พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งแอลเบเนีย ก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐแอลเบเนีย (ค.ศ. ๑๙๒๕–๑๙๒๘) เป็นผู้นำพรรคประชาชนปฏิรูปแห่งแอลเบเนีย (Reformist Popular Party of Albania) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๔ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ทรงประกาศสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงปกครองประเทศด้วยอำนาจเด็ดขาดดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารที่ใกล้ชิดกับอิตาลี เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ทั่วโลกในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ แอลเบเนียซึ่งพึ่งพาอิตาลีทางด้านเศรษฐกิจและการเงินจึงถูกอิตาลีเข้าควบคุมทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งต้องยอมให้อิตาลีผูกขาดธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาล โทรคมนาคม และไฟฟ้า พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงพยายามขอความช่วยเหลือทางการเงินจากฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนักในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีซึ่งต้องการขยายดินแดนไปทางตะวันออกเพื่อสร้าง “จักรวรรดิโรมันใหม่” (New Roman Empire) เห็นเป็นโอกาสในช่วงที่เยอรมนีละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ด้วยการยาตราทัพเข้ายึดครองโบฮีเมีย (Bohemia) และโมเรเวีย (Moravia) จึงเคลื่อนกำลังเข้าผนวกแอลเบเนีย พระเจ้าซ็อกที่ ๑ และพระราชวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยผ่านตุรกีไปพำนักที่ฝรั่งเศส
พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า อะห์มัด มุฮ์ตัร บิก ซอกู (Ahmet Muhtar Bey Zogu) เกิดในตระกูลชนเผ่าที่มีอำนาจ ณ ปราสาทบูร์กาเยต (Burgayet) ใกล้เมืองบูร์เรล (Burrel) ทางตอนเหนือของแอลเบเนีย เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ บิดาคือ ยามัล ปาชา ซอกู (Jamal Pasha Zogu) เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นมาติ (Mati) ซึ่งเป็นดินแดนใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หลังภรรยาเสียชีวิตจากการให้กำเนิดบุตรคนที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ยามัลซอกูแต่งงานใหม่กับซาดิยา คานุม (Sadiya Khanum) สตรีสูงศักดิ์เชื้อสายขุนนางแห่งท็อปตานี (Toptani) ที่ปกครองดินแดนตอนกลางของแอลเบเนีย เธอให้กำเนิดบุตรชาย ๑ คน คือ อาเหม็ด ซอกู ต่อมาเมื่อบุตรชายสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ คานุมได้พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชชนนีแห่งแอลเบเนีย พระนางทรงช่วยดูแลราชสำนักและควบคุมห้องเครื่องอย่างเข้มงวดเพราะเกรงว่าจะมีผู้ลอบวางยาพิษในอาหาร
ในวัยเยาว์ ซอกูใช้ชีวิตอิสระที่ปราสาทบูร์กาเยตใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เมื่ออายุได้ ๘ ปี มารดาส่งเขาไปเข้าโรงเรียนที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล เขามีเพื่อนน้อยคนและชอบใช้เวลาตามลำพัง ทั้งมักหนีเรียนไปคลุกคลีกับกลุ่มการเมืองชาวเติร์กและชาวแอลเบเนียที่จับกลุ่มพูดคุยเรื่องการเมืองและเห็นเขาเป็นเด็กรับใช้ซอกูจึงเริ่มซึมซับเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทางสังคมและการเมือง หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม เขาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารโดยหวังจะยึดอาชีพทหารเช่นบรรพบุรุษ ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ กลุ่มยังเติร์ก (Young Turk)* ซึ่งต่อต้านอำนาจของสุลต่านก่อการปฏิวัติขับไล่สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ (Abdul Hamid II ค.ศ. ๑๘๗๖–๑๙๐๘) ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งพระอนุชาเป็นสุลต่านแทน เฉลิมพระนามสุลต่านเมห์เมดที่ ๕ (Mehmed V ค.ศ. ๑๙๐๘–๑๙๑๘) มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยทั้งค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ใต้การปกครองของออตโตมัน การค้ำประกันสิทธิเสรีภาพชนกลุ่มน้อยดังกล่าวมีส่วนปลุกจิตสำนึกความรักชาติในชาวแอลเบเนีย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช ซอกูติดตามข่าวและความเคลื่อนไหวรักชาติของชาวแอลเบเนียอย่างใกล้ชิด ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ บิดาเขาเสียชีวิตและพี่ชายต่างมารดาได้เป็นผู้สืบทอดอำนาจ
ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ อิตาลีก่อสงครามอิตาลี-ตุรกี (Italo-Turkish War)* เพื่อยึดครองตริโปลี (Tripoli) ตุรกีพ่ายแพ้และทำให้บัลแกเรีย มอนเตเนโกร เซอร์เบียและกรีซเห็นเป็นโอกาสรวมตัวกันจัดตั้งสันนิบาตบอลข่าน (Balkan League)* ขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารเพื่อร่วมกันแย่งชิงและแบ่งแยกดินแดนมาซิโดเนียซึ่งอยู่ใต้อำนาจของออตโตมัน การแย่งชิงดินแดนดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ ขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ในสงครามครั้งนี้แอลเบเนียเข้าร่วมขับไล่พวกเติร์กออกจากดินแดนของตนและเห็นเป็นโอกาสประกาศเอกราช ซอกูในวัย ๑๗ ปีตัดสินใจเลิกเรียนและเดินทางกลับแคว้นมาติบ้านเกิดเพื่อร่วมกับประชาชนต่อสู้เพื่อเอกราช ในช่วงสงครามพี่ชายของเขาเสียชีวิตในการรบ ซอกูจึงได้เป็นผู้นำแห่งแคว้นมาติสืบต่อจากพี่ชาย สงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ด้วยความพ่ายแพ้ของตุรกี ซึ่งต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London)* และยกดินแดนในยุโรปของตนให้แก่กลุ่มประเทศสันนิบาตบอลข่าน ทั้งให้จัดตั้งแอลเบเนียเป็นประเทศเอกราชต่อมาประเทศมหาอำนาจตะวันตกยอมรับความเป็นเอกราชของแอลเบเนียในเดือนกรกฎาคม
หลังแอลเบเนียได้เอกราช มหาอำนาจสนับสนุนให้เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งวีด (Wilhelm of Wied) โอรสองค์ที่ ๓ ของเจ้าชายแห่งตระกูลวีด-นอยวีด (House of Wied-Neuwied) ขุนนางเยอรมันขึ้นเป็นกษัตริย์ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระราชินีเอลิซาเบทแห่งโรมาเนีย (Elizabeth of Romania) ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของเจ้าชายวีด-นอยวีดทรงทราบข่าวการสรรหาของประเทศมหาอำนาจ พระนางจึงทรงวิ่งเต้นให้พระภาติยะได้รับการเสนอชื่อซึ่งก็ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามในตอนแรกเจ้าชายวิลเฮล์มทรงปฏิเสธเพราะเห็นว่าแอลเบเนียเป็นประเทศยากจนและไร้ความเจริญทรงพอพระทัยกับพระยศร้อยโททหารม้าแห่งกองเสนาธิการทหารเยอรมันมากกว่าจะไปครองบัลลังก์ในดินแดนที่ฝรั่งเศสให้ความเห็นว่าพระองค์จะเป็นเพียง “เจ้าที่ไม่มีอะไร” (prince of emptiness) แต่ท้ายที่สุดทรงเปลี่ยนพระทัยเพราะออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* โน้มน้าวพระทัยได้ ทรงแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดให้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศในชั้นต้นซอกูคัดค้านพระองค์ด้วยเหตุผลว่าการเลือกผู้นำประเทศเป็นสิทธิของรัฐสภาแอลเบเนีย แต่การคัดค้านของเขาไม่เป็นที่สนใจของฝ่ายใด เขาจึงเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนพระองค์เพราะเห็นว่าไม่อาจต้านทานอำนาจของชาติมหาอำนาจเมื่อเวลาและเงื่อนไขยังไม่เหมาะสมสำหรับผู้ปกครองที่เป็นชาวแอลเบเนีย
ทันทีที่พระเจ้าวิลเฮล์มทรงขึ้นครองบัลลังก์พวกมุสลิมในดินแดนตอนกลางของประเทศก็ก่อการจลาจลต่อต้านอำนาจการปกครอง กรีซจึงเห็นเป็นโอกาสเข้ายึดดินแดนทางตอนใต้ทั้งปลุกระดมให้ชนกลุ่มน้อยเคลื่อนไหวแยกตัวออกและเข้ารวมกับกรีซพระองค์ไม่ทรงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการควบคุมสังคม (Social Control Commission) ขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์คณะกรรมาธิการทูลเสนอแนะให้พระองค์ลี้ภัยออกนอกประเทศ และมอบอำนาจการปกครองให้แก่คณะกรรมาธิการ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ สถานการณ์ทางการเมืองเลวร้ายมากขึ้นเมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย-ฮังการีและโซฟี ดัชเชสแห่งโฮเฮนแบร์ก (Sophi, Duchess of Hohenberg)* พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ ณ เมืองซาราเยโว (Sarajevo) มณฑลบอสเนียซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ออสเตรียเรียกร้องให้แอลเบเนียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทำสงครามกับเซอร์เบีย แต่พระเจ้าวิลเฮล์มทรงปฏิเสธโดยอ้างนโยบายความเป็นกลาง คณะกรรมาธิการควบคุมสังคมซึ่งต้องการเป็นพันธมิตรกับออสเตรียจึงกดดันให้พระองค์ลี้ภัยไปเมืองเวนิสประเทศอิตาลี ในเวลาต่อมาทรงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีโดยคาดหวังว่าเยอรมนีจะมีชัยชนะในสงครามและจะทรงได้กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ แต่พระองค์ไม่ทรงมีโอกาสได้กลับแอลเบเนียจนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงอ้างสิทธิการเป็นกษัตริย์ปกครองแอลเบเนียด้วยเหตุผลว่าพระองค์ไม่เคยสละราชบัลลังก์ แอลเบเนียเป็นของราชวงศ์วีด-นอยวีด พระเจ้าวิลเฮล์มสวรรคตที่กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) โรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๔๕
ในระหว่างสงคราม แอลเบเนียเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองสืบเนื่องจากสงครามกลางเมืองภายในและการรุกรานจากภายนอกโดยกรีซ เซอร์เบียและอิตาลีเห็นเป็นโอกาสบุกแย่งชิงดินแดน ซอกูสนับสนุนออสเตรียในการทำสงครามและทำให้เขาได้แสดงความสามารถในการรบจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง เขากลับประเทศใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปแห่งแอลเบเนีย ทั้งได้เข้าร่วมคณะรัฐบาลโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๔ เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง แต่การดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคตนเองทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามต่อต้าน และเริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้จนเขาถูกยิงบาดเจ็บในรัฐสภาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๓ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซอกูถูกกดดันให้ลาออกและต้องเดินทางออกนอกประเทศในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ซอกูได้รับความช่วยเหลือด้านกำลังทัพจากพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I)* แห่งราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes)* ซึ่งต้องการขยายอำนาจเข้ามาในแอลเบเนีย รวมทั้งนายพลปิออตร์ รันเกล (Pyotr Wrangel)* แห่งกองทัพรัสเซียขาว เขาจึงนำกำลังทัพดังกล่าวบุกเข้ายึดอำนาจได้สำเร็จ และประกาศเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกและมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปี
ซอกูใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศโดยมีกองทัพเป็นฐานอำนาจ เขากวาดล้างฝ่ายตรงข้ามและออกกฎหมายห้ามประชาชนพกพาอาวุธอย่างอิสระเหมือนในอดีต ทั้งควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเข้มงวดอย่างไรก็ตาม เขาก็ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยและยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน มีการสร้างถนนและเส้นทางต่าง ๆ ติดต่อกันเพื่อความสะดวกด้านการคมนาคมรวมทั้งปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ แอลเบเนียซึ่งเดิมเป็นดินแดนที่ประกอบด้วยแคว้นหรือมณฑลอิสระของชนเผ่าต่าง ๆ จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นประเทศซอกูได้มอบซเวตีนาอุม (Sveti Naum) ดินแดนที่ติดพรมแดนให้แก่พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เพื่อตอบแทนในการสนับสนุนเขาให้ได้อำนาจแม้จะมีอำนาจปกครองเด็ดขาดแต่ซอกูก็ตระหนักว่าอำนาจการปกครองของเขาจะมั่นคงมากขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ เขาจึงผูกมิตรกับอิตาลีซึ่งมีเบนีโต มุสโสลีนี เป็นผู้นำ ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ซอกูลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ (Treaty of Friendship) กับมุสโสลีนีเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นเวลา ๕ ปี อิตาลีจึงเข้ามาช่วยจัดตั้งธนาคารแห่งชาติแอลเบเนียโดยให้กู้ยืมเงินกว่า ๕๐ ล้านดอลลาร์ทองคำ ทั้งให้กู้ยืมมาลงทุนร่วมกันในการก่อสร้างท่าเรือ ถนน สะพาน และอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ มีการลงนามระหว่างแอลเบเนียกับอิตาลีในสนธิสัญญาพันธมิตรป้องกันร่วม (Treaty of Defensive Alliance) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๗ สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ยุติความโดดเดี่ยวของแอลเบเนียทางการเมืองระหว่างประเทศและเปิดโอกาสให้อิตาลีเข้ามามีอิทธิพลในประเทศมากขึ้น
ซอกูใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเหนือรัฐสภาและมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาจำนวน ๑ ใน ๓ เขาตระหนักดีว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐและนิยมระบอบกษัตริย์ เพราะความเป็นชาติของชาวแอลเบเนียมีจุดเริ่มต้นจากการที่ขุนนางชื่อสกันเดอร์-แบร์ก (Skanderberg) รวบรวมกำลังต่อสู้ทำสงครามกับพวกเติร์กและขับไล่พวกเติร์กออกจากประเทศสกันเดอร์แบร์กได้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ราชบัลลังก์แอลเบเนียที่จัดตั้งขึ้นจึงหมายถึงความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เมื่อสกันเดอร์-แบร์กสิ้นพระชนม์ พวกเติร์กก็บุกเข้ายึดครองอีกจนแอลเบเนียตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒ ซอกูจึงแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่นิยมระบอบกษัตริย์ซึ่งสมาชิกดังกล่าวพยายามเคลื่อนไหวล้มระบอบสาธารณรัฐจนท้ายที่สุดฝ่ายนิยมระบอบกษัตริย์กุมเสียงข้างมากได้ในรัฐสภา ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ซอกูซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิตาลีจึงประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรและสถาปนาตนเป็นกษัตริย์แห่งแอลเบเนีย เฉลิมพระนามว่าพระเจ้าซ็อกที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ทั้งยังมีอีกพระนามว่า พระเจ้าสกันเดอร์แบร์กที่ ๓ (Skanderberg III) โดยอ้างว่าตระกูลพระองค์สืบสายมาจากพระภคินีของพระเจ้าสกันเดอร์แบร์กที่ ๑ ซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปประทับที่อิตาลี และมีพระโอรสองค์หนึ่งซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วและได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเจ้าสกันเดอร์แบร์กที่ ๒
ในวันเดียวกันที่สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ก็ประกาศให้พระองค์เป็นจอมพลแห่งกองทัพแอลเบเนีย ทรงจัดตั้งหน่วยตำรวจที่เข้มแข็งเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจบริหารและให้มีการทำความเคารพตามแบบที่ทรงคิดด้วยการแนบมือไว้เหนือหัวใจและก้มหน้าลง ทั้งให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เป็นครั้งแรกโดยมีพระสาทิสลักษณ์ในธนบัตร พระองค์ยังสถาปนาพี่ชายและน้องสาวเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิง อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ในยุโรปหลายราชวงศ์ไม่ยอมรับพระองค์เพราะเห็นว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่สถาปนาตนเองและไม่มีเชื้อสายที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ในยุโรป ทั้งทรงมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์ในประเทศอาหรับที่นับถือมุสลิมอย่างไรก็ดีแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าราชวงศ์ในยุโรป แต่รัฐบาลของพระองค์ก็เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในยุโรป เพราะรัฐบาลอิตาลีประกาศยอมรับสถานภาพรัฐบาลของพระองค์อย่างหนักแน่นและมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวรัฐบาลของลักเซมเบิร์ก ยูโกสลาเวีย ฝรั่งเศส โรมาเนีย กรีซ เบลเยียม ฮังการี โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และออสเตรีย รวมทั้งอียิปต์ให้รับรองรัฐบาลของพระองค์
ก่อนขึ้นครองราชย์ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงหมั้นกับบุตรสาวของเซฟเกต เวอร์ลาซี (Shefqet Vërlaci) นักธุรกิจและผู้นำพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) แนวอนุรักษ์ที่มีอิทธิพลของประเทศ เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนซ็อกให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ต่อมาเวอร์ลาซีได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๒๔ แต่เขามีส่วนพัวพันกับเรื่องทุจริตที่อื้อฉาวและขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เวอร์ลาซีถูกศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นพิจารณาโทษให้ประหารชีวิต และยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดเป็นของแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เขาใช้เส้นสายและสามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปอิตาลีได้ เมื่อพระเจ้าซ็อกที่ ๑ ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงประกาศถอนหมั้นกับบุตรสาวของเวอร์ลาซี เขาขุ่นเคืองและประกาศเป็นศัตรูของพระองค์ ตามขนบจารีตในแอลเบเนียขณะนั้นการแก้แค้นเพื่อกู้เกียรติด้วยการฆ่าฟันเป็นความชอบธรรม เวอร์ลาซีจึงมีสิทธิสังหารพระองค์ได้อีกทั้งพระองค์ยังถูกลอบปลงพระชนม์หลายครั้งพระเจ้าซ็อกที่ ๑ จึงมักมีตำรวจราชองครักษ์ห้อมล้อมและทรงหลีกเลี่ยงการปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะพระราชชนนีก็ทรงหวาดระแวงว่าพระองค์อาจถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ จึงทรงดูแลควบคุมห้องเครื่องอย่างเข้มงวดด้วยพระองค์เอง
ในช่วง ๑๐ ปีที่ครองราชย์ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงดำเนินการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจให้ทันสมัยโดยได้รับความช่วยเหลือจากอิตาลีทางการเงินและการชี้แนะแนวนโยบาย แอลเบเนียกู้ยืมเงินจากอิตาลีจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาประเทศทางด้านต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและให้ใช้คืนเมื่อใดก็ได้ที่สามารถทำได้ แต่อิตาลีต้องมีส่วนชี้นำและให้การปรึกษาควบคุมดูแลโครงการต่าง ๆ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดูแลเงินกู้ ประกอบด้วยชาวแอลเบเนียและชาวอิตาลีรวม ๔ คน เงินที่กู้ยืมในระยะยาวทำให้แอลเบเนียกลายเป็นลูกหนี้อิตาลีและตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิตาลีมากขึ้น เมื่ออิตาลีต้องการมีอิทธิพลในแอลเบเนียมากขึ้นโดยเรียกร้องให้มีการสอนภาษาอิตาลีในโรงเรียน พระองค์ทรงปฏิเสธ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงพยายามปลดแอกอิตาลีด้วยการปฏิเสธที่จะต่ออายุสนธิสัญญามิตรภาพซึ่งสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และไม่ยอมรับสตรีสูงศักดิ์ชาวอิตาลีที่มุสโสลีนีต้องการให้พระองค์อภิเษกสมรสด้วย ทั้งปลดที่ปรึกษาทางทหารที่เป็นชาวอิตาลีด้วย
ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ อภิเษกสมรสกับเคาน์เตสเจรัลดีน อัปพอนยี เด นอช-อัปโพนี (Geraldine Apponyi de Nagy-Appony) ธิดาของเคานต์ยูลา อัปพอนยี เด นอช-อัปโพนี (Gyula Appony de Nagy-Appony) ขุนนางฮังการีซึ่งแต่งงานกับเกลดีสเวอร์จิเนียสจวร์ต (Gladys Virginia Steuart) นักการทูตชาวอเมริกันที่มั่งคั่งประจำเบลเยียม เมื่อเจรัลดีนอายุได้๓ปีจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายและถูกแบ่งแยกตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแซง แชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ครอบครัวจึงอพยพไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ กลับมาพำนักที่ฮังการีอีกครั้งภายหลังที่พลเรือเอก นิโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เดนอชบานยา (Nikolaus Miklos Horthy de Nagybanya)* ล้มอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเบลา คุน (Bela Kun)* ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อบิดาของเจรัลดีนเสียชีวิต ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ มารดาพาบุตรี ๓ คนไปอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและแต่งงานใหม่กับนายทหารชาวฝรั่งเศสต่อมาย่าที่ยังคงอยู่ในฮังการีขอให้ส่งหลานสาวมาเข้าโรงเรียนที่ฮังการี เจรัลดีนและน้องสาวจึงกลับมาเรียนและเติบโตที่ฮังการี หลังสำเร็จการศึกษา เธอทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบูดาเปสต์ซึ่งลุงเป็นผู้อำนวยการ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ขณะมีอายุได้ ๒๐ ปี เจรัลดีนไปงานเต้นรำและพระขนิษฐาของพระเจ้าซ็อกที่๑ซึ่งร่วมในงานเต้นรำชื่นชมเธอเจ้าหญิงจึงเชิญเจรัลดีนไปเยือนแอลเบเนียเพื่อแนะนำเธอให้พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ซึ่งกำลังเสาะหาคู่ครอง เธอได้เข้าเฝ้าพระเจ้าซ็อกที่ ๑ ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๘ และในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็ตอบรับเป็นราชินีของพระองค์ ในช่วง ๗ วัน ก่อนการตอบรับ เจรัลดีนจะได้รับแจกันดอกไม้ที่งดงามทุกเช้าและเย็น และแต่ละวันก็ยังได้ของขวัญที่ล้ำค่า พระเจ้าซ็อกที่ ๑ เรียกเธอว่า “กุหลาบขาวที่งดงามแห่งบูดาเปสต์” เจรัลดีนบันทึกว่า พระเจ้าซ็อกที่ ๑ มีพระวรกายสูงสง่า พระพักตร์คมคาย และพระเนตรสีฟ้าเข้ม มีพระมัสสุที่ปลายโค้งขึ้นซึ่งทำให้มีเสน่ห์ ทรงพระโอสถมวนถี่ ๆ (ประมาณว่าบางวันทรงพระโอสถมวนกว่า ๒๒๐ มวน)
ก่อนวันอภิเษกสมรสพระเจ้าซ็อกที่๑ทรงสถาปนาเจรัลดีนเป็นเจ้าหญิงและดำเนินการขอความเห็นชอบจากวาติกันให้สตรีสูงศักดิ์คาทอลิกอภิเษกสมรสกับกษัตริย์มุสลิม เมื่อวาติกันให้ความเห็นชอบงานอภิเษกสมรสก็จัดขึ้นทันทีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เคานต์กาเลอัซโซ ชาโน (Galeazzo Ciano)* บุตรชายของมุสโสลีนีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมงานอภิเษกสมรสด้วยและแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการอภิเษกครั้งนี้ ก่อนกลับอิตาลีเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าซ็อกที่ ๑ และทูลพระองค์ว่าอิตาลีจะดำเนินการตามข้อตกลงในสนธิสัญญาลอนดอน ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่ประเทศตะวันตกยอมให้แอลเบเนียเป็นดินแดนใต้อาณัติของอิตาลี เขายังอ้างว่าโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีก็สนับสนุนอิตาลี ในงานอภิเษกสมรสครั้งนี้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีได้ส่งรถเบนซ์สีแดงให้เป็นของขวัญ
เมื่อเยอรมนีเริ่มขับไล่ชาวยิวออกนอกประเทศใน ค.ศ. ๑๙๓๘ และออกกฎหมายให้ยึดทรัพย์สินชาวยิวเป็นของรัฐ ทั้งบังคับพลเมืองยิวให้สวมเครื่องแต่งกายที่มีเครื่องหมายดาวดาวิดสีเหลืองที่อกเสื้อ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงอนุญาตให้ชาวยิวลี้ภัยเข้าประเทศซึ่งทำให้เยอรมนีไม่พอใจมาก เยอรมนีจึงสนับสนุนอิตาลีในการยึดครองแอลเบเนีย พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงตระหนักถึงภัยที่กำลังจะคุกคามประเทศและพยายามสร้างสายสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกและประเทศในคาบสมุทรบอลข่านอื่น ๆ แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดค่อยผ่อนคลายลงบ้างเมื่อพระราชินีเจรัลดีนประสูติพระโอรสเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ทรงพระนามว่า เจ้าชายลีกา (Leka) อย่างไรก็ตามในเช้าวันที่ ๖ สถานทูตอิตาลีมีคำสั่งให้ชาวอิตาลีในกรุงติรานา (Tirana) เดินทางออกนอกประเทศขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตอิตาลีที่ไปเข้าเฝ้าแสดงความยินดีกับการประสูติพระราชโอรสก็ถวายพระราชสาส์นจากรัฐบาลอิตาลีขอให้พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ซึ่งหากมีพระประสงค์จะครองบัลลังก์ต่อไปยอมอยู่ใต้การปกครองของอิตาลี พระองค์ต้องให้คำตอบภายในเช้าวันที่ ๗ ในเช้าตรู่ของวันที่ ๗ เมษายน กองทัพอิตาลีก็เคลื่อนกำลังโจมตีเมืองวาโลนา (Valona) ทางตอนใต้ของประเทศพระเจ้าซ็อกที่ ๑ และพระราชวงศ์จึงลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างรีบด่วนด้วยรถเบนซ์สีแดงที่เป็นของขวัญจากฮิตเลอร์และสามารถขนพระราชทรัพย์ออกไปได้จำนวนไม่มากนักอีก ๑๐ วัน ต่อมามุสโสลีนีก็ประกาศให้แอลเบเนียเป็นดินแดนในอาณัติของอิตาลีและพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III)* แห่งอิตาลีทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกษัตริย์แห่งแอลเบเนียด้วย
พระเจ้าซ็อกที่ ๑ และพระราชวงศ์ประทับที่อังกฤษตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* อิตาลีสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์แอลเบเนียขึ้นปกครองประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีได้ส่งกองทัพเข้าช่วยเหลืออิตาลีในการโจมตีกรีซโดยเดินทัพผ่านแอลเบเนีย และเข้ายึดครองคาบสมุทรบอลข่าน อีกทั้งเยอรมนียังเห็นเป็นโอกาสผนวกแอลเบเนียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนด้วย ชาวแอลเบเนียที่รักชาติจึงจัดตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นเพื่อต่อต้านอิตาลีและเยอรมนี กลุ่มต่อต้านที่มีบทบาทสำคัญคือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (National Liberation Front) ที่มีเอนเวอร์ ฮอจา (Enver Hoxha)* แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียเป็นผู้นำ ในปลายสงครามเมื่อเยอรมนีเริ่มปราชัยและถอนกำลังออกจากแอลเบเนียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ พรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียจึงเข้ายึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศโดยมีกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตที่เข้ามาช่วยปลดปล่อยแอลเบเนียสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ในช่วงการเตรียมเลือกตั้งทั่วไปหลังสงครามกลุ่มกษัตริย์นิยมพยายามเคลื่อนไหวให้รื้อฟื้นระบอบกษัตริย์และสนับสนุนพระเจ้าซ็อกที่ ๑ ให้กลับมาปกครองประเทศแต่รัฐบาลชั่วคราวที่พรรคคอมมิวนิสต์กุมอำนาจดำเนินการปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม พรรคคอมมิวนิสต์จึงมีชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศโดยมีฮอจาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประกาศห้ามไม่ให้พระเจ้าซ็อกที่ ๑ กลับประเทศ ในเวลาต่อมารัฐสภาแอลเบเนียก็ประกาศล้มเลิกระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย (People’s Republic of Albania) เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียเป็นแม่แบบเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๖ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ ทรงรวบรวมกำลังเพื่อบุกแอลเบเนียและโค่นอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเบื้องหลัง แต่ล้มเหลวเนื่องจากคิม ฟิลบี (Kim Philby)* จารชนอังกฤษในหน่วยสืบราชการลับซึ่งฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ส่งข่าวให้สหภาพโซเวียตทราบ ฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงสามารถสกัดการบุกได้พระเจ้าซ็อกที่ ๑ และพระราชวงศ์เสด็จไปประทับที่กรุงไคโร อียิปต์ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๖ แต่ต่อมาเมื่อกองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจพระเจ้าฟารุค (Farouk) แห่งอียิปต์ลงได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และล้มเลิกระบอบกษัตริย์ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ และพระราชวงศ์จึงเสด็จไปประทับที่ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๕๕
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเจ้าซ็อกที่ ๑ มีพระพลามัยอ่อนแอและประชวรหนักหลายครั้งทั้งยังคงทรงพระโอสถมวนตลอดเวลา พระองค์สวรรคตที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ขณะพระชนมายุ ๖๕ พรรษา ในวันเดียวกับที่สวรรคตชุมชนชาวแอลเบเนียในต่างแดนก็ประกาศว่าเจ้าชายลีกา พระราชโอรสองค์เดียวของพระเจ้าซ็อกที่ ๑ คือ กษัตริย์ของชาวแอลเบเนีย (King of the Albanians) ซึ่งแตกต่างจากพระราชบิดาที่เป็น “กษัตริย์แห่งแอลเบเนีย” (King of Albania) เจ้าชายลีกาทรงเติบโตในต่างแดนและในช่วงพำนักที่สเปนในทศวรรษ ๑๙๗๐ พระองค์ได้พลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เป็นสหาย ฟรังโกสนับสนุนพระองค์ให้อ้างสิทธิในการปกครองแอลเบเนีย ในเวลาต่อมาเจ้าชายลีกาจึงพยายามมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียในคอซอวอ (Kosovo)* ต่อต้านอำนาจของเซอร์เบีย และเรียกร้องให้ชาวแอลเบเนียนอกประเทศสนับสนุนการอ้างสิทธิของพระองค์ในการปกครองแอลเบเนีย ทรงเดินทางไปประเทศต่าง ๆ โดยมีอาวุธติดพระองค์เป็นจำนวนมากซึ่งบ่อยครั้งทรงมีปัญหาในการเข้าประเทศจนบางประเทศห้ามพระองค์เข้าประเทศ ทั้งประเทศตะวันตกเรียกพระองค์ว่านักค้าอาวุธ ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ พระองค์อภิเษกสมรสกับซูซานคัลเลน-วอร์ (Susan Cullen-War) ชาวออสเตรเลียและมีพระโอรสพระองค์เดียวชื่อ ลีกา
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ทั่วยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลาย แอลเบเนียได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแอลเบเนีย และดำเนินการปฏิรูปประเทศตามระบอบประชาธิปไตย เจ้าชายลีกาทรงเดินทางกลับประเทศใน ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยใช้หนังสือเดินทางที่ระบุว่าทรงเป็นกษัตริย์ของชาวแอลเบเนีย พระองค์ถูกห้ามเข้าประเทศอย่างไรก็ตามระหว่างค.ศ. ๑๙๙๗–๒๐๐๒ ระบอบประชาธิปไตยแอลเบเนียเข้มแข็งมากขึ้นและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ค.ศ. ๑๙๙๘ ก็ค้ำประกันการปกครองด้วยกฎหมาย การปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนา เจ้าชายลีกาทรงถูกโน้มน้าวให้เดินทางกลับประเทศเพื่อทวงคืนพระราชอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๙๗ แต่ในการลงประชามติว่าแอลเบเนียต้องการระบอบกษัตริย์หรือไม่ ผลปรากฏว่าฝ่ายที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์มีจำนวนน้อย พระองค์ขุ่นเคืองกับผลประชามติและอ้างว่ามีการโกงจึงนำกองกำลังโจมตีอาคารสถานที่ของรัฐบาล ทรงถูกหมายจับแต่สามารถหนีออกนอกประเทศได้อย่างฉิวเฉียดและไปประทับที่อเมริกาใต้
ในปลายทศวรรษ ๑๙๐๐ เจ้าชายลีกาเสด็จกลับยุโรปและมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวสนับสนุนชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียในนามของชาวแอลเบเนียต่อสู้กับเซอร์เบียที่ต้องการผนวกคอซอวอบทบาทดังกล่าวมีส่วนให้สมาชิกรัฐสภาแอลเบเนียใน ค.ศ. ๒๐๐๒ เรียกร้องให้รัฐบาลแอลเบเนียอภัยโทษพระองค์ พระองค์จึงเสด็จกลับแอลเบเนียใน ค.ศ. ๒๐๐๓ และปลีกพระองค์ออกจากการเมืองเนื่องจากพระพลามัยอ่อนแอ หลัง ค.ศ. ๒๐๐๕ ก็ไม่ปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะและทรงใช้ชีวิตอย่างสงบจนสิ้นพระชนม์ที่กรุงติรานาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๑ พระชนมายุ ๗๓ พรรษา พระราชโอรสพระองค์เดียวคือเจ้าชายลีกา หรือที่ชาวแอลเบเนียนิยมกษัตริย์เรียกพระองค์ว่ามกุฎราชกุมารลีกาที่ ๒ (Crown Prince Leka II) ยังคงประทับที่อังกฤษและ เป็นนายทหารประจำกองทัพอังกฤษ.