ราชอาณาจักรสวีเดนเป็นประเทศขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของทวีปยุโรป ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ในอดีตเป็นดินแดนของพวกไวกิ้ง (Viking) และเคยรวมตัวกับเดนมาร์กและนอร์เวย์ในสหภาพแห่งคาลมาร์ (Union of Kalmar) ในปลายสมัยกลาง (Middle Ages) แต่แยกตัวออกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ สวีเดนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ปัจจุบันเป็นประเทศที่ปลอดจากการยุทธ์เป็นเวลาติดต่อกันร่วม ๒๐๐ ปี นับว่าเป็นประเทศที่มีสันติภาพยาวนานกว่าประเทศใด ๆ ในโลก
สวีเดนมีเนื้อที่ ๔๔๙,๙๖๔ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศฟินแลนด์และนอร์เวย์ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศฟินแลนด์และจดทะเลบอลติกทิศใต้จดทะเลบอลติกและติดต่อกับประเทศเดนมาร์ก และทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศนอร์เวย์ เมืองหลวงคือ กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) ใช้ภาษาสวีเดนเป็นภาษาราชการมีประชากรประมาณ ๙,๗๒๓,๘๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเทอรัน (Lutheranism)
สวีเดนมีร่องรอยของมนุษย์อาศัยแล้วเมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐-๘,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชหรือก่อนยุคนํ้าแข็งสุดท้าย โดยยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเร่ร่อนหาอาหารตามธรรมชาติ ชุมชนเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ปรากฏขึ้นในราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการนำสัมฤทธิ์และเหล็กมาใช้ในการทำอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในราว ๑,๕๐๐ ปี และ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ตามลำดับการใช้ขวานที่ทำจากเหล็กช่วยให้การบุกเบิกที่ดินเพื่อการเกษตรง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางการเกษตรและการเกิดหมู่บ้านชาวนา อย่างไรก็ดี ชุมชนดังกล่าวก็มิได้ทิ้งหลักฐานของชื่อภูมิสถานให้สืบค้นได้ว่าชาวพื้นเมืองตั้งเดิมดังกล่าวนี้เป็นชนเผ่าใด ยกเว้นแต่พวกแลปป์ (Lapp) ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือที่ห่างไกลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเรื่องราวของบรรพบุรุษกลุ่มหนึ่งของชาวสวีเดนปรากฏในงานเขียนของแทซิตัส (Tacitus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ ๑ ว่าในเขตสเวอาลันด์ (Svealand) ทางตะวันออกของสวีเดนในปัจจุบัน ในบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบเมลาเริน (Mälaren) ซิกทูนา (Sigtuna) และบิร์คา (Birka) เป็นที่อยู่ของพวกซูเอียน (Suiones) ซึ่งเป็นนักเดินเรือที่ทรงพลังทั้งในด้านอาวุธและเรือที่ครอบครอง จึงสันนิษฐานกันว่าชื่อของประเทศสวีเดนคงมาจากชื่อของชนเผ่านี้และชื่อของดินแดนที่พวกเขาครอบครอง ส่วนดินแดนทางตอนใต้ในเขตเยอทาลันต์ (Götaland) เป็นที่อาศัยของพวกยีต (Geat) หรือเยอทาร์ (Gotar) ซึ่งในเวลาต่อมาพวกซูเอียนได้ขยายอำนาจเข้าครอบครองด้วย
บรรพบุรุษของชาวสวีเดนมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า “นอร์สแมน” (Norseman) หรือ “นอร์ทแมน” (Northman) และ “ไวกิ้ง” เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ เมื่อเกิดปัญหาการเพิ่มจำนวนประชากร พวกไวกิ้งสวีเดนซึ่งเป็นนักเดินเรือที่มีความสามารถก็เริ่มเดินทางไปแสวงโชคในดินแดนทางตะวันออกของทะเลบอลติกซึ่งมีทั้งพวกที่เข้าปล้นสะดมเมืองต่าง ๆ และพวกทำการค้า ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ซึ่งเป็นระยะแรกของสมัยไวกิ้ง (Age of Viking) พวกไวกิ้งสวีเดนล่องเรือไปมาในทะเลดำและทะเลแคสเปียน (Caspian) และทำการค้ากับจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) และรัฐกาหลิบแห่งแบกแดด (Baghdad) โดยใช้เส้นทางแม่นํ้าสายต่าง ๆ ในรัสเซียนักประวัติศาสตร์อาหรับเคยบรรยายถึงพวกไวกิ้งกลุ่มนี้ว่าตัวสูงใหญ่ ไว้หนวดเครา เจ้าอารมณ์ และกลิ่นตัวแรง ใน ค.ศ. ๘๖๒ รูริค (Rurik) ผู้นำของไวกิ้งสวีเดนอีกกลุ่มก็สามารถยึดครองเมืองต่าง ๆ ของพวกสลาฟตะวันออกได้และสถาปนาราชวงศ์วาแรนเจียน (Varangian) ขึ้นปกครองเมืองนอฟโกรอด (Novgorod) ตลอดจนเมืองท่าตามชายฝั่งทางตอนเหนือของทะเลบอลติก ในเวลาไม่ช้าราชวงศ์วาแรนเจียนก็สามารถจัดตั้งอาณาจักรเคียฟ (Kiev) ขึ้นนักประวัติศาสตร์รัสเซียบางคนยังสันนิษฐานว่า คำว่า “รัสเซีย” อาจมาจากชื่อ “รัส” (Rus) ซึ่งเป็นชื่อที่พวกไวกิ้งหรือชาวสแกนดิเนเวียเรียกตัวเองด้วย
ในด้านศาสนา แม้ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๙ เซนต์แอนส์การ์หรือแอนส์คาร์ (Ansgar/Anskar) จะนำคริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแผ่โดยหวังว่าศาสนาจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมก้าวร้าวของพวกไวกิ้งสวีเดนได้ แต่ก็ล้มเหลว
ในระยะเวลาแรก ๆ ของการจัดตั้งราชอาณาจักรกษัตริย์สวีเดนเป็นตำแหน่งเลือกตั้ง พระราชอำนาจถูกจำกัดโดยจารีตและคอมมูนของชาวนาที่มีอำนาจปกครองตนเองตลอดจนสภาของเสรีชนประจำมณฑลต่าง ๆ หรือ “thing” ซึ่งมีอำนาจในการยอมรับหรือปฏิเสธกษัตริย์ในภูมิภาคของตน ประมาณ ค.ศ. ๑๒๐๐ ครอบครัวของบิร์เยอร์ โบรซา (Birger Brosa) แห่งตระกูลฟอลคุง (Folkung) ได้ก้าวขึ้นมีตำแหน่งในด้านการเงินและเป็น “มือขวา” ของกษัตริย์บุคคลสำคัญในตระกูล ได้แก่ บิร์เยอร์ ยาร์ล (Birger Jari) ซึ่งระหว่าง ค.ศ.๑๒๔๘-๑๒๖๖ ขณะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการมีอำนาจปกครองสวีเดนอย่างแท้จริง บิร์เยอร์ ยาร์ลได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งกรุงสตอกโฮล์ม เพื่อใช้เป็นเมืองหน้าด่านในการป้องกันศัตรูมิให้โจมตีบริเวณชุมชนแถบทะเลสาบเมลาเริน นอกจากนี้ เขายังเชื้อเชิญพ่อค้าและช่างฝืมือชาวเยอรมันให้เดินทางเข้ามาอาศัยในสวีเดนเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจจนทำให้โนเวลาต่อมาเกิดเมืองใหม่หลายแห่งเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางการค้า รวมทั้งการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานของสันนิบาตฮันเซียติก (Hanseatic League) หรือกลุ่มพวกพ่อค้าเยอรมันที่ทรงอิทธิพลอีกด้วย
ใน ค.ศ. ๑๒๕๐ วาลเดอมาร์ (Valdemar) บุตรชายคนโตของบิร์เยอร์ ยาร์ลเป็นคนแรกของตระกูลหรือต่อมาคือราชวงศ์ฟอลคุงที่ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ แต่ใน ค.ศ. ๑๒๖๖ ทรงถูกมางนุส ลาดูโลส (Magnus Ladulas) พระอนุชาช่วงชิงอำนาจและขึ้นเป็นกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๒๗๕ พระเจ้ามางนุส ลาดูโลส (ค.ศ. ๑๒๗๕-๑๒๙๐) ทรงนำรูปแบบการปกครองระบอบฟิวดัล (Feudalism) ของยุโรปมาประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดชนชั้นหรือฐานันดรของขุนนางใหม่คือพวกอัศวินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และพวกคหบดี (burghers) แยกออกจากขุนนางระดับสูง เกิดชนชั้นกลาง (burgess) ที่อาศัยในเมืองและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือกฎบัตร
อย่างไรก็ดี ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ สวีเดนก็เริ่มอ่อนแอลงจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งกันระหว่างพระราชโอรสกับพระราชนัดดาของกษัตริย์จนทำให้ต้องมีการให้อำนาจกึ่งอิสระแก่ราชรัฐต่าง ๆ ภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจในยุโรปและการเข้ามามีอำนาจของพวกพ่อค้าเยอรมันในสวีเดน ตลอดจนภัยของกาฬโรคหรือความตายสีดำ (Black Death) ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๔๙-๑๓๕๐ ที่ระบาดและคร่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากทั่วคาบสมุทรสแกนดิเนเวียขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๓๑๙ มางนุส เอริกซอน (Magnus Eriksson) พระราชนัดดา (หลานตา) ในพระเจ้ามางนุส ลาดูโลส ชันษา ๓ ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ทรงได้สืบทอดบัลลังก์นอร์เวย์ก็ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดนด้วย นับเป็นการมีกษัตริย์ร่วมกันระหว่างนอร์เวย์กับสวีเดนเป็นครั้งแรกทรงเฉลิมพระนาม พระเจ้ามางนุสที่ ๒ (Magnus II ค.ศ. ๑๓๑๙-๑๓๖๔) แต่ด้วยพระชันษาอันเยาว์วัยจึงทรงถูกพวกขุนนางบีบให้จำกัดพระราชอำนาจ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๓๕๐ พระเจ้ามางนุสที่ ๒ ก็ทรงประกาศใช้กฎหมายแผ่นดิน (Land Law) ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของสวีเดนเพื่อคํ้าประกันสิทธิของพลเมืองและกำหนดให้กษัตริย์ต้องปกครองตามคำแนะนำของพวกขุนนาง
ใน ค.ศ. ๑๓๖๕ ขุนนางสวีเดนได้ก่อกบฏต่อพระเจ้ามางนุสที่ ๒ และขับพระองค์ออกจากบัลลังก์ ทรงเป็นสมาชิกองค์สุดท้ายของราชวงศ์ฟอลคุงที่ได้ปกครองสวีเดนพวกขุนนางได้เลือกอัลเบรชท์แห่งเมคเลนบูร์ก (Albrecht of Mecklenburg) พระภาคิไนยขึ้นเป็นกษัตริย์ เฉลิมพระนาม พระเจ้าอัลเบิร์ต (Albert ค.ศ. ๑๓๖๔-๑๓๘๙) แต่ในเวลาไม่ช้า พระเจ้าอัลเบิร์ตก็ไม่ทรงยินยอมที่จะตกเป็นเครื่องมือของขุนนางอีกต่อไป ทั้งที่พระองค์ทรงเคยปฏิญาณจะเคารพในอำนาจและสิทธิของขุนนางและชนชั้นกลางในวันที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงพยายามที่จะสถาปนาอำนาจปกครองเป็นอิสระจากการควบคุมของพวกขุนนางด้วย ดังนั้น พวกขุนนางสวีเดนจึงก่อกบฏขึ้น และ ใน ค.ศ. ๑๓๘๘ ได้รวมตัวกันถวายราชบัลลังก์สวีเดนแก่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์กาเรตที่ ๑ (Margaret I) แห่งเดนมาร์ก (ค.ศ. ๑๓๘๗-๑๓๙๗) และนอรเวย (ค.ศ. ๑๓๐๗-๑๓๙๗) พระมเหสีม่ายของพระเจ้าฮากอนที่ ๖ (Haakon VI ค.ศ. ๑๓๕๕-๑๓๘๐) แห่งนอร์เวย์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามางบุสที่ ๒ ความสัมพันธ์ของราชบัลลังก์ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสามที่เกิดจากการอภิเษกสมรสและระบบเครือญาติจึงทำให้เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดนรวมตัวกันเป็น “สหภาพแห่งคาลมาร์” (Union of Kalmar) ใน ค.ศ. ๑๓๙๗ โดยมีเอริกแห่งพอเมอเรเนีย (Erik of Pomerania) พระญาติใกล้ชิดทรงได้รับเลือกเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของสหภาพนี้ อย่างไรก็ดี การรวมตัวของราชอาณาจักรทั้งสามก็เป็นเพียงการมีกษัตริย์ร่วมกันเท่านั้น มิใช่เป็นการรวมตัวทางการเมือง แต่ละราชอาณาจักรยังคงมีเสรีภาพในการปกครองตนเอง
อย่างไรก็ดี แม้จะสูญเสียตำแหน่งพระประมุขของราชอาณาจักรเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ตามข้อตกลงกับบรรดาผู้แทนของชนชั้นขุนนางของทั้ง ๓ ราชอาณาจักร ณ เมืองคาลมาร์ แต่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์กาเรตที่ ๑ ก็ยังคงมีพระราชอำนาจปกครองสหภาพแห่งคาลมาร์ต่อไปในฐานะผู้สำเร็จราชการ และพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการรวบอำนาจปกครองไว้ในส่วนกลางได้จนกระทั่งเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๑๒ พระเจ้าเอริกทรงพยายามดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจปกครองต่อไป แต่เนื่องจากไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถและขาดกุศโลบายจึงทำให้ทรงขัดแย้งกับพวกขุนนางและชาวเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจของสันนิบาตฮันเซียติก และมีผลให้การล้าทางทะเลของสวีเดนซบเซาลงด้าย ใน ค.ศ. ๑๔๓๔ ชาวเหมืองแร่แห่งมณฑลแบร์กสลาเยิน (Bergslagen) ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวนี้รวมทั้งถูกเรียกเก็บภาษีมากขึ้นจึงก่อกบฏขึ้นโดยมีเองเกลเบรคท์ เองเกลเบรคท์ซอน (Engelbrekt Engelbrektsson) เป็นผู้นำ ในเวลาอันรวดเร็ว ชาวนา ชาวเมือง นักบวช และขุนนางต่างก็ให้การสนับสนุนการกบฏครั้งนี้ ใน ค.ศ. ๑๔๓๕ ผู้แทนของฐานันดรทั้งสี่ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ ดังกล่าวก็จัดการประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติของความขัดแย้ง นับว่าเป็นครั้งแรกของจัดการประชุมของสภาแห่งชาติหรือสภาริกส์ดัก (Riksdag) ของสวีเดน อีกทั้งยังเป็นการยืนยันฐานะของชนชั้นชาวนาในสวีเดน (รวมทั้งฟินแลนด์) ว่ายังคงสามารถรักษาสิทธิของเสรีชนไว้ได้และมีสถานะทางสังคมสูงกว่าชาวนาในดินแดนยุโรปอื่น ๆ ที่ในขณะนั้นมีสถานภาพเป็นเพียงทาสติดที่ดิน (serf) เท่านั้น ที่ประขุมได้แต่งตั้งให้คาร์ล คนุตซอน (Karl Knutsson) ขุนนางที่เรืองอำนาจชาวสวีเดนเป็นผู้สำเร็จราชการ และต่อมาเขาก็ได้ขับพระเจ้าอีริกออกจากบัลลังก์
ระหว่าง ค.ศ. ๑๔๔๐-๑๔๔๒ คริสโตเฟอร์แห่งบาวาเรีย (Christopher of Bavaria) พระภาคิไนยในพระเจ้าเอริกทรงได้รับเลือกเป็นกษัตริย์เดนมาร์ก (ค.ศ. ๑๔๔๐) สวีเดน (ค.ศ. ๑๔๔๑) และนอร์เวย์ (ค.ศ. ๑๔๔๒) แต่เมื่อพระเจ้าคริสโตเฟอร์สวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๔๘ เดนมาร์กและนอร์เวย์ต่างไม่ยอมรับพระเจ้าคาร์ลที่ ๘ (Carl VIII ค.ศ. ๑๔๔๘-๑๔๕๗) หรืออดีตคาร์ล คนุตซอนที่สวีเดนเลือกเป็นกษัตริย์ของพวกตน และหันไปเลือกคริสเตียนแห่งออลเดนบูร์ก (Christian of Oldenburg) แทน ซึ่งต่อมาเฉลิมพระนามพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑ (Christian I ค.ศ. ๑๔๔๘-๑๔๘๑) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกแยกกันในสหภาพแห่งคาลมาร์ อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาราชอาณาจักรทั้งสามสามารถตกลงกันได้ว่าหากกษัตริย์พระองค์ใดสวรรคตก่อนองค์ที่เหลือก็ให้ขึ้นครองบัลลังก์ของราชอาณาจักรอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น สหภาพแห่งคาลมาร์จึงยังคงรักษาสถานภาพเดิมไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ กับสวีเดน และในระหว่างพวกขุนนางสวีเดนด้วยกันที่มีทั้งผู้สนับสนุนสหภาพ และผู้สนับสนุนความเป็นชาติและเอกราชของสวีเดน ระหว่างที่ครองราชสมบัติจนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๗๐ พระเจ้าคาร์ลที่ ๘ แห่งสวีเดนทรงถูกขับออกจากบัลลังก์และทรงได้รับการอัญเชิญให้กลับมาปกครองอีกถึง ๒ ครั้งด้วยกัน ซึ่งมีทั้งทรงถูกขับโดยพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑ และขุนนางสวีเดน
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ตระกูลสตูเรอ (Sture) ได้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเอกราชชองสวีเดนจากการรุกรานชองกษัตริย์เดนมาร์ก ขณะเดียวกัน พระเจ้าคริสเตียนที่ ๒ (Christian II ค.ศ. ๑๕๑๓-๑๕๒๓) แห่งเดนมาร์กก็มิทรงละทิ้งความพยายามที่จะเข้าปกครองสวีเดนโดยตรง อีกทั้งการแบ่งแยกระหว่างพวกสหภาพนิยม (unionist) กับพวกรักชาติก็ยังคงดำเนินต่อไปใน ค.ศ. ๑๕๑๗ สเตนสตูเรอ คนหลัง (Sten Sture the Younger) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการได้เรียกประชุมสภาริกส์ดักเพื่อขับกุสตาฟ ทรอลเลอ อาร์ชบิชอป แห่งอุปป์ซาลา (Gustav Trolle, Archbishop of Uppsala) ซึ่งเป็นพวกสหภาพนิยมที่สนับสนุนการรวมตัวของสวีเดนในสหภาพแห่งคาลมาร์ออกจากตำแหน่ง การกระทำอันรุนแรงดังกล่าวของเขาทำให้สันตะปาปาลีโอที่ ๑๐ (Leo X ค.ศ. ๑๕๑๓-๑๕๒๑) ประกาศขับสตูเรอและพรรคพวกออกจากศาสนา ขณะเดียวกัน พระเจ้าคริสเตียนที่ ๒ แห่งเดนมาร์ก จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะยกทัพเข้ารุกรานสวีเดนใน ค.ศ. ๑๕๒๐ แม้สตูเรอจะถูกสังหารและกรุงสตอกโฮล์มยอมแพ้แก่ศัตรู แต่ขุนนางชั้นผู้นำจำนวน ๘๒ คนก็ถูกพระเจ้าคริสเตียนที่ ๒ สังหารหมู่อย่างทารุณในเหตุการณ์ “การนองเลือดที่สตอกโฮล์ม” (Stockholm Bloodbath) การปราบปรามอย่างทารุณดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการรวมตัวของชาวสวีเดนในการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๕๒๑ โดยมีกุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa) ขุนนางสวีเดนที่สูญเสียญาติสนิทหลายคนในเหตุการณ์การนองเลือดที่สตอกโฮล์มเป็นหัวหน้าชัยชนะเหนือพระเจ้าคริสเตียนที่ ๒ และกองทัพเดนมาร์กในเวลาต่อมาจึงทำให้กุสตาฟ วาซาได้รับอัญเชิญให้ขึ้นครองราชบัลลังก์สวีเดน เฉลิมพระนาม พระเจ้ากุสตาฟที่ ๑ (Gustav I ค.ศ. ๑๕๒๓-๑๕๖๐)
พระเจ้ากุสตาฟที่ ๑ ทรงนำสวีเดนพันจากสังคม สมัยกลางและก้าวสู่การเป็นรัฐชาติ (nation state) ทรงปฏิรูประบบการปกครอง เงินตรา และกองทัพ ตลอดจนการสร้าง ความแข็งแกร่งให้สถาบันกษัตริย์โดยการให้สภาริกส์ดัก ประกาศให้มีการใช้ระบบการสืบสันตติวงศ์แทนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงใช้เหตุการณ์การปฏิรูปศาสนา (Reformation) ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างชาติสวีเดนโดยปฏิเสธอำนาจของคริสตจักรโรมันคาทอลิกใน ค.ศ. ๑๕๓๑ และทันไปนับถือนิกายลูเทอแรนทรงเข้ายึดทรัพย์สินของ โบสถ์โรมันคาทอลิกเป็นสมบัติของแผ่นดินความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟที่ ๑ ทำให้พระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า “บิดาของประเทศ”
ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ สวีเดนได้ดำเนินนโยบายขยายอำนาจและเข้าสู่สงครามลิโวเนีย (Livonia War) กับโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๕๗-๑๕๘๒ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สวีเดนสามารถยึดครองเอสโตเนีย (Estonia) ซึ่งรวมทั้งมณฑลนาร์วา (Narva) ด้วย และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในดินแดนบริเวณทะเลบอลติก ใน ค.ศ. ๑๖๑๑ เมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่ ๒ อดอล์ฟ (Gustav II Adolph ค.ศ. ๑๖๑๑-๑๖๓๒) เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ทรงสืบต่อนโยบายการขยายอำนาจของสวีเดนและทำสงครามกับรัสเซีย สวีเดนได้รับคารีเลียตะวันออก (Eastern Karelia) และอินเกรีย (Ingria) ต่อมาก็ได้ครอบครองลิโวเนียทั้งหมดจากการทำสงครามกับโปแลนด์ (ค.ศ. ๑๖๒๑-๑๖๒๙) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๖๓๐ พระองค์ยังทรงนำสวีเดนเข้าสู่สงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) ในฐานะผู้ปกป้องนิกายโปรเตสแตนต์ในสมรภูมิใกล้เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ใน ค.ศ. ๑๖๓๒ พระองค์ทรงถูกยิงและสวรรคต เจ้าหญิงคริสตินา (Christina) พระราชธิดาในวัย ๖ พรรษาได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อ โดยมีเคานต์อักเซล อุกเซนเชอร์นา (Axel Oxenstierna) อัครเสนาบดีเป็นผู้สำเร็จราชการ อุกเซนเชอร์นาได้สืบทอดนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ กองทัพอันเกรียงไกรของสวีเดนสามารถยึดดินแดนของรัฐเยอรมันและพวกสลาฟได้มากขึ้นใน ค.ศ.๑๖๔๕ อุกเซนเชอร์นาและพวกขุนนางก็ฉวยโอกาสให้สภาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้แก่พวกขุนนาง
เมื่อสงคราม ๓๐ ปีสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๖๔๘ สวีเดนได้รับดินแดนจำนวนมากเป็นเครื่องตอบแทนตามสนธิสัญญาแห่งเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ได้แก่ ดินแดนส่วนใหญ่ของพอเมอเรเนีย เกาะรือเกิน (Rügen) วิสมาร์ (Wismar) และมีอำนาจในทะเลเบรเมิน (Bremen) และแฟร์เดิน (Verden) รวมทั้งดินแดนในเยอรมัน ซึ่งทำให้กษัตริย์สวีเดนทรงได้รับสิทธิในการออกเสียง ๓ เสียงในสภาไดเอต (Diet) ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สวีเดนจึงกลายเป็นประเทศที่เรีองอำนาจมากที่สุดในเขตบอลติกและเป็นมหาอำนาจของยุโรปด้วย
ขณะเดียวกัน ราชสำนักสวีเดนก็รุ่งเรืองในยุคบาโรก (Baroque) สมเด็จพระราชินีนาถคริสตินาทรงห้อมล้อมไปด้วยคนหนุ่มสาวที่มีสติปัญญาปราดเปรื่องและทันสมัยแต่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับอุกเซนเชอร์นากลับไม่ค่อยราบรื่น กอปรกับทรงมีศรัทธาในนิกายโรมันคาทอลิกอย่างลึกซึ้งจึงทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงประกาศสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๖๕๔ อย่างไม่มีผู้ใดเคยคาดคิด และเสด็จไปประทับยังกรุงโรมตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ ทรงเสนอให้พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๐ กุสตาฟ (Carl X Gustav ค.ศ. ๑๖๕๔-๑๖๖๐) พระญาติเป็นผู้สืบบัลลังก์
แม้จะครองราชย์อยู่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๐ กุสตาฟก็ทรงสร้างวีรกรรมให้เป็นที่ประจักษ์โดยการทำสงครามเหนือครั้งที่ ๑ (First Northern War ค.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๖๐) กับโปแลนด์ และทำให้โปแลนด์ต้อง ยอมรับในสิทธิการครอบครองลิโวเนียอย่างสมบูรณ์ของสวีเดน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงยกกองทัพบุกเดนมาร์กที่เป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญถึง ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๖๕๘ และสามารถยึดมณฑลต่าง ๆ ทางตอนใต้ของสวีเดนที่เคยเสียให้แก่เดนมาร์กในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ กลับคืนมาด้วย
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ราชอาณาจักรสวีเดนปกครองโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่คือ พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๒ (Carl XII ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๑๘) ซึ่งเป็นกษัตริย์นักรบที่มีความสามารถและเสด็จขึ้นครองราชสมบัติขณะมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษาเท่านั้น ตลอดรัชสมัย ๒๑ ปี ทรงใช้เวลาถึง ๑๘ ปีในสนามรบ เนื่องจากเหตุที่ยังทรงพระเยาว์ขณะขึ้นครองราชย์ เดนมาร์กจึงถือโอกาสเข้าโจมตีสวีเดนโดยหวังจะยึดครองอำนาจเหนือทะเลบอลติกแทนสวีเดนแต่กองทัพเดนมาร์กที่มีกำลังมากกว่าสวีเดนถึง ๑๐ เท่ากลับพ่ายแพ้และต้องยินยอมทำสนธิสัญญาทราเวนดัล (Treaty of Travendal) กับสวีเดนใน ค.ศ. ๑๗๐๐ หลังจากนั้น พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๒ ก็ทรงเดินทัพเข้าสู่กรุงวอร์ซอ (Warsaw) นครหลวงของโปแลนด์เพื่อสกัดกั้นกองทัพของโปแลนด์และรัสเซียที่ฉวยโอกาสร่วมมือกันทำสงครามกับสวีเดน และได้ปะทะกับกองทัพของซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ (Peter I ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) แห่งรัสเซียที่นาร์วาซึ่งรัสเซียยึดครองได้ ในระยะแรกกองทัพรัสเซียพ่ายแพ้กองทัพสวีเดนอย่างยับเยินและต้องถอนทัพออกจากนาร์วา ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๗๐๖ สวีเดนยังมีชัยต่อโปแลนด์ด้วย
ใน ค.ศ. ๑๗๐๙ สวีเดนกับรัสเซียได้ก่อ “สงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่” (The Great Northern War) ซึ่งยืดเยื้อจนถึง ค.ศ. ๑๗๒๑ สวีเดนเป็นฝ่ายปราชัยและต้องยอมทำสนธิสัญญานือชตัดท์ (Treaty of Nystadt) โดยสูญเสียดินแดนเยอรมันที่เคยครอบครองเกือบทั้งหมด รวมทั้งลิโวเนีย เอสโตเนีย อินเกรีย และบางส่วนของคาเรเลีย รวมทั้งเกาะในทะเลบอลติกอีกจำนวนหนึ่ง สงครามครั้งนี้ทำให้รัสเซียเป็นมหาอำนาจยุโรป และสร้างความหายนะอย่างมหาศาลให้แก่สวีเดน ทำให้สวีเดนมีอาณาเขตเล็กลงและอ่อนแอจนพวกขุนนางสามารถลิดรอนอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเข้าควบคุมอำนาจปกครองได้อีกครั้งเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ใน ค.ศ. ๑๗๒๐ สมเด็จพระราชินีนาถอุลรีกา เอเลโอโนรา (Ulrika Eleonora ค.ศ. ๑๗๑๘-๑๗๒๐) พระขนิษฐาของพระเจ้าคาร์ลที่ ๒ ซึ่งทรงสืบทอดราชบัลลังก์โดยทรงยอมรับเงื่อนไขของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะลิดรอนอำนาจของกษัตริย์ ก็ได้สละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายเฟรเดอริกแห่งเฮสส์-คัสเซิล (Hesse-Kassel) พระราชสวามี เฉลิมพระนามพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๑ (Frederick I ค.ศ. ๑๓แอ๐-ด๗๕๑)
รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๗๒๐ ได้เปิดโอกาสให้สวีเดนก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตยเริ่มก่อรูปและสภาริกส์ดักค่อย ๆ เริ่มทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงประชามีการออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๗๖๖ ส่วนกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในช่วงระยะเวลานี้ ได้แก่ พวกฮอลต์ (Halt) ที่สมาชิกมาจากกลุ่มขุนนางและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านรัสเซียและเป็นมิตรกับฝรั่งเศส และพวกแค็ป (Cap) ที่มาจากฐานันดรที่ตํ่ากว่าหรือประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นพวกที่ต้องการให้สวีเดนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับรัสเซีย นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลานี้เศรษฐกิจของสวีเดนที่ประสบกับความหายนะในด้นศตวรรษ เริ่มฟื้นตัวขึ้น มีการส่งเสริมการทำเหมืองแร่เหล็กและติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และมีการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ขึ้นในกรุงสตอกโฮล์มใน ค.ศ. ๑๗๓๙ ซึ่งทำให้ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในด้านพฤกษศาสตร์
ใน ค.ศ. ๑๗๕๑ เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๑ สวรรคต ราชวงศ์ออลเดนบูร์ก-ฮอลชไตน์-กอตทอร์ป (Oldenburg-Holstein-Gottorp) ได้สืบราชสมบัติสวีเดนจนถึง ค.ศ. ๑๘๑๘ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๓ (Gustav III ค.ศ. ๑๗๗๒-๑๗๙๒) ทรงถือโอกาสที่พวกฮอลต์และพวกแค็ปขัดแย้งกับสภาก่อการรัฐประหารและหันกลับไปปฏิรูปการเมืองที่เพิ่มพูนพระราชอำนาจกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกัน ในรัชกาลนี้งานด้านศิลปะของสวีเดนก็มืความโดดเด่นมาก กษัตริย์ทรงชื่นชมและส่งเสริมงานด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งยังทรงเป็นผู้วางรากฐานการละครให้แก่สวีเดน โดยทรงสร้างโรงละครแห่งกรุงสตอกโฮล์มขึ้น ทรงส่งเสริมให้ใช้นักแสดงชาวสวีเดนแทนนักแสดงชาวฝรั่งเศส และทรงจ้างนักประพันธ์ชาวสวีเดนเพื่อพัฒนาศิลปะการแสดง (การละคร) ประจำชาติด้วย อีกทั้งใน ค.ศ. ๑๗๘๒ ยังทรงเปิดโรงอุปรากรหลวงอันโอ่อ่างดงามและจัดให้มีการแสดงอุปรากรขึ้นเป็นครั้งแรกในสวีเดนทรงอำนวยการจัดแสดง ๖ เรื่องซึ่งทรงมีส่วนร่วมแสดงด้วยพระองค์เอง ๓ เรื่อง
นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๗๘๖ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๓ ยังทรงจัดตั้งสำนักวรรณกรรมแห่งสวีเดนขึ้น โดยได้แบบอย่างจากสำนักวรรณกรรมของฝรั่งเศส มีหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการใช้ภาษาสวีเดนให้ถูกต้อง ในปัจจุบันได้กลายเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการพิจารณารางวัลโนเบล (Nobel Prize)๑ สาขาวรรณกรรมซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสาขาวรรณกรรมที่มีเกียรติสูงสุดของโลก ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้ากุสตาฟที่ ๓ ยังทรงก่อตั้งสถาบันดนตรี วรรณคดี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอีกด้วย ทำให้รัชสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรมของสวีเดน
ในปลายรัชกาล ขณะที่รัสเซียกำลังติดพันกับสงครามตุรกีครั้งที่ ๒ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๒ ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะโจมตีกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อยุติการแทรกแซงของรัสเซียที่มีต่อการเมืองการปกครองของสวีเดน แต่การโจมตีล้มเหลวและเดนมาร์กยังเข้าร่วมกับรัสเซียต่อต้านสวีเดนอีกด้วย ส่วนภายในประเทศ พวกขุนนางที่คุมกำลังทัพก็ก่อการจลาจลและร่วมกันวางแผนกับซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ (Catherine II ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖) แห่งรัสเซีย เพื่อลดพระราชอำนาจของกษัตริย์สวีเดน พระเจ้ากุสตาฟที่ ๒ จึงทรงหันไปร่วมมือกับกลุ่มฐานันดรอื่น ๆ ที่ไม่สังกัดชนชั้นขุนนางและต่อต้านพวกขุนนางในการปราบปรามการจลาจล ในการประชุมสภาริกส์ดัก ค.ศ. ๑๗๘๙ ซึ่งชนชั้นขุนนางถูกสั่งไม่ให้เข้าประชุมด้วย พระองค์สามารถทำข้อตกลงกับสมาชิกสภาฐานันดรอื่น ๆ ให้เห็นชอบกับพระราชบัญญัติการสร้างเอกภาพและความมั่นคง (Act of Union and Security) ซึ่งให้อำนาจสูงสุดแก่พระองค์ขณะเดียวกันก็สามารถลิดรอนอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ของพวกขุนนางลงด้วย
ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๒ ทรงทำสงครามกับรัสเซียอีกครั้ง โดยทรงบัญชาการทัพเรือในยุทธนาวีที่สเฟนสก์ซุนด์ (Battle of Svensksund) และสามารถจมเรือรัสเซียได้ถึง ๕๐ ลำ โดยที่กองทัพเรือของสวีเดนไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ นับเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของสวีเดนด้วย ต่อมา ขณะที่พระองค์คิดวางแผนเข้าร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในการทำสงครามต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ กลุ่มขุนนางที่โกรธแค้นได้คบคิดกันลอบปลงพระชนม์พระองค์ได้สำเร็จในงานอุปรากรสวมหน้ากาก
ในระยะแรกของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* สวีเดนซึ่งมีพระเจ้ากุสตาฟที่ ๔ อดอล์ฟ (Gustav IV Adolf ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๙) เป็นประมุขได้เข้าร่วมกับอังกฤษ ออสเตรีย และรัสเซียต่อต้านการขยายอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (The Third Coalition War) ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปโดยทั้งออสเตรีย (ค.ศ. ๑๘๐๕) และรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๐๗) ต่างพ่ายแพ้ต่อกองทัพฝรั่งเศสและทำสัญญาสงบศึก รวมทั้งยังถูกบีบให้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสแต่สวีเดนก็ยังคงยืนกรานที่จะเป็นพันธมิตรกับอังกฤษต่อไปอีก โดยปฏิเสธที่จะทำตามคำเรียกร้องของรัสเซียให้สวีเดนเข้าร่วมในระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* เพื่อปิดล้อมอังกฤษทางเศรษฐกิจโดยห้ามประเทศในภาคพื้นยุโรปติดต่อค้าขายกับอังกฤษ ดังนั้น ในต้น ค.ศ. ๑๘๐๘ รัสเซียและเดนมาร์กซึ่งเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสด้วยจึงร่วมกันโจมตีสวีเดน และในปลายปีนั้นซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* แห่งรัสเซียยังยาตราทัพเข้าฟินแลนด์เพื่อปลดปล่อยฟินแลนด์ให้เป็นอิสระจากสวีเดนและจัดตั้งฟินแลนด์เป็นราชรัฐชั้นแกรนด์ดัชชี (Grand Duchy) และอยู่ใต้ปกครองของซาร์แห่งรัสเซียซึ่งดำรงพระอิสริยยศแกรนด์ดุ๊กแห่งฟินแลนด์
การสูญเสียฟินแลนด์ กอปรกับความล้มเหลวของกองทัพสวีเดนในสงครามทำให้พระเจ้ากุสตาฟที่ ๔ อดอล์ฟ ทรงถูกขับออกจากบัลลังก์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ และพระเจ้าคาร์ลที่ ๑๓ (Carl XIII ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๘) พระปิตุลาทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ ที่ลิดรอนอำนาจของกษัตริย์และถ่ายโอนอำนาจให้แก่สภาริกส์ดักและตุลาการทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันต่อมาโดยมีการแก้ไขเป็นระยะ ๆ จนถึงสิ้น ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดบทบาทของกษัตริย์ลงอีกให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น
จาก ค.ศ. ๑๘๑๐ ถึงการจัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* จอมพล ซอง-บาตีสต์ แบร์นาดอต [Jean-Baptiste Bernadotte ต่อมาคือพระเจ้าคาร์ลที่ ๑๔ จอห์น (Carl XIV John ค.ศ. ๑๘๑๘-๑๘๔๔)] เจ้าชายแห่งพอนเตคอร์โว (Prince of Pontecorvo) นายทหารชาวฝรั่งเศสที่พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๓ ทรงอุปการะในฐานะรัชทายาทก็ได้เป็นผู้ปกครอง ของสวีเดนอย่างแท้จริง ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ สวีเดนได้ร่วมกับฝ่ายพันธมิตรต่อสู้กับฝรั่งเศสในยุทธการที่ไลพ์ซิก (Battle of Leipzig) จนได้ชัยชนะ
ดังนั้น เพื่อเป็นการชดเชยที่เสียฟินแลนด์ให้แก่ฝรั่งเศส สวีเดนจึงเรียกร้องที่จะปกครองนอร์เวย์ ต่อมา ฝ่ายพันธมิตรได้บีบให้พระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๖ (Frederick VI ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๓๙) แห่งเดนมาร์กลงนามในสนธิสัญญาคีล (Treaty of Kiel) ยกเลิกระบอบราชาธิปไตยร่วมระหว่างเดนมาร์กกับนอร์เวย์และยกนอร์เวย์ให้แก่สวีเดน อย่างไรก็ดี เดนมาร์กก็พยายามที่จะยับยั้งการรวมตัวของนอร์เวย์กับสวีเดน จนสวีเดนต้องเคลื่อนทัพเข้าไปในนอร์เวย์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ ได้มีการประชุมที่เมืองมอสส์ (Convention of Moss) ในนอร์เวย์เพื่อให้นอร์เวย์ยอมรับการรวมตัวกับสวีเดน นอร์เวย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดนเป็นเวลาเกือบศตวรรษกว่าจะสามารถแยกตัวเป็นประเทศเอกราชได้ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ส่วนการเคลื่อนทัพของสวีเดนเข้าไปในนอร์เวย์ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ นั้นก็เป็นการ “ออกศึก” ครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของกองทัพสวีเดนจนถึงปัจจุบันด้วย
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สวีเดนภายใต้การปกครองของราชวงศ์แบร์นาดอตซึ่งเป็นประมุขของนอร์เวย์ด้วยจัดเป็นประเทศที่สงบสุขและมีความก้าวหน้าในการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในระดับหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ประชาชนได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในสิ่งตีพิมพ์และใน ค.ศ. ๑๘๖๔ เปิดให้มีการค้าเสรีภาพในประเทศ ใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ได้มีการปฏิรูประบบรัฐสภาโดยยกเลิกระบบฐานันดรทั้งสี่ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสภาริกส์ดักเป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปี และเปลี่ยนเป็นระบบ ๒ สภา (แต่สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ) เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ทั่วยุโรป สวีเดนเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ประชาชนไม่ได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* พระเจ้าออสการ์ที่ ๑ (Oscar I ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๕๙) ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะลิดรอนอำนาจของรัสเซียในแถบทะเลบอลติกและยึดฟินแลนด์คืน จึงพยายามเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมในสงครามด้วย แต่สงครามได้สิ้นสุดลงก่อนแม้สนธิสัญญาแห่งปารีส (Treaty of Paris ค.ศ. ๑๘๕๖) จะบีบให้รัสเซียต้องถอนทหารออกจากหมู่เกาะออลันด์ (Åland Islands) แต่สวีเดนก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ และถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวทางการทูต ดังนั้น สวีเดนจึงพยายามดำเนินนโยบายอุดมการณ์รวมกลุ่มสแกนดิเนเวีย (Pan-Scandinavianism) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความสนใจของแวดวงพวกปัญญาชน โดยหวังว่าสวีเดนจะเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับเดนมาร์ก รวมทั้งดำเนินการสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างราชวงศ์ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเพื่อการรวมตัวกันอีก ใน ค.ศ. ๑๘๖๓ พระเจ้าคาร์ลที่ ๑๕ (Carl XV ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๘๗๒) ซึ่งทรงเป็นพวกสแกนติเนเวียนิยม (Scandinavianist) ทรงให้คำสัญญาเป็นส่วนพระองค์กับพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๗ (Frederick VII ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๖๓) แห่งเดนมาร์กว่าสวีเดนจะให้ความร่วมมือด้านทหารหากแคว้นชเลสวิก (Schleswig) ที่กษัตริย์เดนมาร์กครอบครองถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกราน อย่างไรก็ดี เมื่อกองทัพออสเตรียและปรัสเซียโจมตีแคว้นชเลสวิกและฮอลชไตน์ (Holstein) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ รัฐบาลสวีเดนกลับปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์ในการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่เดนมาร์ก การไม่ให้ความร่วมมือของสวีเดนดังกล่าวนี้ จึงเท่ากับทำให้อุดมการณ์รวมกลุ่มสแกนดิเนเวียในสวีเดนสิ้นสุดลงไปโดยปริยายด้วย
ส่วนในด้านประชากรระหว่าง ค.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๕๐ ชาวสวีเดนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๒ เท่า อย่างไรก็ดี แม้โดยทั่วไปประชาชนจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี แต่เนื่องจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศมีความเชื่องช้ากว่าหลาย ๆ ประเทศในยุโรปตะวันตก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรจากหมู่บ้านที่อาศัยทำกินในที่ดินร่วมกันมาเป็นเกษตรกรรมแบบส่วนบุคคล ชาวสวีเดนจำนวนมากที่ต้องการชีวีตที่ดีขึ้นและมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาจึงตัดสินใจอพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๙๑๐ มีชาวสวีเดนกว่า ๑ ล้านคนเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนใหญ่ไปตั้งรกรากอยู่ในเขตมิดเวสต์ (Midwest) ของสหรัฐอเมริกา และบางส่วนในแคนาดาประมาณว่าในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีชาวสวีเดนอาศัยอยู่ในเมืองชิคาโก (Chicago) มากกว่าเมืองกอเทนเบิร์ก (Gothenburg) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นลำดับ ๒ ในสวีเดนการอพยพของประชากรกว่า ๑ ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของประเทศดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลสวีเดนต้องหันมาปรับปรุงพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และระบบการเมืองของประเทศในแนวทางของสหรัฐอเมริกาเพื่อดึงดูดไม่ให้ชาวสวีเดนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถละถิ่นไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงมีการปฏิรูประบบการเมืองและการขยายสิทธิการเลือกตั้งแก่ชนชั้นกลางและแรงงานมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat) ซึ่งเป็นพรรคของกลุ่มแรงงานที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ก็ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาเป็นจำนวนมาก และต่อมาได้ร่วมมือกับพรรคเสรีนิยม (Liberal) ปฏิรูประบบการเมืองรวมทั้งให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองทั้งชายและหญิงที่บรรลุนิติภาวะ ใน ค.ศ. ๑๙๒๑
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สวีเดนซึ่งหวาดระแวงในการดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยมของรัสเซียได้หันไปสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเยอรมนีแต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น สวีเดนประกาศตนเป็นกลางและร่วมทำข้อตกลงกับเดนมาร์กในการรักษาความเป็นกลางและปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่จะไม่ขัดแย้งกับเยอรมนีอันอาจจะนำไปสู่สงครามได้ ในระยะแรกของสงคราม สวีเดนจึงส่งออกสินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคให้เยอรมนีแต่ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าเข้าก็ประสบปัญหาเนื่องจากการขนส่งทางทะเลถูกปิดกั้นโดยคู่สงคราม กอปรกับใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ประเทศยังประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวพืชผลจึงทำให้สวีเดนเกือบตกอยู่ในภาวะทุพภิกขภัย นอกจากนี้ การปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ยังก่อให้เกิดผลกระทบแก่สวีเดน มีการเผยแพร่และโฆษณาชวนเชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดการแตกแยกในพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอันนำไปสู่การแยกตัวของสมาชิกปีกซ้ายและจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สวีเดนในที่สุด
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีการจัดตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เพื่อเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เสริมสร้างสันติภาพและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสวีเดนเป็น ๑ ใน ๓๑ ประเทศทั่วโลกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกถาวรแรกเริ่มของสันนิบาตชาติ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างสวีเดนกับฟินแลนด์ในกรณีพิพาทหมู่เกาะออลันด์ในทะเลบอลติกในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยฟินแลนด์ส่งกองทหารเข้าปราบปรามพลเมืองเชื้อสายสวีเดนในหมู่เกาะที่จัดตั้งเป็นเขตปกครองอิสระขึ้น อังกฤษและสวีเดนได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่ที่พิจารณาของสันนิบาตชาติ และใน ค.ศ. ๑๙๒๑ สันนิบาตชาติมีมติให้ฟินแลนด์ได้สิทธิในการปกครองหมู่เกาะออลันด์ และให้การประกันสิทธิทางการเมืองและคุ้มครองทรัพย์สินของชาวสวีเดน ตลอดจนให้ใช้ภาษาสวีเดนในโรงเรียน
ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ สวีเดนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับนานาประเทศในยุโรป แต่ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การอุตสาหกรรมและการทำประเทศให้ทันสมัยก็เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๒๙ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ ๓๕ การขยายตัวของเมือง การเพิ่มจำนวนของประชากร ตลอดจนการเติบใหญ่ของสังคมเมืองก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนประชากรในภาคเกษตรกรรมก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลง อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ทั่วโลกที่เริ่มต้นในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ ได้ทำให้สวีเดนต้องเผชิญกับปัญหาคนว่างงาน พรรคสังคมนิยมที่เคยเสียที่นั่งไปบ้างให้แก่พรรคอนุรักษนิยมใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ก็กลับขึ้นมากุมอำนาจอย่างมั่นคงอีกครั้งในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ พร้อมทั้งเริ่มนโยบายแก้ไขเศรษฐกิจที่เรียกว่า “แบบสวีเดน” (Swedish Model) โดยการจัดหาและจ้างงานแก่ผู้ว่างงาน การเก็บภาษีในอัตราสูง การแก้ไขปัญหานัดหยุดงาน และการสร้างสมานฉันท์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ระบบการป้องกันประเทศของสวีเดนอยู่ในภาวะอ่อนแอเนื่องจากใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ได้มีการตัดงบประมาณทหารครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี สวีเดนก็ยังคงดำเนินนโยบายเป็นกลางเช่นเดียวกับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่ก็หวาดระแวงว่าเยอรมนีจะเข้ารุกรานเนื่องจากทั้งเดนมาร์กและนอร์เวย์ซึ่งต่างยึดนโยบายเป็นกลางเช่นเดียวกันได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองทั้ง ๒ ประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ดังนั้น รัฐบาลสวีเดนในขณะนั้นต้องปรับท่าทีโดยยอมให้เยอรมนีใช้ถนนและทางรถไฟเป็นเส้นทางลำเลียงทหารไปนอร์เวย์และฟินแลนด์ อย่างไรก็ดี ในปลายสงครามเมื่อกองทัพเยอรมันซึ่งเริ่มเป็นฝ่ายถอยร่นจากแนวรบด้านตะวันออกภายหลังความพ่ายแพ้ในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* สวีเดนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีและห้ามกองทัพเยอรมันเคลื่อนทัพผ่านสวีเดนอีกต่อไปการดำเนินนโยบายเป็นกลางของสวีเดนที่เคยผ่อนปรนแก่เยอรมนีและสร้างความวิบัติให้แก่ประเทศอื่นจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไร้เกียรติและปราศจากจริยธรรม
แม้จะยึดนโยบายเป็นกลางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ชาวสวีเดนจำนวนมากก็มีส่วนร่วมในสงครามทั้งในทางตรงและทางอ้อม ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาสาสมัครไปช่วยรบป้องกันฟินแลนด์จากการรุกรานของสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ และจำนวนมากได้เปิดบ้านของตนให้ชาวฟินน์เข้ามาอาศัยลี้ภัย รวมทั้งชาวเดนนอร์เวย์ ตลอดจนชาวยิวในประเทศยุโรปที่หนีภัยของสงครามระหว่างการยึดครองของกองทัพเยอรมันและการกวาดล้างชาวยิวด้วย นอกจากนี้ นักมนุษยธรรมที่โดดเด่นชาวสวีเดน คือ ราอูล วอลเลนเบิร์ก (Raoul Wallenberg) ซึ่งมาจากตระกูลนักการธนาคารและนักอุตสาหกรรมได้เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือชาวยิวที่ถูกกวาดล้างจากมาตรการสุดท้าย (Final Solution)* ของเยอรมนีด้วยการทำงานเป็นเลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) เมืองหลวงของฮังการี เพื่อปฏิบัติการลับช่วยเหลือชาวยิวในฮังการีให้รอดพ้นจากการถูกกวาดต้อนไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* และการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) วอลเลนเบิร์กช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่การหาที่หลบซ่อนตัว การติดสินบน การข่มขู่และการแบล็กเมล์ ซึ่งทำให้เขาสามารถช่วยชีวิตชาวยิวได้นับหมื่น ๆ คน ส่วนตัวเขาหายสาบสูญไป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง สวีเดนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และต่อมา ดักซ์ ฮัมมาร์เชิลด์ (Dag Hammarskjöld) นักการทูตชาวสวีเดนก็ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ สืบต่อจากทริกฟ์ ฮาล์ฟเดน ลี (Trygve Halvdan Lie)* ชาวนอร์เวย์ เขาดำรงตำแหน่งดังกล่าวระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓ จนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๙๖๑ นอกจากนี้ สวีเดนยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูบูรณะยุโรปโดยใช้โอกาสที่ประเทศรอดพันจากภัยพิบัติจากสงครามและการอุตสาหกรรมโดยไม่ได้ผลกระทบหรือเสียหายเร่งขยายอุตสาหกรรมหนักประเภทต่าง ๆ เพื่อส่งออกเป็นสินค้าแก่นานาประเทศในยุโรป ขณะเดียวกันก็เช้าร่วมในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ของสหรัฐอเมริกาในการช่วยบูรณะฟื้นฟูประเทศยุโรปด้วย เศรษฐกิจของประเทศจึงพัฒนาก้าวหน้าอย่างมากจนสวีเดนกลายเป็นประเทศที่รํ่ารวยที่สุดประเทศหนึ่งในปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ ปัจจัยดังกล่าวนี้มีส่วนทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งได้อำนาจทางการเมืองและเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเกือบตลอดช่วงเวลาครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สามารถพัฒนาสร้างสวีเดนให้เป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) ได้สำเร็จ ทั้งดำเนินนโยบาย “การกินดีอยู่ดีสำหรับทุกคน” (“wellbeing for all” policy) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ ในขณะที่พรรคอนุรักษนิยมไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีในอัตราสูงและโครงการอุดหนุนเงินบำนาญ
อย่างไรก็ดี ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสวีเดนเริ่มชะลอตัวลงเนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาทำให้สินค้าอุตสาหกรรมของสวีเดนซึ่งเคยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศมีปริมาณลดลงจนส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือ เช่น อุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมเหล็กกล้า สถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อรัฐบาลต้องขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) จำนวนมหาศาลเพื่อโอบอุ้มธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เกิดภาวะเงินฝืดและคนว่างงาน ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๖ พรรคสังคมประชาธิปไตยจึงสูญเสียที่นั่งและอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมและเป็นครั้งแรกในรอบ ๔๔ ปีที่พรรคสังคมประชาธิปไตยไม่ได้มีส่วนร่วมในคณะรัฐบาล อย่างไรก็ดี รัฐบาลสวีเดนชุดใหม่ก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนี่ได้ ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ สวีเดนต้องยืมเงินจากต่างประเทศและนำเข้าสินค้าจำนวนมากซึ่งสูงกว่ารายได้และการส่งออกของประเทศ วิกฤตการณ์ เศรษฐกิจดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเงินที่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสวีเดนมาจนถึงปัจจุบัน
ในด้านนโยบายต่างประเทศ สวีเดนยึดนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-alignment) อย่างเคร่งครัดและปฏิเสธที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรทางการทหารต่าง ๆ ของยุโรป ตลอดระยะเวลาของสงครามเย็น (Cold War)* แต่ในด้านของการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมสวีเดนได้ให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกโดยส่งทหารเข้าปฏิบัติการรักษาความสงบในประเทศต่าง ๆ ตามมติของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติและส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปให้คำปรึกษาแก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ได้เข้าเป็นสมาชิกของสภานอร์ดิก (Nordic Council) ของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เมื่อเกิดสงครามเวียดนาม (Vietnam War) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๕ สวีเดนเป็นประเทศหนึ่งที่รณรงค์ต่อต้านสงครามและนำไปสู่ความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ สวีเดนก็เป็นแหล่งลี้ภัยทางการเมืองของปัญญาชนอเมริกันที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามและนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* ๑๒ ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ก่อตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ขึ้นสวีเดนเห็นความจำเป็นที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปและได้สมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกพร้อมกับฟินแลนด์และออสเตรียเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๕ หลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สวีเดนได้ปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรปโดยเข้ามามีส่วนในการร่วมมือเพื่อความมั่นคงร่วมกันของสหภาพยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพยุโรปจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union-EMU) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๙
ปัจจุบัน สวีเดนมีพระเจ้าคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาฟ (Carl XVI Gustav ค.ศ. ๑๙๗๓-) เป็นพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๐๙ ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ทำให้กษัตริย์ทรงสูญเสียพระราชอำนาจต่าง ๆ ทั้งหมด และหมดบทบาทในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและสิทธิในการร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีและอื่น ๆ ทรงมีบทบาทเป็นเพียงพระประมุขและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เท่านั้น ร่างพระราชบัญญัติิที่ผ่านการรับรองของรัฐสภาก็ไม่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานความเห็นชอบอีกต่อไป นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ ยังมีการออกพระราชบัญญัติให้สิทธิการสืบราชบัลลังก์อย่างทัดเทียมกันแก่พระราชโอรสองค์โตหรือพระราชธิดาองค์โตที่ประสูติก่อน เจ้าหญิงวิกตอเรีย ดัชเชสแห่งเวสโตรกอทซา (Victoria, Duchess of Westrogothca ประสูติ ค.ศ. ๑๙๗๗) ทรงเป็นมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน และมีเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป ดุ๊กแห่งเวอร์เมลันเดีย (Carl Philip, Duke of Wermelandia ประสูติ ค.ศ. ๑๙๗๙) เป็นรัชทายาทลำดับ ๒
รัฐธรรมนูญของสวีเดนที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ยกเลิกระบบ ๒ สภา (bi-cameral) เป็นแบบสภาเดียว (uni-cameral) ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ๓๔๙ คน ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี พรรคการเมืองที่จะมีสมาชิกสังกัดรัฐสภาได้ต้องได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเกินกว่าร้อยละ ๔ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีพรรคการเมืองเด็กมากเกินไปในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ พรรคสังคมประชาธิปไตยยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากชาวสวีเดน และสามารถครองอำนาจบริหารเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ เป็นต้นมา และสร้างสวีเดนให้เป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นแม่แบบของประเทศอื่น ๆ ตลอดจนประชาชนมีมาตรฐานในการครองชีพสูงแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในต้นทศวรรษ ๒๐๑๐ ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยที่ครองอำนาจมายาวนานไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี พรรคประชาธิปไตยสวีเดน (Sweden Democrats) และพรรคการเมืองอื่น ๆ จึงเคลื่อนไหวต่อต้านและผนึกกำลังกันจนก้าวสู่อำนาจในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๒๐๑๐.