Ypres, Battle of (-)

ยุทธการที่เมืองอีปร์ (-)

ยุทธการที่เมืองอีปร์เป็นการรบในแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่เมืองอีปร์และบริเวณรอบ ๆ เมืองอีปร์ ประเทศเบลเยียม ระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติพันธมิตรรวม ๓ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๔, ๑๙๑๕ และ ๑๙๑๗ ตามลำดับ เมื่อฝรั่งเศสสามารถสกัดกั้นการบุกของเยอรมนีได้ในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of Marne ๕–๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔)* และผลักดันกองทัพเยอรมันให้ถอยกลับไปทางตะวันออกที่เนินเขาเชอแม็งเดดาม (Chemin des Dames) ใกล้ถึงเมืองแวร์เดิง (Verdun) เยอรมนีจึงเริ่มขุดสนามเพลาะซึ่งนำไปสู่สงครามสนามเพลาะ (trench warfare) ที่ทำให้การรบในเวลาต่อมาเกือบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ และเป็นการตรึงกำลังกันโดยไม่มีการเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วแบบที่ผ่านมาอีกต่อไป เยอรมนีพยายามบุกโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรอีกครั้งในเดือนตุลาคมและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๑ (First Battle of Ypres ๑๙ ตุลาคม–๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔)ยุทธการครั้งนี้ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบและสถานการณ์การสู้รบหยุดชะงักในแนวรบด้านตะวันตกจนกลายเป็นสงครามสนามเพลาะที่ยืดเยื้อและยาวนาน ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เยอรมนีบุกโจมตีเมืองอีปร์อีกครั้งและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๒ (Second Battle of Ypres ๒๒ เมษายน–๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕) เยอรมนีโจมตีโดยใช้แก๊สพิษเป็นอาวุธครั้งแรก อังกฤษสูญเสียทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย และเยอรมนีสูญเสียประมาณ ๓๕,๐๐๐–๔๐,๐๐๐ นาย อีก ๒ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เยอรมนีบุกโจมตีเมืองอีปร์อีกครั้งและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓ (Third Battle of Ypres ๓๑ กรกฎาคม–๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗) ซึ่งรบกันที่หมู่บ้านแพสเชินเดล (Passchendaele) ยุทธการครั้งนี้จึงเรียกชื่อว่ายุทธการที่แพสเชินเดล (Battle of Passchendaele) ด้วย นับเป็นการสู้รบที่ยาวนานที่สุดและจำนวนทหารที่เสียชีวิตของทั้ง ๒ ฝ่ายรวมกันมากกว่า ๘๕๐,๐๐๐ นาย

 ยุทธการที่เมืองอีปร์เป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลวของกองทัพเยอรมันในการบุกฝรั่งเศสตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสสามารถสกัดกั้นการบุกอย่างรวดเร็วของกองทัพเยอรมันได้ในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ เยอรมนีถูกกองทัพฝรั่งเศสที่มีนายพลโชแซฟ ชาก-เซแซร์ ชอฟร์ (Joseph Jacques-Césaire Joffre)* เป็นผู้บัญชาการตีรุกไล่จนทหารเยอรมันต้องล่าถอยไปตั้งรับเหนือแม่น้ำแอน (Aisne) อย่างไรก็ตาม เมื่อกองกำลังสำรองของเยอรมนีมาถึง การป้องกันแนวรบของเยอรมนีเข้มแข็งขึ้นจนฝรั่งเศสและกองกำลังปฏิบัติการนอกประเทศของอังกฤษ (British Expeditionary Forces–BEF) โจมตีไม่ได้ผล ในกลางเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ เยอรมนีรีบขุดสนามเพลาะอย่างรวดเร็วโดยมุ่งไปยังเมืองท่ากาเล (Calais) ของฝรั่งเศสและเมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) ที่ช่องแคบอังกฤษ ทั้งจะโอบล้อมปีกซ้ายของฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสอ่านการยุทธ์เยอรมนีได้และตอบโต้ด้วยการขุดสนามเพลาะเพื่อโอบปีกขวาของเยอรมนีเช่นกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตั้งกำลังประชิดกันไปตามแนวรบและเคลื่อนกำลังขนานกันไปจนแนวรบขยายออกไปใกล้ทะเลซึ่งในเวลาต่อมาเรียกกันว่า “การแข่งไปยังฝั่งทะเล” (Race to the Sea) ต่างฝ่ายต่างพยายามหาช่องว่างและจุดอ่อนของอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการยุทธ์ที่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนต้องถอยกลับไปตั้งตัวกันใหม่ ทั้งแนวรบตั้งยันกันอยู่ไม่มีฝ่ายใดตีฝ่าออกไปได้ ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพเยอรมันก็ตีทัพพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I) แห่งเบลเยียมแตกล่าถอยและเข้ายึดเมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ไว้ได้ กองทัพเบลเยียมถอยมาหยุดที่แม่น้ำอีแซร์ (Yser) และพยายามเข้ายึดที่มั่นตั้งรับตามแนวแม่น้ำอีแซร์ซึ่งเป็นแนวส่วนเหนือสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารเบลเยียมได้เปิดทำนบให้น้ำท่วมพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอีแซร์เพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีบุกขึ้นไปทางเหนือ

 ขณะที่กองทัพเบลเยียมพยายามสกัดกั้นการบุกโจมตีของเยอรมนี อังกฤษก็เคลื่อนกำลังมาถึงฟลานเดอส์ (Flanders) ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม และตั้งมั่นอยู่รอบเมืองต่าง ๆ ของเบลเยียมคือ เบตูน (Béthune) อาร์ม็องตีแยร์ (Armentières) และอีปร์ พลเอก เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn)* ประธานคณะเสนาธิการทหารเยอรมันคนใหม่ต่อจากจอมพล เคานต์เฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth von Moltke)* ซึ่งถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเพราะล้มเหลวในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ จึงวางแผนจะยึดเมืองท่าบนชายฝั่งทะเลตรงช่องแคบอังกฤษไว้ เขาตัดสินใจบุกโจมตีครั้งใหญ่ที่เมืองอีปร์ก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะรวมตัวกันป้องกันแนวรบให้เข้มแข็งขึ้น ฟัลเคนไฮน์เห็นว่าเมืองอีปร์เป็นเขตปฏิบัติการสำคัญของอังกฤษเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการคมนาคมสื่อสารของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ขวางกั้นการเคลื่อนกำลังของเยอรมนีไปเมืองท่านิวปอร์ต (Nieuport) กาเล และดันเคิร์ก เยอรมนีจึงทุ่มกำลังส่วนใหญ่รวมทั้งหน่วยกองพลสำรองที่ดีที่สุดซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาอาสาสมัครที่กระตือรือร้นเพิ่งผ่านการฝึกอบรมราว ๒๕,๐๐๐ คน เข้าโจมตีในยุทธการที่ลังเงอมาร์ก (Battle of Langemarck ๒๑–๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๔) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอีปร์ มีการปะทะกันดุเดือดและกองพลสำรองของเยอรมนีซึ่งเป็นนักศึกษาอาสาสมัครที่ขาดประสบการณ์การรบตกเป็นเหยื่อสังเวยปืนเล็กยาวของกองทัพอังกฤษจำนวนมาก เยอรมนีเรียกความสูญเสียดังกล่าวว่า “การสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ที่เมืองอีปร์” (Massacre of the Innocents at Ypres) จากนั้นการต่อสู้ได้ขยายตัวไปรอบพื้นที่เมืองอีปร์

 อังกฤษเข้าสู่สงครามเพื่อปลดปล่อยเบลเยียมแต่เมืองอีปร์คือพื้นที่เดียวที่อังกฤษยังคงปกป้องไว้ได้อังกฤษจึงพยายามต่อต้านและป้องกันเมืองอีปร์เต็มกำลังความสามารถเพราะตระหนักว่าหากสูญเสียเมืองอีปร์ก็คือความพ่ายแพ้ของกองทัพอังกฤษ เมืองอีปร์จึงเป็นศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่จะต้องป้องกันไว้สุดชีวิตเพื่อไม่ให้เยอรมนียึดครองได้ ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งแรกจึงเป็นการต่อสู้ใหญ่ที่ดุเดือดในแนวรบด้านตะวันตก


ทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียพอ ๆ กัน อังกฤษสูญเสียทหารมากกว่า ๕๐,๐๐๐นายกองพลที่ ๗ ซึ่งมีกำลังพลกว่า ๑๒,๐๐๐นายเหลือรอดเพียง ๒,๔๐๐ นาย เท่านั้นยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๑ ได้ชื่อว่าเป็นสุสานของกองทัพบกอังกฤษ (grave of the old soldier) ฝรั่งเศสก็สูญเสียทหารกว่า ๒๐,๐๐๐ นาย และเบลเยียมกว่า ๕๐,๐๐๐ นาย

 ความล้มเหลวของเยอรมนีในยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๑ เป็นการยุติการรบใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ในแนวรบด้านตะวันตกชั่วคราวซึ่งนับเป็นความพ่ายแพ้ทางด้านยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของเยอรมนี ผลสำคัญของยุทธการครั้งนี้คือการสิ้นสุดของสงครามเคลื่อนที่เพราะหลังการรบทหารทั้ง ๒ ฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะเป็นการใหญ่ในช่วงฤดูหนาวเพื่อสร้างแนวข่ายป้องกันที่แข็งแรงซึ่งยืดยาวออกไปถึง ๙๖๐ กิโลเมตรจากสวิตเซอร์แลนด์จนถึงชายฝั่งทะเลเหนือโดยใช้เป็นที่หลบหิมะ รบรุก และป้องกันตนเองให้พ้นจากวิถีกระสุนของปืนกลและปืนใหญ่ ในเวลาต่อมาแนวรบด้านตะวันตกจึงไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชัยชนะต่อกันได้อย่างเด็ดขาดและนำไปสู่สถานการณ์รบที่เรียกว่า “แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” (All Quieton the Western Front) เยอรมนีหันไปวางแผนที่จะทุ่มกำลังรบส่วนใหญ่เข้าโจมตีรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่าน

 หลังการปราชัยในยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๑ ฟัลเคนไฮน์ได้รายงานให้เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)* อัครมหาเสนาบดีทราบถึงสถานการณ์สงครามว่ากองทัพเยอรมันไม่อาจที่จะตรึงแนวรบทุกด้านในระยะยาวได้ และเสนอแนะว่าควรทุ่มกำลังในแนวรบด้านตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่าน และหากทำให้รัสเซียแยกจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้เยอรมนีจะชนะสงคราม เยอรมนีต้องโน้มน้าวรัสเซียให้แยกตัวทำสนธิสัญญาสันติภาพและเพียงทำให้รัสเซียอ่อนเปลี้ยโดยไม่ทำลายล้างเด็ดขาด รัสเซียก็จะยินยอมเจรจาสงบศึกแต่ข้อเสนอของฟัลเคนไฮน์กลับถูกจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* และ พลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* ซึ่งรับผิดชอบในแนวรบด้านตะวันออกตำหนิเพราะเห็นว่าหากกองกำลังที่ทุ่มไปในการรบที่เมืองอีปร์ถูกส่งมาเสริมในแนวรบด้านตะวันออกก็จะมีกำลังพลเพียงพอในการโจมตีกองทัพรัสเซียที่บุกปรัสเซียตะวันออกและแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ซึ่งรัสเซียอาจแพ้สงครามได้ ฝ่ายพันธมิตรซึ่งอ่านแผนสงครามของเยอรมนีออก


จึงตอบโต้ด้วยการโจมตีจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ทางแนวรบด้านตะวันตกเพื่อให้เยอรมนีพะวักพะวนรวมทั้งโน้มน้าวให้อิตาลีเข้าสู่สงครามเป็นพันธมิตร สถานการณ์สงครามดังกล่าวจึงนำไปสู่ยุทธการที่แคว้นชองปาญ (Battle of Champagne ๑๖–๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕) และยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๒

 แนวป้องกันของฝ่ายสัมพันธมิตรรอบ ๆเมืองอีปร์ประกอบด้วยกองทัพบกที่ ๒ ของอังกฤษที่มีนายพลเซอร์ฮอเรซ สมิท-ดอร์เรียน (Horace Smith-Dorrien) เป็นผู้บัญชาการ และทหารฝรั่งเศสอีก ๒ กองพลซึ่งตั้งมั่นในพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือของเมืองอีปร์เยอรมนีเคยทดลองใช้แก๊สพิษในแนวรบด้านตะวันออกในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ แต่เป็นการทดลองในขอบเขตจำกัดและไม่เป็นที่รับรู้ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๒ ซึ่งเริ่มขึ้นในตอนเย็นของวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๕ เยอรมนีมุ่งบุกหนักเพื่อผลักดันให้ฝ่ายศัตรูถอนกำลังออกจากเมืองอีปร์และใช้แก๊สพิษโจมตีเป็นครั้งแรกซึ่งสร้างความโกลาหลอลหม่านอย่างมาก กลุ่มควันหนาสีเขียวเหลืองของแก๊สคลอรีนที่มีกลิ่นเหม็นคล้ายสับปะรดผสมพริกไทยที่ลอยตัวช้า ๆ เหนือพื้นดินไปที่แนวรบของศัตรูสร้างความตื่นตระหนกและความตกอกตกใจแก่ทหารอย่างมาก เพราะทหารต่างล้มดิ้นด้วยความเจ็บปวดและหายใจไม่ออก ในเวลาอันรวดเร็วแนวรบที่เมืองอีปร์ก็แทบจะไม่สามารถรักษาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ทหารเยอรมันที่บุกเข้ามาทั้งที่สวมหน้ากากกันแก๊สพิษแล้วก็ยังรีรอที่จะเดินฝ่าเข้าไปในกลุ่มแก๊ส เยอรมนีจึงพลาดโอกาสที่จะได้ชัยชนะในทันทีทั้ง ๆ ที่แนวรบได้เปิดช่องว่างไว้ ในช่วงเวลาเดียวกันที่กลุ่มแก๊สพิษเริ่มจางหายไปหน่วยกำลังเสริมอังกฤษและแคนาดาก็มาถึงและบุกเข้าไปยังแนวรบที่เปิดกว้างจนต้านการบุกของเยอรมนีไว้ได้และสามารถจัดตั้งที่มั่นได้ในตอนกลางคืนของวันที่ ๒๒–๒๓ เมษายน ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ใช้ผ้าที่โชกด้วยปัสสาวะปิดจมูกและปากเพราะแอมโมเนียสามารถป้องกันแก๊สคลอรีนได้ ในเวลาต่อมาก็มีการพัฒนาประดิษฐ์หน้ากากที่กรองอากาศได้ครอบปากและจมูก

 การรุกโต้ดำเนินต่อไปอย่างจริงจังในระหว่างวันต่อมาและฝ่ายเยอรมนีที่ขาดกำลังเสริมระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างหนัก กองทหารอังกฤษถูกระดมยิงจากแนวด้านหน้าและทางปีกทั้ง ๒ ด้านและบางครั้งจากปืนใหญ่ของเยอรมนีด้านหลัง สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้นายพลสมิท-ดอร์เรียนตัดสินใจล่าถอยอย่างจำกัดกลับไปยังที่มั่น นายพลเซอร์จอห์น เฟรนช์ (John French) ซึ่งขัดแย้งกับนายพลสมิท-ดอร์เรียนเกี่ยวกับ


ยุทธศาสตร์สงครามจึงเห็นเป็นโอกาสปลดเขาและแต่งตั้งนายพลเซอร์เฮอร์เบิร์ต พลัมเมอร์ (Herbert Plumer) ดำรงตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตาม พลัมเมอร์ก็ใช้ยุทธวิธีเดียวกับสมิท-ดอร์เรียนด้วยการให้ทหารล่าถอยกลับไปยังที่มั่น อีก๓สัปดาห์ต่อมา กองทัพที่๒ก็สามารถต้านการบุกของเยอรมนีไว้ได้ แม้เยอรมนีจะใช้แก๊สพิษและปืนใหญ่แต่อังกฤษก็ถอยไปเพียงเล็กน้อยการรุกของเยอรมนีเริ่มอ่อนลงและในท้ายที่สุดก็ยุติการสู้รบในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม

 ในยุทธการครั้งนี้อังกฤษสูญเสียทหารราว ๖๐,๐๐๐ นาย เยอรมนีสูญเสียประมาณ ๓๕,๐๐๐–๔๐,๐๐๐ นาย หลังยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๒ การใช้แก๊สพิษก็กลายเป็นเรื่องปรกติในแนวรบด้านตะวันตกและความสูญเสียก็มีน้อยมากกว่าที่เคยคาดคิดไว้เพราะมีการคิดประดิษฐ์เครื่องป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังยุทธการครั้งนี้ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ทุ่มกำลังโจมตีแนวรบรัสเซียและมีชัยชนะอย่างต่อเนื่องจนรัสเซียไม่ใช่ศัตรูที่น่าเกรงขามสำหรับเยอรมนีอีกต่อไป

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๕–กลาง ค.ศ. ๑๙๑๖ ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดประชุมหารือกันหลายครั้งเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกใหญ่หลาย ๆ ด้านในการจะบุกหนักโจมตีเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันตกตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๑๗ เยอรมนีตกเป็นฝ่ายรับเกือบตลอดทั้งปีแต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็สูญเสียทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับชัยชนะที่ไม่ค่อยมีความสำคัญทางทหารมากนัก การรบที่สำคัญคือ ยุทธการที่เมืองอารัส (Battle of Arras ๙ เมษายน–๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓ หรือที่เรียกว่ายุทธการที่แพสเชินเดล ระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม–๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ และยุทธการที่ก็องเบร (Battle of Cambrai ๒๐ พฤศจิกายน–๓ ธันวาคมค.ศ. ๑๙๑๗) ส่วนในแนวรบด้านตะวันออกนั้นการรบที่สำคัญคือยุทธการที่คาปอเรตโต (Battle of Caporetto ๒๔ ตุลาคม–พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗)*ซึ่งอิตาลีพ่ายแพ้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีอย่างยับเยิน

 ในยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓ ฝ่ายสัมพันธมิตรมุ่งโจมตีกองกำลังของเยอรมนีที่รายรอบเมืองอีปร์เพื่อมุ่งทำลายเส้นทางรถไฟที่ส่งเสบียงให้กองทัพเยอรมันซึ่งอยู่ห่างจากแนวรบประมาณ ๑๕ กิโลเมตร และเพื่อทำให้กองทัพเยอรมันอ่อนกำลังลงในแนวรบด้านตะวันตก ยุทธการครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อยึดเนินเขาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองแพสเชินเดลและ


ทำให้เรียกชื่อการรบครั้งนี้ในเวลาต่อมาว่า ยุทธการที่แพสเชินเดล ยุทธการครั้งนี้ประกอบด้วยยุทธการย่อยรวม ๖ ครั้ง คือ ยุทธการที่ถนนเมอแน็ง (Battle of MeninRoad ๒๐–๒๕ กันยายน) ยุทธการที่โพลีกอนวูด (Battle of Polygon Wood ๒๖ กันยายน–๓ ตุลาคม) ยุทธการที่โบรดไซน์เดอ (Battle of Broodseinde) ยุทธการที่ปุลกัปแป็ลเลอ (Battle of Poelcappelle) และยุทธการที่แพสเชินเดลครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒

 ในยุทธการที่ถนนเมอแน็ง โพลีกอนวูด และโบรดไซน์เดอ ระหว่างวันที่ ๒๐ กันยายนถึงวันที่ ๔ ตุลาคมกองทัพที่๑ของอังกฤษซึ่งมีจอมพล เซอร์ดักลาส เฮก (Douglas Haig)* เป็นผู้บัญชาการเคลื่อนกำลัง ๙ กองพลใหญ่บุกเข้าไปในแนวรบซึ่งเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด อังกฤษเคลื่อนกำลังยึดพื้นที่ได้ราว ๑,๕๐๐ เมตร และจับเชลยได้มากกว่า ๕,๐๐๐ คน ในการรุกวันที่ ๔ ตุลาคมซึ่งเป็นการรบที่นองเลือดและดุเดือดมากที่สุด เยอรมนีใช้แก๊สมัสตาร์ดโจมตีเป็นครั้งแรกแต่ก็ไม่สามารถหยุดการบุกของอังกฤษได้ อังกฤษสามารถขยายเพิ่มพื้นที่แนวรบได้กว้าง ๑๓ กิโลเมตรในช่วงการรบที่สูญเสียเลือดเนื้อกันมากทั้ง ๒ ฝ่าย ดังกล่าว อากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก และพื้นที่เต็มไปด้วยโคลนตมและหลุมที่เกิดจากระเบิดที่มีน้ำขังเต็มทหารต่างเคลื่อนกำลังยากลำบากและรุกรบได้จำกัดชัยชนะของอังกฤษในยุทธการทั้ง ๓ แห่งทำให้ปฏิบัติการรบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่แยกกันกลับมาร่วมกันได้อีกครั้ง

 ในวันที่ ๙ ตุลาคม อังกฤษเริ่มการรุกอีกครั้งโดยบุกโจมตีที่ปุลกัปแป็ลเลอและแพสเชินเดล ส่วนฝรั่งเศสบุกไปทางตอนใต้ของอีปร์มุ่งไปแนวป่าเฮาทูลสต์ (Houthulst) อากาศหนาวขึ้นและฝนตกหนัก การเคลื่อนกำลังจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ และการรบต้องชะงักลงเกือบ ๒ สัปดาห์ อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ ๒๖–๓๐ ตุลาคม การรุกใหญ่พร้อมกันเกิดขึ้นอีกครั้งตั้งแต่แพสเชินเดลไปทางเหนือของอีปร์จนถึง ๒ ฟากของป่าเฮาทูลสต์ แม้เยอรมนีจะตีโต้ตอบอย่างรุนแรงด้วยการกระหน่ำยิงปืนใหญ่และแก๊ส แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทั้ง ๆ ที่สภาพพื้นดินเป็นทะเลโคลน ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเคลื่อนไปถึงแพสเชินเดล ในขณะที่ฝนตกพรำ ๆ อากาศเย็นและท้องฟ้ามืดครึ้ม เยอรมนีพยายามต้านการรุกอย่างเหนียวแน่น แต่ในท้ายที่สุดในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ทหารแคนาดา ๒ กองพลที่เสริมเข้ามาก็รุกถึงพื้นที่ราบและยึดแพสเชินเดลที่เต็มไปด้วยโคลนและสิ่งปรักหักพังได้ อีปร์จึงรอดพ้นจากการถูกยึดครองและการรบสิ้นสุดลง

 ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓ ซึ่งกินเวลา ๓ เดือน ๑ สัปดาห์ ๓ วันเป็นการรบที่เปล่าประโยชน์อย่างเด่นชัดของทั้ง ๒ ฝ่าย อังกฤษสูญเสียทหาร ๒๐๐,๐๐๐–๔๔๘,๖๑๔ นาย และเยอรมนีก็สูญเสียในจำนวนพอ ๆ กันราว ๒๑๗,๐๐๐–๔๑๐,๐๐๐ นาย เอ.เจ.พี.เทย์เลอร์ (A.J.P.Taylor) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงให้ความเห็นว่ายุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓ เป็น “การฆ่าที่มืดบอดที่สุดในสงครามที่มืดบอด” (the blindest slaughter of a blind war) ทั้งเป็นยุทธการแห่งโคลนตมและความโง่เขลา (battle of the mud and the folly).



คำตั้ง
Ypres, Battle of
คำเทียบ
ยุทธการที่เมืองอีปร์
คำสำคัญ
- การแข่งไปยังฝั่งทะเล
- การสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ที่เมืองอีปร์
- กาลิเซีย
- ชอฟร์, โชแซฟ ชาก-เซแซร์
- แผนชลีฟเฟิน
- ฟัลเคนไฮน์, พลเอก เอริช ฟอน
- มหาอำนาจกลาง
- ยุทธการที่ก็องเบร
- ยุทธการที่คาปอเรตโต
- ยุทธการที่แคว้นชองปาญ
- ยุทธการที่ถนนเมอแน็ง
- ยุทธการที่โบรดไซน์เดอ
- ยุทธการที่ปุลกัปแป็ลเลอ
- ยุทธการที่แพสเชินเดล
- ยุทธการที่โพลีกอนวูด
- ยุทธการที่เมืองอารัส
- ยุทธการที่เมืองอีปร์
- ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๒
- ยุทธการที่เมืองอีปร์ครั้งที่ ๓
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์น
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่ลังเงอมาร์ก
- ลูเดนดอร์ฟ, พลเอก เอริช
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮินเดนบูร์ก, จอมพล เพาล์ ฟอน
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-