Northcliffe, Alfred Charles William Harmsworth, Viscount

อัลเฟรด ชาลส์ วิลเลียม ฮาร์มสเวิร์ท ไวส์เคานต์นอร์ทคลิฟฟ์ (๒๔๐๘-๒๔๖๕)

​​

     อัลเฟรด ชาลส์ วิลเลียม ฮาร์มสเวิร์ท ไวส์เคานต์นอร์ทคลิฟฟ์เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์อะแมลกาเมตเต็ด (Amalgamated Press) ที่มีอิทธิพลและเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์สำหรับผู้หญิงฉบับแรกของอังกฤษ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ Daily Mail ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดเล็กที่ เรียกกันทั่วไปว่าแท็บลอยด์ (Tabloid) เขาเป็นผู้ปฏิวัติวงการหนังสือพิมพ์ของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เขาเป็นเจ้าของมีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นและมีเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจของชาวอังกฤษทั่วไป จึงทำให้มียอดจำหน่ายอยู่ในอันดับต้น ๆ ของหนังสือพิมพ์ที่วางขายในอังกฤษทั้งหมด
     นอร์ทคลิฟฟ์เกิดที่เมืองชาเพลิโซด (Chapelizod) ใกล้กับกรุงดับลิน (Dublin) ประเทศไอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ บิดาเป็นทนายความชาวอังกฤษที่มีฐานะไม่สู้ดีนัก เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสแตมฟอร์ด (Stamford) ในมณฑลลิงคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) และโรงเรียนเซนต์จอนส์วูด (St John’s Wood) ในกรุงลอนดอน ในระหว่างศึกษาเขาได้เป็นบรรณาธิการวารสารของโรงเรียนซึ่งทำให้เขาสนใจอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เขาลาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี และทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระและยังได้รับการว่าจ้างให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารหลายฉบับด้วยกัน เช่น นิตยสารสำหรับเด็กผู้ชายชื่อ Youth ซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักพิมพ์อิลลัสเตรตเต็ดลอนดอนนิวส์ (Illustrated London News) และนิตยสารเกี่ยวกับรถจักรยานชื่อ Bicycling News ของเอดเวิร์ด ลิฟฟ์ (Edward Lliffe) ในเมืองโคเวนทรี (Coventry) ใน ค.ศ. ๑๘๘๖
     ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ นอร์ทคลิฟฟ์รวบรวมเงินทุนก่อตั้งนิตยสารรายสัปดาห์ของตนเองชื่อ Answers to Correspondents หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Answers รูปแบบของนิตยสารมีลักษณะเป็นคำถาม-คำตอบ ทั้งนี้ นอร์ทคลิฟฟ์ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะตอบทุกคำถามทางจดหมาย ส่วนคำถาม-คำตอบที่คิดว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั่วไปก็จะพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร Answers นิตยสารฉบับนี้จึงเป็นที่รวมของเรื่องจิปาถะที่ผู้อ่านสนใจอยากรู้ Answers ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากและภายในเวลา ๕ ปีสามารถจำหน่ายได้มากกว่า ๑ ล้านฉบับต่อสัปดาห์ ความสำเร็จในการจำหน่าย Answers และการที่แฮโรลด์ ฮาร์มสเวิร์ท (Harold Harmsworth) น้องชาย ซึ่งต่อมาคือ ไวส์เคานต์รอเทอร์เมียร์ (Viscount Rothermere) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ สามารถบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้นอร์ทคลิฟฟ์มีฐานะมั่งคั่งขึ้นและมีเงินเหลือพอที่จะผลิตนิตยสารราคาถูกอีกหลายฉบับ เช่น นิตยสารเด็กชื่อ Comic Cuts และนิตยสารผู้หญิงชื่อ Forget-Me-Nots ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ นอร์ทคลิฟฟ์ก้าวสู่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ด้วยการเริ่มซื้อหนังสือพิมพ์ Evening News ที่ใกล้จะล้มละลายในราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์และแต่งตั้งให้เคนเนดี โจนส์ (Kennedy Jones) เป็นผู้บริหารกิจการ แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะคงรูปแบบ ๗ คอลัมน์ตามธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติอยู่แต่เขาปรับรูปแบบการนำเสนอด้วยการลดคอลัมน์โฆษณาให้เหลือเพียงคอลัมน์เดียวและจัดวางไว้ทางด้านซ้ายของหน้า ส่วนอีก ๖ คอลัมน์ที่เหลือเป็นการรายงานข่าวสั้น ๆ โดยมีการตั้งหัวข่าวที่สะดุดตาผู้อ่านและมีการใช้ภาพประกอบเพื่อคั่นเนื้อหาข่าวแต่ละข่าว นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ข่าวสตรีและข่าวสังคมซุบซิบด้วย Evening News ในรูปโฉมใหม่จึงได้รับความนิยมอย่างมาก และภายในเวลา ๑ ปีก็สามารถขายได้มากกว่า ๑๖๐,๐๐๐ ฉบับนับจนถึง ค.ศ. ๑๘๙๖ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มียอดจำหน่ายถึง ๘๐๐,๐๐๐ ฉบับและสร้างกำไรถึง ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ต่อปี
     นอร์ทคลิฟฟ์ยังออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่อีกฉบับชื่อ Daily Mail เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ และย่อขนาดของหนังสือพิมพ์ให้เล็กลงเป็นแบบที่รู้จักกันว่า แท็บลอยด์ Daily Mail เป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ราคาถูก คือ เป็นหนังสือพิมพ์ ๘ หน้าที่จำหน่ายเพียงครึ่งเพ็นนีเท่านั้น หนังสือพิมพ์มีการโฆษณาหลากหลาย เช่น หนังสือพิมพ์มูลค่า ๑ เพ็นนีแต่ขายเพียงครึ่งเพ็นนีเท่านั้น หรือหนังสือพิมพ์รายวันสำหรับผู้ชายที่มีธุรกิจรัดตัว Daily Mail จึงเป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวในรูปแบบที่อ่านเข้าใจได้ง่าย มีเนื้อหาสั้นๆ และน่าอ่าน มีการเขียนหัวข้อข่าวในรูปแบบใหม่โดยพาดหัวข้อข่าวจากริมซ้ายยาวไปจรดริมขวาของหน้ากระดาษ มีการแบ่งเนื้อที่สำหรับข่าวกีฬาและเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้หญิงทั่วไป เช่น แฟชั่น การทำอาหาร และข่าวสังคมซุบซิบ สิ่งแปลกใหม่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อีกอย่างหนึ่งคือ การตีพิมพ์เรื่องเป็นตอน ๆ โดยแต่ละเรื่องมีเนื้อหาไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ คำ ตอนแรกซึ่งเป็นการเปิดเรื่องนั้นจะลงพิมพ์ประมาณ ๕,๐๐๐ คำเพื่อสร้างกระแส ความสนใจให้ผู้อ่านติดตาม ส่วนตอนต่อ ๆ ไปแบ่งเป็นตอน ตอนละประมาณ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ คำและลงพิมพ์ทุกวัน นอร์ทคลิฟฟ์ควบคุมรับผิดชอบงานในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด กล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์ Daily Mail เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของอังกฤษที่ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษอย่างทั่วถึงและมียอดจำหน่ายสูงมาก ในช่วงที่นอร์ทคลิฟฟ์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น Daily Mail ไม่เคยตกจากตำแหน่งหนังสือพิมพ์ขายดีอันดับต้น ๆ ของอังกฤษเลย ต่อมา เมื่อเกิดสงครามบัวร์ (Boer War)* ระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ นอร์ทคลิฟฟ์ประกาศว่าทั้งเขาและหนังสือพิมพ์ Daily Mail สนับสนุนการขยายอำนาจและการสร้างความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษเต็มที่และเรียกร้องให้ชาวอังกฤษซื้อ Daily Mail เพื่อแสดงถึงความรักชาติ ปรากฏว่า Daily Mail มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer) นักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งประทับใจ ความสามารถและความสำเร็จของนอร์ทคลิฟฟ์อย่างมาก ได้เชิญเขาเป็นบรรณาธิการรับเชิญของหนังสือพิมพ์ออกใหม่ชื่อ New York World ฉบับต้อนรับคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นอร์ทคลิฟฟ์ตอบรับคำเชิญและได้ปรับขนาดของ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ให้เป็นแบบแท็บลอยด์ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย
     นอกจากเรื่องข่าวแล้วนอร์ทคลิฟฟ์ก็สนใจความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด เขาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ของเขาอยู่เสมอ เช่น กล้อง ถ่ายรูป จักรยานยนต์ รถยนต์ และเครื่องพิมพ์ นอกจากนี้ เขายังคลั่งไคล้รถยนต์มากและต้องการให้ชาวอังกฤษทั่วไปชอบด้วย เขาจึงสั่งห้ามไม่ให้หนังสือพิมพ์ Daily Mail รายงานข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างละเอียดเพราะกลัวว่าจะทำให้ผู้คนไม่กล้าใช้รถยนต์ ต่อมา เขาได้ซื้อกิจการของหนังสือพิมพ์ Weekly Dispatch ที่ใกล้จะล้มละลาย และตั้งชื่อใหม่ว่า Sunday Dispatch เขาปรับปรุงหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ขายดีที่สุด
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ นอร์ทคลิฟฟ์ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ขึ้นเพื่อเป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะผู้หญิงฉบับแรกของอังกฤษโดยมีเคนเนดี โจนส์ เป็นผู้รับผิดชอบ แม้ว่าในวันแรกหนังสือพิมพ์จะขายได้ ๒๗๖,๐๐๐ ฉบับ แต่ต่อมายอดขายกลับลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือประมาณ ๒๔,๐๐๐ ฉบับ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๔ เขาจึงปรับปรุงเนื้อหาหนังสือพิมพ์ใหม่เพื่อให้อ่านได้ทั้งหญิงและชาย มีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการจากแมรี โฮวาร์ท (Mary Howarth) เป็นแฮมิลตัน ไฟล์ (Hamilton Fyle) และลดราคาเหลือฉบับละครึ่งเพ็นนี รวมทั้งเพิ่มรูปภาพและรูปถ่ายประกอบเนื้อหามากขึ้น ทางกองบรรณาธิการยังทดลองนำภาพถ่ายหลากหลายประเภทขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และในฉบับวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้ตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาคือ เจ้าชายเฮนรี อัลเบิร์ต (Henry Albert) และเจ้าหญิงแมรี (Mary) ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ขายดีมากและทำให้นอร์ทคลิฟฟ์ ตระหนักว่าชาวอังกฤษสนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวและภาพถ่ายของราชวงศ์อังกฤษมาก เขาจึงยึดวิธีการนำเสนอข่าวเรื่องพระราชวงศ์เป็นนโยบายของหนังสือพิมพ์เรื่อยมา นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ Daily Mirror ยังบุกเบิกการเสนอข่าวในรูปแบบของการสัมภาษณ์พิเศษบุคคลสำคัญ ๆ โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์พิเศษลอร์ดมินโต (Lord Minto) ข้าหลวงอังกฤษคนใหม่ประจำ อินเดีย ปรากฏว่าคอลัมน์สัมภาษณ์นี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ด้วย เช่น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ มีการประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ Daily Mirror กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีมากที่สุดฉบับหนึ่งของอังกฤษภายในเวลาอันสั้น
     ในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐ นอร์ทคลิฟฟ์ได้รับการเสนอให้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินแต่เขาปฏิเสธเพราะต้องการที่จะรับฐานันดรศักดิ์ชั้นบารอนมากกว่าซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบารอนใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ในปีเดียวกันนอร์ทคลิฟฟ์ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ Sunday Observer และอีก ๓ ปีต่อมาก็ซื้อหนังสือพิมพ์ไทมส์ (Times)* ซึ่งใกล้จะล้มละลายในราคา ๓๒๐,๐๐๐ ปอนด์เขาแต่งตั้งเจฟฟรีย์ ดอว์สัน (Geoffrey Dawson) เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทมส์คนใหม่และปรับปรุงไทมส์จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ทันสมัย เขาให้ลดราคาจำหน่ายไทมส์ลงจาก ๓ เพ็นนีเหลือเพียง ๒ เพ็นนี และต่อมาก็ลดลงเป็น ๑ เพ็นนี ภายในเวลาไม่นานนักยอดจำหน่ายของไทมส์ก็สูงถึง ๒๗๘,๐๐๐ ฉบับต่อวัน นอร์ทคลิฟฟ์ตระหนักดีว่าไทมส์มีอิทธิพลต่อการเมืองของอังกฤษมากจึงใช้ประโยชน์จากสื่อสิ่งพิมพ์นี้นำเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เขาต้องการ เมื่อนอร์ทคลิฟฟ์เสียชีวิตลง หนังสือพิมพ์ไทมส์ถูกขายต่อให้กับจอห์น จาคอบ แอสเตอร์ (John Jacob Astor)
     นอร์ทคลิฟฟ์สนใจเรื่องการบินและเครื่องบินมาเป็นเวลานาน ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เขาเสนอเงินรางวัลจำนวน ๑,๐๐๐ ปอนด์แก่ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษระหว่างเมืองกาเล (Calais) กับเมืองโดเวอร์ได้สำเร็จเป็นคนแรก และอีก ๑๐,๐๐๐ ปอนด์แก่ผู้ที่สามารถบินจากกรุงลอนดอนจนถึงเมืองแมนเชสเตอรได้สำเร็จเป็นคนแรกซึ่งนักบินชาวฝรั่งเศสสามารถพิชิตรางวัลของนอร์ทคลิฟฟ์ทั้ง ๒ รางวัลใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เค้าของสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้นในยุโรปทำให้นอร์ทคลิฟฟ์กังวลใจเกี่ยวกับความพร้อมและความสามารถของกองทัพอากาศอังกฤษในการปกป้องน่านฟ้าจากการรุกรานของศัตรู เขาวิตกว่านักบินของประเทศศัตรูจะสามารถบินมาทิ้งระเบิดใส่อังกฤษได้โดยง่าย เขาจึงเขียนจดหมายเตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่คำเตือนของเขาไม่ได้รับความสนใจในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ นอร์ทคลิฟฟ์ว่าจ้างรอเบิร์ตแบลตช์ฟอร์ด (Robert Blatchford) บรรณาธิการของนิตยสาร Clarion ผู้มีแนวคิดสังคมนิยมให้เดินทางไปยังเยอรมนีเพื่อหาข้อมูลและเขียนบทความเกี่ยวกับภัยคุกคามอังกฤษที่อาจจะเกิดจากเยอรมนี ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มงบประมาณทางทหารและเตรียมพร้อมในการรับมือกับการรุกรานของเยอรมนี การแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ที่ เขาเป็นเจ้าของทำให้บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Star กล่าวหาว่าเขา เป็นผู้กระหายสงครามและมีส่วนทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ทั้งนี้เพราะนับถึง ค.ศ. ๑๙๑๔ หนังสือพิมพ์ในสังกัดของนอร์ทคลิฟฟ์มียอดจำหน่ายเกินครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่มีขายในอังกฤษทั้งหมด
     เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ นอร์ทคลิฟฟ์ต้องการให้หนังสือพิมพ์ Daily Mail เป็นหนังสือพิมพ์ทางการของกองทัพบกอังกฤษ ในแต่ละวันรถจักรยานยนต์ของ กองทัพบกจะนำหนังสือพิมพ์ Daily Mail จำนวน ๑๐,๐๐๐ ฉบับไปส่งให้ทหารในสมรภูมิแนวรบด้านตะวันตกนอกจากนี้ เขายังให้ทหารอังกฤษในแนวหน้าเป็นแหล่งข่าวให้กับหนังสือพิมพ์และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ได้ประกาศให้รางวัลแก่ทหารอังกฤษที่เขียนเล่าเรื่องประสบการณ์สงครามด้วย ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ นอร์ทคลิฟฟ์ใช้หนังสือพิมพ์ของเขาเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนการเกณฑ์ทหารและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ตคิชเนอร์ (Lord Horatio Herbert Kitchener)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรีเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท (Herbert Henry Asquith)* โดยมีประเด็นสำคัญคือคิชเนอร์บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้เกิดการขาดแคลนยุทโธปกรณ์ในการทำสงครามใน แนวรบด้านตะวันตกและสั่งผลิตกระสุนปืนใหญ่ผิดประเภท เซอร์จอห์น เฟรนช์ (Sir John French) ผู้บังคับบัญชากองทัพอังกฤษในแนวรบด้านนี้เห็นด้วยกับนอร์ทคลิฟฟ์ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของแอสควิทหลายคนก็ร่วมวิจารณ์คิชเนอร์ซึ่งทำให้เขาถูกลดบทบาทลงเมื่อคิชเนอร์ถึงแก่อนิจกรรมลงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖ นอร์ทคลิฟฟ์มีความเชื่อมั่นว่าอังกฤษจะทำสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การโจมตีคิชเนอร์ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวอังกฤษมาตั้งแต่สงครามบัวร์ทำให้นอร์ทคลิฟฟ์ถูกชาวอังกฤษ จำนวนไม่น้อยต่อต้านและส่งผลให้หนังสือพิมพ์ Daily Mail มียอดจำหน่ายลดลงจากเดิม ๑,๓๘๖,๐๐๐ ฉบับเหลือเพียงประมาณ ๒๓๘,๐๐๐ ฉบับ
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ นายกรัฐมนตรีแอสควิทแต่งตั้งเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ (Minister of the Munitions) แต่นอร์ทคลิฟฟ์ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศในช่วงสงครามและกล่าวว่าลอยด์ จอร์จยังเป็นที่หวาดกลัวของฝ่ายเยอรมันมากกว่าแอสควิท ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ แอสควิทตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายก รัฐมนตรี และลอยด์ จอร์จดำรงตำแหน่งสืบแทนนอร์ทคลิฟฟ์สนับสนุนรัฐบาลของลอยด์ จอร์จและได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลโดยกำกับดูแลเกี่ยวกับการบินซึ่งเป็นเรื่องที่ เขาสนใจมาโดยตลอด แต่นอร์ทคลิฟฟ์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเพราะเกรงว่าจะกระทบกับการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เขาได้ร่วมเดินทางไปสหรัฐอเมริกากับคณะทูตทหารอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งมีส่วนทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นไวส์เคานต์นอร์ทคลิฟฟ์แห่งเซนต์ปีเตอร (Viscount Northcliffe of St. Peter) ในเวลาต่อมา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ นอร์ทคลิฟฟ์ได้รับการทาบทามจากลอร์ดบีเวอร์บรุก (Lord Beaverbrook) เจ้าของหนังสือพิมพ์ Daily Express และเป็นรัฐมนตรี กระทรวงข่าวสารให้เข้าร่วมรัฐบาลของลอยด์ จอร์จอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอให้เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา (Director of Propaganda) นอร์ทคลิฟยอมรับตำแหน่งนี้และได้จัดพิมพ์ใบปลิวจำนวน ๔ ล้านฉบับไปโปรยลงในเขตของฝ่ายเยอรมัน เมื่อเยอรมนียอมแพ้ในสงครามและต้องลงนามในสนธิสัญญาการสงบศึก (Armistice)* เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในวันเดียวกันนอร์ทคลิฟฟ์ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเขาเสนอความเห็นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ให้ประหารชีวิตไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* พร้อมกับลงโทษเยอรมนีด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๘ นอร์ทคลิฟฟ์ ไม่ยอมสนับสนุนลอยด์ จอร์จ ทั้งนี้เพราะลอยด์ จอร์จปฏิเสธที่จะแต่งตั้งบุคคลที่เขาเสนอให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ลอยด์ จอร์จก็ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลโดยอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)*
     หลังสงครามโลกนอร์ทคลิฟฟ์ยังคงสนใจติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เขาสนับสนุนพัฒนาการของระบบการสื่อสารแบบไร้สายและต้องการกระตุ้นให้บุคคลทั่วไปสนใจด้วย ดังนั้น เขาจึงสั่งให้หนังสือพิมพ์ Daily Mail เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมการสื่อสารแบบไร้สายขึ้นซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลก ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ นอร์ทคลิฟฟ์ล้มป่วยด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งทำให้ลิ้นหัวใจและไตทำงานผิดปรกติ สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงเร็วมากจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ในกรุงลอนดอนขณะอายุ ๕๗ ปี นอร์ทคลิฟฟ์ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมว่า ให้จ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานของเขาทั้งหมด ๖,๐๐๐ คนเป็นจำนวน ๓ เท่าของเงินเดือนรวมเป็นเงิน ๕๓๓,๐๐๐ ปอนด์



คำตั้ง
Northcliffe, Alfred Charles William Harmsworth, Viscount
คำเทียบ
อัลเฟรด ชาลส์ วิลเลียม ฮาร์มสเวิร์ท ไวส์เคานต์นอร์ทคลิฟฟ์
คำสำคัญ
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- เฟรนช์, เซอร์จอห์น
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ดับลิน, กรุง
- นอร์ทคลิฟฟ์, อัลเฟรด ชาลส์ วิลเลียม ฮาร์มสเวิร์ท ไวส์เคานต์
- พูลิตเซอร์, โจเซฟ
- ลิฟฟ์, เอดเวิร์ด
- ลิงคอล์นเชียร์, มณฑล
- รอเทอร์เมียร์, ไวส์เคานต์
- ไฟล์, แฮมิลตัน
- ฮาร์มสเวิร์ท, แฮโรลด์
- ดอว์สัน, เจฟฟรีย์
- เฮนรี อัลเบิร์ต, เจ้าชาย
- แมรี, เจ้าหญิง
- กาเล, เมือง
- โฮวาร์ท, แมรี
- แบลตช์ฟอร์ด, รอเบิร์ต
- เอดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้า
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แอสเตอร์, จอห์น จาคอบ
- มินโต, ลอร์ด
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- สนธิสัญญาการสงบศึก
- โคเวนทรี, เมือง
- โจนส์, เคนเนดี
- ชาเพลิโซด, เมือง
- พรรคอนุรักษนิยม
- คิชเนอร์, ลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๘-๒๔๖๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf