O’Connor, Feargus Edward (1796-1855)

นายเฟียร์กัส เอดเวิร์ด โอคอนเนอร์ (พ.ศ.๒๓๓๙-๒๓๙๘)

​​​

     เฟียร์กัส เอดเวิร์ด โอคอนเนอร์เป็นสมาชิกสภาสามัญของอังกฤษจากไอร์แลนด์และผู้นำคนสำคัญของ ขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* เขาสร้างตนให้เด่นด้วยการใช้วาจาที่รุนแรงและมีพลังในการปลุกเร้าชนชั้นแรงงาน โอคอนเนอร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ขบวนการชาร์ทิสต์เป็นขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติครั้งแรกของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ แต่การสร้างความสำคัญให้แก่ตนก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้นำของขบวนการซึ่งในที่สุดก็ต้องสลายตัวลง
     โอคอนเนอร์เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ที่เมืองคอนเนอร์วิลล์ (Connorville) เคาน์ตีคอร์ก (Cork) ไอร์แลนด์ เขาอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากบุรพกษัตริย์ของไอร์แลนด์ บิดาเป็นผู้นำชาตินิยมคนหนึ่งของกลุ่มรวมชาวไอริช (United Irishmen) โอคอนเนอร์ได้รับการศึกษาในนครดับลิน (Dublin) และยึดอาชีพ นักกฎหมายก่อนที่จะหันสู่อาชีพนักการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสามัญอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ในฐานะผู้แทนจากเคาน์ตีคอร์ก เขาชื่นชมแดเนียล โอคอนเนลล์ (Daniel O’Connell)* เพื่อนร่วมชาติชาวไอริชที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองของชาวไอริชคาทอลิก การจัดตั้งสมาคมคาทอลิก (Catholic Association) ของโอคอนเนลล์เพื่อการรณรงค์ให้ชาวไอริชมีสิทธิเข้านั่งในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์สร้างแรงบันดาลใจให้โอคอนเนอร์คิดทำการใหญ่ตาม และทำให้ต่อมาผู้คนมักจะสับสนระหว่างบุคคล ๒ คนนี้ที่มีชื่อสกุลคล้ายคลึงกันแต่ไม่นาน โอคอนเนอร์ก็เกิดขัดแย้งกับโอคอนเนลล์และต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาใน ค.ศ. ๑๘๓๕ เพราะไม่สามารถผ่านคุณสมบัติด้านการถือครองทรัพย์สินขั้นต่ำสุดของการเป็นสมาชิกสภาได้ เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดหักเห ของชีวิตเพราะทำให้เขาเปลี่ยนไปพำนักในอังกฤษและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของชนชั้นแรงงานจนกลายเป็นผู้ปลุกปั่นทางการเมืองเป็นเนืองนิจ อย่างไรก็ดีโอคอนเนอร์ยังไม่ละทิ้งการต่อสู้เพื่อข้อเรียกร้องของชาวไอริชซึ่งเดือดร้อนจากการเสียประโยชน์ต่าง ๆ อันเนื่อง มาจากการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษ
     โอคอนเนอร์ได้เข้าร่วมกับขบวนการชาร์ทิสต์ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างนักการเมืองหัวก้าว หน้ากับผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง คนสำคัญคือ วิลเลียม โลเวตต์ (William Lovett) ช่างทำตู้ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ใช้แรงงานแห่งกรุงลอนดอน (London Working Men’s Association) ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ โลเวตต์เป็นผู้ยกร่าง กฎบัตรแห่งประชาชน (People’s Charter) ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ ซึ่งประกอบด้วยข้อเรียกร้อง ๖ ข้ออันเป็นไปเพื่อการให้สิทธิทางการเมืองแก่ชนชั้นแรงงาน ขบวนการนี้ได้แรงสนับสนุนในเขตเมืองขนาดกลางที่มีการประกอบอุตสาหกรรมดั้งเดิม ได้แก่ เหมืองแร่ ทอผ้า และงานช่างฝีมือ มากกว่าในเขตอุตสาหกรรมรุ่นหลังอย่างรถไฟ การถลุงเหล็ก และการก่อสร้าง ลักษณะของขบวนการในเขตกรุงลอนดอน เบอร์มิงแฮม (Burmingham) และสกอตแลนด์เป็นขบวนการทางจริยธรรม คือมีทั้งเรื่องสิทธิทางการเมืองและการให้ชนชั้นแรงงานรู้จักยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง แต่ในเขตอื่นขบวนการอาจมีการแสดงออกรุนแรงกว่าเพื่อประท้วงต่อสังคมอุตสาหกรรมที่สร้างความคับแค้นในการครองชีพ เช่น ช่างทอผ้าด้วยมือในมณฑลแลงคาเชียร์ (Lancashire) และช่างรับทอผ้าสักหลาดตามครัวเรือนในมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เพราะสังคมใหม่ใช้การผลิตโดยเครื่องจักรเป็นหลัก อีกทั้งรัฐก็ลดการให้ความช่วยเหลือแก่คนจนตามกฎหมายช่วยเหลือคนจนฉบับใหม่ (New Poor Law) ค.ศ. ๑๘๓๔ ขณะที่ความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ยังไม่บรรลุผล
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ ทอมัส แอตต์วูด (Thomas Attwood) นายธนาคารและสมาชิกสภาสามัญจากเมืองเบอร์มิงแฮม ( ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๓๙) ได้ยื่นกฎบัตรของขบวนการชาร์ทิสต์เป็นครั้งแรกต่อรัฐสภาพร้อมลายเซ็นของบุคคลที่สนับสนุนกฎบัตรจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน แต่สภาไม่ยอมรับพิจารณาซึ่งทำให้ขบวนการระส่ำระสาย โลเวตต์และแอตต์วูดไม่สามารถดูแลการจัดประชุมใหญ่ของขบวนการให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย จึงเปิดทางให้สมาชิกหัวรุนแรงมาร่วมดำเนินการ ทำให้นักเคลื่อนไหวจากเขตอุตสาหกรรม ทางเหนือที่ต่อต้านกฎหมายคนจนฉบับใหม่และระบบโรงงานเข้าร่วมชี้นำ โอคอนเนอร์ซึ่งไม่นิยมวิธีการเรียก ร้องอย่างสงบได้เข้าไปมีบทบาทแข็งขันจนกลายเป็นผู้นำที่โดดเด่น เขาทำงานอย่างทุ่มเทและเปี่ยมไปด้วย พลัง ใช้ภาษาที่มีทั้งมุขตลกและถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าวและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับอารมณ์ของผู้ฟังได้ ทันควัน ภายในเวลาไม่นานโอคอนเนอร์ก็กลายเป็นโฆษกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของขบวนการชาร์ทิสต์ มีผู้สนับสนุนเขาจำนวนมากในเขตอุตสาหกรรมทางเหนือของประเทศ นอกจากนี้ โอคอนเนอร์ยังใช้หนังสือพิมพ์รายปักษ์ The Northern Star ที่เขาพิมพ์จำหน่ายใน เมืองลีดส์ (Leeds) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๗ เป็นเครื่องมือโดย มีคนงานโรงงานทอผ้าเป็นผู้อ่านสำคัญและสื่อสารเรื่อง ราวของขบวนการชาร์ทิสต์ไปยังผู้ใช้แรงงาน หนังสือพิมพ์นี้ได้รับความนิยมมากกว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ The Northern Star จำหน่ายได้กว่า ๕๐,๐๐๐ ฉบับ
     อย่างไรก็ดี แม้โอคอนเนอร์ซึ่งมีรูปร่างสูง ผมสีแดงจะดึงดูดความนิยมของผู้คนจากการเป็นนักปราศรัยที่ มีน้ำเสียงดุดันเร้าใจ และเป็นเจ้าของสิ่งพิมพ์ที่กระจายข้อมูลและข่าวคราวความเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพโอคอนเนอร์กลับทำให้ผู้นำขบวนการชาร์ทิสต์คนอื่น ๆ เหินห่างจากขบวนการได้แก่โลเวตต์และบรอนแทร์ โอเบรียน (Bronterre O’Brien) ซึ่งเน้นจริยธรรมในการดำเนินงานมากกว่าโอคอนเนอร์ พวกเขาต้องการให้รัฐเห็นว่าผู้ใช้แรงงานมีความรับผิดชอบและเป็นผู้ควรได้รับความนับถือ ด้วยเหตุนี้จึงสมควรได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้นำขบวนการสายกลางนี้ไม่เห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำรุนแรงดึงดูดผู้ฟัง ขณะที่โอคอนเนอร์อ้างว่าเพื่อให้รัฐตื่นตกใจจะได้ดำเนินการปฏิรูปสังคมเพื่อชนชั้นแรงงาน ผู้นำสายกลางยังมีความเห็นว่าโอคอนเนอร์ไม่ให้ความสนใจที่จะปรับปรุงการศึกษาแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างที่พวกเขาเห็นความสำคัญเพราะจะทำให้ชนชั้นแรงงานมีความชอบธรรมในการใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ในภายหลังโอคอนเนอร์ยังถูกโจมตีว่าไม่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยม เพราะข้อเสนอในการปฏิรูปที่ดินของโอคอนเนอร์ดังเห็นได้จากในเวลาต่อมาเมื่อเขาประกาศจัดตั้งบริษัทที่ดินแห่งชาติ (National Land Company ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๕๑) นั้น เป็นการเสนอรูปแบบการถือครองที่ดินที่ล้าสมัย เพราะให้สมาชิกขบวนการชาร์ทิสต์ละทิ้งถิ่นพำนักในเมืองและไปตั้งถิ่นฐานในชนบทโดยไปทำกินในที่ดินแปลงเล็ก ๆ แทน โอเบรียนกล่าวว่าโอคอนเนอร์มีความคิดแบบนายทุนเจ้าของที่ดินเพราะพยายามให้สมาชิกของขบวนการชาร์ทิสต์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของบริษัทตน ซึ่งในที่สุดโครงการจัดสรรที่ดินของโอคอนเนอร์ก็ล่มสลายใน ค.ศ. ๑๘๕๑ แม้จะมีผู้สมัครเข้าโครงการ ๗๐,๐๐๐ คน โดยมีเพียง ๒๕๐ คนเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน
     ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ หลังจากโอคอนเนอร์ใช้ชีวิตในคุกอยู่ ๑๕ เดือนฐานกระทำผิดตามข้อหาที่ว่าใช้ถ้อยคำยุยงให้เกิดความไม่สงบ เขาก็รวบรวมผู้สนับสนุนรื้อฟื้นขบวนการชาร์ทิสต์ขึ้นใหม่หลังจากต้องยุติการเคลื่อนไหวใน ค.ศ. ๑๘๓๙ (โลเวตต์เองก็ถูกจำคุกใน ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๐ ด้วยข้อหาพิมพ์จุลสารประณาม การใช้ความรุนแรงของตำรวจ) โอคอนเนอร์ดำเนินการจัดตั้งสมาคมกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter Association) ขึ้นซึ่งคราวนี้เขาขึ้นเป็นผู้นำขบวนการชาร์ทิสต์โดยไม่มีใครโต้แย้ง แต่ในที่สุด เขาก็ไม่สามารถนำขบวนการต่อสู้จนบรรลุความสำเร็จตามกฎบัตรที่มีผู้ลงนามสนับสนุนกว่า ๓ ล้านคน เขาถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความแน่วแน่ในการเรียกร้องตามกฎบัตร ๖ ข้อ และทัศนคติของเขาต่อชนชั้นกลางก็เปลี่ยนไปมา อีกทั้งลายเซ็นของผู้ลงนามสนับสนุนกฎบัตรกว่า ๓ ล้านคนที่ เขานำเสนอสภาก็ปรากฏว่าเป็นลายเซ็นปลอมและหลายชื่อซ้ำกัน จึงกลายเป็นที่ขบขันของคนทั่วไป ทำให้การยื่นกฎบัตรต่อสภาใน ค.ศ. ๑๘๔๒ กลายเป็นเรื่องถูกดูแคลนเย้ยหยัน โอคอนเนอร์จึงเริ่มหมดบารมีและความนิยม แม้ว่าใน ค.ศ. ๑๘๔๗ เขาจะยังได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสามัญอีกครั้งโดยเป็นผู้แทนราษฎรจากเมืองนอตติงแฮม (Nottingham) ซึ่งนับเป็นสมาชิกสภาเพียงคนเดียวที่มาจากขบวนการชาร์ทิสต์
     ในวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๔๘ ขณะที่ประเทศบนภาคพื้นทวีปยุโรปกำลังมีการเคลื่อนไหวในช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* โอคอนเนอร์ก็คิดจะเลียนแบบก่อความเคลื่อนไหวใน อังกฤษบ้าง โดยเตรียมขบวนผู้เข้าร่วมยื่นกฎบัตรต่อสภาเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งหนังสือพิมพ์ Times รายงานว่ามี จำนวน ๒๐,๐๐๐ คน แต่โอคอนเนอร์อ้างว่ามีถึง ๕๐๐,๐๐๐ คน การรวมพลังครั้งนี้เขาอาศัยชาวไอริชอพยพที่ขุ่นแค้นอังกฤษอยู่และพวกคนรุ่นใหม่ที่ เคลื่อน ไหวต่อต้านรัฐในกรุงลอนดอน เช่น จอร์จ จูเลียน ฮาร์นีย์ (George Julian Harney) และเออร์เนสต์ โจนส (Ernest Jones) รัฐบาลได้สั่งห้ามการเดินขบวนที่โอคอนเนอร์ประกาศว่าจะเริ่มต้นจากเคนนิงตันคอมมอนส์ (Kennington Commons) ไปยังรัฐสภาและเตรียมกำลังทหารไว้แม้ว่าการสั่งห้ามจะทำให้โอคอนเนอร์บันดาลโทสะแต่เขาก็ขอให้ผู้เข้าร่วมขบวนสลายตัว อย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวครั้งนี้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขาอย่างรุนแรงเพราะความมีอุปนิสัยทะนงตน ทำให้เขาทั้งขมขื่นและอับอายมาก จึงหันไปดื่มสุราอย่างหนัก ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๒ โอคอนเนอร์ถูกประกาศว่าเสียสติ และถูกส่งตัวเข้าสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิต
     เพียร์กัส เอดเวิร์ด โอคอนเนอร์ถึงแก่กรรมอีก ๓ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๕๕ ณ กรุงลอนดอน ขณะอายุ ๕๙ ปีมีผู้ไปร่วมงานศพของเขากว่า ๕๐,๐๐๐ คน เนื่องจากเป็นบุคคลที่ รู้จักกันกว้างขวาง แม้คนทั่วไป เห็นว่าการที่โอคอนเนอร์หลงตนเองมากเกินไป จึงทำให้ผู้นำของขบวนการชาร์ทิสต์แตกร้าวกันและนำไปสู่ความอ่อนแอของขบวนการ แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ๆ บางคนก็เห็นคุณค่าของโอคอนเนอร์ว่าเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารได้โดยตรงกับสมาชิกของขบวนการและเปี่ยมไปด้วยพลังในการปลุกเร้าชนชั้นแรงงานซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมีสำนึกทางการเมืองนักให้ตื่นตัวในสิทธิของตน.



คำตั้ง
O’Connor, Feargus Edward
คำเทียบ
นายเฟียร์กัส เอดเวิร์ด โอคอนเนอร์
คำสำคัญ
- โอคอนเนลล์, แดเนียล
- โจนส์, เออร์เนสต์
- โอคอนเนอร์, เฟียร์กัส เอดเวิร์ด
- กฎบัตรแห่งประชาชน
- คอนเนอร์วิลล์, เมือง
- สมาคมคาทอลิก
- ขบวนการชาร์ทิสต์
- แลงคาเชียร์, มณฑล
- กลุ่มรวมชาวไอริช
- โลเวตต์, วิลเลียม
- สมาคมผู้ใช้แรงงานแห่งกรุงลอนดอน
- ดับลิน, นคร
- เคาน์ตีคอร์ก
- ยอร์กเชียร์, มณฑล
- โอเบรียน, บรอนแทร์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- สมาคมกฎบัตรแห่งชาติ
- กฎหมายช่วยเหลือคนยากจนฉบับใหม่
- แอตต์วูด, ทอมัส
- ฮาร์นีย์, จอร์จ จูเลียน
- เคนนิงตันคอมมอนส์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1796-1855
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๓๓๙-๒๓๙๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf