จอมพล ชาก ฟิลิป เลอแกลร์ เป็นนายทหารที่โดดเด่นของกองทัพฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขามีบทบาทสำคัญในการรักษาดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสและพันธมิตรในทวีปแอฟริกา เมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสได้แล้วภายหลังยุทธการฝรั่งเศส (Battle of France)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เลอแกลร์ได้เข้าร่วมกับขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ที่มีนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๗๐)* เป็นผู้นำ ต่อมาเมื่อเยอรมนีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เลอแกลร์ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำกำลังทหารฝรั่งเศสปลดปล่อยกรุงปารีสให้เป็นอิสระจากฝ่ายอักษะ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เลอแกลร์ได้เป็นผู้แทนของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในพิธีลงนามยอมรับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นและยังคงปฏิบัติหน้าที่ให้แก่กองทัพฝรั่งเศสนอกประเทศต่อไป
เลอแกลร์เกิดในตระกูลขุนนางชั้นสูงเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๒ ณ เบลลัว-แซง-เลโอนาร (Belloy-Saint-Léonard) ใกล้เมืองอาเมียง (Amiens) ในเขตปีการ์ดี (Picardy) โดยเมื่อแรกมีนามว่า ฟิลิปฟรองซัว-มารี ไวส์เคานต์แห่งโอตกล็อก (Philippe François-Marie, Viscount of Hauteclocque) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารแซง-ซีร์ (Saint-Cyr) ซึ่งมีชื่อเสียงและเก่าแก่ จากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นทหารม้า เลอแกลร์ถูกส่งไปแอฟริกาและได้ประสบการณ์ในการรบจากการต่อสู้กับพวกชนเผ่าต่าง ๆ ในโมร็อกโกจนมีชื่อเสียง ทำให้ได้กลับไปเป็นครูผู้สอนในวิทยาลัยการทหารแซง-ซีร์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น เลอแกลร์ซึ่งมียศร้อยเอกสังกัดกองพลที่ ๔ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังสู่เบลเยียมเพื่อสะกัดกั้นการรบรุกของทหารเยอรมันในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ หน่วยทหารของเลอแกลร์ถูกโจมตีจนต้องล่าถอยไปอยู่เมืองลีล (Lille) และถูกกองทหารเยอรมันซึ่งหันมาบุกฝรั่งเศสอย่างจริงจังล้อมไว้ ในปลายเดือนพฤษภาคมเลอแกลร์สามารถตีฝ่าแนวศัตรูที่ล้อมเมืองไปสมทบกับหน่วยรบหุ้มเกราะของนายพลบุยซง (Buisson) ได้ ในการปะทะกับกองทหารเยอรมันแถบแม่น้ำโอบ (Aube) เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายนนั้นเลอแกลร์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่เมืองตอนแนร์ (Tonnerre) แต่การตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ทำให้เลอแกลร์รอดพ้นจากการถูกฝ่ายเยอรมันจับกุมและเดินทางเข้ากรุงปารีสในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ณ ที่นั้นเองเขาจึงได้ยินข่าวการปลุกกระแสรักชาติของนายพลเดอ โกล อดีตปลัดกระทรวงสงครามของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ที่ต้องการให้ชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นสู้ผู้รุกราน เมื่อจอมพล อองรี ฟิลิป เปแตง (Henri Philippe Pétain ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๙๕๑)* ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฝรั่งเศส เลอแกลร์ตัดสินใจเข้าร่วม ขบวนการฝรั่งเศสเสรีของเดอ โกลซึ่งจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอน เลอแกลร์แวะไปเยี่ยมภรรยาและลูก ๖ คนของเขาที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) ก่อนจะเดินทางไปอังกฤษในวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยใช้เส้นทางผ่านสเปนและโปรตุเกสรวม ๓ สัปดาห์ นับแต่นั้นฟิลิป ฟรองซัว-มารี ไวส์เคานต์แห่งโอตกล็อกเปลี่ยนไปใช้นามว่า ชาก-ฟิลิป เลอแกลร์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ครอบครัวของเขาในฝรั่งเศสถูกฝ่ายตรงข้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการแก้แค้น
หลังจากรายงานตัวต่อนายพลเดอ โกล แล้วเลอแกลร์ก็ได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและถูกส่งไปแอฟริกาทันทีพร้อมกับนายทหารจำนวนไม่มากนักเพื่อยึดดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส คือ คาเมรูน (Cameroon) และเฟรนซ์อิเควทอเรียลแอฟริกา (French Equatorial Africa) ให้เป็นดินแดนของขบวนการฝรั่งเศสเสรี เขาสามารถนำการรบจนได้ชัยชนะหลายครั้งทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารประจำชาด (Chad) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กองทหารของเลอแกลร์ได้เคลื่อนต่อไปทางเหนือมุ่งสู่ลิเบียซึ่งอยู่ใกล้เคียงและเป็นอาณานิคมของอิตาลี ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสเสรีสามารถยึดครองโอเอซิสแห่งคูฟรา (Oasis of Koufra) ได้ภายในเวลา ๒ เดือน และในเดือนสิงหาคมเลอแกลร์ก็ได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวา
ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เลอแกลร์ได้ปฏิบัติการอันโดดเด่น โดยการนำทหารที่อ่อนล้ากว่า ๓,๐๐๐ คนเดินทางจากทะเลสาบชาด ข้ามทะเลทรายสะฮารา (Sahara) มุ่งสู่กรุงทริโปลี (Tripoli) เมืองหลวงของลิเบียซึ่งเป็นระยะทางกว่า ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ในระหว่างการเดินทัพกองทหารของเขายังสามารถเอาชนะการสู้รบป้องกันของทหารอิตาลีที่ประจำการทางตอนใต้ของลิเบียวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ทหารของเลอแกลร์ก็เข้าสู่กรุงทริโปลีพร้อม ๆ กับกองทัพที่ ๘ ของอังกฤษที่มาจากอียิปต์หลังจากนั้นเลอแกลร์ก็รายงานตัวอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์โกเมอรี (Bernard Law Montgomery ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๙๗๖)* ของอังกฤษ เลอแกลร์ได้รับมอบหมายให้เริ่มบุกตูนิเซียต่อไปในวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เขาก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และได้รับคำสั่งให้เดินทางไปโมร็อกโกเพื่อจัดตั้งกองพลหุ้มเกราะที่ ๒ ขึ้นโดยรวบรวมทหารฝรั่งเศสในแอฟริกา
ต่อมา กองพลหุ้มเกราะที่ ๒ ได้รับคำสั่งให้ไปสมทบและอยู่ใต้การบัญชาการของกองทัพที่ ๓ ของสหรัฐอเมริกาที่อังกฤษซึ่งมีนายพลจอร์จ สมิท แพตตัน จูเนียร์ (George Smith Patton Jr. ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๙๔๕) เป็นผู้บัญชาการ เพื่อร่วมดำเนินการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี (Normandy) ตามแผนปฏิบัติการวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่หน่วยทหารของเลอแกลร์เดินทางถึงชายฝั่งนอร์มองดีในวันที่ ๑ สิงหาคม ในขั้นแรกนั้นฝ่ายพันธมิตรเห็นว่ากรุงปารีสไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์จึงไม่จำเป็นที่ จะต้องไปปลดปล่อยจากพวกนาซี แต่หลังยุทธการที่นอร์มองดี (Battle of Normandy) ทหารพันธมิตรที่นำโดยกองทัพอเมริกันได้เคลื่อนไปตามเข็มนาฬิกา หลีกเลี่ยงการเข้าสู่กรุงปารีสและมุ่งสู่เยอรมนี จนเดอ โกลและเลอแกลร์ต้องขอร้องให้นายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๖๙) สั่งการให้มีการปลดปล่อยกรุงปารีสโดยเฉพาะเมื่อมีข่าวลือว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* สั่งให้กองทหารเยอรมันทำลายกรุงปารีสก่อนที่จะล่าถอย และหากจำเป็นก็ให้ใช้วิธีการทิ้งระเบิด เชื่อกันว่านายพลแพตตันได้ปลดปล่อยดินแดนตอนเหนือของฝรั่งเศสแทบทั้งหมด และได้รับคำสั่งจากนายพลไอเซนฮาวร์ให้หยุดอยู่ที่ชานกรุงปารีสเพื่อเปิดโอกาสให้เลอแกลร์นำกองทหารฝรั่งเศสเข้าไปปลดปล่อยกรุงปารีสให้เป็นอิสระเป็นหน่วยแรก
กองพลหุ้มเกราะที่ ๒ ของฝรั่งเศสมุ่งสู่กรุงปารีสจากทางใต้อย่างรีบเร่งเมื่อเดอ โกลมีบัญชาว่าให้ไปถึงโดยเร็วก่อนที่อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบคอมมูนแห่งปารีส (Commune de Paris)* ขึ้นมาอีกครั้งหรือก่อนที่กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตจะเดินทัพมาถึง ขณะที่หน่วยทหารของเลอแกลร์อยู่ใกล้เมืองฟงแตนโบล (Fontainebleau) นั้น เลอแกลร์ก็ได้สร้าง
ความตื่นเต้นประหลาดใจให้แก่บิดาที่พำนักอยู่ในกรุงปารีสและขาดการติดต่อกับบุตรชายมากว่า ๔ ปีแล้วโดยการโทรศัพท์แจ้งข่าวการจะเข้ากรุงปารีสในเร็ววันเช้าวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เลอแกลร์ก็นำกองพลหุ้มเกราะที่ ๒ เข้าสู่กรุงปารีส และบ่ายวันนั้นนายพลดีทรีช ฟอน โชลทิทซ์ (Dietrich von Choltitz) ผู้บัญชาการทหารของเยอรมนีที่ การ์มงปาร์นาส (Gare Montparnasse) ก็ได้ยอมจำนนต่อเลอแกลร์ในวันรุ่งขึ้นเลอแกลร์และนายพลเดอ โกลก็เดินทัพเข้าสู่กรุงปารีสอย่างผู้มีชัยชนะ ขบวนรถถังของฝ่ายพันธมิตรก็ได้แล่นเข้าไปยังใจกลางกรุงปารีสด้วย ต่อมาในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทหารของเลอแกลร์ก็เป็นทหารพันธมิตรหน่วยแรกที่เข้าไปปลดปล่อยเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ติดกับพรมแดนเยอรมนีจากการยึดครองของนาซีและมุ่งหน้าสู่กรุงเบอร์ลิน ในระหว่างทางได้ยึดเมืองเบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการของฮิตเลอร์ในเขตเทือกเขาแอลป์ด้วย
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปยุติลงเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ในเดือนกรกฎาคม นายพลเลอแกลร์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังนอกประเทศของฝรั่งเศสประจำตะวันออกไกล (Corps Expéditionnaire François en Extrême Orient-CEFCO) เขาเดินทางถึงกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบัน คือ โฮจิมินห์ซิตี) ในเดือนตุลาคม โดยคาดว่าจะมีทหารฝรั่งเศส ๒๑,๕๐๐-๓๕,๐๐๐ คนตามมาสมทบในเดือน ธันวาคมเพื่อเสริมสร้างอินโดจีนฝรั่งเศสให้แข็งแกร่ง ในปีเดียวกันนี้เลอแกลร์เปลี่ยนชื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเปลี่ยนจาก ฟิลิป ฟรองซัว-มารี ไวส์เคานต์แห่งโอตกล็อก เป็น ชาก-ฟิลิป เลอแกลร์ เดอ โอตกล็อก ซึ่งเป็นการเอานามแฝงยามสงครามของเขามาใช้
การดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีนทำให้นายพลเลอแกลร์ทำหน้าที่เป็นผู้แทนสาธารณรัฐฝรั่งเศสในพิธีการลงนามยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่นบนเรือรบมิสซูรี (U.S.S. Missouri) ที่จอดอยู่ในอ่าวโตเกียวเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในส่วนของเหตุการณ์ในอินโดจีนนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็รู้สึกว่าปัญหาในอินโดจีนเป็นปัญหาทางการเมืองมากกว่าการทหาร ถึงแม้เขาจะสามารถนำทหารรบชนะเวียดมินห์ (Viet-Minh) ในเวียดนามใต้ โดยทำลายการล้อมกรุงไซ่ง่อนของพวกเวียดมินห์ได้สำเร็จ เขามีความเห็นสอดคล้องกับ ชอง แซงเตอนี (Jean Sainteny) ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนว่าควรใช้วิธีการเจรจากับเวียดมินห์ดีกว่าการทำสงคราม แต่พลเรือเอก ชอร์ช ตีเยรี ดาร์ชองลีเยอ (Georges Thierry d’ Argenlieu) ไม่เห็นด้วยกับการเจรจากับฝ่ายเวียดมินห์และตำหนิเลอแกลร์อย่างรุนแรงว่าเป็นผู้บัญชาการทหารกองกำลังนอกประเทศที่มีประสิทธิภาพของฝรั่งเศสแต่กลับต้องการการเจรจามากกว่าสู้รบ เมื่อการเจรจาไม่บรรลุผล เลอแกลร์ก็ลาออกจากตำแหน่งและกลับสู่กรุงปารีส ชอง-เอเตียน วาลุย (Jean-Etienne Valluy) ได้เข้ารับหน้าที่แทนเขา อย่างไรก็ดี เลอแกลร์ได้กล่าวเตือนก่อนเดินทางกลับว่าการต่อต้านหรือปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่หนทางที่จะยุติความยุ่งยากในอินโดจีนตราบใดที่พวกเวียดมินห์ยึดมั่นในอุดมการณ์ชาตินิยมและเอกราชของชาติตนอย่างเหนียวแน่น
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ นายพลเลอแกลร์ได้รับแต่งตั้งเป็นจเรทหารของกองกำลังฝรั่งเศสที่ประจำการในแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส แต่เพียงปีเศษต่อมาในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ โกลง-เบชา (Colomb-Béchar) ในแอลจีเรีย ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบยศจอมพลให้แก่เขาในภายหลังเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีที่เขาได้ทำให้แก่ประเทศชาติ
จอมพล ชาก ฟิลิป เลอแกลร์ เดอโอตกล็อกถึงแก่อนิจกรรมขณะอายุ ๔๕ ปี.