Stresemann, Gustav (1878-1929)

นายกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๗๒)

 กุสทาฟ ชเตรเซมันน์เป็นนักการเมือง นักการทูต และรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๙ เขามีบทบาทโดดเด่นในการใช้วิเทโศบายทางการทูตที่ชาญฉลาดบนพื้นฐานของการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* ของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ในการดำเนินการเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามเพื่อให้มีการแก์ไขหรือยกเลิกมาตราต่าง ๆ ของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่ไมเป็นธรรมต่อเยอรมนี โดยเฉพาะในเรื่องค่าปฏิกรรมสงคราม การลดอาวุธ การยึดครองแคว้นไรน์ และการปรับเขตแดนด้านที่ติดต่อกับโปแลนด์ เพื่อทำให้เยอรมนีฟื้นตัวอย่างปลอดภัยและกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ การดำเนินนโยบายทางการทูตของชเตรเซมันน์ทำให้เกิดการลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับ อาทิ สนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแกไขสนธิสัญญาแวร์ซายครั้งแรก ทั้งยังทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือเยอรมนีในการผ่อนปรนการชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตามแผนดอส์ (Dawes Plan)* และแผนยัง (Young Plan) นอกจากนี้ ความสำเร็จในการร่วมมือกับฝรั่งเศสในสมัยอารีสตีด บรียอง (Aristide Briand)* ในการจัดทำสนธิสัญญาโลคาร์โนซึ่งถือเป็นการส่งเสริมสันติภาพให้แก่ยุโรปยังทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาสันติภาพร่วมกับบรียองใน ค.ศ. ๑๙๒๖

 ชเตรเซมันน์เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ในชุมชนย่านถนนเคอเพนิคเคอร์ (Köpenicker Strasse) ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน เขาเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตร ๗ คนของแอนสท์ ชเตรเซมันน์ (Ernst Stresemann) เจ้าของโรงแรมและบาร์เบียร์เล็ก ๆ ในกรุงเบอร์ลินและโรงงานบรรจุเบียร์ขวดขนาดย่อมในชนบทชานกรุงเบอร์ลิน แม้ว่าแอนสท์จะมีฐานะดีกว่าเพื่อนบ้านในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แต่ก็ยังถือว่าครอบครัวชเตรเซมันน์อยูในกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก ชเตรเซมันน์จึงเป็นบุตรเพียงคนเดียวที่ได้รับการศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัย ในวัยเด็กเขาเป็นเด็กหงอยเหงา ไม่มีเพื่อนเล่นมากนัก ทั้งยังต้องช่วยครอบครัวทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงค่อนข้างโดดเดี่ยวและมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กซึมเศร้า แต่ก็เป็นเด็กเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม ชเตรเซมันน์ได้รับการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่กรุงเบอร์ลิน ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายอันเดรอัสรีอัลยิมเนเซียม (Andreas Real Gymnasium) เขามีผลการเรียนดีเด่นมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางด้านการศึกษาอย่างเด่นชัด ชเตรเซมันน์มีความสามารถพิเศษในวิชาวรรณคดีและประวัติศาสตร์โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นอกจากนี้ เขายังสนใจศึกษาชีวประวัติบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงด้วย นโปเลียนโบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* และโยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเท (Johann Wolfgang von Goethe) เป็นบุคคลสำคัญที่ชเตรเซมันน์ยกย่องมากและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนงานวรรณกรรมได้หลายชิ้นในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ชเตรเซมันน์เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน โดยเลือกเรียนสาขาปรัชญา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ แต่ต่อมาเปลี่ยนไปเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์เพื่อนำความรู้ไปปรับปรุงธุรกิจของครอบครัวชเตรเซมันน์มีผลการเรียนดีเยี่ยมทุกวิชา ทั้งยังค้นพบว่าเขามีความสามารถในการเป็นผู้นำและเริ่มสนใจการเมือง ซึ่งในขณะนั้นแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) กำลังเป็นกระแสหลักที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัย ในจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาจัดทำกิจกรรมและดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย ในช่วงนี้ชเตรเซมันน์ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัย (Burchenchaften) อย่างแข็งขันโดยเป็นโฆษกของขบวนการ นอกจากนี้ เขายังเขียนบทวิจารณ์หนังสือ Utopia ของทอมัส มอร์ (Thomas More) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ และบทวิจารณ์คำประพันธ์ประเภทคีตกานท์ (lyric) ของดี. เอฟ. ชเตราส์ (D. F. Strauss) รวมทั้งเขียนบทความทางประวิติศาสตร์เกี่ยวกับออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* และนโปเลียน โบนาปาร์ต ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เขาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Algemeine Deutche Universitats Zeitung ของมหาวิทยาลัย ที่คอนราด คุสเทอร์ (Konrad Kuster) หัวหน้ากลุ่มเสรีนิยมในขบวนการนักศึกษาเป็นผู้จัดทำชิ้น บทบรรณาธิการและข้อเขียนของชเตรเซมันน์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งเป็นแนวคิดเสรีนิยมผสมกับแนวคิดชาตินิยมที่เข้มแข็ง ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นแนวคิดหลักของเขาตลอดชีวิต

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ชเตรเซมันน์ย้ายจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลินไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig) เขาสำเร็จการศึกษาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๑ จากการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง The Growth of the Berlin Bottled-Beer Industry ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และสืบค้นทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยธุรกิจเบียร์บรรจุขวดทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันของทุนนิยมขนาดใหญ่ที่มีต่อธุรกิจของชนชั้นกลางอิสระของกรุงเบอร์ลินโดยอาศัยความรู้จากประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจบรรจุเบียร์ขวดของบิดา และการแข่งขันทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเบียร์บรรจุขวดของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มีผลทำให้ธุรกิจเบียร์ขนาดย่อมตกตํ่าลง ต่อมา วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ถูกนำไปใช้โจมตีชเตรเซมันน์โดยนักการเมืองฝ่ายค้านปีกขวาเมื่อเขาเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองแล้ว

 หลังสำเร็จการศึกษาขณะอายุ ๒๒ ปี ชเตรเซมันน์เข้าทำงานในฝ่ายบริหารของสมาคมผู้ผลิตช็อกโกแลตเยอรมัน (Association of German Chocolate Manufacturers) ในเมืองเดรสเดิน (Dresden) ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เขาได้จัดตั้งสมาคมผู้ประกอบอุตสาหกรรมแซกซัน (Association of Saxon Industrialists) และดำรงตำแหน่งประธานสมาคมนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒ ด้วยความสามารถในด้านการบริหารและการจัดองค์กร รวมทั้งเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี ชเตรเซมันน์สามารถขยายจำนวนสมาชิกจาก ๑๘๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เป็น ๑,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๐๔ และราว ๕,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๑๒ แม้ว่าโดยอาชีพชเตรเซมันน์จะเป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุน แต่เขาก็มีแนวคิดทางการเมืองที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของแรงงานในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างทั้งในลักษณะปัจเจกบุคคลและในลักษณะกลุ่ม

 นอกจากนี้ ชเตรเซมันน์ยังได้รับอิทธิพลทางความคิดจากฟรีดริช นอยมันน์ (Friedrich Naumann) นักปฏิรูปสังคมโปรเตสแตนต์และจากการร่วมงานกับสหภาพสังคมแห่งชาติ (National Social Union) ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เขาจึงเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ (National Liberal Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเอียงซ้ายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในรัฐแซกโซนี (Saxony) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักชองเยอรมนี ในช่วงนี้ ชเตรเซมันน์ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวและให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายครั้ง เขาจึงขัดแย้งกับนักการเมืองปีกขวาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมหนักของรัฐแซกโชนีทั้งยังทำให้เขาถูกจับตามองจากคนทั่วไปด้วยความสนใจเป็นครั้งแรกในการประชุมใหญ่ของพรรคใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ในปีเดียวกัน ชเตรเซมันน์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเมืองเดรสเดินและอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒ ในขณะเดียวกันเขายังได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Saxon Industry และเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจและกิจกรรมของสภาเมืองเดรสเดินลงในนิตยสารฉบับนี้ด้วย ชื่อของเขาจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งยังได้ประโยชน์จากการใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือแสวงหาแรงสนับสนุนทางการเมืองด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ขณะอายุ ๒๘ ปี ชเตรเซมันน์ก็ก้าวขึ้นสู่การเมืองระดับชาติ โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตาก (Reichtag) เป็นครั้งแรกในนามพรรคเสรีนิยมแห่งชาติจากเขตอันนาแบร์ก (Annaberg) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ของแชกโซนี นับเป็นสมาชิกรัฐสภาที่มีอายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น ในช่วงที่เป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากนี้ เขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากแอนสท์ บาสเซอร์มันน์ (Ernst Bassermann) หัวหน้าพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ ซึ่งชเตรเซมันน์นับถือและยกย่องมากจนถึงกับเรียกเขาว่า “crown prince” ในงานทางด้านการเมืองนั้นชเตรเซมันน์เน้นการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจและปกป้องผลประโยชน์ทางด้านการค้าของชนชั้นกลาง แต่เขาก็ยังคงให้ความสนใจในเรื่องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานอยู่ ฉะนั้น ความพยายามที่จะให้รัฐออกกฎหมายสวัสดิการสังคมให้แก่แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงนี้จึงทำให้เขาขัดแย้งกับผู้แทนราษฎรในพรรคเดียวกันที่เป็นพวกปีกขวา ซึ่งมีผลทำให้เขาไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคอีกวาระหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ทั้งยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากในปีเดียวกันด้วย เขาจึงทุ่มเทเวลาให้กับธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยเดินทางไปสหรัฐอเมริการ่วมกับนักธุรกิจคนอื่น ๆ เพื่อดูงานทางด้านเศรษฐกิจและการค้า เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกา เขาย้ายครอบครัวมาอยู่กรุงเบอร์ลิน และเป็นนักธุรกิจชั้นนำที่มั่งคั่งทั้งยังมีตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสมาคมธุรกิจการค้าหลายแห่ง อย่างไรก็ดี ชเตรเซมันน์ก็ยังไม่ได้ละทิ้งการเมืองเสียทีเดียวเขายังคงเป็นสมาชิกสันนิบาตอาณานิคมเยอรมัน (German Colonial League) ทั้งยังสนับสนุนนโยบายการสร้างกองทัพเรืออันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๗ รวมทั้งสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของประเทศและความมีระเบียบวินัยของคนในชาติ

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ชเตรเซมันน์มีความเชื่อเหมือนคนส่วนใหญ่ในขณะนั้นว่าเยอรมนีทำสงครามเพราะต้องการป้องกันตนเองเขาจึงสนับสนุนนโยบายสงครามของเยอรมนีอย่างเต็มที่ และต้องการเข้าไปเป็นทหารในกองทัพ แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงไม่ได้เป็นอย่างไรก็ดีในเดือนธันวาคมปีเดียวกันชเตรเซมันน์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบพิเศษ เขาจึงมีโอกาสกลับมาทำงานทางการเมืองอย่างเต็มตัว ในฐานะสมาชิกรัฐสภาเขาสนับสนุนนโยบายขยายอำนาจของเยอรมนีเข้าไปในดินแดนที่มีประชากรพูดภาษาเยอรมันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเรียกร้องดินแดนด้านตะวันออกจากโปแลนด์และรัสเซีย และด้านตะวันตกจากฝรั่งเศสและเบลเยียม ในช่วงนี้ชเตรเซมันน์หันเหนโยบายทางการเมืองมาทางขวามากขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๖ หลังจอมพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenbourg)* ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองและการทหารของเยอรมนีแล้วเขาได้ทำงานใกล้ชิดกับฮินเดนบูร์กและเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorf)* ในกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมัน (German Army Supreme Command) ทั้งยังสนับสนุนนโยบายการใช้เรือดำนํ้าโจมตีโดยไม่มีขอบเขตจำกัด (Unrestricted Submarine Warfare) ของฮินเดนบูร์ก อย่างเต็มที่ ชเตรเซมันน์เป็นแกนนำคนสำคัญในรัฐสภาที่โจมตีนายกรัฐมนตรีทีโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์-โฮลเวก (Theobald von Bethmann-Hollweg)* ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จนในที่สุด เบทมันน์-โฮลเวกต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และหลังจากนั้นไม่นานชเตรเซมันน์ยังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเสรีนิยมแห่งชาติหลังบาสเซอร์มันน์เสียชีวิตในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ปีเดียวกัน แต่ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ พร้อม ๆ กับการล่มสลายของระบบกษ์ตริย์ก็ทำให้ชเตรเซมันน์รู้สึกผิดหวังและเสียใจมาก เขาเริ่มตระหนักว่านโยบายการมีกองทัพอันยิ่งใหญ่และการมุ่งมั่นที่จะเอาชนะสงครามแต่เพียงอย่างเดียวแท้ที่จริงเป็นนโยบายที่เป็นอันตรายมากทั้งยังเห็นว่าการเมืองของโลกเป็นเสมือนภาพจิกซอว์แผ่นใหญ่ที่เกิดจากการนำนโยบายการเมืองระหว่างประเทศมาต่อเข้าด้วยกันด้วยความระมัดระวัง

 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังการทำสัญญาสงบศึก (Armistice)* ระหว่างเยอรมนีกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเพียง ๑ เดือน ชเตรเซมันน์ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในชื่อพรรคประชาชนเยอรมัน (German People’s Party) เพราะเกิดความขัดแย้งกับนอยมันน์และมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาที่กีดกันไม่ให้เขาเป็นกรรมการระดับสูงในพรรคประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Party) ที่ทั้งสองร่วมมือกันจัดตั้งขึ้นใหม่ พรรคประชาชนเยอรมันที่ชเตรเซมันน์เป็นหัวหน้านี้ เป็นพรรคการเมืองในแนวอนุรักษนิยมกลางขวา และมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและปัญญาขนที่มีความคิดเสรีนิยมเอียงขวาหลังจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ชเตรเซมันน์ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเยอรมัน (German National Constituent Assembly) ที่จัดตั้งขึ้นที่เมืองไวมาร์เพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าเขาจะมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขาก็ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญพอ ๆ กับระบอบสาธารณรัฐ นอกจากนี้ ชเตรเซมันน์ยังต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งผู้แทนเยอรมันลงนามในช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างมากจนถึงกับตั้งปณิธานไว้ว่าหากเขามีอำนาจทางการเมืองเมื่อใด เขาจะต้องพยายามขอแก้ไขสนธิสัญญาฉบับนี้ให้ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดกบฏคัพพ์ (Kupp Putsch)* ของพวกฝ่ายขวาขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ชเตรเซมันน์กลับแสดงท่าทีที่ไม่ชัดเจน ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากพวกฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่หลังเหตุการณ์นี้สงบลงแล้ว เขาก็แสดงท่าทีสนับสนุนสาธารณรัฐไวมาร์มากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ชเตรเซมันน์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากและอยู่ในกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเป็นเวลา ๓ ปี ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๓ พรรคประชาชนเยอรมันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นประกอบด้วยพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (Social Democratic Party-SPD)* พรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* และพรรคเดโมแครตเยอรมัน (German Democrats) เขาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ชเตรเซมันน์เข้ารับตำแหน่งในช่วงที่เยอรมนีกำลังอยู่ในทำมกลางวิกฤตการณ์การยึดครองรูร์ (Ruhr Occupation)* ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง เขาพยายามทำให้วิกฤตการณ์ดังกล่าวยุติลงโดยเร็วโดยประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตไรน์แลนด์และออกคำสั่งให้กรรมกรเหมืองแร่และคนงานโรงงานอุตสาหกรรมในแคว้นรูร์ยกเลิกการต่อต้านฝรั่งเศสและเบลเยียม เพราะรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้แก่คนงานที่หยุดงานเพื่อก่อการประท้วงจนไม่มีเงินจะจ่าย นอกจากนี้ยังต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจนเงินมาร์คไม่มีค่า การปิดเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถาวรเป็นเวลานานยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนักเนื่องจากไม่มีการผลิตทางอุตสาหกรรมเกิดขึ้น เศรษฐกิจของเยอรมนีที่ทรุดโทรมอยู่แล้วจึงอยู่ในสภาพใกล้จะล้มละลาย การตัดสินใจของชเตรเซมันน์ที่ให้ยกเลิกการต่อต้านดังกล่าวยังเกิดจากความคิดที่ว่า แม้สนธิสัญญาแวร์ซายจะไม่ยุติธรรม แต่เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับความจริงโดยพยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาเท่านั้น เพื่อทำให้ชาวโลกเห็นใจเยอรมนีว่าค่าปฏิกรรมสงครามนั้นอยู่เหนือความสามารถของเยอรมนีที่จะจ่ายให้แก่ประเทศผู้ชนะสงครามได้

 ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ชเตรเซมันน์ได้ให้ฮันส์ ลูเทอร์ (Hans Luther) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดพิมพ์เงินตราชนิดใหม่ที่เรียกว่า เรนเทนมาร์ค (Rentenmark) ขึ้นใช้ในประเทศแทนเงินมาร์คเยอรมัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนโดยใช้ที่ดินและทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมคํ้าประกันค่าเงินแทนทองคำ เนื่องจากในขณะนั้นเยอรมนีไม่มีทองคำสำรองเหลืออยู่เลย ขณะเดียวกันเขาก็เปิดการเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะกับฝรั่งเศสเพื่อขอให้ถอนทหารออกไปจากแคว้นรูร์โดยเร็วซึ่งเยอรมนีก็ได้รับความเห็นใจจากนานาชาติ อย่างไรก็ดี นโยบายภายในประเทศในบางเรื่อง โดยเฉพาะการไม่จัดการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มคนที่เป็นแกนนำในการก่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เพื่อล้มล้างสาธารณรัฐไวมาร์ ก็ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันไม่พอใจและออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งยังทำให้รัฐบาลชเตรเซมันน์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนแพ้คะแนนเสียง รัฐบาลของเขาจึงหมดอำนาจลงในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน รวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เพียง ๑๐๐ วัน อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่พรรคของเขาก็ได้เข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมต่อมาโดยเริ่มจากรัฐบาลกลาง-ขวามาจนถึงกลาง-ซ้ายรวม ๘ รัฐบาล และชเตรเซมันน์ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๙

 ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลใหม่ ชเตรเซมันน์ได้ดำเนินการสานต่อการเจรจากับมหาอำนาจในเรื่องการยึดครองรูร์เพื่อให้ฝรั่งเศสและเบลเยียมถอนทหารออกไปโดยเร็วและให้มีการประนอมหนี้ค่าปฏิกรรมสงคราม ทั้งยังต้องการใช้โอกาสนี่เจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอให้ถอนทหารออกไปจากดินแดนไรน์แลนด์ทั้งหมดก่อนระยะเวลา ๑๕ ปีตามที่สนธิสัญญาแวร์ซายได้กำหนดไว้ ส่วนในเรื่องการประนอมหนี้นั้น ชเตรเซมันน์ได้รับความเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นอย่างมาก ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ ประเทศทั้งสองได้ผลักดันคณะกรรมาธิการดูแลการชำระค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร (Inter-Allied Reparation Commission) ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการคลังจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และอิตาลีประเทศละ ๒ คน รวม ๑๐ คน โดยมีชาลส์ จี. ดอส์ (Charles G. Dawes) นายธนาคารชาวอเมริกันเป็นประธานเพื่อจัดทำแผนประนอมหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่เยอรมนีคณะกรรมการชุดนี้จัดทำแผนดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในชื่อ “แผนดอส์” เสร็จสิ้นและผ่านการรับรองของที่ประชุมนานาชาติในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ ต่อมา แผนดอส์ ยังได้รับการรับรองจากที่ประชุมนานาชาติอีกครั้งที่กรุงลอนดอนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปีเดียวกันโดยมีชเตรเซมันน์เข้าร่วมประชุมด้วย แผนนี้ได้ลดยอดเงินค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายให้แก่ประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมดลงมาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังให้เยอรมนีได้รับเงินกู้ยืมจากสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปใช้หนี้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งกำหนดตารางเวลาการใช้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามใหม่เพื่อให้เยอรมนีใช้หนี้ได้หมดภายในเวลา ๕ ปี โดยเริ่มจาก ค.ศ. ๑๙๒๔ และเข้ามาช่วยเยอรมนีจัดการปฏิรูปเงินมาร์คและธนาคารกลางเยอรมันด้วย เงื่อนไขทางด้านการเงินและการคลังตามแผนดอส์นับว่าเป็นประโยชน์แก่เยอรมนีเป็นอย่างมากเพราะได้ช่วยให้เยอรมนีฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วขึ้น และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คีอ การที่ฝรั่งเศสและเบลเยียมตกลงจะถอนทหารออกจากภูมิภาครูร์ภายใน ค.ศ. ๑๙๒๕ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังยินยอมผ่อนปรนให้แก่เยอรมนีตามข้อเรียกร้องของชเตรเซมันน์เกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ อีกหลายเรื่อง นับเป็นความสำเร็จของชเตรเซมันน์ในการขอแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซายโดยทางอ้อมเป็นครั้งแรก

 หลังจากนั้น ชเตรเซมันน์ได้ฉวยโอกาสที่ฝรั่งเศสยอมรับเงื่อนไขของแผนดอส์ดำเนินการขอแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซายในเรื่องอื่นๆ ต่อไปในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาได้ส่งหนังสือถึงโจเซฟ ออสเตน เชมเบอร์เลน (Joseph Austen Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษผ่านทางสอร์ดเอดการ์ วินเซนต์ ดาเบอร์นอน (Edgar Vincent D’Abemon) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเยอรมนี เสนอให้อังกฤษช่วยคํ้าประกันความปลอดภัยของเยอรมนีทางพรมแดนด้านตะวันตกที่ติดต่อกับฝรั่งเศสและเบลเยียม เนื่องจากสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ให้การคํ้าประกันในเรื่องนี้และสนธิสัญญาคํ้าประกันที่เยอรมนีหวังว่าจะได้รับจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาหลังการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ขายก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาแวร์ซาย ทั้งยังต้องการให้มีการปรับปรุงพรมแดนด้านตะวันออกที่ติดต่อกับโปแลนด์เพื่อให้โปแลนด์คืนดานซิก [(Danzig)* ปัจจุบันคือ เมืองกดานสค์ (Gdansk)* ในโปแลนด์] หรือฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) และอัพเพอร์ไซลีเซีย (Upper Silesia) ให้แก่เยอรมนีรวมทั้งผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีด้วยข้อเสนอของชเตรเซมันน์ได้รับความเห็นใจจากเชมเบอร์เลนเป็นอย่างดี เพราะเขาต้องการให้ฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็นมิตรต่อกันเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นในยุโรปขณะเดียวกันชเตรเซมันน์ก็เร่งกระชับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสร่วมมือกับเยอรมนีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองด้วยดีเช่นกันจากอารีสตีด บรียอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เพราะบรียองกำลังมีความวิตกกังวลในปัญหาความมั่นคงของประเทศและการเกิดสงครามในอนาคตจึงพร้อมที่จะเปิดการเจรจา บุคคลทั้งสามได้ติดต่อประสานงานเป็นการภายในเป็นเวลาหลายเดือนตลอดช่วงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๕ ในที่สุดอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีก็ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่เมืองโลคาร์โน (Locarno) สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๕-๑๖ ตุลาคม ปีเดียวกัน เพื่อพิจารณาปัญหาเส้นเขตแดนของเยอรมนีตามเงื่อนไขที่สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดไว้และปัญหาความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอื่น ๆ โดยได้เชิญอิตาลี เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกียเข้าร่วมประชุมด้วย

 ในการเจรจา ชเตรเซมันน์ได้พยายามต่อรองเพื่อทำให้เกิดการคํ้าประกันและการปรับปรุงพรมแดนทั้ง ๒ ด้านข้อเสนอของเขาได้รับการพิจารณาด้วยท่าทีที่ผ่อนปรนเป็นอย่างมากจากเชมเบอร์เลนและบรียองซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าบรียองจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของชาติตนไว้ให้มากที่สุดก็ตาม บุคคลทั้งสามต่างมีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องคํ้าประกันความปลอดภัยของยุโรปร่วมกันเพื่อทำให้ยุโรปมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงได้พยายามโน้มน้าวผู้แทนประเทศอื่น ๆ ให้ร่วมมือด้วย ฉะนั้น หลังการอภิปรายอันยาวนาน ผู้แทนประเทศทั้งเจ็ดก็ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในสนธิสัญญา ๗ ฉบับ ซึ่งเรียกรวมกันว่าสนธิสัญญาโลคาร์โนหรือกติกาสัญญาโลคาร์โน (Pact of Locarno) สนธิสัญญาทั้ง ๗ ฉบับนี้แยกออกเป็น ๓ ชุด ชุดแรกมี ๑ ฉบับเป็นข้อตกลงระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสและเยอรมนีกับเบลเยียมว่าด้วยการคํ้าประกันเขตแดนด้านตะวันตกของเยอรมนี การกำหนดให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่นํ้าไรน์ลึก ๘๐ กิโลเมตรเป็นเขตปลอดทหาร และการที่เยอรมนีตกลงโอนแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine)* ให้แก่ฝรั่งเศสอย่างถาวร พร้อมทั้งยํ้าว่าจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกัน นอกจากนี้ ประเทศทั้งสามยังสัญญาว่าจะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน และหากประเทศใดประเทศหนึ่งละเมิดข้อตกลง ประเทศคู่สัญญาที่เหลือจะเข้าช่วยเหลือประเทศที่ถูกรุกรานโดยทันที ชุดที่ ๒ เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยอนุญาโตตุลาการระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย รวม ๔ ฉบับ ซึ่งมีข้อความเหมือนกัน โดยมีสาระสำคัญว่าประเทศทั้งสี่สัญญาว่าจะนำกรณีพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตดลาการของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* และศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ส่วนชุดที่ ๓ เป็นสนธิสัญญาทางการทหารระหว่างฝรั่งเศสกับโปแลนด์ และระหว่างฝรั่งเศสกับเชโกสโลวะเกียรวม ๒ ฉบับ ซึ่งยํ้าความเป็นพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศทั้งสองตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ ก่อนหน้านี้พร้อมทั้งให้สัญญาว่าในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกเยอรมนีรุกราน ประเทศคู่สัญญาจะเข้าช่วยเหลือโดยทันที

 สนธิสัญญาทั้ง ๗ ฉบับนี้ได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ แม้ว่าซเตรเซมันน์จะไม่ได้รับการตอบสนองทั้งหมดตามที่เขาเรียกร้อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพรมแดนทางด้านตะวันออกและการผนวกออสเตรีย แต่การคํ้าประกันความปลอดภัยทางด้านตะวันตก การยอมรับเยอรมนีในฐานะมหาอำนาจที่เท่าเทียมกันในเวทีระหว่างประเทศและความร่วมมือต่าง ๆ ที่อังกฤษและฝรั่งเศสให้แก่เยอรมนี รวมทั้งสัมพันธภาพอันใกล้ชิดระหว่างเยอรมนีกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่เคยเป็นศัตรูกันมาในอดีตก็ทำให้เขาพอใจ ความสำเร็จของสนธิสัญญาโลคาร์โนทำให้ชเตรเซมันน์ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษ เพราะเขาทำให้พรมแดนเยอรมันได้รับการคํ้าประกันว่าการรุกรานเยอรมนีจากทางด้านตะวันตกจะไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายดังเช่นเหตุการณ์การยึดครองแคว้นรูร์ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ทั้งยังทำให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรถอนกำลังทหารออกจากการควบคุมดินแดนฝั่งซ้ายของแม่นํ้าไรน์ได้ก่อนกำหนดถึง ๕ ปี รวมทั้งทำให้เยอรมนีสามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือสนธิสัญญาโลคาร์โนได้สร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศและสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วยุโรป ด้วยเหตุนี้ ชเตรเซมันน์จึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับบรียองใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ต่อจากเชมเบอร์เลนที่ได้รับรางวัลเดียวกันนี้ใน ค.ศ. ๑๙๒๕

 อย่างไรก็ดี การลงนามในสนธิสัญญาโลคาร์โนได้ทำให้โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะเขาเห็นว่าเป็นความพยายามของประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกที่จะโดดเดี่ยวสหภาพโซเวียตจากยุโรปและแยกเยอรมนีซึ่งได้ลงนามกับสหภาพโซเวียตในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ค.ศ. ๑๙๒๒ ออกจากสหภาพโซเวียต ซึ่งเท่ากับเป็นการคุกคามต่อความปลอดภัยของสหภาพโซเวียต ชเตรเซมันน์จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๖ เพื่อยํ้าเงื่อนไขของสนธิสัญญาราปัลโลและขยายความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ สนธิสัญญาเบอร์ลินยังระบุว่าประเทศทั้งสองตกลงที่จะเป็นกลางในกรณีที่ประเทศคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งทำสงครามกับประเทศที่ ๓ และไม่สามารถใช้ดินแดนของเยอรมนีหรือสหภาพโซเวียตในกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทำสงครามกับประเทศที่ ๓ ได้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตจึงยังคงดำเนินต่อมาด้วยดี

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชเตรเซมันน์ยังประสบความสำเร็จในการนำเยอรมนีเข้าสู่สันนิบาตชาติในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรี (Council) ซึ่งมีอำนาจใช้สิทธิยับยั้งในการออกเสียงลงมติ ทำให้เยอรมนีมีสถานะทัดเทียมกับมหาอำนาจอื่นในเวทีโลก และในปีเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มถอนทหารรุ่นแรกออกจากเขตยึดครองไรน์แลนด์ ในช่วงนี้ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและความร่วมมือระหว่างชเตรเซมันน์กับบรียองกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งของเยอรมนีและฝรั่งเศส เพราะบุคคลทั้งสองต่างให้การสนับสนุนนโยบายของกันและกันมาโดยตลอด ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชเตรเซมันน์เดินทางไปพบบรียองอย่างลับ ๆ ที่เมืองตัวรี (Thoiry) ในฝรั่งเศส เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาที่ยังคั่งค้างอยู่ แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายค้านในประเทศทั้งสองทำให้ความหวังของชเตรเซมันน์ที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นหยุดนิ่งลง อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขายังได้เดินทางไปลงนามในกติกาสัญญาเคลล็อกก์-บรียอง (Kellogg-Briand Pact)* ที่บรียองและแฟรงก์ บี. เคลล็อกก์ (Frank B. Kellogg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการ่วมมือกันจัดทำขึ้นเพื่อบอกเลิกการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ร่วมกับ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ อีกกว่า ๑๐ ประเทศ ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม การลงนามในกติกาสัญญาดังกล่าวทำให้เยอรมนีได้รับความไว้วางใจจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ชเตรเซมันน์ยังสนับสนุนแผนจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรป (European Federal Union) ที่บรียองเสนอต่อสันนิบาตชาติใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เพื่อการรวมยุโรปด้วย ภารกิจสุดท้ายของเขาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี คือ การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๒๙ เพื่อพิจารณาแผนยังซึ่งเป็นแผนประนอมหนี้และให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เยอรมนีฉบับใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเสนอให้จัดทำขึ้นเพื่อใช้แทนแผนดอส์ เนื่องจากเยอรมนีไม่สามารถชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามได้ตามกำหนดเวลาของแผนดอส์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่จนถึงการประกาศใช้แผนนี้ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐

 ในด้านชีวิตส่วนตัวชเตรเซมันน์สมรสกับเคทเทอ เคลเฟลด์ (Käthe Kleefeld) บุตรสาวของอดอล์ฟ เคลเฟลด์ (Adolf Kleefeld) นักธุรกิจอุตสาหกรรมชาวเยอรมันเชื้อสายยิวใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เคทเทอเป็นสตรีที่งามสง่า มีเสน่ห์และมีบทบาทโดดเด่นในสังคมชั้นสูงของกรุงเบอร์ลิน ทั้งสองมีบุตรชาย ๒ คน

 กุสทาฟ ชเตรเซมันน์ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคสมองขาดเลือด เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ณ บ้านพักในกรุงเบอร์ลิน ขณะอายุ ๕๑ ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของเยอรมนี เพราะเขาเป็นรัฐบุรุษที่ได้ทำงานหนักเพื่อต่อสู้ให้สาธารณรัฐไวมาร์ตั้งอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพและมีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๙ ซึ่งนับเป็นยุคทองของสาธารณรัฐไวมาร์.



คำตั้ง
Stresemann, Gustav
คำเทียบ
นายกุสทาฟ ชเตรเซมันน์
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาเคลล็อกก์-บรียอง
- กบฏคัพพ์
- กบฏโรงเบียร์
- การเมืองที่เป็นจริง
- การยึดครองรูร์
- เกอเท, โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน
- คุสเทอร์, คอนราด
- ฉนวนโปแลนด์
- เชโกสโลวะเกีย
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ ออสเตน
- ไซลีเซีย
- ดอส์, ชาลส์ จี.
- นโยบายการใช้เรือดำนํ้าโจมตีโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
- นอยมันน์, ฟรีดริช
- บรียอง, อารีสตีด
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เบทมันน์-โฮลเวก, ทีโอบัลด์ ฟอน
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- แผนดอส์
- แผนยัง
- พรรคเดโมแครต
- พรรคเดโมแครตเยอรมัน
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาชนเยอรมัน
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเสรีนิยม
- มอร์, ทอมัส
- รางวัลโนเบล
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- ลูเทอร์, ฮันส์
- ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาเบอร์ลิน
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเยอรมัน
- สภาไรค์ชตาก
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหพันธรัฐยุโรป
- สหภาพสังคมแห่งชาติ
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- สันนิบาตอาณานิคมเยอรมัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1878-1929
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๗๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-