อันเดรย์ อะเล็กซานโดรวิช จดานอฟ เป็นเลขาธิการคนที่ ๒ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตรองจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดและนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญจดานอฟสนับสนุนสตาลินในการกำจัดเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* และฝ่ายตรงข้ามของสตาลินซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖เขาลงนามร่วมกับสตาลินในโทรเลขที่ส่งให้โปลิตบูโรเรียกร้องให้ปลดเกนริค ยาโกดา (Genrikh Yagoda)* หัวหน้าหน่วยตำรวจลับและแต่งตั้งนิโคไล อีวาโนวิช เยจอฟ (Nikolai Ivanovich Yezhov)* ดำรงตำแหน่งสืบแทน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* จดานอฟมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายศิลปวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกและเพื่อควบคุมปัญญาชน นักเขียน และศิลปินให้สร้างสรรค์งานตามแนวทางที่พรรคกำหนด นโยบายวัฒนธรรมของจดานอฟหรือที่เรียกว่า หลักการจดานอฟ (Zhadanov Doctrine) หรือลัทธิจดานอฟ (Zhadanovism) หรือจดานอฟชีนา (Zhadanovshchina) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖–๑๙๔๘ จึงเป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายประชาธิปไตยในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* และนำไปสู่การจัดตั้งสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau)* หรือองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ด้วย
จดานอฟเกิดในครอบครัวปัญญาชนที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่เมืองมารียูโปล (Mariupol) ยูเครน บิดาเป็นครูและต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม เขาเป็นคนหัวเก่าและเคร่งศาสนาซึ่งมักอบรมบุตรให้เคารพต่อกฎระเบียบและมีวินัย มารดามาจากตระกูลขุนนางและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนดนตรีแห่งมอสโก เธอสอนจดานอฟและพี่สาวให้เล่นเปียโน ในเวลาต่อมาจดานอฟเล่นเปียโนให้สตาลินและสมาชิกโปลิตบูโรฟัง หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้น จดานอฟก็เรียนหนังสือต่อที่บ้านเขาชอบอ่านงานวรรณกรรมและหนังสือประวัติศาสตร์และต้องการมีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตามเขาทำงานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และชอบติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เขาจึงมีโอกาสรู้จักกับสมาชิกพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* หลายคนและถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคจนเขาเลื่อมใสในลัทธิมากซ์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้น จดานอฟเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามกับพรรคบอลเชวิคและเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) [Russian Social Democratic Worker’s Party (Bolsheviks)] ใน ค.ศ. ๑๙๑๕
ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เยอรมนีทุ่มกำลังตีฝ่าแนวรบรัสเซียตั้งแต่อีสเทิร์นปรัสเซียจนถึงเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) และนำปืนใหญ่ ๗๐๐ กระบอกมาใช้แนวรบสนามเพลาะของรัสเซียจึงแตกยับ เยอรมนีสามารถยึดกาลิเซีย (Galicia)* กลับคืนได้และระดมกำลังโหมบุกเข้ายึดแคว้นคูร์ลันด์ (Courland) และบางส่วนของลิทัวเนีย (Lithuania) ทั้งเคลื่อนกำลังไปจนถึงลุ่มแม่น้ำรีกาในลัตเวีย (Latvia) ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นทำให้รัสเซียต้องระดมกำลังพลใหม่ จดานอฟจึงถูกเกณฑ์ทหารในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ และสังกัดกองทัพสำรองซึ่งประจำการที่ชาดรินสค์ (Shadrinsk) ในไซบีเรียตะวันตก หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีล่มสลายและรัสเซียปกครองในระบอบทวิอำนาจ (dual power) ระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต (Soviets) ในช่วงเวลาดังกล่าวจดานอฟได้รับเลือกจากเพื่อนนายทหารให้เป็นผู้แทนของพวกเขาในคณะกรรมาธิการโซเวียตทหาร ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาได้เป็นผู้นำคณะกรรมาธิการบอลเชวิค เมื่อพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ และในเวลาต่อมาเข้าควบคุมภูมิภาคไซบีเรียตะวันตก จดานอฟได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำบอลเชวิคดูแลงานด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* จดานอฟได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารการเมือง (political commissar) ประจำกองทัพแดง (Red Army)* เพื่อผลักดันแนวนโยบายของพรรคในกองทัพให้เป็นไปได้ด้วยดีและควบคุมดูแลทหารทุกระดับอย่างใกล้ชิดหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง เขาถูกโอนย้ายไปเมืองตเวียร์ (Tver) ทางตอนเหนือของกรุงมอสโกและทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Pravda Tver ทั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตแห่งตเวียร์ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ จดานอฟมีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy–Nep)* ให้บรรลุผลในทางปฏิบัติซึ่งประสบความสำเร็จและนับเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในงานการเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตส่วนภูมิภาคนิจนีนอฟโกรอด (Nizhni Novgorod) ซึ่งควบคุมดูแลงานด้านการค้าและอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ ตำแหน่งดังกล่าวทำให้เขาได้เดินทางไปร่วมประชุมการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและการประชุมสำคัญต่าง ๆ บ่อยครั้ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๗ จดานอฟสนับสนุนสตาลินในการกำจัดตรอตสกี คู่แข่งคนสำคัญของสตาลินในการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค ทั้งสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ของสตาลินในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเพื่อเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโซเวียตเป็นแบบสังคมนิยมสตาลินจึงสนับสนุนจดานอฟให้เป็นสมาชิกวิสามัญในคณะกรรมการกลางพรรคใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เขาได้เป็นสมาชิกสามัญ อีก ๔ ปีต่อมาจดานอฟได้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคซึ่งทำให้เขาได้อยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจใกล้ชิดกับสตาลิน
ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๑๗ หรือที่เรียกกันว่า “การประชุมใหญ่ของผู้มีชัยชนะ” (Congress of the Victors) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในความสำเร็จของการใช้ระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (Collectivization) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีฉบับแรก จดานอฟได้กล่าวปราศรัยยกย่องสตาลินเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและแสดงความเห็นคัดค้านเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดที่เรียกร้องให้ใช้นโยบายผ่อนปรนกับชาวนาในการเข้ารวมอำนาจการผลิตแบบนารวมและให้เพิ่มปริมาณการปันอาหารแก่กรรมกรมากขึ้น ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจจดานอฟที่ต่อต้านแนวคิดของคีรอฟ สตาลินเริ่มตระหนักถึงความนิยมชมชอบของสมาชิกพรรคต่อคีรอฟและในเวลาต่อมาก็หาทางกำจัดเขา ขณะเดียวกันสตาลินก็พอใจจดานอฟที่ประกาศตนสนับสนุนเขาอย่างเปิดเผย ในเวลาอันรวดเร็วจดานอฟก็กลายเป็นสหายสนิทที่สตาลินไว้วางใจ
ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ คีรอฟถูกลอบสังหารอย่างมีเงื่อนงำ สตาลินจึงเห็นเป็นโอกาสใช้เหตุการณ์นี้ดำเนินการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองและฝ่ายตรงข้ามทั้งกลุ่มทหารและพลเรือน สตาลินแต่งตั้งจดานอฟเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดสืบแทน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๓๖ จดานอฟดำเนินการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของสตาลินในเลนินกราดอย่างเด็ดขาด ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาให้ความร่วมมือกับสตาลินในการกำจัดเกนริคยาโกดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเสนอโปลิตบูโรแต่งตั้งนีโคไล อีวาโนวิช เยจอฟ เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งสตาลินไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสืบแทน สตาลินจดานอฟและเยจอฟจึงร่วมมือกันในการกวาดล้างสมาชิกบอลเชวิครุ่นบุกเบิก (Old Bolsheviks) และเครือข่ายทั้งหมดจนนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗–๑๙๓๘ ประมาณว่ามีผู้ถูกกวาดล้างกว่า ๖๘๐,๐๐๐ คน และอีกกว่าล้านคนถูกส่งไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* จดานอฟยังทำหน้าที่เป็นผู้แทนส่วนตัวของสตาลินในการรณรงค์เริ่มการกวาดล้างศัตรูของพรรคและประชาชน ทั้งเดินทางไปภูมิภาคบัชคีเรีย (Bashkiria) ตาตาเรีย (Tataria) และโอเรนบูร์ก (Orenburg) เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานในภูมิภาคดังกล่าวขณะเดียวกันเขาเขียนบทความและข้อคิดเห็นจำนวนมากเรียกร้องให้กวาดล้างอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มก่อการร้ายตรอตสกี-ซีโนเวียฟ (Tratskyite-Zinovievist Terrorist Group) ที่มีเลฟ บอรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* และกรีกอรี เยฟเซเยวิช ซีโนเวียฟ (Grigori Yevseyevich Zinoviev)* ผู้นำบอลเชวิคปีกขวาผลักดันอยู่เบื้องหลัง
การกวาดล้างครั้งใหญ่ทำให้สมาชิกบอลเชวิครุ่นบุกเบิกถูกกวาดล้างจำนวนมากและเปิดทางให้จดานอฟได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวิสามัญโปลิตบูโรในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๕ และเป็นสมาชิกสามัญในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขายังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต (Supreme Soviet of the USSR) และปีต่อมาเป็นสมาชิกสภาทหารสูงสุดแห่งนาวี (Supreme Military Council of Navy–VMF) แวดวงการเมืองและสาธารณชนจึงเห็นว่าจดานอฟคือมือขวาของสตาลิน ในปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ สตาลินแต่งตั้งเขาเป็นผู้ช่วยงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อและอุดมการณ์เพื่อควบคุมนโยบายด้านวัฒนธรรมทุกด้าน จดานอฟสนับสนุนแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* ที่งานศิลปวัฒนธรรมต้องรับใช้และตอบสนองแนวนโยบายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและขึ้นต่อพันธะหน้าที่การปฏิวัติตามที่พรรคกำหนดไว้ งานสำคัญที่จดานอฟเร่งดำเนินการคือการแก้ไขและเขียนประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตใหม่ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของสตาลินซึ่งเป็นบรรณาธิการใหญ่เขียนหนังสือชื่อ The Brief Course History of the Communist Party of the Soviet Union หนังสือเล่มนี้เป็นตำราการเมืองที่ปัญญาชนและข้าราชการโซเวียตทุกคนต้องศึกษาและใช้เป็นคู่มือทางอุดมการณ์ สตาลินตอบแทนโดยมอบอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน (Order of the Red Banner of Labor) แก่เขา
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือสงครามที่สหภาพโซเวียตเรียกว่า มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ (Great Patriotic War)* จดานอฟเป็นสมาชิกสภาทหารซึ่งควบคุมการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรบในแนวรบเลนินกราดและแนวรบทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาถูกส่งไปเอสโตเนีย (Estonia) เพื่อผลักดันการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต เอสโตเนีย (Estonia Soviet Socialist Republic) ขึ้นและเข้ารวมเป็นเครือสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ต่อมาเมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนกำลังบุกนครเลนินกราด สตาลินมีคำสั่งให้นายพลเกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* รับผิดชอบในการบัญชาการป้องกันนครเลนินกราดและจดานอฟดูแลความสงบเรียบร้อยภายใน จดานอฟได้ดำเนินการย้ายโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญกว่า ๘๐ แห่งออกจากเมืองและนำศิลปวัตถุจากพระราชวังและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มาเก็บซ่อนไว้ในห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ (Hermitage) และมหาวิหารเซนต์ไอแซก (St. Isaac) รวมทั้งเตรียมการอพยพชาวเมืองโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กไปยังที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามเมื่อเยอรมนีเริ่มการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* และยิงถล่มเมืองไม่ขาดระยะจนทำให้โรงงานไฟฟ้าและโรงงานจำนวนมากต้องปิดกิจการในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ น้ำมันและถ่านหินก็หมดลงและระบบการขนส่งมวลชนทั้งหมดหยุดนิ่ง ขณะเดียวกันเกิดวิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหารและผู้คนจำนวนมากล้มตายด้วยความหิวโหย ในระยะแรกจดานอฟพยายามปกปิดเรื่องการขาดแคลนอาหารเพราะเกรงว่าจะก่อความตื่นตระหนกในหมู่ชาวเมือง แต่ในเวลาอันรวดเร็วก็จำต้องประกาศสถานการณ์ที่เป็นจริงและหาทางแก้ไขปัญหาความอดอยากด้วยการปันส่วนอาหารในแต่ละวัน โดยกำหนดให้กรรมกรได้รับขนมปัง ๖๐๐ กรัม ข้าราชการและลูกจ้าง ๔๐๐ กรัม เด็กและประชาชนทั่วไป ๓๐๐ กรัม การปรับสัดส่วนการปันอาหารเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการจัดเครื่องบินลำเลียงพิเศษบรรทุกอาหาร ผลไม้ และแพนเค้กไปทิ้งให้ชาวเมือง แม้จดานอฟจะพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่การดำเนินการก็ล่าช้าและไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าที่ควรซึ่งส่งผลให้เขาเครียดและกังวลจนทำให้สตาลินสั่งย้ายเขาไปปฏิบัติงานด้านอื่น
หลังกองทัพเยอรมันล้มเหลวจากการปิดล้อมนครเลนินกราดในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และเริ่มล่าถอยออกจากแนวรบ กองทัพแดงได้รุกคืบหน้าและเข้าบุกฟินแลนด์ ทั้งบีบบังคับให้ฟินแลนด์ยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ จดานอฟได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการฝ่ายพันธมิตรเพื่อควบคุมฟินแลนด์ (Allied Control Commission in Finland) เขามีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ฟินแลนด์ในการกำหนดค่าปฏิกรรมสงครามและการเข้าแทรกแซงการเมืองภายในประเทศด้วยการบีบบังคับให้รัฐบาลฟินแลนด์ให้สิทธิการเช่าคาบสมุทรพอร์กคาลา (Porkkala) แก่สหภาพโซเวียตเพื่อใช้เป็นฐานทัพระยะเวลา ๕๐ ปี โดยแลกคืนกับคาบสมุทรฮังกอ (Hanko) ที่สหภาพโซเวียตเคยเช่าเป็นฐานทัพเรือ บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้จดานอฟกลับเข้าสู่วงการเมืองภายในพรรคอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา เมื่ออะนาโตลี เชียร์บาคอฟ (Anatoly Scherbakov) ผู้อำนวยการแผนกปลุกระดมและการโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมาธิการกลางพรรคล้มเจ็บและเสียชีวิตลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ สตาลินสั่งการให้จดานอฟกลับมากรุงมอสโกเพื่อให้รับตำแหน่งดังกล่าวสืบแทนทั้งมอบอิสริยาภรณ์ “For the Defence of Leningrad” และ “For the Victory over Germany in the Great Patriotic War 1941–1945” ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นให้แก่เขา
ขณะเดียวกัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงรัฐบาลโซเวียตได้ยกเลิกนโยบายการผ่อนปรนทางสังคมและการเมืองในช่วงระหว่างสงครามและปกครองอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง นโยบายหลักประการหนึ่ง คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการสกัดกั้นแนวความคิดเสรีประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกระบบการเซ็นเซอร์และการควบคุมสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนและพลเมืองทุกคนต้องใช้หนังสือเดินทางภายในประเทศเพื่อควบคุมได้ง่ายขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖–๑๙๔๗ จดานอฟมีบทบาทสำคัญในการวางแนวนโยบายการเสริมสร้างอุดมการณ์พรรคด้วยการเน้นสัจนิยมแนวสังคมนิยม การปลูกฝังแนวความคิดลัทธิมากซ์-เลนิน-สตาลิน และการยกย่องความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการวิพากษ์โจมตีโลกตะวันตกและอื่น ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ จดานอฟและสตาลินร่วมกันร่างเนื้อหาของมติพรรคเกี่ยวกับงานวรรณกรรมและประกาศเป็นหลักการวรรณกรรมแห่งพรรคคือ “มติพรรคว่าด้วยวารสารวรรณกรรม Zvezda และ Leningrad” (Decree of the Central Committee on the literary journal Zvezda and Leningrad) เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖
สาระสำคัญของมติดังกล่าวคือการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีวารสารวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงทั้ง ๒ ฉบับว่า เสนอทัศนะของนักเขียนนอกรีตที่ต่อต้านอุดมการณ์พรรคและเผยแพร่งานประพันธ์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสังคมโซเวียตและการปฏิวัติมีการสั่งปิดวารสาร Leningrad ส่วนวารสาร Zvezda ยังคงให้พิมพ์เผยแพร่ได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ตีพิมพ์งานประพันธ์ของมีฮาอิล ซอชเชนโก (Mikhail Zoshchenko) และอันนา อัคมาโตวา (Anna Akhmatova) และนักเขียนคนอื่น ๆ ที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับคนทั้งสองเนื่องจากงานประพันธ์มีเนื้อหาชื่นชอบแนวคิดของระบอบทุนนิยมและบิดเบือนวิถีชีวิตอันแท้จริงของชาวโซเวียตและระบอบสังคมนิยม มีการเปลี่ยนกองบรรณาธิการวารสาร Zvezda ทั้งหมดและแต่งตั้งบุคลากรจากหน่วยงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคเป็นกองบรรณาธิการ มติพรรคดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์จะควบคุมนครเลนินกราดทางด้านวัฒนธรรมเพราะนักเขียนและศิลปินในนครเลนินกราดมักมีแนวความคิดอิสระ นิยมชมชอบวัฒนธรรมยุโรปตะวันตก และไม่สนับสนุนแนวนโยบายแห่งพรรคเท่าที่ควร ทั้งนครเลนินกราดก็เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นต้นแบบในวงการหนังสือและศิลปะที่ปัญญาชนนักเขียนส่วนใหญ่ยอมรับและเลียนแบบ
หลังมติพรรคเผยแพร่ได้ ๑ สัปดาห์ จดานอฟ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษทั้งในที่ประชุมใหญ่สหภาพนักเขียนโซเวียตเลนินกราดและที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดโดยชี้แจงความจำเป็นของการออกมติพรรคเดือนสิงหาคม และโจมตีซอชเชนโกและอัคมาโตวาอย่างเผ็ดร้อนรุนแรง เขายังขยายความแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมที่นักเขียนและงานประพันธ์ต้องมีวัตถุประสงค์โจมตีและเปิดโปงความฟอนเฟะและสามานย์ของศิลปวัฒนธรรมทุนนิยม ทั้งนักเขียนต้องใช้งานวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในสงครามอุดมการณ์หรือสงครามเย็นที่กำลังก่อตัวขึ้นด้วย จดานอฟเน้นว่าความขัดแย้งในงานวัฒนธรรมโซเวียตเป็นการต่อสู้ระหว่างโลก ๒ ค่ายคือ ทุนนิยมกับสังคมนิยม และระหว่างดีกับดีที่สุด (good and best) ซึ่งต้องเลือกข้างและไม่มีการประนีประนอมสังคมนิยมคือสิ่งที่ดีที่สุด ในเวลาต่อมาจดานอฟยังประกาศมติพรรคว่าด้วยการละครและภาพยนตร์อีก ๒ ฉบับคือ “On the Repertoire of Dramatic Theaters and Measures for Improvement” (๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖) และ “On the Motion Picture Bolshaya Zhizn” (๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖) ซึ่งเนื้อหามติพรรคทั้ง ๒ ฉบับเกี่ยวกับการนำเสนอรูปแบบและเนื้อหางานการละครและภาพยนตร์ที่ต้องตอบสนองนโยบายการเมืองพรรคและผู้นำ มติพรรคทั้ง ๓ ฉบับจึงเป็นที่มาของแนวนโยบายพรรคทางศิลปวัฒนธรรมในช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๔๕ และเรียกกันทั่วไปว่า หลักการจดานอฟ หรือลัทธิจดานอฟ หรือจดานอฟชีนา
ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ สหภาพโซเวียตสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์กรีซโค่นอำนาจรัฐบาลกรีซในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War)* พร้อมกับดำเนินนโยบายขยายอิทธิพลเข้าไปในตุรกีประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการปกป้องและธำรงรักษาการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยในยุโรปไว้ จึงตอบโต้ด้วยการประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine)* เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ และตามด้วยแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูยุโรป ๑๗ ประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านวิชาการหลักการทรูแมนและแผนมาร์แชลล์จึงนำไปสู่การกำหนดนโยบายสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตก สตาลินจึงให้จดานอฟดำเนินการจัดตั้งองค์กรกลางของขบวนการคอมมิวนิสต์ขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่สืบแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ที่ยุบเลิกใน ค.ศ. ๑๙๔๓ และเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเป็นแกนนำ จดานอฟจึงเชิญผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หรือผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ยุโรป ๘ ประเทศ ประกอบด้วย พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสอิตาลี โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย ฮังการีบัลแกเรียและยูโกสลาเวียมาประชุมกันที่เมืองชกลาร์-สกาโปเรบา (Szklarska Poreba) ประเทศโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๗ และนำไปสู่การก่อตั้งองค์การโคมินฟอร์มหรือสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์
ในการประชุมก่อตั้งองค์การโคมินฟอร์มครั้งนี้จดานอฟได้เสนอความคิด “ทฤษฎีสองโลก” (Theory of Two Worlds) ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างโลกประชาธิปไตยกับโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งขับเคี่ยวต่อสู้กันยาวนานจนท้ายที่สุดโลกคอมมิวนิสต์จะเป็นฝ่ายมีชัยชนะ แนวความคิดของจดานอฟดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจดานอฟและเป็นพื้นฐานของแนวนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตในทศวรรษ ๑๙๕๐ ในช่วงเวลาเดียวกัน เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตก็รณรงค์ให้ประเทศยุโรปตะวันออกเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นแบบโซเวียตและสนับสนุนนโยบายการปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade)* เพื่อกดดันบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งกรุงเบอร์ลินเป็นการถาวร
ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ สหภาพโซเวียตมีปัญหาขัดแย้งกับยูโกสลาเวียเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของยูโกสลาเวียโดยไม่ยึดสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบ สตาลินให้จดานอฟนำปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวพิจารณาในโคมินฟอร์มในเดือนมิถุนายนเพื่อประณามยูโกสลาเวีย จดานอฟพยายามแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการประนีประนอม ในขณะที่เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (Georgi Maksimilanovich Malenkov)* รองนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ตัดความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย สตาลินไม่พอใจจดานอฟอย่างมาก และปลดเขาออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ภายในองค์การพรรคและให้มาเลนคอฟดำรงตำแหน่งสืบแทน จดานอฟซึ่งสุขภาพอ่อนแอและเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมาก่อนกลัดกลุ้มอย่างมาก เขากลับไปดื่มสุราอีกครั้ง จนสุขภาพทรุดโทรมลง และถูกส่งไปรักษาตัวที่สถานพักฟื้นของพรรคที่ทะเลสาบวัลดี (Valdi) ใกล้กรุงมอสโก สตาลินส่งคณะแพทย์ส่วนตัวของเขาไปรักษาแต่ไม่สามารถช่วยได้ ในคืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ จดานอฟถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลว รวมอายุ ๕๒ ปี รัฐบาลโซเวียตได้จัดรัฐพิธีศพให้แก่เขาอย่างสมเกียรติและบรรจุศพไว้ที่บริเวณกำแพงเครมลิน จดานอฟนับเป็นสมาชิกโปลิตบูโรคนสุดท้ายของสตาลินที่ได้รับการฝังไว้ที่กำแพงเครมลินในฐานะรัฐบุรุษ นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนชื่อเมืองมารียูโปล บ้านเกิดของเขาเป็นเมืองจดานอฟและมีการสร้างรูปปั้นของเขาไว้ที่จัตุรัสกลางเมือง อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกมีการนำชื่อเดิมของเมืองกลับมาใช้อีกครั้ง และใน ค.ศ. ๑๙๙๐ รูปปั้นของจดานอฟก็ถูกทำลายทิ้ง
สองปีหลังจดานอฟเสียชีวิต ลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenti Beria)* คู่แข่งของมาเลนคอฟในการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคได้โยงเรื่องการเสียชีวิตของจดานอฟเข้ากับแผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* โดยกล่าวว่าแพทย์ชาวยิวได้ใช้วิธีการทางการแพทย์ฆ่าจดานอฟ ซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างประชาชนและศัตรูของพรรคอีกครั้งหนึ่งในต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ อย่างไรก็ตาม หลังอสัญกรรมของสตาลินในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ รัฐบาลโซเวียตแถลงว่าข่าวการวางยาพิษจดานอฟของคณะแพทย์ชาวยิวเป็นเรื่องเท็จ.