ชานดอร์ เปเตอฟี เป็นนักปฏิวัติและกวีแห่งชาติฮังการี กวีนิพนธ์ของเขาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองอย่างรุนแรงซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเพื่อให้ฮังการีเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* เปเตอฟีสนับสนนการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและการปฏิรูปประเทศของลายอช คอชุท (Lajos Kossuth)* นักการเมืองเสรีนิยมและมีบทบาทสำคัญในการจุดชนวนการปฏิวัติในกรุงเปสต์ (Pest) เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติฮังการีใน ค.ศ. ๑๘๔๘ บทกวี Sons of the Nation ที่มีเนื้อหาเน้นความเป็นเอกภาพของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเอกราช ซึ่งเขียนขึ้นในวันสุกดิบก่อนการปฏิวัติมีส่วนทำให้การปฏิวัติฮังการีในช่วงแรกเป็นไปอย่างราบรื่นโดยปราศจากการนองเลือด เพราะออสเตรียซึ่งกำลังเผชิญกับการปฏิวัติในกรุงเวียนนายอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองของฮังการีโดยยอมให้ฮังการีมีอำนาจปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์แต่ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรียต่อไป
เปเตอฟี เกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางที่ กิสเกอเริส (Kiskőrös) หมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณที่ราบตอนกลางของฮังการีเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๒๓ บิดาซึ่งมีเชื้อสายสโลวักเป็นคนขายเนื้อสัตว์ และต่อมาเขาเปลี่ยนอาชีพเป็นเจ้าของโรงเตี๊ยม มารดามาจากครอบครัวขาวนาที่อพยพมาจากแคว้นสโลวัก หลังเขาเกิดได้ ๒ ปี ครอบครัวก็อพยพไปอยู่ที่เมืองคีชคุนเฟเลชาซอ (Kiskunfélegyhàza) โดยเช่าร้านขายเนื้อและดัดแปลงเป็นโรงเตี๊ยม บิดาพยายามส่งเสียบุตรชายคนเดียวให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ตั้งแต่อายุได้ ๕ ขวบ เปเตอฟีจึงถูกส่งไปเรียนตามโรงเรียนวัดต่าง ๆ กว่า ๗ แห่ง และเขาต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในช่วงที่เรียนที่เมืองเปสต์ เปเตอฟีในวัย ๑๒ ปีเริ่มมีปัญหาด้านการเรียนเพราะเขาชอบชีวิตที่มีสีสันของเมืองและไม่ใส่ใจการเรียนบิดาจึงย้ายเขามาเรียนที่เมืองอัสโซด (Aszόd) ซึ่งเป็นเมืองเล็กที่สงบ เปเตอฟี ชอบโรงเรียนใหม่ที่นี่และบันทึกในเวลาต่อมาว่าเขารักเมืองอัสโซดทันทีที่ได้เห็นและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มเขียนกวีนิพนธ์ ทั้งทำให้เขาต้องการเป็นศิลปินหรือนักแสดงเขาใส่ใจในการเรียนอย่างมากและอ่านหนังสือต่าง ๆ จนได้ชื่อว่าเป็นหนอนหนังสือ ทั้งเรียนเก่งในภาษาละตินและเยอรมัน เปเตอฟีมีลายมือสวยซึ่งต่อมาทำให้เขามีรายได้เสริมจากการรับจ้างคัดลายมือด้วย เขามีรูปร่างเพรียวบางสมส่วนและชอบเล่นกีฬาใน ค.ศ. ๑๘๓๗ ขณะอายุได้ ๑๔ ปี เขาเริ่มสนใจด้านการแสดงละครและต้องการเข้าร่วมกลุ่มละครเร่ โรงเรียนจึงแจ้งเรื่องให้ครอบครัวทราบซึ่งบิดาต้องรีบเดินทางมาห้ามปรามและอบรมจนเขาล้มเลิกความคิด
ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในแถบลุ่มแม่นํ้าดานูบซึ่งส่งผลให้ธุรกิจของครอบครัวพังพินาศ บิดาต้องกู้หนี้ยืมสินมาตั้งตัวใหม่ แต่ก็ประสบความล้มเหลวและใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ทรัพย์สินครอบครัวทั้งหมดก็ถูกยึดเปเตอฟีต้องลาออกจากโรงเรียนและหางานทำโดยทำงานจิปาถะตามโรงละครต่าง ๆ เกือบ ๒ ปี ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักและใกล้ชิดกับนักแสดง และในเวลาต่อมาเขานำเรื่องราวต่าง ๆ ในโรงละครโดยเฉพาะชีวิตนักแสดงมาเขียนเป็นกวีนิพนธ์ อย่างไรก็ตาม หน้าที่การงานที่ตํ่าต้อยและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรทำให้เปเตอฟีตัดสินใจสมัครเป็นทหาร แต่หลังประจำการได้เพียงช่วงสั้น ๆ เขาก็ถูกปลดในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๐ เนื่องจากป่วยด้วยไข้รากสาด นอกจากนี้ เขายังติดเชื้อวัณโรคซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดและกลายเป็นโรคประจำตัวตราบจนสั้นชีวิต
ใน ค.ศ. ๑๘๔๑ เปเตอฟีได้พบกับเพื่อนนักเรียนเก่าที่เมืองปาปอ (Pápa) และเข้าใจกันว่าเขามีส่วนทำให้เปเตอฟีกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง เขารับจ้างทำงานทั่วไปเพื่อหาเงินเป็นค่าเรียนและเริ่มเขียนกวีนิพนธ์ส่งไปพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นใน ค.ศ. ๑๘๔๒ บทกวีชื่อ The Wine Drinker ซึ่งใช้นามปากกาว่า “เปเตอฟี” แทนคำว่า “เปโตรวิช” (Petrovich) ตามการออกเสียงในภาษาสลาฟได้รับการตีพิมพ์ใน Athenaeum นิตยสารวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ บรรณาธิการเข้าใจว่าเป็นผลงานของนักเขียนอาวุโสที่มีฝีมือซึ่งต้องการปกปิดชื่อของตนเอง ชื่อเปเตอฟีจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในบรรณภพ ในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๒ เปเตอฟีลาออกจากโรงเรียนอีกครั้งเพราะประสบปัญหาเรื่องการเงิน เขาไปทำงานกับโรงละครและติดตามคณะละครเดินทางไปแสดงตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เขามีโอกาสได้แสดงด้วยแต่เป็นบทเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงเท่าใดนัก ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๔๓ เปเตอฟีเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ซึ่งทำให้เขาสามารถอ่านหนังสือและวรรณกรรมต่างประเทศได้ ในเวลาต่อมาเขาใช้ทักษะด้านภาษาแปลงานวรรณกรรมของเชกสเปียร์งานเขียนของ ทอมัส มอร์ (Thomas More) ไฮน์ริช ไฮเนอ (Heinrich Heine) และคนอื่นๆ เผยแพร่ซึ่งทำให้เขามีรายได้เสริม
นอกจากงานการแสดงและวรรณกรรมแล้ว เปเตอฟีชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เขาพยายามเรียนรู้ปัญหาทางการเมืองและสังคมที่ฮังการีเผชิญอยู่และนำไปเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง เขาเห็นว่าชาติและการปฏิวัติเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะประชาชนต้องต่อสู้เพื่อทำลายระบอบศักดินาที่ล้าหลังและเพื่อเป็นเอกราชจากการปกครองของออสเตรีย เปเตอฟีเริ่มเขียนกวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาการเมืองโจมตีขุนนาง สถาบันกษัตริย์ และระบอบอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันเขาหันมาสนใจแนวความคิดสังคมนิยมแบบเพ้อฝัน (utopian socialism) โดยศึกษางานเขียนของหลุยส์ บลอง (Louis Blanc) อองรี เดอ แซง-ซีมง (Henri de Saint-Simon) ชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) ปีแยร์ โชแซฟ ปรูดง (Pierre Joseph Proudhon)* และคนอื่นๆ เพื่อนำแนวความคิดของนักสังคมนิยมเหล่านี้มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาทางสังคม
ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ เปเตอฟีพักอาศัยที่เมืองเปสต์เป็นการถาวร และทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารวรรณกรรม Pesti Divatlap ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๔๖ เขามีหนังสือรวมกวีนิพนธ์ออกเผยแพร่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนเขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในแวดวงหนังสือ และการประพันธ์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๖ เปเตอฟี ขณะอายุ ๒๓ ปีพบรักกับยูเลีย เซนเดรย์ (Júlia Szendrey) วัย ๑๘ ปี บุตรสาวของผู้จัดการทรัพย์สินตระกูลขุนนาง แห่งคารอลยี (Károlyi) เธอเป็นสาวงามที่เชื่อมั่นในตนเองและเป็นคนหัวใหม่ เธอสูบบุหรี่ แต่งตัวตามสบายและชอบเขียนบันทึก ครอบครัวยูเลียพยายามขัดขวางความรักของคนทั้งสองแต่ล้มเหลว ยูเลียได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงชาวฮังการีคนแรก ๆ ที่ต่อต้านขนบประเพณีและครอบครัวด้วยการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง ทั้งสองแต่งงานกันในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๗ บิดาของยูเลียปฏิเสธที่จะมาร่วมในงานสมรส หลังแต่งงานทั้งคู่ไปฉลองการดื่มนํ้าผึ้งพระจันทร์ที่ปราสาทของเคานต์ชานดอร์ เทเลกี (Sándor Teleki) ซึ่งเป็นเพื่อนที่เป็นชนชั้นขุนนางเพียงคนเดียวของเปเตอฟี
ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เปเตอฟีและเพื่อน ๆ ที่สนใจในแนวความคิดสังคมนิยมเพ้อฝันได้จัดตั้งชมรมการเมืองที่มีชื่อว่า “สังคม ๑๐ สหาย” (The Society of the Ten) เนื่องจากสมาชิกร่วมก่อตั้งมีทั้งหมด ๑๐ คน และทุกคนต่างสนใจงานของนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสเปเตอพี ซึ่งเป็นผู้นำของชมรมใช้ห้องพักของเขาเป็นที่พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมเขาสั่งหนังสือการเมืองจากฝรั่งเศสมาศึกษาโดยเฉพาะ ผลงานของชอร์ช ชาก ดองตง (Georges Jacques Danton)* มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ (Maximillien Robespierre)* และมาดามโรลอง (Madam Roland) เป็นต้น เขายังเขียนกวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาการเมืองซึ่งเน้นความคิดหลักว่าด้วย “ประชาชน ชาติ เสรีภาพ” (people, nation, freedom) เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๔๗ กวีนิพนธ์ชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งคือ The Poets of the Nineteenth Century มีเนื้อหาว่าด้วยความเสมอภาคและการต่อต้านระบอบศักดินาเพื่อการปฏิรูปที่เป็นประชาธิปไตย
ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ เมื่อชาวปารีสลุกฮือก่อการปฏิวัติโค่นอำนาจพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ข่าวความสำเร็จของ การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ได้นำไปสู่การเกิดการปฏิวัติในดินแดนต่าง ๆ ทั่วยุโรปจนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ในฮังการี ปัญญาชนได้เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศและต่อต้านอำนาจการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งออสเตรีย เปเตอฟี มีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเขียนข้อเรียกร้องรวม ๑๒ ข้อเรียกร้องเสรีภาพและการปฏิรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะการคํ้าประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เปเตอพีเขียนกวี นิพนธ์ชิ้นสำคัญชื่อ Rise Hungarian ซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงชาติและนำมาอ่านพร้อมกับข้อเรียกร้อง ๑๒ ข้อ ตามที่สาธารณะทั่วกรุงเปสต์และเมืองบูดา จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และต่างรวมตัวกันเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐสภาฮังการีและผู้แทนของจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* แห่งออสเตรียรัฐสภาฮังการีและจักรวรรดิออสเตรียยอมรับแผนที่จะปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของฮังการี และรัฐบาลออสเตรียแต่งตั้งเคานต์ลายอช บอทยานี (Lajos Batthyány) เป็นอัครมหาเสนาบดีดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยยอมให้ฮังการีมีอำนาจการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรียและดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ฮังการีเริ่มปฏิรูปการเมือง เปเตอพีสมัครเป็นผู้แทนรัฐสภาแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อออสเตรียสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในจักรวรรดิไว้ใด้ ออสเตรียได้เช้าแทรกแซงการเมืองในฮังการีโดยแต่งตั้งบารอนยอซีป เยลาเชต (Josip Jelačić) เป็นข้าหลวงประจำโครเอเชียซึ่งในเวลาขณะนั้นชาวโครอัตในโครเอเชียพยายามเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากฮังการี บารอนเยลาเชตดำเนินนโยบายต่อต้านฮังการี ซึ่งนำไปสู่สงครามระหว่างโครเอเชียกับฮังการีในกลาง ค.ศ. ๑๘๔๘ ในต้นเดือนตุลาคม ออสเตรียก็ประกาศยุบรัฐสภาฮังการีและประกาศใช้กฎอัยการศึกกับฮังการีทั้งส่งกองกำลังมาสนับสนุนกองทัพโครเอเชีย ในยุทธการที่ชเวเชต (Battle of Schwechet) เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม กองทัพฮังการีพ่ายแพ้อย่างยับเยินและในเวลาต่อมากองทัพออสเตรียก็รุกคืบหน้าเข้ายึดครองกรุงบูดาและเมืองเปสต์ได้ แต่ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๘๔๙ กองทัพฮังการีก็สามารถขับไล่กองกำลังออสเตรียออกจากดินแดนฮังการีได้สำเร็จ ฮังการีได้ประกาศเป็นเอกราชและคาดหวังว่าประธานาธิบดีหลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte)* แห่งฝรั่งเศสซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* จะช่วยเหลือฮังการีต่อด้านออสเตรีย แต่ประสบความล้มเหลวเพราะฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับปัญหาภายในประเทศ ส่วนประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ก็สนับสนุนราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ออสเตรียจึงขอความช่วยเหลือซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I)* แห่งรัสเซียให้ช่วยปราบกบฏฮังการี
ในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๙ กองทัพรัสเซีย ได้เคลื่อนพลกว่า ๒๐,๐๐๐ คนจากโปแลนด์และราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities) มาสมทบกับกองทัพออสเตรียเพื่อปราบปรามฮังการี ในช่วงสงครามดังกล่าวแม้เปเตอฟีเพิ่งได้บุตรชายคนแรกที่เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมรบและสังกัดกองทัพของนายพลใจเซฟ เบม (Josef Bem) เบมชอบ เปเตอฟีและรักเขาเหมือนบุตรชายทั้งพยายามไม่ให้เขาเข้ารบในแนวหน้า เขาแต่งตั้งเปเตอฟีเป็นทหารคนสนิทและติดยศพันตรี เปเตอฟีมักหาโอกาสเข้ารบและในยุทธการที่เซเกสวาร์ (Battle of Segesvár) เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ มีผู้เห็นเปเตอฟีซึ่งปฏิเสธคำสั่งของนายพลเบมไม่ให้ไปรบเข้าต่อสู้กับทหารรัสเซียซึ่งเป็นการรบครั้งสุดท้ายของเขา หลังยุทธการครั้งนี้ไม่มีใครพบเห็นเขาอีก เป็นที่เข้าใจกันว่าเปเตอฟีเสียชีวิตในสมรภูมิรวมอายุได้ ๒๖ ปี อย่างไรก็ตาม การที่ไม่พบศพของเขาก็ทำให้ในเวลาต่อมามีข่าวลือว่าเขายังคงมีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตรอนแรมไปตามดินแดนต่าง ๆ บ้างว่าเขาถูกจับเป็นเชลยสงครามและถูกส่งไปไซบีเรีย ในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ นักจดหมายเหตุชาวโซเวียตได้เปิดเผยข้อมูลที่ค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติรัสเซียว่า เปเตอฟีเป็นนักโทษคนหนึ่งในจำนวนนักโทษฮังการี ๑,๘๐๐ คน ที่ถูกกวาดต้อนส่งไปไซบีเรียและเชื่อกันว่าเขาเสียชีวิตด้วยวัณโรคใน ค.ศ. ๑๘๕๖
หลังความพ่ายแพ้ของฮังการี ฮังการีตกอยู่ใต้การปกครองที่กดขี่และเข้มงวดของจักรวรรดิออสเตรียอีกครั้งเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ ในช่วงเวลาดังกล่าว กวีนิพนธ์ของเปเตอฟีเป็นที่นิยมกันมากและเขากลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ ต่อมาเมื่อฮังการีเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบ คอมมิวนิสต์ ปัญญาชนที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีและสหภาพโซเวียตได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมและกลุ่มวรรณกรรมในชื่อสโมสรเปเตอฟี (Petőfi Club) สหายของเปเตอฟี (Petőfis friends) และอื่น ๆ โดยใช้การพบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนทางความคิดด้านหนังสือและการประพันธ์เป็นหน้าฉากเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง สโมสรเปเตอฟีมีบทบาทไม่น้อยในการลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ และในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)*
ในกรุงบูดาเปสต์ปัจจุบัน มีสถานที่หลายแห่งที่ตั้งชื่อเปเตอฟีเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เช่น ถนน ๑๑ สาย จัตุรัส ๔ แห่ง สะพานอีกหลายแห่ง รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์รูปเปเตอฟีขนาดใหญ่กว่าตัวจริงติดตั้งใกล้สะพานแอร์ซเซเบต (Erzsébet) ด้านฝั่งบูดาทั้งเกือบทุกเมืองในฮังการีมีรูปปั้นเปเตอฟีติดตั้งตามสวนสาธารณะและบริเวณที่สำคัญ ๆ ของเมือง นอกจากนี้ หนังสือชุดรวมกวีนิพนธ์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๕๖ ของเปเตอฟี ๖ เล่ม ก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ และยังคงเป็นที่ยกย่องและนิยมอ่านกันแพร่หลายในแวดวงหนังสือและการประพันธ์.