Leopold II (1835-1909)

พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ (๒๓๗๘-๒๔๕๒)

     ​​​พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรเบลเยียมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทรงดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม (Imperialism)* จนสามารถเข้ายึดพื้นที่ขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา และจัดตั้งเป็นรัฐอิสระคองโก (Congo Free State) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๕ โดยให้อยู่ใต้อำนาจปกครองโดยตรงของกษัตริย์เบลเยียม พระองค์ทรงกดขี่และทารุณ

ชาวพื้นเมืองคองโกเพื่อผลประโยชน์ในการสะสมพระราชทรัพย์จากวิสาหกิจต่าง ๆ ประชาชนต้องสูญเสียชีวิตจำนวนนับล้าน ๆ คน จนเป็นที่โจษจันของนานาประเทศและทำให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงได้รับสมญานาม "อสุรกาย" (monster)
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕)* พระประมุขพระองค์แรกของราชอาณาจักรเบลเยียมที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๑ และสมเด็จพระราชินี หลุยส์-มารี เทเรซา ชาร์ลอตต์ อิซาเบล (Louis-Marie Thérésa Charlotte Isabelle) แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๖)* พระประมุขของฝรั่งเศสประสูติเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๓๕ ณ กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) แม้จะมีพระเชษฐา แต่ก็ทรงสิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุเพียง ๑ พรรษา ดังนั้นเจ้าชายเลโอโปลด์จึงดำรงตำแหน่งรัชทายาทอันดับ ๑ ของราชบัลลังก์เบลเยียมตั้งแต่แรกประสูติ และมี พระนามเรียกขานว่า เจ้าชายเลโอโปลด์ หลุยส์ ฟิลิป มารี วิกเตอร์ (Leopold Louis Philippe Marie Victor) ใน ค.ศ.๑๘๔๖ ทรงได้รับการเฉลิมพระยศดุ๊กแห่งบราบันต์ (Duke of Brabant) ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของมกุฎราชกุมารของเบลเยียม
     ดุ๊กแห่งบราบันต์ทรงรับราชการทหารตั้งแต่พระเยาว์ และทรงมีโอกาสเดินทางไปยังดินแดนโพ้นทะเล ได้แก่ อียิปต์ในทวีปแอฟริกาและอินเดียกับจีนในทวีปเอเชีย การเห็นโลกอันกว้างขวางดังกล่าวจึงมีส่วนหล่อหลอมความคิดพระองค์ให้เห็นความสำคัญของการสร้างอาณานิคมและการขยายอำนาจและอิทธิพลของเบลเยียมไปยังดินแดนต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามกระแสของลัทธิจักรวรรดินิยมที่ประเทศมหาอำนาจยุโรปกำลังเริ่มดำเนินการและยึดเป็นนโยบายในขณะนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ขณะที่พระชนมายุ ๑๘ พรรษา ดุ๊กแห่งบราบันต์ทรงอภิเษกสมรสกับอาร์ชดัชเชสมารี เฮนเรียตต์ (Archduchess Marie Henriette ค.ศ. ๑๘๓๔-๑๙๐๒) พระธิดาในโจเซฟ อาร์ชดุ๊กแห่งออสเตรีย (Joseph, Archduke of Austria) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* และเป็นพระราชนัดดาในจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold II ค.ศ. ๑๗๖๕-๑๗๙๒) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* มีพระโอรส ๑ พระองค์และพระธิดา ๓ พระองค์ (องค์เล็กประสูติหลังจากการขึ้นครองราชสมบัติ) พระธิดาองค์ที่ ๒ คือเจ้าหญิงสเตฟานี โกลตีด หลุยส์ แอร์มีนี มารี ชาร์ลอตต์ (Stéphanie Clotide Louis Herminie Marie Charlotte ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๙๔๕) ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับอาร์ชดุ๊กรูดอล์ฟ (Archduke Rudolph ค.ศ.๑๘๕๘-๑๘๘๙) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* พระราชโอรสองค์เดียวของจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๗๖) นับว่าเป็นความสำเร็จของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Saxe-Coburg Gotha) ของเบลเยียมที่สามารถสานสัมพันธ์กับราชวงศ์ฮับสบูร์กที่เก่าแก่และมีพระเกียรติยศสูงสุดให้แนบแน่นต่อไปอีก อย่างไรก็ดี เรื่องคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นเมื่ออาร์ชดุ๊กรูดอล์ฟทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมบารอนเนสมาเรีย เวตซีรา (Baronness Maria Vetsera) ชู้รัก ณ หมู่บ้าน มาเยอร์ลิง (Mayerling) ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ซึ่งสร้างทั้งความเศร้าสลดและความอับอายให้แก่สมาชิกของราชวงศ์ทั้งสอง
     ดุ๊กแห่งบราบันต์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ หรือ ๑ สัปดาห์ หลังจากพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ พระราชบิดาเสด็จสวรรคต นับเป็น "กษัตริย์ของชาวเบลเยียม" (King of the Belgians) องค์ที่ ๒ ในระยะแรก พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงจำกัดบทบาทของพระองค์แต่ภายในประเทศ ซึ่งขณะนั้นการเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มคาทอลิกกับกลุ่มโปรเตสแตนต์ที่ทั้งคู่เป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ อีกทั้งยังมีการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งในแนวทางของการปกครองแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ประเทศคู่สงครามต่างเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนร่วมกับเบลเยียมสถานภาพความเป็นกลางของเบลเยียมจึงตกอยู่ในภาวะล่อแหลมจนอังกฤษต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือเบลเยียมโดยทำความเข้าใจกับคู่สงครามว่า "ความเป็นกลางอย่างถาวร" (permanent neutrality) ของเบลเยียมที่มหาอำนาจยุโรปเคยตกลงกันไว้ไม่อาจถูกละเมิดได้มิฉะนั้นอังกฤษจะเข้าสู่สงครามโดยทันที เบลเยียมจึงปลอดภัยจากการรุกรานของต่างชาติ ขณะเดียวกันสงครามดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจยุโรปที่กำลังขยายตัวมากขึ้นก็ให้บทเรียนแก่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ที่จะต้องดำเนินการป้องกันประเทศให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นับแต่ทศวรรษ ๑๘๗๐ เป็นต้นมา พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ก็ทรงมีบทบาทผลักดันให้เบลเยียมดำเนินนโยบายป้องกันประเทศให้เข้มแข็งขึ้น โดยมีการสร้างและขยายป้อมปราการที่เมืองลีแอช (Liège) นามูร์ (Namur) และ แอนต์เวิร์ป (Antwerp) อีกทั้งยังทรงเรียกร้องให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร แต่ได้รับการปฏิเสธโดยตลอด จนในที่สุดรัฐสภาก็ยินยอมออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตเพียงเล็กน้อย
     นอกจากนี้ ในทศวรรษ ๑๘๗๐ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ซึ่งทรงดำเนินนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามรอยของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ก็ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการขยายตัวของอุตสาหกรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แม้เบลเยียมจะมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นอีกมาก แต่เบลเยียมก็เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่และแหล่งวัตถุดิบอันจำกัด ดังนั้นพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ จึงคิดจะขยาย อุตสาหกรรมของประเทศเข้าไปยังทวีปแอฟริกาหรือกาฬทวีป (Dark Continent) อันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ พระองค์ทรงจัดการประชุมระหว่างประเทศมหาอำนาจขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์เพื่อแก้ปัญหาแอฟริกา ซึ่งในขณะนั้นเป็นทวีปที่มหาอำนาจต่างให้ความสนใจและคิดเข้าครอบครองตามนโยบายจักรวรรดินิยมและจัดตั้งอาณานิคมของตนเป้าหมายของที่ประชุมคือ "การเปิดพื้นที่ชั้นในของทวีปแอฟริกา" เพื่อประโยชน์ทางการค้า การอุตสาหกรรมและการสำรวจทางด้านวิทยาศาสตร์ ผลจากการประชุมคือการจัดตั้งสมาคมแอฟริกานานาชาติ (International African Association) ขึ้นในปีเดียวกันนั้น โดยสมาชิกของสมาคมต้องร่วมกันสนับสนุนทุนในการส่งเสริมการสำรวจและสร้างความเจริญให้แก่ทวีปแอฟริกา แม้ว่าในทางปฏิบัติ สมาคมแอฟริกานานาชาติจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และถูกใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิกในการแสวงหาผลประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานของการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมเข้าไปในทวีปแอฟริกา แต่ก็นับว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของเบลเยียมและพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ในฐานะผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมแอฟริกานานาชาติขึ้นให้เข้าไปมีอิทธิพลในทวีปแอฟริกาจนสามารถยึดครองพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลได้ในที่สุด
     ความสำเร็จในการยึดครองผืนแผ่นดินแอฟริกานั้น นอกจากสมาคมแอฟริกานานาชาติจะเป็นกำลังสำคัญแล้ว ยังเป็นผลจากการสำรวจของเฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ (Henry Mortan Stanley) ชาวเวลส์ (Wales) ที่ไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาและประกอบอาชีพ นักข่าวอีกด้วย ในปลายทศวรรษ ๑๘๖๐ สแตนลีย์เคยเดินทางไปทำข่าวเกี่ยวกับเดวิด ลิฟวิงสตัน (David Livingston)* มิชชันนารีและนักสำรวจชาวสกอตที่ขาดการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลากว่า ๒ ปี ต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๗๗ เขาก็ได้รับมอบหมายจากหนังสือพิมพ์ New York Herald และ Daily Telegraph ของลอนดอนให้ทำการสำรวจภูมิภาคแอฟริกาตอนกลางอีก (ต่อจากลิฟวิงสตัน) ที่ยังเป็นดินแดนที่ปลอดจากการยึดครองของประเทศจักรวรรดินิยมในขณะนั้น ข่าวการสำรวจของสแตนลีย์ที่ ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระยะ ๆ ได้สร้างความสนพระทัยให้แก่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ เป็นอันมาก ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ พระองค์จึงเห็นเป็นโอกาสว่าจ้างให้สแตนลียให้สำรวจดินแดนแถบลุ่มน้ำคองโก (Congo Basin) ที่กว้างใหญ่และยึดครองในพระนามของพระองค์ ในต้นทศวรรษ ๑๘๘๐ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจข่มขู่ การใช้เล่ห์เหลี่ยมและอุบาย เช่นการใช้กระแสไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ซ่อนไว้ในฝ่ามือช็อตหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ เพื่อให้เชื่อว่าเขาเป็นผู้มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ กว่า ๔๐๐ เผ่า ต่างก็เกรงกลัวสแตนลีย์และยอมรับอำนาจอธิปไตยของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ และทำให้สแตนลีย์สามารถอ้างสิทธิให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ เข้าครอบครองดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย คองโก (Democratic Republic of Congo) ในปัจจุบันได้ พื้นที่ที่ตกเป็นสินทรัพย์ส่วนพระองค์ดังกล่าวนี้มีเนื้อที่ ถึง ๒,๓๔๓,๙๕๐ ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดใหญ่กว่าราชอาณาจักรเบลเยียมประมาณ ๘๐ เท่า ต่อมา ในการประชุมแห่งเบอร์ลิน (Conference of Berlin) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๔-๑๘๘๕ เพื่อยุติปัญหาแอฟริกาและเพื่อแบ่งดินแดนแอฟริการะหว่างมหาอำนาจ ต่าง ๆ ผู้แทนของประเทศยุโรป ๑๔ ประเทศ รวมกับสหรัฐอเมริกาต่างยอมรับการจัดตั้งรัฐอิสระคองโกและอำนาจอธิปไตยของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ในการปกครองคองโกด้วย
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงปกครองคองโกในฐานะเป็นดินแดนในกรรมสิทธิ์ (fiefdom) อย่างที่เจ้าเหนือหัว (lord) ในยุโรปสมัยกลางปกครองดินแดนของตนตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudaliam) โดยรัฐบาลเบลเยียมไม่มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยง "กษัตริย์นักธุรกิจ" ที่พยายามแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดจากดินแดนในปกครอง โดยไม่คำนึงหรือเหลียวแลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทรงใช้นโยบายกดขี่และทารุณชาวพื้นเมืองคองโกเยี่ยงทาส ซึ่งเป็นการสวนกระแสกับหลักศีลธรรมและการต่อต้านการค้าทาสในขณะนั้น ทั้งยังทรงให้เอกชนเข้าไป จัดตั้งบริษัทวิสาหกิจต่าง ๆ และอนุญาตให้มีการบังคับใช้แรงงานชาวพื้นเมืองทั้งชายหญิงคนชราและเด็กในการทำสวนยาง เหมืองทองแดง เหมืองเพชรและเหมืองทอง รวมทั้งการล่าช้างเพื่อเอางาและการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อส่งเป็นสินค้าออกหรือนำเข้าสู่เบลเยียม ชาวพื้นเมืองทุกเพศทุกวัยที่ต่อต้านหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพก็จะถูกลงโทษอย่างทารุณนับแต่การถูกสังหารหมู่ การโบยตีด้วยพลองที่ทำจากหนังฮิปโปโปเตมัส และการถูกตัดมือ แขน ขา หู และ จมูก ประมาณว่าระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๐-๑๙๒๐ ประชากรคองโกได้ลดจำนวนลงกว่าครึ่งหนึ่ง จาก ๒๐ ล้านคน เหลือเพียง ๑๐ ล้านคน จากการเสียชีวิตเพราะถูกสังหารและการทารุณกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการขาดอาหารโรคระบาด การถูกใช้แรงงานเกินกำลัง และอื่น ๆ นับเป็นเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (holocaust) ที่น่าสลดใจของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
     แม้การยึดครองรัฐอิสระคองโกจะนำรายได้มหาศาลมาสู่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ แต่เหตุการณ์ทารุณกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็สร้างความมัวหมองและทำลายพระเกียรติยศของกษัตริย์เบลเยียมอย่างสิ้นเชิงทรงได้รับสมญานามว่า "อสุรกาย" และแม้แต่พระราชวงศ์ ต่าง ๆ ก็หลีกเลี่ยงการติดต่อกับพระองค์ นอกจากนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเบลเยียมตกต่ำลงไปด้วย ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ รัฐสภาเบลเยียมซึ่งต้องการยุติข้อครหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพระเกียรติยศและเกียรติภูมิของประเทศ จึงบีบบังคับให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยของพระองค์เหนือคองโกและยินยอมให้ผนวกคองโกเข้าเป็นอาณานิคมของประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเบลเยียม อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลเบลเยียมจะได้อำนาจปกครอง รัฐอิสระคองโก แต่ก็ไม่ได้รีบดำเนินการเพื่อแก้ไขสภาพการณ์ให้ดีขึ้น คองโกตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียมจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๐ จึงได้อำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นซาอีร์ (Zaire) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตามลำดับ
     นอกจากนี้ ในปลายรัชกาล พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ยังทรงทำให้พระเกียรติยศถดถอยลงไปอีก หลังจากสมเด็จพระราชินีมารี เฮนเรียตต์สวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๐๒ พระองค์ก็ทรงใช้ชีวิตคู่อย่างเปิดเผยกับแคโรลีนลาครัวซ์ (Caroline Lacroix) ชู้รักซึ่งอดีตเป็นหญิงโสเภณีทรงมีโอรสนอกกฎหมายกับลาครัวซ์ ๒ คน ต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ ก่อนสวรรคตเพียง ๕ วัน พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ก็ทรงทำพิธีทางศาสนาในการอภิเษกสมรสกับลาครัวซ์ ณ พระตำหนักที่เมืองลาเก็น (Laeken) เพื่อให้โอรสเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ไม่มีผลทางกฎหมายของเบลเยียม ทั้งรัฐสภาก็ปฏิเสธสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของโอรสทั้งสอง และไม่มีการประกาศพระยศของชายาและโอรสทั้งสองตามที่ได้รับสถาปนาด้วย
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ สวรรคตเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ หลังจากที่ได้รับการถวายการผ่าตัด สิริพระชนมายุ ๗๔ พรรษา เนื่องจากพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระราชินีได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้นานแล้ว เจ้าชายอัลเบิร์ต [(Albert) ต่อมาเฉลิมพระนามพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๙๐๙-๑๙๓๔)*] พระภาติยะ (หลานลุง) จึงได้สืบราชสมบัติต่อมา.


กฎหมายของเบลเยียมกำหนดให้การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติขององค์รัชทายาทหรือกษัตริย์องค์ต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรง กล่าวปฏิญาณต่อที่ ประชุมรัฐสภา ซึ่งนับว่าแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติหรือพระราชประเพณีของราชอาณาจักรอื่นๆ ในยุโรปที่ ถือว่า การขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์พระองค์ใหม่จะเริ่มขึ้นทันทีที่ กษัตริย์ในขณะนั้นเสด็จสวรรคต ดังนั้นชาวเบลเยียมจึงไม่มีคำกล่าวว่า “พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ขอให้พระเจ้าอยู่หัว (พระองค์ใหม่-ผู้เขียน) ทรงพระเจริญ” (The king is dead, long live the king) ซึ่งแสดง ความต่อเนื่องอย่างไม่มีการขาดตอนของการสืบราชสมบัติ

คำตั้ง
Leopold II
คำเทียบ
พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒
คำสำคัญ
- การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ
- สแตนลีย์, เฮนรี มอร์ตัน
- แอนต์เวิร์ป, เมือง
- คองโก, ลุ่มน้ำ
- รัฐอิสระคองโก
- จักรวรรดินิยม
- ลาเก็น, เมือง
- เลโอโปลด์ที่ ๑, พระเจ้า
- ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา, ราชวงศ์
- เลโอโปลด์ที่ ๒, พระเจ้า
- บราบันต์, ดุ๊กแห่ง
- บรัสเซลส์, กรุง
- รูดอล์ฟ, อาร์ชดุ๊ก
- มารี เฮนเรียตต์, อาร์ชดัชเชส
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- เลโอโปลด์ หลุยส์ ฟิลิป มารี วิกเตอร์, เจ้าชาย
- สเตฟานี โกลตีด หลุยส์ แอร์มีนี มารี ชาร์ลอตต์,เจ้าหญิง
- หลุยส์-มารี เทเรซา ชาร์ลอตต์ อิซาเบล,สมเด็จพระราชินี
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- ลาครัวซ์, แคโรลีน
- ความเป็นกลางอย่างถาวร
- กาฬทวีป
- นามูร์, เมือง
- ลีแอช, เมือง
- เวตซีรา, มาเรีย
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- อัลเบิร์ต, เจ้าชาย
- อัลเบิร์ตที่ ๑, พระเจ้า
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1835-1909
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๗๘-๒๔๕๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf