ไอร์แลนด์เหนือ เป็นดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไอร์แลนด์ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งในจำนวน ๔ แห่งที่ประกอบเป็นประเทศสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ดินแดนส่วนนี้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปกครองไอร์แลนด์ (Government of Ireland Act) ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยครอบคลุมดินแดน ๖ มณฑลเดิมของเขตอัลสเตอร์ (Ulster) ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณ ๑ ใน ๔ แห่งของเกาะไอร์แลนด์ไอร์แลนด์เหนือได้สิทธิปกครองตนเองจากรัฐบาล อังกฤษโดยมีคณะผู้บริหารและสภานิติบัญญัติของตนเอง แต่ความขัดแย้งในหมู่ประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์เป็นมูลเหตุให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งก่อความเสียหายไม่เฉพาะแต่กองกำลังที่ปะทะกันหากยังรวมถึงอาคารสถานที่ต่าง ๆ ทั้งทำลายชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและของอังกฤษตลอดจนพลเรือนในไอร์แลนด์เหนือด้วย ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๒ อังกฤษระงับสิทธิการปกครองตนเองของไอร์แลนด์เหนือมาเป็นระยะ ๆ และแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นดูแลโดยตรง การระงับบางระยะก็ยาวนาน คณะผู้บริหารชุดล่าสุดเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ หลังจากที่ว่างเว้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ เมื่อกองกำลังสาธารณรัฐไอริชหรือไออาร์เอ (Irish Republican Army - IRA)* กลุ่มโพรวิชันแนล (Provisional)ยินยอมปลดอาวุธตนเองในที่สุด
ไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของเกาะไอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ในเขตชายขอบทิศตะวันตกของทวีปยุโรปที่เรียกว่ายุโรปฝั่งแอตแลนติก (Atlantic Europe) เขตที่ เป็นไอร์แลนด์เหนือมักเรียกโดยรวมว่าอัลสเตอร์ มีเนื้อที่ ๑๔,๑๒๑ ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น ๒๖ เขตการปกครอง (district) ซึ่งเท่ากับ ๑ ใน ๖ ของเนื้อที่ เกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตภูเขา มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย ตอนกลางมีลักเนก์ (Lough Neagh) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะไอร์แลนด์และใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร เนื้อที่ ๓๙๒ ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาคือส่วนต่อเนื่องจากเขตที่สูงของสกอตแลนด์ดินแดน ๒ แห่งนี้มีช่องแคบเหนือ (North Channel) กั้นอยู่ ส่วนที่แคบที่สุดอยู่ห่างกันเพียง ๒๑ กิโลเมตร ในอดีตช่องแคบนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นดินแดน ๒ แห่งแต่อย่างใด แต่เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อที่ทำให้มีการสัญจรแลกเปลี่ยนผู้คนและทำให้ดินแดนไอร์แลนด์เหนือมีลักษณะพิเศษแตกต่างกับภูมิภาคอื่น ๆ ของเกาะ ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* อัลสเตอร์เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตผ้าลินิน อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเรือขณะที่เขตอื่นๆยังคงเป็นเขตเกษตรกรรม มีกรุงเบลฟัสต์ (Belfast) เป็นทั้งเมืองหลวง เมืองท่า และเมืองใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ลักษณะของเมืองสะท้อนให้เห็นกำเนิดของเมืองนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถนนสายต่าง ๆ มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งปะปนอยู่นอกจากนี้ยังมีเมืองเดอร์รีหรือลอนดอนเดอร์รี (Derry; Londonderry การเรียกขึ้นกับเจตนาของผู้ใช้ที่อาจต้องการเลี่ยงคำว่าลอนดอน) นิวรี (Newry) อาร์มา (Armagh) และลิสเบิร์น (Lisburn) ที่เป็นเมืองใหญ่
ไอร์แลนด์เหนือมีประชากรจำนวน ๑,๗๔๑,๖๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๐๖) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรน้อยที่สุดของสหราชอาณาจักร พลเมืองนับถือนิกายโรมันคาทอลิก นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) นิกายไอร์แลนด์ (Church of Ireland) [หรือนิกายอังกฤษ (Church of England)] ที่เหลือนับถือนิกายเมทอดิสต์ (Methodism) และอื่น ๆ การแบ่งเขตพำนักอาศัยของผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ในส่วนต่าง ๆ ของไอร์แลนด์เหนือค่อนข้างชัดเจน แม้ในเมืองเดียวกันอย่างเช่นในเขตตะวันตก ของกรุงเบลฟัสต์เองนั้นก็แบ่งเป็น ๒ เขต คือ เขตถนนฟอลส์ (Falls Rd.) เป็นที่อยู่อาศัยของชาวคาทอลิกและเขตถนนแชนกิลล์ (Shankill Rd.) เป็นของ โปรเตสแตนต์ การสำรวจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๑-๒๐๐๖ พบว่าชาวโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือถือว่าตนเป็นชาวบริติช (British) เป็นลำดับแรก ขณะที่ชาวคาทอลิกถือว่าตนเป็นชาวไอริช แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเรียกตนเองว่า ชาวอัลสเตอร์ ภาษาราชการคือภาษาอังกฤษซึ่งประชากรส่วนใหญ่ใช้ รองลงมาคือภาษาไอริช นอกจากนั้นก็ มีภาษากวางตุ้ง (Cantonese) เพราะมีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ในเมืองเบลฟัสต์ เมืองนี้มีร้านอาหารจีนมากที่สุดในยุโรปเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ปัจจุบันจำนวนผู้พูดภาษายุโรปตะวันออกอย่างภาษาโปลก็เริ่มมีมากขึ้น สกุลเงินที่ใช้คือ เงินปอนด์ [ซึ่งต่างจากไอร์แลนด์ที่ใช้สกุลเงินยูโร (Euro)*] ธงประจำชาติคือธงยูเนียน (Union Flag หรือ Union Jack) ของอังกฤษซึ่งเป็นการรวมไม้กางเขนของเซนต์จอร์จ (St. George) ซึ่งแทนอังกฤษ เซนต์แอนดรูว์ (St. Andrew) ซึ่งแทนสกอตแลนด์ และเซนต์แพทริก (St. Patrick) ซึ่งแทนไอร์แลนด์เข้าด้วย กันเว้นแต่ในบางโอกาสหรือบางองค์กรที่ต้องการเน้น ก็มีการใช้ธงอัลสเตอร์ (Ulster Banner) หรือธงมือแดง (Red Hand Flag) ซึ่งเป็นธงทางการของไอร์แลนด์เหนือระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๗๒ เพลงประจำชาติคือเพลง God Save the Queen แต่ในบางงานที่ไม่เป็นทางการ อาจเปิดเพลง Londonderry Air หรือ Danny Boy ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่แสดงการฝักใฝ่อังกฤษน้อยลง ดังเช่นในการแข่งขันกีฬาของกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* ทีมของไอร์แลนด์เหนือใช้ธงอัลสเตอร์ และใช้เพลง Danny Boy เป็นเพลงชาติ
ประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์เหนือในอดีตรวมอยู่กับประวัติศาสตร์ของเกาะไอร์แลนด์ด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ ตระกูลกว่า ๑๐๐ ตระกูลในไอร์แลนด์ได้ กระจายอยู่ใน ๕ แคว้น ได้แก่ อัลสเตอร์ มีท (Meath) เลนสเตอร์ (Leinster) มันสเตอร์ (Munster) และคอนนอต (Connaught) สำหรับแคว้นอัลสเตอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของไอร์แลนด์เหนือในปัจจุบันนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๕-๖ มีชื่อเรียกในภาษาเคลติก (Celtic) ว่า อูเลด (Ulaid ภาษาละตินคือ Ultonia จึงมีบางที่ เรียกประชาชนในอัลสเตอร์ว่า Ultonians และภาษาอังกฤษ คือ Ulster) มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่อีเมนมาชา (Emain Macha) หรือเนวันฟอร์ต (Navan Fort) ซึ่งใกล้กับเมืองอาร์มา (Armagh) ในปัจจุบัน เซนต์แพทริกซึ่งตามตำนานเป็นมิชชันนารีจากแคว้นเวลส์ (Wales)* ที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเกาะไอร์แลนด์ก็มาตั้งศูนย์ดำเนินงานที่อีเมนมาชา ทุกวันนี้ก็เป็นสังฆมณฑลทั้งของนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๘ อัลสเตอร์มีราชวงศ์โอนีลล์ (O’Neill หรือ Uí Néill) ซึ่งอ้างว่าสืบมาจากบรรพบุรุษในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ที่รู้จักกันว่า พระเจ้านีออลผู้ครอบครองเชลย ๙ คน (Niall of the Nine Hostages) ปกครองราชวงศ์โอนีลล์แบ่งเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และสถาปนาประมุขของตนเป็นกษัตริย์สูงสุด (high king) เหนือกษัตริย์ไอริชองค์อื่น ๆ แต่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ พระเจ้าไบรอันโบรู (Brian Boru) กษัตริย์แห่งอาณาจักรมันสเตอร์ทรงท้าทายอำนาจของราชวงศ์โอนีลล์เป็นผลสำเร็จ จึงเป็นอันสิ้นสุดการครอบงำทางการเมืองของอัลสเตอร์ในประวัติศาสตร์ช่วงต้นของเกาะไอร์แลนด์
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ มีนักผจญภัยเชื้อสายนอร์มัน (Norman) จากอังกฤษ เวลส์ตอนใต้และภาคพื้นทวีปยุโรปเข้าไปในไอร์แลนด์ ที่มั่นแรกของ พวกนอร์มันอยู่ที่วอเตอร์ฟอร์ด (Waterford) ทางภาคตะวันออกของอัลสเตอร์ จากที่มั่นนี้ก็ได้ขยายอิทธิพลไปทางเหนือและตะวันตก ใน ค.ศ. ๑๑๗๗ จอห์น เดอกูร์ซี (John de Courci) ได้นำกำลังหลายร้อยคนจากกรุงดับลิน (Dublin) ขึ้นไปทางเหนือ และสร้างปราสาทใหญ่ อีกทั้งทำให้ชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางของพวกนอร์มันซึ่งอยู่ในเขตอัลสเตอร์อังกฤษรู้สึกว่าเป็นการคุกคามตน พระเจ้าจอห์น (John ค.ศ. ๑๑๙๙-๑๒๑๖ ) แห่งราชวงศ์แพลนตาเจเนต (Plantagenet) จึงทรงสร้างตำแหน่งเอิร์ลแห่งอัลสเตอร (Earl of Ulster) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๐๕ และให้ฮิว เดอเลซี (Hugh de Lacy) ซึ่งอ่อนน้อมกว่าเดอกูร์ซีดำรงตำแหน่งนี้ ต่อมา ตำแหน่งเอิร์ลแห่งอัลสเตอร์ได้ส่งต่อไปยังตระกูลเดอบูร์โก (de Burgo) ซึ่งเป็นเชื้อสายนอร์มันเช่นกัน แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ตำแหน่งเอิร์ลแห่งอัลสเตอร์ก็สูญสิ้นไปเมื่ออัลสเตอร์กลายเป็นอาณาจักรที่พ้นจากอิทธิพลของอังกฤษอย่างสิ้นเชิง ส่วนดินแดน ตอนในของแคว้นอัลสเตอร์ยังเป็นพวกเกลิก (Gaelic) ดั้งเดิมอาศัยอยู่
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ดินแดนไอร์แลนด์ก็มีผู้อพยพจากเกาะอังกฤษเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ก่อนหน้านี้ในสมัยกลางเคยมีชาวไอริชอพยพไปสู่เขตสกอตแลนด์ครั้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ มีชาวสกอตอพยพมาเขตอัลสเตอร์เพราะอังกฤษสนใจขยายอิทธิพลมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๕๓๐ เมื่อฮิวจ์ โอนีลล์ (Hugh O’Neill) และขุนนางในเขตตอนเหนือพ่ายแพ้อังกฤษ นอกจากนี้ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (James I ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๖๒๕) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สจวต (Stuart) ของอังกฤษซึ่งเป็นชาวสกอต ก็ทรงมีพระประสงค์ให้เชื้อสายของชาวสกอตและชาวอังกฤษเข้าไปตั้งถิ่นฐาน (Plantation of Ulster) ในเขต ๖ มณฑลของแคว้นอัลสเตอร์ซึ่งอังกฤษยึดจากตระกูลขุนนางไอริชที่ พ่ายแพ้ในสงคราม ๙ ปี (Nine Years’ War ค.ศ. ๑๕๙๔-๑๖๐๓) ชาวไอริชพื้นเมืองหลายพันคนก็ถูกขับไล่ไปสู่ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์น้อยอัลสเตอร์จึงกลายเป็นเขตที่มีชาวอาณานิคมเชื้อสายสกอตซึ่งนับถือนิกายกัลแวง (Calvinism) หรือเพรสไบทีเรียน และเชื้อสายอังกฤษซึ่งนับถือนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) หรือนิกายอังกฤษอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์การอพยพหนีของเหล่าเอิร์ล (Flight of the Earls) ใน ค.ศ. ๑๖๐๗ ที่ขุนนางพื้นเมืองชาวเกลิกหนีไปอยู่เขตคาทอลิกของยุโรปเจ้าของที่ดินในอัลสเตอร์ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ชาวนาผู้เช่าที่รายใหญ่ก็มักเป็นผู้ที่ อพยพเข้าไปอยู่ซึ่งเป็นเชื้อสายอังกฤษและสกอต ส่วนชาวไอริชพื้นเมืองกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกินและถูกขับไล่ออกจากที่ดิน ได้แต่ทำงานประเภท ต่ำต้อยรับใช้ต่าง ๆ จนในที่สุดเกิดปฏิกิริยาจากชาวไอริชพื้นเมืองอย่างรุนแรงในเหตุการณ์กบฏ ค.ศ.๑๖๔๑ ซึ่งเริ่มขึ้นในแคว้นอัลสเตอร์ โดยมีเฟลิม โอนีลล์ (Phelim O’Neill) เป็นผู้นำซึ่งมุ่งจะยึดอำนาจให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว การสังหารชาวโปรเตสแตนต์ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานนับพัน ๆ คนในครั้งนั้นยังคงเป็นตำนานเล่าขานของชาวโปรเตสแตนต์ในอัลสเตอร์อยู่ ชาวอาณานิคมจากอังกฤษจึงพากันหนีออกจนกระทั่งโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ประมุขของอังกฤษสมัยสาธารณรัฐปราบปรามไอร์แลนด์ให้อยู่ในความสงบได้อีกครั้งในทศวรรษ ๑๖๕๐ เมื่อราชวงศ์สจวตกลับมาปกครองอังกฤษ การตั้งอาณานิคมอังกฤษในอัลสเตอร์จึงดำเนินการต่อโดยเฉพาะในมณฑลแอนทริม (Antrim) และมณฑลดาวน์ (Down) ชาวอังกฤษและชาวสกอตที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานได้ผสมกลมกลืนกับคนในท้องถิ่น ผู้ที่อยู่ในเขตไอร์แลนด์เหนือจึงมีลักษณะบางประการแตกต่างจากส่วนอื่นของเกาะ โดยเฉพาะมีผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ตามแบบชาวอังกฤษและชาวสกอตที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานมากกว่าที่อื่น ๆ การพูดภาษาเกลิก (Gaelic) แบบชาวไอริชดั้งเดิมก็ลดลง และเกิดการแบ่งหมู่พลเมืองเป็นชาวคาทอลิกกับชาวโปรเตสแตนต์ คนรวยกับคนจน และ ผู้มีที่ดินกับผู้ไร้ที่
ใน ค.ศ. ๑๖๘๙ พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘) แห่งราชวงศ์สจวตซึ่งนับถือนิกายโรมันคาทอลิกต้องเสด็จหนีออกจากอังกฤษในเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution ค.ศ. ๑๖๘๘) จนถูกรัฐสภาถอดถอนจากตำแหน่ง ได้พยายามกลับมากอบกู้บัลลังก์จากที่มั่นในไอร์แลนด์ ทรงตั้งฐานกำลังที่นครดับลิน (Dublin) ซึ่งเป็นเขตของนิกายโรมันคาทอลิก ฝ่ายปรปักษ์ คือ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๖๘๘-๑๗๐๒) ซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากรัฐสภาอังกฤษ ให้ปกครองสืบต่อจากพระองค์ ในระยะแรกฝ่ายไอริชคาทอลิกหรือพวกจาโคไบต์ (Jacobite) สามารถยึดครองไอร์แลนด์ให้พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ได้ทั้งหมด เว้นแต่ที่มั่นของฝ่ายโปรเตสแตนต์ที่เมืองเดอรีและเอนนีสกิลเลน (Enniskillen) ในอัลสเตอร์ พวกจาโคไบต์ล้อมเมืองเดอรีตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๘๙ กองทหารของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ จากอังกฤษจึงยกมาช่วยปลดปล่อยสำเร็จและสามารถคุมสถานการณ์ในไอร์แลนด์ได้ทั้งหมดใน ๒ ปีต่อมา ชัยชนะครั้งนี้ทำให้อังกฤษและนิกายโปรเตสแตนต์มีอิทธิพลในไอร์แลนด์ไปอีกกว่า ๑๐๐ ปี และการที่ชาวโปรเตสแตนต์ของเมืองเดอรีพยายามยืนหยัดต่อสู้เพราะไม่ต้องการยอมจำนนต่อผู้นำราชวงศ์สจวตที่ เป็นคาทอลิก เขตอัลสเตอร์จึงเป็นเสมือนเขตที่เป็นอังกฤษมากที่สุดและเป็นโปรเตสแตนต์มากที่สุดของไอร์แลนด์
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อัลสเตอร์ก็เช่นเดียวกับเมืองโปรเตสแตนต์อื่น ๆ ในยุโรปที่เป็นที่หลบลี้ภัยของพวกอูเกอโนต์ (Huguenot) ซึ่งเป็นชาวโปรเตสแตนต์ที่อพยพจากฝรั่งเศสหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕ ) ทรงเพิกถอนกฤษฎีกาแห่งเมืองนองต์ (Edict of Nantes) ใน ค.ศ. ๑๖๘๕ ผู้ลี้ภัยหลายคนนำทักษะ ทางการค้าและอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตผ้าลินินมายังไอร์แลนด์เหนือที่ยังผลิตผ้าลินินตามจารีตเดิมและมีขนาดเล็ก จึงเท่ากับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมของเมืองเบลฟัสต์ต่อมา ในทศวรรษ ๑๖๙๐ พลเมืองเชื้อสายสกอตที่นับถือนิกายเพรสไบทีเรียนกลายเป็นชนส่วนใหญ่ในอัลสเตอร์ เพราะชาวสกอตนับหมื่น ๆ คนหนีความอดอยากในสกอตแลนด์เข้าไปอยู่ โครงสร้างสังคมของอัลสเตอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นั้น มีชนชั้นผู้นำและชนชั้นล่างอย่างละ ๒ กลุ่ม ชนชั้นนำกลุ่มแรกเป็นชาวอังกฤษ เป็นเจ้าของที่ดินที่มีอิทธิพลมากและมักนับถือนิกายอังกฤษหรือนิกายไอร์แลนด์ อีกกลุ่มเป็นพวกพ่อค้าซึ่งมีทั้งชาวสกอตและชาวอังกฤษ ตลอดจนชาวโปรเตสแตนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้นับถือนิกายเพรสไบทีเรียน ส่วนชนชั้นล่าง ๒ กลุ่มแบ่งตามการนับถือศาสนา กลุ่มหนึ่งเป็นชาวโปรเตสแตนต์ อีกกลุ่มเป็นชาวโรมันคาทอลิก ชาวโปรเตสแตนต์ในกลุ่มนี้ซึ่งเป็นชาวไอริชเชื้อสายสกอตจำนวนมากได้อพยพต่อไปอเมริกาเหนือในกลางศตวรรษหลังจากอพยพจากสกอตแลนด์มาอยู่ได้ไม่กี่รุ่น เพราะสิ้นหวังกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จำกัดในเขตอัลสเตอร์ ชาวไอริชเชื้อสายสกอตดังกล่าวกลายเป็นผู้ไปตั้งอาณานิคมในอเมริกาเหนือระหว่างชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลางกับเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian) และบริเวณลุ่มแม่น้ำโอไฮโอ ส่วนชนชั้นล่างชาวโปรเตสแตนต์ที่ยังคงอยู่ต่อไปในเขตอัลสเตอร์ก็ต้องแข่งขันกับชนชั้นล่างชาวคาทอลิกในการหาข้อตกลงการเช่าที่ดินที่น่าพอใจหรืองานดี ๆ ในเวลาต่อมากลุ่มชนชั้นนำก็ได้รับความภักดีจากกลุ่มโปรเตสแตนต์ระดับล่างด้วยการหาประโยชน์จากการที่คนกลุ่มนี้หวั่นเกรงความไม่มั่นคงในชีวิตและการอิจฉาริษยาของชาวคาทอลิก
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อัลสเตอร์กลายเป็นภูมิภาคที่รุ่งเรืองมั่งคั่งมากที่สุดในไอร์แลนด์เพราะเป็นเขตเดียวที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงจากการมีท่าเรือใหญ่โต อุตสาหกรรมต่อเรือและอุตสาหกรรมผลิตผ้าลินินซึ่งยังขึ้นชื่อจนทุกวันนี้ ในปลายศตวรรษเบลฟัสต์ก้าวแซงนครดับลิน (Dublin) และขึ้นเป็นเมืองใหญ่ที่สุดโดยมีประชากรเกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน ในศตวรรษนี้การแบ่งแยกของผู้คนต่างนิกายขยายสู่วงการเมือง มีกลุ่มยูเนียนนิสต์ (Unionist) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์สนับสนุนการผนวกรวมกับอังกฤษ และกลุ่มแนชันแนลลิสต์ (Nationalist) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกสนับสนุนการได้สิทธิปกครองตนเอง (Home Rule for Ireland) สาเหตุของปัญหาการเมืองในไอร์แลนด์เหนือในเวลาต่อมาก็มาจากการพิพาทเรื่องสิทธิปกครองตนเองที่พวกโปรเตสแตนต์ต่อต้านเพราะกลัวว่าพวกคาทอลิกที่มีจำนวนมากกว่ามากจะครอบงำไอร์แลนด์หากได้สิทธิปกครองตนเอง ชาวโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือไม่วางใจว่านักการเมืองจากเขตเกษตรกรรมทางใต้และตะวันตกของเกาะไอร์แลนด์จะสนับสนุนเศรษฐกิจของอัลสเตอร์ซึ่งมีลักษณะเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมมากกว่า
รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิปกครองตนเอง (Home RuleBill) ตั้งแต่ฉบับแรกแก่ไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ ทำให้พวกยูเนียนนิสต์หลายพันคนไม่พอใจในเวลาต่อมา หลังจากมีความพยายามที่จะผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายปกครองตนเองอีก เซอร์เอดเวิร์ด คาร์สัน (Edward Carson) ทนายความชาวดับลิน และเจมส์ เครก (James Craig) จึงร่วมกันลงนามในอนุสัญญาอัลสเตอร์ (Ulster Covenant) ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เพื่อต่อต้านการจะได้สิทธิปกครองตนเองของไอร์แลนด์ ขบวนการนี้นำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครอัลสเตอร์ (Ulster Volunteer Force - UVF) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารของชาวไอริชที่ไม่เห็นด้วยกับอังกฤษที่จะบังคับใช้นโยบายให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์ กลุ่มแนชันแนลลิสต์จึงตอบโต้กองกำลังอาสาสมัครอัลสเตอร์ด้วยการจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครไอริช (Irish Volunteers) ขึ้นซึ่งเป็นองค์กรนำร่องของกองกำลังสาธารณรัฐไอริชหรือไออาร์เอในเวลาต่อมา ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้มีการผ่านร่างกฎหมายสิทธิปกครองตนเองฉบับที่ ๓ ของไอร์แลนด์ซึ่งในที่สุดก็ผ่านสภาสามัญ แต่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ทำให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างสงครามชาวอัลสเตอร์และชาวไอริชทุกนิกายได้ช่วยอังกฤษรบ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะหน่วยอัลสเตอร์ที่ ๓๖ ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัครอัลสเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง การได้สิทธิปกครองตนเองก็ไม่เพียงพอสำหรับชาวคาทอลิกและหน่วยอาสาสมัครชาวไอริชอีกต่อไป หากแต่พวกเขาต้องการเอกราชจากอังกฤษ
หลังสงครามโลก เกิดความรุนแรงในไอร์แลนด์เมื่อนักชาตินิยมไอริชดำเนินการต่อสู้แบบจรยุทธ์ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ อังกฤษปราบปรามอย่างรุนแรงจนเป็นสงครามอังกฤษ-ไอร์แลนด์ (Anglo-Irish War มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ -กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๑) ในนครเบลฟัสต์นั้น การสู้รบระหว่างกลุ่มโปรเตสแตนต์กับกลุ่มคาทอลิกโดยทั่วไปเกิดขึ้นตามท้องถนน ประชาชนเสียชีวิตประมาณ ๖๐๐ คนซึ่งร้อยละ ๕๘ เป็นชาวคาทอลิก นายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* พยายามแก้ปัญหาไอร์แลนด์ด้วยการออกพระราชบัญญัติการปกครองไอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๙๒๐ ที่ แบ่งไอร์แลนด์ออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนเหนือซึ่งประกอบด้วย ๖ ใน ๙ มณฑลเดิมของอัลสเตอร์ ได้แก่ อาร์มา ดาวน์ ลอนดอนเดอรี แอนทริม เฟอร์มานา (Fermanagh) และทีโรน (Tyrone) ส่วนอีก ๓ มณฑล คือ คาวาน (Cavan) โดเนกัล (Donegal) และโมนากัน (Monaghan) ให้รวมกับ ๒๓ มณฑลของส่วนใต้ตั้งเป็นเสรีรัฐไอร์แลนด์ (รวมเป็น ๒๖ มณฑล)
อังกฤษให้สิทธิปกครองตนเองแก่ทั้ง ๒ ส่วน และมีการรับรองอีกครั้งด้วยสนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์ (Anglo-Irish Treaty) ค.ศ. ๑๙๒๑ โดยต่อไป ไอร์แลนด์เหนือจะรวมเข้ากับเสรีรัฐไอร์แลนด์เพื่อจัดตั้งเป็นอาณาจักร (dominion) แต่ก็ให้สิทธิไอร์แลนด์เหนือที่จะแยกตัวออกได้ ปรากฏว่าสภานิติบัญญัติของไอร์แลนด์เหนือลงมติไม่ขอรวมด้วยเพราะต้องการรักษา อภิสิทธิ์ของฝ่ายโปรเตสแตนต์ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มออเรนจ์ (Orange Order) ซึ่งเป็นสมาคมภราดรภาพลับ ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างชน ๒ นิกายตั้งแต่ทศวรรษ ๑๗๙๐ ชาวโปรเตสแตนต์จำนวนมากจากเสรีรัฐจึงอพยพมาอยู่ในไอร์แลนด์เหนือ ทั้งที่ชาวคาทอลิกในตอนเหนือกลับอพยพออกไปไม่มากนักแม้ว่าในเขตตอนเหนืองานที่ต้องใช้ทักษะจะสงวนให้กับชาวโปรเตสแตนต์และฝ่ายโปรเตสแตนต์ก็คุมการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ เพราะเกรงว่าเศรษฐกิจทางใต้จะสู้ทางเหนือไม่ได้ แต่การที่ฝ่ายคาทอลิกดูถูกรัฐใหม่ของพวกโปรเตสแตนต์ จึงพากันถอนตัวจากเวทีการเมืองทั้งหมด ซึ่งยิ่งเปิดโอกาสให้พวกโปรเตสแตนต์ควบคุมการปกครองตนเอง ให้โอกาสในการได้งาน ที่พักอาศัย สวัสดิการสังคม และโอกาสในการศึกษาแก่ชาว โปรเตสแตนต์มากกว่า อย่างไรก็ดี ปัญหาไอร์แลนด์ยังไม่จบสิ้นลงทันที เพราะเกิดสงครามระหว่างฝ่ายเสรีรัฐกับกองกำลังไออาร์เอในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๔ เนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่นักชาตินิยมไอริชระหว่างกลุ่มไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins)* และ อาเทอร์ กริฟฟิท (Arthur Griffith)* ซึ่งเป็นผู้แทนชาวไอริชที่ลงนามกับรัฐบาลอังกฤษ กับกลุ่มเอมัน เดฟเลอรา (Eamon de Valera)* ที่เห็นว่าเป็นความผิดพลาดที่ยินยอมให้มีการแบ่งไอร์แลนด์ออกเป็น ๒ ส่วน จนในที่สุดฝ่ายเดฟ เลอราเห็นว่าจำต้องยอมไปก่อนและรอเวลาของการผนวกรวมกันใหม่
นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๐ ที่ไอร์แลนด์เหนือได้สิทธิปกครองตนเอง ก็มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ในไอร์แลนด์ มีคณะผู้บริหารหรือคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ เซอร์เจมส์ เครกหรือลอร์ดเครกาวอน (Lord Craigavon) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ( ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๔๐) มีระบบ ๒ สภา คือ วุฒิสภา และสภาสามัญที่ตั้งอยู่ที่สตอร์มอนต์ (Stormont) การเลือกตั้งจัดขึ้นทุก ๕ ปี โดยคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งใกล้เคียงกับของอังกฤษเว้นแต่ข้อกำหนดเรื่องถิ่นที่อยู่ซึ่งเข้มงวดกว่า และมีการออกเสียงลงคะแนนได้หลายเสียงหากมีทรัพย์สินในเขตเลือกตั้งเกินกว่า ๑ แห่ง นอกจากนี้ไอร์แลนด์เหนือยังส่งผู้แทน ๑๒ คนเข้านั่งในรัฐสภาอังกฤษด้วย ในส่วนท้องถิ่นก็มีสภาบริหารส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้เสียภาษีหรือมีทรัพย์สิน ดังนั้น จึงมีชาวคาทอลิกจำนวนน้อยที่จะมีส่วนกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในไอร์แลนด์เหนือ ความวุ่นวายในไอร์แลนด์ต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ และความหวั่นเกรงไออาร์เอจะจู่โจมมณฑลทางเหนือทำให้มีการออกพระราชบัญญัติอำนาจหน้าที่พลเรือน (Civil Authorities Act) ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ซึ่งเรียกกันว่าพระราชบัญญัติอำนาจพิเศษ (Special Powers Act) ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดการแก้ปัญหาตามที่ เห็นสมควรหากเกิดสภาวะไร้กฎหมาย จับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกองค์กรผิดกฎหมาย ค้นหาอาวุธโดยไม่ต้องมีหมาย กำหนดการห้ามออกจากเคหส ถานเวลาค่ำคืนและสั่งห้ามบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาเข้าไปในเขต ๖ มณฑลที่มีชาวโปรเตสแตนต์ประมาณ ๑ ล้านคน และชาวคาทอลิกประมาณ ๕ แสนคน นอกจากนั้น รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือยังได้จัดตั้งหน่วยตำรวจที่ ทำงานไม่เต็มเวลาขึ้นเรียกว่า หน่วยบีพิเศษ (B Specials) เพื่อเป็นการเสริมกำลังให้แก่หน่วยตำรวจหลวงแห่งอัลสเตอร์ (Royal Ulster Constabulary - RUC) ในยามฉุกเฉิน
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๖๓ ชาวคาทอลิกเห็นว่าผู้บริหารไอร์แลนด์เหนือมักจะให้ประโยชน์แต่กับพวกโปรเตสแตนต์ เช่น การเรียกร้องให้นายจ้างจ้างแต่คนงานโปรเตสแตนต์เพื่อแก้ปัญหาอัตราคนว่างงานสูงเมื่อต้องปลดคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกจะถูกปลดก่อน ในเรื่องการเคหะของรัฐ ผู้แสดงความจำนงที่เป็นโปรเตสแตนต์จะได้ครอบครองก่อน และเมื่อจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นคาทอลิกจะมีผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่นก็จะมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ เช่น ที่เมืองลอนดอนเดอรี การกำหนดเขตเลือกตั้งมีผลให้ฝ่ายโปรเตสแตนต์ได้เสียงร้อยละ ๖๐ ในสภาบริหารส่วนท้องถิ่น แม้ว่าชาวโปรเตสแตนต์ในที่นี้จะมีเพียงร้อยละ ๓๓ การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้ปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในทางเหนือซึ่งหลายคนมีความใกล้ชิดกับพวกไออาร์เอที่กรุงดับลิน ในปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๙ กองกำลังไออาร์เอโจมตีด่านศุลกากรและสถานีตำรวจทางเหนือของพรมแดนสาธารณรัฐ (เสรีรัฐไอร์แลนด์ประกาศจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ) เป็นครั้งคราว แต่ความรุนแรงมากเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ อันเนื่องมาจากปัจจัยบางประการ ได้แก่ การครบรอบ ๕๐ ปีของเหตุการณ์จลาจลช่วงเทศกาลอีสเตอร์ (Easter Rising) ค.ศ. ๑๙๑๖ ในกรุงดับลินและการได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองในสหรัฐอเมริกา
ในทศวรรษ ๑๙๖๐ รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือต้องรับมือกับปัญหาคนว่างงานที่ เพิ่มขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในหมู่ชาวคาทอลิก ทั้งมีความกลัวจนเกินเหตุว่าชาว คาทอลิกทางเหนือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการที่อัตราการเกิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะแรก การท้าทายรัฐบาลมาจากนักการเมืองฝ่ายแนชันแนลลิสต์ในเขตเมือง ต่อมา มีการร่วมมือระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวรุนแรงกับหัวเสรีนิยมซึ่งประณามการเลือกปฏิบัติต่อชาวคาทอลิก กลุ่มหลังนี้ใช้กลยุทธ์การขัดขืนอย่างสันติแบบผู้ประท้วงนโยบายกีดกันผิวในสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ มีการก่อตั้งสมาคมสิทธิพลเมืองแห่งไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Civil Rights Association - NICRA) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่และการจัดตั้งหน่วยบีพิเศษขึ้น กระแสความขัดแย้งระหว่างพลเมืองต่างนิกายจึงถูกปลุกปั่นขึ้นใหม่โดยเฉพาะในกรุงเบลฟัสต์และเมืองลอนดอนเดอรี สมาคมได้จัดการชุมนุมและการเดินขบวนซึ่งเป็นการคุกคามรัฐบาลของร้อยเอก เทเรนซ์ โอนีลล์ (Terence O’Neill) เมื่อเห็นว่าขบวนการสิทธิพลเมืองเริ่มมีการเคลื่อนไหวจริงจังกลุ่มฝ่ายซ้ายและพวกหัวรุนแรงต่าง ๆ ก็ใช้ทักษะทางการเมืองของตนสนับสนุนสมาคมจนกระทั่งในวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ผู้เดินขบวนประมาณ ๕๐๐ คน พากันเดินจากกรุงเบลฟัสต์ไปยังเมืองลอนดอนเดอรีและถูกกลุ่มโปรเตสแตนต์หัวรุนแรงโจมตีใกล้หมู่บ้านเบิร์นทอลเลต (Burntollet) กองกำลังไออาร์เอใน เบลฟัสต์ ลอนดอนเดอรี และที่อื่นๆ จึงมีผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครจำนวนมาก ในที่สุดโอนีลล์ลาออกในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙ พันตรี เจมส์ ชิเชสเตอร์-คลาร์ก (James Chichester-Clark) ซึ่งยึดนโยบายของยูเนียนนิสต์อย่างแข็งกร้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ในวันที่ ๔-๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ กลุ่มพลังโปรเตสแตนต์และหน่วยบีพิเศษได้จู่โจมเข้าไปในเขตบอกไซด์ (Bogside) ที่เป็นเขตผู้ใช้แรงงานคาทอลิกกลางเมืองลอนดอนเดอรีและข่มขู่ผู้คนในละแวก ไออาร์เอจึงร่วมมือกับกลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองดำเนินการตอบโต้ มีการปิดถนนทุกสายที่เข้าสู่บอกไซด์ ในกลางเดือนสิงหาคม หน่วยตำรวจหลวงแห่งอัลสเตอร์พยายามจะ ทำลายเครื่องกีดขวางเพื่อเข้าสู่เขต จึงเกิดการปะทะกันที่เรียกว่ายุทธการที่บอกไซด์ (Battle of the Bogside) รัฐบาลอังกฤษเข้าแทรกแซงโดยส่งทหาร ๓,๐๐๐ คน ไปยังเมืองลอนดอนเดอรีเพื่อรักษาความสงบ ชาวคาทอลิกยินดีต้อนรับทหารอังกฤษเพราะคาดว่าจะมาแทนหน่วยตำรวจหลวงที่ข่มขวัญอยู่ในกรุงเบลฟัสต์ฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์จำนวนหนึ่งก็ปะทะกันในท้องถนน อังกฤษต้องส่งทหารไปรักษาความสงบอีกในเดือนกรกฎาคมจึงมีทหารอังกฤษถึง ๑๑,๒๕๐ คนในไอร์แลนด์เหนือเพื่อป้องกันการเกิดสงครามกลาง เมืองขึ้น ในที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ ไออาร์เอกลุ่มออฟฟิเชียลซึ่งเป็นพวกกึ่งสังคมนิยมลัทธิมากซ์ (Marxism) และกลุ่มโพรวิชันแนลซึ่งเป็นพวกลัทธิประชานิยมฟีเนียน (Populist Fenian) ก็สู้รบกับทหารอังกฤษซึ่งมีกองกำลังกึ่งทหารของโปรเตสแตนต์ร่วมด้วย การกำหนดเคอร์ฟิว การที่ทหารเข้าค้นหาอาวุธและระเบิดทำให้พลเมืองทั้งในชุมชนโปรเตสแตนต์และคาทอลิกต่างพา กันวิตกกังวล ขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บจากการปะทะกันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยฝ่ายไออาร์เอหลายร้อยคนและมีพลเมือง ๑๓ คนถูกสังหารในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองลอนดอนเดอรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๒ จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙ -กลาง ค.ศ. ๑๙๗๔ ประกอบด้วยทหารอังกฤษเสียชีวิต ๒๑๙ คน บาดเจ็บ ๑,๓๕๐ คนสมาชิกของหน่วยป้องกันอัลสเตอร์ (Ulster Defense Regiment) ก็ถูกสังหาร นอกเหนือไปจากหน่วยตำรวจหลวงแห่งอัลสเตอร์ ๕๔ คน พลเมือง ๖๒๑ คน และผู้ก่อการอีก ๒๐๐ คน ต่อมา ความรุนแรงจากปฏิบัติการของกองกำลังไออาร์เอได้ขยายขอบเขตสู่อังกฤษ มีการวางระเบิดร้านเหล้า ร้านอาหาร โรงแรม และ รถยนต์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน รัฐบาลอังกฤษจึงยังคงทหารไว้ในไอร์แลนด์เหนือแม้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ รัฐบาลของเซอร์เอดเวิร์ด ฮีท (Sir Edward Heath)* ยุบสภาไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลของเบรียน ฟอล์กเนอร์ (Brian Faulkner) และแต่งตั้งวิลเลียม ไวท์ลอว์ (William Whitelaw) เป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการไอร์แลนด์เหนือโดยตรง สองปีต่อมา อังกฤษให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์เหนือใหม่ และฟอล์กเนอร์ก็กลับมาเป็นนายก รัฐมนตรี แต่เพียง ๕ เดือนเท่านั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้นอีก สหภาพแรงงานโปรเตสแตนต์ประกาศหยุดงานครั้งใหญ่ ฟอล์กเนอร์จึงลาออกอีกครั้ง การบริหารไอร์แลนด์เหนือจึงถ่ายโอนไปอยู่กับรัฐมนตรีอังกฤษอีกความไม่มั่นคงในไอร์แลนด์เหนือดำเนินไปเช่นนี้จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๙๘ รวมผู้เสียชีวิตจากการจลาจล การก่อการร้าย และการดักซุ่มยิงประมาณ ๓,๒๐๐ คน ระหว่างนั้นใน ค.ศ. ๑๙๗๙ ไออาร์เอได้วางระเบิดลอบสังหารเอิร์ลเมาท์แบตเตน (Earl of Mountbatten)* พระญาติอาวุโสในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒ -)* ขณะพักผ่อนตกปลาที่บ้านพักในไอร์แลนด์เหนือ และใน ค.ศ. ๑๙๘๑ บอบบี แซนส์ (Bobby Sands) สมาชิกสภาสามัญจากกลุ่มไออาร์เอซึ่งถูกตัดสินจำคุก ๑๔ ปี ด้วยข้อหามีอาวุธใน ครอบครองเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนสถานะของเขาและพรรคพวกที่ ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองแต่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเซอร์ (Margaret Thatcher)* ยืนหยัดไม่โอนอ่อน แซนส์จึงนำการอดอาหารประท้วงและ ๖๖ วันผ่านไปเขาก็เสียชีวิตในคุกเมซ (Maze Prison) ขณะอายุ ๒๗ ปี ซึ่งฝ่ายคาทอลิกโกรธแค้นรัฐบาลอังกฤษและฝ่ายโปรเตสแตนต์มาก มี ผู้ไปร่วมงานศพของแซนส์ในกรุงเบลฟัสต์กว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ มีการทำความตกลงอังกฤษ-ไอร์แลนด์ (Anglo-Irish Agreement) ระบุว่าอังกฤษยอมให้สาธารณรัฐไอร์แลนด์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการในไอร์แลนด์เหนือ พรรคการเมืองคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนืออย่างพรรคสังคมประชาธิปไตยและแรงงาน (Social Democratic and Labour Party - SDLP) ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว แต่ฝ่ายโปรเตสแตนต์อย่างพรรคออฟฟิเชียลยูเนียนนิสต์ (Official Unionist Party) และพรรคประชาธิปไตยยูเนียนนิสต์ (Democratic Unionist Party) คัดค้าน เพราะเห็นว่าไอร์แลนด์เหนือไม่ได้มีส่วนในการทำความตกลงด้วย เมื่อพยายามจะใช้สภานิติบัญญัติแห่งไอร์แลนด์เหนือต่อต้านข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลอังกฤษจึงสั่งปิดสมัยประชุมแม้ไม่ยุบสภา
เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ การทำความตกลงกู๊ดฟรายเดย์ (Good Friday Agreement)* เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๘ หลังจากการเจรจาระหว่างฝ่ายเกี่ยวข้องต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างเข้มข้นเป็นเวลา ๑๙ เดือน ผู้ที่มีส่วนสำคัญคือ เดวิด ทริมเบิล (David Trimble) หัวหน้าพรรคอัลสเตอร์ยูเนียนนิสต์ (Ulster Unionist Party - UUP) และจอห์น ฮูม (John Hume) ผู้นำพรรคคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุด บุคคลทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในเดือนตุลาคมปีนั้น มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมในไอร์แลนด์เหนือขึ้นในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ หลังจากมีการผ่านพระราชบัญญัติไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Act) ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวที่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ยอมให้ฝ่ายคาทอลิกซึ่งมีประชากรประมาณร้อยละ ๔๒ เข้าร่วมในการบริหาร และให้สิทธิสาธารณรัฐไอร์แลนด์แสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในไอร์แลนด์เหนือส่วนฝ่ายคาทอลิกจะล้มเลิกเป้าหมายเดิมในการผนวกไอร์แลนด์ทั้ง ๒ ส่วนซึ่งไออาร์เอต่อสู้เพื่อให้ได้มาโดยตลอดและเคยระบุในรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ด้วยยกเว้นแต่ว่าพลเมืองไอร์แลนด์เหนือส่วนใหญ่ประสงค์จะผนวกรวมเท่านั้น [การลงประชามติครั้งล่าสุดกระทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๓ นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) ก็ยังไม่จัดขึ้นอีก]
การดำเนินตามข้อตกลงและการกลับคืนของรัฐบาลท้องถิ่นและสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือที่มีสมาชิก ๑๐๘ คนจะเป็นไปได้เมื่อฝ่ายไออาร์เอ และฝ่ายกองกำลังกึ่งทหารของโปรเตสแตนต์ อันได้แก่ กองกำลังอาสาสมัครอัลสเตอร์ และสมาคมพิทักษ์อัลสเตอร์ (Ulster Defence Association) ในไอร์แลนด์เหนือส่งมอบอาวุธหรือทำลายอาวุธของตน ดังนั้น กว่าเดวิด ทริมเบิลผู้นำพรรคอัลสเตอร์ยูเนียนนิสต์จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็กินเวลานานและต้องเลิกล้มข้อเรียกร้องที่ให้ไออาร์เอปลดอาวุธตนเองก่อน นับแต่นั้นจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ อังกฤษยังคงต้องสั่งพักการทำงานของรัฐบาลในไอร์แลนด์เหนือ ๔ ครั้ง เพราะไออาร์เอยังไม่ยอมทำลายอาวุธแม้จะกึ่งตกลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๘๘ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ ๔ พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยยูเนียนนิสต์ (Democratic Unionist Party) พรรคชินน์เฟน (Sinn Fein) ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองของไออาร์เอ พรรคสังคมประชาธิปไตยและ แรงงาน และพรรคอัลสเตอร์ยูเนียนนิสต์ สภาแห่งไอร์แลนด์เหนือก็เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ถูกอังกฤษสั่งพักการประชุมเป็นระยะ ๆ เช่นกัน ฝ่ายบริหารถูกสั่งพักครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๒
ในกลาง ค.ศ. ๒๐๐๕ ไออาร์เอประกาศว่ากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่จะยุติความรุนแรง ปลดอาวุธ และจะดำเนินสู่เป้าหมายด้วยวิถีทางการเมือง ในเดือน กุมภาพันธ์ปีต่อมา คณะกรรมาธิการตรวจสอบอิสระ (Independent Monitoring Commission) ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังที่ติดตามกองกำลังกึ่งทหารในไอร์แลนด์เหนือกลุ่มต่าง ๆ ได้รายงานว่าไออาร์เอดูเหมือนจะกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังนั้น อังกฤษจึงให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ไปหาทางจัดตั้งรัฐบาลที่แบ่งปันอำนาจระหว่างกัน ต่อมาจึงมีการทำความตกลงเซนต์แอนดรูวส์ (St. Andrews Agreement) ระหว่างรัฐบาลอังกฤษรัฐบาลไอร์แลนด์และพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโอนอำนาจปกครองไอร์แลนด์เหนือให้แก่ท้องถิ่นโดยมีการประชุมที่เมืองเซนต์แอนดรูวส์ มณฑลไฟฟ์ (Fife) ในสกอตแลนด์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ ความตกลงนี้นำไปสู่การจัดตั้งสภาและรัฐบาลใหม่ของไอร์แลนด์เหนือ และการที่พรรคชินน์เฟนยอมรับการจัดตั้งหน่วยตำรวจของไอร์แลนด์เหนือ (Police Service of Northern Ireland - PSNI) ในวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ จึงมีการเลือกตั้งทั่วไปในไอร์แลนด์เหนือ และในวันที่ ๘ พฤษภาคม ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีเอียน เพสลีย (Ian Paisley) จากพรรคประชาธิปไตยยูเนียนนิสต์เป็นนายกรัฐมนตรี เจอรี อาดัมส์ (Gerry Adams) หัวหน้าพรรคชินน์เฟนส่งมาร์ติน แมกกินเนส (Martin Mc- Guinness) รองหัวหน้าพรรคเป็นรองนายกรัฐมนตรีสองพรรคนี้ถือเป็นพรรคที่ได้เสียงมากที่สุด การจัดตั้งฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นไม่ได้หากพรรคหนึ่งพรรคใดปฏิเสธที่จะเข้าร่วม และยังมีรัฐมนตรีอีก ๑๐ คน จาก ๒ พรรคนี้เป็นหลัก นับแต่นี้เวลาจะเป็นเครื่องบ่งบอกอีกครั้งว่าภาวะความขัดแย้งอันยาวนานในไอร์แลนด์เหนือจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่.