ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปารีสหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม” (May Events) เป็นเหตุการณ์การจลาจลของนักศึกษาในกรุงปารีสซึ่งได้ขยายตัวกลายเป็นการจลาจลครั้งใหญ่ของพลเรือนที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เป็นการจลาจลครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เพราะการจลาจลครั้งนี้ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเจริญเติบโตกลายเป็นอัมพาตเป็นเวลาเกือบ ๑ เดือนทั้งยังทำให้ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ซึ่งได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่ ๒ เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙ รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ เรื่องในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปารีสเป็นผลมาจาก ความเจริญเติบโตของฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ ๕ (Fifth French Republic) ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งความก้าวหน้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคมได้อย่างเต็มที่ทำให้เกิดความไม่พอใจระบบการบริหารงานในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการให้บริการทางสังคมที่รัฐไม่ได้จัดหาให้ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาในทศวรรษ ๑๙๖๐ จำนวนนักเรียนและนักศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษ ๑๙๕๐ ที่เรียกกันว่า “ยุคเบนี่บูม” (Baby Boom) แต่รัฐไม่ได้จัดหางบประมาณและเครื่องสาธารณูปโภคตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาให้อย่างเพียงพอ อีกทั้งระบบการศึกษาและหลักสูตรก็ไม่ได้รับการปรับปรุงหรือปฏิรูปให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกอปรกับในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ นักศึกษาและปัญญาชนได้รับอิทธิพลจากภายนอกประเทศในหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะการต่อต้านนโยบายการทำสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปจึงเกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชนก่อนโดยเริ่มขึ้นในคืนวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อนักศึกษาหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยปารีสวิทยาเขตนองแตร์ (Nanterre) บริเวณชานกรุงปารีสได้ทำการประท้วงนโยบายการทำสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกาโดยเข้าไปทุบทำลายกระจกหน้าต่างของอาคารบริษัทอเมริกันเอกซ์เพรส (American Express) ในกรุงปารีสทำให้อาคารและทรัพย์สินเสียหายตำรวจจึงจับกุมนักศึกษาได้ ๒-๓ คน
ในวันรุ่งขึ้นดานิเอล เคิน-บองดี (Daniel Cohn-Bendit) นักศึกษาหัวรุนแรงนิยมซ้ำยซึ่งมีฉายาว่า “แดนนีแดง” (Danny the Red) ได้แพร่กระจายข่าวการจับกุมนักศึกษาของตำรวจครั้งนี้ไปทั่วมหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็วและเป็นแกนนำรวมกลุ่มกวีที่มีชื่อเสียงและนักดนตรีจำนวนไม่กี่คนรวมทั้งนักศึกษาอีกราว๑๕๐ คนซึ่งไม่พอใจการบริหารงานของมหาวิทยาลัยในเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้วเข้าไปยึดที่ทำการบริหารของมหาวิทยาลัยและจัดการประชุมขึ้นในห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีการแบ่งแยกชนชั้นในสังคมฝรั่งเศสการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนโจมตีการจับกุมนักศึกษาของตำรวจในคืนวันที่ ๒๑ อย่างรุนแรง ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาขึ้นในวันที่ ๒๒ มีนาคม ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยนองแตร์ได้ตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวโดยแจ้งให้ตำรวจที่ล้อมรอบมหาวิทยาลัยอยู่เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ดี หลังแกนนำนักศึกษาได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้มีการปฏิรูปมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยแล้วกลุ่มผู้ประท้วงก็สลายตัวโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในวันต่อมาบรรดานักศึกษาที่เป็นแกนนำการประท้วงได้ถูกมหาวิทยาลัยเรียกตัวเพื่อให้คณะกรรมการวินัยนักศึกษาสอบสวนและพิจารณาโทษทำให้นักศึกษาพากันโกรธแค้นและก่อการประท้วงใหม่ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ยุติลง พวกนักศึกษาหัวรุนแรงยังคงดำเนินการประท้วงต่อมาเป็นระยะ ๆ
ตลอดเดือนเมษายนความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยนองแตร์ ต่อมาในวันที่ ๒ พฤษภาคมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเริ่มตอบโต้ด้วยการสั่งปิดมหาวิทยาลัยและประกาศว่าจะไล่นักศึกษาที่มีความผิดออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อบีบนักศึกษาให้ยุติการประท้วงในวันที่ ๓ พฤษภาคม นักศึกษาจากนองแตร์และที่อื่นๆ จำนวนนับพันคนได้พากันเดินขบวนเข้ามาสมทบกับนักศึกษาในกรุงปารีสโดยใช้มหาวิทยาลัยปารีสวิทยาเขตซอร์บอนน์ (Sorbonne) และจัตุรัสลาดินหรือกาตีเยร์ลาแตง (Latin Quarter - Quartier Latin) ซึ่งอยู่ตรงทางเข้ามหาวิทยาลัยซอร์บอนน์เป็นศูนย์กลางการประท้วงการสั่งปิดมหาวิทยาลัยนองแตร์และการข่มขู่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าจะไล่นักศึกษาที่ทำการประท้วงออกจากการเป็นนักศึกษานอกจากนี้ ขบวนการนักศึกษายังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแรงงานในกรุงปารีสและบริเวณใกล้เคียงที่เข้ามาสมทบเพื่อร่วมประท้วงด้วย การประท้วงจึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและหัวข้อการประท้วงก็เปลี่ยนเป็นการโจมตีรัฐบาลและความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของประธานาธิบดีเดอโกลรวมทั้งเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรงให้แก่ลูกจ้างและกรรมกร และให้มีการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมแก่คนเหล่านั้นด้วย ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจปราบจลาจลักบนักศึกษาและผู้เข้าร่วมประท้วงซึ่งกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมอย่างรวดเร็ว
ในคืนวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคมตำรวจได้เข้ายึดอาคารในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์และจับกุมนักศึกษาที่เป็นแกนนำการประท้วงไว้ได้ ๑๓ คนในวันรุ่งขึ้นสหภาพนักศึกษาแห่งชาติฝรั่งเศส (Union Nationale des Etudiants de France-UNEF) ซึ่งเป็นสหภาพนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของ
ในวันที่ ๗ พฤษภาคม มีนักเรียนนักศึกษา และกรรมกรเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาอีกเป็นจำนวนมากคนเหล่านี้ได้เข้าไปรวมตัวกันที่ประตูชัยอาร์กเดอตริออมพ์ (Arc de Triomphe) และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ๓ ประการ
ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ฝูงชนกลุ่มใหญ่จำนวนมากได้มารวมตัวกันที่บริเวณส่งซ้ำยแม่นํ้าแซน (Seine) เพื่อจะเดินทางไปสมทบกับขบวนการนักศึกษาที่กำลังดำเนินการประท้วงรัฐบาลอยู่ แตไม่สามารถข้ามสะพานไปยังอีกส่งหนึ่งได้เพราะถูกตำรวจปราบจลาจลจำนวนมากเข้าไปขวางหน้าไว้พร้อมกับเครื่องกีดขวาง ฝูงชนจึงฝ่าวงล้อมตำรวจและกรูเข้าไปดึงเครื่องกีดขวางออกและข้ามสะพานไปยึดครองถนนสายต่าง ๆ ทางฝั่งขวาของแม่นํ้าแชนไว้ได้ ฝ่ายตำรวจก็ไม่ยอมถอย จึงเกิดการประจันหน้ากันขึ้นอย่างไรก็ดี ตลอดวันนั้นมีความพยายามที่จะเจรจาระหว่างกันแต่การเจรจาก็ล้มเหลวการต่อสู้ระหว่างตำรวจกับฝูงชนผู้ประท้วงจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา ๒.๑๕ น. ของวันที่ ๑๑ พฤษภาคม จนถึงรุ่งเช้ากลายเป็นการจลาจลครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในกรุงปารีสซึ่งมีทั้งการเผารถยนต์ที่จอดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและขว้างปาระเบิดขวด ทำให้มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมหลายร้อยคนเหตุการณ์ครั้งนี๋ได้ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงออกไปทั่วโลก ทำให้คนทั่วไปเกิดความวิตกกังวลว่าการจลาจลอาจมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆได้
อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลใช้ไม้แข็งต่อกลุ่มผู้ประท้วงโดยการปราบปรามการจลาจลอย่างรุนแรง ก็ได้ทำให้ประชาชนให้ความเห็นใจผู้ประท้วงมากขึ้นในวันต่อ ๆ มาจึงมีประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย ได้แก่ พวกศิลปินในสาขาต่าง ๆ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเหมีองแร่ นักเรียนและนักศึกษาจากโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ นอกจากนี้ ประชาชนในบางประเทศก็เริ่มให้ความเห็นใจผู้ก่อการประท้วงมากขึ้นด้วย พวกคอมมิวนิสต์แม้จะให้การสนับสนุนขบวนการนักศึกษาแต่ในครั้งแรกก็ลังเล เพราะพวกเขาเห็นว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็นนักผจญภัยและเป็นพวกอนาธิปไตยมากกว่า อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม บรรดาสหภาพแรงงานเอียงซ้ำยหลายแห่ง และสหพันธ์ใหญ่ ๆ เช่นสมาพันธ์แรงงานทั่วไป (Confédération Générate du Travail-CGT) และสหพันธ์พลังคนงาน (Force Ouvrière-FO) ได้จัดให้มีการนัดหยุดงานเพื่อเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงปารีสมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑ ล้านคนเดินขบวนถือป้ายประท้วงและโจมตีรัฐบาลไปทั่วกรุงปารีสโดยไม่สนใจการต่อต้านของตำรวจปราบจลาจล ชอร์ช ปงปีลู (Georges Pompidou)* ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเห็นว่าหากไม่ประนีประนอมกับผู้ประท้วงอาจทำให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการปฏิวัติได้ เขาจึงออกคำสั่งให้ปล่อยตัวนักโทษที่จับกุมไว้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมทั้งหมด และให้ถอนตำรวจออกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์และกาตีเยร์ลาแตงในวันเดียวกันแต่กระนั้นคลื่นของผู้ประท้วงก็ยังไม่ยอมยุติ ทั้งยังกลับทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงทุกที
หลังตำรวจถอนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงได้เข้าไปยึดอาคารที่ทำการต่าง ๆ เอาไว้ และประกาศว่ามหาวิทยาลัยเป็นอิสระและเป็น“มหาวิทยาลัยของประชาชน” (people’s university) ในตอนแรกมหาชนให้การสนับสนุนขบวนการนักศึกษาแต่ต่อมาก็เริ่มไม่เห็นด้วยเมื่อแกนนำนักศึกษาที่ได้รับเชิญให้มาออกรายการโทรทัศน์เพื่อให้สัมภาษณ์ให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องนื้ใด้แสดงท่าทีเสมือนเป็นนักอุดมคตินิยมที่ไม่มีความรับผิดชอบและต้องการทำลายสังคมบริโภคของฝรั่งเศสให้หมดไป อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและองค์กรอิสระซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนขึ้น๔๐๑ คณะในกรุงปารีสและที่อื่นๆ เพื่อแสดงความรู้สึกไม่พอใจและเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลและสังคมฝรั่งเศสรวมทั้งคณะกรรมการยึดครองมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne Occupation Committee) ที่กระทำการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเกินไป
แม้ว่ารัฐบาลจะยอมให้เปิดมหาวิทยาลัย เพื่อทำการสอนได้ตามปรกติแล้วก็ตาม แต่กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ยอมยุติการประท้วง โดยเฉพาะบรรดาคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในเรื่องการขึ้นค่าจ้างและการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมตามที่ตนต้องการ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคมบรรดาคนงานได้เข้าไปยึดครองโรงงานหลายแห่ง โดยเริ่มจากการนั่งประท้วงที่โรงงานSud Aviation ใกล้เมืองนองต์ (Nantes) ตามมาด้วยการนัดหยุดงานของคนงานโรงงานผลิตขึ้นส่วนรถยนต์เรโนลต์ (Rénault) ใกล้เมืองรูออง (Rouen) ซึ่งได้แผ่ขยายไปยังโรงงานผลิตรถยนต์เรโนลฅ์ที่เมืองแฟลง (Flins) และโรงงานอื่นๆ ใกล้กรุงปารีสคนงานได้เข้าไปยึดโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ราว๕๐ โรงงานในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม และราว๒๐๐,๐๐๐ คนก่อการนัดหยุดงานในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ในวันต่อ ๆ มาจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงได้ขยายตัวเป็น ๒ ล้านคนจนถึง ๑๐ ล้านคนทั่วประเทศอย่างรวดเร็วประมาณว่า มีแรงงานที่หยุดงานประท้วงทั่วประเทศถึง ๑ ใน๓ ของแรงงานทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสตกอยู่ในภาวะวิกฤติเพราะเกือบจะไม่มีการผลิตทางอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเลยตลอดช่วงสัปดาห์ของกลางเดือนพฤษภาคม
อย่างไรก็ดี การนัดหยุดงานประท้วงของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ไม่ได้เป็นการประท้วงที่นำโดยขบวนการสหภาพแรงงานในทางตรงข้ามสหภาพหลายแห่งได้พยายามทำให้การประท้วงอยู่ในกรอบของการเรียกร้องเท่านั้นเช่นสมาพันธ์แรงงานทั่วไป ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสได้พยายามสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อการประท้วงใช้ความรุนแรงโดยให้อยู่ในขอบเขตของการเรียกร้องค่าจ้างและการเรียกร้องทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สูงขึ้นเท่านั้นแต่บรรดาคนงานกลับยื่นข้อเสนอที่รุนแรง กว้างขวาง และมีลักษณะที่เป็นการเมืองมากขึ้นกว่าเดิมโดยเรียกร้องให้รัฐบาลและประธานาธิบดีเดอโกลออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าทั้งรัฐบาลและประธานาธิบดีไม่มีประสิทธิภาพที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป นอกจากนี้ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งยังเรียกร้องที่จะเข้าไปบริหารโรงงานเอง และเมื่อบรรดาหัวหน้าสหภาพได้เจรจากับสมาคมนายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าแรงอีกร้อยละ ๓๕ สำหรับค่าแรงขั้นตํ่า และให้จ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งให้แก่คนงานในช่วงการนัดหยุดงานบรรดาคนงานที่เข้าไปยึดโรงงานอุตสาหกรรมของตนอยู่กลับปฏิเสธที่จะกลับเข้าทำงานตามเดิมทั้งยังเยาะเย้ยถากถางบรรดาหัวหน้าสหภาพเหล่านั้นปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการจลาจลที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากกระแสความต้องการต่อต้านสหภาพแรงงานของคนงานในฝรั่งเศสด้วยเพราะบรรดาสหภาพใหญ่ ๆ ที่เป็นหลักของประเทศ เช่นสมาพันธ์แรงงานทั่วไปและสหพันธ์พลังแรงงานต่างก็ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่าการดำเนินการอย่างแข็งกร้าว
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีปงปีดูก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้การจลาจลยุติลงโดยเร็วเพื่อรักษาเศรษฐกิจและเอกภาพของชาติไว้ เขาจึงเปิดการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลักบตัวแทนของสหภาพแรงงานและลูกจ้างรวมทั้งสมาคมนายจ้างขึ้นที่กระทรวงกิจการสังคม (Ministry of Social Affairs) ระหว่างวันที่ ๒๕ และ ๒๖ พฤษภาคม การเจรจาบรรลุผลในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม เมื่อทุกฝ่ายทำความตกลงร่วมกันใน“ความตกลงเกรอแนลล์” (Grenelle Agreements) หรือ “รายงานเกรอแนลล์” (Grenelle Reports) ซึ่งได้ชื่อตามชื่อถนนเกรอแนลส์ (rue de Grenelle) ในกรุงปารีสที่กระทรวงกิจการสังคมตั้งอยู่ ตามความตกลงดังกล่าวรัฐบาลและฝ่ายนายจ้างตกลงจะเพิ่มอัตราค่าจ้างในระดับต่าง ๆ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะมีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่รวมทั้งเพิ่มสวัสดิการทางสังคมในด้านต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้างด้วยแต่ความตกลงฉบับนี้ไม่ได้รับการลงนาม เพราะบรรดาหัวหน้าคนงานที่ก่อการนัดหยุดงานประท้วงในที่ต่าง ๆ ปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นและไม่ยอมยุติการประท้วงขณะเดียวกันชนชั้นแรงงานอีกเป็นจำนวนมากและปัญญาชนระดับสูงอีกหลายคนก็เข้าร่วมการประท้วงกับคนงานเหล่านี้ด้วย เพื่อผนึกกำลังกันต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานอย่างเหนียวแน่นทั้งยังประกาศว่าจะจัดให้มีการนัดหยุดงานเพื่อเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในปลายเดือนพฤษภาคมกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาซึ่งหลายคนเชื่อว่ามีพวกคอมมิวนิสต์หนุนหลังต่างก็แสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาต้องการก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจของประธานาธิบดีเดอโกลแห่งสาธารณรัฐที่ ๕
เมื่อการลงนามในความตกลงเกรอแนลล์ล้มเหลวในวันเดียวกันสหภาพนักศึกษาแห่งชาติฝรั่งเศสซึ่งมีอิทธิพลและมีบทบาทโดดเด่นที่สุดในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ได้จัดให้มีการประชุมครั้งใหญ่ขึ้นที่ Stade Sébastien Charléty ในกรุงปารีสผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมีจำนวนราว๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คนและผู้แทนของกลุ่มต่าง ๆ ต่างเรียกร้องให้มีการล้มล้างรัฐบาลและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ การแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวของขบวนการประท้วงทำให้พวกนักการเมืองสังคมนิยมเห็นเป็นโอกาสที่จะแสดงตัวเป็นคนกลางระหว่างฝ่ายเดอโกลักบพวกคอมมิวนิสต์ ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* แห่งสหพันธ์ประชาธิปไตยและสังคมนิยมฝ่ายซ้ายได้ประกาศว่า “ขณะนี่ไม่มีรัฐอีกต่อไป” และเขาพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ (การที่มิตแตร์รองมั่นใจว่าเขาอาจประสบความสำเร็จในการเสนอตัวเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นเพราะว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เขาได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ ๔๕ จากผู้ที่มาออกเสียง) ขณะเดียวกันในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès-France)* ก็ได้ประกาศว่าเขาพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่เช่นกันแต่แตกต่างจากคำประกาศของมิตแตร์รองตรงที่เขาเสนอว่าจะให้พวกคอมมิวนิสต์เข้าร่วมในรัฐบาลของเขาด้วย การแสดงท่าทีของคนทั้งสองได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ปงปีดู เป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าพวกสังคมนิยมจะไม่ได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงของขบวนการนักศึกษาและกรรมกร ในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่พวกเขาก็มีเสียงสนับสนุนทั่วประเทศกว่าร้อยละ ๒๐ อย่างไรก็ดี พวกสังคมนิยมก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ เพราะสถานการณ์ยังคงสับสน
ในที่สุดในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ประธานาธิบดีเดอโกลซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการจลาจลครั้งนี้ก็เริ่มเคลื่อนไหวโดยออกคำสั่งให้งดการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กำหนดจะมีขึ้นในวันนั้นและขนย้ายเอกสารส่วนตัวทั้งหมดออกจากวังเอลิเซ (Elysée Palace) ทำเนียบประธานาธิบดีพร้อมทั้งบอกกับอาแลง เดอ บวสซีเยอ (Alain de Boissieu) บุตรเขยของเขาว่า “ฉันไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ใครมาโจมตีทำเนียบ---ฉันตัดสินใจที่จะย้ายออกไปเพราะคงไม่มีใครมาโจมตีทำเนียบที่ว่างเปล่า” นอกจากนี้เขายังปฏิเสธคำขอร้องของปงปีลูให้ยุบสภาแห่งชาติเพื่อทำการเลือกตั้งใหม่เพราะเชื่อว่าพวกโกลลิสต์ (Gaullist) อาจแพ้การเลือกตั้งและเมื่อ เวลา ๑๑ นาฬิกาเขาก็บอกกับปงปีดูว่า “ข้าพเจำเป็นอดีตส่วนท่านเป็นอนาคต ขอให้โชคดี” หลังจากนั้นรัฐบาลได้ประกาศว่าเดอโกลกำลังจะเดินทางไปยังบ้านพักในชนบทของเขาที่โกลองเบเลส์เดอเอกลีส (Colombey-les-Deux-Eglises) และจะกลับมาในวันรุ่งขึ้นทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาอาจเดินทางไปบ้านพักในชนบทเพื่อเตรียมร่างสุนทรพจน์เพื่อลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ดีเฮลิคอปเตอร์ลำที่เดอโกลนั่งไปไม่ได้ไปลงที่โกลองเบ และเดอโกลก็ไม่ได้บอกผู้ใด แม้แต่คณะรัฐมนตรีว่าเขาจะไปไหนเขาหายไปโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึง ๖ ชั่วโมง ข่าวการงดการประชุมคณะรัฐมนตรีและการหายตัวไปของประธานาธิบดีทำให้ชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศตื่นตระหนก
ในขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ หยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างสิ้นเชิงปงปีดูได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียวอย่างนั่นคงและอดทนยิ่ง เขาปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจากเพื่อนบางคนที่เสนอจะให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธในกรณีที่เกิดการปฏิวัติหรือสงครามกลางเมืองขึ้นเขายืนหยัดแก้ไขสถานการณ์ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทั้งภายไนแวดวงรัฐบาลและภายในกรุงปารีสที่ประชาชนต่างก็พยายามหาทางช่วยเหลือตนเองหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่านั้นนอกจากนี้ เขายังได้พยายามขอร้องให้กองทัพใช้เรดาร์ตรวจจับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำของประธานาธิบดีเดอโกลว่าบินไปในทิศทางใดแต่ก็ไร้ผล ต่อมาไม่นานปงปีดูก็รู้ว่าเดอโกลได้บินไปยังกองบัญชาการกองทัพฝรั่งเศสในเยอรมนีตะวันตก ที่เมืองบาเดิน-บาเดิน (Baden-Baden) เพื่อขอความช่วยเหลือจากนายพลชาก มาสชู (Jacques Massu) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพฝรั่งเศสที่ประจำในเยอรมนีมาสชูสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่เดอโกลอย่างเต็มที่ และโน้มน้าวให้เดอโกลซึ่งหมดความเชื่อมั่นในตนเองเดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยทันที ฉะนั้นเมื่อเดอโกลกลับมาถึงฝรั่งเศสในวันรุ่งขึ้นปงปีดูจึงไม่พอใจเป็นอย่างมากที่เดอโกลไม่ไว้ใจเขา แต่เขาก็ยังคงประสานงานกับเดอโกลต่อไป
ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เดอโกลเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศต่อไปด้วยความมั่นใจแต่ในวันเดียวกันนั้นคนงานราว๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ คนนำโดยสมาพันธ์แรงงานทั่วไปได้เดินขบวนประท้วงไปทั่วกรุงปารีสพร้อมทั้งชูป้ายและร้องตะโกนว่า “ลาก่อนเดอโกล” โมริช กรีโม (Maurice Grimau) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงปารีสได้พยายามทำหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือการปฏิวัติขึ้นอย่างเต็มที่ทั้งโดยการเจรจาการสืบข่าวกรอง และการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับผู้ประท้วงขณะเดียวกันบรรดาหัวหน้าพวกคอมมิวนิสต์ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้มีแผนที่จะทำให้ประชาชนลุกฮือโดยการใช้อาวุธ เพราะว่าพวกหัวรุนแรงที่เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้มีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นการแสดงท่าทีดังกล่าวทำให้พวกคอมมิวนิสต์ถูกวิจารณ์ในเวลาต่อมาว่าเป็นเพราะพวกเขามั่นใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นไม่ใช่จากความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ ซึ่งจะเป็นการทำทายให้เกิดการปราบปรามจากฝ่ายการเมือง
ขบวนการประท้วงครั้งนี้จำกัดขอบเขตอยู่ในบริเวณกรุงปารีสเท่านั้นและผู้ประท้วงก็ไม่ได้เข้าไปยึดอาคารสำคัญ ๆ หรือสถานที่ราชการแต่อย่างใด แต่ก็มีผู้หวั่นเกรงว่าเหตุการณ์อาจลุกลามดังเช่นคอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ค.ศ. ๑๘๘๑ ขึ้นได้ กระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทหารจึงเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นขณะเดียวกันปงปีดูก็ได้ออกคำสั่งให้รถถังเคลื่อนย้ายไปยังฐานทัพที่เมืองอิสซีเลส์มูลีโน (Issy-les-Moulinaux) เพื่อเตรียมพร้อมเช่นเดียวกันแต่ก็พยายามรักษาสถานการณ์โดยไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่ประชาชนชาวฝรั่งเศสหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเร่งเร้าให้เกิดการปฏิวัติซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดีในเวลา ๑๔.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ปงปีดูได้พยายามโน้มน้าวเดอโกลอีกครั้งให้หาทางออกให้กับปัญหานี่โดยการยุบสภาแห่งชาติและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยขู่ว่าเขาจะลาออก ต่อมาเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. เดอโกลจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ทั่วประเทศเป็นเวลา ๔ นาทีโดยแถลงต่อประชาชนว่าเขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แต่จะยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๘ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะยอมให้ตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่ขบวนการประท้วงจะต้องยุติลงโดยให้คนงานที่ก่อการนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามเดิม พร้อมกันนั้นเขาก็เรียกร้องให้ประชาชนรักษาระเบียบและกฎหมายโดยขู่ว่าหากคนงานไม่ยอมยุติการประท้วงเขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินขณะเดียวกันรัฐบาลก็ปล่อยข่าวให้รั่วไปถึงสื่อว่ากองทัพได้เคลื่อนย้ายกำลังพลเข้ามาอยู่ใกล้กรุงปารีสแล้วในทันทีที่เดอโกลกล่าวสุนทรพจน์จบประชาชนที่สนับสนุนเขาราว๘๐๐,๐๐๐ คนก็ได้เดินขบวนไปตามถนนชองเซลิเซ (Champs-Elysées) ซึ่งเป็นถนนสายหลักในกรุงปารีสพร้อมกับโบกธงชาติฝรั่งเศสเพื่อแสดงว่าเดอโกลยังได้รับความนิยมอยู่ ต่อมา มีการเปิดเผยว่าพวกโกลลิสต์ได้วางแผนที่จะจัดให้มีการเดินขบวนครั้งนี้มาหลายวันแล้วและได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไปรวมทั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ ด้วย เพราะประชาชนทั่วไปเบื่อหน่ายการประท้วงที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย และเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นจึงหันมาสนับสนุนประธานาธิบดีเดอโกลการเดินขบวนครั้งนี้มีผลให้พวกคอมมิวนิสต์ยอมรับข้อเสนอของเดอโกลและปฏิเสธไม่ร่วมมือกับกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มอื่นๆ ทำให้ขบวนการประท้วงสลายตัวลงในวันนั้น
ในต้นเดือนมิถุนายนบรรดาคนงานต่างก็ทยอยกันกลับเข้าทำงานตามปรกติ ส่วนพวกหัวแข็งก็ถูกขับออกจากโรงงานสหภาพนักศึกษาแห่งชาติได้ออกประกาศให้นักศึกษายุติการเดินขบวนประท้วงทุกชนิด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกคำสั่งให้ยุบเลิกองค์การของพวกฝ่ายซ้าย ในประเทศจำนวนหนึ่ง ในวันที่ ๑๖ มิถุนายนตำรวจกลับเข้าไปรักษาการณ์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์อีกครั้ง ทำให้เหตุการณ์สงบลงอย่างสินเชิง มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลังวิกฤตการณ์เดือนพฤษภาคมยุติลง พบว่าร้อยละ ๒๐ ของชาวฝรั่งเศสอาจให้การสนับสนุนแก่การปฏิวัติ ร้อยละ ๒๓ ไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๔๗ ต้องการหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ และร้อยละ ๓๓ จะต่อต้านการเข้าแทรกแซงของกองทัพ ในขณะที่เพียงร้อยละ ๕ จะสนับสนุนกองทัพ และเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศจะพยายามหลีกเลี่ยงปฏิบัติการใด ๆ ทั้งสิ้นข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามาถึงปลายเดือนพฤษภาคมประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายการประท้วงและไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ และ ๓๐ มิถุนายนผลปรากฏว่าพรรคโกลลิสต์ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเกินความคาดหมายของเดอโกล คือได้ชัยชนะถึง ๓๔๓ ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด ๔๘๖ ที่นั่ง ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เพียง ๓๔ ที่นั่ง และพรรคสังคมนิยมได้ ๕๗ ที่นั่ง นับว่าการจลาจลเดือนพฤษภาคมมีผลทำให้พวกโกลลิสต์กลับมามีอำนาจและผนึกกำลังกันได้อย่างเหนียวแน่นมากขึ้นทั้งยังทำให้เดอโกลกลับมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาใหม่อีกครั้งในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ปงปีดูไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ เพราะเดอโกลไม่พอใจการแสดงบทบาทของเขาในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม และแต่งตั้งโมริช กูฟ เดอ มูร์วิลล์ (Maurice Couve de Murville) เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ เดอโกล ยังได้ออกคำสั่งให้มีการควบคุมการประท้วงและการจลาจลต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและเฉียบขาดเพื่อมิให้เหตุการณ์ดังเช่นในช่วงเดือนพฤษภาคมเกิดขึ้นอีก
แม้ว่าเดอโกลจะรักษาอำนาจไว้ได้ แต่เหตุการณ์ เดือนพฤษภาคมก็ทำให้เขาตระหนักว่าอำนาจและสถานะทางการเมืองของเขาไม่มั่นคงเท่ากับใน ค.ศ. ด๙๖๒ หลังยุติสงครามแอลจีเรีย (Algerian War)* นอกจากนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของสำนักต่าง ๆ เกี่ยวกับประธานาธิบดีในช่วงหลังวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ผลการสำรวจชี๋ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเสื่อมความนิยมในตัวเขาลงไปเป็นอย่างมากเพราะคนเหล่านั้นเห็นว่าเดอโกล “แก่เกินไป” “เป็นคนที่ยึดมั่นในความคิดและอำนาจของตนมากเกินไป” “เป็นอนุรักษนิยมมากเกินไป” และ “ต่อต้านสหรัฐอเมริกามากเกินไป” เป็นต้นขณะเดียวกันเดอโกลยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกตํ่าและภาวะเงินเฟ้ออันเป็นผลมาจากการจลาจลเดือนพฤษภาคมซึ่งทำให้เขาต้องตัดทอนรายจ่ายในโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่หลายโครงการเพื่อรักษาค่าเงินฟรังก์ไว้ ทั้งยังถูกฝ่ายค้านโจมตีนโยบายภายในและต่างประเทศของเขาอีกหลายเรื่องเดอโกลจึงหาทางหนีปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้เพื่อให้เขาลาออกจากตำแหน่งได้อย่างสวยงามโดยจัดให้มีการแสดงประชามติ ในวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙ ที่ให้มีการแค้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องการปฏิรูปสภาเซเนตและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นเพราะเขามั่นใจว่ารัฐบาลจะต้องแพ้คะแนนเสียงอย่างแน่นอนซึ่งผลก็เป็นไปตามความคาดหมาย เดอโกลจึงใช้ผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙
เหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปารีสหรือเหตุการณ์ เดือนพฤษภาคม มีผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสเร่งดำเนินการปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่ในด้านต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายสมัยเดอโกลและได้รับการสานต่ออย่างมากในสมัยปงปีดูซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสืบต่อจากเดอโกล มีการเพิ่มค่าจ้างให้แก่แรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในระดับต่าง ๆ มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานการให้สวัสดิการสังคม และการปฏิรูปการศึกษาหลายฉบับซึ่งส่วนใหญ่ เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้ลดจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีมากเกินไปให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนและออกมาตรการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานมากขึ้นรวมทั้งให้นักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้วยทั้งยังมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีก ๒๗ แห่งทั่วประเทศ ในสมัยปงปีดูยังได้มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาและมีการส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวางอันเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งของผู้ประท้วงในเดือนพฤษภาคม เหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปารีสยังกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงของขบวนการนักศึกษาและแรงงานในประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นหัวข้อการศึกษาและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางสังคมในทศวรรษต่อ ๆ มาด้วย.