นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือนโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า หมายถึง นโยบายต่างประเทศของอังกฤษที่ดำเนินมาตลอดตั้งแต่หลัง ค.ศ. ๑๘๒๔ โดยหลีกเลี่ยงการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีที่มีผลบังคับในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งหรืออย่างถาวร หรือผูกมัดตนเองกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ การดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวของอังกฤษครอบคลุมระยะเวลาประมาณ ๘๐ ปี และสิ้นสุดลงเมื่ออังกฤษได้ร่วมเป็นพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๐๓ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ตามลำดับ ก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคีสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894)* ระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียเป็นกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ซึ่งคานอำนาจกับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ของเยอรมนีออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒ การยกเลิกนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวของอังกฤษก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและการแบ่งค่ายมหาอำนาจยุโรปที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ขณะเดียวกัน นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ทำให้อังกฤษปลอดจากข้อผูกมัดใด ๆ ในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ และสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและความขัดแย้งที่อังกฤษไม่มีผลประโยชน์ร่วมด้วย หันไปดำเนินนโยบายการสร้างจักรวรรดิโพ้นทะเลได้อย่างเต็มที่และขยายอำนาจไปทั่วรัฐอาณานิคม รัฐในอารักขา และรัฐในเครือจักรภพทำให้อังกฤษเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทและอิทธิพลไปทั่วโลก
หลังจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-ด๘๑๕)* ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพสหพันธมิตรในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ในสมัยร้อยวัน (One Hundred Days)* ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการรุนแรงในการลงโทษฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ถูกลดบทบาทและอำนาจลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน ฝ่ายมหาอำนาจยุโรปประกอบด้วย ออสเตรีย-ฮังการี อังกฤษ ปรัสเซีย และรัสเซียก็ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคี (Quadruple Alliance)* เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งไวส์เคานต์คาสเซิลเร (Viscount Castlereagh)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเป็นผู้ริเริ่ม มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ให้ยืนยาวถาวร โดยให้ประเทศภาคีสมาชิกสนธิสัญญาตกลงที่จะมาประชุมร่วมกันเป็นครั้งคราวเพื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ และกำหนดมาตรการในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อรักษาสันติภาพของยุโรป อย่างไรก็ดี ในการประชุมใหญ่ครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๘-๑๘๒๔ ซึ่งเรียกว่าความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* กลับล้มเหลว เพราะทั้งประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ รวมทั้งฝรั่งเศสซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกและก่อให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance ค.ศ. ๑๘๑๘)* ล้วนต้องการใช้เวทีการประชุมใหญ่เพื่อเป้าหมายในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ หรือต้องการรักษาระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และผลประโยชน์ของตนเอง มีการเข้าแทรกแซงและส่งกองทัพเข้าปราบปรามการกบฏในดินแดนต่าง ๆ หลายครั้ง สร้างความไม่พอใจให้แก่อังกฤษซึ่งต้องการให้ประเทศต่าง ๆ มีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งระบอบการปกครองใดก็ได้ที่ประเทศเหล่านั้นเห็นว่าดีที่สุด และไม่ต้องการให้ประเทศภาคีสมาชิกสนธิสัญญาเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นตราบเท่าที่ประเทศเหล่านั้นปล่อยให้ดินแดนอื่น ๆ จัดการเรื่องของตนเอง
ดังนั้น ในการประชุมใหญ่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Congress of st. Petersburg) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๒๔ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากการประชุมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อังกฤษก็แยกตัวเองออกจากการเมืองในภาคพื้นทวีปยุโรปและเริ่มหันไปดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขณะเดียวกันก็ทำให้แต่ละประเทศต่างดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ตนเห็นสมควรและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่จึงหมดความหมายและความสำคัญลงและสิ้นสุดลงเมื่อมหาอำนาจยุโรปก่อสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ที่มหาอำนาจทั้งหมดยกเว้นออสเตรียเข้าสู่สงคราม
นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวมีที่มาจากการที่อังกฤษมีความเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากกว่าประเทศใด ๆ ในขณะนั้นอังกฤษเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้ชนชั้นกลางเข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองและส่งเสริมลัทธิเสรีนิยมมากกว่าประเทศใด ๆ อุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยม รวมทั้งประชาธิปไตยและชาตินิยมจึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นอันมาก ความล้มเหลวของอังกฤษในการขัดขวางมิให้นานามหาอำนาจเข้าแทรกแซงขบวนการเสรีนิยมและชาตินิยมในประเทศต่าง ๆ ทำให้คาสเซิลเรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้แทนของอังกฤษในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีถูกกดดันจากนักการเมืองและประชาชนอังกฤษอย่างมาก จนในที่สุดต้องก่ออัตวีนิบาตกรรมใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ก่อนเกิดการประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (Congress of Verona) เพื่อพิจารณาปัญหากรีซและสเปน สำหรับนักการเมืองและชาวอังกฤษแล้ว นโยบายต่างประเทศหลักของประเทศคือการรักษาดุลแห่งอำนาจของมหาอำนาจในยุโรปการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศหนึ่งประเทศใดหมายถึงการทำลายดุลแห่งอำนาจซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสถานภาพของอังกฤษได้ นอกจากนี้ อังกฤษยังไม่ต้องการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงต่อผลประโยชน์ต่าง ๆ ในภาคพื้นทวีป ซึ่งอังกฤษไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่าใดนัก ในขณะนั้นอังกฤษมีนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสู่ดินแดนโพ้นทะเลและพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนในรัฐอาณานิคม รัฐในอารักขาและรัฐในเครือจักรภพ รวมทั้งส่งเสริมการค้าเสรีและรักษาเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอังกฤษกับอินเดีย
หลังยุติบทบาทในความร่วมมือแห่งยุโรปแล้วอังกฤษก็ยึดถือนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างเคร่งครัดโดยหลีกเลี่ยงการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีหรือความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ และพยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเกิดขึ้นในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolutions of 1830)* การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* รวมทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* อย่างไรก็ดีเมื่อรัสเซียพยายามทำลายดุลแห่งอำนาจโดยการก่อสงครามไครเมียกับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือของอังกฤษไปยังภูมิภาคเอเชีย อังกฤษจึงร่วมกับฝรั่งเศสและปรัสเซียเข้าสู่สงครามกับรัสเซียผลของสงครามทำให้อังกฤษมีบทบาทเด่นด้านการเมืองระหว่างประเทศทั้ง ๆ ที่ยังคงยึดถือนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว
เมื่อดินแดนเยอรมันประสบความสำเร็จในการรวมชาติและจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ นั้น ในระยะแรก นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของอังกฤษต่างพึงพอใจกับระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System) ของเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีที่วางกรอบนโยบายต่างประเทศเพื่อโดดเดี่ยวฝรั่งเศสด้วยการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีฉบับต่าง ๆ กับออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซียในการป้องปรามสงคราม รวมทั้งการกำหนดนโยบายการรักษาสถานภาพเดิมของเยอรมนี รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน ดิสเรลี เอิร์ลที่ ๑ แห่งบีคอนส์ฟีลด์ (Benjamin Disraeli 1ˢᵗ Earl of Beaconsfield)* ก็เริ่มวางรากฐานนโยบายจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ให้แก่อังกฤษ โดยเล็งเห็นผลประโยชน์ของอังกฤษในโพ้นทะเลมากกว่า จึงทำให้อังกฤษยึดถือนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวต่อไปโดยไม่เห็นความจำเป็นในการแสวงหาพันธมิตร
อย่างไรก็ดี เมื่อไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ ทรงมีความคิดเห็นขัดแย้งกับบิสมาร์คในด้านนโยบายต่างประเทศเพราะมีพระราชประสงค์จะขยายอำนาจและอิทธิพลของเยอรมนีให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีการเมืองโลก บิสมาร์คจึงถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้กุมอำนาจและนโยบายต่างประเทศของเยอรมนีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ นโยบายต่างประเทศเยอรมนีเริ่มเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่อนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวของอังกฤษเกิดการแข่งขันกับอังกฤษทั้งในด้านการสร้างแสนยานุภาพทางทะเลและการแสวงหาอาณานิคมในโพ้นทะเล ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลอังกฤษเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงปฏิเสธที่จะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียซึ่งจัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๗ และหมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ แต่พระองค์คงรักษาสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879)* ระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเยอรมนีต่อไป ทำให้รัสเซียต้องคิดหาพันธมิตรใหม่เพื่อความปลอดภัยของประเทศหากต้องเข้าสู่สงครามกับออสเตรีย-ฮังการีหรือเยอรมนีในที่สุดรัสเซียก็ได้ผูกไมตรีกับฝรั่งเศสแทนและร่วมกันทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ เพื่อคานอำนาจกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี นับเป็นการยุติการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของฝรั่งเศสที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* สิ้นสุดลง ทั้งทำให้เห็นการแบ่งค่ายของมหาอำนาจยุโรปทั้ง ๔ ประเทศอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของรอเบิร์ต อาร์เทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสแห่งซอสส์เบอรี (Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil, Marquis of Salisbury)* ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๘๘๖ ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๘๙๒ และ ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๒ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอินเดีย (ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๗๘) และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๘๐) ในรัฐบาลดิสเรลีแห่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ก็ยังคงยึดแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่สนับสนุนการทำสนธิสัญญาพันธไมตรี เขาเห็นว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติทั้งภายในและภายนอกมีความสำคัญมากกว่า
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจต่าง ๆ เริ่มขัดผลประโยชน์และท้าทายอำนาจของอังกฤษ อังกฤษจึงตกอยู่ในภาวะที่จะเข้าสู่สงครามกับประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งประเทศใดได้โดยง่าย เช่น ในเหตุการณ์ฟาโชดา (Fashoda Incident ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๘๙๙)* เมื่ออังกฤษเกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศสเพื่อแข่งขันช่วงชิงลุ่มแม่นํ้าไนล์ ตอนบน (Upper Nile) และดินแดนในทวิปแอฟริกาที่ทั้ง ๒ ประเทศต่างมีดินแดนในครอบครอง ความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองฟาโชดาได้ก่อนอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๘ อังกฤษซึ่งไม่ยอมสูญเสียฟาโชดาให้แก่ฝรั่งเศสจึงตั้งทัพเผชิญหน้ากับฝรั่งเศสและเหตุการณ์มีทีท่าจะลุกลามต่อไปโดยรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสอาจให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวและลุกลามเป็นสงครามได้ แต่นับเป็นโชคของอังกฤษที่ในขณะนั้นฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับปัญหาความแตกแยกภายในจากเหตุการณ์เรื่องเดรย์ฟุส (Dreyfus Affair)* รัฐบาลฝรั่งเศสจึงต้องยอมถอนทัพออกจากเมืองฟาโชดา ยกเลิกการเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับเมืองฟาโชดาและลุ่มแม่นํ้าไนล์ตอนบน แม้เหตุการณ์ฟาโชดาจะเป็นชัยชนะของอังกฤษ แต่ก็ทำให้อังกฤษตระหนักว่าการดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่สามารถคํ้าประกันบูรณภาพของประเทศได้เพราะหากเกิดสงครามกับฝรั่งเศสจริง ๆ อังกฤษก็จะต้องต่อสู้ตามลำพังในขณะที่ฝรั่งเศสมีพันธมิตรคือรัสเซียที่จะให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศสตามข้อผูกมัดในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ กรณีเช่นเดียวกันนี้ก็อาจเกิดได้อีกหากอังกฤษมีข้อพิพาทกับประเทศมหาอำนาจอื่นทั้งอังกฤษเองก็มีกองทัพบกที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วย
การยกเลิกนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวของอังกฤษอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นทางการเกิดขึ้นหลังจากอังกฤษได้ลงนามในอนุสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยุติเหตุการณ์ฟาโชดา ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ ต่อมาอนุสัญญาฉบับนี้ได้นำไปสู่การเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และก่อให้เกิดการลงนามในความตกลงฉันมิตร (Entente Cordiale)* เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ อีก ๓ ปีต่อมาอังกฤษซึ่งไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกลุ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ทำให้สมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ กลายเป็นกลุ่มประเทศตามความตกลงไตรภาคี ค.ศ. ๑๙๐๗ เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ อังกฤษก็ยืนหยัดเข้ากับฝ่ายพันธมิตรของตน และครั้งที่สำคัญคือใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่อเยอรมนีเข้าข้างออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของตนและประกาศสงครามต่อรัสเซียเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ และต่อฝรั่งเศสในวันที่ ๓ สิงหาคม เมื่อเยอรมนีส่งกองทัพบุกเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการประกันความเป็นกลางโดยมีเป้าหมายที่ฝรั่งเศสอังกฤษซึ่งผูกพันกับฝรั่งเศสและรัสเซียด้วยความตกลงไตรภาคีจึงประกาศสงครามต่อเยอรมนีทันทีในวันที่ ๔ สิงหาคม ทำให้สงครามขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในที่สุด
โดยทั่วไปในช่วง ๘๐ ปีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่อังกฤษดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยไม่แสวงหาพันธมิตรนั้น อังกฤษไม่เคยอ้างว่าเป็นการดำเนิน “นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว” หรือ “นโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า” เลยแม้แต่นักการเมืองเช่นนายกรัฐมนตรีซอสส์เบอรี นอกจากจะไม่เห็นชอบกับวลีนี่แล้ว ยังต่อต้านและยํ้าว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอังกฤษมิได้ดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวเลยคำว่า “อยู่อย่างโดดเดี่ยว” และ “อย่างงามสง่า” เป็นวลีที่ปรากฏว่ามีการใช้เป็นครั้งแรกเมื่อกล่าวถึงอังกฤษในหนังสือประวัติศาสตร์เรื่อง Compendious History of New Brunswick (ค.ศ. ๑๘๓๒) โดยรอเบิร์ต คูนีย์ (Robert Cooney) ชาวแคนาดา ต่อมา เซอร์จอร์จ ยูลัส ฟอสเตอร์ (George Eulas Foster) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแคนาดาและเคยทำงานด้านการศึกษาที่เมืองนิวบรันส์วิกในแคนาดา ซึ่งเข้าใจกันว่าเคยอ่านผลงานเขียนประวัติศาสตร์เล่มนี้ของคูนีย์ ได้นำวลีนี้ไปกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาแคนาดา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๖ อีก ๖ วันต่อมาหนังสือพิมพ์ The Times ได้ตีพิมพ์คำพูดของเขาและทำให้คำ “อยู่อย่างโดดเดี่ยว” และ “อย่างงามสง่า” เริ่มกลายเป็นคำที่ติดปากคนโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงอังกฤษ ส่วนบุคคลที่รวมคำ “อยู่อย่างโดดเดี่ยว” และ “อย่างงามสง่า” มาเป็นวลีที่มีความหมายถึงอังกฤษและนโยบายต่างประเทศของอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และทำให้วลี “Splendid Isolation” ใช้กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางขึ้น ได้แก่ จอร์จ กอสเชน ไวส์เคานต์กอสเชนที่ ๑ (George Goschen, 1ˢᵗ Viscount Goschen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือเมื่อเขากล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองลูอิส (Lewes) แคว้นซัสเซกซ์ (Sussex) เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๖ ดังความว่า “We have stood here alone in what is called isolation - our splendid isolation, as one of our colonial friends was good enough to call it.”