Speer, Albert (1905-1981)

นายอัลแบร์ท ชเปร์ (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๒๔)

อัลแบร์ท ชเปร์ เป็นนักเขียน นักวางผังเมือง และสถาปนิกคนสำคัญของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* เป็นผู้ออกแบบและปรับปรุงสำนักงานใหญ่ของพรรคนาซีที่กรุงเบอร์ลินขึ้นใหม่ได้อย่างลงตัวและงดงาม จนโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)*


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) ประทับใจ จึงให้ชเปร์ออกแบบและตกแต่งภูมิทัศน์และสถานที่จัดการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างงดงามและอลังการ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชเปร์ก้าวหน้าในงานอาชีพอย่างรวดเร็วและใน ค.ศ. ๑๙๓๗ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* แต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าสถาปนิกแห่งจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ในตำแหน่งสถาปนิกผู้ตรวจการทั่วไปแห่งไรค์ (General Architectural Inspector of the Reich) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ชเปร์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธและการผลิตเพื่อสงคราม (Reich Minister for Armaments and War Production) และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๕ เขามีบทบาทสำคัญในการขยายเวลาประจำการทหารและการเกณฑ์แรงงานคนทั้งเชลยสงครามและพลเรือนเพื่อเพิ่มการผลิตและรักษาประสิทธิภาพการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของเยอรมนีในภาวะสงครามหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ชเปร์ถูกจับและถูกนำตัวไปพิจารณาคดีด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trial)* ศาลพิจารณาอาชญากรรมสงครามแห่งนูเรมเบิร์ก (Nuremberg War Crimes Tribunal) ตัดสินจำคุกเขา ๒๐ ปี ชเปร์พ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๖๖

 ชเปร์ซึ่งมีชื่อเต็มว่าแบร์ท็อด คอนราด แฮร์มันน์ อัลแบร์ท ชเปร์ (Berthod Konrad Hermann Albert Speer) เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มั่งคั่งที่เมืองมันน์ไฮม์ (Mannheim) รัฐบาเดิน (Baden) เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ บิดาเป็นนักธุรกิจและสถาปนิกที่มีชื่อเสียง ส่วนมารดามาจากครอบครัวชนชั้นผู้ดีและเฉิดฉายในสังคม ชเปร์เป็นบุตรคนกลางในพี่น้องชาย ๓ คน เขาชอบวาดรูปและคิดคำนวณเก่ง ทั้งต้องการเป็นนักคณิตศาสตร์แต่บิดาโน้มน้าวเขาให้เป็นสถาปนิก ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ชเปร์จึงดำเนินรอยตามบิดาและปู่ด้วยการเข้าเรียนสถาปัตยกรรม การเข้าศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งคาร์ลสรู (Karlsruhe Institute of Technology) ซึ่งมีชื่อเสียงปานกลางและค่าเล่าเรียนไม่สูงมากนักเป็นเพราะในขณะนั้นเกิดภาวะเงินเพ้อและการว่างงานอันสืบเนื่องมาจากการยึดครองรูร์ (Ruhr Occupation)* ของกองทัพฝรั่งเศสและเบลเยียม บิดาเห็นว่าคาร์ลสรูเหมาะสมที่จะวางพื้นฐานความรู้แก่ชเปร์เพื่อคอยเวลาที่เหมาะสม เมื่อภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจคลี่คลายลง ชเปร์ก็โอนไปศึกษาต่อที่สถาบันซึ่งมีชื่อเสียงกว่าคาร์ลสรูคือมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก (Technical University of Munich) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน (Technical University of Berlin) ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่เบอร์ลิน ชเปร์ได้เป็นศิษย์ของไฮน์ริช เทสเซเนา (Heinrich Tessenow) ศาสตราจารย์และสถาปนิกที่เรืองนามซึ่งชเปร์ชื่นชมและเคารพยกย่องอย่างสูง หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาทำงานเป็นผู้ช่วยสอนของเทสเซเนา ต่อมา ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ นักศึกษาที่ชเปร์สอนได้ชักจูงเขาให้เข้าร่วมฟังการบรรยายของพรรคนาซีที่โรงเบียร์เบอร์ลิน

 ชเปร์กล่าวว่าในวัยหนุ่มเขาไม่สนใจการเมือง แต่การเข้าร่วมการชุมนุมและกิจกรรมของพรรคนาซีได้ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิด ในการเข้าร่วมฟังบรรยายครั้งแรกเขาแปลกใจที่เห็นฮิตเลอร์แต่งกายด้วยสูทสีนํ้าเงินที่ตัดเย็บอย่างดีแทนการสวมใส่เครื่องแบบสีนํ้าตาลของพรรคตามรูปโปสเตอร์และรู้สึกประทับใจตัวฮิตเลอร์ทันที ยิ่งเมื่อได้ฟังฮิตเลอร์เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจากการคุกคามของพวกคอมมิวนิสต์และวิพากษ์โจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และอื่น ๆ เขาก็ยิ่งชื่นชมและศรัทธาฮิตเลอร์อย่างมาก ทั้งเชื่อมั่นว่าฮิตเลอร์และพรรคนาซีจะนำความรุ่งโรจน์กลับคืนสู่เยอรมนีดังที่เกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ทั้งยังสามารถทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในปลายเดือนธันวาคม ชเปร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมพรรคนาซีอีกครั้งและได้ฟังการบรรยายของโยเซฟ เกิบเบิลส์เป็นครั้งแรก แม้เขาจะไม่ชอบลีลาการบรรยายของเกิบเบิลส์รวมทั้งเนื้อหาที่ให้ความหวังเกินจริงแต่เขาก็ไม่อาจล้มเลิกความนิยมชมชื่นที่มีต่อฮิตเลอร์ได้ชเปร์จึงตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๑ และได้หมายเลขสมาชิก ๔๗๔๔๘๑

 ในช่วงที่ชเปร์ทำงานเป็นผู้ช่วยสอนของเทสเซเนาเขาได้สานต่อความสัมพันธ์กับมาร์กาเรเทอ เวเบอร์ (Margarete Weber) เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมซึ่งเขารู้จักตั้งแต่ฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๒ ให้แนบแน่นมากขึ้น แม้มารดาจะไม่ชอบเวเบอร์เพราะเห็นว่าเธอมาจากครอบครัวพื้น ๆ ที่ไม่คู่ควรกับบุตรชายและพยายามกีดกันเธอแต่ชเปร์ก็ยังยืนกรานที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเธอ คนทั้งสองแต่งงานกันที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๒ มาร์กาเรเทอให้กำเนิดบุตรชายหญิงรวม ๗ คน เป็นชาย ๔ คน และหญิง ๓ คน มาร์กาเรเทอไม่ชอบงานสังคมและมักเชื่อฟังคำแนะนำของสามีที่ไม่ให้ทำตัวเป็นจุดเด่นและมีบทบาททางการเมือง ชีวิตคู่ของคนทั้งสองจึงอบอุ่นและมั่นคง

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ชเปร์ได้เข้าเป็นสมาชิกหน่วยเอสเอส (SS-Schutzstaffel - Defence Unit)* และมีโอกาสได้แสดงฝีมือด้านการออกแบบเมื่อเขาไปช่วยปรับปรุงสำนักงานเขตของพรรคนาซีที่กรุงเบอร์ลิน เกิบเบิลส์ชื่นชอบผลงานของเขามากและมอบหมายให้ชเปร์รับผิดชอบด้านเทคนิคและการตกแต่งสถานที่ที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ของพรรคในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ที่สนามเทมเพิลฮอฟ (Tempelhof) ชเปร์ออกแบบด้วยการใช้เสาธงสูงตั้งเรียงรายติดกับเวทีการชุมนุมและใช้เทคนิคของแสงสีประกอบการเดินพาเหรดและพิธีการบนเวทีซึ่งสร้างความอลังการและสวยงามอย่างตื่นตาตื่นใจ ความสำเร็จของการออกแบบดังกล่าวทำให้ฮิตเลอร์พอใจและมีส่วนให้ชเปร์ในวัย ๒๘ ปี กลายเป็นสถาปนิกคนโปรดของฮิตเลอร์ภายในเวลาอันสั้นใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาเป็นผู้ออกแบบเวทีและการตกแต่งสถานที่ในการจัดชุมนุมประจำปีครั้งสำคัญของพรรคที่เมืองนูเรมเบิร์กซึ่งมีแนวความคิดหลักว่า “โดยนาซี เพื่อนาซี และเกี่ยวกับนาซี” (by Nazis, for Nazis and about Nazis) ชเปร์ซึ่งชื่นชอบสถาปัตยกรรมกรีกได้จำลองแบบแท่นบูชาเพอร์กามอน (Pergamon Altar) ของกรีซซึ่งอยู่ในตุรกีมาเป็นเวทีขนาดมหึมาที่บรรจุคนได้กว่า ๒๔๐,๐๐๐ คน และติดตั้งเครื่องฉายไฟกว่า ๑๔๐ เครื่องที่ใช้ในการส่องดักจับเครื่องบินรอบลานเวที เมื่อฮิตเลอร์เดินทางมาถึงในวันงานชุมนุม ขบวนแถวขององค์การต่าง ๆ ของพรรคนาซีได้ยาตราเข้าสู่สถานที่ชุมนุมและแปรขบวนเป็นเครื่องหมายสวัสติกะพร้อมกับชูคบเพลิงที่โชติช่วงในเวลาเดียวกับที่แสงไฟรอบเวทีการชุมนุมก็เจิดจ้าสาดส่องทั้งพื้นดินและท้องฟ้าจนทำให้บูเรมเบิร์กกลายเป็นนครแห่งแสงสว่าง (City of Light) โดยทันที การชุมนุมพรรคครั้งนี้ได้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Triumph of Will โดย เลนี รีเฟนชตาล (Leni Riefenstahl) เป็นผู้กำกับร่วมกับฮิตเลอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เยอรมัน

 หลังการชุมนุมที่นูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ แต่งตั้งชเปร์เป็นเจ้าหน้าที่ของฝ่ายเลขาธิการของฟือเรอร์ (Deputy Führer) ซึ่งขึ้นตรงต่อรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* รองหัวหน้าพรรคนาซีและเป็นหัวหน้าฝ่ายองค์การแนวร่วมแรงงานเยอรมัน (German Labor Front) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๗ ชเปร์มีโอกาสแสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่ของพรรคที่กรุงเบอร์ลิน รวมทั้งการซ่อมปรับปรุงกระทรวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Propaganda Ministry) ของเกิบเบิลส์และทำเนียบนายกรัฐมนตรีด้วย เขาได้เพิ่มระเบียงหน้าตึกทำเนียบเพื่อให้ฮิตเลอร์ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณชนได้ในโอกาสต่าง ๆ และทำห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีความยาวเป็น ๒ เท่าของห้องโถงกระจกในพระราชวังแวร์ซาย รวมทั้งตกแต่งภูมิทัศน์ได้อย่างงดงามและลงตัว ฮิตเลอร์ชื่นชมผลงานของชเปร์มากเพราะเห็นว่าสะท้อนความสามารถเชิงสถาปนิกของฮิตเลอร์เองด้วย เขาเห็นว่าชเปร์เป็นเสมือนญาติสนิทและเป็นผู้ถ่ายทอดความคิดและความฝันของฮิตเลอร์ซึ่งล้มเหลวด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมให้เป็นรูปธรรมออกมาได้อย่างงดงาม ฮิตเลอร์สนับสนุนทฤษฎีการออกแบบที่ชเปร์คิดขึ้นซึ่งเรียกชื่อว่า “คุณค่าแห่งซากปรักทักพัง” (ruin value) โดยอาคารสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ต้องสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และสร้างด้วยหินมากกว่าการใช้โครงเหล็กกล้าหรือคอนกรีตเสริมเหล็กตามแนวความคิดที่ว่าแม้เมื่ออาคารทั้งหลังพังทลายลงแล้วแต่ซากปรักหักพังที่หลงเหลือก็ยังคงคุณค่าและความงามต่อไปไม่มีสิ้นสุด ทั้งจะเป็นประจักษ์พยานแห่งอดีตที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เหมือนกับซากโบราณวัตถุ ของกรีกและโรมันที่เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของ อารยธรรมโบราณ

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อเยอรมนีเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะแสดงความยิ่งใหญ่ของชนชาติอารยัน ชเปร์มีส่วนร่วมในการออกแบบสนามกีฬาซึ่งบรรจุคนได้กว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนและกำหนดรูปแบบการตกแต่งกรุงเบอร์ลินที่สะท้อนภาพพลังความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ของเยอรมนี ในปีต่อมา เขายังออกแบบศาลาแสดงนิทรรศการของเยอรมัน (German Pavilion) ในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติที่กรุงปารีส ศาลาแสดงนิทรรศการของเยอรมันตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาแสดงนิทรรศการสหภาพโซเวียต ชเปร์ได้ออกแบบศาลาให้ดูแข็งแกร่งและมหิมา และสร้างประติมากรรมที่แสดงการตอบโต้ประติมากรรมของโซเวียตที่อยู่ส่งตรงกันข้าม ซึ่งแสดงการป้องกันภัยจากการโจมตีของลัทธิคอมมิวนิสต์ศาลาแสดงนิทรรศการทั้งของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตต่างได้รับรางวัลเหรียญทองด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ หลังงานแสดงนิทรรศการระหว่างชาติสิ้นสุดลงฮิตเลอร์แต่งตั้งชเปร์เป็นสถาปนิกผู้ตรวจการทั่วไปแห่งไรค์และมอบหมายให้เขาวางผังกรุงเบอร์ลินขึ้นใหม่เพื่อให้งดงามและยิ่งใหญ่สมกับเป็นเมืองหลวงที่แท้จริงของจักรวรรดิไรค์ ทั้งให้สร้างทำเนียบของนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ตลอดจนการสร้างและเปลี่ยนเมืองอื่น ๆ ในเยอรมนีให้เป็นแนวคลาสสิกใหม่ (neoclassicism) ที่เน้นการลอกเลียนศิลปกรรมโบราณโดยเฉพาะศิลปะกรีกและอียิปต์โบราณ รวมทั้งการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ สง่างามและความคงทนถาวร ชเปร์ได้ทุ่มเทกายและใจออกแบบเมืองในฝันของฮิตเลอร์ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้น เขาสร้างแบบจำลองของโครงการมหานคร โครงการมหาปราสาท โครงการอนุสาวรีย์ และโครงการอื่น ๆ สำหรับเยอรมนีในอนาคตซึ่งฮิตเลอร์ชื่นชมมากแต่สถาปนิกคนอื่น ๆ กลับเห็นว่าเขากำลังเสียสติ อย่างไรก็ตาม โครงการมหานครที่เขาคิดและออกแบบก็เป็นเพียงแบบจำลองที่ยังไม่ได้ดำเนินการในทางปฏิบัติ

 การสนับสนุนของฮิตเลอร์ทำให้ในเวลาอันสั้นชเปร์ เป็นหนึ่งของกลุ่มวงในที่ใกล้ชิดกับฟือเรอร์ (Führer)* และเป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่งที่จงรักภักดีต่อฟือเรอร์อย่างสุดชีวิต ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศแห่งพรรคนาซี (Nazi Golden Party Badge of Honor) ซึ่งมีน้อยคนที่ได้รับ ทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณและที่ปรึกษาของรัฐปรัสเซียด้วย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๑ งานหลักของชเปร์คือการเตรียมโครงการบูรณะซ่อมแซมเมือง ๒๔ เมือง การแก้ไขแบบจำลองมหานครเบอร์ลินให้เหมาะสมรวมทั้งเตรียมการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของพรรคที่เมืองนูเรมเบิร์ก นอกจากนี้ ชเปร์ยังเป็นผู้แทนของเขตเบอร์ลินตะวันตกในสภาไรค์ชตากและดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งในวงงานรัฐบาลซึ่งรวมทั้งผู้ตรวจการทั่วไปประปาและพลังงาน (General Inspector of Water and Energy) และหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของพรรคนาซี ในช่วงเวลาเดียวกัน เขายังทำงานร่วมกับฟริทซ์ ทอดท์ (Fritz Todt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ (Reich Minister of Armaments) ในการวางระบบเชื่อมโยงการคมนาคมทางด่วนพิเศษที่เรียกว่า “เอาโทบาน” (Autobahn) เพื่อความสะดวกในการคมนาคมและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเคลื่อนกำลังทหารที่รวดเร็วในกรณีที่เกิดสงคราม ต่อมาเมื่อคาร์ล อดอล์ฟ ไอซ์มันน์ (Karl Adolf Eichmann)* หัวหน้าสำนักงานอพยพชาวยิวเริ่มนโยบายการเนรเทศชาวยิวออกจากประเทศและส่งไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ในยุโรปตะวันออก ชเปร์ได้รับมอบหมายให้รื้อถอนและปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยของชาวยิวให้สอดคล้อง กับผังเมืองใหม่ที่กำหนดขึ้น เขาต้องทำงานหนักตลอดเวลาในการวางแผนและออกแบบครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ฮิตเลอร์พิจารณาเห็นชอบและทำให้สนิทสนมกับท่านผู้นำมากขึ้นจนแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ไม่พอใจและคิดหาทางทำลายเขา

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ ฟริทซ์ ทอดท์ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งชเปร์ให้ดำรงตำแหน่งสืบแทนเพราะเชื่อมั่นในความมีประสิทธิภาพของเขาทั้งเห็นว่าเขาวางตนเป็นกลางและมักหลีกเลี่ยงปัญหาการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันระหว่างแกนนำพรรค การแต่งตั้งชเปร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธทำให้จอมพล แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* ซึ่งหวังได้ตำแหน่งดังกล่าวขุ่นเคืองและไม่ชอบหน้าชเปร์มากขึ้นงานหลักของชเปร์คือการเพิ่มปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพในภาวะสงคราม การดำเนินงานของเขาในระยะแรกมีอุปสรรคและปัญหามากเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ ก็มักขัดขวางการทำงานของเขา อย่างไรก็ตาม ชเปร์สามารถรวมศูนย์การกำกับควบคุมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำให้ระบบการบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๕ ชเปร์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงสรรพาวุธและการผลิตเพื่อสงครามสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตอาวุธและอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหาศาลได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งมีส่วนทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปอีกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ การผลิตปืนกลที่ใช้ในแนวหน้าจาก ๙,๕๔๐ กระบอก เพิ่มเป็น ๓๕,๓๕๐ กระบอก และรถถัง ๔,๙๐๐ คัน เพิมเป็น ๑๗,๓๐๐ คัน ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ท่ามกลางการถล่มโจมตีอย่างหนักของฝ่ายพันธมิตร ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เพียงเดือนเดียว เยอรมนีสามารถผลิตปืนไรเฟิลได้ถึง ๒๑๘,๐๐๐ กระบอกซึ่งเกือบเป็น ๒ เท่า ต่อเดือนโดยเฉลี่ยของ ค.ศ. ๑๙๔๑ นอกจากนี้ ชเปร์ยังขยายเวลาการเข้าประจำการของทหารให้นานขึ้นเพื่อเป็นกำลังในการรบ และบังคับเชลยสงครามและเกณฑ์พลเรือนต่างชาติที่ถูกจับกุมใช้เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธประมาณว่าใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ชาวต่างชาติกว่า ๗ ล้านคน และเชลยสงครามกว่า ๒ ล้านคนถูกบังคับเป็นแรงงานทาสในการผลิตอาวุธซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นการละเมิดความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเชลยสงคราม ในเวลาต่อมาชเปร์จึงถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

 ความล้มเหลวของเยอรมนีในการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* และความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่เมืองคุสค์ (Battle of Kursk)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ซึ่งทำให้เยอรมนีต้องล่าถอยออกจากแนวรบด้านตะวันออกทำให้ผู้นำกองทัพส่วนใหญ่เริ่มตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้สงคราม และคิดหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เยอรมนีถูกฝ่ายพันธมิตรลงโทษอย่างรุนแรงหลังสงคราม ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๔ พันเอก เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus Schenk Graf von stauffenberg)* เลขาธิการทหารของนายพลฟรีดริช ออลบริชท์ (Friedrich Olbricht) จึงคบคิดกับกลุ่มพลเรือนและนายทหารระดับสูงหลายคนวางแผนสังหารฮิตเลอร์และจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นที่กรุงเบอร์ลินเพื่อไม่ให้เยอรมนีก้าวไปสู่ความหายนะมากกว่าที่เป็นอยู่แผนสังหารฮิตเลอร์ที่เรียกว่าการคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* ค.ศ. ๑๙๔๔ มีนายทหารระดับสูงหลายคนเข้าร่วมซึ่งรวมทั้งจอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* ด้วย แกนนำกลุ่มก่อการคิดกันว่าหากสังหารฮิตเลอร์และยึดอำนาจได้สำเร็จ ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจะให้ชเปร์เข้าร่วมคณะรัฐบาลด้วยเพราะเขาเป็นคนที่มีเหตุผลและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่ก็มีคนเห็นแย้งว่าชเปร์เป็นคนสนิทของฮิตเลอร์และมีความ เป็นอิสระสูงซึ่งยากแก่การควบคุมและทำงานร่วมได้ ชื่อของชเปร์ในบัญชีรายชื่อคณะรัฐบาลชุดใหม่จึงมีเครื่องหมายปรัศนีกำกับอยู่ บัญชีรายชื่อดังกล่าวซึ่งถูกค้นพบหลังแผนสังหารและการยึดอำนาจล้มเหลวจึงมีส่วนช่วยให้ชเปร์รอดชีวิตจากการถูกกวาดล้าง และฮิตเลอร์ก็เชื่อว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับแผนเดือนกรกฎาคม

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ฮิตเลอร์แต่งตั้ง เกิบเบิลส์เป็นผู้มีอำนาจเต็มแห่งจักรวรรดิไรค์ในการทำสงครามเป็ดเสร็จ (Reich Plenipotentiary for Total War) เกิบเบิลล์จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมนโยบายสงครามซึ่งทำให้ชเปร์เริ่มหมดอิทธิพลลง ในตอนปลายสงครามชเปร์ขัดแย้งกับฮิตเลอร์เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับกฤษฎีกาเนโร (Nero Decree) ที่ฮิตเลอร์ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์จะทำลายล้างเยอรมนีและดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้พินาศเป็นเถ้าถ่านเนื่องจากฮิตเลอร์เห็นว่าหากจักรวรรดิไรค์ต้องล่มสลายเยอรมนีก็ควรสูญสลายไปด้วย ชเปร์เคลื่อนไหวต่อต้านกฤษฎีกาเนโรอย่างลับ ๆ และหาทางขัดขวางปฏิบัติการที่ฮิตเลอร์เรียกว่า “ทำลายล้างโลก” (scorched earth) ทุกวิถีทาง ทั้งปฏิเสธจะทำลายเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ฝ่ายพันธมิตรกำลังจะรุกมาถึง ต่อมา เขาเข้าพบฮิตเลอร์ที่บังเกอร์ใต้ดินและชี้แจงให้ฮิตเลอร์ตระหนักว่าเยอรมนีกำลังปราชัยและเขาไม่เห็นด้วยกับการทำลายเยอรมนีขณะเดียวกันเขาก็ยังคงยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์โกรธมากและถือว่าชเปร์คือผู้ทรยศจึงตัดชื่อชเปร์ เกอริง และไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ออกจากคำสั่งเสียเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีจอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* เป็นผู้นำเยอรมนีสืบต่อจากเขา ในเวลาต่อมา ชเปร์กล่าวอ้างว่าการดื้อดึงของฮิตเลอร์ที่จะทำลายเยอรมนีทำให้เขาคิดแผนสังหารฮิตเลอร์ด้วยการจะปล่อยแก๊สพิษผ่านท่อระบายอากาศเข้าไปยังบังเกอร์ใต้ดิน แต่ก็ล้มเลิกแผนดังกล่าวเพราะมีการปรับปรุงพื้นที่ซึ่งทำให้มีการวางท่อระบายอากาศใหม่แม้การกล่าวอ้างดังกล่าวจะไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนแตกมีส่วนทำให้ชเปร์ได้รับการลดหย่อนโทษในการพิจารณาคดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๕

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ชเปร์ยังคงมีอิสระในการเดินทางและได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรหลายครั้งในหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเรื่องความผิดพลาดของเยอรมนีในแนวนโยบายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ และเรื่องความมีประสิทธิภาพด้านยุทธศาสตร์ของฝ่ายพันธมิตรในการโจมตีเยอรมนี สื่อมวลชนต่างชาติส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าชเปร์อาจได้รับแต่งตั้งจากฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกให้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของเยอรมนีเพราะเขาได้รับเชิญไปพบปะกับผู้แทนของประเทศมหาอำนาจที่ศูนย์บัญชาการของพลเอก ดไวต์ ดี. ไฮเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แต่การคาดการณ์ดังกล่าวผิดพลาดเพราะชเปร์ถูกจับกุมในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาถูกส่งไปคุมขังที่เมืองนูเรมเบิร์กเพื่อขึ้นศาลในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กด้วยข้อหา ๔ ข้อ คือ การคบคิดวางแผนก่ออาชญากรรม การก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพด้วยการวางแผนเพื่อก่อสงคราม การเป็นอาชญากรสงครามด้วยการมีหน้าที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการปกปิดการเข่นฆ่าทางเชื้อชาติ

 ในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ชเปร์ในวัย ๔๐ ปีเป็นผู้นำนาซีในจำนวนไม่กี่คนจาก ๒๒ คนซึ่งถูกพิจารณาคดีด้วยความรู้สึกสำนึกผิด แม้เขาจะยอมรับผิดในการเป็นผู้นำระดับสูงในรัฐบาลนาซี แต่ก็ปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็นในการประกอบอาชญากรรมใด ๆ ของรัฐบาลอาชญากรรมที่เขาก่อคือการละเว้นสิ่งที่ควรจะต้องทำเป็นต้นว่าการไม่สอบถามหรือรับรู้เรื่องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* และไม่ต่อต้านฮิตเลอร์ ชเปร์อ้างว่าเขายึดทัศนคติว่า “ไม่รู้ไม่เห็นสิ่งชั่วร้าย” (see no evil) และ ไม่เกี่ยวข้องกับความทารุณโหดร้ายใด ๆ เขาเป็นเพียงนักวิชาการ (technocrat) ที่ไม่สนใจการเมือง อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชเปร์รับรู้เรื่องการทำรุณในค่ายกักกันและรู้เรื่องดีเกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์ ต่อมา ศาลอาชญากรรมสงครามแห่งนูเรมเบิร์กตัดสินเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ว่าชเปร์มีความผิด ๒ ข้อหา คือเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากเขารับผิดชอบโดยตรงในการใช้แรงงานทาสในโรงงานที่เขาดูแล ทั้งร่วมมือกับหน่วยเอสเอสในการใช้นักโทษจากค่ายกักกันมาทำงานให้เขา ชเปร์ต้องโทษจำคุก ๒๐ ปี ที่คุกสแปนเดา (Spandau) ในกรุงเบอร์ลินตะวันตก เขาพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๖๖

 ในช่วงที่ถูกคุมขัง ชเปร์ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดของทัณฑสถาน เขาอ่านหนังสือทุกประเภทและในช่วง ๓ ปี เขาอ่านหนังสือได้กว่า ๕๐๐ เล่ม เขายังเขียนบันทึกความจำอย่างลับ ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในสถานคุมขังและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนนักโทษรวมทั้งระบบการบริหารปกครองในคุก ในเวลาต่อมาบันทึกดังกล่าวถูกพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือในชื่อ Spandau: The Secret Dianes (ค.ศ. ๑๙๗๖) แต่บันทึกสำคัญอีกชิ้นที่เขาเขียนในช่วงเวลาเดียวกัน คือ การบอกเล่าความคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ และบทบาทของเขาในฐานะผู้นำคนหนึ่งในกลุ่มวงในของฮิตเลอร์ รวมทั้งอำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของฟือเรอร์ ชเปร์กล่าวว่าการปกครองของจักรวรรดิไรค์ไม่ใช่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian state) ที่เป็นเอกภาพแต่มีลักษณะเป็นอาณาจักรอิสระของผู้ปกครองท้องถิ่นหรือชนชั้นนำในพรรคนาซีที่รวมตัวเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรของเกิบเบิลส์ ฮิมม์เลอร์ เกอริง และคนอื่น ๆ ซึ่งแต่ละคนพยายามปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบต่อการทำสงครามอย่างไร ชเปร์บันทึกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ในกระดาษที่เขาสามารถหาได้ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชำระ กระดาษห่อใบยาสูบ หรืออื่น ๆ เขาลอบส่งบันทึกออกจากคุกทีละเล็กละน้อย และภายหลังก็นำมาแก้ไขและเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น แม้ชเปร์จะสารภาพว่าเขาได้ทำกติกาสัญญากับปีศาจแต่ก็มาตระหนักในภายหลังว่ากติกาสัญญาดังกล่าวมีผลร้ายอย่างไร ชเปร์ยังคงยืนกรานว่าเขาเป็นปัญญาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง และยอมรับผิดในหน้าที่การงานที่ทำให้การทำรุณโหดร้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานซึ่งเขาไม่อาจควบคุมได้ เขาเสียใจที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติการใด ๆ ระหว่างที่มีการเข่นฆ่าชาวยิวบันทึกของชเปร์ดังกล่าวในเวลาต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ Inside the Third Reich (ค.ศ. ๑๙๗๐) และทันทีที่วางจำหน่ายก็กลายเป็นหนังสือขายดีในช่วงเวลาเพียงข้ามคืนทั้งได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นบันทึกการเมืองอมตะชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของยุคสมัย นอกจากหนังสือเชิงอัตชีวประวัติทั้ง ๒ เล่มนี้แล้ว ชเปร์ยังเขียนงานอีกเรื่องเกี่ยวกับหน่วยเอสเอสซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ ในชื่อ Infiltration: How Heinrich Himmler Schemed to Build an ss Industrial Empire แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

 ชเปร์พ้นโทษเมื่อวันที่ ๓๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๖ การปล่อยตัวเขาเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกและในวันปล่อยตัววิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* นายกเทศมนตรีนครเบอร์ลินตะวันตกซึ่งขณะนั้นกำลังแข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งช่อดอกไม้และจดหมายมาร่วมแสดงความยินดีด้วย การแสดงออกของบรันดท์มีนัยให้รู้ว่ารัฐบาลเยอรมนีจะยุตินโยบายการทำลายล้างลัทธินาซี (De-Nazification) ที่มีต่อชเปร์ ในช่วงก่อนการพ้นโทษชเปร์ตั้งใจว่าจะกลับไปทำงานด้านสถาปนิกแต่ก็เปลี่ยนความคิดเพราะหุ้นส่วนของเขา ๒ คนที่จะร่วมงานด้วยได้เสียชีวิตก่อนหน้าเขาจะได้รับอิสรภาพไม่นานนัก นอกจากนี้ อัลแบร์ท ชเปร์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของเขาก็เพิ่งได้รับรางวัลสถาปนิกดีเด่น ชเปร์จึงไม่ต้องการทำลายโอกาสก้าวหน้าของบุตรชาย เขาใช้เวลาส่วนใหญ่แก้ไขปรับปรุงบันทึกความทรงจำและจัดพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันเขาก็ไปบรรยายพิเศษและให้สัมภาษณ์ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งปรากฏตัวในภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์ในชุด The World at War ซึ่งเริ่มออกอากาศครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ โดยชเปร์ปรากฏตัวหลายตอนรวมทั้งตอนที่ ๑๒ ซึ่งใช้ชื่อว่า “Whirlwind” เขาเป็นตัวเอกของเรื่อง เนื้อหาของภาพยนตร์ชุดนี้ในเวลาต่อมาถูกปรับแก้ไขและพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ในเรื่อง The World at War เช่นเดียวกัน

 อัลแบร์ท ชเปร์เสียชีวิตในช่วงที่เขาพักอยู่ที่อังกฤษที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนด้วยโรคเลือดคั่งในสมอง (cerebral hemorrhage) เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๑ ขณะอายุ ๗๖ ปี หลังมรณกรรม มีหนังสือประวัติชีวิตของชเปร์จากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ออกมา หลายเล่ม หนังสือที่ได้รับยกย่องและยอมรับกันว่าเป็นงานคลาสสิกเกี่ยวกับชีวิตของอัลแบร์ท ชเปร์ คือ Albert Speer: His Battle with Truth (ค.ศ. ๑๙๙๕) ของกิททา เซเรนี (Gitta Sereny) The Good Nazi: The Life and Lies of Albert Speer (ค.ศ. ๑๙๙๗) ของดาน ฟาน เดอร์ วาต (Dan van der Vat) และ Speer: The Final Verdict (ค.ศ. ๒๐๐๒) ของโยอาคิม เฟสท์ (Joachim Fest) และแปลโดย เอวัลด์ โอแซร์ส (Ewald Osers) และอะเล็กซานเดอร์ ดริง (Alexander Dring).



คำตั้ง
Speer, Albert
คำเทียบ
นายอัลแบร์ท ชเปร์
คำสำคัญ
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- การทำลายล้างเผ่าพันธุ์
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- การยึดครองรูร์
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- ค่ายกักกัน
- ชเตาฟ์เฟนแบร์ก, เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- ทอดท์, ฟริทซ์
- เทสเซเนา, ไฮน์ริช
- นโยบายการทำลายล้างลัทธินาซี
- แนวร่วมแรงงานเยอรมัน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- ฟือเรอร์
- รอมเมิล, จอมพล แอร์วิน
- ลัทธินาซี
- เวเบอร์, มาร์กาเรเทอ
- ศาลพิจารณาอาชญากรรมสงครามแห่งนูเรมเบิร์ก
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- ออลบริชท์, ฟรีดริช
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905-1981
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๒๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-