การประชุมที่ยัลตาหรือบางครั้งเรียกว่า การประชุมที่ไครเมีย (Crimean Conference) เป็นการประชุมระหว่างวันที่ ๔–๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ยังคงดำเนินอยู่ ที่เมืองยัลตา ทางตอนใต้ของยูเครน (Ukraine) ระหว่างผู้นำประเทศฝ่ายพันธมิตร ๓ ประเทศประกอบด้วยประธานาธิบดีแฟรงกลินเดลาโนโรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษและโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การหารือเกี่ยวกับสถานภาพของยุโรปหลังสงครามการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ซึ่งคั่งค้างมาจากการประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Conference ๒๑ สิงหาคม–๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔)* ปัญหาเยอรมนีและค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งการทำความตกลงเกี่ยวกับญี่ปุ่น การประชุมที่ยัลตาเป็นการประชุมของผู้นำสามมหาอำนาจ (Big Three) ครั้งที่ ๒ ในจำนวน ๓ ครั้ง การประชุมครั้งแรกคือ การประชุมที่เตหะราน (Teheran Conference ๒๒–๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓)* และการประชุมครั้งสุดท้ายคือ การประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม–๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* แต่ในการประชุมที่พอทสดัมมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำที่เข้าร่วมประชุมโดยเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคแรงงาน (Labour Party)* เข้าร่วมประชุมแทนเชอร์ชิลล์และประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) ประชุมแทนประธานาธิบดีโรสเวลต์ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม
ก่อนหน้าการประชุมที่ยัลตา อังกฤษกับสหรัฐอเมริกามีความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับแผนการปลดปล่อยเยอรมนี อังกฤษต้องการให้ฝ่ายพันธมิตรรุกทางบอลติกและอิตาลี แต่สหรัฐอเมริกาต้องการให้บุกทางด้านฝรั่งเศสและจะให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนตนในสงครามแปซิฟิกกับญี่ปุ่น รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ หลังเยอรมนีพ่ายแพ้ สหรัฐอเมริกาต้องการถอนกำลังทหารกลับประเทศโดยเร็ว ส่วนอังกฤษต้องการให้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาเยอรมนีและปัญหาโปแลนด์หลังสงคราม รวมทั้งต้องการให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของยุโรปด้วย ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์จึงสนับสนุนให้มีการจัดประชุมระหว่างผู้นำฝ่ายพันธมิตรเพื่อหารือในเรื่องเหล่านี้และแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตในการประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์โรสเวลต์เสนอให้จัดการประชุมขึ้นที่แถบเมดิเตอร์เรเนียน แต่สตาลินปฏิเสธโดยอ้างปัญหาสุขภาพซึ่งแพทย์ห้ามการเดินทางไกล เขาเสนอให้จัดประชุมที่พระราชวังลิวาเดีย (Livadia) บนฝั่งทะเลดำใกล้เมืองยัลตาในคาบสมุทรไครเมีย สตาลินคาดหวังว่าในการประชุมที่จะมีขึ้นเขาสามารถเรียกร้องเรื่องการกำหนดหลักการประกันความมั่นคงของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกและเรื่องค่าปฏิกรรมสงคราม ดังนั้นผู้นำประเทศมหาอำนาจพันธมิตรซึ่งต่างมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของตนจึงกำหนดให้มีการพบปะหารือกันในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ยัลตา
ในช่วงก่อนการประชุมที่ยัลตาจะเริ่มขึ้น กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ไว้ได้และกองทัพแดงซึ่งมีนายพลเกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* เป็นผู้บัญชาการก็เดินทัพถึงแม่น้ำโอเดอร์ (Oder)ที่เป็นแนวพรมแดนเยอรมนีและอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเพียง ๖๕ กิโลเมตร ส่วนกองทัพของประเทศพันธมิตรยังคงตรึงกำลังอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์และเตรียมเคลื่อนกำลังมุ่งหน้ามาทางตะวันออกในสถานการณ์รบดังกล่าว สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายได้เปรียบและมองเห็นชัยชนะอยู่แค่เอื้อม แต่สหภาพโซเวียตได้สั่งหยุดเคลื่อนกำลังเป็นเวลา ๑ สัปดาห์เพื่อคอยผลการประชุมที่ยัลตาที่กำลังเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ ๔–๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้หลายเรื่องซึ่งที่ประชุมไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนทราบทั้งหมด แต่จะประกาศออกมาเป็นเรื่อง ๆ ตามที่เห็นควรว่าจะให้ทราบเรื่องใด บางเรื่องประกาศให้ทราบหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง
ในการประชุมครั้งนี้ การตกลงที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครแซนแฟรนซิสโก (San Francisco) สหรัฐอเมริกา ในวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อพิจารณาร่างกฎบัตรสหประชาชาติรวม ๑๑๑ มาตราให้สมบูรณ์ ประเทศพันธมิตรทุกชาติและชาติที่สมทบซึ่งได้ประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะก่อนวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ รวม ๕๐ ประเทศจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนให้สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม ๒ ประเทศคือยูเครนและไบโลรัสเซีย (Bylorussia) เข้าเป็นสมาชิกแรกเริ่มด้วย ผู้นำทั้ง ๓ประเทศมหาอำนาจสามารถตกลงกันได้ในประเด็นว่าด้วยโครงสร้างและการออกคะแนนเสียงในคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) แห่งสหประชาชาติโดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมีคะแนนเสียง ๑ เสียงและคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงในเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิก ๗ ประเทศ ซึ่งรวมคะแนนเสียงของประเทศสมาชิกถาวรด้วย ส่วนการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ประเทศที่เป็นคู่กรณีพิพาทต้องงดออกเสียง
ในส่วนที่เกี่ยวกับยุโรปหลังสงครามนั้น ผู้นำประเทศมหาอำนาจตกลงในหลักการที่เป็นนโยบายกว้าง ๆ ตาม “คำประกาศแห่งยัลตาว่าด้วยยุโรปซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้ว” (The Yalta Declaration on Liberated Europe) โดยประเทศที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วจะได้รับการส่งเสริมให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามหลักการในกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter)* มหาอำนาจจะร่วมกันกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของประเทศเหล่านี้ ตลอดจนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเลือกตั้งคือ คณะกรรมาธิการยุโรปสูงสุด (The European High Commission) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของ ๔ ชาติมหาอำนาจคือ อังกฤษ ฝรั่งเศสสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคำประกาศแห่งยัลตากลายเป็นชนวนของความบาดหมางของประเทศพันธมิตร เพราะสหภาพโซเวียตตีความเอกสารตามความต้องการของตนโดยถือว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง ประชาธิปไตยของประชาชนตามระบอบการปกครองของโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นเองในบัลแกเรีย โรมาเนีย ฮังการีและในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ โดยไม่ยอมให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง สตาลินยังแถลงว่าความตกลงที่ยัลตาระหว่างสงครามเป็นความตกลงเฉพาะหน้าชั่วคราวที่ไม่ได้หมายความว่าสหภาพโซเวียตจะต้องร่วมมือกับประเทศพันธมิตรตลอดไปการประชุมที่ยัลตาในประเด็นว่าด้วยยุโรปกลับเป็นชัยชนะของสหภาพโซเวียตเพราะไม่สามารถจัดระเบียบและแก้ปัญหาของยุโรปที่เกิดจากสงครามโลกได้ และเป็นเสมือนการแบ่งยุโรปตามแนวของสงครามเย็น (Cold War)* ไว้โดยปริยาย
ในการแบ่งเยอรมนีซึ่งเดิมในการประชุมที่เตหะราน ค.ศ. ๑๙๔๓ มหาอำนาจพันธมิตรต่างเห็นชอบให้แบ่งเยอรมนีเป็นเขตยึดครอง ๓ เขต โดยเขตของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอยู่ทางด้านตะวันตกและเขตของสหภาพโซเวียตอยู่ทางด้านตะวันออกและทั้ง ๓ ประเทศจะมีอำนาจสูงสุดร่วมกันเหนือเยอรมนีในการประชุมที่ยัลตาได้มีการพิจารณารายละเอียดของปัญหาสถานภาพเยอรมนีหลังสงคราม สหภาพโซเวียตไม่ขัดข้องที่จะให้แบ่งเขตยึดครองส่วนของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาทางด้านตะวันตกให้แก่ฝรั่งเศส รวมทั้งให้แบ่งกรุงเบอร์ลินซึ่งอยู่ในเขตยึดครองของโซเวียตเป็น ๔ เขตเช่นเดียวกัน ให้มีการปลดอาวุธเยอรมนีโดยสิ้นเชิงและให้เยอรมนีเป็นเขตปลอดทหารมหาอำนาจจะร่วมกันบริหารปกครองเยอรมนีในเขตยึดครองในนามสภาพันธมิตรว่าด้วยการควบคุม (The Allied Control Council–ACC) ส่วนการให้อธิปไตยแก่เยอรมนีจะมีการพิจารณาในภายหลัง ในการแบ่งนครเบอร์ลินเป็น ๔ เขตนั้นประเทศมหาอำนาจไม่ได้พิจารณาปัญหาเรื่องเส้นทางติดต่อระหว่างกรุงเบอร์ลินกับเยอรมนีด้านตะวันตกซึ่งปัญหาดังกล่าวในเวลาต่อมากลายเป็นชนวนความขัดแย้งของสงครามเย็นและนำไปสู่วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade ค.ศ. ๑๙๔๘–๑๙๔๙)*
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นมูลค่า ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยจ่ายในรูปสินค้า แรงงาน และเครื่องจักรกล สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการค่าปฏิกรรมสงครามอื่นใดอีกนอกจากทรัพย์สินของเยอรมนีในสหรัฐอเมริกาที่ถูกยึดไปแล้ว ส่วนสหภาพโซเวียตซึ่งเสียหายหนักในสงครามโดยสูญเสียทหารกว่า ๕ ล้านนาย และพลเมืองประมาณ ๑๐ ล้านคน รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมหาศาลภายในประเทศเนื่องจากเป็นสมรภูมิใหญ่ในสงครามจะได้รับค่าปฏิกรรมสงครามร้อยละ ๕๐ รายละเอียดเรื่องค่าปฏิกรรมสงครามให้คณะกรรมการปฏิกรรมสงครามไปพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาสหภาพโซเวียตได้รับเพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้น
ในปัญหาโปแลนด์ ที่ประชุมมีข้อโต้แย้งกันมากเพราะสหภาพโซเวียตซึ่งปลดปล่อยโปแลนด์เห็นว่า ปัญหาโปแลนด์เป็นปัญหาสำคัญของสหภาพโซเวียตเพราะโปแลนด์มีภูมิประเทศอยู่ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต หากโปแลนด์สนับสนุนเยอรมนีก็จะเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตถูกโจมตีได้ง่าย สหภาพโซเวียตต้องการให้โปแลนด์เป็นรัฐเอกราชใต้การปกครองของตน แต่ประเทศพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษซึ่งเคยค้ำประกันเอกราชของโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ไม่ประสงค์จะให้โปแลนด์ตกอยู่ในอำนาจของชาติใดอีก อังกฤษจึงสนับสนุนให้รัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนจัดตั้งรัฐบาลขึ้น แต่สหภาพโซเวียตต่อต้านเพราะสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจก็ยอมประนีประนอมกันได้ในที่สุดโดยให้โปแลนด์จัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวที่ประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาลโปลพลัดถิ่นและผู้แทนรัฐบาลโปลคอมมิวนิสต์ และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วโดยสหภาพโซเวียตสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งเสรีและไม่เข้าไปควบคุมจำกัดทั้งในโปแลนด์และในประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ส่วนเรื่องแนวพรมแดนนั้นที่ประชุมยอมรับแนวพรมแดนเคอร์เซิน (Curzon Line)* เป็นแนวพรมแดนด้านตะวันออกระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต และตกลงให้โปแลนด์ได้ดินแดนทางตอนเหนือและทางตะวันตกของเยอรมนีตามแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* ทดแทนดินแดนทางด้านตะวันตกที่โปแลนด์ต้องยกให้สหภาพโซเวียต รวมทั้งต้องคืนดินแดนบางส่วนของยูเครนและไบโลรัสเซียที่โปแลนด์เคยได้รับจากสหภาพโซเวียตในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War)* ค.ศ. ๑๙๒๐ ด้วย สหภาพโซเวียตยังเรียกร้องการมีเขตอิทธิพลทางการเมืองในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกโดยอ้างความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ ความมั่นคงของประเทศ แต่ไม่มีการพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ในช่วงสุดท้ายของการประชุมซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องความตกลงเกี่ยวกับญี่ปุ่น ผู้นำชาติมหาอำนาจเห็นพ้องกันว่าเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆเป็นไปด้วยดีจะให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประจำและให้ประชุมบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จำเป็นทุก ๓–๔ เดือน ในประเด็นเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ประชุมเห็นชอบเกี่ยวกับเงื่อนไขของสหภาพโซเวียตที่จะช่วยทำสงครามกับญี่ปุ่นภายหลังเยอรมนีปราชัยไปแล้ว ๒–๓ เดือน สหรัฐอเมริกาและอังกฤษสัญญาจะตอบแทนสหภาพโซเวียตด้วยการคืนสิทธิของรัสเซียซึ่งเคยถูกญี่ปุ่นละเมิดในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* โดยให้หมู่เกาะคูริล (Kuril) และเกาะซาคาลิน (Sakhalin) ตอนใต้ ทั้งต่ออายุสัญญาเช่าเมืองปอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) เป็นฐานทัพเรือตามเดิมเพื่อให้สหภาพโซเวียตมีทางออกสู่ทะเลน้ำอุ่นที่เมืองท่าไดเรน (Dairen) บนคาบสมุทรเหลียวตง สหภาพโซเวียตยังได้สัมปทานควบคุมเส้นทางรถไฟสายจีนตะวันออกและแมนจูเรียใต้ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสู่เมืองไดเรน โดยจีนและสหภาพโซเวียตจะร่วมกันดำเนินการในนามของบริษัทของชาติทั้งสอง สัมปทานดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตได้เข้าควบคุมแมนจูเรียอย่างเต็มที่แม้ว่ามหาอำนาจทั้งสามจะยอมรับรองอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือดินแดนแมนจูเรียก็ตาม นอกจากนี้ทั้งสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และอังกฤษจะร่วมกันรักษาอำนาจอธิปไตยของมองโกเลียนอก (สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย) ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตได้เข้าไปมีบทบาทในแมนจูเรีย และการยกดินแดนบางส่วนของเยอรมนีให้แก่โปแลนด์โดยไม่ได้มีการหยั่งเสียงประชามติของประชาชนในดินแดนนั้นตลอดจนการกำหนดค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีในรูปแรงงาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติและขัดต่อกฎการทำสงครามที่เจริญแล้วมีส่วนทำให้ประธานาธิบดีโรสเวลต์ในเวลาต่อมาถูกสื่อมวลชนอเมริกันวิพากษ์โจมตีอย่างมากเพราะเห็นว่าเป็นความตกลงที่ละเมิดกฎบัตรแอตแลนติก ทั้งมีส่วนสร้างความแตกร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศในเอเชียตะวันออก
สามเดือนหลังการประชุมที่ยัลตา สงครามในยุโรปก็สิ้นสุดลง เยอรมนียอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ การปราชัยของเยอรมนีทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองในยุโรปและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออก ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสงครามยุติลง กองทัพผสมอังกฤษ-อเมริกันเร่งเคลื่อนกำลังมุ่งปลดปล่อยตริเอสเต (Trieste) เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพของยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พื้นเมืองยูโกสลาฟเข้ายึดตริเอสเตได้ก่อน ในขณะเดียวกันกองทัพอังกฤษในเยอรมนีตอนเหนือก็เคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำเอลเบ (Elbe) มุ่งปลดปล่อยเมืองเมคเคลนบูร์ก (Mecklenburg) เพื่อสกัดกั้นไม่ให้กองทัพแดงของโซเวียตได้เข้าปลดปล่อยเดนมาร์ก เชอร์ชิลล์ยังเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาทุ่มกำลังเข้าปลดปล่อยกรุงเบอร์ลินและกรุงปราก (Prague) ด้วยเหตุผลว่าการปลดปล่อยของฝ่ายพันธมิตรจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์หลังสงคราม แต่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะดำเนินการโดยอ้างว่าไม่ต้องการจะสูญเสียกำลังทหารและมีผลให้สหภาพโซเวียตมีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยกรุงเบอร์ลินและกรุงปราก อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนียอมแพ้ กองกำลังผสมอังกฤษ-อเมริกันก็สามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยอรมนีในส่วนที่จะเป็นเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตไว้ได้แต่ในต้นเดือนกรกฎาคมกองกำลังผสมดังกล่าวก็ถอนตัวออกจากเขตยึดครองดังกล่าวโดยกลับมาประจำการในเขตยึดครองที่เป็นส่วนของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแทน ในเวลาต่อมาประเทศมหาอำนาจก็ตกลงที่จะจัดประชุมที่เมืองพอทสดัมในกลางเดือนกรกฎาคมเพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพของยุโรปโดยเฉพาะการบริหารปกครองเยอรมนีที่สืบเนื่องจากการประชุมที่ยัลตา
การประชุมที่ยัลตา ค.ศ. ๑๙๔๕ นับเป็นชัยชนะและความสำเร็จอย่างงดงามทางการทูตของสหภาพโซเวียต เพราะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างยอมรับอย่างเป็นทางการว่าสหภาพโซเวียตจะเป็นประเทศที่เข้าไปทำการปลดปล่อยยุโรปตะวันออกจากการยึดครองของเยอรมนี ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ยอมรับข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของสตาลินเนื่องจากเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศจะมีส่วนทำให้สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ ได้สำเร็จ ตลอดจนคาดหวังว่าความเป็นพันธมิตรที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามจะยังคงดำเนินต่อไปภายหลังสงครามสิ้นสุดลง การประชุมที่ยัลตาหรือบางครั้งที่เรียกว่าการประชุมที่ไครเมียจึงเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายระหว่างสงครามและเป็นการประชุมสุดยอดครั้งสำคัญครั้งแรกที่มีส่วนกำหนดอนาคตของยุโรปในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาของสงครามเย็นที่ก่อตัวขึ้นหลัง ค.ศ. ๑๙๔๕.