มารี ลุย อาดอล์ฟ ตีเย เป็นประธานาธิบดี คนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic ค.ศ. ๑๘๗๑–๑๘๗๓)* และอัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักประวัติศาสตร์ ตีเยมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution ค.ศ. ๑๘๓๐)* ซึ่งทำให้ราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* หมดอำนาจ เขาสนับสนุนดุ๊กแห่งออร์เลออง (Duke of Orléans) ให้ขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศสสืบต่อจากพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X)* เป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป และได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และเป็นอัครมหาเสนาบดีใน ค.ศ. ๑๘๓๖, ๑๘๓๗ และ ๑๘๔๘ อย่างไรก็ตาม ในปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป ตีเยหันมาต่อต้านพระองค์และเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง ตีเยสนับสนุนเจ้าชายชาร์ล หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Charles Louis Napoleon Bonaparte)* พระภาติยะในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Republic ค.ศ. ๑๘๔๘–๑๘๕๒)* เมื่อประธานาธิบดีหลุยส์ นโปเลียนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of French)* และได้รับมติมหาชนในการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* ตีเยจึงเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของพระองค์จนถูกจับกุมและเนรเทศออกนอกประเทศ ต่อมา เขาได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาตุภูมิได้ แต่ตีเยก็ยังคงเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์
ตีเยเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๗๙๗ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างที่เมืองมาร์แซย์ (Marseilles) ลุย ตีเย (Louis Thiers) บิดาเป็นคนที่ไม่ใส่ใจในอาชีพการงานและมีหนี้สินรุงรังจนถูกจับเข้าคุกหลายครั้ง แต่ต่อมาได้รับการช่วยเหลือจากลูเซียง โบนาปาร์ต (Lucien Bonaparte) น้องชายของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* และได้ทำงานเป็นข้าราชการในช่วงเวลาสั้น ๆ ส่วนมารี-มาเดอลีน อามี (Marie-Madeleine Amie) มารดามาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงพอสมควร เธอตกเป็นภรรยาน้อยของลุย หลังตีเยเกิดได้เดือนเศษ บิดาซึ่งภรรยาหลวงได้เสียชีวิตลงในต้นเดือนมีนาคมได้ตัดสินใจแต่งงานกับมารดา จึงทำให้ตีเยมีสถานภาพเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันบิดาก็ทิ้งครอบครัวและหายสาบสูญไปจนเขาโตเป็นหนุ่ม มารดา ป้า และยายซึ่งพอมีฐานะช่วยกันเลี้ยงดูตีเยและส่งเสียเขาให้เรียนหนังสือ ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ขณะอายุ ๑๘ ปี เขาสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมายเมืองแอ็กซองโพรวองซ์ (Aix-en Provence) หลังสำเร็จการศึกษา ตีเยยึดอาชีพทนายแต่ไม่มีความสุขกับงานอาชีพและชีวิตมากนัก เพราะเห็นว่าเขาไม่มีสถานภาพทางสังคมที่มั่นคงยากจนและไม่มีอนาคต ตีเยรักการอ่านและชอบงานวรรณกรรมเขาจึงเขียนบทความเข้าประกวดและชนะได้เงินรางวัล ๕๐๐ ฟรังก์ ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ ตีเยในวัย ๒๔ ปี จึงตัดสินใจที่จะไปแสวงโชคที่กรุงปารีสและตั้งปณิธานจะเป็นนักเขียน
ตีเยหางานได้ในตำแหน่งเลขานุการของดุ๊กแห่งรอชฟูโก (Duc de la Rochefoucauld) นักปฏิรูปสังคมและมีโอกาสได้รู้จักกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Le Constitutional ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองที่ต่อต้านพวกกษัตริย์นิยมและราชวงศ์บูร์บง เขาเริ่มเขียนบทความด้านการเมือง ศิลปะประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมให้หนังสือพิมพ์จนกลายเป็นนักเขียนประจำที่มีคนติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ตีเยจึงลาออกจากงานเลขานุการและยึดอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในสเปนใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามการปฏิวัติในสเปนตามข้อตกลงในการประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (Congress of Verona)* ตีเยเดินทางไปสเปน ๒ ครั้งและเขียนรายงานเกี่ยวกับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นซึ่งมีส่วนสร้างชื่อเสียงให้เขามากขึ้นด้วย ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีฝีมือและชื่อเสียงเปิดทางให้เขาได้รู้จักและพบปะกับปัญญาชนและชนชั้นผู้นำจำนวนมากซึ่งรวมทั้งชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* อดีตเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และผู้มีบทบาทในคณะรัฐบาลชุดใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* ด้วยตาเลรองชี้แนะเส้นทางการเมืองให้เขาและชักชวนให้เข้าสู่วงการการเมือง
ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ตีเยเริ่มเขียนหนังสือชุดเรื่องHistory of The French Revolution รวม ๑๐ เล่ม เล่มแรกพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๒๓ และเล่มอื่น ๆ ทยอยตีพิมพ์ตามลำดับ โดย ๒ เล่มสุดท้ายพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ หนังสือชุด ๑๐ เล่มนี้ขายได้กว่า ๑๐,๐๐๐ ชุด และตีพิมพ์มากกว่า ๔ ครั้ง ซึ่งทำรายได้จำนวนมากและสร้างชื่อเสียงให้ตีเยอย่างมาก เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นอภิสิทธิ์เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ทั้งยังยกย่องอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสและผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวการปฏิวัติที่นำไปสู่ชัยชนะของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์โจมตีกษัตริย์ ขุนนางและนักบวชที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หนังสือชุดนี้เป็นที่ชื่นชมของพวกเสรีนิยมและปัญญาชนหนุ่มสาวและมีอิทธิพลทางความคิดในการต่อต้านพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ที่ทรงพยายามฟื้นฟูพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความสำเร็จของหนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ยังทำให้ตีเยได้เข้าเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๓๔ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๘ และ ค.ศ. ๑๘๘๙ หนังสือชุดนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและสเปนตามลำดับอย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเห็นว่าหนังสือนำเสนอข้อมูลด้านเดียวซึ่งส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องขาดหลักฐานชัดเจน เป็นการเขียนและนำเสนอเรื่องตามจินตนาการมากกว่าเหตุผลเพื่อโน้มน้าวคนอ่านไปในแนวทางที่ต้องการ ทอมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle)* นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเขียนThe French Revolution: A History (ค.ศ. ๑๘๓๗) เห็นว่าหนังสือของตีเยแทบไม่มีคุณค่าและไม่ควรสร้างชื่อเสียงและความสำเร็จให้แก่เขา เพราะไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
ในเดือนสิงหาคมค.ศ. ๑๘๒๙ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ทรงแต่งตั้งจูล เดอ โปลีญัก (Jules de Polignac) พวกอัลตราหัวรุนแรงเป็นนายกรัฐมนตรี โปลีญักประกาศนโยบายฟื้นฟูอำนาจและอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ของพวกขุนนางอีกครั้งหนึ่ง นโยบายดังกล่าวทำให้การต่อต้านรัฐบาลเริ่มก่อตัวขึ้นอีก ตีเยจึงเขียนบทความโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงและเรียกร้องให้รัฐบาลยึดมั่นในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขากล่าวว่า “กษัตริย์มีพระราชอำนาจปกครอง แต่มิได้บริหาร” (King rules, but does not govern) ต่อมาข้อเขียนที่แหลมคมและเผ็ดร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ของตีเยทำให้หนังสือพิมพ์ Le Constitutional ไม่กล้าตีพิมพ์ ตีเยจึงจัดทำหนังสือพิมพ์ของเขาเองขึ้นในชื่อ Le National ออกพิมพ์เผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๓๐ และเขียนโจมตีรัฐบาลและพระราชวงศ์ซึ่งทำให้เขาถูกศาลตัดสินให้ผิดในข้อหาที่พิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จและถูกปรับเป็นเงิน ๓,๐๐๐ ฟรังก์ ต่อมา พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ทรงตอบโต้ด้วยการออกพระราชกำหนดเดือนกรกฎาคม (July Ordinance)* ยกเลิกเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งเลือกตั้ง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม ตีเยเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการจัดชุมนุมประท้วงร่วมกับกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ และนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ เขาชี้นำมวลชนด้วยการจัดพิมพ์โปสเตอร์และใบปลิวติดทั่วกรุงปารีส โจมตีรัฐบาลและประกาศว่าดุ๊กแห่งออร์เลอองคือบุคคลที่เหมาะสมจะมาครองราชย์รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามแต่ล้มเหลว ท้ายที่สุด พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ทรงลี้ภัยไปประทับในอังกฤษและดุ๊กแห่งออร์เลอองก็ได้รับอัญเชิญให้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป
การมีส่วนร่วมในการรณรงค์สนับสนุนให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปขึ้นครองราชบัลลังก์ได้เปิดโอกาสให้ตีเยเข้าสู่วงการทางการเมือง แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์ทางการเมือง เขาจึงได้รับเพียงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น แม้จะได้รับเงินเดือนไม่น้อยและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาสุขสบายขึ้น แต่ตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ตอบสนองความทะเยอทะยานที่จะมีบทบาทสูงในทางการเมืองได้ ตีเยจึงคิดหาหนทางเล่นการเมืองเพื่อที่จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวเดินบนเส้นทางทางการเมืองได้อย่างภาคภูมิ ในที่สุดความใฝ่ฝันของตีเยก็เป็นจริงโดยความช่วยเหลือของอองรีดีซ โดสเนอ (Enrydice Dosne) เพื่อนหญิงที่เขารู้จักในปลายรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ขณะที่เขากำลังมีชื่อเสียงในผลงานด้านประวัติศาสตร์และหนังสือพิมพ์โดสเนอเป็นภรรยาของนักธุรกิจและนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ที่มั่งคั่ง เธอมีอายุมากกว่าเขา ๓ ปี แต่งงานมากว่า ๑๐ ปี ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันโดสเนอได้ช่วยให้ตีเยมีคุณสมบัติเป็นผู้แทนราษฎรได้ด้วยการพูดหว่านล้อมสามีให้ตีเยยืมเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เพื่อซื้อที่ดินและสร้างคฤหาสน์หลังงามที่ปลาซแซง-ชอร์ช (Place Saint-George) ซึ่งทำให้เขาจ่ายภาษีอสังหาริมทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ ฟรังก์ต่อปี และมีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งได้ท้ายที่สุด ตีเยได้รับเลือกตั้งจากเขตแอ็กซองโพรวองซ์ที่ว่างลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ และนำเขาเข้าสู่วงการการเมืองตามที่เขาปรารถนา
ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ตีเยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย เขามีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏที่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงให้ขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง โดยมีดัชเชสแห่งแบร์รี (Duchesse de Berry) ชายาม่ายในดุ๊กแห่งแบร์รี (Duc de Berry) พระราชโอรสองค์เดียวในพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ที่สิ้นพระชนม์จากการลอบสังหารเป็นผู้นำในปีต่อมา เขาได้เป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงพาณิชย์และโยธาธิการ (Ministry of Trade and Public Works) เขาต่อต้านข้อเสนอในการเก็บภาษีรายได้ของผู้มีรายได้สูงว่าเป็นแนวคิดของพวกจาโกแบง (Jacobin) ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้เขาได้รับความชื่นชมและการสนับสนุนจากพวกนักธุรกิจที่กำลังเติบใหญ่เป็นอันมาก
ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ ขณะอายุ ๓๔ ปี ตีเยได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส นับว่าเป็นผู้มีอายุน้อยเป็นอันดับ ๒ ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ขณะเดียวกัน เขาก็ได้สมรสกับเอลีซ โดสเนอ (Elise Dosne) บุตรสาววัย ๑๖ ปี ของอองรีดีซซึ่งอายุน้อยกว่าเขาถึง ๒๐ ปี การสมรสครั้งนี้มาพร้อมกับเงินสินเดิม (dowry) จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ตีเยได้เลื่อนสถานภาพทางสังคมและมีหน้ามีตาในหมู่ชนชั้นสูงมากขึ้นและสามารถจ่ายหนี้คืนพ่อตาได้ แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับกล่าวหาว่าเขาเป็นพวกเกาะชายกระโปรงเพื่อไต่เต้าทางสังคม และทั้งแม่ยายและภรรยาคือผู้อุปถัมภ์ของเขา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๔ ตีเยได้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสืบต่อจากดุ๊กแห่งเบรย (Duck de Broglie) และตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อเกิดการลุกฮือของคนงานในเมืองลียง (Lyon) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๔ เพื่อประท้วงการถูกลดค่าแรงและต่อต้านระบอบกษัตริย์ ตีเยได้ใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามซึ่งมีผลให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การสังหารหมู่ที่ถนนตร็องโนแนง” (Massacre of rue Transnonain) และทำให้คนงานจำนวน ๑๗๐ คนและตำรวจกับทหารอีก ๑๓๐ นาย เสียชีวิต ซึ่งสร้างความด่างพร้อยให้แก่อาชีพนักการเมืองของตีเย ทั้งทำให้ทั้งฝ่ายสาธารณรัฐและสังคมนิยมต่อต้านเขา ขณะเดียวกัน ตีเยและพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปก็เริ่มขัดแย้งกันในเรื่องการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยตีเยต้องการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระตามแบบอังกฤษ ส่วนพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงต้องการเข้าไปควบคุมนโยบายต่างประเทศและการทหารด้วยพระองค์เอง ในที่สุดตีเยจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในเดือนเมษายนหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง ๖ เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หลังจากการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นจนทำให้ลุย-มาตีเยอ โมเล (Louis-Mathieu Molé) อัครมหาเสนาบดีต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งและเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ แต่ก็เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เป็นเวลา ๓ เดือน ท้ายที่สุด ตีเยจึงได้กลับมามีบทบาททางการเมืองและดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง ในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้ ตีเยมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับเฮนรี จอห์น เทมเปิล ไวส์เคานต์พัลเมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3ʳᵈ Viscount Palmerston)* อัครมหาเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเพื่อขออัญเชิญพระบรมศพจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จากเกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) กลับมายังกรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๘๔๐ และประดิษฐานไว้ที่โอแตลเดแซงวาลีด (Hôtel des Invalides) ในฐานะจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่และวีรบุรุษของชาติ แม้การอัญเชิญพระบรมศพดังกล่าวจะเป็นที่ชื่นชมของชาวฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปตึงเครียดยิ่งขึ้น ตีเยจึงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง ระหว่างค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๔ เขาเดินทางท่องเที่ยวไปอิตาลีและประเทศยุโรปอื่น ๆ และเริ่มเขียนหนังสือชุด History of the Consulate and Empire ซึ่ง ๒ เล่มแรกพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๔๕
หลังตีเยกลับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๔๔ เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรและมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ตีเยไม่เห็นด้วยกับนโยบายของฟรองซัว ปีแยร์ กีโยม กีโซ (François Pierre Guillaume Guizot)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๘ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ค.ศ. ๑๘๔๗–๑๘๔๘) ที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบใฝ่สันติและสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอังกฤษ ทั้งสนับสนุนแนวความคิดของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens von Metternich)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ในการต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมและการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เมื่อฝรั่งเศสเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเกษตรที่รุนแรงซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ประจวบกับบุคคลในคณะรัฐบาลหลายคนพัวพันกับปัญหาทุจริตฉ้อฉลและเรื่องอื้อฉาว กระแสความไม่พอใจจึงก่อตัวขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ในตอนแรกตีเยพยายามแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองด้วยการประสานงานกับพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปและกองทัพเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยหวังว่าหากเขาทำสำเร็จก็จะกลับมามีบทบาทสำคัญในรัฐบาลแทนกีโซคู่ปรับซึ่งถูกปลดออก แต่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวเป็นการปฏิวัติทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนักและท้ายที่สุดจำต้องเรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปสละราชสมบัติและเสด็จลี้ภัยไปอังกฤษ ฝรั่งเศสเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติในดินแดนต่าง ๆ ทั่วยุโรปจนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)*
แม้ตีเยจะสนับสนุนเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนให้ได้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ แต่ในเวลาต่อมาตีเยก็หันมาต่อต้านพระองค์เพราะเห็นว่าทรงใช้อำนาจทุกวิถีทางในการสนับสนุนพวกนิยมราชวงศ์โบนาปาร์ตให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและในกองทัพ ทั้งตีเยยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายการส่งกองทัพฝรั่งเศสไปช่วยฟื้นฟูพระราชอำนาจของสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX)* เมื่อเกิดการลุกฮือและการเคลื่อนไหวของพวกอิตาลีชาตินิยมที่ต้องการการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* รวมทั้งการแต่งตั้งคณะรัฐบาลที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีโดยรัฐสภาไม่สามารถควบคุมการบริหารของรัฐบาลได้
ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ เมื่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของหลุยส์ นโปเลียนใกล้จะหมดวาระใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ตีเยจึงร่วมเคลื่อนไหวเพื่อหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ อย่างไรก็ดี เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนยังคงต้องการที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป แต่รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่ง ๒ วาระ หลุยส์ นโปเลียนซึ่งตระหนักว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน ๓ ใน ๔ ของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจึงก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ซึ่งเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า รัฐประหารเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ (December 1851 coup d’état) ทหารเข้าจับกุมนักการเมืองคนสำคัญในกรุงปารีสรวมทั้งตีเยด้วย ต่อมา ในวันที่ ๙ ธันวาคม ตีเยถูกควบคุมตัวออกจากเรือนจำและนำตัวเดินทางไปยังพรมแดนระหว่างฝรั่งเศสกับดินแดนเยอรมันและเนรเทศเขา หลังจากนั้น ตีเยได้ลี้ภัยต่อไปยังกรุงบรัสเซลส์และกรุงลอนดอน ณ กรุงลอนดอน เขาได้พบกับภรรยาและแม่ยาย รวมทั้งได้รับการต้อนรับจากอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of Wellington)* วีรบุรุษในสงครามนโปเลียนและอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* นักการเมืองสังกัดพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ที่มีอนาคตทางการเมืองที่สดใสในขณะนั้น อย่างไรก็ดี อากาศชื้นของอังกฤษที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพของตีเยทำให้เขาไม่สามารถอยู่ที่อังกฤษได้และต้องเดินทางออกไปพำนักในดินแดนเยอรมันและอิตาลีที่มีอากาศคล้ายคลึงกับบ้านเกิดของเขาที่แอ็กซองโพรวองซ์
ในเวลาต่อมา เมื่อหลุยส์ นโปเลียนสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไว้ได้ รวมทั้งก่อนหน้านั้นพระองค์ยังจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเป็นเวลา ๑๐ ปี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พระองค์จึงผ่อนปรนกลุ่มที่ต่อต้านพระองค์และอนุญาตให้ตีเยเดินทางกลับประเทศได้ ตีเยจึงเดินทางกลับฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ หลังจากนั้นเป็นเวลา ๑๐ ปี เขาวางมือทางการเมืองและอุทิศเวลาในการเขียนงานประวัติศาสตร์ชุดConsulate and Empire ต่อ โดยเผยแพร่ปีละ ๒ เล่ม สองเล่มสุดท้ายคือ เล่มที่ ๑๙ และ ๒๐ พิมพ์ใน ค.ศ. ๑๘๖๒ หนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก มียอดพิมพ์ถึง ๑ ล้านเล่ม ทำรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ตีเยไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ทำให้ฐานะของตีเยซึ่งร่ำรวยอยู่แล้วจากหุ้นในธุรกิจเหมืองแร่และมรดกจากพ่อตายิ่งมั่งคั่งและมั่นคงยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตีเยเริ่มเขียนงานประวัติศาสตร์ชุด Consulate and Empire นั้นฝรั่งเศสก็ได้จัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ และจัดให้มีการลงประชามติอีกครั้งในวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ ๔๘ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และครบรอบชัยชนะ ๔๗ ปีของฝรั่งเศสที่มีต่อออสเตรียในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)* โดยเปลี่ยนจากระบอบสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิชาวฝรั่งเศสให้การสนับสนุนอย่างล้นหลามและทำให้เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ การก้าวสู่อำนาจของราชวงศ์โบนาปาร์ตนับเป็นการฉีกสนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont ค.ศ. ๑๘๑๔) และการละเมิดข้อตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔–๑๘๑๕)* ที่ห้ามราชวงศ์โบนาปาร์ตขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ประเทศมหาอำนาจต่างไม่ต่อต้าน ทั้งประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ยอมรับพระองค์และการหวนกลับคืนบัลลังก์ของราชวงศ์โบนาปาร์ตจึงทำให้ตีเยต้องยุติการต่อต้านอดีตประธานาธิบดีหลุยส์ นโปเลียนไปโดยปริยาย
ในกลางทศวรรษ ๑๘๖๐ ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงในปัญหาการรวมชาติอิตาลีและมุ่งสร้างจักรวรรดิคาทอลิกของฝรั่งเศสในโลกใหม่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายบริหารปกครองประเทศที่ผิดพลาดของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พระองค์จึงปรับนโยบายบริหารการปกครองประเทศที่เข้มงวดแบบเผด็จการให้ยืดหยุ่น ซึ่งนำไปสู่ช่วงสมัยที่เรียกว่าจักรวรรดิเสรีนิยม (Liberal Empire ค.ศ. ๑๘๖๐–๑๘๗๑) ในช่วงเวลาดังกล่าวตีเยในวัย ๖๖ ปีได้รับการชักชวนจากมิตรสหายให้กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง เขาจึงลงสมัครเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๘๖๓ เขาวิจารณ์โจมตีความสิ้นเปลืองของค่าใช้จ่ายในการยึดครองเม็กซิโกและสนับสนุนอาร์ชดุ๊กเฟอร์ดินันด์ แมกซีมีเลียน โจเซฟ (Ferdinand Maximillian Joseph)* พระอนุชาองค์รองในจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* แห่งออสเตรียขึ้นครองบัลลังก์ของจักรวรรดิเม็กซิโก ทั้งโจมตีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงและสร้างกรุงปารีสให้เป็นเมืองสมัยใหม่ที่ทันสมัยและงดงาม
ในปลายทศวรรษ ๑๘๖๐ ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีปรัสเซียได้ใช้ปัญหาราชบัลลังก์สเปนที่ว่างลงเป็นเครื่องมือในการรวมชาติและนำไปสู่การเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* ตีเยไม่เห็นด้วยกับการเข้าสู่สงครามเพราะตระหนักว่าฝรั่งเศสยังไม่เข้มแข็งพอทางการทหารแต่ไม่มีใครเห็นด้วยกับเขาและการคาดการณ์ของตีเยถูกต้องเพราะฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ในยุทธการที่เซอดอง (Battle of Sedan)* ใกล้พรมแดนเบลเยียมในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๗๐ และทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ถูกจับเป็นเชลยและจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ ถึงกาลอวสาน เลอง กองแบตตา (Léon Gambetta)* ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐนิยมจึงประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐและรัฐบาลป้องกันชาติ (Government of National Defense) ขึ้นเพื่อทำการรบกับปรัสเซียต่อไป ตีเยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลป้องกันชาติให้ไปเจรจาขอความช่วยเหลือทางทหารจากอังกฤษ รัสเซีย และอิตาลีเพื่อทำสงครามแต่ล้มเหลว หลังกลับฝรั่งเศส ตีเยโน้มน้าวรัฐบาลให้เปิดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ในที่สุด นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ต่อมา ตีเยเป็นผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสในการเจรจากับเยอรมนีในการลงนามสันติภาพในสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt) เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ กับจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น
หลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ตีเยซึ่งเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ส่งกองทหารมายึดปืนใหญ่และปลดอาวุธกองกำลังป้องกันชาติในกรุงปารีสและโดยเฉพาะเขตมงมาร์ต (Monmarte) และแบลวีล (Belle Ville) ซึ่งเป็นเขตยุทธศาสตร์ที่มีกรรมกรอาศัยอยู่มาก มีการปะทะกันเกิดขึ้นและชาวปารีสต่อต้านด้วยการจัดรัฐบาลส่วนท้องถิ่นหรือคอมมูนปารีส (Paris Commune)* เพื่อปกครองตนเองและต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลาง ตีเยส่งกำลังทหารไปปราบปรามอย่างเด็ดขาดหลังสงครามกลางเมืองอันนองเลือด รัฐบาลของตีเยพยายามสร้างความสมานฉันท์ขึ้นในประเทศและวางรูปแบบการปกครองที่จะสร้างความแตกแยกให้น้อยที่สุด แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับระบอบกษัตริย์แต่การที่รัฐสภามีมติให้สมาชิกของราชวงศ์บูร์บงและออร์เลอองที่ลี้ภัยออกนอกประเทศกลับฝรั่งเศสได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับบุคคลที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างไรก็ตาม การที่อองรี กงต์แห่งชองบอร์ (Henry, Comte de Chambord) พระโอรสของดุ๊กแห่งแบร์รีและพระราชนัดดาพระองค์เดียวในพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์บูร์บง ทรงประกาศว่าหากพระองค์ได้ครองบัลลังก์จะไม่ยอมรับธง ๓ สีของการปฏิวัติ ตีเยจึงเห็นเป็นโอกาสโน้มน้าวพวกสาธารณรัฐนิยมที่แตกแยกและพวกกษัตริย์นิยมให้ชะลอการตัดสินใจเรื่องระบอบการปกครองออกไปก่อน รัฐสภาเห็นชอบกับข้อเสนอของเขาและมีมติให้เปลี่ยนตำแหน่งของตีเยจากผู้นำฝ่ายบริหาร (Chief of the Executive Power)เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (President of the Republic) ซึ่งทำให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ นโยบายเฉพาะหน้าของตีเยคือ การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้เร็วที่สุดก่อนเวลาที่กำหนดใน ค.ศ. ๑๘๗๕ เพื่อให้กองทัพเยอรมันถอนตัวออกจากดินแดนของฝรั่งเศส การร่างรัฐธรรมนูญและการสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางสังคมและการเมืองในการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตีเยทำข้อตกลงกับธนาคารใหญ่ ๆ กว่า ๕๐ แห่งของยุโรปเพื่อออกตราสารให้ฝรั่งเศสสามารถกู้ยืมได้ข้อตกลงดังกล่าวประสบความสำเร็จและฝรั่งเศสสามารถชำระหนี้ก่อนครบกำหนด ๒ ปี
ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ รัฐสภาเริ่มร่างรัฐธรรมนูญแม้ฝ่ายกษัตริย์นิยมและสาธารณรัฐนิยมจะขัดแย้งกันในรูปแบบของการปกครอง แต่ท้ายสุดก็สามารถประนีประนอมกันได้โดยต่างฝ่ายต่างยอมรับหลักการของระบอบสาธารณรัฐและให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจทำให้มีการจัดตั้งระบอบกษัตริย์ตามกระบวนการทางกฎหมายได้อีก ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ ตีเยซึ่งพยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหารได้ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัฐสภา โดยเขาปฏิเสธที่จะถอดถอนรัฐมนตรีที่รัฐสภาไม่ไว้วางใจออก ตีเยตอบโต้รัฐสภาด้วยการลาออกโดยเชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะขอให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก แต่เขาคาดการณ์ผิดเพราะรัฐสภายอมรับการลาออกของเขาและแต่งตั้งจอมพล ปาตรีซ มักมาอง (Patrice MacMahon)* วีรบุรุษแห่งยุทธการที่เมืองมาเจนตา (Battle of Magenta ค.ศ. ๑๘๕๙)* ในคาบสมุทรอิตาลีให้รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ตีเยยังคงเป็นสมาชิกรัฐสภาถึง ค.ศ. ๑๘๗๗ เมื่อมีการประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่
ในช่วงปลายชีวิต ตีเยมีสุขภาพอ่อนแอและแทบไม่ได้มาร่วมประชุมรัฐสภามากนัก เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ปรับปรุงคฤหาสน์และเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลีต่อมา เมื่อตีเยฉลองวันเกิดอายุครบ ๘๐ ปีในเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๗ เขาได้รับจดหมายและโทรเลขอวยพรจากผู้นำทั่วทั้งยุโรป ในต้นเดือนกันยายนปีเดียวกัน ตีเยล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ๓ ครั้งและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๗๗ รวมอายุได้ ๘๐ ปี รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดรัฐพิธีศพให้เขาอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ ศพของตีเยได้รับการบรรจุ ณ สุสานแซงแชร์แมง-ออง-เล (Saint Germain-en-Laye) หลังอสัญกรรม ถนนแซงชอร์ช (Saint George) ได้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิโดสเนอ-ตีเย (Foundation of Dosne-Thiers)ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฝรั่งเศส (Institute of France) ที่เป็นศูนย์รวมของมูลนิธิต่าง ๆ และพิพิธภัณฑสถานจำนวนมาก มูลนิธิโดสเนอ-ตีเยมีห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๙–๑๙๐๐ รวมทั้งงานศิลปะที่ตีเยสะสมอยู่ด้วย.