Lesseps, Ferdinand-Marie de, Viscount (1805-1894)

ไวส์เคานต์แฟร์ดีนอง-มารี เดอ เลเซป (๒๓๔๘-๒๔๓๗)

     ​​​​ไวส์เคานต์แฟร์ดีนอง-มารี เดอ เลเซป เป็นนักการทูตชาวฝรั่งเศสและผู้ผลักดันการขุดคลองสุเอซ (Suez) เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือที่ลัดมาสู่อินเดียได้เร็วขึ้น ความสำเร็จของการขุดคลองสุเอซทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนให้เขาเป็นหัวหน้าโครงการขุดคลองปานามา (Panama) เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกใน ค.ศ. ๑๘๗๘ แต่ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและอุปสรรคนานัปการทำให้ประสบความล้มเหลว

เลเซปถูกฟ้องล้มละลาย ส่วนบุตรชายซึ่งร่วมรับผิดชอบโครงการด้วยถูกจำคุก
     เลเซปเกิดที่เมืองแวร์ซาย (Versailles) ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๐๕ ในครอบครัวนักการทูตที่รับใช้ประเทศชาติมาเป็นเวลานาน เขาศึกษาวิชากฎหมายและเดินทางติดตามบิดาผู้เป็นทูตประจำประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาสนใจเรื่องการต่างประเทศจนต่อมาได้เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เลเซปได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย อุปทูตประจำกรุงลิสบอน (Lisbon) โปรตุเกส และต่อมาโอนไปประจำเมืองตูนิส (Tunis) ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ ขณะที่ประจำอยู่ที่เมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) ประเทศอียิปต์ ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ เขามีโอกาสศึกษาโครงการขุดคลองที่ หัวหน้ากลุ่มวิศวกรของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* เคยเสนอรัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับการขุดคอคอดสุเอซเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงซึ่งจะช่วยทำให้การคมนาคมขนส่งจากตะวันตกมาสู่ตะวันออกรวดเร็วและสะดวกขึ้น แต่ โครงการดังกล่าวได้หยุดชะงักลงเมื่อมีการสำรวจพบว่าระดับน้ำในทะเลแดงสูงกว่าระดับน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ๙ เมตร เลเซปซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับมุฮัมมัด อาลี (Muhammad Ali)* ข้าหลวงปกครองอียิปต์และบุตรชายจึงคาดหวังว่าเขาจะมีโอกาสรื้อฟื้นโครงการขุดคลองและหาลู่ทางดำเนินการอีกครั้งในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๓๗ เลเซปได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงไคโร อีก ๒ ปีต่อมาก็ได้เป็นกงสุลใหญ่ประจำเมืองรอตเตอร์ดัม (Rotter-dam) มะละกา (Malaga) และบาร์เซโลนา (Barcelona) ตามลำดับ เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Republic of France) ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ เลเซปได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงมาดริด (Madrid) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙ และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ไปประจำกรุงโรม ในช่วงนั้น จูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)* นักชาตินิยมชาวอิตาลีซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรวมชาติอิตาลีมีปัญหาขัดแย้งกับสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX)* เกี่ยวกับแนวการปกครองอิตาลีซึ่งทำให้มัซซีนีประกาศจัดตั้งอิตาลีเป็นระบอบสาธารณรัฐสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ จึงเสด็จลี้ภัยจากกรุงโรม เลเซปพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสันตะปาปากับผู้นำสาธารณรัฐแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ในปลายเดือนพฤษภาคม เลเซปก็ถูกเรียกตัวกลับประเทศและถูกสอบสวนเรื่องการดำเนินนโยบายการทูตที่ผิดพลาดซึ่งมีผลให้เขาต้องลาออก
     หลังจากพ้นตำแหน่งการทูตแล้ว เลเซปหันมาทำธุรกิจการค้าระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ใน ค.ศ. ๑๘๕๔ ซาอิด ปาชา (Said Pasha) บุตรชายของอาลีซึ่งสนิทสนมกับเลเซปได้รับแต่งตั้งเป็นอุปราชคนใหม่ของอียิปต์ เขาจึงเดินทางไปอียิปต์ตามคำเชิญชองซาอิดและได้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เขาโน้มน้าวรัฐบาลอียิปต์ให้ร่วมลงทุนดำเนินการขุดคลองสุเอซโดยชี้ให้เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับและความเป็นไปได้ของ

โครงการที่จะประสบความสำเร็จเพราะผลการสำรวจใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ระบุว่าระดับน้ำทะเลของทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีระดับเดียวกัน ซาอิดเห็นชอบกับโครงการและลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๔ ให้อำนาจเลเซปดำเนินการขุดคลองสุเอซทั้งยังร่วมลงทุนกับบริษัทด้วย เลเซปจึงเริ่มระดมทุนด้วยการชักชวนชาติต่าง ๆ ให้มาลงทุนและก่อตั้งบริษัทขุดคลองสุเอซขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๘ การขุดคลองเริ่มใน ค.ศ. ๑๘๕๙ โดยเลเซปได้รับเกียรติให้ใช้พลั่วขุดเป็นปฐมฤกษ์ที่เมืองพอร์ตซาอิด (Port Said) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๙ คลองสุเอซซึ่งใช้เวลาขุดรวม ๑๐ ปี มีความยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองพอร์ตซาอิดถึงเมืองพอร์ตเทาฟิก (Port Taufig) การขุดคลองสุเอซหยุดชะงักไปช่วงเวลาหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๘๖๓ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากผู้ปกครองอียิปต์ที่สืบอำนาจต่อจากซาอิด อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* ทรงโปรดให้ดำเนินการต่อจนสำเร็จลงในที่สุด คลองสุเอซเปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๙ โดยจักรพรรดินีเออเชนี (Eugénie) แห่งฝรั่งเศสเป็นองค์ประธานเปิด การขุดคลองสุเอซนี้ในระยะแรกรัฐบาลอังกฤษต่อต้านเพราะหวาดระแวงว่าฝรั่งเศสจะเป็นผู้ครองกรรมสิทธิ์การใช้คลองเพียงฝ่ายเดียว แต่เลเซปได้ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจและยอมรับสถานภาพความเป็นคลองนานาชาติของคลองสุเอซที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ต่อมา เบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งเห็นความสำคัญของคลองสุเอซที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอังกฤษกับอินเดียจึงผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษซื้อหุ้นบริษัทจากผู้ปกครองอียิปต์ ๑๗๗,๐๐๐ หุ้นหรือประมาณร้อยละ ๔๔ ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ซึ่งทำให้อังกฤษกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีส่วนทำให้อังกฤษเข้า ไปมีบทบาทในอียิปต์มากขึ้นในเวลาต่อมา
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๙ เลเซปซึ่งมีชื่อเสียงในความสำเร็จของการขุดคลองสุเอซหันมาสนใจการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เขาเป็นผู้แทนของฝ่ายนิยมโบนาปาร์ตแข่งขันกับเลอง กองเบตา (Léon Gambetta)* ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตเมืองมาร์เซย์ (Marseilles) แต่พ่ายแพ้ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เขาตัดสินใจหันหลังให้แก่การเมืองอย่างสิ้นเชิงและมุ่งทำงานด้านวิชาการและสังคม เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาฝรั่งเศสและสมาคมวิทยาศาสตร์รวมทั้งสมาคมวิชาการที่สำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ เลเซปยังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ลีเจียนออฟออเนอร์ (Legion of Honour) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาราแห่งอินเดีย (Star of India) จากรัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษรวมทั้งเกียรติยศด้านอื่น ๆ อีก ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่เลเซปได้รับทำให้เขาเป็นที่ยกย่องชื่นชมในสังคม และแม้จะมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นในปลายชีวิตแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงของเขาด่างพร้อยแต่อย่างใด
     ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มโครงการการขุดคลองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อย่นระยะเส้นทางเดินเรือไม่ต้องแล่นอ้อมทวีปอเมริกาใต้ เลเซปในวัย ๗๔ ปีได้รับเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว แต่การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีอุปสรรคด้านการเงินและการดำเนินงานมาก นอกจากนี้ นักการเมืองและบุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับสินบนจากบริษัทขุดคลองซึ่งนำไปสู่กรณีอื้อฉาวเรื่องปานามา (Panama Scandal)* ที่มีส่วนบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ ๓ (Third Republic) ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงฟ้องร้องบริษัท และต่อมาในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๓ ศาลตัดสินว่าเลเซปและชาร์ล (Charles) บุตรชายที่ร่วมรับผิดชอบโครงการกระทำผิดคนทั้งสองถูกตัดสินจำคุก ๕ ปีแต่มีเพียงบุตรชายเท่านั้นที่ถูกจำคุก อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ เลเซปปลีกตัว จากสังคมและใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านพักที่ชนบท เขาเริ่มมีอาการหลงลืมและต้องถูกกักบริเวณ
     ไวส์เคานต์แฟร์ดีนอง-มารี เดอ เลเซปถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักในชนบทลาเชอแน (La Chenai) ใกล้เมืองกียี (Guilly) เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ รวมอายุ ๘๙ ปี.



คำตั้ง
Lesseps, Ferdinand-Marie de, Viscount
คำเทียบ
ไวส์เคานต์แฟร์ดีนอง-มารี เดอ เลเซป
คำสำคัญ
- รอตเตอร์ดัม, เมือง
- ไพอัสที่ ๙, สันตะปาปา
- มุฮัมมัด อาลี
- มัซซีนี, จูเซปเป
- บาร์เซโลนา
- พอร์ตเทาฟิก, เมือง
- พอร์ตซาอิด, เมือง
- อะเล็กซานเดรีย, เมือง
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ซาอิด ปาชา
- แวร์ซาย, เมือง
- สุเอซ, คลอง
- เลเซป, แฟร์ดีนอง-มารี เดอ,ไวส์เคานต์
- ปานามา, คลอง
- ตูนิส, เมือง
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- เออเชนี, จักรพรรดินี
- สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒
- กรณีอื้อฉาวเรื่องคลองปานามา
- กองเบตา, เลอง
- กียี, เมือง
- มาร์เซย์, เมือง
- สมัยสาธารณรัฐที่ ๓
- ดิสเรลี, เบนจามิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1805-1894
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๔๘-๒๔๓๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf