Tirpitz, Alfred Peter Friedrich von (1849–1930)

จอมพลเรือ อัลเฟรด ปีเตอร์ ฟรีดริช ฟอน เทียร์พิทซ์ (พ.ศ. ๒๓๙๑–๒๔๗๒)

 อัลเฟรด ปีเตอร์ ฟรีดริช ฟอน เทียร์พิทซ์ เป็นจอมพลเรือแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างกองทัพเรือ (Hochseeflotte) ในราชนาวีเยอรมันซึ่งสอดคล้องกับพระราชประสงค์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘)* ที่ทรงต้องการใช้กำลังทหารขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันในดินแดนโพ้นทะเล ความสำเร็จในการทำให้กองทัพเรือเข้มแข็งดังกล่าวทำให้เทียร์พิทซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลเรือใน ค.ศ. ๑๙๑๑

 เทียร์พิทซ์เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ที่เมืองคึสตริน (Küstrin) [ปัจจุบันคือเมืองคอสชิน (Kostrzyn) ในประเทศโปแลนด์] รัฐบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) เป็นบุตรของผู้พิพากษา รูดอล์ฟ เทียร์พิทซ์ (Rudolf Tirpitz) เขาเติบโตและได้รับการศึกษาขั้นต้นที่เมืองฟรังค์ฟูร์ทอันแดร์โอเดอร์ (Frankfurt an der Oder) จากนั้นใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายเรือแห่งเมืองคีล (Kiel) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจักรวรรดิเยอรมัน เทียร์พิทซ์สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือใน ค.ศ. ๑๘๖๙ และอีก ๒ ปีต่อมาก็ได้รับยศเรือตรี ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เทียร์พิทซ์ถูกส่งตัวไปดูงานเกี่ยวกับเรือติดอาวุธตอร์ปิโดที่เมืองฟีอูเม (Fiume) [ปัจจุบันคือเมืองรีเยกา (Rijeka) ในประเทศโครเอเชีย] ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* การไปดูงานที่เมืองฟีอูเมมีส่วนทำให้เขามีโอกาสเข้าไปช่วยพัฒนากองทัพเรือตอร์ปิโดของเยอรมนีในเวลาต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๐ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการเรือคอร์เวตตอร์ปิโด “บลือเชอร์” (Blücher) และในปีต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนาวาตรีเทียร์พิทซ์เป็นผู้บังคับการเรือบลือเชอร์อยู่เป็นเวลา ๔ ปี ในระหว่างนี้เขาได้สมรสกับมารีอา เอากุสเทอ ลิพเคอ (Maria Auguste Lipke) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๘๔ และปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองเรือตอร์ปิโด

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ เทียร์พิทซ์ได้เป็นนาวาเอกและดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือพิฆาตหุ้มเกราะ “พรอยเซิน” (Preussen) และ “เวือร์ทเทมแบร์ก” (Württemberg) ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ได้เป็นเสนาธิการกองเรือประจำทะเลบอลติก และใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือสามปีหลังจากนั้นเทียร์พิทซ์ก็ได้เลื่อนยศเป็นพลเรือตรีใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เขาได้เขียนบทความเสนอความเห็นที่สำคัญว่า กองทัพเรือเยอรมันควรสร้างเรือรบขนาดใหญ่เอาไว้สำหรับป้องกันน่านน้ำของตน แทนการสร้างกองเรือปืนหุ้มเกราะหรือกองเรือปืนพิฆาตที่มีขนาดเล็ก เขาเสนอว่าเยอรมนีควรมีกองเรือรบ ๒ กอง แต่ละกองมีเรือรบจำนวน ๘ ลำ ข้อเสนอของเทียร์พิทซ์ในการสร้างเรือรบนั้นสอดคล้องกับพระราชประสงค์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ที่ทรงต้องการสร้างกองทัพเรือเยอรมันให้ยิ่งใหญ่เพื่อขยายอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นข้อเสนอดังกล่าวทำให้เทียร์พิทซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองเรือพิฆาตประจำตะวันออกไกล ขณะที่ดำรงตำแหน่งนี้ในช่วง ค.ศ. ๑๘๙๖–๑๘๙๗ เขาคิดจะพัฒนาเมืองชิงเต่า (Qingdao) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลชานตง (Shandong) เพราะมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เนื่องจากตั้งอยู่ติดทะเลจีนตะวันออกให้กลายเป็นฐานทัพเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เยอรมนีจึงกดดันให้จีนยอมทำสัญญาเช่ามณฑลชานตงเป็นเวลา ๙๙ ปี

 เมื่อกลับมาจากตะวันออกไกล เทียร์พิทซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกรมทหารเรือแห่งจักรวรรดิ (Reichsmarinesamt) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๗ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. ๑๘๗๑ นั้น กรมทหารเรือแห่งจักรวรรดิจะมีบทบาทและหน้าที่เช่นเดียวกับกระทรวง การดำรงตำแหน่งนี้เปิดโอกาสให้เทียร์พิทซ์ทำงานใกล้ชิดกับไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ในการขยายกองทัพเรือเยอรมันให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น และส่งผลให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นพลเรือโทในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ ในฐานะปลัดกรมทหารเรือแห่งจักรวรรดิ เทียร์พิทซ์สนับสนุนให้สร้างกองเรือรบซึ่งประกอบด้วยเรือรบขนาดใหญ่ เพราะเห็นว่าเรือรบประเภทนี้จะทำให้เยอรมนีมีความเข้มแข็งทางทะเลและคานอำนาจกับอังกฤษ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ รัฐสภาอังกฤษได้ประกาศใช้กฎหมายป้องกันทางทะเล (Naval Defence Act) ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะเพิ่มจำนวนเรือรบให้มากเท่ากับจำนวนเรือรบของประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางทะเลรองจากอังกฤษ ๒ ประเทศรวมกันเป็นอย่างน้อย ซึ่งในขณะนั้นได้แก่ฝรั่งเศสและรัสเซีย

 เทียร์พิทซ์เห็นว่าการสร้างกองเรือรบขนาดใหญ่ไม่เพียงจะคานอำนาจทางทะเลกับอังกฤษเท่านั้นแต่ยังเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนั้นได้ด้วย เพราะจะช่วยสร้างงานให้คนว่างงานภายในประเทศ และหาตลาดแห่งใหม่ให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีหากวัตถุประสงค์ ๒ ข้อนี้บรรลุเป้าหมายก็จะทำให้สหภาพแรงงานและกลุ่มนายทุนพอใจทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อสหภาพแรงงานพอใจเนื่องจากจำนวนผู้ว่างงานลดลงก็จะทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party–SPD)* ซึ่งมีนโยบายต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางสังคม เสรีภาพทางเศรษฐกิจ และการเมืองในระบบรัฐสภามีฐานเสียงน้อยลงและหันมาสนับสนุนพระราโชบายของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ด้วย ส่วนพรรคที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมซึ่งมักจะเห็นว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและพรรคที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมเป็นศัตรูสำคัญก็จะพอใจกับแผนการสร้างกองทัพเรือ

 หลังจากที่สภาไรค์ชตาก (Reichstag) เห็นชอบกับแผนการสร้างกองทัพเรือก็ได้ผ่านร่างกฎหมายกองเรือรบฉบับที่ ๑ (First Naval Bill) เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๘ กำหนดให้กองทัพเรือเยอรมันสร้างเรือรบ ๑๖ ลำ เรือธง ๑ ลำ เรือลาดตระเวนชายฝั่งหุ้มเกราะ ๘ ลำ เรือปืนขนาดใหญ่ ๑๒ ลำ และเรือปืนขนาดเล็กอีกจำนวน ๓๐ ลำ โดยมีระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้นรวม ๖ ปี เรือทุกลำจะมีอายุประจำการ ๒๕ ปี เมื่อพ้น ๒๕ ปีแล้ว กองทัพเรือสามารถสร้างเรือชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ อย่างไรก็ตามจำนวนเรือตามที่กฎหมายกองเรือรบฉบับที่ ๑ อนุญาต ให้สร้างนั้นก็ยังไม่เพียงพอในการคานอำนาจกับกองทัพเรืออังกฤษ เพียงแต่สามารถคานอำนาจกับกองทัพเรือฝรั่งเศสและรัสเซียเท่านั้น ในเวลาต่อมา สภาไรค์ชตากจึงผ่านกฎหมายกองเรือรบฉบับที่ ๒ (Second Naval Bill) เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ให้สร้างเรือเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนมากประกอบด้วยเรือรบ ๓๒ ลำ เรือธง ๒ ลำ เรือปืนขนาดใหญ่ ๑๔ ลำ และเรือปืนขนาดเล็ก ๓๘ ลำ เทียร์พิทซ์คาดว่าเรือทั้งหมดน่าจะสร้างเสร็จได้ภายใน ค.ศ. ๑๙๑๗

 การสร้างเรือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของกองทัพเรือเยอรมันทำให้อังกฤษเริ่มหวาดวิตกและตอบโต้ด้วยการสร้างเรือรบประเภทเดรดนอต (Dreadnought)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ซึ่งเป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและแล่นได้เร็วที่สุด เยอรมนีตอบโต้ด้วยการสร้างเรือรบขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก ๖ ลำใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ยังอนุมัติให้มีการแก้ไขกฎหมายกองเรือรบฉบับที่ ๒ ที่กำหนดให้กองทัพเรือเยอรมันสร้างเรือได้เป็นจำนวน ๓ ลำ ในเวลา ๑ ปีให้เป็น ๔ ลำ การแข่งขันขยายกำลังทางทะเลกับอังกฤษนี้ทำให้เยอรมนีมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนสภาไรค์ชตากเริ่มไม่เห็นด้วยกับแผนการสร้างเรือรบของเทียร์พิทซ์ ในที่สุดปัญหาเรื่องงบประมาณในการขยายกองทัพเรือได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของสภาไรค์ชตาก และเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาที่ส่งผลให้แบร์นฮาร์ด ฟอน บือโลว์ (Bernhard von Bülow)* อัครมหาเสนาบดีซึ่งสนับสนุนแผนการสร้างกองเรือของเทียร์พิทซ์มาโดยตลอดลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ อย่างไรก็ตาม แผนการขยายกองทัพเรือทำให้เทียร์พิทซ์ประสบความก้าวหน้าในทางราชการโดยได้เลื่อนยศเป็นพลเรือเอกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๓ และจอมพลเรือในวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๑ นอกจากนั้น ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ยังโปรดให้ยกฐานะเทียร์พิทซ์ขึ้นเป็นขุนนางเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ส่งผลให้เขาใช้คำว่า “ฟอน” (von) ซึ่งเป็นคำแสดงฐานะการเป็นขุนนางเยอรมันได้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 หลังฟอน บือโลว์พ้นจากตำแหน่งเทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)* ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแทนเขาไม่เห็นด้วยกับแผนการสร้างเรือรบของเทียร์พิทซ์และต้องการเห็นเยอรมนีและอังกฤษมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เบทมันน์-โฮลเวกจึงคิดจะเสนอต่อฝ่ายอังกฤษว่าเยอรมนีจะลดการสร้างเรือรบลง แต่เทียร์พิทซ์ ต่อต้านเรื่องดังกล่าวจนทำให้แผนการเจรจากับอังกฤษของเบทมันน์-โฮลเวกล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ สภาไรค์ชตากยังอนุมัติให้ลดเวลาประจำการของเรือทุกลำจาก ๒๕ ปีเป็น ๒๐ ปี หลังจากนั้น กองทัพเรือเยอรมันจะสร้างเรือทดแทนเรือที่ถูกปลดประจำการได้ทันที เทียร์พิทซ์คาดว่าภายใน ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพเรือเยอรมันจะมีเรือรบขนาดใหญ่ได้เป็นจำนวนมากที่สุดถึง ๔๑ ลำ อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาสภาไรค์ชตากก็ให้การสนับสนุนเทียร์พิทซ์น้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับหลัง ค.ศ. ๑๙๑๒ เป็นต้นมา สภาไรค์ชตากให้ความสนใจกับการเพิ่มความแข็งแกร่งของกองทัพบก จึงอนุมัติงบประมาณให้กองทัพบกซื้ออาวุธมากขึ้นรวมถึงเพิ่มจำนวนทหารประจำการในเวลาปรกติอีกด้วย เทียร์พิทซ์จึงไม่สามารถสร้างเรือรบได้ตามจำนวนที่คาดหวังไว้

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่๑เทียร์พิทซ์ต้องการให้กองเรือรบที่เขาสร้างขึ้นมีบทบาทสำคัญในการรบแต่แผนการนี้ก็ทำให้เขาขัดแย้งกับเบทมันน์-โฮลเวก อีกครั้ง เนื่องจากเบทมันน์-โฮลเวกเห็นว่าชัยชนะของเยอรมนีควรจะเป็นชัยชนะในการรบบนบกมากกว่าโดยเยอรมนีจะใช้กองทัพเรือเพื่อป้องกันตัวเท่านั้นเทียร์พิทซ์เองก็ต้องยอมรับความจริงว่ากองทัพเรือของเขามีจำนวนเรือไม่เพียงพอที่จะเป็นคู่แข่งทางทะเลกับอังกฤษได้ นอกจากนั้น เทียร์พิทซ์ยังสนับสนุนแนวความคิดของพลเอก เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ในนโยบายการทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด (Unrestricted Submarine Warfare)* แต่นโยบายนี้ก็ใช้ได้ผลแค่เพียงระยะสั้นเนื่องจากเยอรมนีมีเรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat)* น้อยเกินไป ความผิดหวังในการรบทางทะเลรวมทั้งความผิดหวังที่เห็นวินัยของทหารในกองทัพบกหย่อนยานลงตามระยะเวลาของสงครามที่ยืดเยื้อมากขึ้น รวมถึงระบบการบัญชาการรบที่ซับซ้อนของเยอรมนี ซึ่งทำให้อำนาจในการบัญชาการรบกระจายไปอยู่กับไกเซอร์ อัครมหาเสนาบดี คณะเสนาบดี และคณะเสนาธิการ เทียร์พิทซ์จึงไม่สามารถบัญชาการรบได้อย่างอิสระ ดังนั้น เมื่อเยอรมนีถูกกดดันจากฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้เรืออูยุติการจมเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้าซึ่งรัฐบาลเยอรมันยอมรับที่จะนำไปพิจารณา เทียร์พิทซ์ไม่พอใจอย่างมาก และต่อต้านด้วยการลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖

 แม้เทียร์พิทซ์จะลาออกจากตำแหน่งปลัดกรมทหารเรือแห่งจักรวรรดิแล้ว แต่การเป็นสมาชิกสภาขุนนางแห่งปรัสเซียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๘ ทำให้เขายังคงทำงานในสภาขุนนางต่อไปจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๘ ขณะเดียวกัน เขาหันมาสนใจทางด้านการเมืองมากขึ้นประกอบกับแนวคิดที่ต้องการจะเห็นเยอรมนีเป็นชาติมหาอำนาจของโลก ทำให้ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาร่วมก่อตั้งพรรคปิตุภูมิ (Fatherland Party) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายขวาที่ต้องการเห็นความยิ่งใหญ่ของเยอรมนี และไม่ต้องการให้เยอรมนีดำเนินการเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร

 สถานการณ์รบที่ยากลำบาก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศได้ส่งผลให้เยอรมนีเปิดการเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อยุติสงครามโดยยึดหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) เป็นแนวทางการเจรจา ต่อมาเมื่อไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ และเยอรมนียอมลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เยอรมนีประกาศเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐเรียกชื่อว่า สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* คณะกรรมการของพรรคปิตุภูมิก็ตัดสินใจยุบพรรคเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวากลุ่มอื่น ๆ เช่น พรรคอนุรักษนิยมเยอรมัน (German Conservative Party) พรรคอนุรักษนิยมก้าวหน้า (Progress Conservative Party) พรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมีชื่อว่า พรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน(German National People’s Party) ซึ่งเทียร์พิทซ์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคด้วย เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากในนามของพรรคใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งส่งผลให้เขาได้ทำหน้าที่สมาชิกสภาไรค์ชตากแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๘

 หลังจากหมดหน้าที่ในสภาไรค์ชตากใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เทียร์พิทซ์ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบที่เมืองเอเบิน-เฮาเซิน (Ebenhausen) ในรัฐบาวาเรีย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ขณะอายุ ๘๑ ปี.



คำตั้ง
Tirpitz, Alfred Peter Friedrich von
คำเทียบ
จอมพลเรือ อัลเฟรด ปีเตอร์ ฟรีดริช ฟอน เทียร์พิทซ์
คำสำคัญ
- เดรดนอต
- บือโลว์, แบร์นฮาร์ด ฟอน
- พรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคปิตุภูมิ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี
- พรรคอนุรักษนิยม
- เรืออู
- สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาไรค์ชตาก
- สหภาพแรงงาน
- สัญญาสงบศึก
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮินเดนบูร์ก, พลเอก เพาล์ ฟอน
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1849–1930
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๑–๒๔๗๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-