Paul VI (1897-1978)

สันตะปาปาปอลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๖๑)


สันตะปาปาปอลที่ ๖ ทรงเป็นประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๗๘ เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างของสภาคริสตจักรโรมันคาทอลิกให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นพระองค์ได้รับสมญาว่า “สันตะปาปานักจาริก” (Pilgrim Pope) เพราะเสด็จไปเยือนประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้งชาวคริสต์ต่างนิกายและผู้ที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ เป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่เสด็จออกนอกกรุงโรมโดยเครื่องบินพระองค์ทำให้สถาบันสันตะปาปาเข้มแข็งและเปิดกว้างจนได้รับการยอมรับกันมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 สันตะปาปาปอลที่ ๖ มีพระนามเดิมว่า โจวันนี บัตติสตา เอนรีโก อันโตนีโอ มารีอา มอนตีนี (Giovanni Battista Enrico Antonio Maria Montini) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ ที่ตำบลกอนเชซีโอ (Concesio) จังหวัดเบรชา (Brescia) แคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะดี บิดาเป็นทนายความและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ทั้งยังเป็นผู้นำในกิจการต่าง ๆ ของชุมชนคาทอลิกแห่งเมืองเบรชา ส่วนมารดาก็เป็นบุคคลตัวอย่างและเป็นผู้นำกลุ่มสตรีคาทอลิกของเมืองท่านมีพี่ชาย ๑ คนเป็นทนายความและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีน้องชาย ๑ คนเป็นแพทย์ ครอบครัวมอนตีนีจึงเป็นครอบครัวที่มีบทบาทและได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม

 มอนตีนีเป็นเด็กฉลาดแต่สุขภาพไม่แข็งแรง จึงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนใกล้บ้านซึ่งเป็นโรงเรียนของพวกเยซูอิต และแม้เมื่อเข้ารับการศึกษาที่สามเณราลัยในจังหวัด ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ก็ได้รับอนุญาตให้เป็นนักเรียนไป-กลับ โดยใช้เวลาศึกษาส่วนใหญ่ที่บ้านอย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ท่านได้บวชเป็นพระ ณ มหาวิหารแห่งเบรชา และถูกส่งไปเรียนกฎหมายโรมันที่เกี่ยวกับศาสนา (canon law) ที่มหาวิทยาลัย เกรโกเรียน (Gregorian University) กรุงโรม พร้อม ๆ ไปกับเรียนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโรม (University of Rome) ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ก็ได้เรียนวิชาการทูตที่สถาบันโนบีลีเอ็ก คลิซิอัสตีชี (Accademia dei Nobili Ecclesiastici) ด้วยขณะยังศึกษาอยู่นั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครสมณทูตที่กรุงวอร์ซอ โปแลนด์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงและไม่อาจทนต่อความหนาวเย็นได้จึงทำเรื่องขอย้ายกลับกรุงโรมเพื่อศึกษาต่อ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๕ มอนตีนีได้รับแต่งตั้งเป็นเสมียนตราประจำสำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐวาติกันควบคู่ไปกับการสอนที่สถาบันโนบีลีเอ็กคลิซิอัสตีชี ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ สันตะปาปา ไพอัสที่ ๑๑ (Pius XI ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๓๙)* ทรงแต่งตั้งให้เป็นจิตตาธิการ (Chaplain) ประจำสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยคาทอลิกอิตาลี (Federation of Catholic University Students-FUCI) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และทำให้ท่านมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่ในเวลาต่อมาเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของอิตาลี

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๗ มอนตีนีได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการประจำสำนักเลขาธิการและในปลาย สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ได้เป็นรักษาการเลขาธิการใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ในสมัยของสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๒ (Pius XII ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๕๘) ในระหว่างสงครามสำนักงานของท่านปฏิบัติภารกิจอย่างหนักในด้านสังคมสงเคราะห์และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในระยะ ๑๐ ปีหลังสงคราม แม้ท่านจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นคาร์ดินัล (cardinal) แต่ก็ปฏิเสธด้วยเกรงว่าจะไม่มีเวลาทำงานสังคมสงเคราะห์ที่ท่านรัก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๔ มอนตีนีได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งเมืองมิลาน (Archbishop of Milan) โดยรับอภิเษกในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ โดยไม่ได้เป็นคาร์ดินัล ระหว่างดำรงตำแหน่งนี้ ท่านเอาใจใส่พวกกรรมกรเป็นพิเศษจนได้รับสมญานามว่า “อาร์ชบิชอปของกรรมกร” (archbishop of the workers) นอกจากนั้นท่านยังส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาในเขตสังฆมณฑลอย่างกว้างขวาง ทั้งยังสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่ข่าวสารในสิ่งตีพิมพ์ขององค์กรคริสตจักรให้แก่ชุมชนในทุกระดับ ท่านจึงเป็นอาร์ชบิชอปที่เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ชื่นชมของชาวคาทอลิกไม่เฉพาะแต่ในเขตที่ท่านรับผิดชอบโดยตรง ปลาย ค.ศ. ๑๙๕๘ สันตะปาปา จอห์นที่ ๒๓ (John XXIII ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๓) ได้แต่งตั้งท่านเป็นคาร์ดินัลและได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญมากมาย หลังจากนั้น

 ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๓ คาร์ดินัลมอนตีนีได้รับเลือกจากที่ประชุมคาร์ดินัลจำนวน๘๐ องค์ให้เป็นสันตะปาปาสืบต่อจากสันตะปาปาจอห์นที่ ๒๓ โดยเฉลิมพระนามสันตะปาปาปอลที่ ๖ ตามชื่อนักบุญปอล (Saint Paul) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น“อัครสากลแห่งชนต่างศาสนา” และเป็น“ทุกอย่างสำหรับทุกคน” ทันทีที่ได้รับเลือกตั้งทรงประกาศให้พระการุญบริบูรณ์สำหรับพระพรแก่กรุงโรมและโลกเป็นภาษาอิตาลี (แทนภาษาละติน) และในการเสวยพระกระยาหารกลางวันมื้อแรกหลังการเลือกตั้งก็ยังคงประทับ ณ ที่นั่งเดิมแทนที่นั่งหัวโต๊ะ นอกจากนั้นในสมณพิธีสวมมงกุฎซึ่งตามประเพณีเป็นพิธีการยาวนานไม่ตํ่ากว่า ๕ ชั่วโมง ก็โปรดให้ตัดทอนเหลือเพียง ๓ ชั่วโมง และให้มีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ในการปรากฏพระองค์ให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี ณ ลานหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ พระองค์ก็ทรงปราศรัยสั้นๆ และสื่อถึงชาวโลกอย่างกว้างไกลเป็นภาษาต่าง ๆ ๙ ภาษา เริ่มด้วยภาษาละตินอิตาลี ฝรั่งเศสอังกฤษ เยอรมันสเปนโปรตุเกสโปแลนด์ และรัสเซีย จึงนับเป็นสัญลักษณ์แรก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติของสันตะปาปาพระองค์ใหม่

 สันตะปาปาปอลที่ ๖ เริ่มงานบริหารด้วยการปฏิรูปองค์กรอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้สถาบันศาสนาตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ได้ดีขึ้นโดยเริ่มที่การแก้ไขกฎหมายโรมันที่เกี่ยวกับศาสนาให้เอื้อต่อการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้ทันสมัย เช่นกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งงานที่อนุญาตให้ชาวคาทอลิกแต่งงานกับชาวคริสต์ต่างนิกายหรือกับคนต่างศาสนา หรืออนุญาตให้คู่แต่งงานคุมกำเนิดโดยใช้วิธี ธรรมชาติได้ ซึ่งทรงเขียนไว้ในพระสมณสารชื่อ Humanae Vitae (Of Human Life) ทำให้พระองค์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับสังฆสภา (Synod of Bishops) ที่ทำให้เป็นสภาถาวร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในสถาบันสันตะปาปาและมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาให้ครอบคลุมบิชอปชาติต่าง ๆ มากขึ้นสำหรับการบริหารจัดการภายในองค์กรก็ให้ลดขนาดขององค์กรแต่ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากภายนอกประเทศมากขึ้นที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสภาคาร์ดินัลให้มีขนาดเล็กลงและจำกัดอายุคาร์ดินัลให้มีอายุไม่เกิน๘๐ ปีจึงมีสิทธิ์เลือกสันตะปาปาสำหรับนักบวชโดยทั่วไปก็ให้สิทธิ์บิชอปอนุมัตินักบวชที่มีอายุตั้งแต่ ๗๕ ปีเกษียณได้

 การปฏิรูปสำคัญที่กระทบคนจำนวนมากคือการปฏิรูปพิธีกรรมในโบสถ์ ในประกาศว่าด้วยระเบียบใหม่เกี่ยวกับการประกอบพิธีรับศีลมหาสนิทแบบใหม่ (New Order of Mass) ค.ศ. ด๙๗๐ ได้ตัดทอนพิธีรับศีลมหาสนิทหรือมิสซาในโบสถ์ให้สั้นเข้าและลดการใช้ภาษาละตินในการสวดโดยอนุญาตให้ใช้ภาษาถิ่นแทนทั้งยังมีการปรับปรุงบทสวดครั้งใหญ่ และเปิดโอกาสให้ใช้ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสมัยใหม่แทรกได้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้พิธีรับศีลมหาสนิทแบบจารีตกลายเป็นของแปลกและพิเศษพิสดาร ขณะที่พิธีกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นของปรกติธรรมดา

 นอกจากการปฏิรูปที่ทำให้สถาบันสันตะปาปามีลักษณะคล่องตัวเป็นประชาธิปไตยและนานาชาติมากขึ้นแล้วสันตะปาปาปอลที่ ๖ ยังทรงปรับนโยบายการทูตของคริสตจักรโรมันคาทอลิกให้มีความยืดหยุ่นประนีประนอมและเป็นมิตรกับทั้งชาวคริสต์ต่างนิกายและกลุ่มคนต่างชาติต่างศาสนาในทุกระดับ โดยคำนึงถึงเอกภาพและความไพบูลย์ของประชาชนทั้งโลกเป็นสำคัญ พระองค์ทรงได้รับสมญาว่า “สันตะปาปานักจาริก” ตลอดสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับหลายประเทศใน๖ ภาคพื้นทวีป เช่นใน ค.ศ. ๑๙๖๔ เสด็จไปนครเยรูซาเลม (Jerusalem) และดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ค.ศ. ๑๙๖๕ เสด็จไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เกี่ยวกับปัญหาสงครามและสันติภาพ ค.ศ. ๑๙๖๗ เสด็จไปทรงร่วมประชุมสภาคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่นครบอมเบย์ (มุมไบ) ประเทศอินเดีย และกรุงโบโกตา (Bogota) ประเทศโคลอมเบีย ค.ศ. ๑๙๖๙ ได้ทรงจาริกไปหลายประเทศในแอฟริกาและใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เสด็จเยือนกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และที่สนามบินก็มีเหตุให้ตกพระทัยจากความพยายามปองร้ายหมายชีวิตพระองค์ แต่ไม่ประสบผล

 ผลงานสำคัญของสันตะปาปาปอลที่ ๖ คือ การสร้างเอกภาพในหมู่คริสตจักรนิกายต่าง ๆ เพื่อยุติความขัดแย้งทางศาสนาที่ดำเนินมาเป็นเวลานานด้วยการสานต่อการสร้างสัมพันธ์กับนิกายแองกลิคัน (Anglican Church) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๐ ในช่วงปลายสมัยของสันตะปาปาจอห์นที่ ๒๓ ได้มีการพบปะระหว่างสันตะปาปาปอลที่ ๖ และอาร์ชบิชอปไมเคิล แรมซีย์ (Michael Ramsey) ประมุขฝ่ายแองกลิคันหลายครั้ง จนนำไปสู่การออกแถลงการณ์ร่วมมอลตา (Joint Malta Declaration) ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการแสวงหาข้อยุติในความขัดแย้งระหว่าง ๒ นิกายที่มีมาตั้งแต่ครั้งการปฏิรูปศาสนา (Reformation) และทำให้สันตะปาปาเชิญชวนให้ชาวโรมันคาทอลิกรักใคร่ชาวแองกลิคันประดุจเป็น“นิกายพี่น้องที่รักของเรา” (our beloved sister Church)

 สันตะปาปาปอลที่ ๖ ยังประสบความสำเร็จในการ ฟื้นฟูสัมพันธภาพกับนิกายออร์ทอดอกซ์ (Orthodox) ซึ่งขัดแย้งกันอย่างรุนแรงตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ พระองค์ได้มีโอกาสพบกับอัครบิดรแห่งเยรูซาเลม (Patriarch of Jerusalem) ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ และอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล (Patriarch of Constantinople) ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ ระหว่างนั้นใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ได้มีแถลงการณ์ร่วมคาทอลิก-ออร์ทอดอกซ์ (Catholic-Orthodox Joint Declaration) ซึ่งแม้จะไม่ได้ยุติความแตกแยก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงบางประการให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อการคืนดีกันในท้ายที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ อัครบิดรแห่งอะเล็กซานเดรีย (Patriarch of Alexandria) ก็ได้ไปเยือนนครรัฐวาติกันและมีโอกาสเข้าเฝ้าสันตะปาปาปอลที่ ๖ ถึง ๓ ครั้ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของนิกายทั้งสอง

 นับแต่ ค.ศ. ๑๙๖๕ สันตะปาปาปอลที่ ๖ ได้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกเข้าร่วมกิจกรรมกับโปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ โดยผ่านสภาคริสตจักรโลก (World Council of Churches) ได้มีการจัดทำแผนงานและกำหนดโครงข่ายงานที่จะทำร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาและความเป็นธรรมในสังคม ปัญหาความยากจนและความหิวโหยของประชากรในโลกที่สาม เป็นต้นนอกจากนั้นสันตะปาปาปอลที่ ๖ ยังทรงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและความร่วมมือกันระหว่างชาวโรมันคาทอลิกกับชาวโปรเตสแตนต์ต่างนิกายในระดับต่าง ๆ แต่ในระดับสูงสันตะปาปาปอลที่ ๖ ทรงดำเนินการด้วยพระองค์เองในการกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำนิกายต่าง ๆ เช่นนิกายลูเทอแรน (Lutheran Church) นิกายเมทอดิสต์ (Methodist Church)

 ตลอด ๑๕ ปี ของการดำรงตำแหน่งประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิก สันตะปาปาปอลที่ ๖ ได้ทรงทำให้สถาบันสันตะปาปาแข็งแกร่งทันสมัย และก้าวล่วงพรมแดนของคาบสมุทรอิตาลีไปสู่โลกภายนอกที่กว้างไกล คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้สร้างโอกาสใหม่ที่จะทำงานร่วมกับคริสตจักรนิกายอื่นๆ อย่างเป็นเอกภาพ ทั้งยังอยู่ในสภาพพร้อมมากขึ้นที่จะร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ชาวโลกทั้งมวล

 สันตะปาปาปอลที่ ๖ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ ด้วยโรคหัวใจ พระศพถูกฝังไว้ใต้พื้นมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เช่นเดียวกับสันตะปาปาพระองค์อื่นเพียงแต่ไม่มีเครื่องประดับหลุมศพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการนิยมความเรียบง่ายซึ่งพระองค์ทรงยึดมั่นจนวาระสุดท้าย.



คำตั้ง
Paul VI
คำเทียบ
สันตะปาปาปอลที่ ๖
คำสำคัญ
- การปฏิรูปศาสนา
- จอห์นที่ ๒๓, สันตะปาปา
- แถลงการณ์ร่วมคาทอลิก-ออร์ทอดอกซ์
- แถลงการณ์ร่วมมอลตา
- นิกายเมทอดิสต์
- นิกายออร์ทอดอกซ์
- นิกายแองกลิคัน
- ไพอัสที่ ๑๑, สันตะปาปา
- แรมซีย์, อาร์ชบิชอปไมเคิล
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาคริสตจักรโลก
- สหประชาชาติ
- สังฆสภา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1897-1978
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๖๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-