Spain, Kingdom of (-)

ราชอาณาจักรสเปน (-)

ราชอาณาจักรสเปนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของภาคพื้นทวีปยุโรปและเป็นประเทศใหญ่อันดับ ๓ ของยุโรป รองจากรัสเซียและฝรั่งเศสเกิดจากการรวมตัวของราชอาณาจักร


กาสตีล (Castile) และราชอาณาจักรอารากอน (Aragon) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ที่ตั้งของประเทศเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปแอฟริกา และระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรแอตแลนติก จึงมีผลต่อการหล่อหลอมประวัติศาสตร์อันยาวนานให้มีการรับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยเฉพาะจากชนชาวมุสลิม จนทำให้มีลักษณะที่โดดเด่นจากประเทศยุโรปอื่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่สร้างจักรวรรดิโพ้นทะเลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นผลให้วัฒนธรรมและภาษาสเปนคงมีบทบาทสำคัญในบางภูมิภาคของโลก แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ฐานะและเกียรติภูมิของประเทศจะตกตํ่าลงมากและถูกหมางเมินจากบรรดาประเทศประชาธิปไตยตะวันตกทั้งหลาย แต่เมื่อสเปนพันจากยุคเผด็จการทหารในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ และปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถานการณ์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการต่างประเทศ

 สเปนมีเนื้อที่ ๕๐๕,๓๗๐ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๘๕ ของคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberia) โดยที่เหลือเป็นของโปรตุเกสและอันดอร์รา (Andorra) และยังมีดินแดนที่อยู่นอกภาคพื้นทวีปอีก ได้แก่ หมู่เกาะบาเลียริก (Balearic)


ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หมู่เกาะคะแนรี (Canary) ในมหาสมุทรแอตแลนติก และหมู่เกาะที่ไร้ผู้อยู่อาศัยอีกจำนวนหนึ่งในบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ (Gibraltar) นอกจากนั้นยังมีดินแดนในเขตประเทศอื่นอีก ได้แก่ เมืองเล็ก ๆ ชื่อ ยีเบีย (Llivia) ในเทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) ซึ่งอยู่ในเขตของประเทศฝรั่งเศส และเมืองเซวตา (Ceuta) และเมลียา (Melilla) ในเขตประเทศโมร็อกโก สเปนมีอาณาเขตทิศเหนือจดมหาสมุทรแอตแลนติกและติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออกจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทิศใต้จดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติกและทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศโปรตุเกส เมืองหลวงคือกรุงมาดริด (Madrid) ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการมีประชากรประมาณ ๔๗,๗๓๗,๙๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

 การขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าคาบสมุทรไอบีเรียมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยหินเก่า (Paleolithic; Old Stone Age) แม้ว่าบางเวลาดินแดนส่วนใหญ่ยังคงปกคลุมด้วยน้ำแข็งแต่ก็มีผู้คนอาศัยอยู่บริเวณที่ราบตอนล่างมีนักล่าสัตว์จากยุโรปตะวันตกทางใต้และทางตะวันออกเข้ามายังสเปนซึ่งมีวัฒนธรรมเหมือนผู้คนทางใต้ของฝรั่งเศสทำให้มีภาพวาดและภาพแกะสลักบนผนังและเพดานถํ้าจำนวนมากซึ่งมีอายุราว ๒๔,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชมีชนจากทางเหนือของยุโรปเข้ามาสู่คาบสมุทรไอบีเรียโดยผ่านเข้ามาทางเทือกเขาพิเรนีส นักเดินเรือและพ่อค้าชาวฟินิเชีย (Phoenicia) และกรีกก็เริ่มมาที่ชายฝั่งสเปนขณะเดียวกันพวกเคลต์ (Celt) จากทางเหนือก็มาด้วยพวกฟินิเชียตั้งสถานีการค้าที่กาดีร์ [Gadir ปัจจุบันคือ กาดิซ (Cadiz)] และยึดครองท่าเรือต่าง ๆ ริมส่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่นานต่อมาพวกกรีกโดยเฉพาะพวกโฟเชียน (Phocaeans) มาตั้งสถานีการค้าทางใต้ที่ไมย์นาเก [Mainake ใกล้มาลากา (Malaga) ปัจจุบัน)] เพื่อค้าขายกับราชอาณาจักรตาร์เตสซอส (Tartessos) ในเขตอันดาลูเซีย (Andalusia) ซึ่งเป็นอาณาจักรเดียวที่รุ่งเรืองบนคาบสมุทรไอบีเรียในช่วง ๘๐๐-๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกกรีกอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก และพวกฟินิเชียอาศัยอยู่ทางใต้ ชาวกรีกเป็นผู้นำชื่อ “ไอบีเรีย” มาจากการตั้งชื่อแม่นํ้าไอเบอร์ [Iber หรือ เอโบร (Ebro) ในภาษาสเปน] และทำให้บรรดาผู้ที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรนี้ซึ่งสืบเชื้อสายบรรพบุรุษที่มาจากที่ต่าง ๆ กัน ก็เรียกรวม ๆ ว่าชาวไอบีเรีย

 พวกฟินิเชียในทวีปแอฟริกาเหนือซึ่งต่อมาเรียกว่าพวกคาร์เทจ (Carthage) ได้ควบคุมช่องแคบยิบรอลตาร์ โดยมีอาณานิคมสำคัญคือ คาร์ทาโกโนวา [Carthago Nova ปัจจุบันคือ การ์ตาเคนา (Cartagena)] และขับไล่พวกกรีกออกจากทางตอนใต้ของสเปน แต่พวกกรีกก็ตั้งหลักแหล่งตามเมืองท่าต่าง ๆ บริเวณชายฝั่งตะวันออกจากเขตนี้กรีกได้ส่งผลผลิตโดยเฉพาะภาชนะดินเผาไปขายทั่วคาบสมุทรระหว่าง ๙๐๐-๖๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชนภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนได้เข้ารุกรานหลายระลอก เช่น พวกเคลต์ชนเผ่าเยอรมัน และตามด้วยเบลจ์ (Beige) กลุ่มเล็ก ๆ ผู้รุกรานเหล่านี้นำวัตถุและอาวุธที่ทำด้วยสัมฤทธิ์แบบที่ใช้ในยุโรปตะวันตกปลายยุคสัมถุทธมาด้วย

 ใน ๒๑๘ ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดสงครามระหว่างโรมันกับพวกคาร์เทจเรียกว่าสงครามพิวนิก (Punic Wars) ครั้งที่ ๒ กองทัพโรมันได้เข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรียในเขตที่พวกคาร์เทจอาศัยอยู่ ครั้นถึง ๑๓๓ ปีก่อนคริสต์ศักราชพวกโรมันสามารถควบคุมไอบีเรียได้ทั้งหมดและผนวกเข้ากับจักรวรรดิโรมันที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus) ตั้งเป็นมณฑลฮิสปาเนีย (Hispania) ขึ้นมีหน้าที่จัดส่งอาหาร นํ้ามันมะกอก เหล้าองุ่นและโลหะให้แก่จักรวรรดิโรมัน จนถึงพวกอนารยชนรุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ในช่วงต้น ๆ ของจักรวรรดิโรมัน วัฒนธรรมท้องถิ่นไอบีเรียแทบทั้งหมดสูญหายไป เพราะถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบโรมัน (Romanization) เมืองเก่า ๆ ถูกย้ายจากเขตภูเขาลงสู่ที่ราบชุมชนใหม่ ๆ และภาวะสงบทำให้มีการสร้างอาคารที่พัก (villa) หรูหรา ห้องต่าง ๆ ตกแต่งด้วยโมเสก นับเป็นครั้งแรกที่การพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมถึงขีดสุด เมืองในดินแดนสเปนที่มั่งคั่งจะมีโบสถ์และอาคารสาธารณะต่าง ๆ เพื่อจัดเทศกาลเฉลิมฉลอง มีการสร้างถนนเชื่อมดินแดนที่ห่างไกลออกไปสะพาน และเพดานโค้ง ผลงานชิ้นสำคัญคือ สะพานส่งนํ้าแห่งเซโกเวีย (Segovia) และตาร์ราโกนา (Tarragona) สะพานที่อัลกันตารา (Alcantara) โรงละครครึ่งวงกลมที่อิตาลิกา (Italica) และโรงละครที่เมรีดา (Merida)

 เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายตัวใน ค.ศ. ๔๗๖ สังคมในดินแดนสเปนไม่ได้ถูกทำลาย ภาษาสเปนแบบปัจจุบันศาสนาและกฎหมายต่าง ๆ เริ่มจากสมัยนี้ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นสเปนได้ถูกพวกซูเอวี (Suevi) แวนคัล (Vandal) และอาลานี (Alani) เข้ารุกราน และพวกเหล่านี้ก็ถูกพวกวิซิกอท (Visigoth) รุกรานต่อโดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๔๑๕ แม้พวกวิซิกอทจะรับวัฒนธรรมโรมันตอนรุกรานสเปน แต่ยังคงรักษาสถาบันของชนเผ่าเยอรมันอยู่และสถาปนาระบอบกษัตริย์แบบเลือกตั้ง แต่สถาบันกษัตริย์และการบริหารปกครองยังคงมีรูปแบบสเปน-โรมันของชาวพื้นเมืองด้วย พระเจ้าเลโอวิจิลด์ (Leovigild ค.ศ. ๕๖๘-๕๘๖) เป็นกษัตริย์ชาววีซิกอทที่สำคัญที่สุด ทรงทำให้คาบสมุทรไอบีเรียมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โอรสที่ครองราชย์ต่อคือ พระเจ้าเรคคาเรด (Reccared ค.ศ. ๕๘๖-๖๐๑) ทรงบังคับให้ชาววิซิกอทเลิกนับถือคริสต์ศาสนานิกายอาเรียน (Arian) และหันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกใน ค.ศ. ๕๘๙ ความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันทางศาสนาของประชาชนจึงเกิดขึ้น

 ระหว่าง ๓ ศตวรรษที่วิซิกอทปกครองสเปนเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ยังคงเป็นแหล่งนำรายได้สำคัญ ในช่วงบ้านเมืองสงบ อุตสาหกรรมและการค้าก็รุ่งเรืองพอควร แต่ภาวะสงบก็มีระยะเวลาสั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ เกิดการแย่งชิงบัลลังก์และสงครามกลางเมืองขึ้นทั้งในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ ยังเกิดการพิพาทกันในราชสำนักและปัญหาในราชวงศ์ ช่วงที่พวกวิซิกอทปกครองมีการใช้ระบบวรรณะ ผู้พิชิตนับเป็นชนชั้นปกครองและทหาร มีชนชั้นขุนนางของตน ขณะที่พวกที่รบพ่ายแพ้หรือผู้ถูกปกครองก็ยังคงมียศทางขุนนางและทางสังคมแบบโรมันถัดลงไปเป็นอิสรชน (bucelario) ชาวนากึ่งทาส (colono) และล่างสุดคือทาสติดที่ดิน (serf) การปกครองของพวกวิซิกอทสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๗๑๑ เมื่อพระเจ้าโรเดอริค (Roderick ค.ศ. ๗๑๐-๗๑๑) ทรงรบพ่ายแพ้แก่กองทัพมุสลิมของชนเผ่าเบอร์เบอร์ (Berbers) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในแอฟริกาตอนเหนือ

 เมื่อพวกเบอร์เบอร์สามารถรบชนะพระเจ้าโรเดอริค สเปนก็ตก เป็นดินแดนของกาหลิบหรือคอลีฟะฮ์ (Khalifah) ที่ปกครองจากกรุงดามัสกัส (Damascus) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ กองทัพมุสลิมได้พยายามเข้ารุกรานยุโรปตะวันตก แต่กองทัพพวกแฟรงก์ (Frank) สกัดกั้นไว้ และพวกมุสลิมพ่ายแพ้ในยุทธการที่เมืองตูร์ (Battle of Tours) ใน ค.ศ. ๗๓๒ ทำให้พวกมุสลิมหมดโอกาสที่จะครอบครองดินแดนยุโรปเหนือเทือกเขาพิเรนีส ต่อมาใน ค.ศ. ๗๕๖ เจ้าชายแห่งราชวงศ์อุไมยะฮ์ (Umaiyah) ได้มาตั้งอาณาจักรอิสระ (emirate) ขึ้น และใช้พระนาม อับดา-เราะห์มานที่ ๑ (abd ar-Rahman I ค.ศ. ๗๕๖-๗๘๘) ที่มีเอมีร์ปกครองที่เมืองกอร์โดบา (Cordoba) ต่อมาใน ค.ศ. ๙๒๙ เอมีร์อับดาเราะห์มานที่ ๒ (abd ar-Rahman II ค.ศ. ๘๒๒-๘๕๒) ยกสถานะรัฐเอมีร์เป็นรัฐกาหลิบ (caliphate) และขยายอิทธิพลไปทั่วไอบีเรีย พวกคริสเตียนที่รบพ่ายแพ้ก็ต้องหลบซ่อนในเขตภูเขาทางเหนือเพื่อหาจังหวะตีโต้กลับพวกมุสลิมที่มาจากแอฟริกามักไม่ได้พาสตรีของตนมาด้วย จึงแต่งงานกับสตรีพื้นเมือง ทำให้ไม่กี่ชั่วคนต่อมา ประชากรลูกผสมที่เป็นมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรียซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของชาวสเปนมีจำนวนมากกว่าชาวอาหรับ เปอร์เซีย ซีเรีย และพวกเบอร์เบอร์ พวกอาหรับก็มีการแบ่งชนชั้นในสังคมอย่างชัดเจน ไม่ค่อยพำนักในเขตเมือง และดูถูกทั้งพวกคริสเตียน เบอร์เบอร์ และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแต่รบพ่ายแพ้ซึ่งเรียกว่าพวกมูลาดี (muladie) ว่าตํ่าต้อยกว่าตนส่วนคริสต์ศาสนิกชนที่ไม่เปลี่ยนศาสนาและยอมอยู่ใต้อำนาจพวกมุสลิมเรียกว่าพวกโมซารับ (Mozarab) นอกจากนี้ยังคงมีทาสอยู่อีกนอกเหนือจากทาสหญิงในฮาเร็มและพวกที่เป็นทาสเชลย มีทาสผิวดำที่เรียกว่า กัลเยโก (gallego) อีกทั้งมีชาวต่างชาติซึ่งเรียกว่า สลาฟ (Slav) ซึ่งซื้อมาทำงานให้กองทัพ

 พวกอาหรับที่เป็นชาวนาชั้นเยี่ยมได้ทำระบบชลประทานที่ตกทอดจากพวกโรมันให้สมบูรณ์ขึ้น และนำเข้าพืชพันธุ์ใหม่ ๆ มาเผยแพร่ ได้แก่ ทับทิม ส้ม และอ้อยรวมทั้งวิธีการปลูกข้าวและฝ้ายด้วย อุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองมากคือ อุตสาหกรรมการทอและย้อมผ้าในเขตกอร์โดบา เซบีย์ (Seville) และกรานาดา (Granada) การผลิตหนังสัตว์ในกอรโดบา กระดาษและเซรามิกในมาลากา (Malaga) การติดต่อค้าขายอย่างต่อเนื่องกับเขตตะวันออกกลางมีส่วนสนับสนุนการค้าอย่างมาก นอกจากนี้ การหารายได้ก็ยังคงใช้ระบบบรรณาการอยู่ การจัดกองทัพเป็นสิ่งที่นักรบมุสลิมให้ความสนใจเป็นอันดับแรก พวกเขาเห็นว่าการทำญิฮัด (jihad) หรือสงครามศาสนาเป็นหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยของกาหลิบฮิชามที่ ๒ (Hisham II ค.ศ. ๙๗๖-๑๐๐๙, ๑๐๑๐-๑๐๑๓) พวกมุสลิมรบชนะจนขยายเขตแดนไปถึงซานตีอาโก เด กอมปอสเตลา (Santiago de Compostela) และบาร์เซโลนา (Barcelona)

 ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ รัฐกาหลิบถูกบ่อนทำลายจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงแตกเป็นราชอาณาจักรน้อยใหญ่ ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ พวกอัลโมราวิด (Almoravid) และอัลโมฮัด (Almohad) จากแอฟริกาได้รุกรานคาบสมุทรไอบีเรียครั้งใหญ่ โดยมีกำลังของมุสลิมที่อ่อนแอบนคาบสมุทรเข้าร่วม ทำให้อาณาจักรมุสลิมก่อนหน้าต้องยอมพ่ายแพ้ก่อนที่พวกคริสเตียนจะมาขับไล่ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุด ชาวมุสลิมได้หนีเข้าไปหลบภัยที่เมืองกรานาดาซึ่งมีราชวงศ์นาสริด (Nasrid) ปกครองและสามารถคงความเป็นอาณาจักรเอาไว้ได้ระหว่าง ค.ศ. ๑๒๓๒-๑๔๙๒

 ในส่วนของอาณาจักรคริสเตียนนั้น เมื่ออำนาจของพวกวิซิกอทเสื่อมลง ชาวคริสต์ทางเหนือพยายามรวบรวมกำลัง มีการสืบต่อราชอาณาจักรของวิซิกอทด้วยการตั้งอาณาจักรเล็ก ๆ ในเขตอัสตูเรียส (Asturias) โดยมีเปลาโย (Pelayo ค.ศ. ๗๑๘-๗๓๗) ชาววิซิกอทได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ จากนั้นค่อย ๆ นำระบบสืบตระกูลมาใช้ต่อมาชาวคริสต์ที่ต่อต้านมุสลิมซึ่งกระจุกตัวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne) อาณาจักรคาโรลินเจียน (Carolingian Empire) ทางเหนือของสเปนทำให้เกิดราชรัฐในเขตเทือกเขาพิเรนีสซื้นหลายแห่งซึ่งปกครองโดยใช้ระบบสืบตระกูลเหมือนพวกอัสตูเรียน (Asturian) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ได้มีการจัดตั้งราชอาณาจักรต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ เลออง (Leon) กาสตีล นาวาร์ (Navarre) อารากอน รวมทั้งมณฑลบาร์เซโลนาซึ่งได้รวมเข้ากับราชอาณาจักรอารากอนใน ค.ศ. ๑๑๓๗

 แม้ราชอาณาจักรต่าง ๆ จะมีการรบพุ่งกันเองบ่อยครั้ง แต่ชาวคริสต์ก็ผนึกกำลังกันต่อสู้กับพวกมุสลิมและพยายามยึดดินแดนคืน ผู้นำคนสำคัญ ๆ ในการต่อสู้แย่งชิงดินแดนคืน ได้แก่ พระเจ้าซานโชมหาราช (Sancho the Great ค.ศ. ๑๐๐๐-๑๐๓๕) แห่งราชอาณาจักรนาวาร์พระเจ้าอัลฟองโซที่ ๖ (Alfonso VI ค.ศ. ๑๐๖๕-๑๑๐๙) แห่งราชอาณาจักรเลอองและกาสตีล ซึ่งสามารถกู้เมืองโตเลโด (Toledo) คืนได้ใน ค.ศ. ๑๐๘๕ และโรกรีโก (รุย) ดีอาซ เด บีบาร์ [Rogrigo (Ruy) Diaz de Vivar] ซึ่งเป็นที่รู้จักลือเลื่องในนาม เอลซิด กัมเปอาดอร์ (El Cid Campeador) ซึ่งเป็นชาวกาสตีลที่เคลื่อนพลไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยึดเมืองบาเลนเซีย (Valencia) ได้ใน ค.ศ. ๑๐๙๔

 แม้มีการนำระบอบฟิวดัลมาใช้ในราชอาณาจักรต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย แต่ก็มีความแตกต่างกันทั้งในคาบสมุทรและกับที่อื่น ๆ ในยุโรป อย่างไรก็ดี ในแต่ละราชอาณาจักรกษัตริย์จะมีสภาขุนนางและพระชั้นผู้ใหญ่ช่วยบริหาร กองทัพก็ประกอบด้วยขุนนางและวาสซัลของพวกเขา จนต่อมาจึงได้มีกองกำลังพลเรือนรักษาเมืองและมีกอร์เตส (Cortes) ซึ่งเป็นสภาของนักบวช ขุนนางและสามัญชน ชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมประกอบด้วยชนชั้นสูงและชนชั้นสูงระดับล่างลงมาที่เรียกว่า อินฟานโซเนส (infanzones - lesser nobility) อิสรชน คือผู้อยู่ในเสรีนครซึ่งเลือกผู้นำเองเรียกว่า เบเฮเตรีย (behetrias) ส่วนชนชั้นตํ่า ได้แก่ แอดสคริปติซิออส (adscripticios) ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไปจากที่ดินทำกินไม่ได้ ทาสติดที่ดินส่วนตัว และปาเยเซส เด เรเมนซา (payeses de remensa) ซึ่งเป็นชาวนาในกาตาโลเนียที่ขึ้นกับกฎเหล็กของระบอบฟิวดัลนอกจากประชากรชาวคริสต์แล้ว ยังมีชาวยิวจำนวนมากและพวกมูเดคาร์ (Mudejar) หรือพวกมัวร์ (Moor) ท้องถิ่นอาศัยรวมอยู่ด้วย

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ แม้ราชอาณาจักรคริสเตียนจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็คงต่อสู้กับพวกมัวร์ อารากอนสามารถยึดเมืองซารากอสซา (Saragossa) ได้ใน ค.ศ. ๑๑๑๘ และมีชัยไปถึงแม่นํ้าเอโบร ราชอาณาจักรเลอองและกาสตีลพยายามเข้ายึดเมืองอัลเมเรีย (Almeria) แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๘ (Alfonso VIII ค.ศ. ๑๑๕๘-๑๒๑๔) แห่งกาสตีล ก็ทรงมีชัยเหนือพวกอัลโมฮาดในยุทธการแห่งนาวัส เด โตโลซา (Navas de Tolosa) ชัยชนะที่ได้จากการกอบกู้ดินแดนก็มีผลยืนยาว ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งถือเป็นยุคทองของราชอาณาจักรในคาบสมุทรไอบีเรียในสมัยกลางด้วยนั้น พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ หรือ เอล กองกิสตาดอร์ (James I; El Conquistador ค.ศ. ๑๒๑๓-๑๒๗๖) แห่งอารากอนได้ครอบครองหมู่เกาะบาเลียริกและเมืองบาเลนเซีย ส่วนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๘ (Ferdinand VIII ค.ศ. ๑๒๑๗-๑๒๕๒) แห่งกาสตีลได้เมืองกอร์โดบาและเซบีย์ ดินแดนในครอบครองของพวกมุสลิมลดลงจนเหลือเฉพาะราชอาณาจักรกรานาดา เท่านั้น ต่อมา อารากอนก็มุ่งสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในสมัยพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๓ (Peter III ค.ศ. ๑๒๗๖-๑๒๘๕) ทรงอ้างสิทธิการสืบราชสมบัติเหนือดินแดนซิซิลี ซึ่งทำให้พระองค์ต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศสและสันตะปาปา

 ส่วนการขยายอาณาจักรทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในสมัยพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๐ ผู้ชาญฉลาด (Alfonso X the Wise ค.ศ. ๑๒๕๒-๑๒๘๔) ได้มีการรวบรวมและจัดทำประมวลกฎหมายซึ่งได้อิทธิพลจากกฎหมายโรมัน กฎหมายวัด และจากจารีตของกาสตีลเอง แต่ในอาณาจักรทางตะวันออก กฎหมายท้องถิ่นยังคงมีความสำคัญโดยเฉพาะในนาวาร์ ส่วนในอารากอน มีการรวบรวมกฎหมายที่ดิน เช่น ประมวลกฎหมายแห่งฮวสกา (Codigo de Huesca) ซึ่งรวบรวมขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๔๗ ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ในด้านกฎหมายนาวีก็มีการจัดทำกฎหมายที่กาตาโลเนีย (Libra del Consulado de Mar) ใน ค.ศ. ๑๒๕๙ อิทธิพลของศาสนาคริสต์ การต่อต้านของพวกทาสติดที่ดินและการเติบโตของเมืองต่าง ๆ ทำให้ชนชั้นล่างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ชาวชนบทของกาสตีลก็มีสถานะใกล้เคียงกับผู้ที่อยู่ในเขตเมือง และที่กาตาโลเนียก็มีการจัดตั้งขบวนการปลดปล่อยซึ่งเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ดังนั้น โดยทั่วไปจึงดูเหมือนว่ายุคของการมีทาสได้สิ้นสุดแล้ว พวกชนชั้นสูงนั้นก็รํ่ารวยจากการได้รางวัลในการช่วยรบได้ที่ดินผืนใหญ่ ๆ ของพวกมัวร์ไปครอบครอง ส่วนพวกชนชั้นกลางซึ่งเพิ่งก่อตัวขึ้น ได้แก่ ชาวเมือง นักกฎหมาย พ่อค้า ช่างฝีมือ และชาวนาที่มีฐานะก็ได้รับความมั่งคั่งไปด้วย

 ส่วนศาสนจักรในสเปนก็มีฐานะที่ยิ่งใหญ่ มีการสร้างศาสนสถานของนิกายคลูนิแอก (Cluniac) ซิสเตอร์เชียน (Cistercian) ฟรานซิสกัน (Franciscan) และโดมินิกัน (Dominican) ขึ้นทั่วประเทศ บรรดาทหารจากกาลาตราวา (Calatrava) อัลกันตารา (Alcantara) และซานตีอาโก (Santiago) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกอบกู้ดินแดนคืนจากพวกมุสลิม จึงได้ทั้งอำนาจและทรัพย์สิน รายได้ของราชอาณาจักรอารากอนและกาสตีลที่ได้จากหลายแหล่งมาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นมาก จากการมีชัยเหนือพวกมัวร์ การจัดระบบการเก็บภาษี การเป็นเจ้าชองเหมืองรวมทั้งเหมืองเกลือ และการทำประมงก็ถูกกันให้เป็นราชทรัพย์ แต่ในกรณีฉุกเฉินทางการเมืองและการทหารกษัตริย์ก็สามารถขออนุมัติเงินจากสภากอร์เตสได้

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขณะที่พวกคริสต์ยังคงต้องรบกับพวกมุสลิมต่อไป เพราะพวกมัวร์ยังอยู่ทางภาคใต้และมีการรุกรานจากมุสลิมในแอฟริกา แต่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอาณาจักรคริสเตียนต่าง ๆ ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การค้าในอารากอน นาวาร์ และกาสตีลต่างขยายตัวกาสตีลและกาตาลันยังจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในเมืองต่างแดนที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง เมืองบาร์เซโลนาและเมืองเซบีย์ต่างมีเรือจากอะเล็กซานเดรีย ตูนิส ฝรั่งเศส อังกฤษ แทนเจียร เจนัว ปีซา และเวนิสมาแวะติดต่อเป็นประจำ ส่วนสินค้าของอาณาจักรต่าง ๆ ก็เดินทางไปค้าขายกับชาติต่าง ๆ นอกจากนี้ ทั้งกาสตีลและอารากอนต่างก็มีกองเรือพ่อค้าและกองทัพเรือที่ดี กาสตีลและบิสกายา (Vizcaya) ได้มีการเจรจาตกลงการค้ากับลอนดอน พ่อค้าที่เมืองบรูช (Bruges) ก็ทำความตกลงกับสันนิบาตฮันเซียติก (Hanseatic League) ทั้งพ่อค้าสเปนยังไปตั้งมั่นในเขตฟลานเดอส์ (Flanders) สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของสเปนคือผ้า ส่วนสินค้าออกได้แก่แร่ธาตุ ผลผลิตทางการเกษตร และการทำปศุสัตว์

 ขณะเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหมู่ราชอาณาจักรคริสเตียนในไอบีเรียหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าปีเตอร์ผู้โหดร้าย (Peter the Cruel ค.ศ. ๑๓๕๐-๑๓๖๙) แห่งกาสตีลและพระเจ้ามาร์ตินที่ ๑ (Martin I ค.ศ. ๑๓๙๕-๑๔๑๐) แห่งอารากอนโดยไม่มีรัชทายาท ราชวงศ์ตรัสตามารา (Trastamara) ก็ได้อำนาจปกครองราชอาณาจักรทั้งสองตามลำดับ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองระหว่างกาสตีลักบอารากอนก็แนบแน่นมากยิ่งขึ้นเมื่อพระราชธิดาในพระเจ้าจอห์นที่ ๒ (John II ค.ศ. ๑๔๐๖-๑๔๕๔) แห่งกาสตีล กับพระราชโอรสของพระเจ้าจอห์นที่ ๒ (John II ค.ศ. ๑๔๕๘-๑๔๘๙) แห่งอารากอน ทรงอภิเษกสมรสกันใน ค.ศ. ๑๔๖๙ และเมื่อคู่อภิเษกสมรสทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ ๑ (Isabella I ค.ศ. ๑๔๗๔-๑๕๐๔) แห่งกาสตีล และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ (Ferdinand II ค.ศ. ๑๔๗๙-๑๕๑๖) แห่งอารากอน ก็ทรงร่วมกันปกครองราชอาณาจักรทั้งสอง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กาสตีลและอารากอนรวมตัวกันเป็น “ราชอาณาจักรสเปน” ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖

 การปกครองคู่กันและยังร่วมในราชวงศ์เดียวกันทำให้สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ ๑ และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ ๒ ทรงสามารถสถาปนาอำนาจสูงสุดได้ สภากอร์เตสถูกลดบทบาทลง และทั้ง ๒ พระองค์ทรงดำเนินการเปลี่ยนแปลง หลายอย่าง ได้แก่ ได้รวบรวมจัดทำประมวลกฎหมายของกาสตีล เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมโดยการลิดรอนอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ของขุนนางชั้นสูง ขณะที่ชนชั้นกลางได้รับความสำคัญมากขึ้น ในด้านศาสนา มีการจัดตั้งศาลศาสนา (Inquisition) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๔๘๐ ดำเนินนโยบายปราบปรามพวกมุสลิมและกำจัดชาวยิวออกจากคาบสมุทรไอบีเรียส่วนในด้านเศรษฐกิจได้จัดการสำรวจทรัพย์สินของประชาชนเป็นครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๔๗๗-๑๔๗๙ มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีปกป้องสินค้าในประเทศ โดยส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม และตั้งกำแพงภาษีศุลกากรออกกฎหมายช่วยอุตสาหกรรมผลิตเหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก ผลไม้ และข้าว ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกขนสัตว์โดยเฉพาะแกะพันธุ์เมริโน (merino) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดที่ฟลานเดอส์มาก

 ในการทำสงครามปราบปรามพวกมุสลิม กองทัพคริสเตียนสามารถยึดดินแดนกรานาดาซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของมุสลิมคืนได้เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๔๙๒ นับเป็นการยุติอำนาจของพวกมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรียที่ดำเนินติดต่อมาเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปี แต่สนธิสัญญากรานาดา (Treaty of Granada) ยังคงอนุญาตให้พลเมืองมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามได้ต่อไป ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๐๒ พวกมุสลิมก็เริ่มถูกขับไล่ออกจากคาบสมุทรไอบีเรีย ส่วนพวกโมริสกอส (Moriscos) หรือพวกมัวร์ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ยังคงอยู่ไปได้จนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แต่ขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๔๙๒ พวกยิวซึ่งเป็นนักการเงินและพ่อค้าที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจถูกเนรเทศกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน นับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่สำคัญซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปนที่กำลังก่อตัวขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพวกเติร์กสามารถยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลและจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ใน ค.ศ. ๑๔๕๓ การค้าของสเปนกับดินแดนในตะวันออกกลางและเมืองท่าริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนชะงักงัน สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้นเมื่อมีการค้นพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ. ๑๔๙๒ ความสนใจของการค้ามุ่งไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้การค้าและความมั่งคั่งของเมืองลิสบอน (Lisbon) เซบีย์และกาดิซซบเซาลง

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ขณะที่พวกมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรียพ่ายแพ้แก่ชาวคริสต์ ชาวยิวถูกขับออกจากดินแดน และมีการค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ไอบีเรีย พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ แห่งอารากอนทรงดำเนินนโยบายตามบรรพบุรุษด้วยการแทรกแซงดินแดนในคาบสมุทรอิตาลีด้วย ใน ค.ศ. ๑๔๙๔ เมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ ๘ (Charles VIII) ของฝรั่งเศสได้ครองเนเปิลส์ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ ทรงส่งกองทหารสเปนเข้ารบกับกองทัพฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปีเพื่อแย่งชิงเนเปิลส์จนถึงใน ค.ศ. ๑๕๐๔ ราชอาณาจักรเนเปิลส์ก็ถูกผนวกเข้ากับดินแดนของอารากอน

 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ ๑ สวรรคต ใน ค.ศ. ๑๕๐๔ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ แห่งอารากอนทรงเป็นผู้สำเร็จราชการของกาสตีล ผู้สืบต่อราชบัลลังก์ของทั้ง ๒ พระองค์คือ อินฟานตา ควนนา (Infanta Juana) พระราชธิดา ใน ค.ศ. ๑๔๙๖ ทรงอภิเษกสมรสกับอาร์ชดุ๊กฟิลิป (Philip) แห่งออสเตรียซึ่งอยู่ในราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* โดยการอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายที่จะใช้วิธีการสมรสทำให้สเปนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนานาประเทศเพื่อโอบล้อมฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๕๐๕ สภากอร์เตสแห่งโตโร (Cortes of Toro) ได้สถาปนาเจ้าหญิงควนนาเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งกาสตีล ส่วนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ ยังคงเป็นกษัตริย์แห่งอารากอน ทรงอภิเษกสมรสใหม่กับแชร์แมน เดอ ฟัว (Germaine de Foix) พระภาคิไนยในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๒ สมัยของอาร์ชดุ๊กฟิลิปที่ได้ปกครองกาสตีลคู่กับสมเด็จพระราชินีนาถควนนาดำเนินไปในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ สิ้นสุดลงเมื่ออาร์ชดุ๊กฟิลิปสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๕๐๖ ส่วนสมเด็จพระราชินีนาถควนนาก็ทรงมีพระสัญญาวิปลาส (ที่หลุมพระศพจารึกว่า Juana la Loca) พระเจ้าเฟอรดินานด์ที่ ๒ จึงทรงเข้าบริหารกาสตีลอีกครั้ง มีการยึดเมืองโอราน (Oran) ในแอลจีเรียใน ค.ศ. ๑๕๐๙ ทรงเข้าร่วมกับสันนิบาตกองเบร (League of Cambrai) ใน ค.ศ. ๑๕๐๘ เพื่อต่อต้านเวนิส และกับสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ (Holy League) ใน ค.ศ. ๑๕๑๑ เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส จากนั้นในปีต่อมาพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ ทรงเป็นผู้รวมดินแดนต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรียด้วยการสามารถกอบกู้ดินแดนของราชอาณาจักรนาวาร์ส่วนของสเปนจากราชวงศ์อัลแบร์ (House of Albert) ซึ่งถูกยึดไป

 ใน ค.ศ. ๑๕๑๒ การเรียกชื่อสเปนที่เกิดจากการรวมตัวของกาสตีล อารากอน และนาวาร์ก็เริ่มเป็นที่นิยมใช้กันทั้งที่ความเป็นจริงยังไม่ได้หมายถึงสเปนหรือฮิสปาเนียทั้งหมด (คำว่า สเปน มาจากชื่อภาษาละตินคือ “Hispania” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำฟินิเชียว่า i-shaphan-im อีกต่อหนึ่ง) เมื่อพระเจ้าเฟอร์ดินานด์สวรรคตใน ค.ศ. ๑๕๑๖ สมเด็จพระราชินีนาถควนนาก็ได้สืบมรดกของทั้งราชอาณาจักรอารากอนและกาสตีล แต่เนื่องจากทรงไม่อยู่ในภาวะที่จะปกครองได้ เจ้าชายชาลส์พระราชโอรสซึ่งประทับอยู่ที่ฟลานเดอส์จึงสืบราชสมบัติในพระนาม พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๕๑๖-๑๕๕๖) นับเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน พระองค์เสด็จมาสเปนทางทะเลจากฟลานเดอส์ใน ค.ศ. ๑๕๑๗ สภากอร์เตสของวัลลาโด ซารากอสซา และบาร์เซโลนาต่างยอมรับการเป็นประมุขของพระองค์ร่วมกับพระชนนี แม้ว่าในระยะแรกชาวสเปนไม่ยินดีนักเพราะทรงมีความเป็นชาวเฟลมิชมากกว่าชาวสเปนและราชสำนักก็ฟุ่มเฟือย รวมทั้งใน ค.ศ. ๑๕๑๙ ทรงแสดงพระประสงค์ไนมงกุฎจักรพรรดิของจักรพรรดิแมกซีมีเลียนที่ ๑ (Maximilian I) พระอัยกา (ปู่) อันแสดงว่าทรงนึกถึงประโยชน์ของออสเตรียและรัฐเยอรมันมากกว่าของสเปน แต่ภายหลังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างมากจากสภากอร์เตสแห่งลาโกรูญา (Cortes of La Coruña) จึงสามารถเสด็จไปประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ (Charles V) ที่เมืองอาเคิน (Aachen) ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* รัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ซึ่งดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยนั้น สเปนต้องสู้กับศัตรู ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝรั่งเศส พวกนับถือนิกายลูเทอรัน (Lutheranism) และพวกมุสลิม การทำสงครามกับฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งเป็นสงครามติดพันมาจากรัชสมัยพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ส่วนอีกประการมาจากการแข่งขันส่วนพระองค์กับพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ (Francis I) ของฝรั่งเศสซึ่งมีพระประสงค์ในมงกุฎของจักรวรรดิเช่นกันและการครอบครองดินแดนในคาบสมุทรอิตาลี

 ส่วนที่เกี่ยวกับนิกายลูเทอรันนั้น หลังจากการปฏิรูปศาสนาในรัฐเยอรมันและมีการทำปฏิญญาแห่งเอาส์บูร์ก (Confession of Augsburg) บรรดาเจ้าโปรเตสแตนต์ได้จัดตั้งสันนิบาตชมาลคัลดิก (Schmalkaldic League) ขึ้นเพื่อคุ้มครองอิสรภาพทางการเมืองและศาสนาของพวกตนและใน ค.ศ. ๑๕๔๖ ได้เกิดสงครามชมาลคัลดิก ในปีต่อมา เฟร์นันโด อัลบาเรซ เด โตเลโด ดุ๊กที่ ๓ แห่งเอลบา (Fernando Alvarez de Toledo, 3ʳᵈ duke de Alva) ก็สามารถรบชนะในยุทธการแห่งมืลแบร์ก (Battle of Muhlberg) แต่ในท้ายที่สุด ฝ่ายกองทัพจักรพรรดิชาลส์ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเอาส์บูร์ก (Peace of Augsburg) ใน ค.ศ. ๑๕๕๕ ซึ่งเป็นผลให้เจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ เลือกนับถือนิกายลูเทอรันได้ ระหว่างนั้นจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ก็ทรงเรียกประชุมสภาคาทอลิกที่เมืองเทรนท์ (Trent ค.ศ. ๑๕๔๕-ด๕๖๓)

 การเป็นผู้ปกครองประเทศในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและการนับถือนิกายโรมันคาทอลิก ทำให้จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ต้องนำสเปนเข้าสู่สงครามที่ยืดเยื้อกับพวกมุสลิมซึ่งมีทั้งโจรสลัดที่เป็นภัยคุกคามดินแดนชายฝั่ง ทรงสู้รบกับบาร์บารอสซาที่ ๒ หรือ แคร์ เอด-ดิน (Barbarossa II; Khair ed-Din) คอร์แซร์ชาวแอลจีเรีย ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยความมุ่งมั่นที่จะยึดเมืองตูนิส (Tunis) ให้ได้แต่สเปนไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับแอลเจียส์ (Algiers) ใน ค.ศ. ๑๕๔๑ ในฐานะกษัตริย์สเปนและผู้นำของคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิก ทรงสนับสนุนพวกนักรบ (conquistador) ให้เข้าไปครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอเมริกากลางและภูมิภาคตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และอนุญาตให้ไปสำรวจชายฝั่งของอเมริกาใต้ทั้งหมดรวมทั้งหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใน ค.ศ. ๑๕๒๔ มีการตั้งสภาแห่งอินดีส (Council of the Indies) และใน ค.ศ. ๑๕๒๔ และ ๑๕๒๙ มีการตั้งอุปราชแห่งนิวสเปนและแห่งเปรูตามลำดับ

 ใน ค.ศ. ๑๕๕๖ จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปประทับที่วัดซานเคโรนีโม เด ยุสเต (Monastery of San Jeronimo de Yuste) เจ้าชายฟิลิป (Philip) พระราชโอรสได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ (Philip II ค.ศ. ๑๕๕๖-๑๕๙๘) ได้ทรงครอบครองฟลานเดอส์มิลาน เนเปิลส์ สเปน และอื่น ๆ รวมทั้งดินแดนโพ้นทะเลต่าง ๆ ส่วนอาร์ชดุ๊กเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand) พระอนุชาในจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ก็ได้สืบราชสมบัติของออสเตรีย และตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีก ๒ ปีต่อมา จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ก็สวรรคต ณ ที่ประทับบำเพ็ญธรรมเอสเตรมาดูรัน (Estremaduran) ในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ ถือเป็นยุคทองของสเปน ดินแดนเนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสเปนเพราะเป็นดินแดนที่มีชาวโปรเตสแตนต์อาศัยอยู่จำนวนมาก การมีผู้ปกครองสเปนซึ่งนับถือนิกายโรมันคาทอลิกจึงเป็นปัญหาสำคัญ การลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนา การปกครองอย่างกดขี่ และการเก็บภาษีประชากรท้องถิ่นอย่างหนักจึงทำให้ชาวดัตช์รวมตัวกันก่อการกบฏขึ้นโดยมี วิลเลียม ผู้เงียบขรึม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (William the Silent, Prince of Orange) เป็นผู้นำ ใน ค.ศ. ๑๕๗๙ ได้รวบรวมมณฑลต่าง ๆ ๗ มณฑลทางตอนเหนือเข้าเป็นสหภาพแห่งยูเทรกต์ (Union of Utrecht) และใน ค.ศ. ๑๕๘๖ เนเธอร์แลนด์ประกาศเอกราชจากสเปน ส่วนอีก ๑๐ มณฑลทางตอนใต้หรือเบลเยียมในปัจจุบันซึ่งประชาชนนับถือคาทอลิกยังคงอยู่ใต้อำนาจการปกครองของสเปนต่อไปเรียกว่าเนเธอร์แลนด์ของสเปน (Spanish Netherlands) ดัตช์มีกองเรือที่ทรงพลังที่เรียกว่า “Sea Beggars (Les Gueux)” อันเป็นภัยต่อการค้าทางทะเลของสเปนมาก

 นอกจากนี้ มีการแข่งขันอำนาจระหว่างอังกฤษกับสเปนเมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ ทรงหมดหวังที่จะสานสัมพันธ์กับประมุขของอังกฤษอีกหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถ แมรีที่ ๑ (Mary I ค.ศ. ๑๕๕๓-๑๕๕๘) แห่งอังกฤษพระมเหสีสวรรคตใน ค.ศ. ๑๕๕๘ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) ซึ่งนับถือนิกายแองกลิคันประมุขพระองค์ใหม่ทรงแสดงท่าทีปฏิเสธที่จะอภิเษกสมรสด้วย ทั้งยังสนับสนุนให้เรือของเอกชนโจมตีเรือสินค้าสเปนและอาณานิคมของสเปน ส่วนสเปนเองก็มีนโยบายที่จะยกสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอต (Mary, Queen of Scots ค.ศ. ๑๕๔๒-๑๕๘๗) ที่นับถือนิกายคาทอลิกขึ้นเป็นประมุขของอังกฤษและมีแผนการลับที่จะโค่นอำนาจของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอตถูกสำเร็จโทษใน ค.ศ. ๑๕๘๘ พระเจ้าฟิลิปที่ ๒ จึงทรงจัดกองทัพเรืออามาดาที่มีชื่อเสียงว่าไม่มีใครเอาชนะได้ (Invincible Armada) และกำลังทหารของดุ๊กแห่งปาร์มาเตรียมบุกเกาะอังกฤษจากเมืองท่าดันเคิร์ก (Dunkirk) เมื่อการรบเกิดขึ้น กองเรือสเปนถูกพายุพัดเสียหายและพ่ายแพ้ต่อยุทธวิธีของฝ่ายผู้บัญชาการทหารเรือของอังกฤษ หลังจากนั้นอำนาจทางทะเลของสเปนก็เสื่อมลง

 แม้สมัยปกครองของพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ จะเป็นช่วง สูงสุดของความยิ่งใหญ่ทางการเมืองของสเปน แต่ปัญหาในประเทศด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในก็ยังมีอยู่ในราชวงศ์เองนั้น ดอน การ์โลส (Don Carlos) พระราชโอรสก็ถูกคุมขังด้วยข้อหาวางแผนกบฏต่อพระองค์ และในราชสำนักก็มีกรณีอื้อฉาวหลายเรื่องของอันโตเนียว เปเรซ (Antonio Pérez) เสนาบดีคนสำคัญ เปเรซหนีจากคุกใน ค.ศ. ๑๕๙๑ ไปยังอารากอนและยุยงจนเกิดการลุกฮือขึ้นที่เมืองชารากอสซาแต่ก็ถูกระงับลงได้ใน ค.ศ. ๑๕๙๑ ด้วยการใช้มาตรการทางทหารอย่างรุนแรง และควน เด ลานูซา (Juan de Lanuza) ผู้บริหารสูงสุดของอารากอนก็ถูกประหาร ในรัชสมัยนี้ สเปนได้ผนวกโปรตุเกสด้วยเมื่อพระเจ้าเซบาสเตียน (Sebastian) แห่งโปรตุเกสสวรรคตโดยไม่มีทายาทสายตรงใน ค.ศ. ๑๕๗๘ จึงเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติขึ้น พระเจ้าเฮนรี (Henry ค.ศ. ๑๕๗๘-๑๕๘๐) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยกาได้ขึ้นปกครองช่วงสั้น ๆ จากนั้นโปรตุเกสก็ถูกผนวก ในสมัยกษัตริย์สเปน ๓ องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ได้แก่ พระเจ้าฟิลิปที่ ๓ (Philip III ค.ศ. ๑๕๙๘-๑๖๒๑) พระเจ้าฟิลิปที่ ๔ (Philip IV ค.ศ. ๑๖๒๑-๑๖๖๕) และพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๐๐) สเปนมีความเจริญด้านคิลปะและวรรณกรรม แต่ความถดถอยทางการเมืองยังดำเนินต่อไปใน ค.ศ. ๑๖๔๐ สเปนก็สูญเสียโปรตุเกส

 ในสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน การเป็นมหาอำนาจในยุโรปของสเปนก็สิ้นสุดลง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาขณะมีพระชนมายุเพียง ๔ พรรษา ทำให้การบริหารประเทศต้องขึ้นอยู่กับบุคคลแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากสเปนต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้วยังต้องทำสงครามที่สิ้นเปลืองกับฝรั่งเศส ๓ ครั้ง และยังมีการรบกับพวกโมร็อกโกและอัลจีเรียอีกด้วย เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ สวรรคตโดยไม่มีทายาทสายตรง ออสเตรียและฝรั่งเศสจึงอ้างสิทธิในการสืบราชสมบัติสเปนขึ้น ก่อนสวรรคตพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ทรงถูกโน้มน้าวให้มอบราชบัลลังก์สเปนแก่ฟิลิป ดุ๊กแห่งอองชู (Philip, Duke of Anjou) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) และสมเด็จพระราชินีมารี เตแรส (Marie Thérèse) ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีต่างพระชนนีกับพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ดุ๊กแห่งอองชูจึงได้ขึ้นปกครองสเปนเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๒๔, ๑๗๒๔-๑๗๔๖) แต่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรียต้องการให้ราชบัลลังก์สเปนตกแก่อาร์ชดุ๊ก ชาลส์ ซึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิชาลส์ที่ ๖ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงสืบมาจากพระเจ้าฟิลิปที่ ๓ จึงมีสายสัมพันธ์ทางญาติใกล้กับพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ มากกว่าดุ๊กแห่งอองชู ๑ ชั่วคนปัญหาดังกล่าวได้นำไปสู่สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๓) สงครามสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาอูเทรกท์ ค.ศ. ๑๗๑๓ ซึ่งมีผลให้สเปนไม่เพียงสูญเสียอิทธิพลในยุโรปเท่านั้นยังต้องยอมให้ราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศสปกครองสเปนต่อไปต่อมา สเปนต้องสู้กับออสเตรียในสงครามการสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ (War of Polish Succession ค.ศ. ๑๗๓๓-๑๗๓๕) กับอังกฤษในสงครามใบหูของเจงกินส์ (War of Jenkins’ Ear) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๓๙ และกับออสเตรียในสงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of Austrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) ก่อนหน้านั้น ใน ค.ศ. ๑๗๓๓ สเปนลงนามในสนธิสัญญาแห่งเอสกอเรียลหรือความตกลงแห่งตระกูลฉบับแรก (Treaty of Escorial; First Family Compact) ซึ่งได้รับการยืนยันอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๗๔๓ จึงกลายเป็นความตกลงแห่งตระกูลฉบับที่ ๒ ซึ่งมีผลให้สเปนต้องขึ้นอยู่กับราชวงศ์บูร์บงอย่างสมบูรณ์ ในช่วงสงครามต่าง ๆ สเปนได้เนเปิลส์และซิซิลีคืนมา ใน ค.ศ. ๑๗๓๔ ซึ่งได้ยกให้แก่ดอนการ์โลสแห่งบูร์บง (Don Carlos of Bourbon พระราชโอรสในพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ กับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท ฟาร์เนเซ ต่อมาได้เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ ๓ แห่งสเปน) และได้รับปาร์มาซึ่งยกให้เจ้าชายฟิลิป (Philip) พระราชโอรสอีกองค์ ใน ค.ศ. ๑๗๔๖ พระเจ้าฟิลิปที่ ๕ สวรรคต พระราชทรัพย์และพระราชวังลากรันฮาหรือซานอิลดีเฟนโซ (Palace of La Granja; San lldefenso) ใกล้เมืองเซโกเวีย (Segovia) ที่ทรงสร้างเลียนแบบพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ของฝรั่งเศส ก็ตกแก่พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๖ (Ferdinand VI ค.ศ. ๑๗๔๖-๑๗๕๙) พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีมาเรียลุยซาแห่งซาวอย

 ในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๓ (ค.ศ. ๑๗๕๙-๑๗๘๘) พระอนุชาของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๖ สเปนถูกดึงเข้าสู่สงครามเจ็ดปี (Seven Year’s War ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) โดยร่วมเป็นฝ่ายเดียวกับฝรั่งเศสตามความตกลงแห่งตระกูลฉบับที่ ๓ ค.ศ. ๑๗๖๑ ซึ่งทำให้สิ้นค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเศสยกดินแดนหลุยเชียนา (Louisiana) ให้แก่สเปนตามสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ค.ศ. ๑๗๖๓ ส่วนสเปนต้องเสียมีนอร์กาและฟลอริดา ในสงครามปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๙-๑๗๘๓) ฝรั่งเศสสู้รบกับอังกฤษอีกเมื่อสงครามสิ้นสุดตามสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๗๘๓) สเปนได้มีนอร์กาและฟลอริดาคืนมาแต่ไม่ได้ยิบรอลตาร์ที่เคยเสียให้แก่อังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๑๓ ในทวีปอเมริกาสเปนยังต้องสู้รบกับโปรตุเกสเพื่อแย่งชิงอาณานิคมซากราเมนโต (Colonia del Sacramento ปัจจุบันคือ อุรุกวัย)

 ในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๔ (Charles IV ค.ศ. ๑๗๘๘-๑๘๐๘) พระราชโอรสในพระเจ้าชาลส์ที่ ๓ ซึ่งไม่สนพระทัยในการบริหารประเทศเท่าพระราชบิดา สเปนเข้าไปพัวพันในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary War)* และพ่ายแพ้ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ต้องตกลงทำสนธิสัญญาแห่งบาเซิล (Treaty of Basel) ใน ค.ศ. ๑๗๙๖ สเปนยังลงนามกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาซานอิลดีเฟนโซตามแนวของความตกลงแห่งตระกูลที่ผ่านมา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๖ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ทรงใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Conti-nental System)* เพื่อพิชิตอังกฤษด้วยการปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยห้ามประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปค้าขายกับอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ยึดครองเขตเมืองท่าโปรตุเกสใน ค.ศ. ๑๘๐๘ และส่งทหารเข้าบุกสเปนและครอบครองกรุงมาดริด จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงแต่งตั้งโชแซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)* พระเชษฐาขึ้นเป็นกษัตริย์ (ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๓) แทนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๗ (Ferdinand VII) แห่งสเปนซึ่งถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามคาบสมุทร (Peninsular War)* พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๗ จึงกลับมาครองบัลลังก์สเปนอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๑๔ แต่ทรงปฏิเสธที่จะรับรองรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๒ ซึ่งให้อำนาจนิติบัญญัติแก่สภากอร์เตสและจำกัดอำนาจกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พระราชประสงค์ที่จะปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำให้กองทัพที่มีราฟาเอล เดล รีเอโก อี นูเญซ (Rafael del Riego y Núñez) เป็นผู้นำก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๒๐ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเสรีนิยม การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในสเปนทำให้ประเทศมหาอำนาจในยุโรปที่ได้ทำข้อตกลงควานร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* จัดการประชุมใหญ่ขึ้นที่เมืองเวโรนา (Verona) ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ แต่อังกฤษซึ่งมีผลประโยชน์ในการค้ากับอาณานิคมสเปนอยู่ในทวีปอเมริกาไม่เข้าร่วมประชุมโดยอ้างว่าไม่ต้องการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่นที่ประชุมตกลงให้ฝรั่งเศสเข้าปราบปรามการปฏิวัติในสเปนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๗ จึงกลับครองบัลลังก์สเปนอีกครั้งจนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๓๓

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๗ ทรงฟื้นจารีตเดิมที่ให้สตรีมีสิทธิสืบราชสมบัติ และมีผลให้พระราชธิดาขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ ๒ (Isabella II ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๖๘) แต่ฝ่ายตรงข้ามหรือต่อมา เรียกว่า พวกการ์ลิสต์ (Carlist) เห็นว่าราชบัลลังก์ควรเป็นของดอน การ์โลส (Don Carlos) พระปิตุลา (อา) มากกว่า ปัญหาการสืบบัลลังก์มีส่วนทำให้รัชสมัยของพระนางเป็นสมัยแห่งความยุ่งยากเพราะตั้งแต่ทรงพระเยาว์ก็ต้องมีผู้สำเร็จราชการจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๘๔๓ ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ กลุ่มการ์ลิสต์ได้ก่อกบฏขึ้นเรียกว่า สงครามการ์ลิสต์ครั้งที่ ๑ (First Carlist War) แต่ล้มเหลว นอกจากนี้ยังเกิดความไม่สงบทางการเมืองและการแทรกแซงการบริหารประเทศโดยเหล่านายพลบ่อยครั้ง ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ ทหารสเปนจึงเข้ายึดเมืองเตตวน (Tetuan) ในโมร็อกโกหลังจากพวกชนเผ่ากระทำการที่คุกคามเมืองเซวตาของสเปนในแอฟริกาเหนือ และตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๘ ความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นจนเรียกว่า สมัยแห่งความยุ่งยาก (Period of Troubles ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๗๔) มีการปฏิวัติเกิดขึ้นจนสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ ๒ ต้องเสด็จหนีออกนอกประเทศใน ค.ศ. ๑๘๖๘ มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่สมัยของผู้สำเร็จราชการระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๘๗๑


ของดุ๊ก เด ลาตอเร (Duke de la Torre) นายพลควน ปริม อี ปรัตส์ (Juan Prim y Prats) และมีการเลือกเฟ้นสมาชิกของราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรปเพื่อเป็นกษัตริย์ของสเปนรวมถึงสมาชิกของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฝรั่งเศสกับปรัสเซียต้องก่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ และนำไปสู่การจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ขึ้น ในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ของสเปน อามาเดอุส ดุ๊ก ดาออสตา (Amadeus, Duke d’Aosta) พระราชโอรสของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emmanuel II ค.ค. ๑๘๔๙-๑๘๗๘)* แห่งอิตาลีได้รับการอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม สมัยของพระเจ้าอามาเดอุสดำเนินไปเพียง ๒ ปี (ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๗๓) เท่านั้น ทั้งฝ่ายการ์ลิสต์และฝ่ายนิยมระบอบสาธารณรัฐต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและเมินเฉยต่อการแต่งตั้งต่าง ๆ พระเจ้าอามาเดอุสจึงทรงสละราชสมบัติ ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ และมีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐสเปนขึ้นเป็นครั้งแรกแต่ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ ฝ่ายทหารได้สนับสนุนให้พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาขึ้นครองราชย์มีพระนามว่าพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๒ (Alfonso XII ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๘๕) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๖ ยังเกิดสงครามการ์ลิสต์ครั้งที่ ๒ ขึ้นด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๗๙ พระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๒ ทรงอภิเษกสมรสกับมาเรีย คริสตินา (Maria Christina) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก-ลอร์เรนซึ่งได้ให้กำเนิดพระราชโอรสใน ค.ศ. ๑๘๘๖ หลังจากพระองค์สวรรคต

 ในระยะแรกของรัชสมัยพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๓๑)* สมเด็จพระราชินีมาเรียคริสตินาทรงเป็นผู้สำเร็จราชการระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๙๐๒ เป็นช่วงที่สเปนเสื่อมลงและมีสงครามกับต่างประเทศ ทั้งยังต้องไปปราบกบฏในคิวบาและฟิลิปปินส์อยู่หลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ การโจมตีทำลายเรือยู. เอส. เอส. มารีน (U.S.S. Marine) ที่อ่าวฮาวานาในคิวบา ได้นำไปสู่สงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกา สเปนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการรบทางทะเลที่อ่าวมะนิลา (Manila) และเมืองซานติอาโก เด คิวบา (Santiago de Cuba) เมื่อสงครามยุติลงและมีการทำสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. ๑๘๙๘ สเปนต้องสูญเสียอาณานิคมสุดท้ายในทวีปอเมริกาและทวีปเอเชีย ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ พระเจ้าอัลฟองโซซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้รับการประกาศว่าทรงบรรลุนิติภาวะโดยทรงเป็นกษัตริย์ตามระบอบรัฐธรรมนูญ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ทรงถูกลอบปลงพระชนม์พร้อมกับเจ้าสาว ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ และ ๑๙๑๗ ได้เกิดการนัดหยุดงานครั้งใหญ่เพื่อการปฏิวัติ นอกจากนี้ ชนเผ่าเบอร์เบอร์ในโมร็อกโกของสเปนก็ได้พยายามก่อกบฏซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายสเปนที่เมืองแอนนวล (Annual) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ความไม่สงบทางการเมืองต่าง ๆ ทำให้นายพลมีเกล ปรีโม เด รีเบรา อี ออร์โบเนคา (Miguel Primo de Rivera y Orboneja) ก่อรัฐประหารใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และสถาปนาระบอบเผด็จการทหารด้วยความยินยอมของพระประมุขแต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ระบอบนี้ก็ถูกแทนที่โดยระบอบเผด็จการของพลเรือน อย่างไรก็ตามต่อมาในวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๑ ได้มีการยกเลิกระบอบกษัตริย์และจัดตั้งสาธารณรัฐสเปนเป็นครั้งที่ ๒ และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นโดยมี นีเซโต อัลกาลา-ซาโมรา (Niceto Alcalá-Zamora) เป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี แต่ในเดือนต่อมาก็เกิดการประท้วงของประชาชนซึ่งนำไปสู่การบุกที่ทำการหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษนิยม มีการเผาและปล้นสะดมสถานที่ของศาสนจักรหลายแห่ง

 รัฐบาลเฉพาะกาลจัดการเลือกตั้งในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๑ พรรคสังคมนิยมได้ ๑๑๔ ที่นั่ง พรรคพันธมิตรสายกลางซ้ายได้ ๑๔๕ ที่นั่ง ส่วนพรรคนิยมกษัตริย์ได้เพียง ๑ ที่นั่ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นแต่ก็เกิดการนัดหยุดงานครั้งย่อย ๆ บ่อยครั้ง ต่อมา ในวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลาร่าง ๕ เดือน โดยให้สิทธิพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ไม่นำสงครามมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของประเทศ ไม่มีศาสนาทางการยกเลิกการใช้ยศและบรรดาศักดิ์ ทั้งหญิงและชายที่อายุเกิน ๒๓ ปีมีสิทธิเลือกตั้ง มีการศึกษาแบบให้เปล่าในระดับต้น แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร และให้รัฐเป็นผู้จัดการด้านการศึกษาแทนศาสนจักร ยกเลิกอภิสิทธิ์และเงินสนับสนุนบางประเภทที่ให้แก่ศาสนานิกายต่าง ๆ ใช้ระบบสภาเดียวซึ่งเรียกว่า สภากอร์เตส มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทุก ๔ ปี มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าคณะรัฐบาลซึ่งมีการเลือกตั้งทุก ๖ ปี และประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี อัลกาลา-ซาโมราได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ และมานูเอล อาซาญา (Manuel Azaña) หัวหน้าพรรคสังคมนิยมและกลุ่มผสมปีกซ้ายได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

 สาธารณรัฐใหม่มีความก้าวหน้าหลายด้าน ยกเว้นเรื่องการปฏิรูปที่ดินและการจัดการกับการประท้วงของฝ่ายค้านจึงทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลน้อยลง มีการนัดหยุดงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๓ ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๓๔ เกิดการจลาจลโดยมีศูนย์กลางในเขตอัสตูเรียส ประจวบกับเกิดการก่อกบฏในกาตาโลเนียซึ่งมีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก อาซาญาอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งลาออกใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ถูกจับและถูกจำคุกด้วยข้อหากบฏ แต่ไม่นานก็ได้รับการตัดสินให้พ้นผิด มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหลายชุดในที่สุดเมื่อสภากอร์เตสถึงทางตัน ประธานาธิบดีชาโมราจึงยุบสภาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ ฝ่ายซ้ายได้ ๒๕๖ ที่นั่ง ฝ่ายขวาได้ ๑๖๕ ที่นั่ง และพรรคสายกลางได้ ๕๒ ที่นั่ง อาซาญาซึ่งมีประชาชนเป็นแนวร่วมได้ชัดตั้งรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายขึ้น และเริ่มโครงการปฏิรูปสายกลาง แต่ความรุนแรงก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ซาโมราถูกขับออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อพวกหัวรุนแรงกล่าวหาว่าเขายุบสภาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาซาญาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี เหตุการณ์รุนแรง ในสเปนยังคงดำเนินต่อไปโดยกลุ่มและองค์กรติดอารุธต่าง ๆ ที่สำคัญคือ กลุ่มฟาลังเคเอสปาโญลา (Falange Española) ซึ่งเป็นกลุ่มฟาสซิสต์ การลอบสังหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่การลอบสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยมในเดือนกรกฎาคมทำให้กองทัพเห็นเป็นโอกาสร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษนิยมวางแผนโค่นล้มรัฐบาล ขณะเดียวกันนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก อี บาอามอนเด (Francisco Franco y Bahamonde)* เสนาธิการทหารซึ่งมีแนวคิดขวาจัดที่ก่อนหนัานี้ถูกตัวส่งไปหมู่เกาะคะแนรีเพื่อกันให้ออกจากการเมืองได้เดินทางกลับสเปน และเป็นผู้นำของพวกชาตินิยมต่อต้านรัฐบาล กองกำลังชาตินิยมสามารถยึดเมืองอัลเคซีรัส (Algeciras) กาดิซ และเซบีย์ได้ ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เกิดการลุกฮือของค่ายทหารต่าง ๆ ทั่วสเปนตามที่วางแผนไว้อย่างดี แต่กองกำลังอาสาของรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นอย่างฉุกละหุกก็สามารถยับยั้งพวกกบฏได้ และเข้าคุมกองทัพและคลังอาวุธส่วนใหญ่ไว้ได้ อย่างไรก็ดี การลุกฮือได้ลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* ที่ยืดเยื้อถึง ๓ ปี

 ในระยะแรกของสงคราม รัฐบาลสาธารณรัฐดำเนินการกับปัญหาการลุกฮือโดยลือเป็นเพียงการก่อความวุ่นวายระดับท้องถิ่นและเป็นการชัวคราวเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ประธานาธิบดีอาชาญาจึงพยายามจัดตั้งรัฐบาลสายกลางขึ้น แต่รัฐบาลมักบริหารประเทศโดยขึ้นกับผู้นำ


ทางทหาร ขณะเดียวกันก็มีการแทรกแซงจากต่างชาติ สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ฝ่ายรัฐบาลหรือที่เรียกว่าพวกลอยัลลิสต์ (Loyalist) ขณะที่อิตาลีและเยอรมนีสนับสนุนฝ่ายชาตินิยมซึ่งยึดบางส่วนของกรุงมาดริดได้จนรัฐบาลตองย้ายไปเมืองบาเลนเซียในต้นเดือนพฤศจิกายนกองพลน้อยนานาชาติ (International Brigades) ที่ประกอบด้วยอาสาสมัครจากหลายประเทศได้สมทบกับฝ่ายรัฐบาลในการกอบกู้กรุงมาดริดในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๓๗ ประมาณว่ามีทหารอิตาลี ๗๐,๐๐๐ คนและทหารช่างเทคนิคเยอรมันอีกหลายพันคนได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายชาตินิยม

 กองกำลังของทั้ง ๒ ฝ่ายหยุดการต่อสู้ในฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๗ แต่เมื่อถึงฤดูร้อนฝ่ายชาตินิยมมุ่งสู่มณฑลต่าง ๆ ในเขตบาสก์ (Basque) บิลเบา เกร์นีกา (Guernica) ซันตันเดร์ (Santander) ถูกยึดได้ตามลำตับจนกระทั่งคีคอง (Gijon) ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายทางเหนือของฝ่ายรัฐบาลก็ถูกยึดครอง ทั้ง ๒ ฝ่ายใช้ความทารุณในการสู้รบฝ่ายรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าสังหารนักบวชและศัตรูทางการเมืองนับร้อยคน ส่วนฝ่ายชาตินิยมทิ้งระเบิดถล่มและยิงกราดพลเรือนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เมืองเกร์นีกาต้องเผชิญกับความโหดเหี้ยมที่สุด แต่การก่อจลาจลจองพวกหัวรุนแรงและฝ่ายซ้ายในบาร์เซโลนาเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ บีบบังคับให้รัฐบาลตั้ง ควน เนกรีน (Juan Negrfn)* เป็นนายกรัฐมนตรีแทนลาร์โก กาบัลเยโร (Largo Caballero) ในเดือนตุลาคม สมาชิกสภากอร์เตสจำนวน ๑๘๕ คน จาก ๔๕๐ คน ประชุมที่เมืองบาเลนเซียและตัดสินใจย้ายที่ทำการรัฐบาลไปยังบาร์เซโลนา แต่ต่อมาไม่นานกองทัพรัฐบาลก็เริ่มรุกกลับจนยึดเมืองเตรูเอล (Teruel) คืนได้ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๓๘ กองกำลังชาตินิยมเป็นฝ่ายรุกบ้างโดยมีทั้งกำลังพลและยุทธปัจจัยที่มากกว่า ทำให้ฝ่ายรัฐบาลซึ่งด้อยทั้งกำลังและยุทธปัจจัยต้องเพิ่มความพยายามเป็น ๒ เท่า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการถูกโจมตีได้

 ปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เมืองบาร์เซโลนา ถูกระดมยิงและทิ้งระเบิดทั้งจากทางบก ทะเล และอากาศนายกรัฐมนตรีเนกรีนเดินทางไปขอความช่วยเหลือใน



กรุงปารีสและที่อื่น ๆ แต่ไม่สำเร็จ นครบาร์เซโลนาจึงถูกยึดครองในเดือนนั้น และไม่กี่วันต่อมาการต่อต้านของฝ่ายรัฐบาลในกาตาโลเนียก็สิ้นสุดลง เนกรีนซึ่งยังมีสภากอร์เตสที่มีจำนวนสมาชิกลดลงเรื่อย ๆ สนับสนุนปฏิญาณว่าจะไม่ยอมแพ้แต่อย่างไรก็ดี ชาวมาดริดและบาเลนเซียซึ่งขาดทั้งยุทธปัจจัยและกำลังใจก็ต้องยอมจำนน ก่อนยอมแพ้กรุงมาดริดได้กลายเป็นสมรภูมิแห่งการนองเลือดเพราะพวกคอมมิวนิสต์ ตัดสินใจสู้ต่อและก่อกบฏต่อคณะทหาร ฝ่ายชาตินิยมเรียกร้องให้รัฐบาลยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ฝ่ายชาตินิยมเข้ายึดครองกรุงมาดริดอย่างสมบูรณ์ สงครามกลางเมืองที่ขมขื่นและยาวนานถึง ๓ ปีก็จบสิ้นลง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ก่อนหน้านั้น ๑ เดือน อังกฤษและฝรั่งเศสได้รับรองรัฐบาล ชาตินิยมที่มีนายพลฟรังโกเป็นผู้นำซึ่งเท่ากับทำลายความหวังของฝ่ายรัฐบาลหรือพวกลอยัลลิสต์จนหมดสิ้น ในเดือนเมษายน สหรัฐอเมริกาก็รับรองรัฐบาลของนายพลฟรังโกด้วย

 ในการรวมอำนาจให้เป็นปึกแผ่น ฟรังโกกำหนดให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคฟาลังเค (Falange; Falange Espanola Tradicionalista)* ซึ่งมีนโยบายชาตินิยม ขยายจักรวรรดิ ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเชิดชูนิกายโรมันคาทอลิก เขาเป็นทั้งหัวหน้าพรรคผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประมุขของประเทศ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาประกาศนโยบายเป็นกลางในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ อย่างไรก็ดี เมื่อเยอรมนีโจมตีโซเวียตกลางปีต่อมา พวกฟาลังเคสเปนก็ระดมกองพลใหญ่สีน้ำเงิน (Blue Division) ร่วมกับเยอรมนีโจมตีรัสเซียด้วยการที่ฝ่ายอักษะตกเป็นฝ่ายตั้งรับในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๔ และการถูกแรงกดดันทางการทูตจากฝ่ายพันธมิตร อีกทั้งการที่สหรัฐอเมริกายุติการส่งน้ำมันให้สเปนทำให้ฟรังโกต้องลดการช่วยฝ่ายอักษะลง เมื่อสงครามโลกยุติ สหประชาชาติ (United Nations)* ได้ลงมติไม่ให้สเปนเข้าเป็นสมาชิกจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๕๐ สมัชชาใหญ่จึงอนุญาตให้สเปนเข้าร่วมในองค์การชำนัญพิเศษบางองค์การของสหประชาชาติ แต่เมื่อสมาชิกหลายประเทศเห็นว่าสเปนเป็นปราการสำคัญในการต้านการแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ สเปนจึงได้เป็นประเทศสมาชิกอย่างสมบูรณ์ ก่อนหน้านั้น ๒ ปี สหรัฐอเมริกาและสเปนก็ได้ลงนามในความตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาจัดตั้งฐานทัพเรือใกล้เมืองกาดิซ และฐานทัพอากาศใกล้เมืองเซบีย์ มาดริด และซารากอสซา เพื่อเป็นการตอบแทนที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่สเปน ส่วนภายในประเทศนั้นเหตุการณ์ที่สำคัญคือใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ฟรังโกประกาศว่าระบอบกษัตริย์ที่สิ้นสุดไปใน ค.ศ. ๑๙๓๑ จะได้รับการฟื้นฟูใหม่เมื่อเขาเสียชีวิตหรือเกษียณจากการเป็นประมุขรัฐ บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับเลือกจากสภากอร์เตส เว้นแต่ว่าเขาจะเสนอชื่อผู้สืบต่อเป็นกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการเอง

 ในทศวรรษ ๑๙๖๐ สเปนเริ่มพัฒนาและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ เข้ามาจัดทำแผนรักษาเสถียรภาพ (Stabilization Plan) การลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีตะวันตก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งเพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดึงดูดลูกค้าจากยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งราคาไม่สูง นอกจากนี้ ผู้อพยพจากสเปนไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนีตะวันตก และฝรั่งเศสซึ่งต้องการแรงงานไร้ทักษะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๙-๑๙๗๔ ซึ่งมีจำนวนถึง ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน ได้ส่งเงินกลับสู่ประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของสเปนขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐-๑๙๗๔ เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ ๖๖ ต่อปี ซึ่งจัดว่าเร็วกว่าทุกแห่งยกเว้นญี่ปุ่น สเปนจึงเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมมีรายได้หลักจากสินค้าและการบริการแทนเกษตรกรรม และดึงดูดให้พลเมืองจากโลกที่สามอพยพเข้าไป

 ในด้านนโยบายต่างประเทศ สเปนพยายามเข้าเป็นสมาชิกในองค์การตลาดร่วมยุโรป (Common Market) แต่ก็ถูกปฏิเสธหลายครั้ง สเปนจึงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศสมาชิกตลาดร่วมยุโรปโดยผ่านข้อตกลงพิเศษหลายฉบับ ส่วนกับอังกฤษที่อยู่นอกตลาดร่วมยุโรปเช่นกันในช่วงแรก ๆ การค้าก็ดำเนินเรื่อยมาแม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับยิบรอลตาร์ นายพลฟรังโกยังประกาศความเป็นมิตรต่อชาติอาหรับที่กำลังขัดแย้งกับอิสราเอล สเปนยอมรับเอกราชของอีเควตอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ และตามสนธิสัญญาเฟซ (Fez) ค.ศ. ๑๙๖๙ สเปนได้มอบเขตอิฟนี (Territory of Ifni) คืนให้แก่โมร็อกโกโดยยังคงรักษาเซวตาและเมลียาไว้ ต่อมาตามข้อตกลง ค.ศ. ๑๙๗๕ ก็ให้โมร็อกโกและมอริตาเนีย (Mauritania) ร่วมกันปกครองสแปนิชสะฮารา (Spanish Sahara)

 ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ฟรังโกเสนอให้ ควน การ์โลส (Juan Carlos) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* พระราชนัดดาในพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ เป็นผู้สืบตำแหน่งประมุขของประเทศและได้รับอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งสเปน (Prince of Spain) ทรงทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐชั่วคราว ๒ ครั้งในช่วงที่ฟรังโกล้มป่วยใน ค.ศ. ๑๙๗๔ และ ค.ศ. ๑๙๗๕ และเมื่อฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๕ เจ้าชายควน การ์โลสก็ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าควน การ์โลสที่ ๑ หลังจากนั้นสเปนก็เริ่มปฏิรูปประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยใน ค.ศ. ๑๙๗๖ มีการยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมือง ในปีต่อมามีการจัดการเลือกตั้งที่เสรีครั้งแรก นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๖ พรรคสหภาพแห่งประชาธิปไตยสายกลางหรือยูซีดี (Union de Centro Democrático-UCD) ได้ที่นั่งส่วนใหญ่ สภากอร์เตสใหม่ซึ่งประกอบด้วย ๒ สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการรับรองในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ ซึ่งระบุว่าสเปนเป็นประเทศสังคมประชาธิปไตย มีกษัตริย์ในระบบสืบสันตติวงศ์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ พระเจ้าควน การ์โลสทรงเป็นทั้งประมุข ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภาป้องกันสูงสุด สเปนยึดหลักอิสรภาพ ยุติธรรม เสมอภาคและพหุนิยมทางการเมือง ภาษาราชการมี ๔ ภาษา คือ กัสติเลียน กาตาลัน กัลเยโกหรือกาลิเชียน และบาสก์หรือเอวสการา (Euskara)

 ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ยังคงอยู่คือ ภูมิภาคเก่าแก่ต่าง ๆ ต่างพยายามขอสิทธิการปกครองตนเองในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ กฎหมายให้สิทธิปกครองตนเองแก่กาตาโลเนียและบาสก์ได้ผ่านการลงประชามติโดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น แต่รัฐบาลไม่เห็นชอบกับการลงประชามติในทำนองเดียวกันของเขตอันดาลูเซียในปีต่อมา เพราะเกรงว่าจะทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอ อย่างไรก็ดี พวกหัวรุนแรงในเขตบาสก์ก็ยิ่งต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ จึงมีการก่อการร้ายขององค์การเพื่อบ้านเกิดและเสรีภาพของบาสก์หรืออีทีเอ (Basque Homeland and Liberty; Euskadi ta Askatasuna-ETA) อยู่เนือง ๆ เช่น การใช้ระเบิดสังหารพลเรือเอก ลูอิส การ์เรโร บลังโก (Luis Carrero Blanco) นายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ในที่สุดเมื่อถึง ค.ศ. ๑๙๘๓ ประชาคมต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๗ แห่งก็ได้สิทธิปกครองตนเอง (autonomous communities) หลังจากมีการลงประชามติในแต่ละแห่ง สเปนจึงมีการปกครองในลักษณะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นโดยแต่ละเขตมีสภาของตนเอง อย่างไรก็ดี อำนาจในการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีระดับแตกต่างกันไป

 ช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองยังไม่มั่นคง ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๑ ขณะที่สภากำลังจะลงมติรับรองรัฐบาลใหม่ พันโท อันโตเนียว เตเคโร โมลีนา (AntonioTejero Molina) ได้ก่อรัฐประหารโดยนำสมาชิกของกองกำลังพลเรือนส่วนหนึ่งเข้าไปจับสมาชิกสภา ๓๕๐ คน เป็นตัวประกัน พลโท ไคเม มีลานส์ เดล บอช (Jaime Milans del Bosch) ผู้บัญชาการทหารแห่งบาเลนเซียก็ประกาศภาวะฉุกเฉินและส่งรถถังลาดตระเวนในตัวเมือง แม้จะมีนายทหารอาวุโสหลายคนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ รวมทั้งคนที่ใกล้ชิดราชสำนักแต่คณะเสนาธิการทหาร ตำรวจ และสมาชิกกองกำลังพลเรือนส่วนใหญ่ปฏิเสธ ที่จะสนับสนุน พระเจ้าควน การ์โลสทรงเข้าแทรกแซงและดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างฉับพลันโดยทรงได้รับคำปฏิญาณแสดงความภักดีจากผู้บัญชาการทหารอื่น ๆ จนทำให้การกบฏสิ้นสุดลงในวันรุ่งขึ้น พันโท เตเคโรยอมแพ้ บรรดาสมาชิกสภาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจับกุมอยู่ ๑๘ ชั่วโมงโดยไม่มีใครถูกทำร้าย ภายหลังเหตุการณ์นายทหารกว่า ๓๐ คนถูกดำเนินคดี

 หลังการกบฏ สเปนก็มีพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งสเปน (Spanish Socialist Workers’ Party-PSOE) บริหารระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒-๑๙๙๖ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนจากระบอบฟรังโกอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลชุดแรกที่พรรคนี้จัดตั้งไม่มีรัฐมนตรีที่เคยมีตำแหน่งสมัยฟรังโกร่วมอยู่ด้วย พรรคสังคมนิยมของสเปนได้ละทิ้งอุดมการณ์มาร์กซิสต์และรับนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการตลาด ต้องการลดภาวะเงินเฟ้อ และพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้ทันสมัยซึ่งมาตรการต่าง ๆ นั้นทำให้สหภาพแรงงานขุ่นเคืองใจพรรคสังคมนิยมพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๖ เมื่อพบว่าบุคคลในรัฐบาลหลายคนเกี่ยวข้องกับหน่วยสังหารที่ตั้งขึ้นมาปราบปรามกลุ่มที่ต้องการแยกดินแดน พรรคแนวอนุรักษนิยมจึงได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ โคเซ มาเรีย อัซนาร์ (José María Aznar) จากพรรคประชาชน (Popular Party) เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ เขาเป็น ๑ ใน ๘ ผู้นำยุโรปที่สนับสนุนให้สหรัฐอเมริกายื่นคำขาดต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) แห่งอิรักให้สละอำนาจในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ สเปนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดที่เกาะอะโซร์ส (Azores) และมีการออกแถลงการณ์ร่วมของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ของสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ (Tony Blair)* ของอังกฤษและอัซนาร์ประณามการปกครองของซัดดัม ฮุสเซนและสนับสนุนให้ใช้กำลังทหารหากจำเป็น หลังสหรัฐอเมริกาโจมตีอิรักอัซนาร์ก็เสนอว่าสเปนจะร่วมในกองกำลังรักษาความสงบและหน่วยงานด้านมนุษยธรรมในอิรัก ในเดือนกรกฎาคม ทหารสเปนจำนวน ๑,๓๐๐ คน ก็ถูกส่งไปอิรักทั้ง ๆ ที่ชาวสเปนร้อยละ ๙๐ เห็นว่าสหรัฐอเมริกากระทำไม่ถูก เช้าวันที่ ๑๑ มีนาคม ปีต่อมา เกิดเหตุรถไฟ ๓ ขบวนถูกระเบิด ๑๐ ลูกขณะกำลังแล่นนำผู้โดยสารไปทำงานในกรุงมาดริด มีผู้เสียชีวิต ๑๙๑ คน และบาดเจ็บ ๑,๔๐๐ คน สเปนต้องประกาศไว้ทุกข์ ๓ วัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวบาสก์หรืออีทีเอ ชาวสเปน ๒ ล้านคน เดินขบวนในกรุงมาดริดประณามการใช้ความรุนแรง แต่ต่อมารัฐบาลก็ถูกกดดันเมื่อหลักฐานบ่งชี้ว่าการระเบิดเกี่ยวข้องกับขบวนการของอุซามะ บิน ลาดิน (Usama bin laden) ดังนั้น การเลือกตั้งในวันที่ ๑๔ มีนาคม พรรคสังคมนิยมจึงได้ชัยชนะ โคเซ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร (José Luis Rodriguez Zapatero) ทนายความหนุ่มหัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี และกระทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงทันทีโดยการประกาศว่าสเปนจะถอนทหารออกจาก อิรักโดยเร็วที่สุด

 ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากชาวสเปนจะหวาดผวากับการก่อการร้ายของชาวมุสลิมหัวรุนแรงแล้วสเปนยังต้องเผชิญกับปัญหาการก่อความรุนแรงของอีทีเอซึ่งสังหารผู้คนไปกว่า ๘๐๐ คนตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๘ มีผลให้รัฐบาลสเปนต้องร่วมมือกับฝรั่งเศสและแอลจีเรียอย่างใกล้ชิด (สองประเทศนี่เป็นที่หลบภัยของสมาชิกอีทีเอ) อย่างไรก็ดี ชาวบาสก์ล่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ ความรุนแรง และอีทีเอก็ได้ประกาศหยุดยิงอย่างถาวรโดยให้มีผลนับแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ นอกจาก พวกบาสก์แล้ว ยังมีกลุ่มชาตินิยมในกาตาลันและกาลีเซียอีกที่ใช้วิธีการก่อการร้าย

 สเปนมีนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องการมีส่วนร่วมในเวที ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการเชิดชูสถานะของประเทศและทั้งเอื้ออำนวยให้แก่การพัฒนาประเทศ สเปนได้เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ ประชาคมยุโรป (European Community)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ สหภาพยุโรปตะวันตก (Western European Union-WEU) ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ และใน ค.ศ. ๑๙๙๒ สเปนก็จัดทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาความสงบแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรกในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ก็ร่วมกับกองกำลังนาโตสู้กับยูโกสลาเวียและรับผู้ลี้ภัยชาวคอซอวอ (Kosovo) จำนวน ๑๐,๐๐๐ คน ทั้ง ๆ ที่สเปนก็มีปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ โดยส่วนใหญ่มาจากลาตินอเมริกาและแอฟริกาตอนเหนือ

 ในด้านการต่างประเทศนั้น สเปนรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองทำความตกลงป้องกันร่วมกันทำให้สหรัฐอเมริกาได้สิทธิใช้ฐานทัพในสเปน และกับสหภาพยุโรปซึ่งสเปนตอบรับชั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปด้วยดี เช่น เป็นประเทศแรก ที่ใทัมีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๒๐๐๕ การพยายามเร่งรัดให้ประเทศมีความพร้อมในการใช้เงินสกุลยูโร (Euro)* สเปนยังดำเนินนโยบายให้เป็นที่รู้จักโดยใน ค.ศ. ๑๙๙๒ สเปนได้จัดงานเอกซ์โป’๙๒ ที่เมืองเซบีย์ และกีฬาโอลิมปิกที่เมืองบาร์เซโลนา ทีมฟุตบอลของสเปน (เรอัลมาดริดและบาร์เซโลนา) ก็เป็นที่รู้จักเลื่องลือในหมู่ผู้นิยมกีฬาฟุตบอลรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในสเปนจึงสะท้อนความสำเร็จของประเทศได้เป็นอย่างดี รายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน ค.ศ. ๒๐๐๒ คิดเป็นร้อยละ ๖๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และแรงงานร้อยละ ๖๒.๙ อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ นักท่องเที่ยวในปีดังกล่าวมีจำนวนถึง ๔๘.๗ ล้านคน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ สเปนซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัดได้ทำให้ชาวโลกประหลาดใจจากการออกกฎหมายยอมรับการสมรสของพวกเพศเดียวกันในต้นทศวรรษ ๒๐๑๐ สเปนเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการตัดลดโครงการต่าง ๆ และจัดทำงบประมาณสมดุล ตลอดจนการลดจำนวนข้าราชการโดยให้เกษียณก่อนกำหนด ขณะเดียวกันก็วางโครงการปฏิรูปแรงงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก.



คำตั้ง
Spain, Kingdom of
คำเทียบ
ราชอาณาจักรสเปน
คำสำคัญ
- กลุ่มฟาลังเคเอสปาโญลา
- กาบัลเยโร, ลาร์โก
- การปฏิรูปศาสนา
- การ์เรโร บลังโก, พลเรือเอก ลูอิส
- การ์โลส, ควน
- ควนนา, อินฟานตา
- ดาออสตา, อามาเดอุส ดุ๊ก
- เด ลาตอเร, ดุ๊ก
- ตลาดร่วมยุโรป
- ตีโต
- เตเคโร โมลีนา, พันโท อันโตเนียว
- เตเคโร, อันโตเนียว
- ทาสติดที่ดิน
- นิกายคลูนิแอก
- นิกายลูเทอรัน
- นิกายอาเรียน
- นิกายแองกลิคัน
- เนกรีน, ควน
- เนเธอร์แลนด์ของสเปน
- แบลร์, โทนี
- โบนาปาร์ต, โชแซฟ
- ปฏิญญาแห่งเอาส์บูร์ก
- ประมวลกฎหมายแห่งฮวสกา
- ปริม อี ปรัตส์, ควน
- ปรีโม เด รีเบรา อี ออร์โบเนคา, มีเกล
- เปเรซ, อันโตเนียว
- พรรคประชาชน
- พรรคฟาลังเค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งสเปน
- พรรคสหภาพ
- พรรคสหภาพแห่งประชาธิปไตยสายกลางหรือยูซีดี
- พรรคสังคมนิยม
- พวกการ์ลิสต์
- พวกลอยัลลิสต์
- ฟรังโก อี บาอามอนเด, ฟรันซิสโก
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- ฟัว, แชร์แมน เดอ
- มาเรีย คริสตินา
- แมรีที่ ๑, สมเด็จพระราชินีนาถ
- ยุทธการที่เมืองตูร์
- ยุทธการแห่งนาวัส เด โตโลซา
- ยุทธการแห่งมืลแบร์ก
- ยูโกสลาเวีย
- เยอรมนีตะวันตก
- ระบบภาคพื้นทวีป
- ระบอบฟิวดัล
- รีเบรา, ปรีโม เด
- รีเอโก อี นูเญซ, ราฟาเอล เดล
- โรดรีเกซ ซาปาเตโร, โคเซ ลุยส์
- ลานูซา, ควน เด
- ศาลศาสนา
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามการ์ลิสต์ครั้งที่ ๑
- สงครามการสืบราชบัลลังก์โปแลนด์
- สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย
- สงครามคาบสมุทร
- สงครามเจ็ดปี
- สงครามใบหูของเจงกินส์
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามพิวนิก
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญากรานาดา
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญาเฟซ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาสันติภาพแห่งเอาส์บูร์ก
- สนธิสัญญาแห่งเอสกอเรียลหรือความตกลงแห่งตระกูลฉบับแรก
- สภากอร์เตส
- สภากอร์เตสแห่งโตโร
- สภากอร์เตสแห่งลาโกรูญา
- สภาขุนนาง
- สมัยแห่งความยุ่งยาก
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- สหภาพแห่งยูเทรกต์
- สันนิบาตกองเบร
- สันนิบาตชมาลคัลดิก
- สันนิบาตฮันเซียติก
- สิทธิปกครองตนเอง
- องค์การตลาดร่วมยุโรป
- องค์การเพื่อบ้านเกิดและเสรีภาพของบาสก์หรืออีทีเอ
- อัซนาร์, โคเซ มาเรีย
- อาซาญา, มานูเอล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ซาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-