Sèvres, Treaty of (1920)

สนธิสัญญาแซฟวร์ (พ.ศ. ๒๔๖๓)

สนธิสัญญาแซฟวร์เป็นสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ฉบับสุดท้ายที่ลงนามระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกับรัฐบาลจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี ณ เมืองแซฟวร์ (Sèvres) ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ สนธิสัญญาฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ทำให้จักรวรรดิออตโตมันต้องถูกยุบเลิกลงและมีการแบ่งแยกดินแดนรวมทั้งจัดเขตแดนใหม่ และทำให้รัฐบาลใหม่ของตุรกีที่มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mustapha Kemal Atatürk)* จัดตั้งขึ้นไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ตุรกีมากเกินไป ทั้งยังมีเงื่อนไขรุนแรงกว่าสนธิสัญญาสันติภาพฉบับอื่น ๆ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำกับออสเตรีย ฮังการี และบัลแกเรีย จึงได้ร้องขอต่อมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยินยอมจึงเกิดการจัดทำสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ขึ้นมาใช้แทนสนธิสัญญาแซฟวร์

 สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่อเยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซีย หลังจากนั้นในวันที่ ๒ สิงหาคม รัฐบาลออตโตมันได้ทำสนธิสัญญาลับกับเยอรมนีเพื่อเป็นพันธมิตรและร่วมมือกันต่อต้านรัสเซีย แต่จนกระทั่งสงครามขยายตัวไปอย่างกว้างขวางแล้วออตโตมันก็ยังไม่ได้เข้าสู่สงคราม เนื่องจากทั้งอังกฤษและเยอรมนีซึ่งอยู่คนละฝ่ายต่างก็กำลังพยายามหว่านล้อมให้ออตโตมันเป็นฝ่ายตน โดยเฉพาะเยอรมนีต้องการให้ออตโตมันเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เป็นอย่างมากเพราะต้องการให้ช่วยตัดกำลังกองทัพรัสเซียบริเวณช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* และทะเลดำ (Black Sea) บรรดานายพลเยอรมันซึ่งเป็นที่ปรึกษาในกองทัพบกออตโตมันจึงพยายามอย่างหนักในการหว่านล้อมให้ออตโตมันเข้าสู่สงคราม ในที่สุด ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ นายพลอิสมาอิล เอนเวอร์ ปาชา (Ismail Enver Pasha) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามของจักรวรรดิออตโตมันก็ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยอยู่ในฝ่ายมหาอำนาจกลางร่วมกับเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และบัลแกเรีย เหตุผลหลักที่เข้าอยู่ในฝ่ายมหาอำนาจกลาง นอกจากเพื่อรักษาสัญญาลับที่ทำไว้กับเยอรมนีแล้วยังต้องการลดอิทธิพลและอำนาจของรัสเซียศัตรูเก่าที่พยายามขยายอำนาจเข้ามาในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลดำ และช่องแคบตุรกี (Turkish Straits) เพื่อแสวงหาท่าเรือนํ้าอุ่นตั้งแต่สมัยซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ จนมีเรื่องกระทบกระทั่งกับออตโตมันหลายครั้ง นอกจากนี้ สุลต่านเมห์เมดที่ ๕ (Mehmed V) ยังต้องการดินแดนที่สูญเสียไปในสงครามครั้งก่อน ๆ กลับคืนมาด้วย อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สงครามของออตโตมันก็ทำให้สมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขยายวงกว้างออกไปในตะวันออกกลางและบริเวณเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ในรัสเซีย ในช่วงแรก ๆ ออตโตมันมีท่าทีว่าจะทำการรบได้ผล แต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๑๘ กองทัพออตโตมันกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่องในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศก็เสื่อมโทรมลงทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในที่สุดเมื่อออตโตมันเห็นว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางจะแพ้สงครามอย่างแน่นอนออตโตมันก็ประกาศยอมแพ้และลงนามในความตกลงหยุดยิงมูดรอส (Armistice of Mudros) กับผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนสงครามสิ้นสุดลงเพียง ๑๒ วัน

 ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ แม้ว่าการเจรจาเพื่อยกร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และกติกาสันนิบาตชาติ (League Covenant) จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ครอบงำการประชุมส่วนใหญ่ แต่ก็ได้มีการจัดสรรเวลาสำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับอื่น ๆ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องลงนามกับประเทศผู้แพ้สงครามอีก ๔ ประเทศด้วย ได้แก่ สนธิสัญญาเนยยี (Treaty of Neuilly)* กับบัลแกเรีย สนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* กับออสเตรีย สนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon)* กับฮังการี และสนธิสัญญาแซฟวร์กับออตโตมันโดยเฉพาะสนธิสัญญาแซฟวร์มีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ เพราะเป็นสนธิสัญญาที่ไม่ได้จัดการกับปัญหาของยุโรปโดยตรง แต่เป็นการจัดการกับปัญหานอกยุโรป นอกจากนี้ หลักการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self-determination) ที่นำมาใช้กับออตโตมันก็ไม่ได้เป็นหลักการเดียวกันกับหลักการที่ใช้กับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เนื่องจากมหาอำนาจผู้ชนะสงครามปฏิบัติต่อออตโตมันเสมือนเป็นอาณานิคมไม่ใช่ในฐานะประเทศเอกราชดังเช่นประเทศในยุโรป นอกจากนี้ มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรยังต้องการแบ่งแยกจักรวรรดิออตโตมันตามข้อตกลงที่ทำไว้ในระหว่างสงครามด้วย เพราะใน ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๗ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และกรีซได้ทำความตกลงระหว่างกันหลายฉบับเกี่ยวกับการแบ่งแยกจักรวรรดิออตโตมัน เนื่องจากมหาอำนาจเหล่านี้รู้ดีว่ากลุ่มรัฐอาหรับต้องการแยกตัวออกจากจักรวรรดิออตโตมันอยู่แล้ว จึงต้องการเข้าไปแทรกแซงเพื่อรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตนในตะวันออกกลาง ความตกลงเหล่านั้นยังรวมถึงการแบ่งแยกจักรวรรดิออกจากใจกลางของเอเชียไมเนอร์ด้วย และแม้ว่าหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ แล้วอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีจะได้เปลี่ยนแปลงและยกเลิกผลประโยชน์ที่รัสเซียจะได้รับออกไป แต่สาระสำคัญเกี่ยวกับการแบ่งแยกจักรวรรดิออตโตมันก็ยังคงมีอยู่ มหาอำนาจผู้ชนะสงครามจึงพยายามต่อรองระหว่างกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ใต้ดินแดนและผลประโยชน์ตามที่ตนต้องการ การเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมันจึงดำเนินไปอย่างล่าช้า

 นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาที่แวร์ซายอีกด้วย คือ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ อิตาลีส่งกองกำลังเข้าไปในอะดาเลีย (Adalia) ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันที่อยู่ทางตอนใต้ของเอเชียไมเนอร์โดยพลการ และในเดือนพฤษภาคมกรีซก็ยกพลขึ้นบกเข้าไปยึดครองสมีร์นา (Smyrna) ของออตโตมันซึ่งทำให้เกิดสงครามกรีก-ตุรกี (Greco-Turkish War ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๒) ขึ้นในเดือนเดียวกัน การแบ่งแยกจักรวรรดิออตโตมันจึงยังไม่ลงตัว ประกอบกับการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาแวร์ซายก็ยังมีอุปสรรคปัญหาหลายประการอีกทั้งมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษต้องการให้มีการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งเป็นสนธิสัญญาหลักก่อนเพื่อทำให้สิทธิการครอบครองดินแดนรวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจและการค้าของเยอรมนีในบริเวณตะวันออกกลางเป็นโมฆะ เพื่อมหาอำนาจเหล่านี้จะได้เข้าไปจัดการได้อย่างเต็มที่ การเจรจาที่แวร์ซายเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมันซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจึงยังไม่เสร็จสิ้นพร้อม ๆ กับสนธิสัญญาแวร์ซาย

 ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลียังได้ลงนามในความตกลงลับที่เรียกว่า “ความตกลงสามมหาอำนาจ” (Tripartite Agreement) เพื่อยํ้าสิทธิการครอบครองเส้นทางขนส่งนํ้ามันและการค้าของอังกฤษในจักรวรรดิออตโตมัน รวมทั้งโอนสิทธิทางการค้าของเยอรมนีไปอยู่ในการจัดการดูแลของ ๓ มหาอำนาจ หลังจากนั้นมหาอำนาจทั้งสามยังได้นำเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของตนไปเจรจาต่อรองกันอีกครั้งในการประชุมที่กรุงลอนดอน (London Conference) ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้สนธิสัญญาแซฟวร์เพิ่งปรากฏรูปร่างชัดเจนในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีของประเทศทั้งสามที่เมืองซานเรโม (San Remo) ในอิตาลีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ และหลังจากนั้นก็ยังมีการเจรจาระหว่างกันอีกแต่ก็ยังล่าช้ามาอีกหลายเดือนเพราะมหาอำนาจยังตกลงกันในบางเรื่องไม่ได้ รวมทั้งต้องการรอดูผลของการต่อสู้ของขบวนการชาตินิยมที่อะตาเติร์กเป็นหัวหน้าด้วย ในที่สุด ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ผู้แทนรัฐบาลออตโตมันก็ได้รับเชิญให้ไปลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ณ ห้องโถงแสดงสินค้าอันโอ่อ่าของโรงงานอุตสาหกรรมพอร์ซเลนที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในเมืองแซฟวร์

 สนธิสัญญาแซฟวร์มีสาระที่เป็นการลงโทษจักรวรรดิออตโตมันในเรื่องที่สำคัญหลายประการ ทั้งในเรื่องดินแดนการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และการเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจการคลังและการบริหารงานในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องดินแดนเงื่อนไขของสนธิสัญญามีผลให้จักรวรรดิออตโตมันลูกยุบเลิกลง เนื่องจากสนธิสัญญากำหนดให้ออตโตมันยกเอเดรียโนเปิล [(Adrianople) หรือเอดีร์นา (Edirna)] เทรซตะวันออก (Eastern Thrace) และสมีร์นาให้แก่กรีซเกาะโรดส์ (Rhodes) และหมู่เกาะโดเดคานีส (Dodecanese Islands)* ให้แก่อิตาลี มีการจัดตั้งสาธารณรัฐอาร์เมเนีย (Republic of Armenia) ขึ้นใหม่ (ต่อมาสาธารณรัฐนี้ถูกยกเลิกไป) และให้คูร์ดิสถาน (Kurdistan) ได้รับสิทธิปกครองตนเอง นอกจากนี้ ออตโตมันยังสูญเสียสิทธิครอบครองรัฐอาหรับทั้งหมด โดยต้องยกซีเรีย (Syria) และเลบานอน (Lebanon) ให้เป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส ขณะที่ปาเลสไตน์ (Palestine) อิรัก (Iraq) และทรานส์จอร์แดน [(Transjordan) ปัจจุบันคือประเทศจอร์แดน] ตกเป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติภายใต้การดูแลของอังกฤษ ช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus)* และดาร์ดะเนลส์ถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารซึ่งจะอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการนานาชาติ นอกจากนี้ ออตโตมันจะต้องยอมให้เรือของชาติต่าง ๆ ผ่านบริเวณช่องแคบตุรกีได้โดยเสรี โดยจะไม่มีการปิดกั้นใด ๆ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการของสันนิบาตชาติเพื่อบังคับใช้สนธิสัญญาแซฟวร์ การจัดแบ่งดังกล่าวทำให้ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรปถูกลดลงจนเหลือเพียงแค่ดินแดนรอบ ๆ กรุงคอนสแตนติโนเปิล [Constantinople ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๐ มีประกาศเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็นอิสตันบูล (Istanbul)] เท่านั้น ส่วนในเรื่องการทหารตุรกีจะต้องลดกำลังกองทัพบกให้เหลือเพียง ๕๐,๗๐๐ นาย ส่วนกองทัพเรือสนธิสัญญาอนุญาตให้มีเรือรบสมรรถนะตํ่าได้เพียง ๗ ลำ และเรือตอร์ปิโด ๖ ลำ และไม่อนุญาตให้มีกองทัพอากาศ นอกจากนี้ ออตโตมันยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากให้แก่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรโดยให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมาธิการค่าปฏิกรรมสงคราม (Reparations Commission)

 สนธิสัญญาแซฟวร์ยังกำหนดให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าไปควบคุมการคลังของจักรวรรดิด้วย ซึ่งครอบคลุมไปถึงการรับรองและการตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน การออกกฎหมายการคลังและระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนการเข้าไปควบคุมธนาคารกลางแห่งจักรวรรดิด้วยทั้งยังมีการปรับปรุงคณะกรรมการบริหารการใช้หนี้สาธารณะของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Public Debt Administration of the Ottoman Empire) ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๑ ใหม่ โดยให้ประกอบด้วยผู้แทนผู้ถือพันธบัตรจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีเท่านั้น นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังจะเข้าไปควบคุมการเก็บภาษีศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออก ตลอดจนจะต้องมีการปรับปรุงระบบภาษีอากรใหม่ การกู้ยืมเงินทั้งภายในและภายนอกจักรวรรดิไม่สามารถกระทำได้โดยปราศจากความเห็นชอบและยินยอมของคณะกรรมาธิการฝ่ายสัมพันธมิตร สนธิสัญญายังกำหนดให้รัฐบาลออตโตมันยึดทรัพย์สินของชาวเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี และบัลแกเรียที่มีอยู่ภายในจักรวรรดิมาเป็นของรัฐโดยให้ส่งต่อทรัพย์สินเหล่านั้นไปยังคณะกรรมาธิการค่าปฏิกรรมสงคราม ทั้งยังให้ยกเลิกสิทธิในทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัททางรถไฟสายแบกแดด (Baghdad Railway) ที่เยอรมนีเป็นเจ้าของด้วย ในขณะเดียวกัน จักรวรรดิออตโตมันจะต้องปรับปรุงแก้ไขระบบการศาลของตนให้ทันสมัยและจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยให้สิทธิแก่ชนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้นตามเวลาที่กำหนดแม้ว่าสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ (Mehmed VI) ผู้ครองจักรวรรดิในขณะนั้นจะทรงตระหนักดีว่าออตโตมันต้องสูญเสียผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างมากแต่เนื่องจากพระองค์ต้องการรักษาราชบัลลังก์ไว้ จึงจำต้องส่งผู้แทนไปลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ อย่างไรก็ดี ก่อนการลงนามผู้แทนตุรกียังได้พยายามต่อรองในประเด็นสำคัญบางประเด็นโดยเฉพาะในเรื่องดินแดนที่จักรวรรดิออตโตมันเสียให้แก่รัสเซียในอดีต แต่ก็ไม่ได้ผล

 สนธิสัญญาแซฟวร์ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากบรรดาชาวเติร์กผู้รักชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากอะตาเติร์กผู้นำขบวนการชาตินิยมตุรกีซึ่งได้ก่อการปฏิวัติการปกครองในระบอบราชาธิปไตรของสุลต่านผู้ครองจักรวรรดิออตโตมันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่แยกตัวออกจากรัฐบาลที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงอังโกรา [Angora ปัจจุบันคือกรุงอังการา (Angara)] ในทันทีที่เขาได้รับทราบสาระของสนธิสัญญาฉบับนี้ อะตาเติร์กประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงมูดรอสและสนธิสัญญาแซฟวร์โดยให้เหตุผลว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ตุรกีมากเกินไป นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เขายังปฏิเสธข้อเสนอของอาห์เมด เทฟฟิกซ์ ปาชา (Ahmed Tevfix Pasha) นายกรัฐมนตรีรัฐบาลสุลต่านที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ขอให้รัฐบาลอะตาเติร์กร่วมมือในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวจึงไม่ได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐบาลทั้งสอง แต่นอกเหนือไปจากนี้ อะตาเติร์กก็ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ โดยตรงกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้เพราะในขณะนั้นรัฐบาลไหม่ของคณะปฏิวัติยังไม่มั่นคง จึงไม่มีพลังต่อรองมากนัก เนื่องจากการรวมอำนาจเพื่อการจัดตั้งสาธารณรัฐตุรกียังไม่เสร็จสมบรูณ์ รวมทั้งยังต้องติดพันกับการทำสงครามกรีก-ตุรกีซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ ด้วย

 อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ กองทัพตุรกีที่มีอะตาเติร์กเป็นผู้นำก็สามารถตีรุกไล่กองทัพกรีกออกไปจากดินแดนตุรกีได้เกือบหมด ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้าข้างกรีซเริ่มมีท่าทีผ่อนปรนกับรัฐบาลอะตาเติร์ก โดยเฉพาะยุทธการที่ซาการ์ยา (Battle of Sakarya) ระหว่างวันที่ ๒๓ สิงหาคมถึงวันที่ ๑๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพกรีกได้ทำให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเสนอ ต่ออะตาเติร์กให้มีการใช้สนธิสัญญาแซฟวร์ฉบับปรับปรุงใหม่ แต่อะตาเติร์กปฏิเสธข้อเสนอนี้ ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๒ กองทัพตุรกีของรัฐบาลอะตาเติร์กเปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่จนสามารถเข้ายึดครองดินแดนสมีร์นากลับคืนมาได้ในวันที่ ๙ กันยายนปีเดียวกัน ทั้งยังสามารถผลักดันกองทัพร่วมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาประจำการอยู่ที่ช่องแคบดาดะเนลส์ออกไปจากดินแดนตุรกีได้ทั้งหมดซึ่งมีผลให้ตุรกีได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด และมีการลงนามในอนุสัญญามูดันยา (Mudanya Convention) กับกรีซเพื่อยุติสงครามในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยกรีซตกลงคืนดินแดนที่ยึดไว้ได้ทั้งหมดให้แก่ตุรกี รัฐบาลสาธารณรัฐของอะตาเติร์กจึงเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจและมีพลังต่อรองมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

 นอกจากนี้ อะตาเติร์กยังได้ประกาศอย่างชัดเจนหลายครั้งว่ารัฐบาลตุรกีที่อังการาซึ่งเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ของตุรกีจะไม่ยอมรับสนธิสัญญาแซฟวร์หรือข้อตกลงใด ๆ ที่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำไว้กับรัฐบาลออตโตมันจนกว่าจะมีการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน ฉะนั้น หลังชัยชนะของตุรกีในสงครามกรีก-ตุรกี มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่และยุติข้อขัดแย้งระหว่างตุรกีกับกรีซการประชุมดำเนินมาจนถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๓ ก็ยุติลงชั่วคราวและเริ่มประชุมใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน-๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ในระหว่างการประชุมผู้แทนรัฐบาลตุรกีที่อังการาปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายสัมพันธมิตรทุกประการที่จะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของตุรกี โดยเฉพาะการเข้าไปควบคุมกิจการการคลังและการใช้จ่ายของตุรกีโดยฝ่ายสัมพันธมิตร การเข้าไปควบคุมช่องแคบตุรกีและอื่น ๆ ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันได้ เพราะมหาอำนาจรับรองสิทธิการปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ของสาธารณรัฐตุรกีที่จะประกาศจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ฝ่ายสัมพันธมิตรยกเลิกการเข้าไปควบคุมกิจการด้านการคลังและการทหารของตุรกี รวมทั้งได้ยกเลิกค่าปฏิกรรมสงครามส่วนใหญ่ยกเว้นหนี้รายสำคัญ ๆ ของอดีตจักรวรรดิออตโตมันทั้งยังยอมยกเลิกสิทธิพิเศษและสัมปทานทางการค้าตลอดจนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านการศาลที่จักรวรรดิออตโตมันเคยให้แก่ชาวต่างชาติ โดยมีข้อแม้ว่าตุรกีจะต้องปฏิรูปการศาลให้สอดคล้องกับระบบสากล นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรดินแดนที่ตุรกีจะต้องมอบให้แก่ประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตามสนธิสัญญาแซฟวร์ใหม่ แม้ว่าตุรกีจะยังสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลอะตาเติร์กยอมรับได้ ดังนั้น การเจรจาจึงเสร็จสิ้นลงและสนธิสัญญาสันติภาพฉบับใหม่หรือสนธิสัญญาโลซานก็ได้รับการลงนามในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ทำให้สนธิสัญญาแซฟวร์ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย.



คำตั้ง
Sèvres, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาแซฟวร์
คำสำคัญ
- การประชุมที่กรุงลอนดอน
- ความตกลงสามมหาอำนาจ
- ความตกลงหยุดยิงมูดรอส
- เคมาล อะตาเติร์ก, มุสตาฟา
- บัลแกเรีย
- มหาอำนาจกลาง
- ยุทธการที่ซาการ์ยา
- สงครามกรีก-ตุรกี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาแซฟวร์
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญาเนยยี
- สนธิสัญญาโลซาน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สวิตเซอร์แลนด์
- สันนิบาตชาติ
- สิทธิปกครองตนเอง
- อนุสัญญามูดันยา
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เอนเวอร์ ปาชา, อิสมาอิล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1920
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-