โตดอร์ จิฟคอฟเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย (Bulgarian Communist Party–BCP ค.ศ. ๑๙๕๔–๑๙๘๙) นายกรัฐมนตรีบัลแกเรีย (ค.ศ. ๑๙๖๒–๑๙๗๑) และประธานสภาแห่งรัฐ (ค.ศ. ๑๙๗๑–๑๙๘๙) จิฟคอฟปกครองประเทศอย่างยืดหยุ่นตามแนวนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ของสหภาพโซเวียตและเน้นนโยบายด้านสวัสดิการสังคมและการปฏิรูปการศึกษา ตลอดช่วง ๓๕ ปีของสมัยการปกครองของจิฟคอฟ บัลแกเรียไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรงเหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับสหภาพโซเวียตยังทำให้สหภาพโซเวียตเชื่อมั่นในบัลแกเรียและไม่ส่งกองทหารมาประจำการเหมือนกับในรัฐบริวารโซเวียต (Soviet bloc)
จิฟคอฟเกิดเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๑ ในครอบครัวชาวนาที่เมืองปราเวตส์ (Pravets) เมืองเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกซึ่งห่างจากกรุงโซเฟีย (Sofia) ประมาณ ๖๐ กิโลเมตรเขาเป็นบุตรของฮริสโตจิฟคอฟ (Hristo Zhivkov) และมารุตซา จิฟคอฟ (Marutsa Zhivkov) และมีพี่น้องชายหญิงอีก ๒ คน จิฟคอฟเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่เมืองเกิดและย้ายไปเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่เมืองโบเตฟกราด (Botevgrad) หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว เขาเดินทางไปตามเมืองต่างๆเพื่อรับจ้างทำงานทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขาเดินทางมายังกรุงโซเฟียเพื่อทำงานเป็นช่างพิมพ์และเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุวชนคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย (Bulgarian Communist Youth Union–BCYU) อีก ๔ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย หลังจากนั้นได้สมรสกับมารา มาเลเยวา (Mara Maleeva) แพทย์ชนบทประจำหมู่บ้านโบโรเวตส์ (Borovets)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นในเดือนกันยายนค.ศ. ๑๙๓๙บัลแกเรียต้องการดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเยอรมนีข่มขู่จะเข้ายึดครองหากไม่ยอมให้เดินทัพผ่านเพื่อไปยึดครองกรีซ บัลแกเรียจึงจำยอมประกาศสงครามร่วมกับฝ่ายอักษะเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันก็ร่วมลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย พรรคสหภาพเกษตรกร (Agrarian Union) และพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยบัลแกเรีย (Bulgarian Social Democratic Workers Party) จึงร่วมกันก่อตั้งองค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิ (Fatherland Front–OF) ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เพื่อต่อต้านเยอรมนี ส่วนจิฟคอฟร่วมก่อตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านเยอรมนีในเขตชาฟดาร์ (Chavdar) ซึ่งเป็นเขตบ้านเกิดใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ในปีถัดมา เขาเป็นรองผู้บังคับบัญชาขบวนการดังกล่าว เมื่อกองทัพแดง (Red Army)* บุกบัลแกเรียจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้สำเร็จในช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ บัลแกเรียจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ ๕ กันยายน อีก ๔ วันต่อมา องค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ประกาศยึดอำนาจเป็นรัฐบาลบริหารประเทศในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากเหตุการณ์นี้ จิฟคอฟได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจในเขตกรุงโซเฟีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ องค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิได้จัดการลงประชามติเพื่อเลือกรูปแบบการปกครองของประเทศ ประชาชนร้อยละ ๙๒ ไม่ต้องการระบอบกษัตริย์ รัฐบาลจึงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ และได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรียขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ จิฟคอฟดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตกรุงโซเฟีย และในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นประธานคณะกรรมการกลางองค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิประจำเขตกรุงโซเฟีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ จิฟคอฟสนับสนุนวุลโก เชียร์เวนคอฟ (Vulko Chervenkov) เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียสืบต่อจากเกออร์กี ดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov)* เชียร์เวนคอฟซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ดำเนินนโยบายบริหารตามแนวทางของโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตด้วยการยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่และตั้งระบบนารวมขึ้น ตลอดจนกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและการยึดทรัพย์ของศาสนจักรเป็นของรัฐ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑–๑๙๕๔ จิฟคอฟมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามชาวนาที่ต่อต้านระบบนารวมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
หลังอสัญกรรมของสตาลินเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ มีการปรับเปลี่ยนบุคลากรในองค์การพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต (Communist Party of the Soviet Union)* และกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตในบัลแกเรีย เชียร์เวนคอฟถูกปรับให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจิฟคอฟได้รับการสนับสนุนจากนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตให้เป็นเลขาธิการพรรค เขาสนับสนุนนโยบายการล้มล้างอิทธิพลของสตาลินและปรับนโยบายต่างประเทศให้มีลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๕ จิฟคอฟนำบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน บัลแกเรียร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* ซึ่งเป็นการร่วมมือทางการทหารกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียตเพื่อตอบโต้และคานอำนาจกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* ของกลุ่มประเทศตะวันตก
ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๖ จิฟคอฟปลดเชียร์เวนคอฟซึ่งได้ชื่อว่าจงรักภักดีต่อสตาลินออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งอันตอน ยูกอฟ (Anton Yugov) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๔–๑๙๔๙ ที่เขาไว้วางใจให้ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน การปลดเชียร์เวนคอฟในครั้งนี้สะท้อนถึงการกุมอำนาจเด็ดขาดของจิฟคอฟ ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน จิฟคอฟประกาศ “แนวทางเดือนเมษายน” (April Line) ซึ่งมีสาระสำคัญคือการดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมืองตามแบบของครุชชอฟโดยมีการกำหนดแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง แต่อำนาจองค์การพรรคสาขาท้องถิ่นมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น การใช้กลไกตลาดกระตุ้นการผลิตการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในเขตเมือง ส่วนในด้านการต่างประเทศเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต และเขาสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการเข้าแทรกแซงฮังการีในเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ (Hungarian Uprising 1956)* อย่างไรก็ตาม ยูกอฟไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวทั้งหมด และฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรคก็สนับสนุนเขา ยูกอฟซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบมากขึ้นจึงกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่ทำให้จิฟคอฟกังวล ในปลาย ค.ศ. ๑๙๖๒ จิฟคอฟจึงกล่าวหายูกอฟว่าดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อพรรค เขาปลดยูกอฟออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและขับออกจากพรรคทั้งกักบริเวณด้วย จิฟคอฟเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๒
เมื่อครุชชอฟถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ ด้วยข้ออ้างดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจล้มเหลว เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ฝ่ายอนุรักษ์ในพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียที่นำโดยนายพลอีวาน โตโดรอฟ-โกรูเนีย (Ivan Todorov-Gorunia) ซึ่งไม่พอใจกับนโยบายของจิฟคอฟมานานวางแผนยึดอำนาจในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ การยึดอำนาจครั้งนี้เรียกกันทั่วไปว่า “แผนโกรูเนีย” (Plot of Gorunia) โกรูเนียเกลี้ยกล่อมนายทหารระดับสูงหลายคนให้เข้าร่วมด้วย แต่หน่วยข่าวกรองสืบทราบแผนก่อน และรัฐบาลกวาดล้างอย่างรวดเร็ว นายทหารระดับสูงหลายคนถูกจับ ส่วนโกรูเนียกระทำอัตวินิบาต-กรรมในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๕ เมื่อเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* รวบอำนาจได้เด็ดขาดในสหภาพโซเวียต และนำลัทธิสตาลิน (Stalinism)* กลับมาใช้อีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งเข้าควบคุมและปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล จิฟคอฟก็สนับสนุนแนวนโยบายของเบรจเนฟ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่ออะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* ผู้นำเชโกสโลวะเกียดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* สหภาพโซเวียตต่อต้านการปฏิรูปของดูบเชคและเรียกร้องให้เขาล้มเลิกแผนการปฏิรูปแต่ล้มเหลว สหภาพโซเวียตจึงนำกองกำลังร่วมขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอบุกปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับ ๑๐๐ คนและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
หลังการบุกเชโกสโลวะเกีย เบรจเนฟได้ประกาศหลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ สาระสำคัญคือ การยอมรับสิทธิของประเทศยุโรปตะวันออกในการพัฒนาระบอบสังคมนิยมที่แตกต่างจากแนวทางของสหภาพโซเวียตแต่การพัฒนานั้นต้องไม่ทำลายและคุกคามระบอบสังคมนิยมภายในประเทศและคุกคามประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ หลักการนี้หมายถึง การจำกัดขอบเขตอำนาจของประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่จะปฏิรูปการปกครองภายในประเทศและการยืนยันสิทธิและหน้าที่ของสหภาพโซเวียตที่จะเข้าแทรกแซงทางทหารในยุโรปตะวันออก หากเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดนั้นจะกระทบต่อเอกภาพและความมั่นคงของประเทศในเครือรัฐสังคมนิยม (Socialist Commonwealth) จิฟคอฟตอบรับหลักการเบรจเนฟด้วยการเพิ่มมาตรการควบคุมสังคมให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปเขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญจิฟคอฟ” (Zhivkov Constitution) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง แต่ก็กำหนดว่า การใช้สิทธินั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐเท่านั้นนอกจากนั้นมีการกำหนด “สภาแห่งรัฐ” (State Council) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารสูงสุดโดยมีจิฟคอฟเป็นประธาน และให้พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทเป็นผู้นำทางด้านสังคมและการเมือง หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐแล้ว จิฟคอฟแต่งตั้งให้สตันโค โตโดรอฟ (Stanko Todorov)* สหายสนิทที่เขาไว้วางใจซึ่งเคยเข้าร่วมต่อต้านเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๑
ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ จิฟคอฟสนับสนุนลูย์ดมีลา จิฟโควา (Lyudmila Zhivkova) บุตรสาว ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง จิฟโควาเริ่มตำแหน่งทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ด้วยการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อีก ๓ ปีต่อมาเธอได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๙ เป็นสมาชิกโปลิตบูโร ซึ่งทำให้คาดการณ์กันว่า เธออาจสืบทอดอำนาจต่อจากจิฟคอฟ อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๙๘๑ จิฟโควาประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตขณะอายุเพียง ๓๘ ปีอีวานสลาฟคอฟ (Ivan Slavkov) สามีจึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสถานีโทรทัศน์บัลแกเรียและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒–๒๐๐๕ เขาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกบัลแกเรีย (Bulgarian Olympic Committee) ส่วนวลาดิมีร์ จิฟคอฟ (Vladimir Zhivkov) บุตรชายของจิฟคอฟติดสุราอย่างหนักจนเขาไม่สามารถผลักดันให้ได้รับตำแหน่งใด ๆทางการเมืองได้
ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ เกิดเหตุการณ์การลอบสังหารเกออร์กี มาร์คอฟ (Georgi Markov) นักเขียนชาวบัลแกเรีย เมื่อวันที่ ๗ กันยายน โดยฆาตกรซ่อนเข็มพิษไว้ที่ปลายร่ม มาร์คอฟถูกยิงที่สะโพกด้านขวา เขามีไข้สูงอยู่ ๓ วัน และเสียชีวิตในวันที่ ๑๑ กันยายน เหตุการณ์นี้เรียกกันทั่วไปว่า “ร่มสังหาร” (Umbrella Murder) หลายปีก่อนหน้านั้น มาร์คอฟเขียนบทละครและนวนิยายที่เคยได้รับรางวัลระดับชาติ จิฟคอฟต้องการให้เขาเขียนนวนิยายเชิดชูรัฐบาลแต่เขาปฏิเสธมาร์คอฟซึ่งต่อต้านนโยบายการควบคุมทางสังคมของจิฟคอฟจึงลี้ภัยออกนอกประเทศไปทำงานในอิตาลีใน ค.ศ. ๑๙๖๙ และอีก ๒ ปีต่อมาไปทำงานกับบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation–BBC)* ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เขาเริ่มวิจารณ์โจมตีนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจิฟคอฟอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายตามสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้จิฟคอฟได้รับอิสริยาภรณ์วีรชนแห่งสหภาพโซเวียต (Hero of the Soviet Union) ใน ค.ศ. ๑๙๗๗ บทบาทของมาร์คอฟในการวิพากษ์โจมตีจิฟคอฟและแนวนโยบายของบัลแกเรียทำให้ภาพลักษณ์ของบัลแกเรียในการเมืองระหว่างประเทศเลวร้ายลง เชื่อกันว่ารัฐบาลบัลแกเรียอยู่เบื้องหลังการตายของมาร์คอฟ จึงทำให้จิฟคอฟเสียชื่อเสียง
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๗๙ เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนบาบรัก การ์มัล (Babrak Karmal) ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่นิยมโซเวียต บัลแกเรียสนับสนุนการแทรกแซงครั้งนี้เต็มที่ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ของบัลแกเรียกับประเทศในยุโรปตะวันตกที่ต่อต้านสหภาพโซเวียตเสื่อมโทรมลง ภาพลักษณ์ของบัลแกเรียในสายตาประชาคมโลกตกต่ำลงมากขึ้น เมื่อสันตะปาปาจอห์นปอลที่ ๒ (John Paul II) ทรงถูกเมห์เหม็ด อาลี อัจญา (Mehmet Ali Ağca) พยายามลอบปลงพระชนม์ที่หน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์นครรัฐวาติกันเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ คนร้ายยิงพระองค์ที่บริเวณพระนาภีและทรงบาดเจ็บสาหัส แต่หลังการผ่าตัดทรงหายเป็นปรกติ ส่วนอาลี อัจญาหลังการลอบยิงได้หนีเข้าไปในสถานทูตบัลแกเรีย จึงทำให้เข้าใจกันว่าบัลแกเรียมีส่วนรู้เห็นกับการลอบสังหารครั้งนี้
ในขณะที่ภาพลักษณ์ภายนอกตกต่ำลง บัลแกเรียกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องปลดโตโดรอฟนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๑ และตั้งกรีชา ฟิลิปอฟ (Grisha Filipov) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดำรงตำแหน่งแทน ฟิลิปอฟพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีอิสระในการประกอบธุรกิจมากขึ้น แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๘๕ กอร์บาชอฟประกาศใช้นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* เพื่อปฏิรูปประเทศและสนับสนุนประเทศยุโรปตะวันออกให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้วย จิฟคอฟจึงนำนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาของสหภาพโซเวียตมาปรับใช้ในการปฏิรูปทางการเมือง โดยอนุญาตให้มีผู้สมัครได้หลายคน แต่ผู้สมัครต้องสังกัดองค์การแนวร่วมพิทักษ์ปิตุภูมิซึ่งถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย ในด้านเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการรายย่อยจ้างลูกจ้างประจำได้ ๑๐ คน และจ้างชั่วคราวได้ไม่จำกัดจำนวน
อย่างไรก็ตาม จิฟคอฟยังคงใช้มาตรการเข้มงวดกับชาวเติร์กซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในบัลแกเรีย เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรเติร์กสูงขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ จิฟคอฟบังคับให้ชาวเติร์กเปลี่ยนมาใช้ชื่อในภาษาสลาฟ ห้ามการเรียนการสอนภาษาเติร์ก ปิดวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ภาษาเติร์ก ผู้ที่ต่อต้านจะถูกส่งเข้าค่ายกักกันเช่นค่ายเบเลเน (Belene) ซึ่งเป็นเกาะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดานูบทางตอนเหนือของประเทศ มาตรการเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านจากตุรกีและโลกอิสลามทั่วไป ตุรกีได้ผลิตสารคดีชุด Belene Island ออกเผยแพร่เพื่อประท้วงบัลแกเรียการต่อต้านดังกล่าวทำให้สมาชิกของความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade–GATT)* ปฏิเสธการขอเข้าเป็นสมาชิกของบัลแกเรียใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ในต้น ค.ศ. ๑๙๘๙ กลุ่มต่อต้านการใช้มาตรการเข้มงวดต่อชาวเติร์กชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้จิฟคอฟยุติมาตรการเหล่านี้จิฟคอฟตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ต่อมาในเดือนพฤษภาคม เขาออกแถลงการณ์เนรเทศชาวเติร์กและให้ชาวเติร์กกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนลี้ภัยไปตุรกี
การเนรเทศชาวเติร์กส่งผลลบต่อบัลแกเรียแม้แต่สหภาพโซเวียตและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียจำนวนหนึ่งยังร่วมประณามจิฟคอฟด้วยต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปหรือโอเอสซีอี (Organization for Security and Co-operation in Europe–OSCE)* จัดการประชุมทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นที่กรุงโซเฟีย แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางคนที่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมถูกลอบทำร้ายและลักพาตัว อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือในที่สุด เหตุการณ์นี้ทำให้ภาพลักษณ์ของจิฟคอฟยิ่งเลวร้ายลง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียบางคนยังเข้าใจว่าจิฟคอฟมีส่วนรู้เห็นด้วย เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในยุโรปตะวันออก สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียนำโดย เปตูร์ มลาดานอฟ (Petur Mladanov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และโตโดรอฟ อดีตนายกรัฐมนตรีจึงฉวยโอกาสก่อการรัฐประหารขึ้นและโค่นอำนาจของจิฟคอฟสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ มลาดานอฟจึงได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียและผู้นำประเทศ ต่อมาในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ประชาชนชาวบัลแกเรียทั่วประเทศรวมตัวกันเดินขบวนใหญ่เพื่อฉลองการเรียกร้องประชาธิปไตย
ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ มลาดานอฟ ประกาศว่า พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียหมดอำนาจที่จะปกครองประเทศ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ จิฟคอฟถูกจับเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ด้วยข้อหาต่าง ๆ เช่น ฉ้อโกงการใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมกับชาวเติร์ก และอื่น ๆเขาถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีอีก ๖ เดือนต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ศาลตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา ๗ ปี แต่ด้วยสุขภาพที่อ่อนแอ ศาลจึงอนุญาตให้กักบริเวณที่บ้านแทนการจำคุก โตดอร์ จิฟคอฟเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ ที่กรุงโซเฟียรวมอายุได้ ๘๖ ปี.