Talleyrand-Périgord, Charles Maurice de (1754–1838)

ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (พ.ศ. ๒๒๙๗–๒๓๘๑)

 ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ เป็นนักบวชในคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ถูกขับออกจากศาสนาและได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในฐานะนักการทูตนักการเมือง ระหว่างช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* จนถึงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X)* และพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* ตาเลรองเป็นบุคคลตัวอย่างของปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่เติบโตในระบอบการปกครองแบบเก่า (Old Regime) ได้ซึมซับอุดมการณ์ของยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) อุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นนักการทูตที่หลักแหลมและสามารถใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการทูตประเมินสถานการณ์และพลิกให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศตนได้สูงสุด ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔)* ที่ตาเลรองเสนอให้อังกฤษ ออสเตรีย และฝรั่งเศสร่วมมือกันทำสนธิสัญญาลับเพื่อผนึกกำลังกันในกรณีที่ถูกรัสเซียหรือปรัสเซียโจมตีฝรั่งเศสจึงมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง และไม่ต้องวิตกว่ากลุ่มมหาอำนาจจะรวมตัวกันโจมตีฝรั่งเศสในอนาคตเหมือนในช่วงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ต่อมาในการประชุมใหญ่แห่งแอกซ์-ลา-ชาแปล (Congress of Aix-la-Chapelle ค.ศ. ๑๘๑๘)* เขายังทำให้ฝรั่งเศสมีสถานะทัดเทียมกับมหาอำนาจอื่น ๆ โดยได้เข้าร่วมลงนามเป็นพันธมิตรด้วย ก่อให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance)* ฝรั่งเศสจึงมีบทบาทในความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* อย่างไรก็ดีความสามารถและชั้นเชิงทางการทูตดังกล่าวทำให้เขาถูกมองจากขั้วที่แตกต่างกันอย่างมาก บ้างยกย่องว่าเขาเป็นนักการทูตมากด้วยความสามารถและเป็นต้นแบบของนักการทูตในปัจจุบัน บ้างก็ว่าเป็นผู้ทรยศและมีภาพการ์ตูนล้อว่าเป็นบุคคลที่มีลิ้นหลายแฉก เชื่อถือไม่ได้ ปัจจุบันชื่อของเขาก็ถูกนำไปใช้ในความหมายของนักการทูตที่มีฝีมือและเล่ห์เหลี่ยม

 ตาเลรองเกิดเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๕๔ ณ กรุงปารีสในตระกูลขุนนางเก่าแก่ของฝรั่งเศส เขาเป็นบุตรชายคนโตของชาร์ล ดานีล กงต์ เดอ ตาเลรอง (Charles Daniel, Comte de Talleyrand) และ อาแล็กซองดรีน เดอ ดามา ด็องตีญี (Alexandrine de Damas d’ Antigny) ซึ่งขณะที่เกิดนั้นบิดามีอายุเพียง ๒๐ ปี ทั้งบิดาและมารดามีตำแหน่งหน้าที่ในราชสำนักในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๕–๑๗๗๔)* ครอบครัวตาเลรองสืบเชื้อสายมาจากจุลสาขาของตระกูลจึงมีฐานะไม่มั่นคงและไม่มีรายได้หลักจากอสังหาริมทรัพย์ ตาเลรองมีความผิดปรกติที่เท้าตั้งแต่กำเนิด เรียกว่า “เท้าปุก” (clubfoot) คือ เท้ามีลักษณะบิดหมุนเข้าด้านในและปลายเท้าจิกพื้น เขาจึงเดินกะโผลกกะเผลกจนต้องมีไม้เท้าติดตัวซึ่งต่อมาทำให้เขาถูกตั้งฉายาว่า “ปีศาจโผลกเผลก” (Limping Devil) แต่ในหนังสือบันทึกความทรงจำ Memoirs เขาอ้างว่าความพิการดังกล่าวเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่เขาพลัดตกจากการปีนป่ายตู้เมื่อมีอายุได้ ๔ ขวบ

 ชาร์ล ตาเลรอง ผู้บิดารับราชการในกองทัพฝรั่งเศสตามขนบของครอบครัวจนได้รับยศพลตรีในฐานะบุตรคนโต ตาเลรองเป็นที่คาดหมายว่าต่อไปจะต้องเป็นทหารเมื่อเติบใหญ่เฉกเช่นบิดาด้วย แต่ด้วยความพิการทำให้สภาครอบครัวตาเลรองตัดสิทธิ์การเป็นบุตรชายคนโตที่จะสืบสานอาชีพทหารต่อจากบิดา ดังนั้น เขาจึงถูกกำหนดให้เข้าสู่สมณเพศเพื่อไต่เต้าให้ดำรงสมณศักดิ์สูง และปกครองสังฆมณฑลที่ครอบครองทรัพย์สินมหาศาล ดังเช่น อาแล็กซองดร์ อ็องเชลีก เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Alexandre Angélique de Talleyrand-Périgord) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเขาและในขณะนั้นเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแร็งส์ (Archbishop of Reims) และได้ปกครองเขตสังฆมณฑลที่ร่ำรวยและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส

 ใน ค.ศ. ๑๗๕๘ ขณะอายุได้ ๔ ขวบ ครอบครัวส่งตาเลรองไปยังเมืองชาแล (Chalais) และพักในปราสาทเก่าของเจ้าหญิงแห่งชาแล (Princess of Chalais) ซึ่งมีศักดิ์เป็นทวด และเป็นบุคคลที่ในเวลาต่อมาเขาชื่นชมเป็นอันมาก ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๗๐ เขาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนดาร์กูร์ (College d’ Harcourt) ซึ่งเป็นสามเณราลัยแห่งโบสถ์แซง-ซุลปีซ (Saint-Sulpice) ในกรุงปารีส ในช่วงเวลานี้ตาเลรองได้ศึกษาวิชาเทววิทยา แต่ขณะเดียวกันเขาก็สนใจอ่านหนังสือของพวกนักปรัชญาเมธี (philosophe) ของยุคภูมิธรรมที่มีจำนวนมากในหอสมุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจเรื่องการเมือง

 ใน ค.ศ. ๑๗๗๘ ตาเลรองสำเร็จการศึกษาและใน ค.ศ. ๑๗๗๙ ขณะมีอายุ ๒๕ ปี เขาได้รับศีลบวชในปีต่อมา อาร์ชบิชอปอาแล็กซองดร์ผู้เป็นอาได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้แทนของนักบวชคาทอลิกประจำราชสำนักฝรั่งเศส และมีบทบาทในการทำบัญชีสำรวจทรัพย์สินของศาสนจักรในฝรั่งเศส แม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่หรูหรา แต่เขาก็มุ่งมั่นในการทำหน้าที่และหวังที่จะได้รับแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์สูงในอนาคต ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๐–๑๗๘๕ ตาเลรองทำหน้าที่ในการประชุมสภาศาสนาและเป็นผู้แทนของศาสนจักรในการประชุมกับรัฐบาลและปกป้องสิทธิต่าง ๆ ของศาสนจักร ทั้งมีสิทธิในการตัดสินคดีความของศาล ศาสนา สิทธิในการยกเว้นภาษี รวมทั้งการยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของนักบวชผู้น้อยให้ดีขึ้น และโดยเฉพาะในการประชุม ค.ศ. ๑๗๘๕ ที่เขาได้ทำหน้าที่ปกป้อง “สิทธิที่โอนทรัพย์สินให้กันไม่ได้” ของศาสนจักรการทำหน้าที่ตัวแทนของศาสนจักรในที่ประชุมกับตัวแทนของรัฐบาลจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เขามีบทบาทสูง รวมทั้งได้พบปะตัวแทนของศาสนจักรผู้แทนของรัฐบาลคนในราชสำนักและอื่นๆ นอกจากนี้การมีโอกาสในการประชุมสภาศาสนายังเปิดโอกาสให้เขามีประสบการณ์โดยตรงของการประชุมในระดับสภาอีกด้วย บทบาทต่าง ๆ ของเขาในกิจกรรมศาสนาและอิทธิพลของครอบครัว ทำให้ตาเลรองได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งโอเติง (Bishop of Autun) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๘๘ แต่เมื่อเขาเดินทางไปรับตำแหน่งในวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ก็เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ของการเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มใกล้จุดระเบิด

 ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เมื่อสภาฐานันดร (Estates General) ได้เปิดสมัยประชุมเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไม่เคยจัดประชุมตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๑๔ ตาเลรองได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของนักบวช ในการประชุมครั้งนี้ เขาได้เตรียมเอกสารจำนวนมากเพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิรูปสถานภาพของนักบวช รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อค้ำประกันสิทธิเสมอภาคของพลเมืองอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งยกเลิกความเหลื่อมล้ำหรืออภิสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินของขุนนางและของศาสนจักรที่เขาเคยปกป้องเมื่อ ๔ ปีก่อนหน้านี้เมื่อสภาฐานันดรเกิดความขัดแย้งจนต้องแยกกันประชุม ตาเลรองให้การสนับสนุนผู้แทนของสภาฐานันดรที่ ๓ ในการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ขึ้น

 หลังจากเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ซึ่งต่อมาถือเป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ สมัชชาแห่งชาติซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (National Constituent Assembly) ก็สามารถร่างรัฐธรรมนูญที่จะล้มล้างสมัยการปกครองของระบอบเก่าของฝรั่งเศสที่ยึดถือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ การให้อภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่มตามสถานะและชาติกำเนิด ตาเลรองกลายเป็นผู้สนับสนุนอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสและการต่อต้านศาสนจักรของฝ่ายปฏิวัติโดยให้ความช่วยเหลือฝ่ายปฏิวัติในการจัดสรรที่ดินของศาสนจักรในฝรั่งเศส และสนับสนุนการเขียนประกาศสิทธิแห่งมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and the Citizens)* ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๓ ข้อที่เป็นอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส คือ เสรีภาพ (liberty) เสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity) และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ (Civil Constitution of the Clergy, July 1790)* ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าบิชอปเป็นอันมากที่ครั้งหนึ่งเขาคือหัวหอกในการปกป้องสิทธิประโยชน์และอภิสิทธิ์ของศาสนจักรในการถือครองที่ดินสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ คือการลดอำนาจของสันตะปาปาในฝรั่งเศส ให้นักบวชปฏิญาณว่าจะรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศ การยกเลิกภาษีวัด (tithe) ริบธรณีสงฆ์เป็นของรัฐเพื่อขายทอดตลาดและใช้หนี้ประเทศ เมื่อมีการลงคะแนนเสียงเพื่อริบธรณีสงฆ์เป็นของรัฐในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๘๙ ตาเลรองได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะตัวแทนของฝ่ายปฏิวัติ ต่อมาเมื่อเขาจัดให้มีพิธีมิสซาในโอกาสครบรอบ ๑ ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศสในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ เขาได้รับยกย่องเป็น “บิชอปของประชาชน” และ “บิชอปแห่งการปฏิวัติ” และต่อมา อีก ๘ วัน เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยในการรับรองพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๔ สิงหาคม เขาเป็นบิชอปคนแรกที่ให้การปฏิญาณต่อพระราชบัญญัติฉบับนี้และเป็นคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งบิชอปในระบบใหม่ แต่ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งบิชอปแห่งโอเติงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๑ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารของเขตกรุงปารีสที่มีรายได้มากกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องจากตาเลรองเป็นผู้สนับสนุนพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ เขาจึงถูกสันตะปาปาไพอัสที่ ๗ (Pius VII) ประกาศบัพพาชนียกรรมขับออกจากคริสตจักรคาทอลิกใน ค.ศ. ๑๗๙๑ ด้วยแต่ก็มิได้สร้างความหวั่นไหวให้ตาเลรองแม้แต่น้อย

 ในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๑ ตาเลรองซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นผู้มีไหวพริบและสามารถเจรจาชักจูงฝ่ายต่าง ๆ จึงถูกเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศส่งเขาไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเจรจาโน้มน้าวให้อังกฤษเป็นกลางโดยไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับออสเตรียและปรัสเซียในการโจมตีฝรั่งเศสในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒–๑๗๙๙)* ที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อตาเลรองเดินทางไปถึงอังกฤษก็ได้ยื่นข้อเสนอแก่นายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt, the younger)* ให้ทั้ง ๒ ประเทศร่วมมือกันประกันบูรณภาพในดินแดนซึ่งกันและกันอย่างไรก็ดีเมื่อเขาเดินทางกลับกรุงปารีสโดยที่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลอังกฤษ เขาจึงโน้มน้าวเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ให้ส่งมาร์ควิส เดอ โชเวอแลง (Marquis de Chauvelin) ไปเป็นอัครราชทูตที่อังกฤษ โดยมีตาเลรองเป็นผู้ช่วยทั้งสองเดินทางถึงอังกฤษในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ หลังจากฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรียได้ไม่นาน โดยมีปรัสเซียประกาศร่วมเป็นพันธมิตรด้วย อย่างไรก็ดี แม้การเจรจาประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาความรุนแรงในฝรั่งเศสกลับปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อฝูงชนได้ก่อการจลาจลขึ้นที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน จึงทำให้การทำงานของเขาและคณะทูตที่ประจำที่กรุงลอนดอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในวันที่ ๕ กรกฎาคม เขาจึงเดินทางกลับกรุงปารีส ต่อมาเมื่อเกิดการล้มระบอบกษัตริย์ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม และการสังหารหมู่สมาชิกของราชวงศ์บูร์บงที่ถูกคุมขังในคุกในเดือนกันยายนทำให้รัฐบาลอังกฤษสิ้นความนิยมในรัฐบาลฝรั่งเศส และแนะนำให้เขาเดินทางออกจากกรุงปารีส เขาเดินทางในฐานะเอกชนถึงกรุงลอนดอนในเดือนกันยายน ขณะเดียวกันเขาก็พยายามทำทุกวิถีทางให้ฝรั่งเศสหลีกเลี่ยงการก่อสงครามกับอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อฝรั่งเศสบุกเบลเยียมตามด้วยการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ทำให้นานาประเทศร่วมมือกันทำสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑ (First Coalition War) กับฝรั่งเศส ประกอบด้วย สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ปรัสเซีย ซาร์ดิเนีย และอังกฤษ ตาเลรองจึงกลายเป็นบุคคลที่อังกฤษไม่ต้อนรับอีกต่อไปในฝรั่งเศสเองสภากงวองซียงแห่งชาติ (National Convention) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เริ่มกวาดล้างพวกที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์รวมทั้งชนชั้นสูงในเวลาต่อมา ตาเลรองถูกขับออกจากฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๔ และลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา เขาพำนักที่นั่นเป็นเวลา ๒ ปี และสามารถสร้างความร่ำรวยจากการลงทุนในธุรกิจที่นั่น

 หลังจากสิ้นสุดการยึดอำนาจของมักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี อีซีดอร์ เดอ โรแบสปีแยร์ (Maximilien François Marie Isidore de Robespierre)* และการสิ้นสุดของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)* (มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๓–กรกฎาคม ๑๗๙๔) ตาเลรองได้ทำฎีกาถึงสภากงวองซียงแห่งชาติให้ถอนชื่อเขาจากพวกเอมิเกร (émigrés) ที่ประกอบด้วยพระราชวงศ์และขุนนางที่หลบหนีการปฏิวัติออกนอกประเทศ โดยเขาอ้างว่าการเดินทางออกนอกประเทศของเขาไม่ใช่การหลบหนีเพราะเขามีหนังสือเดินทางของราชการอย่างถูกต้อง คำร้องของเขาได้รับความเห็นชอบและตาเลรองได้เดินทางกลับฝรั่งเศสในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๖ และได้ทำงานที่สถาบันแห่งชาติ (Institut National) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ เขาได้มีโอกาสนำเสนอผลงานผลงานในที่ประชุมซึ่งเขาเสนอแนะให้ฝรั่งเศสจัดตั้งอาณานิคมในทวีปแอฟริกาแทนอาณานิคมในทวีปอเมริกาที่สูญเสียไปข้อเสนอดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมและกล่าวขวัญกันมากจนในที่สุดคณะผู้บริหารฝรั่งเศสตามรัฐธรรมนูญใหม่ คือ คณะกรรมการอำนวยการ (Directory)* ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

 ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๗ ตาเลรองได้มีบทบาทในการจัดทำสนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ (Treaty of Campo Formio)* ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียโดยมีเงื่อนไขลับผนวกอยู่ด้วยที่ให้ผลประโยชน์แก่ ออสเตรียเป็นการตอบแทนที่ต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ทั้งนี้โดยตาเลรองได้รับเงิน“ค่าป่วยการ” หรือสินบนจากเงื่อนไขนี้จำนวนมหาศาลประมาณ ๑ ล้านฟรังก์ แต่เขาล้มเหลวในกรณีเอกซ์วายแซด (XYZ Affair) ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางการทูตและการทหารระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกา กรณีนี้เกิดจากการที่ฝรั่งเศสได้ยึดเรือสินค้าของสหรัฐอเมริกาในน่านน้ำทะเลแคริบเบียน (Caribbean) หลายลำในระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้สหรัฐอเมริกาจะประกาศตนเป็นกลางในสงครามนี้ แต่เรือสินค้าของสหรัฐอเมริกาก็ทำการค้าขายกับอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศส เป็นผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกาตึงเครียดมาก สหรัฐอเมริกาส่งทูตไปยังกรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๗๙๗ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งดังกล่าว แต่เมื่อทูตทั้งสามขอเข้าพบตาเลรอง ตาเลรองกลับส่งตัวแทนจำนวน ๓ คน ไปพบปะเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และแจ้งว่าก่อนที่จะเข้าเจรจากับตาเลรอง สหรัฐอเมริกาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ รวมทั้งยอมให้ฝรั่งเศสกู้ยืมเงินจำนวนสูง และให้เงินสินบนแก่ตาเลรองเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ด้วย ซึ่งทูตสหรัฐอเมริกาไม่ยินยอมและเดินทางกลับ ในรายงานการเจรจาเรื่องนี้ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแสดงต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไม่ได้เปิดเผยชื่อตัวแทนทั้ง ๓ คนของตาเลรอง แต่แสดงเป็นอักษร X Y และ Z แทนชื่อบุคคล รัฐสภาสหรัฐอเมริกาไม่พอใจมากและเรียกร้องให้ทำสงครามกับฝรั่งเศส ในที่สุดก็อนุมัติให้ใช้มาตรการทางทหารหลายอย่าง รวมทั้งการสร้างเรือรบหลายลำ และใน ค.ศ. ๑๗๙๘ ก็อนุมัติให้เรืออเมริกันโจมตีเรือรบฝรั่งเศสได้ จึงเกิดเป็นความขัดแย้งทางทหารหรือที่เรียกกันต่อมาว่าสงครามเสมือน (Quasi-War) ทางทะเล ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘–๑๘๐๐ โดยไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ

 นอกจากความล้มเหลวในการผูกไมตรีกับสหรัฐอเมริกาแล้ว นโยบายที่เขาสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งขยายดินแดนในอียิปต์ยังทำให้รัฐบาลต้องเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลในการทำสงครามเพื่อเข้าครอบครองดินแดน จึงทำให้ตาเลรองถูกตำหนิจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดดังกล่าว เขาลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดีหลังจากที่เขาลาออกได้ ๕ เดือน นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ได้เดินทางกลับจากอียิปต์และก่อรัฐประหารเดือนบรูแมร์ (Coup d’Etat Brumaire)* ยึดอำนาจการปกครองไว้ได้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๙ นโปเลียนล้มการปกครองแบบคณะกรรมการอำนวยการมาเป็นการปกครองระบบกงสุล (Consulate System)* และได้ดำรงตำแหน่งกงสุลคนที่ ๑ (First Consul) ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองฝรั่งเศส ตาเลรองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนโปเลียนจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในวาระนี้เขาต้องการสร้างสันติภาพในยุโรปและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสามารถทำสนธิสัญญาสงบศึกกับประเทศพันธมิตรต่าง ๆ และทำให้ฝรั่งเศสมีอำนาจสูงสุดในอิตาลี ดินแดนเยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์รวมทั้งการจัดสรรที่ดินของวัดในฝรั่งเศสให้เอกชนครอบครองซึ่งนำผลประโยชน์อย่างมากมาสู่เขา ทั้งยังประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับสถาบันสันตะปาปาซึ่งเป็นผลจากพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ ด้วยการโน้มน้าวให้นโปเลียนทำความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๘๐๑ (Concordat 1801)* หรือกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๘๐๑ ซึ่งนำมาสู่การสร้างความปรองดองระหว่างศาสนจักรกับรัฐได้สำเร็จ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๒ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และเนเธอร์แลนด์ก็ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาอาเมียง (Treaty of Amiens)* ซึ่งทำให้ยุโรปปลอดสงครามไปอีกระยะหนึ่ง

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๐๒ นโปเลียนได้บีบบังคับให้ตาเลรองสมรสกับคาเทอรีน แกรนด์ [Catherine Grand นามสกุลเดิม วอร์เล (Worlée)] เพื่อให้ตาเลรองมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของศาสนจักรและเป็นที่ยอมรับในบทบาททางการเมืองและการทูต คาเทอรีนเป็นภรรยาลับของเขามาหลายปีและเขายังเคยพาเธอออกงานสังสรรค์ต่าง ๆ กับภริยานักการทูตจากประเทศอื่น ๆ อย่างเปิดเผย เธอเป็นชาวฝรั่งเศสที่เกิดในอินเดียและเป็นม่ายจากการหย่าขาดจากชาลส์ แกรนด์ (Charles Grand) เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) (การหย่าขาดเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ทั้งคู่จะสมรสกัน) ตาเลรองได้ซื้อคฤหาสน์วาล็องแช (Château de Valençay) ให้เป็นที่พำนักของครอบครัวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ ทั้งคู่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ตาเลรองมีบุตรนอกสมรสกับภรรยาลับอื่น ๆ จำนวน ๓ คน เป็นบุตรชาย ๑ คน และบุตรสาว ๒ คน

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ สภาสูงได้มีมติให้มอบตำแหน่งจักรพรรดิแก่นโปเลียน และในการลงประชามติ เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย ต่อมาในต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะเดียวกันในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ นโปเลียนประทานตำแหน่งกรมวัง (Grand Chamberlain) แห่งจักรวรรดิแก่ตาเลรอง โดยได้รับพระราชทานเงินปีละ ๕๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ต่อมาเขาก็ได้รับพระราชทานอิสริยยศเจ้าชายแห่งเบเนว็อง (Prince of Bénévent) ซึ่งเป็นราชรัฐที่เคยเป็นที่ดินศักดินา (fief) ของสันตะปาปาในอิตาลีตอนใต้ เขาครองฐานันดรศักดิ์นี้จนถึง ค.ศ. ๑๘๑๕ ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ตาเลรองได้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* โดยรวมรัฐเยอรมันทางตอนใต้และตะวันตกเข้าด้วยกันให้เป็นดินแดนขึ้นกับจักรวรรดิฝรั่งเศส โดยรวมรัฐเยอรมัน ๑๖ รัฐ ในการจัดตั้งครั้งนี้ ตาเลรองได้รับเงินสินบนจำนวนมหาศาลจากรัฐเยอรมันที่ได้ประโยชน์จากการรวมตัว อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของตาเลรองที่มีต่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ลดน้อยลงหลังจากนั้นเนื่องจากเขามักจะมีมุมมองทางการทูตและการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความทะเยอทะยานในการสร้างอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ของจักรพรรดิ

 ในมุมมองของตาเลรอง เขาเห็นว่าฝรั่งเศสในรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ถึงจุดที่ขยายดินแดนได้มากที่สุดเท่าที่ปรากฏมาแล้ว และสมควรที่จะยุติและสร้างสันติภาพให้แก่ยุโรป อีกทั้งในการทำสนธิสัญญาสงบศึกต่าง ๆ ก็ควรเป็นไปด้วยความเมตตาธรรมและรักษาศักดิ์ศรีของประเทศคู่สงครามในการทำสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit)* ระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ ซึ่งเขาถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมด้วยในการร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ปรัสเซียต้องเสียดินแดนประมาณครึ่งหนึ่ง ลดจำนวนกองทัพ และจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ตาเลรองได้แสดงความเห็นใจและปลอบสมเด็จพระราชินีหลุยส์ (Louise) พระมเหสีในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III)* ที่ทรงกรรแสงหลังทรงประสบความล้มเหลวที่จะโน้มน้าวให้จักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๑ ทรงให้ความเป็นธรรมและคงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของปรัสเซียต่อไป ความเห็นอกเห็นใจของตาเลรองดังกล่าวทำให้เขาเป็นที่ชื่นชมของปัญญาชนนานาประเทศเป็นอันมาก

 ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ เมื่อตาเลรองตระหนักว่าเขาไม่สามารถที่จะชักจูงจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศตามที่เขาคิดจึงได้ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ แต่ยังมีบทบาทในการให้คำปรึกษาจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในเรื่องการต่างประเทศ และหันไปร่วมมืออย่างลับ ๆ กับออสเตรียและรัสเซีย และโดยเฉพาะในการประชุมใหญ่แห่งแอร์ฟูร์ท (Congress of Erfurt) ค.ศ. ๑๘๐๘ ที่เขาแอบเจรจาลับกับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I)* แห่งรัสเซีย ให้ต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทั้งยังให้ข้อมูลลับเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของฝรั่งเศสแก่รัสเซียและออสเตรียอีกด้วย และรับเงินสินบนในการสกัดกั้นการขยายอำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่ง ทำให้ในเวลาต่อมาพวกที่ต่อต้านเขาเห็นว่าเขาเป็นคนทรยศของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ รวมทั้งจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แต่พระองค์ก็ยังทรงคิดว่าเขายังมีประโยชน์ต่อพระองค์อยู่บ้างและพระองค์ก็สามารถจะ “บดขยี้เขาให้แหลกเหมือนทุบแก้วเป็นเสี่ยง ๆ” ได้ทุกเวลา

 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กับจักรพรรดินีโจเซฟีน (Joséphine) เริ่มจืดจาง กอปรกับพระองค์ไม่ทรงมีรัชทายาทที่จะสืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ตาเลรองซึ่งไม่ต้องการเห็นฝรั่งเศสเกิดความวุ่นวายหากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาทในช่วงรอยต่อของรัชกาล เขาจึงร่วมมือกับเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Clemens von Metternich)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียที่เขาสนิทสนมด้วยเพราะเมทเทอร์นิชเคยเป็นเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส โน้มน้าวให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I)* พระราชทานอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ (Marie Louis)* พระราชธิดาองค์เล็กพระชันษา ๑๘ พรรษาให้อภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ นอกจากจะแก้ปัญหาให้กับราชบัลลังก์ฝรั่งเศสแล้วยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ที่เก่าแก่ของออสเตรีย และอาจช่วยยับยั้งสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียได้อีกด้วย งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้จัดให้มีขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๘๑๐ โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ ณ กรุงเวียนนา

 อย่างไรก็ดี แม้ในเวลาต่อมาจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะมีพระราชโอรสกับจักรพรรดินีมารี หลุยส์ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความทะเยอทะยานของพระองค์ในการขยายพระราชอำนาจต่อไป จนทำให้ตาเลรองยิ่งตระหนักว่าหากฝรั่งเศสยังดำเนินนโยบายสงครามต่อไปก็อาจทำลายประเทศฝรั่งเศสได้ในที่สุด เขาคิดวางแผนที่จะล้มอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เพื่อความอยู่รอดและมั่นคงของฝรั่งเศส เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ประกาศสงครามกับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๑๒ ในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ (The Sixth Coalition War) พร้อมกับยกกองทัพเข้าไปในดินแดนรัสเซียตาเลรองจึงเริ่มโจมตีและวิจารณ์อย่างรุนแรงกับการเคลื่อนไหวของกองทัพฝรั่งเศสที่มุ่งเผด็จศึกรัสเซีย ในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๓ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งยังทรงเข้าพระทัยว่าพระองค์ยังทรงสามารถใช้ตาเลรองในการเจรจาต่อรองกับรัสเซียจึงโปรดให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งแต่เขาปฏิเสธเนื่องจากคาดเดาได้ว่าอย่างไรจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะต้องสูญเสียพระราชอำนาจในสงครามครั้งนี้ ซึ่งทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ไม่ทรงพอพระทัยเป็นอันมาก เมื่อกองทัพพันธมิตรเดินทัพมาถึงชานกรุงปารีส ตาเลรองได้เดินทางไปเฝ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ และให้ประทับที่คฤหาสน์ของเขา ทั้งสามารถโน้มน้าวพระองค์ให้เห็นว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงให้กลับมาปกครองฝรั่งเศส

 ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ หลังจากกองทัพของฝ่ายพันธมิตรประสบความสำเร็จในการเดินทัพเข้ากรุงปารีส ตาเลรองได้เป็นผู้นำสภาสูงและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในกรุงปารีส ซึ่งเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีของรัฐบาลชั่วคราวนี้ต่อมาในวันที่ ๒ เมษายน สภาสูงได้มีมติขับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ออกจากราชบัลลังก์ ขณะเดียวกันรัฐบาลชั่วคราวก็ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงในวันที่ ๖ เมษายน โดยให้ราชวงศ์บูร์บงกลับมาปกครองและนำไปสู่การฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๑ (First Restoration) โดยสถาปนาหลุยส์ สตานิลัส ซาเวียร์ เคานต์แห่งโพรวองซ์ (Louis Stanilas Xavier, Count of Provence) พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และในวันที่ ๑๑ เมษายน ก็ให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau)* ที่ถือว่าเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* และฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงขึ้นปกครองฝรั่งเศสอีกครั้ง

 ในวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็เสด็จไปประทับที่เกาะเอลบา (Elba) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในฐานะพระประมุขของเกาะเล็ก ๆ นี้ ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ซึ่งประทับรอความคลี่คลายทางการเมืองของฝรั่งเศสก็เสด็จจากอังกฤษถึงเมืองกาเล (Calais) และเสด็จเข้าสู่กรุงปารีสในวันที่ ๓ เมษายน ต่อมาในวันที่ ๑๓ ก็ทรงประกาศยกเลิกรัฐบาลชั่วคราวและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น โดยตาเลรองได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีในรัฐบาลชุดนี้และกำกับดูแลเรื่องการต่างประเทศ และต่อมาได้พระราชทานอิสริยยศเจ้าชายแห่งตาเลรองแก่เขาหลังจากที่ราชรัฐเบเนว็องในอิตาลีถูกคืนให้อยู่ในอำนาจปกครองของสันตะปาปา

 หลังจากการลงโทษจักรพรรดินโปเลียนแล้วประเทศพันธมิตรร่วมกันทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๑ (First Treaty of Paris)* เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ และกำหนดให้มีการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔ ตาเลรองเป็นผู้แทนของฝรั่งเศสในการประชุมนี้ ระหว่างที่การประชุมดำเนินอยู่ ประเทศมหาอำนาจเกิดความขัดแย้งกันในปัญหาการสร้างดุลแห่งอำนาจและการแบ่งดินแดนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ตาเลรองจึงถือโอกาสเสนอให้มีการผนึกกำลังระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและออสเตรียเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของรัสเซียและปรัสเซีย ทั้งให้ ๓ ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาลับเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยตกลงจะสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรัสเซียหรือปรัสเซียโจมตี บทบาทของตาเลรองในการผลักดันให้มีการทำสนธิสัญญาลับดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจได้สำเร็จอีกครั้ง แต่ยังเป็นหลักประกันที่ฝรั่งเศสไม่ต้องวิตกเกี่ยวกับการถูกกลุ่มมหาอำนาจรวมตัวกันโจมตีฝรั่งเศสในอนาคต จึงนับว่าเขามีความสามารถทางการทูตเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง

 อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จหนีออกจากเกาะเอลบาและสามารถยึดอำนาจคืนได้ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคมถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ประเทศมหาอำนาจได้ยุติการประชุมลงชั่วคราวเพื่อรวมสรรพกำลังอีกครั้งในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองเกนต์ (Ghent) ในเบลเยียมและมีผลให้รัฐบาลตาเลรองสิ้นสุดลงด้วย นอกจากนี้การเสด็จกลับสู่อำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ที่มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการสร้างดุลแห่งอำนาจหันมาประนีประนอมกันและสามารถตกลงกันได้ในการแก้ปัญหาแซกโซนี ส่วนฝรั่งเศสซึ่งตาเลรองสามารถทำให้พ้นจากภาวะการอยู่อย่างโดดเดี่ยวและสามารถได้รับการยอมรับสถานภาพของการเป็นมหาอำนาจอีกครั้งก็ต้องสูญสลายลง ตาเลรองซึ่งยังคงอยู่ในกรุงเวียนนาจำเป็นต้องถอนตัวออกจากการประชุมและประเทศมหาอำนาจรวมตัวกันต่อต้านฝรั่งเศสอีกครั้ง และก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะปราชัยในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna)* เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ เพื่อกำหนดมาตรการการลงโทษฝรั่งเศสด้วยความรุนแรงกว่าใน ค.ศ. ๑๘๑๔ สนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ (Second Treaty of Paris)* เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ทำให้ฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ถูกยึดครองจุดยุทธศาสตร์ สูญเสียดินแดนและอื่น ๆ นับว่าเป็นการทำลายข้อตกลงต่าง ๆ ที่ตาเลรองได้พยายามเจรจาไว้ใน ค.ศ. ๑๘๑๔

 อย่างไรก็ดี หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ถูกควบคุมตัวและต่อมาถูกนำไปคุมขังที่เกาะเซนต์ เฮเลนา (St. Helena) กลางมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ได้มีการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๒ (The Second Restoration) ขึ้น และอัญเชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ให้เสด็จกลับมาเป็นพระประมุขอีกครั้ง ตาเลรองได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ตาเลรองสามารถนำเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีกลับคืนสู่ฝรั่งเศสได้อีกครั้งในการประชุมใหญ่แห่งแอกซ์-ลา-ชาแปล ที่จัดให้มีขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๘ ซึ่งเป็นผลจากการจัดตั้งระบบการประชุมใหญ่ (Congress System) หรือความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* ซึ่งต้องการร่วมมือกันรักษาดุลอำนาจทางการเมืองและดำรงรักษาสันติภาพในยุโรปหลังสงครามนโปเลียนตาเลรองได้เป็นผู้แทนฝรั่งเศสอีกครั้ง และสามารถแสดงความสามารถทางการทูตเพื่อชี้ให้เห็นว่าฝรั่งเศสได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ อย่างเคร่งครัดและจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามข้อผูกมัด คำชี้แจงของตาเลรองทำให้มหาอำนาจพันธมิตรมีมติถอนกองทัพพันธมิตรออกจากภาคเหนือของฝรั่งเศสก่อนกำหนด ทั้งยังยอมรับให้ฝรั่งเศสมีฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคีซึ่งเท่ากับยกสถานะของฝรั่งเศสให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการรักษาดุลอำนาจทางการเมืองและดำรงรักษาสันติภาพในยุโรปตามข้อกำหนดของความร่วมมือแห่งยุโรป จึงนับว่าเป็นความสำเร็จทางการทูตของฝรั่งเศสอย่างมากที่สามารถฟื้นฟูสถานภาพเดิมในเวลาเพียงไม่กี่ปี

 บทบาททางการเมืองของตาเลรองได้ถดถอยลงหลังจากที่ดุ๊กแห่งแบร์รี (Duke of Berry) พระโอรสในเคานต์แห่งอาร์ตัว (Count of Artois) พระภาติยะในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และเป็นรัชทายาทลำดับที่ ๒ ต่อจากเคานต์แห่งอาร์ตัวถูกลอบปลงพระชนม์ มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเปิดโอกาสให้พวกอัลตรา (Ultra) หรือพวกกษัตริย์นิยมหัวรุนแรงที่เป็นฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ตาเลรองในฐานะผู้ที่เคยมีบทบาทในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการสังหารดุ๊กแห่งอ็องแก็ง (Duke of Enghien) สมาชิกของราชวงศ์บูร์บงซึ่งวางแผนจะลอบสังหารนโปเลียน โบนาปาร์ต ขณะดำรงตำแหน่งกงสุลคนที่ ๑ จึงถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เขาใช้ชีวิตเกษียณอย่างเงียบ ๆ ดำรงชีวิตแบบ “รัฐบุรุษอาวุโส”และเขียนบันทึกความทรงจำหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๔ เคานต์แห่งอาร์ตัวก็ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพระนามพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ พวกอัลตราก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเก่า

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ เมื่อความขัดแย้งระหว่างพวกเสรีนิยมกับพวกอัลตราเพิ่มขึ้นและสถานการณ์ทางการเมืองเขม็งเกลียวมากขึ้น ตาเลรองเห็นเป็นโอกาสหันไปร่วมมือกับพวกเสรีนิยมเพื่อที่จะขับพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ออกจากบัลลังก์ เมื่อเกิดสมัยการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolution of 1830)*หรือการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution) เมื่อชาวปารีสเดินขบวนเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ พวกอัลตราและรัฐบาลล้มเหลวในการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอีกทั้งทหารยังหันไปร่วมมือกับผู้ก่อการปฏิวัติ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ จึงถูกบังคับให้สละราชสมบัติและต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ตาเลรองได้รับหน้าที่ไปเจรจาทูลเชิญดุ๊กแห่งออร์เลออง (Duke of Orléans) ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นพระญาติของราชวงศ์บูร์บงให้ยอมรับมงกุฎของฝรั่งเศสที่ฝ่ายปฏิวัติร่วมกันถวายให้พระองค์ต่อมาในวันที่ ๓ สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ทูลเชิญให้พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเฉลิมพระนามพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป

 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ตาเลรองในวัย ๗๖ ปี ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองและการทูตอีกครั้ง โดยได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาปฏิเสธและขอรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนแทน และได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐–๑๘๓๔ ตาเลรองได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษให้แนบแน่น อีกทั้งในระยะแรกยังมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเบลเยียมที่ชาวเบลเยียมลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียกร้องให้แยกการบริหารเบลเยียมออกจากเนเธอร์แลนด์ที่เกิดจากการรวมตัวดินแดนทั้งสองตามข้อตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา จนเกิดเป็นการก่อการปฏิวัติและการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ตาเลรองสามารถโน้มน้าวให้อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษและแม่ทัพใหญ่ที่สามารถเผด็จศึกกองทัพฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียนครั้งสุดท้ายที่ยุทธการที่วอเตอร์ลู จัดการประชุมขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาปัญหานี้ โดยมีออสเตรียปรัสเซีย รัสเซีย และอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการประชุมแห่งเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๔–๑๘๑๕ มาร่วมประชุมกัน ที่ประชุมต่างรับรองเอกราชและการสถาปนาราชอาณาจักรเบลเยียมและได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๑

 ต่อมา ชาวเบลเยียมก็ได้เลือกเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชสกุลซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ (Saxe-Coburg-Gotha-Saalfeld) พระสวามีม่ายในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๑๗) มกุฎราชกุมารีแห่งอังกฤษ เป็นกษัตริย์แห่งเบลเยียมในพระนามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑–๑๘๖๕)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๒ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงอภิเษกสมรส กับเจ้าหญิงหลุยส์-มารี เทเรซา ชาร์ลอต อีซาแบล (Louise-Marie Thérésa Charlotte Isabelle) พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป นับว่าเป็นความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์เบลเยียมกับฝรั่งเศส

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ ขณะอายุ ๘๐ ปี ตาเลรองได้ลาออกจากการเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอังกฤษและได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบณ คฤหาสน์ วาล็องแซ พร้อมทั้งเขียนบันทึกความทรงจำ ขณะเดียวกันเขาก็กลับมามีศรัทธาในนิกายคาทอลิกอีกครั้งในวาระสุดท้ายของชีวิตพระอธิการเฟลิซ ดูปองลู (Abbé Félix Dupanloup) ได้มาเยี่ยมตาเลรองขณะป่วยหนัก เขาได้รับศีลอภัยบาปและศีลทาสุดท้ายเพื่อเป็นศีลเสบียงในการเตรียมตัวสำหรับการกลับไปหาพระเจ้า พร้อมกับลงนามในเอกสารที่มีถึงสันตะปาปา เกรกอรีที่ ๑๖ (Gregory XVI) เพื่อขอปรองดองกับศาสนจักร ขณะที่พระอธิการจะเจิมน้ำมันที่หลังมือทั้งสองของตาเลรอง เขากลับพลิกฝ่ามือให้พร้อมบอกว่าเขายังครองสมณศักดิ์บิชอป

 ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ เจ้าชายแห่งตาเลรองถึงแก่อสัญกรรมในรุ่งเช้าของวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๘ ขณะมีอายุ ๘๔ ปี ศพของเขาถูกฝังที่วาล็องแซ แม้เวลาจะผ่านไปร่วม ๒๐๐ ปี แต่แนวคิดของเขาเกี่ยวกับการทูตก็ยังคงได้รับความสนใจและศึกษา และทำให้เห็นว่าการทูตและชั้นเชิงทางการทูตระดับสูงสามารถเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันสงครามและการใช้ความรุนแรงระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบการปกครองต่างๆของฝรั่งเศสได้อีกด้วย วาทะของเขาที่ว่า “นักการทูตเมื่อกล่าวว่า ‘ใช่’หมายถึง‘อาจจะ’นักการทูตเมื่อกล่าวว่า ‘อาจจะ’ หมายถึง ‘ไม่’ และนักการทูตกล่าวว่า ‘ไม่’ เขาคนนั้นไม่ใช่นักการทูต” (A diplomat who says “yes” means “maybe” adiplomatwhosays “maybe” means “no”, and a diplomat who says “no” is no diplomat.) ยังคงใช้เป็นเครื่องเตือนสตินักการทูตในการเจรจาหารือทางการทูตที่ไม่ผูกมัดประเทศของตัวเองไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใดอย่างชัดเจนที่อาจสร้างความเสียเปรียบให้แก่ประเทศได้และชื่อของเขายังถูกนำไปเรียกหรือเป็นคำชมนักการทูตที่มีความสามารถ ไหวพริบ รู้เท่าทันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศว่า “เขาคือ ตาเลรอง” (He is Talleyrand).



คำตั้ง
Talleyrand-Périgord, Charles Maurice de
คำเทียบ
ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์
คำสำคัญ
- กรณีเอกซ์วายแซด
- การทลายคุกบาสตีย์
- การปกครองระบบกงสุล
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การประชุมใหญ่แห่งแอกซ์-ลา-ชาแปล
- ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๘๐๑
- ความร่วมมือแห่งยุโรป
- ตาเลรอง-เปรีกอร์, ชาร์ล โมริซ เดอ
- นโปเลียนที่ ๑
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- ประกาศสิทธิแห่งมนุษยชนและพลเมือง
- ปีศาจโผลกเผลก
- พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๐
- ยุคภูมิธรรม
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ระบบการประชุมใหญ่
- รัฐประหารเดือนบรูแมร์
- โรแบสปีแยร์, มักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี อีซีดอร์ เดอ
- เวลส์
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามนโปเลียน
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖
- สงครามเสมือน
- สนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ
- สนธิสัญญาทิลซิท
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๑
- สนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒
- สนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี
- สนธิสัญญาฟงแตนโบล
- สนธิสัญญาเวียนนา
- สนธิสัญญาอาเมียง
- สมัยร้อยวัน
- สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
- สัญญาสงบศึก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1754–1838
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๒๙๗–๒๓๘๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-