เอมมานูเอล โชแซฟ ซีแยสเป็นนักบวชนิกายโรมันคาทอลิกและนักทฤษฎีการเมืองช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* ข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของประชาชนหรือของฐานันดรที่ ๓ ในสังคมฝรั่งเศสแบบจารีตได้รับการตอบรับจากชาวฝรั่งเศสอย่างเซ็งแซ่และเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นกลางในการท้าทายอำนาจกษัตริย์และขุนนางก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสซีแยสมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศหลังการปฏิวัติและการจัดแบ่งเขตการบริหารปกครองใหม่เป็นจังหวัด (département) ต่าง ๆ เขาได้รับเลือกเป็นผู้บริหารคนหนึ่งเมื่อฝรั่งเศสปกครองแบบคณะกรรมการอำนวยการ (Directory)* แต่ไม่นานหลังจากนั้น ได้คบคิดกับนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* [ต่อมาคือ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)*] ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ ทำรัฐประหาร ๑๘ บรูแมร์ (18ᵗʰ Brumaire หรือ ๙ พฤศจิกายน) เพื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบกงสุล (Consulate System)* แต่แล้วในที่สุดเขาก็จำต้องยอมรับสถานะที่ถูกนายพลโบนาปาร์ตลดบทบาททางการเมืองของเขาลง
ซีแยสเกิดที่เมืองเฟรจูส์ (Fréjus) มณฑลโปรวองซ์ (Provence) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๘ เป็นบุตรคนที่ ๕ ของโอโนเร (Honoré) กับแอนนาแบล (Annabelle) ฃีแยส บิดาเป็นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีซึ่งมีรายได้น้อย เขาเล่าเรียนขั้นต้นกับนักบวชนิกายเยซูอิต (Jesuit) แม้ต้องการเป็นทหารแต่สุขภาพอ่อนแอและการที่ครอบครัวเคร่งศาสนาทำให้ซีแยสหันสู่เส้นทางอาชีพนักบวชเขาเรียนวิชาเทววิทยาที่วิทยาลัยดรากีญอง (College of Draguignan) และที่สามเณราลัยแห่งแซงซูลปิซ (Seminary of Saint Sulpice) ในกรุงปารีสเป็นเวลา ๑๐ ปี จากนั้นได้เล่าเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวชที่มหาวิทยาลัยปารีสหรือซอร์บอนน์ (Sorbonne) ณ ที่นั้น เขามีโอกาสศึกษาและชื่นชอบงานประพันธ์ของนักทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างจอห์นล็อก (John Locke) เอเตียน บอนโน เดอ กอนดิลยัก (Étienne Bonnot de Condillac) ฟรองซัว เกสเน (François Quesnay) โอโนเร กาเบรียล รีเกอตี, กงต์เดอมีราโบ (Honoré Gabriel Riqueti, Comte de Mirabeau) แอน-โรแบร์-ชาก ตูร์โก, บารงเดอโลน (Anne Robert-Jacques Turgot, Baron de Laune) และเหล่านักเขียนสารานุกรม (Encyclopédistes) เขาพบว่าการศึกษาแนวคิดทางการเมืองน่าสนใจมากกว่าวิชาเทววิทยา ใน ค.ศ. ๑๗๗๐ ซีแยสได้รับปริญญาแรกทางเทววิทยา โดยมีผลการเรียนอยู่ลำดับท้ายสุดของผู้สอบผ่าน สองปีต่อมาก็ได้เข้าบวช และได้วุฒิบัตรใน ค.ศ. ๑๗๗๔ เขาได้งานประจำครั้งแรกในปลาย ค.ศ. ๑๗๗๕ โดยเป็นเลขานุการของบิชอปแห่งเตรกีเยร์ (Tréguier) ซึ่งมาจากตระกูลสูงทำให้ซีแยสได้เข้านั่งในสภาฐานันดรแห่งมณฑลบริตตานี (Brittany) และเริ่มขุ่นเคืองกับอำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นอภิสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือฆราวาส ใน ค.ศ. ๑๗๘๐ บิชอปแห่งเตรกีเยร์ย้ายไปประจำที่เมืองชาตร์ (Chartres) ซึ่งทำให้ซีแยสรับรู้อีกว่าการเป็นชนชั้นสูงทำให้การเลื่อนสมณศักดิ์ของนักบวชเป็นไปได้โดยง่าย เขาติดตามไปที่เมืองชาตร์ด้วยและได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย (chancellor) ประจำสังฆมณฑล (diocese) แห่งชาตร์ แต่การที่เขาไม่มีชาติกำเนิดสูง เส้นทางการเลื่อนสมณศักดิ์ของเขาจึงมีขีดจำกัดตำแหน่งสูงสุดที่เขาได้รับคือเป็นผู้ช่วยบิชอป (vicar-general) ดังนั้น เมื่อมีข่าวใน ค.ศ. ๑๗๘๘ ว่าจะมีการเรียกประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติ (Estates-General) ซีแยสกำลังขุ่นเคืองกับโชคชะตาของตนอยู่และไม่พอใจที่นักบวชซึ่งเป็นชนชั้นสูงได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* ทรงตัดสินพระทัยให้เปิดการประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติหลังว่างเว้นการประชุมมามากกว่า ๑ ศตวรรษครึ่ง เมื่อความพยายามแก้ปัญหาการคลังของประเทศถูกต่อต้านขัดขวางจากสถาบันขุนนาง ชาก เนกแกร์ (Jacques Necker)* เสนาบดีว่าการคลังก็เสนอให้บรรดานักคิดช่วยกันนำเสนอรูปแบบการประชุมที่ทางการกำลังจะจัดขึ้น ซีแยสซึ่งเคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในงานเขียนของเขาชื่อ Essay on the privileges ที่ทำให้บรรดานักปฏิรูปการปกครองสนใจผลงานของเขาก็ได้เสนอจุลสารขนาด ๒๐,๐๐๐ คำ เรื่อง What Is the Third Estate? ซึ่งกลายเป็นผลงานลือลั่นที่ทำให้เขาโด่งดังมีชื่อเสียงและชื่อจุลสารนี่ก็กลายเป็นวลีสำคัญในหมู่นักปฏิวัติฝรั่งเศส ซีแยสเริ่มต้นงานขึ้นนี้ด้วยประโยคคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดซึ่งกลายเป็นวาทะสำคัญว่า “What is the Third Estate? Everything. What has it been hitherto in the political order? Nothing. What does it desire to be ? Something.” จุลสารชิ้นนี้ของซีแยสมีผลต่อกระแสความคิดปฏิวัติขณะนั้นมาก เขาพูดถึงความปรารถนาและความเหลืออดของกลุ่มชนที่ประกอบกันเป็นฐานันดรที่ ๓ ซึ่งถูกสังคมละเลย เขาโจมตีรากฐานของระบอบเก่า (Ancien Régime) โดยกล่าวว่าชนชั้นขุนนางฉ้อโกงเอาเปรียบชนชั้นกลางที่ต้องแบกรับภาระหนักด้วยความคับแค้นใจ ขณะที่ชนชั้นสูงถือว่าตนเป็นชนชั้นนำที่ปกครองและรักษาระเบียบในสังคม ซีแยสกลับเห็นว่าพวกนี้กอบโกยส่วนดี ๆ ของสังคมไปโดยไม่ได้ผลิตอะไรเลย ซึ่งต่างกับชนชั้นที่ ๓ ที่ผลิตทั้งสินค้าและให้บริการเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม การตอบรับจุลสารชิ้นนี้ของมหาชนทำให้ซีแยสได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของฐานันดรที่ ๓ จากเขตกรุงปารีสทั้ง ๆ ที่โดยอาชีพแล้วเขาสังกัดอยู่ในฐานันดรที่ ๑
เมื่อมีการเลือกผู้แทนเข้าสภาฐานันดรแห่งชาตินั้นซีแยสชักชวนให้ผู้แทนฐานันดรที่ ๑ และที่ ๒ รวมเข้ากับผู้แทนฐานันดรที่ ๓ เพื่อเป็นตัวแทนของสังคมร่วมกัน และในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๘๙ ผู้แทนฐานันดรที่ ๓ ก็ประกาศจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) ตามข้อเสนอของซีแยสแทนสภาฐานันดรแห่งชาติที่เปิดการประชุมเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม สมดังที่ซีแยสระบุว่าฐานันดรที่ ๓ เท่านั้นที่มีสิทธิร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ ซีแยสดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างวันที่ ๘-๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๐ ในช่วงแรก ๆ ของการปฏิวัติ ซีแยสมีส่วนในการร่างคำประกาศสิทธิแห่งมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and the Citizen)* ซึ่งเป็นการขยายความคิดของทฤษฏีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยแห่งชาติอำนาจอธิปไตยของประชาชน และระบบผู้แทนซึ่งเขาระบุเป็นนัย ๆ ให้มีการแบ่งพลเมืองเป็น ๒ ประเภท คือ พลเมืองผู้มีบทบาท (active citizen) และพลเมืองผู้ปฏิบัติตาม (passive citizen) และให้สิทธิเลือกตั้งจำกัดอยู่กับพลเมืองประเภทแรกคือชายที่ถือครองทรัพย์สิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันว่าอำนาจจะคงอยู่ในมือของชนชั้นกลาง ซีแยสเห็นว่าสิทธิในการออกเสียงของคนยากจนจะถูกคนรวยกว้านชื้อโดยง่าย คนจนจึงไม่ควรได้รับสิทธิ
อย่างไรก็ดี เมื่อซีแยสไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกภาษีบำรุงศาสนาหรือภาษีร้อยชักสิบ (tithes) และการยึดครองที่ดินของศาสนจักร เขาก็สร้างความไม่พอใจให้บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๗๙๐ ความนิยมในตัวซีแยสซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ค่อยถนัดในการกล่าวปราศรัยหรือแสดงโวหารในที่ประชุมต่าง ๆ เท่ากับการเขียนก็ลดลงเรื่อย ๆ เขามีบทบาทอีกครั้งเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าสภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) ซึ่งสถาปนาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ จากเขตซาร์ต (Sarthe) แต่เมื่อกลุ่มชาโกแบ็ง (Jacobin) ได้อำนาจในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๓ และเหตุการณ์การปฏิวัติดำเนินไปจนถึงสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)* ซีแยสไม่เห็นด้วยทั้งรู้สึกหวั่นกลัวจึงค่อนข้างเก็บตัวเงียบเพราะเขาไม่มีความกล้าหาญหรือมีอำนาจพอที่จะระงับความรุนแรงต่าง ๆ ขณะที่เป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการแห่งสวัสดิภาพปวงชน (Committee of Public Safety) อยู่ ซีแยสก็เป็นผู้หนึ่งที่ออกเสียงให้ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ กล่าวกันว่าเขาได้สละการเป็นนักบวชโดยการประกาศในสภากงวองซิยงว่าสิ่งที่เขาบูชาคือเสรีภาพและความเสมอภาคศาสนาของเขาก็คือความรักในมนุษยชาติและต่อประเทศ ภายหลังต่อมาเมื่อมีการไถ่ถามว่าในช่วงนั้นเขาทำอะไร คำตอบของซีแยสที่เป็นที่กล่าวขานกันคือ “ข้าพเจ้ายังมีชีวิตรอดอยู่” (I survived.)
หลังการประหารมักซีมีเลียง เดอ โรแบสปีแยร์ (Maximilien de Robespierre)* ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ ซีแยสมีบทบาทอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๗๙๕ โดยได้เป็นประธานสภาระหว่าง ๒๐ เมษายน- ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๕ และเดินทางไปกรุงเฮกในภารกิจทางการทูต เขามีส่วนร่วมในการร่างสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับสหมณฑล (The United Provinces) ต่อมา เมื่อซีแยสไม่พอใจกับธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๕ ที่คณะกรรมการอำนวยการประกาศใช้ เขาจึงปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการ (Director) ตามที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา (Council of Ancients) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ ซีแยสเป็นทูตฝรั่งเศสไปประจำกรุงเบอร์ลินและพยายามจะโน้มน้าวให้ปรัสเซียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒ (Second Coalition War) แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของเขาก็ยังได้รับการยอมรับอยู่ ทำให้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ ซีแยสได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอำนวยการเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อแทนที่ชอง-ฟรองซัว เรอเบลล์ (Jean-François Reubell) ร่วมกับกรรมการอำนวยการอีก ๔ คน และได้เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการระหว่าง ๑๙ มิถุนายน - ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๙ เมื่อเขาเห็นว่าระบอบที่เป็นอยู่มีแต่สมาชิกสภาเสียงข้างน้อยสนับสนุน และถูกต่อต้านจากทั้งพวกนิยมสาธารณรัฐหัวรุนแรงและพวกกษัตริย์นิยม ซีแยสจึงต้องการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นซึ่งหมายความว่าเขาจะต้องโค่นล้มฝ่ายนิติบัญญัติ ซีแยสจึงคิดล้มระบอบคณะกรรมการอำนวยการ เลิกล้มรัฐธรรมนูญ และปิดสโมสรชาโกแบ็ง (Jacobin Club) กรรมการอำนวยการคนหนึ่งและซีแยสเห็นว่าควรหาเสียงสนับสนุนจากกองทัพ เขาจึงยื่นข้อเสนอกับนายพลบาร์เทเลอมี กาเทอรีน จูแบร์ (Barthélemy Catherine Joubert) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดว่าพร้อมจะสนับสนุนการทำรัฐประหาร นายพลจูแบเกิดเสียชีวิตในยุทธการที่โนวี (Battle of Novi) ในคาบสมุทรอิตาลีและนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ตก็เดินทางกลับจากสมรภูมิในอียิปต์สู่กรุงปารีส ซีแยสหันไปทำความตกลงกับโบนาปาร์ตและร่วมมือในการทำรัฐประหาร ๑๘ บรูแมร์ (๙ พฤศจิกายน) ค.ศ. ๑๗๙๙
ในวันรุ่งขึ้น ซีแยส โบนาปาร์ต และปีแยร์-โรเช ดูโก (Pierre-Roger Ducos) ก็รับตำแหน่งกงสุลชั่วคราว หลังจากนั้น ซีแยสเสนอร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เขาใฝ่ฝันโดยให้มีการถ่วงดุลอำนาจในหมู่ผู้บริหาร แต่โบนาปาร์ตปรับแก้อย่างมากจนเหมือนกับทำรัฐประหารอีกครั้งเพื่อให้ตนเองเป็นกงสุลคนที่ ๑ และเป็นผู้ปกครองสูงสุดของฝรั่งเศส ในไม่ช้าซีแยสก็ต้องยินยอมลาออกจากการเป็นกงสุลในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ และรับตำแหน่งและผลประโยชน์อื่น ๆ แทนเขาได้เป็นประธานสภาสูงพร้อมทั้งได้รับที่ดินผืนใหญ่ที่โกรสเนอ (Crosne) หรือเขตแซนเอตัวส์ (Seine-et-Oise) จากนโปเลียนและได้รับเลือกเข้าราชบัณฑิตยสภาเพราะผลงานในอดีตของซีแยสสะท้อนความเป็นนักคิดของเขากล่าวกันว่าซีแยสเป็นผู้ประดิษฐ์คำ “sociologie” (สังคมวิทยา) ใน ค.ศ.๑๗๘๙ เพื่อหมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยสังคม และ ๕๐ ปีต่อมา โอกุสต์ กงต์ (Auguste Comte) ได้นำไปใช้และวางรากฐานของวิชานี้จนเป็นที่รับรู้ในปัจจุบัน ส่วนดูโก กงสุลอีกคนก็ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน
ในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* ซีแยสแทบไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนใน ค.ศ. ๑๘๐๔ เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion of Honour ที่จักรพรรดินโปเลียนทรงจัดทำขึ้นหลังพิธีบรมราชาภิเษก และต่อมาได้บรรดาศักดิ์กงต์ (Comte) หรือเคานต์แห่งจักรวรรดิ (Count of the Empire) ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ หลังจากนั้น เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จกลับมาปกครองฝรั่งเศสช่วงสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซีแยสได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสูงแต่หลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* ทรงกลับมาปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งหลังการเนรเทศจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ให้ใปประทับที่หมู่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena Islands) ซีแยสก็ถูกเนรเทศด้วยเพราะเป็นผู้ที่ร่วมออกเสียงเห็นชอบให้ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เขาต้องลี้ภัยไปพำนักที่กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) และกลับไปฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ (French Revolution, 1830)* เมื่อมีการโค่นอำนาจพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๐ (Charles X)* กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)*
เอมมานูเอล โชแซฟ ซีแยสซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามอับเบ ซีแยส (Abbé Sieyès) ถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงปารีสในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๖ รวมอายุ ๘๘ ปี.