Stauffenberg, Claus Schenk Graf von (1907-1944)

พันเอก เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๘๗)

เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์กเป็นนายทหารยศพันเอกซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มไครเซา (Kreisau Circle) ที่ต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนี เขาเป็นผู้นำในการวางแผนสังหารฮิตเลอร์ และแผนยึดอำนาจกรุงเบอร์ลินหลังจากฮิตเลอร์เสียชีวิตลง แผนการดังกล่าวจะปฏิบัติการควบคู่กันแผนนี้ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกชื่อว่า “ปฏิบัติการวัลคีริก” (Operation Valkyrie) หรือบางครั้งเรียกว่าแผนชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Stauffenberg Plot) ได้นำไปสู่เหตุการณ์การคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่แผนสังหารฮิตเลอร์ล้มเหลว ฝ่ายก่อการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดถูกจับกุมและกวาดล้าง ฮิตเลอร์ แต่งตั้งไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสำรอง (Ersatzarmee - Commander in Chief of the Army Reserve)


เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อกวาดล้างและไต่สวนกลุ่มผู้ก่อการ ชเตาฟ์เฟนแบร์กและสมาชิกกลุ่มไครเซาถูกตัดสินประหารชีวิต

 กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์กซึ่งมีชื่อเต็มว่า เคลาส์ ฟิลิป มาเรีย เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus Philip Maria Schenk Graf von stauffenberg) เกิดในครอบครัวขุนนางคาทอลิกที่มีอิทธิพลทางดินแดนเยอรมันตอนใต้ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๗ ณ ปราสาทกรีฟชไตน์ (Griefstein) ที่เมืองเยททิงเงิน (Jettingen) ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองอุล์ม (Ulm) กับเมืองเอาส์บูร์ก (Augsburg) ทางภาคตะวันออกของแคว้นสวาเบีย (Swabia) ในราชอาณาจักรบาวาเรีย (Kingdom of Bavaria) ซึ่งรวมอยู่ในจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๓ และมีพี่ชายฝาแฝดและมีน้องชายคู่แฝดแต่คู่แฝดเสียชีวิตในวัยเยาว์ แม้ภูมิหลังของครอบครัวจะอยู่ในแวดวงทหาร แต่ในวัยเยาว์ชเตาฟ์เฟนแบร์กก็กระหายใคร่รู้ในงานวรรณกรรมและศิลปะและเข้าเป็นสมาชิกชมรมกวีนิพนธ์ของสเตฟานเกออร์เกอ (Stephan George) กวีที่มีชื่อเสียงทั้งยังคงเป็นสานุศิษย์ที่ภักดีของเกออร์เกอตราบจนสิ้นชีวิต เขายังเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดและมีจิตสำนึกด้านจริยธรรมสูงด้วยใน ค.ศ. ๑๙๒๖ หลังสำเร็จการศึกษาระดับปลายด้านดนตรีและสถาปัตยกรรม เขาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตามรอยของครอบครัวและเข้าสังกัดกรมทหารม้าที่ ๑๗ แห่งบัมแบร์ก (Bamberg)

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ชเตาฟ์เฟนแบร์กสำเร็จการศึกษาได้เป็นที่ ๑ ของรุ่นและได้รับรางวัลกระบี่ทองในฐานะผู้ประสบความสำเร็จที่โดดเด่น เขาได้ติดยศร้อยเอก ผู้บังคับบัญชาให้ความเห็นว่าเขามีสดิปัญญาเฉียบแหลมและมีความสามารถสูงเหนือคนอื่น ๆ ทั้งด้านเทคนิคและยุทธวิธี เขามีทักษะในการแก้ไขปัญหาและมักเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยการพิพาทต่าง ๆ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี เพื่อนทหารก็มีความเห็นว่าชเตาฟ์เฟนแบร์กเป็นคนมีเสน่ห์ และทำให้คนที่อยู่ใกล้รู้สึกอบอุ่นและสบายใจ เพราะเขาเป็นกันเองทั้งเป็นคนดี มีเหตุผล และฉลาดกว่าคนทั่ว ๆไปใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ชเตาฟ์เฟนแบร์กมีโอกาสพบและรู้จักบารอนเนสนีนา ไฟรอิน ฟอน แลร์เชนเฟลด์ (Nina Freiin von Lerchenfeld) จากการแนะนำของครอบครัว นีนำมาจากตระกูลขุนนางเก่าแห่งบาวาเรียและเป็นสาวงามที่เฉิดฉายในแวดวงสังคมชั้นสูงคนทั้งสองต้องตาต้องใจซึ่งกันและกันเมื่อแรกพบ และในวันเกิดฉลองอายุเบญจเพสของชเตาฟ์เฟนแบร์กใน ค.ศ. ๑๙๓๒ นีนาก็ตอบรับการขอหมั้นจากเขา ในปีต่อมาทั้งคู่ก็เข้าสู่พิธีวิวาห์ ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ก็มีบุตรชายคนแรกและในเวลาต่อมายังมีบุตรชายอีก ๒ คน และบุตรสาว ๒ คน ซึ่งบุตรีคนสุดท้องเกิดหลังจากชเตาฟ์เฟนแบร์กถูกประหารชีวิตไม่นานนัก

 เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist Workers’ Party of German; Nazi Party)* รวบอำนาจทางการเมืองได้อย่างเด็ดขาดในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๔ จนกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศ พรรคนาซีได้เริ่มนโยบายการต่อต้านชาวยิวและละเมิดความตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ในวัยหนุ่มชเตาฟ์เฟนแบร์กไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านแนวนโยบายดังกล่าว เขาวางตัวเป็นกลางและคอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่มักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อฮิตเลอร์ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามและกำจัดแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* ผู้นำของหน่วยเอสเอ (SA-Sturmabteilung)* ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกกันว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ชเตาฟ์เฟนแบร์กเริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อพรรคนาซีเพราะเขาเห็นว่าการกวาดล้างอันนองเลือดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เมื่อเขาและหน่วยทหารใต้บังคับบัญชาถูกเรียกให้มาฟังคำชื้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงทหารผู้น้อยแต่เขาก็กล้าแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผยด้วยการเดินออกจากที่ประชุมของพรรคนาซีในขณะที่การชี้แจงมูลเหตุของการกวาดล้างเริ่มขึ้น เขาจึงถูกทัณฑ์บน

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ พรรคนาซีจัดการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ระหว่างวันที่ ๙-๑๕ กันยายน ในการประชุมประจำปีครั้งนี้ ฮิตเลอร์เสนอความคิดที่จะแยกชาวยิวออกจากพลเมืองเยอรมันและขอความเห็นชอบในการออกกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Law)* หรือกฎหมายนูเรมเบิร์กเกตโต (Nuremberg Ghetto Law) รวม ๒ ฉบับ โดยเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมืองของชาวเยอรมันเชื้อสายยิวในสังคมเยอรมันให้มีสถานภาพเป็นพลเมืองชั้นสองและห้ามชาวยิวแต่งงานกับชาวเยอรมันเชื้อสายอารยัน กฎหมายฉบับนี้ทำให้กลุ่มไครเซาซึ่งสมาชิกประกอบด้วยนายทหาร ปัญญาชน และชนชั้นสูงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพรรคนาซีเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคนาซี ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์กญาติของชเตาฟ์เฟนแบร์กซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไครเซาได้ชักจูงให้ชเตาฟ์เฟนแบร์กเข้าร่วมกับกลุ่มด้วย แต่เขาปฏิเสธเพราะเห็นว่ากลุ่มยังไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เขาจึงไปศึกษาต่อที่สถาบันสงคราม (War Academy) ที่กรุงเบอร์ลินโดยเน้นยุทธวิธีการใช้อาวุธสมัยใหม่ในกองทหารม้าและการใช้ม้าในการติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพในสงคราม เขาสำเร็จการศึกษาในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยเป็นที่ ๑ ของรุ่นและได้เข้าสังกัดหน่วยแพนเซอร์ที่ ๖ (6ᵗʰ Panzer Division) ในตำแหน่งนายทหารพลาธิการ (quartermaster)

 หลังการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ก็เริ่มแผนการขยายดินแดนไปทางตะวันออกด้วยการสนับสนุนชาวเยอรมันที่นิยมนาซีในซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ให้ก่อความวุ่นวายทางการเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้เยอรมนีหาเหตุเข้ายึดครอง การดำเนินการดังกล่าวทำให้พันเอก ลุดวิก เบค (Ludwig Beck) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแผนการยึดเชโกสโสวะเกียเพราะเกรงว่าจะเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามจึงต่อต้านด้วยการลาออก เขาร่วมมือกับนายพลฟรันซ์ ฮัลเดอร์ (Franz Halder) ซึ่งต่อต้านนาซีและวางแผนโค่นอำนาจฮิตเลอร์ทั้งพยายามติดต่อชเตาฟ์เฟนแบร์กให้เข้าร่วมด้วย แต่ชเตาฟ์เฟนแบร์กปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม แผนการโค่นอำนาจฮิตเลอร์ก็ถูกยกเลิกสืบเนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* จัดการประชุมที่มิวนิก (Munich Conference)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ บีบบังคับเชโกสโลวะเกียให้ยกซูเดเทนลันด์แก่เยอรมนี

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่อไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* หัวหน้าสำนักงานกลางความมั่นคงแห่งไรค์ (Reich Security Main Office-RSHA) ร่วมมือกับโยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิธรรมและการโฆษณาชวนเชื่อ (Public Enlightenment and Propaganda) วางแผนปลุกปั่นชาวเยอรมันให้ข่มเหงทำร้ายชาวยิวระหว่างคืนวันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน จนนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่ชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวทั่วเยอรมนีและออสเตรียซึ่งเรียกกันว่า คืนกระจกแตก (Kristallnacht)* เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกระทบต่อจิตใจของชเตาฟ์เฟนแบร์กเป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจที่จะต่อต้านระบอบนาซีโดยหาวิธีการที่จะโค่นอำนาจฮิตเลอร์และวางแผนสังหารด้วย

 อย่างไรก็ตาม แผนการโค่นอำนาจฮิตเลอร์ก็ต้องถูกยกเลิกเพราะเยอรมนีบุกโจมตีโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ชเตาฟ์เฟนแบร์กเข้าร่วมรบในยุทธการสำคัญ ๆ ในโปแลนด์ ฝรั่งเศส รัสเซีย และแอฟริกาเหนือตามลำดับ ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ชั้น ๑ จากความเก่งกล้าและอาจหาญในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* และใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ถูกโอนย้ายไปแนวรบด้านตะวันออกเพื่อบุกยึดเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) เขาได้รู้จักกับพันเอก เฮนนิง ฟอน เทรสโค (Henning von Tresckow) สมาชิกกลุ่มไครเซาซึ่งเคลื่อนไหวหาทางล้มอำนาจฮิตเลอร์ในกองทัพ ชเตาฟ์เฟนแบร์กซึ่งไม่เห็นด้วยกับแผนรบของฮิตเลอร์ที่มักเปลี่ยนไปมาจึงทันมาสนับสนุนเทรสโค ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลดินแดนที่เยอรมนียึดครองเขาก็พยายามผ่อนคลายนโยบายการปกครองที่เข้มงวดชองเยอรมนี และจัดตั้งกองทัพรัสเซียอาสาสมัครที่เรียกว่ากองทัพปลดปล่อยรัสเซีย (Russian Liberation Army-RLA) ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยทหารแดงและพลเมืองโซเวียต เพราะตระหนักว่าเยอรมนีไม่อาจชนะในสงครามได้หากไม่ได้รับการหนุนช่วยจากพลเมืองโซเวียตเขาชี้นำว่ากองทัพดังกล่าวมีพันธกิจในการปลดปล่อยรัสเซียจากอำนาจเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* โดยมีกองทัพเยอรมันเป็นพันธมิตรหนุนช่วย กองทัพปลดปล่อยรัสเซียซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๑๓๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ คน จึงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทำสงครามร่วมกับกองทัพเยอรมันระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ ในช่วงการบุกสหภาพโซเวียตและยึดครองดินแดนนั้น ชเตาฟ์เฟนแบร์กซึ่งรับผิดชอบการดูแลเชลยสงครามและพลเรือนในเขตยึดครองไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการอันเหี้ยมโหดของหน่วยสังหารพิเศษ (Einsatzgruppen - Special Killing Squads) ต่อพวกยิวรวมทั้งนโยบายทารุณกรรมของหน่วยเอสเอส (SS-Schultzstaffel-Defence Unit)* เขาจึงเกลียดชังระบอบนาซีมากขึ้นและพร้อมที่จะร่วมมือกับกลุ่มไครเซาในการโค่นอำนาจฮิตเลอร์

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้เลื่อนยศเป็นพันโทและถูกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการหน่วยรถถังแพนเชอร์ที่ ๑๐ ในแอฟริกาเหนือ ในต้นเดือนเมษายนขณะที่เขาควบคุมการเคลื่อนย้ายกำลังไปยังแถบชายฝั่งของตูนิเชีย (Tunisia) และในช่วงที่รถจี๊ปของเขาแล่นผ่านช่องเขา หน่วยลาดตระเวนทางอากาศของสหรัฐอเมริกาบินผ่านมาเห็นขบวนทัพเยอรมันจึงทิ้งระเบิดโจมตีอย่างหนัก ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกส่งไปรักษาตัวที่เมืองมิวนิก (Munich) เขาสูญเสียดวงตาข้างซ้ายและมือขวา ส่วนมือซ้ายเหลือเพียงนิ้วหัวแม่มือนิ้วกลาง และนิ้วชี้ แม้จะพิการแต่เขาก็ยังคงมีกำลังใจที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะรับใช้ชาติ ต่อมา ด้วยเส้นสายที่มีอยู่เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการของนายพลฟรีดริช ออลบริชท์ (Friedrich Olbricht) แห่งกองทัพสำรอง (Army Reserve) ประจำกรุงเบอร์ลิน ในช่วงที่ชเตาฟ์เฟนแบร์กพักรักษาตัวที่ปราสาทเลาท์ลิงเงิน (Schloss Lautlingen) บ้านเกิดซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ชเตาฟ์เฟนแบร์ก เขาได้รับเหรียญทองคำผู้บาดเจ็บจากการรบ (Wound Badge) เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ และเหรียญกางเขนทองคำในความกล้าหาญเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ปีเดียวกัน

 ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้รับการติดต่อจากพันเอก ลุดวิก เบค นายทหารปลดประจำการซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการคัดค้านแผนยึดครองเชโกสโลวะเกียใน ค.ศ. ๑๙๓๘ และคาร์ล ฟรีดริช เกอร์เดเลอร์ (Karl Friedrich Goerdeler) อดีตนายกเทศมนตรี เขาจึงปรับแผน “ปฏิบัติการวัลคีริก” ที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มก่อการปฏิบัติการวัลคีริกเป็นแผนที่ฮิตเลอร์และกองทัพได้ให้ความเห็นชอบในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ โดยกำหนดใช้เมื่อเกิดสถานการณ์วุ่นวายทางสังคมเป็นต้นว่า เกิดการจลาจลลุกฮือของแรงงานเชลยสงครามต่างชาติในเยอรมนี หรือการก่อกบฏของหน่วยเอสเอส ตลอดจนการยกพลของหน่วยพลร่มในดินแดนเยอรมันเป็นต้น ในช่วงที่เกิดการจลาจลขึ้นนั้น กองกำลังที่กระจัดกระจายกันของกองทัพปิตุภูมิ (Home Army) หน่วยต่าง ๆ จะผนึกกำลังและจัดตั้งเป็นหน่วยต่อสู้เข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้บัญชาการกองทัพสูงสุดในกรุงเบอร์ลินจะเป็นผู้สั่งการให้ใช้แผนปฏิบัติการวัลคีริก ชเตาฟ์เฟนแบร์กจึงวางแผนสังหารฮิตเลอร์และยึดอำนาจที่กรุงเบอร์ลินควบคู่กัน โดยหลังสังหารฮิตเลอร์แล้ว กองทัพที่ควบคุมและยึดครองกรุงเบอร์ลินได้ก็จะจัดตั้งรัฐบาลทหารปกครองประเทศ ปฏิบัติการวัลคีริกที่ชเตาฟ์เฟนแบร์กปรับเปลี่ยนใหม่จึงเรียกกันในเวลาต่อมาว่าแผนชเตาฟ์เฟนแบร์ก อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวยังมีช่องโหว่ที่ไม่มีนายทหารระดับสูงเข้าร่วมด้วยและขาดช่องทางที่จะเข้าถึงตัวฮิตเลอร์

 ความล้มเหลวของกองทัพเยอรมันในการปิดล้อมเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ค.ศ. ๑๙๔๓ ทำให้เยอรมนีเริ่มถอนกำลังออกจากแนวรบด้านตะวันออกในต้น ค.ศ. ๑๙๔๔ จอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* ซึ่งไม่พอใจนโยบายสงครามที่ผิดพลาดของฮิตเลอร์จึงถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมในแผนยึดอำนาจด้วย การเข้าร่วมของรอมเมิลไม่เพียงจะทำให้นายทหารระดับสูงอีกหลายคนทันมาเข้าร่วมด้วยเท่านั้น แต่ยังทำให้แผนสังหารฮิตเลอร์ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารของนายพลฟรีดริช ฟรอมม์ (Friedrich Fromm) ผู้บัญชาการกองทัพสำรองประจำเบอร์ลิน ตำแหน่งดังกล่าวทำให้ชเตาฟ์เฟนแบร์กสามารถสั่งเพิ่มกำลังพล ฝึกอบรม และจัดส่งกองกำลังหนุนทั่วจักรวรรดิไรค์ไปแนวหน้าได้ทั้งยังเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มเสนาธิการการทหารของฮิตเลอร์เพื่อสรุปรายงานพันธกิจของกองทัพสำรองให้ฮิตเลอร์ฟัง

 ความสำเร็จของฝ่ายพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งนอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ทำให้ฮิตเลอร์เรียกประชุมแกนนำทางทหารในวันต่อมาที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้มีโอกาสพบฮิตเลอร์และนายทหารระดับสูงที่ใกล้ชิดฮิตเลอร์เป็นครั้งแรกซึ่งประกอบด้วยแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* วิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel)* และอัลแบร์ท ชเปร์ (Albert Speer)* เขาสรุปความพร้อมของแผนปฏิบัติการวัลคีริกให้ฮิตเลอร์ทราบและเล่าให้ภริยาฟังในเวลาต่อมาว่าเป็นการประชุมที่อึดอัดเพราะทุกคนยกเว้นชเปร์ดูไร้สติและขาดเหตุผล ในต้นเดือนกรกฎาคม ชเตาฟ์เฟนแบร์กถูกเรียกไปประชุมที่เมืองแบร์ชเทสกาเดินอีกครั้งและเขาเตรียมสังหารฮิตเลอร์ เกอริง และฮิมม์เลอร์ด้วยระเบิดที่ซ่อนไว้ในกระเป๋าเอกสาร แต่ก็ต้องเลื่อนแผนออกไปเพราะมีฮิตเลอร์เพียงคนเดียวที่เข้าประชุม ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ชเตาฟ์เฟนแบร์กมีโอกาสที่จะปฏิบัติการสังหารอีกครั้ง แต่ก็ต้องยกเลิกอีกเพราะมีเหตุสุดวิสัย ในเวลาต่อมามีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของเกสตาโป (Gestapo)* ได้จับกุมแกนนำสมาชิกไครเซา ๒ คนที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการวัลคีริกและกำลังดำเนินการไต่สวนซึ่งเป็นที่หวาดวิตกกันว่าคนทั้งสองอาจเปิดเผยความลับและซัดทอดความผิดมาที่ชเตาฟ์เฟนแบร์ก เขาเครียดมากและตัดสินใจที่จะปฏิบัติการโดยไม่คำนึงว่าฮิมม์เลอร์และเกอริงจะประชุมร่วมกับฮิตเลอร์หรือไม่ ทั้งคิดว่าหากดำเนินการล่าช้าจะส่งผลเสียหายต่อการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายพันธมิตรซึ่งขณะนั้นมีชัยชนะในยุทธการที่นอร์มองดี (Battle of Normandy)

 ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ฮิตเลอร์เรียกประชุมคณะเสนาธิการทหารที่ศูนย์บัญชาการกองทัพที่เมืองรัสเทนบูร์ก (Rastenburg) อีสต์ปรัสเซีย สถานที่ประชุมเป็นกระท่อมไม้ซึ่งภายในก่อด้วยกำแพงซีเมนต์ส่วนหลังคาปูกระเบื้องที่ใช้กันทั่วไป กำแพงแต่ละด้านมีหน้าต่าง ๓ บานภายในกระท่อมมีโต้ะประชุมไม้โอ๊กขนาดใหญ่ ซึ่งมีแผนที่วางเต็มไปหมดและมีเก้าอี้วางรอบประมาณ ๒๕ ตัว ชเตาฟ์เฟนแบร์กถูกเรียกตัวไปรายงานเรื่องกองทัพสำรองและรับทราบว่าการประชุมซึ่งกำหนดเวลา ๑๓.๐๐ น. ถูกเลื่อนเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมงเนื่องจากเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีจะมาพบฮิตเลอร์ในตอนบ่าย เขาจึงเข้าประชุมเวลา ๑๒.๓๗ น. และขอนั่งติดกับฮิตเลอร์ด้วยข้ออ้างว่าหูของเขาซึ่งเกือบหนวกในช่วงบาดเจ็บระหว่างการรบในสงครามยังไม่หายดี และจำเป็นต้องนั่งใกล้ผู้นำเพื่อคอยตอบข้อซักถามได้ชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวเขาจึงได้ที่นั่งต่อจากนายพลฮอยซิงเงอร์ (Heusinger) ที่นั่งติดกับฮิตเลอร์ทางด้านซ้ายเขาวางกระเป๋าเอกสารที่มีระเบิดเวลาบนพื้นห้องซึ่งห่างจากฮิตเลอร์ไม่ถึงเมตร และตั้งเวลาระเบิดไว้ หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีเขาก็บ่นพึมพำและรีบออกไปรับโทรศัพท์ที่มาถึงเขาตามเวลาที่นัดแนะไว้ พฤติกรรมของชเตาฟ์เฟนแบร์กไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะผู้ที่เข้าร่วมประชุมมักลุกไปมาเสมอ อาจไปรับโทรศัพท์หรือไปเอาแผนที่และเอกสารเป็นต้น อย่างไรก็ตามพันโท ไฮนซ์ บรันดท์ (Heinz Brandt) สังเกตเห็นกระเป๋าเอกสารที่วางไว้ เขาจึงเขี่ยกระเป๋าไปไว้ใกล้ขาโต๊ะเพื่อไม่ให้เกะกะ การเปลี่ยนที่กระเป๋าเช่นนี้ทำให้ฮิตเลอร์รอดชีวิต

 เมื่อเกิดระเบิดขึ้นเวลา ๑๒.๔๒ น. โต๊ะประชุมและหลังคาห้องพังพินาศเป็นชิ้น ๆ และหน้าต่างห้องพังทลายในจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ๒๔ คน ๔ คนเสียชีวิตทันทีและร่างกระเด็นออกนอกหน้าต่าง อีก ๗ คนบาดเจ็บสาหัส ส่วนที่เหลือฟกชํ้า ฮิตเลอร์สิ้นสติ ขาซ้ายและผมไหม้ไฟ แก้วหูทั้ง ๒ ข้างทะลุและมีบาดแผลลึกในหูทั้งแขนขวาฟกชํ้า หลังการรอดชีวิตครั้งนี้ฮิตเลอร์เชื่อว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีวันตายเพราะได้รับการปกป้องจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฮิตเลอร์พักรักษาตัวเกือบ ๑ เดือนและมีอาการทางประสาทอยู่เกือบ ๒ เดือนทั้งกลายเป็นคนวิตกจริตและหวาดระแวง ชเตาฟ์เฟนแบร์ก ซึ่งเห็นทหารอุ้มร่างฟือเรอร์ (Führer)* ออกจากสถานที่เกิดเหตุเข้าใจว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้วรีบเดินทางไปกรุงเบอร์ลินเพื่อยึดอำนาจตามแผนปฏิบัติการวัลคีริกและจัดตั้งรัฐบาลทหารเฉพาะกาลขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีข่าวยืนยันแน่ชัดเรื่องการเสียชีวิตของฟือเรอร์ นายพลฟรอมม์ผู้บัญชาการกองทัพสำรองจึงปฏิเสธที่จะเคลื่อนกำลังเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐบาล องค์การโทรศัพท์ สถานีวิทยุ และจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ รวมทั้งจับกุมหัวหน้าหน่วยเอสเอสตามแผนที่วางไว้ชเตาฟ์เฟนแบร์กต้องใช้เวลาเจรจากับฟรอมม์ยาวนานและสามารถสั่งให้กองทหารบางหน่วยเคลื่อนกำลังได้ ส่วนกองกำลังหน่วยอื่น ๆ ในต่างจังหวัดก็เริ่มเคลื่อนกำลังตามแผนแต่ความล่าช้าของการปฏิบัติการและความไม่เด็ดขาดของนายพลฟรอมม์ส่งผลร้ายต่อคณะผู้ก่อการอย่างมาก เพราะในช่วงเย็นของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม โยเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรี คนสนิทของฟือเรอร์ก็สามารถติดต่อกับฮิตเลอร์ได้ เกิบเบิลส์ จัดการให้ฮิตเลอร์ออกแถลงข่าวทางวิทยุกระจายเสียงยืนยันการรอดชีวิตของเขาและความล้มเหลวของการยึดอำนาจข่าวที่ออกอากาศทำให้กองกำลังต่าง ๆ เริ่มถอนกำลังและนายทหารจำนวนไม่น้อยก็ถอนตัว เกิบเบิลส์จึงกวาดล้างและปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างเด็ดขาด

 ในคืนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม เวลา ๒๒.๓๐ น. กระทรวงกลาโหมก็ถูกปิดล้อม นายพลฟรอมม์ซึ่งต้องการปกปิดความผิดของตนที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนการยึดอำนาจจึงรีบจัดตั้งศาลทหารขึ้นอย่างเร่งด่วนและจับกุมนายทหารแกนนำ ๔ คนที่วางแผนสังหารขึ้นพิจารณาคดี ชเตาฟ์เฟนแบร์กต่อสู้ขัดขืนการจับกุมจึงถูกยิงที่บ่า เขาและนายพลฟรีดริช ออลบริชท์ อัลเบรชท์ แมรทฃ์ ฟอนควิมไฮม์ (Albrecht Mertz von Quimheim) และร้อยโท แวร์เนอร์ ฟอน แฮฟเทิน (Werner von Haeften) ซึ่งเป็นเสนาธิการทหารถูกตัดสินประหารชีวิต นายทหารทั้ง ๔ คนถูกนำตัวไปยิงทิ้งบริเวณลานกระทรวงกลาโหมตอน ๐๐.๓๐ น. มีรายงานในเวลาต่อมาว่า ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้ตะโกนก่อนสินใจว่า “เยอรมนีเสรีจงเจริญ” (Long Live Free Germany!) เขาเสียชีวิตขณะอายุได้ ๓๖ ปี ในคืนนั้นศพของนายทหารทั้ง ๔ คนถูกนำไปฝังทันทีที่สุสานในเขตเชินแบร์ก (Schöneberg) กรุงเบอร์ลินทั้งได้รับเกียรติจากกองทัพในพิธีผิงศพ แต่ในวันรุ่งขึ้น หน่วยเอสเอสก็ขุดศพของชเตาฟ์เฟนแบร์กและเก็บเหรียญตราคืนทั้งจัดการเผาทำลายศพของเขา

 ในช่วงที่ชเตาฟ์เฟนแบร์กคิดก่อกบฏจนถูกประหารนีนาภริยากำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๕ เธอถูกตัดสินโทษให้ส่งไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรสาวในค่าย ส่วนบุตรชายหญิงอีก ๔ คนถูกส่งไปเลี้ยงดูที่บ้านอุปถัมภ์ของรัฐและต้องเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง นีนาได้รับการปล่อยตัวและกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดทั้งสามารถติดตามนำลูก ๆ กลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๖ รวมอายุได้ ๙๒ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงขบวนการต่อต้านนาซีที่ดำเนินการล้มเหลว ณ บริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมที่ตึกเบนด์เลอร์บล็อค (Bendlerblock) ซึ่งเคยเป็นสถานที่ทำงานของชเตาฟ์เฟนแบร์ก และเปลี่ยนชื่อถนนเบนด์เลอร์ (Bendlerstrasse) เป็นถนนชเตาฟ์เฟนแบร์ก ปัจจุบันอนุสรณ์สถานที่เบนด์เลอร์บล็อคเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ความทรงจำถึงขบวนการต่อต้านนาซีแห่งเยอรมนี (Museum of the Memorial to the German Resistance) ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการถาวรประกอบด้วยภาพถ่ายกว่า ๕,๐๐๐ ภาพรวมทั้งเอกสารและสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับองค์การต่อต้านนาซีต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวในช่วงสมัยจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* บริเวณลานประหารที่ชเตาฟ์เฟนแบร์กถูกยิงทิ้งในคืนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ก็จัดเป็นสถานที่เพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึงเหล่าทหารก่อการโดยมีแผ่นป้ายโลหะบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงมีรูปประติมากรรมบรอนซ์ของชายหนุ่มซึ่งมือขาดเหมือนมือของชเตาฟ์เฟนแบร์กติดตั้งอยู่ด้วย นักประวัติศาสตร์เยอรมันรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมีความเห็นว่าชเตาฟ์เฟนแบร์กเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพลเมืองเยอรมันทั่วไปในสมัยนาซีที่ต้องเลือกคำตอบให้ได้ว่า พวกเขายอมรับเผด็จการของฮิตเลอร์ หรือเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ หรือเป็นผู้ต่อต้านนาซี.



คำตั้ง
Stauffenberg, Claus Schenk Graf von
คำเทียบ
พันเอก เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก
คำสำคัญ
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- กลุ่มไครเซา
- กองทัพปลดปล่อยรัสเซีย
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- การประชุมที่มิวนิก
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- เกสตาโป
- เกอร์เดเลอร์, คาร์ล ฟรีดริช
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ขบวนการต่อต้านนาซี
- ค่ายกักกัน
- คืนกระจกแตก
- คืนแห่งมีดยาว
- ไคเทิล, วิลเฮล์ม
- ชเตาฟ์เฟนแบร์ก, เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- เชโกสโลวะเกีย
- ซูเดเทนลันด์
- เทรสโค, พันเอก เฮนนิง ฟอน
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- เบค, พันเอก ลุดวิก
- ปฏิบัติการวัลคีริก
- แผนชเตาฟ์เฟนแบร์ก
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- ฟรอมม์, ฟรีดริช
- ฟือเรอร์
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่นอร์มองดี
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- เยอรมนีตะวันตก
- รอมเมิล, จอมพล แอร์วิน
- เริม, แอนสท์
- วันดี-เดย์
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- ออลบริชท์, ฟรีดริช
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮัลเดอร์, ฟรันซ์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1907-1944
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๘๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญขัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-