Tannenberg, Battle of (1914)

ยุทธการที่ทันเนนแบร์ก (-)

ยุทธการที่ทันเนนแบร์กเป็นการรบระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* กองทัพที่ ๑ และกองทัพที่ ๒ ของรัสเซียบุกปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนีโดยแยกกันบุกเป็น ๒ ทาง แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียทั้ง ๒ กอง ทำให้การบุกไม่เป็นเอกภาพและขาดการประสานงานทางทหาร ทั้งเยอรมนีรู้แผนและที่ตั้งของกองทัพรัสเซียซึ่งติดต่อกันทางวิทยุโดยไม่ใช้รหัส กองทัพที่ ๘ ของเยอรมนีซึ่งมีกำลังน้อยกว่าโดยมีนายพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* เป็นผู้บังคับบัญชาสามารถปิดล้อมกองทัพที่ ๒ ที่แยกกำลังกระจัดกระจายอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านทันเนนแบร์ก และนำไปสู่การปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างวันที่ ๒๖–๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เยอรมนีมีชัยชนะและสูญเสียทหารราว ๑๒,๐๐๐ นาย ทหารรัสเซียเสียชีวิต ๗๘,๐๐๐ นาย และถูกจับกว่า ๙๒,๐๐๐ นาย ชัยชนะในยุทธการครั้งนี้ทำให้ฮินเดนบูร์กได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกและได้สมญาว่า “วีรบุรุษแห่งทันเนนแบร์ก”

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เยอรมนีได้นำแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเผด็จศึกฝรั่งเศสให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ สัปดาห์มาใช้ จอมพล อัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟิน (Alfred von Schlieffen)* หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารเยอรมันได้จัดทำแผนนี้ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๕ และมีการปรับปรุงแผนให้เหมาะสมอีกหลายครั้ง ตามแผนที่วางไว้ กองทัพเยอรมันจะบุกโจมตีข้าศึกด้วยวิธีรุกรบอย่างรวดเร็วซึ่งจะไม่เปิดโอกาสให้คู่สงครามทันรู้ตัว และมุ่งพิชิตฝรั่งเศสให้ได้ก่อนที่รัสเซียจะระดมพลได้สำเร็จเพื่อเยอรมนีจะไม่ต้องเปิดศึก ๒ ด้าน ปฏิบัติการตามแผนชลีฟเฟินประสบผลสำเร็จในช่วงแรกของสงคราม เพราะเยอรมนีสามารถยึดครองเบลเยียมได้ภายในเวลา ๒ สัปดาห์เศษ และเคลื่อนกำลังมุ่งบุกฝรั่งเศสต่อตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ฝรั่งเศสสามารถต้านการรุกรบของเยอรมนีได้ในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of the Marne)* และผลักกองทัพเยอรมันให้ถอยกลับไปตั้งรับที่แม่น้ำเอน (Aisne) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จากนั้นคู่สงครามทั้ง ๒ ฝ่ายก็เริ่มขุดสนามเพลาะเป็นแนวรบป้องกันตนเอง ความล้มเหลวของเยอรมนีในการเอาชนะฝรั่งเศสทำให้นายพลเฮลมุท โยฮันน์ ลุดวิก ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth Johann Ludwig von Moltke) ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันประสาทเสียและเยอรมนีเปลี่ยนตัวแม่ทัพเป็นพลเอก เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn)* ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อรัสเซียระดมพลเสร็จก็เปิดศึกตามคำขอร้องจากฝรั่งเศสโดยส่งกองทัพเข้าบุกปรัสเซียตะวันออกและแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* การบุกของรัสเซียทำให้เยอรมนีต้องแบ่งกำลังกองทัพจากแนวรบด้านตะวันตกมาหนุนช่วย

 ในการบุกปรัสเซียตะวันออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ กลุ่มกองทัพจิลินสกี (Army Group Jilinsky) ของรัสเซีย ซึ่งรับผิดชอบในการโจมตีแบ่งกำลังเป็น ๒ กองทัพประกอบด้วยกองทัพที่ ๑ ซึ่งมีกำลัง ๒๐๑,๐๐๐ คน โดยมีนายพลปาเวล เรนเนนคัมปส์ (Pavel Rennenkamps) เป็นผู้บังคับบัญชาจะบุกโจมตีทางตะวันออกและเคลื่อนกำลังรบรุกอย่างรวดเร็วลงทางตอนใต้ส่วนกองทัพที่ ๒ ซึ่งมีกำลัง ๒๐๖,๐๐๐ คน โดยมีนายพลอะเล็กซานเดอร์ ซัมโซนอฟ (Alexander Samsonov) เป็นผู้บังคับบัญชาจะเคลื่อนกำลังจากทางใต้ตีโอบขึ้นมาสมทบจนทั้ง๒กองทัพมาบรรจบกันและโอบล้อมกองทัพที่ ๘ ของเยอรมนีในลักษณะก้ามปูซึ่งทำให้เยอรมนีไม่อาจต้านได้ต่อมาในวันที่ ๒๐ สิงหาคม กองทัพที่ ๑ มีชัยชนะต่อกองทัพเยอรมันในยุทธการที่กุมบีเนิน (Battle of Gumbinen) และแทนที่จะติดตามขยายผลในชัยชนะอย่างใกล้ชิดเรนเนนคัมปส์กลับหยุดเคลื่อนกำลัง ในขณะเดียวกันนายพลซัมโซนอฟก็เข้าใจว่ากองทัพที่ ๑ มีชัยชนะ ขั้นเด็ดขาดก็เริ่มบุกเข้าไปในปรัสเซียตะวันออกโดยไม่แจ้งให้แม่ทัพฝ่ายเดียวกันทราบ ส่วนฝ่ายเยอรมนี นายพลมักซ์ ฟอน พริทท์วิทซ์ (Max von Prittwitz) ซึ่งถูกโจมตีเสียหายหนักก็ตัดสินใจล่าถอยออกจากปรัสเซียตะวันออกโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากฝ่ายเสนาธิการเยอรมนีจึงเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการกองทัพที่ ๘ โดยเรียกนายพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก ในวัย ๖๘ ปี ซึ่งเกษียณราชการใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ให้กลับมารับราชการในกองทัพบกอีกครั้งเนื่องจากเขามีความเชี่ยวชาญในการรบและการวางแผนยุทธศาสตร์ภาคพื้นดินขณะเดียวกัน พลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* รองเสนาธิการทหารของนายพล คาร์ล ฟอน บือโลว์ (Karl von Bülow) ซึ่งประสบความสำเร็จในการยึดป้อมปราการต่างๆที่เมืองลีแอช (Liège) เบลเยียม ก็ถูกย้ายจากแนวรบด้านตะวันตกมาประจำแนวรบด้านตะวันออก โดยเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารของนายพลฮินเดนบูร์ก นายทหารทั้ง ๒ คนทำงานเข้ากันได้ดี ซึ่งทำให้การประสานงานด้านการรบราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 แม้กองทัพที่ ๘ ของเยอรมนีจะมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพที่ ๑ และกองทัพที่ ๒ ของรัสเซียแต่ก็มีข้อได้เปรียบหลายประการ ประการแรกทั้งกองทัพที่ ๑ และกองทัพที่๒แยกกันปฏิบัติการรบและอยู่ห่างจากกัน ในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุก็ไม่ได้ใช้รหัสซึ่งทำให้เยอรมนีรู้แผนการเคลื่อนไหวและที่ตั้งของกองทัพรัสเซีย แผนการบุกของนายพลซัมโซนอฟจึงถูกดักจับได้ทางโทรเลข ประการต่อมา นายพลเรนเนนคัมปส์และนายพลซัมโซนอฟต่างบาดหมางและเกลียดชังกันอย่างมากสืบเนื่องจากการวางระเบิดในยุทธการที่มุกเดน (Battle of Mukden) ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)* ค.ศ. ๑๙๐๕ กองกำลังของเรนเนนคัมปส์ไม่ได้รับการหนุนช่วยทันการจากกองทัพซัมโซนอฟซึ่งทำให้ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะได้ ดังนั้น ในการบุกปรัสเซียตะวันออก เมื่อกองทัพที่ ๒ ได้รุกออกไปเป็นแนวกว้าง ๙๖ กิโลเมตร และไกลออกไปทางตะวันตกมากกว่าที่ได้กำหนดไว้มาก เนื่องจากซัมโซนอฟเชื่อว่าจะสามารถตีโอบเข้ามาทางซ้ายด้านหลังของกองทัพเยอรมันได้ แต่การเคลื่อนกำลังจากแกนที่กว้างมากมีส่วนทำให้เกิดช่องว่างขึ้นซึ่งฝ่ายเยอรมันสังเกตเห็นได้ เมื่อเรนเนนคัมปส์เริ่มรุกไปข้างหน้า เขาเคลื่อนกำลังไปอย่างช้า ๆ และลดกำลังทหารตรงหน้ากองทัพที่ ๑ ให้เหลือเพียง ๒ กองพลน้อยทหารม้า แผนของเยอรมนีคือคอยจังหวะที่จะเกิดช่องว่างมากขึ้นในแนวหน้าของกองทัพที่ ๒ เพื่อบุกโจมตี ฝ่ายเสนาธิการเยอรมันยังคาดการณ์ว่าความบาดหมางระหว่างเรนเนนคัมปส์กับซัมโซนอฟอาจทำให้เรนเนนคัมปส์ไม่เร่งรีบไปช่วยซัมโซนอฟทันทีซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ถูกต้อง

 ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม กองทัพที่ ๘ ของเยอรมันพบกองกำลังของซัมโซนอฟกระจัดกระจายอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านทันเนนแบร์ก เยอรมนีจึงโจมตีปีกซ้ายและปีกขวาของกองทัพรัสเซียพร้อม ๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดความโกลาหลอลหม่าน กองกำลังส่วนกลางของรัสเซียก็บุกไปข้างหน้าและปะทะกับกองทัพน้อยที่ ๒๐ ของเยอรมัน ในเวลาเพียง ๒ วันปีกขวาของกองทัพรัสเซียก็แตก ในช่วงเวลาเดียวกันลูเดนดอร์ฟซึ่งกังวลที่รัสเซียบุกเข้ามาในส่วนกลางก็สั่งให้เสริมกำลังแก่กองทัพน้อยที่ ๒๐ แต่นายพลแฮร์มันน์ ฟอน ฟรองซัวส์ (Hermann von François) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและนำทัพตีโอบไปทางใต้ของปีกซ้ายรัสเซีย เพราะต้องการตัดกองกำลังปีกซ้ายออกจากขบวน การรุกของนายพลฟรองซัวส์ทำให้กองกำลังส่วนกลางของรัสเซียตกอยู่ในที่ล้อม ลูเดนดอร์ฟจึงปรับแผนให้หน่วยสำรองที่ ๑ และกองทัพน้อยที่ ๑๗ ซึ่งกำลังปะทะกับกองทัพรัสเซียทางขวาให้ต่อสู้ตามลำพัง เขานำทัพบุกไปทางใต้เพื่อสมทบกับกองทัพน้อยที่ ๒๐ ของนายพลฟรองซัวส์ขณะเดียวกัน กองกำลังส่วนกลางของเยอรมันก็เปลี่ยนเป็นรุก ในสภาวการณ์ดังกล่าว กองทัพที่ ๒ ของซัมโซนอฟจึงถูกบีบทุกทิศทาง และยิ่งไปกว่านั้นคือระบบการส่งกำลังบำรุงที่ส่งมาทดแทนก็ถูกทำลายลงเนื่องจากแนวหน้ากว้างเกินไป ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม กำลังส่วนกลางของรัสเซียก็ถูกปิดล้อมและมีเพียงกำลังส่วนหนึ่งทางปลายปีกเท่านั้นที่หนีรอดเข้าไปในโปแลนด์

 ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ซึ่งเยอรมนีเรียกว่า “วันเก็บเกี่ยว” (Harvest Day) เยอรมนีจับเชลยสงครามได้ ๙๒,๐๐๐ คน และยึดปืนใหญ่ได้ ๕๐๐ กระบอกประมาณว่าทหารรัสเซียเสียชีวิต ๗,๘๐๐ นาย ทหารเยอรมันเสียชีวิต ๕,๐๐๐ นาย บาดเจ็บและสูญหาย ประมาณ ๗,๐๐๐ นาย ส่วนนายพลซัมโซนอฟหนีรอดได้และไม่ยอมทำรายงานการสูญเสียในการรบให้ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทราบ กล่าวกันว่าเขาเดินเท้าพร้อมกับนายทหารเสนาธิการอีก ๕ คนผ่านป่ามุ่งหน้ากลับสู่รัสเซีย ช่วงเวลาหนึ่งเขาเดินล้าหลังคนอื่น ๆ และไม่มีใครพบเห็นเขาอีก เชื่อกันว่าเขากระทำอัตวินิบาตกรรม หลังมีชัยชนะ เยอรมนีโหมบุกไปทางตะวันออกและสามารถผลักดันกองทัพที่ ๑ ของนายพลเรนเนนคัมปส์ออกไปจากปรัสเซียตะวันออก มีการปะทะกันหลายครั้งและในยุทธการที่ทะเลสาบมาซูเรียน (Battle of Masurian Lakes)* ระหว่างวันที่ ๕–๑๕ กันยายน รัสเซียพ่ายแพ้อย่างยับเยินและถอยหนีข้ามพรมแดนกลับไป กองทัพรัสเซียไม่สามารถบุกเข้ามาในดินแดนเยอรมนีได้อีกเลยจนสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุด

 แม้รัสเซียจะพ่ายแพ้อย่างยับเยินในตอนเหนือแต่ในทางตอนใต้ กองทัพรัสเซียซึ่งมีพลเอกอะเล็กซานเดอร์ บรูซีลอฟ (Alexander Brusilov)* และนายพลนีโคไล อีวานอฟ (Nikolai Ivanov) เป็นผู้บัญชาการก็สามารถโจมตีออสเตรีย-ฮังการีได้ชัยชนะและยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นกาลิเซียไว้ได้ ซึ่งรวมทั้งเมืองเลมแบร์ก (Lemberg) และบ่อน้ำมันที่สำคัญ ๆ ได้หลายแห่ง ความอ่อนแอของทัพออสเตรียทำให้เยอรมนีวิตกกังวล เยอรมนีจึงย้ายกองพลต่าง ๆ จากแนวรบด้านตะวันตกมาสมทบกับกองทัพออสเตรียรวมเข้าเป็นกองทัพที่ ๙ และแต่งตั้งนายพลฮินเดนบูร์กเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออสเตรียส่งผลให้กองทัพเยอรมันสามารถยันกองทัพรัสเซียไว้ได้ เมื่อฤดูหนาวมาถึงคู่สงครามทั้ง ๒ ฝ่ายขุดสนามเพลาะเป็นระยะทางยาว ๑,๔๔๐ กิโลเมตรตั้งแต่ปรัสเซียตะวันออกผ่านแคว้นกาลิเซียจนจดเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) แต่การรบในสนามเพลาะก็ยากที่จะเอาชนะกันได้อย่างเด็ดขาด

 นายพลฮินเดนบูร์กให้เรียกชื่อการรบที่เกิดขึ้นบริเวณหมู่บ้านทันเนนแบร์กว่ายุทธการที่ทันเนนแบร์กเนื่องจากสมรภูมิรบมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เพราะในอดีตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๔๑๐ กองกำลังร่วมของราชอาณาจักรโปแลนด์และแกรนด์ดัชชีแห่งลิทัวเนียมีชัยชนะต่อกองทัพอัศวินทิวทอนิก (Teutonic Knights) ในยุทธการที่กรุนวัลด์ (Battle of Grunwald) ซึ่งเรียกชื่อในภาษาเยอรมันว่ายุทธการที่ทันเนนแบร์ก การตั้งชื่อดังกล่าวไม่เพียงเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงเท่านั้นแต่ยังเป็นการแก้แค้นที่เหมาะสมอีกด้วย ทั้งฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟต่างก็ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งทันเนนแบร์ก

 ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ฮินเดนบูร์กได้ใช้ยุทธการที่ทันเนนแบร์กเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาหาเสียงเพื่อลงสมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และ ค.ศ. ๑๙๓๒ และได้รับเลือกทั้ง ๒ ครั้ง นอกจากนี้ เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๓๓ โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbles)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Reich Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) ได้กำหนดให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับยุทธการที่ทันเนนแบร์กเพื่อศึกษาด้วย ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเยอรมนีกำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำสงคราม เกิบเบิลส์ได้ปลุกระดมพลเมืองเยอรมันให้ยืนหยัดต่อสู้ทำสงครามต่อไป และใช้ยุทธการที่ทันเนนแบร์กกระตุ้นและปลุกใจประชาชนให้เชื่อมั่นว่าแม้ฝ่ายศัตรูจะบุกเข้ามาในประเทศแต่ในท้ายที่สุดเยอรมนีก็จะมีชัยชนะและขับไล่ข้าศึกออกไปได้เฉกเช่นกับยุทธการที่ทันเนนแบร์ก.



คำตั้ง
Tannenberg, Battle of
คำเทียบ
ยุทธการที่ทันเนนแบร์ก
คำสำคัญ
- กาลิเซีย
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- นาซี
- แผนชลีฟเฟิน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- ฟัลเคนไฮน์, พลเอก เอริช ฟอน
- ยุทธการที่กรุนวัลด์
- ยุทธการที่กุมบีเนิน
- ยุทธการที่ทะเลสาบมาซูเรียน
- ยุทธการที่ทันเนนแบร์ก
- ยุทธการที่มุกเดน
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์น
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑
- ลูเดนดอร์ฟ, พลเอก เอริช
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1914
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-