่งซุลซ์ (Sulz) ซึ่งมีถิ่นพำนักที่เมืองเคลทท์กัน (Klettgan) หรือบาเดิน (Baden) แม้ประมุขคนใหม่จะปกครองจากที่ห่างไกลและมีนโยบายให้ประชาชนในปกครองยึดมั่นในนิกายโรมันคาทอลิกเมื่อเกิดเหตุการณ์การปฏิรูปศาสนา (Reformation) แต่ตลอดระยะเวลา ๑ ศตวรรษที่อยู่ในอำนาจของเคาน์แห่งซุลซ์นั้น ประชาชนทั้งในวาดุซและเชลเลนแบร์กต่างก็ได้รับเสรีภาพและความสงบสุข รวมทั้งมีสิทธิในการเลือกหัวหน้าผู้พิพากษาและคณะรวมจำนวน ๑๓ คนด้วย
ใน ค.ศ. ๑๖๑๓ ทั้งวาดุซและเชลเลนแบร์กต่างเปลี่ยนมือประมุขอีกครั้ง โดยเคานต์แห่งซุลซ์ได้ขายดินแดนในปกครองทั้ง ๒ แห่งนี้แก่เคานต์แห่งโฮเฮเนมส์ (Hohenems) ซึ่งต้องการจะจัดตั้งและควบคุมรัฐกันชนระหว่างออสเตรียกับสวิตเซอร์แลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ นี้ วาดุซและเชลเลนแบร์กต่างประสบกับภัยของโรคระบาดอันได้แก่กาฬโรคหรือความตายสีดำ (Black Death) และผลกระทบของสงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) แม้ว่าในระหว่างสงครามดินแดนทั้งสองจะไม่ได้เป็นสนามรบ แต่ชาวเมืองผู้บริสุทธิ์กว่า ๑๐๐ คนก็ถูกจับกุมและตัดสินลงโทษว่าเป็นแม่มดหมอผีและใช้คุณไสย ทั้งเคานต์แห่งซุลซ์ผู้เป็นประมุขก็มีฐานะตกต่ำลงจนในที่สุดต้องขายเชลเลนแบร์กใน ค.ศ. ๑๖๙๙ และวาดุซใน ค.ศ. ๑๗๑๒ แก่เจ้าชายโยฮันน์ อาดัม อันเดรอัส (Johann Adam Andreas) แห่งลิกเตนสไตน์
ราชวงศ์ลิกเตนสไตน์เป็นราชวงศ์เชื้อสายเยอรมันที่มีนิวาสถานในกรุงเวียนนาและครอบครองที่ดินจำนวนมากทั้งในออสเตรีย โบฮีเมีย (Bohemia) และโมราเวีย (Moravia) อย่างไรก็ดี ที่ดินดังกล่าวทั้งหมดเป็นที่ดิน (fief) ที่ได้รับสิทธิถือครองจากลอร์ดที่สูงศักดิ์ซึ่งอยู่ในสายของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ต่างก็ไม่ใช่ที่ดินที่ได้รับพระราชทานโดยตรงจากจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล ดังนั้นจึงทำให้ผู้ครองตำแหน่งประมุขของราชวงศ์ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิให้เข้าเป็นสมาชิกของ "สภาเจ้าชาย" (Council of Princes) หรือสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ที่ทรงเกียรติ การเป็นเจ้าของวาดุซและเชลเลนแบร์กที่เป็น "ดินแดนในปกครองของลอร์ด" และขึ้นโดยตรงต่อพระจักรพรรดิจึงเปิดโอกาสให้ประมุขของราชวงศ์ลิกเตนสไตน์มีฐานะทางการเมืองและสังคมที่สูงขึ้นซึ่งเป็นที่ปรารถนามาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๗๑๙ จักรพรรดิชาร์ลที่ ๖ (Charles VI ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๗๔๐) ยังทรงออกประกาศพระราชกฤษฎีกายกฐานะของเคาน์ตีวาดุซและเชลเลนแบร์กให้มีสถานภาพสูงขึ้นโดยรวมดินแดนทั้งสองเข้าด้วยกันและสถาปนาเป็นราชรัฐชั้นพรินซิพาลิตี (Principality) หรือเฟือร์สเทนทุม (Fürstentum) ในภาษาเยอรมัน และพระราชทานนามให้ว่า ราชรัฐลิกเตนสไตน์ เพื่อเป็นเกียรติแต่เจ้าชายอันทอน โฟลเรียนแห่งลิกเตนสไตน์ (Anton Florian of Liechtenstein) "ข้าที่แท้จริง" (true servant) ของพระองค์ด้วย ลิกเตนสไตน์จึงมีฐานะเป็นราชรัฐอิสระที่รวมตัวอย่างหลวม ๆ กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และนับเป็นจุดกำเนิดของราชรัฐด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานภาพของราชรัฐจะทำให้เจ้าชายอันทอน โฟลเรียนมีฐานะทางการเมืองที่สูงส่งขึ้นในดินแดนเยอรมัน แต่พระองค์รวมทั้งผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์องค์ต่อ ๆ มายังคงพำนักอยู่ในออสเตรียและไม่เคยย่างพระบาทมาราชรัฐเลย เพียงแต่ส่งข้าหลวงมาทำหน้าที่แทนพระองค์เท่านั้น ในเวลาไม่ช้า ข้าหลวงและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งพยายามใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองก็เริ่มขัดแย้งกับประชาชน แต่ต่อมาทั้ง ๒ ฝ่ายก็ยินยอมประนีประนอมกันใน ค.ศ. ๑๗๓๓ โดยศาลและองค์กรบริหารท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในรูปแบบเดิมต่อไป แต่สิทธิบางประการขององค์กรบริหารท้องถิ่นได้ถูกจำกัดลง
ในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* ลิกเตนสไตน์เป็นดินแดนที่ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียใช้เป็นเส้นทางในการเคลื่อนทัพใน ค.ศ. ๑๗๙๙ และนับเป็น "ฉากสงคราม" ที่ปรากฏให้ชาวลิกเตนสไตน์เห็นเป็นครั้งแรก (รวมทั้งเป็นครั้งสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน) ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้น ซึ่งมีผลให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๖)* สละมงกุฎของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์และการสลายตัวของจักรวรรดิแม้ราชรัฐลิกเตนสไตน์จะเป็นเพียงรัฐเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ถูกยุบทั้งยังถูกรวมตัวกับรัฐเยอรมันอื่น ๆ ให้อยู่ในอารักขาของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต่อมาหลังจากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France) สิ้นสุดลง ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ได้ยอมรับในสถานภาพรัฐขนาดเล็กและรัฐอธิปไตยของลิกเตนสไตน์ในขณะที่รัฐเล็กอื่น ๆ ที่ถูกยุบไปไม่ได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ ราชรัฐลิกเตนสไตน์จึงเป็น ๑ ใน ๓๕ รัฐเยอรมัน (รวมออสเตรียด้วย) ที่มีอธิปไตยของตนเองและเสรีนครอีก ๔ แห่งจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐเยอรมันแทนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธ์ที่สลายตัวใน ค.ศ. ๑๘๐๖ โดยมีจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* และราชอาณาจักรปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐใหญ่เป็นผู้นำ ส่วนในความสัมพันธ์กับรัฐใหญ่ดังกล่าวราชรัฐลิกเตนสไตน์ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับองค์ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรียต่อไปจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ชาวลิกเตนสไตน์ซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจความล้าหลังในการเกษตร รวมทั้งการถูกเรียกเก็บภาษีตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัลได้รวมตัวกันอย่างสงบเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเสรี และการยกเลิกภาษีตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล เจ้าชายอาลอยส์ที่ ๒ (Alois II ค.ศ. ๑๘๓๖-๑๘๕๘) องค์ประมุขทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยขอให้รอดูพัฒนาการทางด้านการเมืองในออสเตรียและปรัสเซียก่อน อย่างไรก็ดี นับแต่ต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ เป็นต้นไป การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ในลิกเตนสไตน์ก็เริ่มปรากฏให้เห็น ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ลิกเตนสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาศุลกากร (Cus-toms Treaty) กับออสเตรีย ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมสิ่งทอขยายตัวได้ หลังจากนั้นรัฐสภาก็ดำเนินการให้มีการปฏิรูปต่าง ๆ โดยมีประชาชนให้การสนับสนุนธนาคารแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๑ อีก ๑ ปี ต่อมา มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแนวปฏิรูปและหนังสือพิมพ์ฉบับแรกออกจำหน่าย อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญก็ยังคงกำหนดให้เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์ทรงมีอำนาจปกครอง แต่ขณะเดียวกันก็ยอมให้ประชาชนมีผู้แทนในรัฐสภาและยอมรับอำนาจรัฐสภาด้วย
ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ หลังจากออสเตรียพ่ายแพ้ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย (Austro-Prussian War) หรือสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* และต้องแยกตัวอย่างถาวรจากกลุ่มรัฐเยอรมัน ทั้งยังมีผลให้สมาพันธรัฐเยอรมันที่ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปีสิ้นสุดไปด้วย ราชรัฐลิกเตนสไตน์จึงกลายเป็นประเทศอิสระอย่างสมบูรณ์ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ รัฐบาลได้ยุบกองทัพที่ประกอบด้วยทหารจำนวน ๘๐ คน เพราะ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องส่งกองกำลังเข้าร่วมในกองทัพของสมาพันธรัฐและยังเป็นการตัดค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนสูง นอกจากนี้ ก็มีคำประกาศให้ประเทศเป็นกลางอย่างถาวรอีกด้วย
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ลิกเตนสไตน์ได้ประสบปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างมาก การก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำไรน์กลายเป็นภาระหนักของประเทศ ส่วนการค้ากับต่างประเทศก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า การอุตสาหกรรมก็มีแต่สิ่งทอซึ่งจ้างเฉพาะแรงงานสตรีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแรงงานชายถ้าไม่เพาะปลูกก็เป็นคนว่างงาน ดังนั้น จึงมีชาวลิกเตนสไตน์จำนวนมากทั้งชายและหญิงต่างพากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ส่วนใหญ่เดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ประชากรที่มีเพียงจำนวนน้อยลดจำนวนลงด้วย
ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ลิกเตนสไตน์ได้จัดพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรเพื่อเผยแพร่ ต่อมาก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้สะสมดวงตราไปรษณียากรภายนอกประเทศดวงตราไปรษณียากรจึงเป็น "สินค้าส่งออก" ที่นำรายได้สูงมาสู่ประเทศ และความนิยมในสีสันและการออกแบบอย่างงดงามก็ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดวงตราไปรษณียากรขึ้นในกรุงวาดุซซึ่งกลายเป็นแหล่งสะสมดวงตราไปรษณียากรหายากที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในปัจจุบันให้เดินทางไปเข้าชมด้วย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ลิกเตนสไตน์ยึดนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากมาตรการทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านออสเตรียซึ่งประเทศเคยผูกพันด้วยเป็นระยะเวลาอันยาวนาน อุตสาหกรรมสิ่งทอหยุดนิ่งและประชาชนจำนวนมากต้องอดอยากและหิวโหย ขณะเดียวกันสงครามก็นำความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองอย่างมากแก่ลิกเตนสไตน์ มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้แก่ พรรคประชาชนสังคมคริสเตียน (Christian-Social People’s Party) และพรรคพลเมืองก้าวหน้า (Progressive Citizens’ Party) อีกทั้งประชาชนยังเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยชูคำขวัญว่า "ลิกเตนสไตน์สำหรับชาวลิกเตนสไตน์" (Liechtenstein to the Liechtenstein people) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ชาวลิกเตนสไตน์ก็ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่องค์ประมุขกับรัฐสภาร่วมกันพิจารณา โดยให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยตรงได้มากขึ้น รวมทั้งการแสดงประชามติ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นพลเมืองลิกเตนสไตน์เท่านั้น และให้ที่ทำการของศาลต้องตั้งอยู่ภายในประเทศ ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ หลังจากราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ลิกเตนสไตน์สูญสิ้นบัลลังก์และออสเตรียเป็นฝ่ายปราชัยอย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ราชรัฐลิกเตนสไตน์จึงต้องหันไปมีความสัมพันธ์กับสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มี
ความมั่นคงที่เป็นกลางเช่นเดียวกันแทน ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ลิกเตนสไตน์ได้ยกเลิกสนธิสัญญาศุลกากร ( ค.ศ. ๑๘๕๒) กับออสเตรียที่กำลังประสบภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และในปีต่อมาก็ได้ทำสนธิสัญญาหลายฉบับกับรัฐบาลกลางสวิสและรัฐ (canton) ต่าง ๆ ในสมาพันธรัฐสวิส ที่สำคัญได้แก่ การใช้เงินฟรังสวิสเป็นเงินหมุนเวียนของประเทศ และทำสนธิสัญญาศุลกากร ค.ศ. ๑๙๒๓ ให้ศุลกากรสวิสเป็นผู้เก็บภาษีศุลกากรให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ลิกเตนสไตน์กับสวิตเซอร์แลนด์ก็มีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบัน
ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ลิกเตนสไตน์ได้ประสบภัยพิบัติจากเขื่อนริมแม่น้ำไรน์พังทลาย พื้นที่ราบบริเวณหุบเขากว่าร้อยละ ๕๐ จมอยู่ใต้น้ำ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างมหันต์ รัฐบาลลิกเตนสไตน์พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจัดทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อขุดคลองครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำจากที่ราบบริเวณหุบเขา อย่างไรก็ดี ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล กอปรกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองทั้งสองที่สั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยของประเทศด้วย ก่อนที่เหตุการณ์จะเลวร้ายลงอีก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำของเยอรมนีก็ส่งกองทัพเข้ายึดครองออสเตรียใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขึ้น ดังนั้น ด้วยแรงกดดันจากภายนอกพรรคการเมืองของลิกเตนสไตน์จึงหันหน้ามาปรองดองกันและจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ขณะเดียวกันเจ้าชายฟรานซ์ โจเซฟที่ ๒ (Franz Joseph II ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๘๙) ประมุขแห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์พระองค์ใหม่ก็เสด็จจากออสเตรียมาประทับ ณ ปราสาทวาดุซ นับว่าพระองค์ทรงเป็นประมุของค์แรกของราชวงศ์ที่ประทับและว่าราชการโดยตรงในลิกเตนสไตน์อย่างถาวร อีกทั้งยังทรงเป็นศูนย์รวมของจิตใจประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ลิกเตนสไตน์ดำเนินนโยบายเป็นกลางเช่นเดียวกับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีเรื่องเล่าในหมู่ชาวลิกเตนสไตน์ว่า หลังจากเกิดสงครามขึ้นได้ไม่นานใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมันได้พยายามที่จะเข้ารุกรานลิกเตนสไตน์โดยส่งกองพันที่ติดอาวุธเดินเท้าข้ามพรมแดน แต่เมื่อต้องเผชิญกับกำลังตำรวจจำนวน ๑๐ คน ลูกเสือ ๙ คน และนักบวชอีก ๑ รูปที่เรียงแถวกันเข้ามาขัดขวาง ทหารเยอรมันจึงเริ่มเข้าใจถึง "ความไม่สำคัญ" ของลิกเตนสไตน์และเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้ายึดครอง ดังนั้น ในขณะที่สงครามดำเนินอยู่และสร้างความหายนะให้แก่นานาประเทศในยุโรป ลิกเตนสไตน์กลับเป็นที่ปลอดภัยและไม่ได้รับการผลกระทบโดยตรงจากสงครามเลยทรัพย์สมบัติที่มีค่าของราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ได้รับการเคลื่อนย้ายจากดินแดนนอกประเทศที่ตกอยู่ในสภาพสนามรบมาเก็บไว้อย่างปลอดภัยในลิกเตนสไตน์และในกรุงลอนดอน อย่างไรก็ดี ก่อนสงครามจะสิ้นสุดลงเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* และโปแลนด์ก็เข้ายึด "ทรัพย์ของคนเยอรมัน" ซึ่งทำให้ที่ดินที่ ราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ครอบครองในโบฮีเมีย โมราเวีย และไซลีเซีย (Silesia) ที่เป็นพื้นที่ การเกษตรและป่าไม้จำนวน ๑,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร รวมทั้งปราสาทและพระราชวังอีกหลายหลังถูกยึดครองไปด้วย
สงครามโลกครั้งที่ ๒ มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางเศรษฐกิจของลิกเตนสไตน์จากประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลังและยากจนให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งและทันสมัย เนื่องจากระหว่างที่สงครามดำเนินอยู่ ลิกเตนสไตน์และสวิตเซอร์แลนด์มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสวิตเซอร์แลนด์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของลิกเตนสไตน์ในการค้ากับต่างประเทศ มีผลให้มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ขึ้นในประเทศเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะสงคราม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง เศรษฐกิจของลิกเตนสไตน์ก็เจริญพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตามสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งมาจดทะเบียนบรรษัท สถาบันการเงิน และกองทุนในลิกเตนสไตน์แต่ส่วนมากไม่มีที่ทำการมีแต่ที่อยู่ทางไปรษณีย์ที่เรียกว่า "ตู้ ปณ." ซึ่งในปัจจุบันมีประมาณ ๗๕,๐๐๐ แห่ง เนื่องจากลิกเตนสไตน์มีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ให้จัดเก็บภาษีในอัตราต่ำ (ไม่ถึงร้อยละ ๑ ถึงสูงสุดไม่เกินร้อยละ ๑๘) สำหรับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ก็มีช่วงจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำด้วย ส่วนบริษัทถือหุ้นที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษี สินค้าอุตสาหกรรมที่เติบใหญ่และมีความสำคัญ ได้แก่ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องจักรกล เครื่องกระเบื้อง ผลิตภัณฑ์เคมี เวชภัณฑ์ และอาหารกระป๋อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาพักผ่อนและชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของประเทศ และการจัดตั้งธนาคารต่าง ๆ ขึ้นมากมายยังทำให้ลิกเตนสไตน์ในเวลาต่อมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของยุโรป การขยายตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจึงทำให้แรงงานท้องถิ่นไม่เพียงพอและต้องว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ซึ่งจำนวนมากเดินทางข้ามแดนไป-กลับทุกวัน
แม้สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ลิกเตนสไตน์ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับนำความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบพลวัตมาสู่ราชรัฐดังที่กล่าวมา แต่สำหรับองค์ประมุข สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของราชวงศ์โดยเฉพาะที่ดินที่มีขนาดใหญ่กว่าลิกเตนสไตน์หลายเท่าตัวที่อยู่ในสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ในปัจจุบันถูกรัฐบาลเช็กริบคืนไป นอกจากนี้เอกสารโบราณสูงค่าของราชวงศ์ที่สะสมเก็บรักษาไว้ที่กรุงเวียนนา ออสเตรียก็ถูกกองทัพรัสเซียเข้ายึดและขนออกนอกประเทศ ลิกเตนสไตน์จึงพยายามเรียกร้องทรัพย์สมบัติดังกล่าวขององค์ประมุขคืน ฝ่ายเช็กไม่ยอมรับการอ้างสิทธิที่ดินดังกล่าว โดยถือว่าการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนใด ๆ จะต้องไม่ย้อนหลังกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๘ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจ และสั่งห้ามไม่ให้พลเมืองลิกเตนสไตน์เดินทางเข้าประเทศตลอดช่วงของสงครามเย็น (Cold War)* ส่วนข้อพิพาทเรื่องเอกสารโบราณกับรัสเซียได้รับการแก้ไขหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตโดยรัฐบาลรัสเซียยินยอมคืนเอกสารทั้งหมดให้ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ดังนั้น ในระยะแรก ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงที่ฐานะทางการเงินและรายรับของราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ต้องตกต่ำลง เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์จึงจำเป็นต้องขายสมบัติบางส่วนของพระองค์ เช่น ภาพเขียน Ginevra de Benci ของลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ศิลปินเอกในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงให้ประชาชนชมในหอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery of Art) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
อย่างไรก็ดี แม้ระบบเศรษฐกิจของลิกเตนสไตน์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงมีชาวลิกเตนสไตน์ในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยึดอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เช่นที่บรรพบุรุษเคยประกอบและเคยเป็นรายได้หลักของประเทศ ประมาณว่าประชากรจำนวนร้อยละ ๘ ยังคงมีอาชีพเกษตรกรรม พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี และมันฝรั่ง ส่วนสัตว์เลี้ยง ได้แก่วัวพันธุ์บราวน์สวิส (Brown Swiss) ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์นมเนย นอกจากนี้ ก็มีการทำไร่องุ่นเพื่อผลิตไวน์ใน บริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์ซึ่งให้ผลองุ่นที่นำมาผลิตไวน์คุณภาพดีเยี่ยมตั้งแต่สมัยโรมัน
นับแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ ลิกเตนสไตน์ได้ปรับนโยบายการต่างประเทศและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมนานาชาติมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเข้าเป็นสมาชิกสภายุโรป (Council of Europe) ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association - EFTA) ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ เพื่อเป็นสะพานไปสู่ตลาดการค้าของสหภาพยุโรป (European Union)* ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ชาวลิกเตนสไตน์ร้อยละ ๕๖ ได้ลงประชามติเห็นชอบกับการเข้าเป็นสมาชิกภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area - EEA) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรี ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๕ รัฐสภาลิกเตนสไตน์ก็ให้สัตยาบัน และลิกเตนสไตน์ก็เข้าเป็นสมาชิกภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรปและองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ อย่างไรก็ดี การเป็นสมาชิกขององค์กรเศรษฐกิจและการค้าต่าง ๆ ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาแก่ลิกเตนสไตน์ หลายประเทศได้กดดันให้รัฐบาลลิกเตนสไตน์สำรวจบริษัทบังหน้า (nominee company) ที่ธนาคารต่าง ๆ จัดตั้งขึ้น โดยไม่มีที่ทำการอย่างแท้จริงอันนำไปสู่การฟอกเงินและการจัดการด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง แต่รัฐบาลรวมทั้งองค์ประมุขก็มิได้ดำเนินการหรือมีมาตรการใด ๆ ที่จะจัดการในเรื่องดังกล่าวเพราะได้รับผลประโยชน์และรายได้จำนวนมหาศาลในรูปของภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังนั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๒ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) จึงร่วมมือกันประนามลิกเตนสไตน์ว่าเป็น ๑ ใน ๗ ประเทศทั่วโลกที่ ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ทั้งยังได้นำวิธีบังคับทางเศรษฐกิจ (economic sanction) เป็นมาตรการกดดันลิกเตนสไตน์อีกด้วย
ในด้านการปกครอง ลิกเตนสไตน์ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีเจ้าชายเป็นประมุข และเป็น ๑ ใน ๒ ประเทศในทวีปยุโรป [อีกประเทศคือราชรัฐโมนาโก] ที่ ปกครองในระบอบนี้ รัฐบาลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก ๔ คน ส่วนรัฐสภามีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาลันด์ทัก (Landtag) ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน ๒๕ คน สตรีชาวลิกเตนสไตน์เพิ่งได้รับสิทธิเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๘๔ ซึ่งนับว่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ มาก อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๒๐๐๓ ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจำนวน ๑ ใน ๔ หรือ ๖ คน และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ๑ คน
หลังจากเจ้าชายฟรานซ์ โจเซฟที่ ๒ ซึ่งเสด็จมาประทับอย่างถาวรในลิกเตนสไตน์ใน ค.ศ ๑๙๓๘ สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ ๒ (Hans Adam II ค.ศ. ๑๙๘๙-) พระโอรสทรงสืบทอดตำแหน่งประมุข พระองค์ทรงพยายามที่จะฟื้นฟู พระอำนาจขององค์ประมุข โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ โดยทรงใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยจัดให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเปิดช่องทางให้มีการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้แก่องค์ประมุข เจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ ๒ ทรงข่มขู่ที่จะเสด็จออกจากลิกเตนสไตน์และไปประทับ
อย่างถาวร ณ กรุงเวียนนาหากไม่ทรงได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน ผลของการลงประชามติปรากฏว่าพลเมืองร้อยละ ๖๔.๓ ให้ความเห็นชอบ ซึ่งต่อมาทำให้พระองค์ทรงมีพระอำนาจมากกว่ากษัตริย์หรือองค์ประมุขใด ๆ ในทวีปยุโรป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ให้อำนาจองค์ประมุขในการยุบรัฐบาลและความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้พิพากษา รวมทั้งการใช้พระอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายโดยสามารถปฏิเสธที่จะลงพระนาม ซึ่งจะมีผลให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นไม่สามารถจะประกาศเป็นพระราชบัญญํติได้เป็นเวลา ๖ เดือน
อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ ๒ กลับทรงยุติบทบาททางการเมืองและทรงแต่งตั้งเจ้าชายอาลอยส์ (Alois) พระโอรสวัย ๓๖ ชันษา ให้ทำหน้าที่แทนพระองค์ในการประกอบพระภารกิจต่าง ๆ และการใช้พระอำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของลิกเตนสไตน์ แต่เจ้าชายฮันสอาดัมที่ ๒ ก็ยังทรงดำรงพระอิสริยศองค์ประมุขของราชรัฐลิกเตนสไตน์ ทรงเป็นองค์ประมุขที่มีฐานะมั่งคั่งพระองค์หนึ่ง รวมมูลค่าของศิลปวัตถุภาพเขียนและอื่น ๆ ที่เป็นสมบัติของราชวงศ์และทรัพย์สินต่าง ๆ ประมาณ ๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.