ปิออตร์ อาร์คัดเยวิช สโตลิปินเป็นอัครมหาเสนาบดีรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๑ และเป็นพวกกษัตริย์นิยมที่เห็นว่ารัสเซียยังไม่พร้อมที่จะปกครองในระบอบรัฐสภาเขาริเริ่มการปฏิรูปเกษตรกรรมและปรับปรุงสวัสดิการของชาวนา
สโตลิปินเกิดในตระกูลขุนนางชนบทเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๒ ณ เมืองเดรสเดิน (Dresden) ราชอาณาจักรแซกโซนี (Saxsony) ในดินแดนเยอรมันบิดาเป็นเจ้าที่ดินที่มั่งคั่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางเก่ารัสเซีย ส่วนมารดาเป็นบุตรสาวของเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขามีพี่ชายคนเดียวและสนิทกับพี่ชายมาก ในวัยเยาว์สโตลิปินใช้ชีวิตชนบทที่คฤหาสน์คัลนาแบร์เช (Kalnaberžé) ที่บิดาสร้าง ซึ่งต่อมาเมื่อสูงวัยขึ้น เขาก็มักใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเมื่อโอกาสอำนวยใน ค.ศ. ๑๘๗๖ ขณะอายุ ๑๔ ปี ครอบครัวอพยพไปอยู่ที่เมืองวิลนา (Vilna) เพื่อให้เขาได้เรียนโรงเรียนในเมืองหลังสำเร็จการศึกษามัธยมปลายใน ค.ศ. ๑๘๘๐ สโตลิปินเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาเข้ารับราชการ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าดูแลเขตปกครองจังหวัดคอฟโน (Kovno) ตำแหน่งดังกล่าวทำให้สโตลิปินได้พัฒนาด้านการบริหารปกครองและรับรู้ปัญหาทุกข์สุขของประชาชน เขาพอใจกับชีวิตที่เรียบง่ายในหัวเมืองและสนใจการเกษตร ต่อมาสโติปินได้สมรสกับออสกา โบรีซอฟนา ไนด์ฮาร์ท (Olga Borisovna Neidhardt) บุตรีของนักธุรกิจที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงในกรุงมอสโก ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๔ คนและบุตรชาย ๑ คน
ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ สโตลิปินในวัย ๔๐ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงจังหวัดกรอดโน (Grodno) และนับเป็นข้าหลวงที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น กรอดโนเป็นจังหวัดที่มีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โปล ยิว ลิทัวเนีย ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมขนาดเล็กเป็นหลัก โดยการปลูกพืชแบบหมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งมีการนำวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตและอื่น ๆ สโตลิปินประทับใจกับวิธีที่ชาวนาใช้และเห็นว่าควรสนับสนุนวิธีการทำเกษตรกรรมดังกล่าวให้แพร่หลาย อย่างไรก็ตาม เขาอยู่ที่กรอดโนได้เพียงปีเดียวก็ถูกย้ายไปเป็นข้าหลวงที่จังหวัดชาราตอฟ (Saratov) ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๓ สโตลิปินได้นำรูปแบบการทำไร่นาขนาดเล็กจากกรอดโนมาประยุกต์ใช้ที่ซาราตอฟ และสนับสนุนชาวนาให้มีที่ดินทำกินของตนเองเพื่อเป็นอิสระจากระบบคอมมูน เมื่อเกิดเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ตลอดจนการเรียกร้องค่าแรงเพิ่มและให้ลดชั่วโมงการทำงานลงของกรรมกร การนัดหยุดงานยังขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ข่าวความพ่ายแพ้ของกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาเทอร์ (Port Arthur) ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* และการก่อกบฏของทหารเรือและกะลาสีในเหตุการณ์กบฏโปเตมกิน (Potemkin Mutiny)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก็มีส่วนทำให้การต่อต้านรัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้น ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* และพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers’ Party)* ก็ร่วมกันก่อการจลาจลและบุกทำลายทรัพย์สินของเจ้าที่ดิน ในช่วงเวลาที่การจลาจลของชาวนาขยายตัวไปทั่วจักรวรรดิ สโตลิปินได้สั่งปราบปรามชาวนาอย่างเด็ดขาด จนเขาได้ชื่อว่าเป็นข้าหลวงคนแรกที่ใช้ตำรวจและกลไกรัฐทุกรูปแบบปราบปรามการจลาจลและจับกุมขังบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง นอกจากนี้ สโตลิปินยังเสนอให้ตำรวจจัดทำทะเบียนประวัติพลเมืองชายทุกคนในจังหวัด ความสำเร็จในการรักษาระเบียบและริเริ่มการจัดการบริหารใหม่ในซาราตอฟดังกล่าวมีส่วนทำให้อีวาน กอเรมีกิน (Ivan Goremykin) อัครมหาเสนาบดีแต่งตั้งเขาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๖
เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงยุบสภาดูมา (Duma)* สมัยแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ด้วยเหตุผลที่ว่าสภาดูมามีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลจนบริหารงานไม่ได้และทรงประกาศจะให้มีการเปิดประชุมสภาดูมาประมาณเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ พระองค์ทรงแต่งตั้งสโตลิปินเป็นอัครมหาเสนาบดีเพื่อให้ดำเนินการเรื่องการเลือกตั้งเพราะทรงเชื่อมั่นว่าสโตลิปินจะทำให้การดำเนินงานระหว่างสภาดูมากับรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น แม้สโตลิปินซึ่งเป็นนักการเมืองแนวอนุรักษนิยมจะเห็นว่ารัสเซียยังไม่พร้อมที่จะปกครองในระบอบรัฐสภาแต่เขาก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้รัฐสภาในการปฏิรูปบางด้านเพื่อรักษาระบบอัตตาธิปไตยไว้ ในช่วงที่ยังไม่มีการเลือกตั้งและเปิดประชุมสภาดูมา สโตลิปินได้ใช้เงื่อนไขในมาตรา ๘๗ ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐบาลออกกฎหมายได้ในช่วงที่ไม่อยู่ในสมัยการประชุมสภาเพื่อสร้างความสงบและเป็นระเบียบในสังคมเขาจึงจัดตั้งศาลทหารพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาคดีผู้ที่ก่อการจลาจลและเป็นภัยต่อความมั่นคงทางสังคม โดยกำหนดโทษประหารชีวิตผู้กระทำความผิดด้วยการแขวนคอ บทลงโทษที่รุนแรงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะสยบกลุ่มก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะพวกโปลและชนชาติในบอลติกที่ต่อต้านรัสเซียตลอดจนกลุ่มปัญญาชนปฏิวัติ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ฝ่ายปฏิวัติหัวรุนแรงวางระเบิดคฤหาสน์ของสโตลิปิน มีผู้เสียชีวิต ๓๒ คนและบาดเจ็บหลายคนซึ่งรวมทั้งบุตรชายและบุตรสาวของสโตลิปิน แต่สโตลิปินไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สโตลิปินมุ่งมั่นที่จะกวาดล้างฝ่ายปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน เขาดำเนินการกวาดล้างอย่างเด็ดขาดและให้สร้างหลักประหารเพื่อใช้แขวนคอนักโทษขึ้นตามที่ต่าง ๆ และใช้ข่มขวัญฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ประมาณว่าระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๐๙ มีผู้ถูกแขวนคออย่างต่อเนื่องรวมจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ คน และทำให้หลักประหารมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “เนคไทของสโตลิปิน” (Stolypin’s Necktie)
ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๖ สโตลิปินประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินยกเลิกหนี้สินและข้อผูกมัดของชาวนาที่มีต่อรัฐซึ่งสืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาปลดปล่อยทาสติดที่ดิน ค.ศ. ๑๘๖๑ โดยชาวนาไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการผ่อนชำระเงินชดเชยแก่รัฐและคอมมูนให้ครบ ๔๙ ปี ตามที่กำหนดไว้แต่เดิม ทั้งยังสามารถอพยพออกจากคอมมูนได้อย่างอิสระและได้รับที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างฐานะด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๑ สโตลิปินผลักดันการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินหลายฉบับเพื่อสนับสนุนชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีงานทำให้อพยพไปบุกเบิกที่ดินและตั้งรกรากที่คาซัคสถาน (Kazakhstan) และไซบีเรียโดยรัฐบาลขายที่ดินให้ในราคาถูกและให้เงินเป็นทุนไปตั้งตัว ตลอดจนให้มีการยกเลิกหนี้สินของชาวนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้เงินกู้ผ่านธนาคารจำนวนมากแก่ชาวนาที่มีฐานะเพื่อรับซื้อที่ดินจากคอมมูนและตั้งเป็นเขตเกษตรกรรมอิสระที่เรียกว่า ฮูตอร์ (Khutor) ขึ้น ทั้งสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ทำนาและพัฒนาการเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้เลี้ยงตัวได้ สโตลิปินเชื่อว่าโดยพื้นฐานชาวนามีความจงรักภักดีต่อซาร์ การสร้างชนชั้นชาวนารวยและทำให้ชาวนาโดยทั่วไปมีชีวิตที่ดีขึ้นจึงเป็นการสร้างฐานพลังประชาชนในชนบทในการจะช่วยคํ้าจุนราชบัลลังก์ให้มั่นคงขึ้นและจะทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมในรัฐสภาเข้มแข็งมากขึ้น สโตลิปินกล่าวว่านับแต่นั้นไปเป็นเวลา ๒๐ ปี รัสเซียจะมีสันติภาพและความสงบสุขทั้งภายในภายนอกประเทศ และจะมีจำนวนชาวนาที่มั่งคั่งจำนวนมากพอในการเป็นฐานอำนาจเพื่อปกป้องซาร์ นโยบายปฏิรูปที่ดินทำให้เกษตรกรรมพัฒนาก้าวหน้าและขยายตัวอย่างรวดเร็วและผลิตผลเกษตรกรรมก็มีมากขึ้น ทั้งชนชั้นชาวนารวยก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย
สภาดูมาสมัยที่ ๒ เปิดประชุมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ในสมัยการประชุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) หรือพรรคคาเดตส์ (Kadets) ซึ่งเคยมีเสียงข้างมากในสภาดูมาสมัยแรกได้รับเลือกเข้ามาไม่มากนัก พรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้เสียงมากที่สุดในสภาดูมาคือ ๑๘๘ ที่นั่งแม้พรรคการเมืองฝ่ายขวาจะคุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้แต่ก็ขาดความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย ทั้งมักขัดแย้งกับฝ่ายซ้ายในสภา ซึ่งพยายามใช้สภาเป็นเวทีโฆษณาการปฏิวัติและโจมตีรัฐบาล การบริหารงานของสภาจึงไม่ราบรื่นซาร์นิโคลัสที่ ๒ ก็ไม่ทรงพอพระทัยที่สภาดูมาโจมตีรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารกองทัพ จึงทรงปฏิเสธไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาหลายครั้งจนเกิดภาวะชะงักงันในการบริหาร สโตลิปินยังถูกสมาชิกสภาจากทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายโจมตีนโยบายปฏิรูปที่ดินเขาจึงหาทางยุบสภาด้วยการให้ตำรวจลับสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับแผนลอบปลงพระชนม์และยุบสภาได้สำเร็จสโตลิปินสั่งจับกุมสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ ทั้งให้ยกเลิกสิทธิที่สมาชิกสภาได้รับความคุ้มครองไม่ต้องถูกจับระหว่างปิดสมัยประชุมและเนรเทศไปไซบีเรีย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สภาดูมาจะถูกยุบเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗ มีการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งใหม่โดยกำหนดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้สมัครให้สูงขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้แทนกลุ่มชาวนาและกรรมกรลง ทั้งตัดสิทธิผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมทั้งแบ่งเขตการเลือกตั้งมากขึ้น กฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มชนชั้นสูงเจ้าที่ดิน และนักบวชได้รับเลือกเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมากขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวนาและกรรมกรจำนวนมากสูญเสียสิทธิการเลือกตั้ง ประมาณว่าพลเมืองรัสเซียเพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗ วันที่กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ประกาศใช้จึงถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโจมตีว่าเป็น “วันรัฐประหาร ๓ มิถุนายน” นอกจากนี้ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังถือว่ากฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่นี้เป็นการเริ่มต้นของสมัยปฏิกิริยาและความโหดร้ายของระบอบซาร์ เพราะในเวลาต่อมามีการดำเนินการปราบปรามกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและขบวนการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๐๙ มีผู้ถูกจับยิงเป้าและแขวนคอกว่า ๕,๐๐๐ คน และถูกจำคุกกว่า ๓,๐๐๐ คน ทั้งสหภาพแรงงานกว่า ๑๐๐ แห่งก็ถูกยุบ สมาชิกองค์การปฏิวัติถูกกวาดล้างอย่างหนักจนต้องปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวลงกบดานใต้ดินเพื่อรักษาองค์การพรรค ผู้นำฝ่ายปฏิวัติจำนวนไม่น้อยต้องลี้ภัยไปต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๒ จึงนับเป็นช่วงตกตํ่าของขบวนการปฏิวัติรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ได้ชื่อว่าเป็นช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคงมากขึ้นจนฝ่ายปฏิวัติในเวลาต่อมาเชื่อว่าโอกาสของการก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบอบซาร์เป็นเพียงความฝันที่จะไม่เป็นจริง
เมื่อสภาดูมาสมัยที่ ๓ เปิดประชุมเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๗ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายอนุรักษ์ เสรีนิยมที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการบริหารงานของสภาจึงเป็นไปอย่างราบรื่นจนครบวาระ ๕ ปี ในสมัยการประชุมครั้งนี้สภาดูมาผ่านร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ถึง ๒,๕๗๑ ฉบับซึ่งรวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น การปรับปรุงระบบภาษี การปฏิรูปการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การให้สวัสดิการคนงานและอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลัง ค.ศ. ๑๙๑๐ สมาชิกสภาก็เริ่มขัดแย้งกับรัฐบาลเพราะไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดที่ดินซึ่งสโตลิปินประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ชาวนามากขึ้น และต่อต้านการเพิ่มงบประมาณด้านกองทัพปัญหาความล้มเหลวของนโยบายด้านเกษตรกรรมที่สืบเนื่องจากการจัดสรรที่ดินได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวนา และการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม และอื่น ๆ ก็มีส่วนทำให้สโตลิปินเริ่มไม่ได้รับความนิยมจากสมาชิกสภาดูมาและประชาชน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๔ ชาวนาก่อความวุ่นวายบ่อยครั้งและสโตลิปินก็ใช้อำนาจเด็ดขาดปราบปราม ซึ่งมีผลให้ความนิยมของประชาชนต่อเขาลดน้อยลงตามลำดับ นอกจากนี้ การที่สโตลิปินสนับสนุนกลุ่มร้อยทมิฬ (Black Hundred) ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจอิสระที่จงรักภักดีต่อซาร์ให้ปฏิบัติการข่มขู่และคุกคามกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรวมทั้งให้ทำร้ายและสังหารชาวยิวเพื่อสร้างความแตกแยกในชนกลุ่มน้อยก็ยิ่งทำให้การต่อต้านเขาและรัฐบาลขยายตัวมากขึ้น
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๑ สโตลิปินยังมีปัญหาขัดแย้งกับซาร์นิโคลัสที่ ๒ เกี่ยวกับเกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rasputin)* นักบวชชาวนาจากไซบีเรียที่มีเรื่องอื้อฉาว ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* ทรงเชื่อว่ารัสปูตินเป็นคนของพระเป็นเจ้าที่ถูกส่งมาช่วยคํ้าจุนราชบัลลังก์ เพราะเขาสามารถรักษาอาการของซาเรวิช อะเล็กเซย์ (Alexei)* พระราชโอรสองค์เดียวที่ประชวรด้วยโรคอึโมฟีเลีย (hemophilia) หรือพระโลหิตไม่แข็งตัวได้ เมื่อสโตลิปินแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนพฤติกรรมของรัสปูตินและพบว่าเขามีเพศสัมพันธ์กับสตรีไม่เลือกหน้า ขี้เมา และชอบคุยโอ้อวดความสัมพันธ์พิเศษกับราชสำนักและอื่น ๆ สโตลิปินจึงกราบทูลรายงานให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงทราบและทูลเสนอแนะให้ส่งรัสปูตินกลับไซบีเรีย แต่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิเสธ สโตลิปินจึงใช้อำนาจโดยพลการขับรัสปูตินออกจากเมืองหลวงกลับไซบีเรีย เมื่อซารีนาทรงทราบเรื่องก็พิโรธและทรงชังสโตลิปินอย่างมาก และโน้มน้าวพระทัยพระสวามีให้ต่อต้านสโตลิปิน โดยทรงอ้างว่าเขาเป็นคนแข็ง กระด้าง นักเผด็จการ และหลงตน ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงคล้อยตามพระมเหสีและทรงเริ่มหมดความไว้วางพระทัยในสโตลิปิน
วันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๑ สโตลิปินเดินทางไปเมืองเคียฟ (Kiev) เพื่อตรวจงานราชการ ตำรวจได้เตือนเขาถึงเรื่องมีผู้คบคิดวางแผนการลอบสังหารเขาซึ่งตำรวจได้รับเบาะแส แต่สโตลิปินไม่สนใจคำเตือน ทั้งยังเดินทางต่อโดยไม่มีคนคุ้มกันและปฏิเสธที่จะสวมเสื้อกันกระสุน ในเย็นวันนั้น สโตลิปินไปชมอุปรากร ซึ่งซาร์นิโคลัสที่ ๒ แกรนด์ดัชเชสออลกา (Olga) และแกรนด์คัชเชสตาตีนา (Tatina) พระราชธิดาเสด็จไปทอดพระเนตรด้วย ในช่วงพักการแสดงสโตลิปินถูกดิมีตรี โบกรอฟ (Dmitri Bogrov) สายลับสองหน้าของหน่วยตำรวจลับโอครานา (Okhrana) สาดกระสุนใส่ ๒ นัด กระสุนนัดแรกถูกแขนขวาและอีกนัดถูกที่หน้าอกอีก ๔ วันต่อมาเขาถึงแก่อสัญกรรมจากพิษบาดแผล รวมอายุได้ ๔๙ ปี ศพของสโตลิปินได้รับการประกอบพิธีฝังอย่างสมเกียรติ ณ สุสานเปเชียสก์ (Pechersk) เมืองเคียฟยูเครน ส่วนโบกรอฟถูกแขวนคอในอีก ๑๐ วันต่อมา ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงให้ยุติการสืบสวนที่อาจจะขยายผลไปถึงผู้ร่วมหรือรับรู้แผนลอบสังหาร คำสั่งของซาร์ทำให้เกิดข่าวลือว่าการลอบสังหารที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปฏิบัติการของฝ่ายปฏิวัติแต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างตำรวจลับกับซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่มีวัตถุประสงค์จะลดกระแสการต่อต้านรัฐบาลและขัดขวางการปฏิรูปของสโตลิปิน อย่างไรก็ตาม ข่าวลือดังกล่าวก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน อสัญกรรมของสโตลิปินมีส่วนทำให้ความมั่นคงของราชบัลลังก์และจักรวรรดิรัสเซียที่เขาได้วางรากฐานไว้สั่นคลอนลงจนในเวลาต่อมาราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ก็สูญสิ้นอำนาจและล่มสลายลง ใน ค.ศ. ๑๙๑๗.