League of Nations

สันนิบาตชาติ

​​     ​​​​​​สันนิบาตชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีจุดมุ่งหมายจะลดกำลังอาวุธและการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามและเพื่อธำรงรักษาสันติภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่สันนิบาตชาติก็ไม่สามารถขัดขวางการขยายอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ที่มีเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* แห่งอิตาลีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* แห่งเยอรมนีเป็นผู้นำลัทธิคนสำคัญได้สันนิบาตชาติยุบเลิกลงใน ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยผู้แทนประเทศสมาชิกรวม ๓๔ ชาติซึ่งประชุมร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติการดำเนินงานของสันนิบาตชาติและให้โอนกิจการต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินทั้งหมด ๑๑,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐไปยังองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ณ นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และขยายตัวไปทั่วยุโรป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขององค์การเพื่อสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไม่เป็นทางการขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับอังกฤษซึ่งเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันหรือองค์การระหว่างประเทศขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดสงคราม ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ วิลเลียม โฮเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft) อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้ง "สันนิบาตเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ" (League to Enforce Peace) โดยเรียกร้องให้วางมาตรการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยการมีข้อตกลงหรือกติกาสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและต่อต้านการก่อสงครามโดยรัฐภาคีกติกาสัญญาต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อไม่ให้กติกาสัญญาถูกละเมิด รัฐที่ละเมิดพันธกรณีดังกล่าวต้องถูกลงโทษตามบทบัญญัติในกติกาสัญญาที่วางไว้อย่างจริงจัง ในอังกฤษก็มีการจัดตั้ง "สันนิบาตสังคมประชาชาติ" (League of Nations Society) และ "สันนิบาตกลุ่มเฟเบียน" (League interest group of the Fabians) เพื่อเรียกร้องให้จัดตั้งสถาบันหรือหน่วยงานกลางระหว่างประเทศเพื่อแก้ไข ข้อพิพาทระหว่างประเทศก่อนที่จะขยายตัวเป็นสงครามสันนิบาตเฟเบียนซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* ยังเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจร่วมกันจัดตั้ง "คณะมนตรี" (Council) แห่งรัฐขึ้นเพื่อเป็นเวทีร่วมของการเจรจารักษาสันติภาพทั้งเสนอให้มีการแต่งตั้งเลขาธิการระหว่างประเทศอย่างถาวรเพื่อประสานงานความร่วมมือระหว่างชาติด้วย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ ลอร์ดอาเทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสันนิบาตชาติ (Committee on the League of Nations) ขึ้นชุดหนึ่งตามคำชี้แนะของลอร์ดรอเบิร์ต เซซิล (Lord Robert Cecil) เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการที่จะจัดตั้งสถาบันระหว่างชาติขึ้น เซอร์วอลเตอร์ ฟิลลิมอร์ (Sir Walter Phillimore) ประธานของคณะกรรมาธิการจึงจัดทำร่างรายงานแผนดำเนินการขององค์การระหว่างประเทศขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยเสนอให้จัดตั้ง "ที่ประชุมของประเทศสัมพันธมิตร" (Conference of Allied States) ซึ่งสมาชิกมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะป้องกันการเกิดสงคราม ประเทศสมาชิกมีข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ใน กติกาสัญญาและในกฎหมายระหว่างประเทศ หากมีการละเมิดพันธกรณีที่จะนำไปสู่การเกิดสงคราม ประเทศสมาชิกอื่น ๆ จะร่วมกันตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจหรือมาตรการทางทหาร เพื่อบังคับให้ประเทศที่ละเมิดกติกาสัญญาปฏิบัติตามกฎหมายที่ บังคับไว้ แนวความคิดส่วนใหญ่ของร่างแผนดำเนินการซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า "แผนฟิลลิมอร์" (Phillimore Plan) ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหลักการของกติกาสัญญาสันนิบาตชาติ ข้อ ๑๒-๑๗ แม้รัฐบาลอังกฤษจะเห็นชอบกับร่างแผนฟิลลิมอร์แต่ก็ไม่ได้ให้สัตยาบันเนื่องจากประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาขอให้ประวิงเวลาไว้ก่อน
     ต่อมา ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ฝรั่งเศสซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจัดร่างแผนขององค์การระหว่างประเทศขึ้น โดยมีเลออง บูร์ชัว (Léon Bourgeois) เป็นประธานก็เสนอแนวความคิดการจัดตั้ง "คณะมนตรีระหว่างประเทศ" (International Council) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนของประเทศต่าง ๆ บูร์ชัวนำแนวความคิดและวิธีการของการประชุมกรุงเฮก (Hague Canference)* ค.ศ. ๑๙๐๗ เป็นกรอบของการดำเนินงาน เขาเสนอว่าคณะมนตรีระหว่างประเทศจะประชุมหารือร่วมกันทุกปีและพิจารณาแก้ไขข้อพิพาทระหว่างชาติ โดยใช้คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง แต่หากจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามก็เป็นหน้าที่ของกองทัพระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยกองทหารที่รัฐสมาชิกต่าง ๆ จัดหาให้ในการดำเนินการลงโทษรัฐที่รุกรานรัฐอื่น ๆ ฝรั่งเศสเรียกร้องการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศที่เข้มแข็งและมีกองกำลังที่จะทำหน้าที่ป้องกันและระงับสงครามเพื่อประกันความมั่นคงและสร้างสันติภาพให้แก่ประชาคมโลก
     อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับร่างรายงานแผนฟิลลิมอร์ และทราบแนวความคิดของฝรั่งเศสได้ปรับร่างรายงานดังกล่าวทำเป็นร่างแผนของสหรัฐอเมริกาขึ้น โดยมีพันเอกเอดเวิร์ด เฮาส์ (Edward House) ที่ปรึกษาและเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีวิลสันเป็นหัวหน้าคณะจัดทำเฮาส์ได้นำความคิดของวิลสันมาจัดทำโครงสร้างและ หน้าที่ ขององค์การระหว่างประเทศที่ จะมีบทบาทส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐในลักษณะของการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* มากกว่าที่จะเป็นการรักษาดุลแห่งอำนาจเช่นในอดีตที่ผ่านมาขณะเดียวกันทุกรัฐไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงร่วมกันภายในกรอบของพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติกาสัญญาและในกฎหมายระหว่างประเทศ วิลสันต้องการให้องค์การระหว่างประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นเสมือนรัฐบาลโลกซึ่งเป็นศูนย์แห่งอำนาจที่เกิดจากการประชุมร่วมกันของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และมีกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเครื่องมือบังคับทั้งกองกำลังร่วมของนานาชาติภายใต้การบังคับบัญชาขององค์การก็มีหน้าที่เพื่อรักษาระเบียบ ความยุติธรรม และสันติภาพของโลกไม่ใช่เพื่อตัดสินข้อพิพาทที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตน ร่างแผนองค์การระหว่างประเทศตามความคิดของวิลสันได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีกหลายครั้งในที่ประชุมของสหภาพสันนิบาตชาติ (League of Nations Union) ที่กรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนสงครามจะสิ้นสุดลง
     ต่อมาลอร์ดรอเบิร์ต เซซิล ประธานของสหภาพสันนิบาตชาติและยาน คริสเตียน สมึตส์ (Jan Christian Smuts) รัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ได้เสนอแนะความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์การและแนวทางการปฏิบัติงานรวมทั้งสถานที่ตั้งถาวร คนทั้งสองต้องการให้สันนิบาตชาติเป็นองค์การระงับข้อขัดแย้งระหว่างรัฐ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ โดยมีกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักเกณฑ์ของความสัมพันธ์ระหว่างชาติ รัฐสมาชิกต้องไม่ถูกบังคับให้อยู่ใต้พันธกรณีใด ๆ แต่ต้องสมัครใจยอมรับโดยยึดถือหลักการร่วมมือกันโดยสันติวิธีแนวความคิดดังกล่าวจึงมีอิทธิพลไม่น้อยต่อการจัดตั้งสันนิบาตชาติ
     ในช่วงที่สงครามยังดำเนินอยู่นั้น ประธานาธิบดีวิลสันซึ่งต้องการให้มีการเจรจายุติสงครามโดยเร็วโดยที่ไม่มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะได้เสนอหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* เป็นพื้นฐานของการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพและการรักษาสันติภาพของโลกอย่างเหนียวแน่น หลักการดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพอันถาวร ทั้งเสนอการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นเพื่อให้มีหลักประกันร่วมกันแก่เอกราชและบูรณภาพของดินแดนประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าประเทศใหญ่หรือเล็ก อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีไม่ค่อยพอใจหลักการ ๑๔ ข้อเท่าใดนัก เพราะไม่มีการกำหนดเรื่องค่าปฏิกรรมสงครามและผลประโยชน์ที่ประเทศชนะสงครามจะพึงได้รับ แต่ก็ต้องจำใจยอมรับเพราะต้องการให้สงครามยุติโดยเร็วที่สุด ประธานาธิบดีวิลสันได้นำหลักการเรื่ององค์การระหว่างประเทศดังกล่าวรวมไว้ในร่างแผนงานการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อเสนอในการประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีส ภายหลังการลงนามการสงบศึก (Armistice)* ยุติสงครามระหว่างเยอรมนีกับประเทศสัมพันธมิตรที่เมืองกงเปียญ (Compiègne) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘
     ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ประธานาธิบดีวิลสันเดินทางมากรุงปารีสเพื่อเข้าร่วมประชุมสันติภาพและก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น วิลสันได้หารือกับลอร์ดเซซิลอีกครั้งเกี่ยวกับร่างแผนองค์การระหว่างประเทศที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและมีการปรับแก้ไขกันอีกการประชุมสันติภาพซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม มีผู้แทนประเทศมหาอำนาจ ๕ ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น และผู้แทน ประเทศสัมพันธมิตรอื่น ๆ อีก ๒๒ ประเทศซึ่งรวมทั้งประเทศสยามเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น ๕ คณะ และคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งคือ คณะกรรมาธิการร่างกติกาสัญญาสันนิบาตชาติ เพื่อพิจารณาโครงสร้างและขอบข่ายงานโดยใช้ร่างแผนองค์การระหว่างประเทศที่ได้ปรับแก้รวมกับหลักการ ๑๔ ข้อของประธานาธิบดีวิลสันเป็นกรอบและแนวทางการทำงาน คณะกรรมาธิการร่างกติกาสัญญาสันนิบาตชาติซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประเทศมหาอำนาจประเทศละ ๒ คน และผู้แทนจากประเทศอื่นๆ อีก ๙ ประเทศ ๆ ละ ๑ คน ประชุมกันกว่า ๑ สัปดาห์จนจัดทำกติกาสัญญาสันนิบาตชาติได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติบุคคลที่กำหนดทิศทางของการประชุมทุกอย่างมีเพียง ๓ คน คือ ประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clemenceau)* นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสประธานาธิบดีวิลสันมีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดในที่ประชุมและเขาต่อสู้อย่างมากที่จะให้กติกาสัญญาสันนิบาตชาติ (Covenant of the League of Nations) เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพทุกฉบับที่ทำกับประเทศผู้แพ้สงคราม
     กติกาสัญญาสันนิบาตชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินงานของสันนิบาตชาติประกอบด้วยส่วนอารัมภบทซึ่งว่าด้วยจุดมุ่งหมายและหลักการ ส่วนบทบัญญัติซึ่งมีทั้งหมด ๒๖ ข้อ และกว่าครึ่งหนึ่งว่าด้วยวิธีการธำรงรักษาสันติภาพ และส่วนภาคผนวกท้ายกติกาสัญญาเป็นรายชื่อประเทศสมาชิกที่ก่อตั้งองค์การและได้รับเชิญให้ยอมรับกติกาสัญญารวม ๔๔ ประเทศหลักการสำคัญในการดำเนินงานของสันนิบาตชาติคือเป็นระบบความมั่นคงร่วมกันโดยสมาชิกต้องร่วมกันธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศของสังคมโลก การยึดถือความเป็นเอกฉันท์ของรัฐสมาชิกเพื่อให้การดำเนินงานในมติสำคัญ ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การยึดหลักความเสมอภาค ระหว่างรัฐโดยทุกประเทศสมาชิกไม่ว่าใหญ่หรือเล็กมีสิทธิและหน้าที่ตามพันธกรณีในกติกาสัญญาอย่างเท่าเทียมกัน และการสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกื้อกูลต่อสันติภาพของโลก โดยช่วยประชาชนในดินแดนต่าง ๆ ให้สามารถปกครองตนเองได้ และ เสริมสร้างความมั่นคงในด้านการดำรงชีวิตการประกอบ อาชีพและสุขภาพอนามัยแก่ประชาชาติต่าง ๆ ในโลก กติกาสัญญาสันนิบาตชาติยังกำหนดโครงสร้างของสันนิบาตชาติซึ่งประกอบด้วย ๓ องค์กรหลักคือสมัชชา (Assembly) คณะมนตรี (Council) และสำนักงาน เลขาธิการ(Secretariat) นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานระหว่างชาติอื่น ๆ ที่ขึ้นตรงต่อองค์การหลักทั้ง ๓ องค์กรด้วย
     ที่ประชุมใหญ่สันติภาพได้ลงมติรับรองกติกาสัญญาสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ และกำหนดให้กติกาสัญญานี้รวมอยู่ในสนธิสัญญาสันติภาพทุกฉบับ คือ สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งลงนามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ สนธิสัญญาแซง-แชร์แมง (Treaty of Saint-Germain)* ระหว่างออสเตรียกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ สนธิสัญญาเนยยี (Treaty of Neuilly)* กับบัลแกเรียเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ สนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon)* กับฮังการีเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๐ และสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sèvres)* กับตุรกีเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่มุสตาฟา เคมาล (Mustapha Kemal)*


ซึ่งก่อการปฏิวัติล้มอำนาจสุลต่านโมฮัมเม็ดที่ ๖ (Mohammed VI) ได้สำเร็จประกาศไม่ยอมรับสนธิสัญญาแซฟวร์ในเวลาต่อมา และนำไปสู่การเจรจาทบทวนเงื่อนไขของสนธิสัญญาภายหลังวิกฤตการณ์ชานัก (Chanak Crisis)* ค.ศ. ๑๙๒๒ ตุรกีจึงประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองและลงนามทำสนธิสัญญาฉบับใหม่คือสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne)* เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓
     สมัชชาซึ่งเป็นที่ประชุมใหญ่ของประเทศสมาชิกจะประชุมกันปีละ ๑ ครั้งในเดือนกันยายน แต่ละประเทศสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้ประเทศละ ๓ คนแต่มีสิทธิออกเสียงเพียง ๑ เสียง หน้าที่สำคัญของสมัชชาคือพิจารณางบประมาณ และดูแลเรื่องที่ คุกคามต่อสันติภาพของโลกและหาทางแก้ไข การพิจารณารับสมาชิกใหม่และปรับปรุงแก้ไขกติกาสัญญาสันนิบาตชาติ ส่วนคณะมนตรีมีสมาชิกที่เป็นประเทศมหาอำนาจ เท่านั้นและเป็นผู้แทนถาวรประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ และ ๑๙๓๔ เยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้เข้าเป็นสมาชิกถาวร แต่ ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ญี่ปุ่นถอนตัวออกเนื่องจากรุกรานแมนจูเรีย และในปีต่อมาเยอรมนีก็ประท้วงปัญหาการเจรจาลดกำลังอาวุธด้วยการลาออก ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ อิตาลีก็ถอนตัวออกเพราะทำสงครามอะบิสซิเนีย (Abyssinian Wars)* เมื่อสหภาพโซเวียตทำสงครามรุกราน ฟินแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ สันนิบาตชาติก็ขับสหภาพโซเวียตออกจากการเป็นสมาชิก สมาชิกถาวรจึงเหลือเพียง ๒ ประเทศ อย่างไรก็ตาม สมัชชาก็ได้เลือกสมาชิกกึ่งถาวร (semi-permanent) ร่วมบริหารโดยมีวาระ ๓ ปีหมุนเวียนกันไปในกลุ่มประเทศสมาชิกเล็กอื่น ๆ รวม ๖ ประเทศ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ขยายเวลาเป็น ๖ ปี โดยเพิ่มจำนวนสมาชิกกึ่งถาวรอีกรวมเป็น ๙ ประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๓๓ รวมเป็น ๑๐ ประเทศ และ ๑๑ ประเทศใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ตามลำดับ ประเทศเล็ก ๆ จึงมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในคณะมนตรี คณะมนตรีมีหน้าที่พิจารณาปัญหาที่คุกคามต่อสันติภาพของโลกและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศรวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษ การวางโครงการลดอาวุธและอื่น ๆ คณะมนตรีจะประชุมกันปีละหลายครั้งและอาจเรียกประชุมฉุกเฉินได้ การตัดสินเรื่องสำคัญ ๆ ต้องใช้มติเอกฉันท์ ๒ ใน ๓ นอกจากนี้ คณะมนตรีจะเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะมนตรีจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๐ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน
     สำนักเลขาธิการเป็นองค์การบริหารที่ทำหน้าที่ประจำตลอดปี หน้าที่สำคัญคือดูแลควบคุมเรื่องการเงินและค่าใช้จ่าย รวมทั้งดำเนินงานให้เป็นไปตามความประสงค์ของสมัชชาและคณะมนตรี การติดต่อประสานงานกับประเทศสมาชิกและที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รวมทั้งเก็บจดทะเบียนสนธิสัญญาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาระหว่างประเทศต่าง ๆ เซอร์อีริก ดรัมมอนด์ (Sir Eric Drummond) ชาวอังกฤษเป็นเลขาธิการคนแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๓๓ และเขาทำให้สำนักงานเลขาธิการเป็นหน่วยงานบริการระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกว่า ๗๐๐ คน เลขาธิการคนต่อมาคือ โชเซฟ อาเวอนอล (Joseph Avenol) ชาวฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๐ และ ชอน เลสเตอร์ (Séan Lester) ชาวไอร์แลนด์เป็นเลขาธิการคนสุดท้าย
     สันนิบาตชาติจะได้รับเงินอุดหนุนจากประเทศสมาชิกตามความสามารถที่แต่ละประเทศจะจัดให้ได้ตามที่สมัชชาเป็นผู้กำหนด งบประมาณแต่ละปีมักไม่เกิน ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยอังกฤษจะให้มากที่สุดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๖๐ ของสันนิบาตชาติจะใช้ในกิจการทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะองค์การอนามัย องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
     สันนิบาตชาติเริ่มดำเนินงานและจัดประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ในวันเดียวกันกับที่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้รับสัตยาบันจากประเทศมหาอำนาจสัมพันธมิตรซึ่งทำให้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงอย่างเป็นทางการ สันนิบาตชาติมีที่ทำ การตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสมาชิกแรกเริ่มรวม ๔๒ ประเทศ ตลอดช่วง ๒๖ ปีของการดำเนินงาน ( ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๔๖) มีสมาชิกที่เป็นทั้งรัฐเอกราช ดินแดนในอาณัติ และประเทศอาณานิคมรวมทั้งหมด ๖๓ ประเทศ แต่มีเพียง ๓๑ ประเทศ เท่านั้นที่เป็นสมาชิกถาวรตั้งแต่แรกจนถึงวันสิ้นสุดของสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ การเข้าเป็นสมาชิกยึดหลักความสมัครใจของแต่ละชาติและ

ต้องได้คะแนนเสียงรับรอง ๒ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมดโดยชาติที่สมัครต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและยอมรับกฎข้อบังคับที่สันนิบาตชาติกำหนด
     อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติสมัชชาสันนิบาตชาติมักพิจารณารับชาติต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกอย่างเข้มงวด หลายชาติเช่น สาธารณรัฐบอลติก (Baltic States)* ต้องยอมรับข้อผูกพันพิเศษด้วยการออกแถลงการณ์ที่จะประกันสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย ฮังการีต้องให้สัญญาว่าจะไม่ฟื้นฟูราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐเล็ก เช่น โมนาโกลิกเตนสไตน์ (Licenhtenstein) และซานมารีโน (San Marino) ก็ไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกเนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไปและจำนวนประชากรน้อยสหรัฐอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสันนิบาตชาติก็ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก เพราะใน ค.ศ. ๑๙๒๐ วุฒิสภาไม่ยอมให้สัตยาบันสนธิสัญญาแวร์ซาย การไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหรัฐอเมริกามีส่วนทำให้สันนิบาตชาติอ่อนแอและทำให้มหาอำนาจในสันนิบาตชาติเหลือเพียง ๔ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่นการดำเนินนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจโดยเฉพาะญี่ปุ่นกับอิตาลีก็มักคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ มากกว่าหลักการร่วมกัน สันนิบาตชาติจึงขาดเสถียรภาพ นอกจากนี้ การที่รัฐเล็ก ๆ ในเวลาต่อมาซึ่งเห็นว่าสันนิบาตชาติล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาตามที่ตนต้องการได้ก็ลาออกมากกว่า ๓๐ รัฐ (๑๑ รัฐในอเมริกากลางและอีก ๒๐ รัฐในอเมริกาใต้) โดยไม่นับรวมรัฐที่ พ้นสมาชิกสภาพเพราะปัญหาทางการเมือง เช่นออสเตรียถูกผนวกรวมเข้ากับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า อันชลุสส์ (Anschluss)* หรือแอลเบเนียถูกผนวกเข้ากับอิตาลีใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็มีส่วนทำให้โครงสร้างและการดำเนินงานของสันนิบาตชาติอ่อนแอลงมากขึ้น
     สมัชชาของสันนิบาตชาติซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนสภาโลก (World-Wide Parliament) เปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ก่อนหน้าการประชุมไม่นานนักสมัชชาได้แก้ไขกรณีพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะออลันด์ (Aäland Island) ซึ่งอยู่ในทะเลบอลติกระหว่างฟินแลนด์กับสวีเดนได้สำเร็จ หมู่เกาะดังกล่าวเคยอยู่ใต้การปกครองของรัสเซียแต่ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ฟินแลนด์ได้ประกาศเอกราชจากรัสเซียและเข้าครอบครองหมู่เกาะออลันด์ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ พลเมืองเชื้อสายสวีเดนในหมู่เกาะได้จัดตั้งเขตปกครองอิสระขึ้นฟินแลนด์จึงส่งกองทหารเข้าปราบปราม รัฐบาลสวีเดนในระยะแรกไม่ได้สนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก แต่เมื่อถูกกดดันจากประชาชนในประเทศให้เข้าแทรกแซงก็นำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศ อังกฤษได้นำปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเข้าสู่การพิจารณาของสันนิบาตชาติ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการไปไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อเสนอรายงานต่อคณะมนตรี ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๑ คณะมนตรีตัดสินให้ฟินแลนด์ปกครองหมู่เกาะออลันด์ต่อไป แต่ให้มีการประกันสิทธิทางการเมืองและคุ้มครองทรัพย์สินของชาวสวีเดน และให้ใช้ภาษาสวีเดนในโรงเรียนซึ่งทั้งสองประเทศก็ยอมรับมติดังกล่าว
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๕ แม้ประเทศมหาอำนาจหลายชาติจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ แต่สันนิบาตชาติก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ เพราะสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้หลายกรณีไม่ว่ากรณีพิพาทระหว่างสวีเดนกับฟินแลนด์เกี่ยวกับหมู่เกาะออลันด์ กรณีพิพาทระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย (Lithunia) เกี่ยวกับเมืองวิลนีอุส (Vilnius) กรณีพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับลิทัวเนียเกี่ยวกับเมืองท่า เมเมล (Memel) และกรณีพิพาทบริเวณชายแดนระหว่างกรีซกับบัลแกเรียเป็นต้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ มีการประชุมจำกัดอาวุธระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งนำไปสู่การลงนามร่วมกันยกเว้นอังกฤษใน "พิธีสารเจนีวา" (Geneva Protocol) และใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ก็มีการลงนามในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ๗ ประเทศ ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย เพื่อกำหนดเขตปลอดทหารบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ลึก ๕๐ ไมล์ และค้ำประกันพรมแดนระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสและเบลเยียมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ สันนิบาตชาติได้จัดตั้งศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice-PCIJ) ซึ่งต่อมาเป็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ)* การจัดตั้งองค์การสื่อสารและคมนาคม ( ค.ศ. ๑๙๒๑) และองค์การอนามัย ( ค.ศ. ๑๙๒๓) เป็นต้น
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๒ สันนิบาตชาติก็ยังคงสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศไม่ให้ลุกลามรุนแรงได้ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๖ เยอรมนีได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติซึ่งทำให้มีมหาอำนาจเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นรวม ๕ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี สหรัฐอเมริกาแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกก็มีบทบาทผลักดันการสร้างเสริมสันติภาพอย่างมากด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ อะริสติด บรียอง (Aristide Briand)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส และแฟรงก์ บี. เคลลอกก์ (Frank B. Kellogg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำความตกลงในกติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก (Briand-Kellogg Pact) หรือ "กติกาสัญญาปารีส ค.ศ. ๑๙๒๘" (Pact of Paris) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของกติกาสัญญาสันนิบาตชาติโดยตกลงจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศกติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก์มีประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามด้วยรวม ๖๐ ประเทศ อย่างไรก็ตามในกลาง เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๑ ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรียและต่อมาในวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ก็สถาปนาผู่อี๋ (Pu-Yi) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงเป็นผู้ปกครองพื้นที่ ๓ จังหวัดของแมนจูเรียโดยให้ชื่อว่าแมนจูกัว (Manchuko) สันนิบาตชาติได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนตะวันออกไกล (Commission of Inquiry to the Far East) หรือที่ เรียกว่าคณะกรรมาธิการลิตตัน (Lytton Commission) โดยเรียกชื่อตามลอร์ดลิตตันซึ่งเป็นหัวหน้าไปไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวจะทำรายงานตำหนิการกระทำของญี่ปุ่นและมีมติปฏิเสธการรับรองรัฐแมนจูกัว แต่ก็เสนอทางออกให้แมนจูเรียไว้ด้วย อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่พอใจและลาออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อยืนยันหลักการความเสมอภาคและยุติธรรมทั้งการนำกติกาสัญญาของสันนิบาตชาติมาบังคับใช้ต้องปรับแก้ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของดินแดนต่าง ๆ ของโลกด้วย
     ความล้มเหลวของสันนิบาตชาติในเหตุการณ์แมนจูเรียนับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพขององค์การในการจะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๙ แม้สหภาพโซเวียตจะเข้าเป็นสมาชิกในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ แต่ประเทศมหาอำนาจ ๓ ประเทศก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกคือญี่ปุ่น (มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓) เยอรมนี (กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๓) เพราะไม่พอใจมติของการประชุมลดอาวุธที่ให้จำกัดกำลังทหารของเยอรมนี และอิตาลี (ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗) ขณะเดียวกันก็มีประเทศอื่น ๆ ลาออกหรือพ้นสมาชิกภาพอีก ๑๕ ประเทศ ความอ่อนแอของสันนิบาตชาติปรากฏเห็นได้ชัดมากขึ้นในกรณีอิตาลีรุกรานเอธิโอเปียซึ่งนำไปสู่สงครามอิตาลี เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖)* สันนิบาตชาติได้ใช้มาตรการลงโทษอิตาลีทางเศรษฐกิจด้วยการห้ามประเทศสมาชิกช่วยเหลือและติดต่อค้าขายกับอิตาลี แต่มาตรการดังกล่าวก็ล้มเหลวเพราะเป็นมาตรการในขอบเขตจำกัดและอังกฤษกับฝรั่งเศสก็ไม่ยอมให้ใช้มาตรการรุนแรง อิตาลีจึงยังคงติดต่อค้าขายกับเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาได้ และต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ก็ผนวกเอธิโอเปียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างเป็นทางการ ทั้งสถาปนาพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III)* เป็นจักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย แม้เอธิโอเปียจะขอไม่ให้สันนิบาตชาติรับรองการยึดครองเอธิโอเปียเป็นของอิตาลี แต่สมัชชาสันนิบาตชาติก็เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ต่อมา เมื่ออิตาลีลาออกจากการเป็นสมาชิกในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เลขาธิการสันนิบาตชาติยังพยายามให้อิตาลีกลับเข้าเป็นสมาชิกและพร้อมที่ จะขับเอธิโอเปียออกแทน นอกจากนี้ อังกฤษยังเสนอให้สมัชชายอมรับผู้แทนของอิตาลีและอำนาจอธิปไตยของอิตาลีเหนือเอธิโอเปียซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย แต่สหภาพโซเวียต จีน นิวซีแลนด์ และโบลิเวียคัดค้านสงครามอิตาลี-เอธิโอเปียจึงไม่เพียงสะท้อนความอ่อนแอของสันนิบาตชาติในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นบทบาทของประเทศมหาอำนาจในสมัชชาที่เพิกเฉยต่อกติกาสัญญาของสันนิบาตชาติในการจะปกป้องประเทศสมาชิกเล็ก ๆ ที่ถูกรุกราน และพร้อมจะสนับสนุนประเทศมหาอำนาจด้วยกันเอง ชัยชนะของอิตาลีครั้งนี้ได้ทำให้ความนิยมของชาวอิตาลีต่อมุสโสลินีและระบอบลัทธิฟาสซิสต์เพิ่มมากขึ้น
     เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และปฏิเสธที่จะถอนกำลังทหารออกจากโปแลนด์ภายใน ๒๔ ชั่วโมงตามคำขาดของอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้ง ๒ ประเทศจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ ๓ กันยายนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ สันนิบาตชาติล้มเหลวที่จะใช้มาตรการทางการทูตยับยั้งเยอรมนี และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๖ ก็แทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ การดำเนินงานสำคัญครั้งสุดท้ายของสันนิบาตชาติคือการพิจารณาข้อเรียกร้องของฟินแลนด์ในกรณีถูกสหภาพโซเวียตเข้ารุกราน แม้สันนิบาตชาติจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขับสหภาพโซเวียตออกจากสมาชิกภาพเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือฟินแลนด์ได้ ฟินแลนด์จึงถูกสหภาพโซเวียตบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และต้องสูญเสียดินแดนในเขตคารีเลีย (Karelia) ตอนใต้และเมืองวีบอร์ก (Vyborg) แก่สหภาพโซเวียตรวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๑๒ ทั้งถูกสหภาพโซเวียตบังคับเช่าคาบสมุทรฮังกอ (Hanko) เพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือ
     ด้วยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สันนิบาตชาติยังคงบริหารงานประจำของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การซึ่งงบประมาณถูกลดลงไปมาก ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ สำนักงานเลขาธิการซึ่งเป็นองค์กรบริหารถาวร ณ นครเจนีวา มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาออกกว่า ๑๒๐ คนจากจำนวน ๘๐๐ คน และเริ่มมีการโอนย้ายหน่วยงานด้านเทคนิคบริการบางหน่วยไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ สันนิบาตชาติมีงบประมาณดำเนินการเพียงร้อยละ ๓๓ ของงบประมาณปีก่อน ๆ และมีประเทศสมาชิกเหลือเพียง ๔๓ ประเทศ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๖ ชอน เลสเตอร์ เลขาธิการสันนิบาตชาติก็มี บทบาทน้อยมาก คาร์ล ฮัมโบร (Carl Hambro) ชาวนอร์เวย์ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาตั้งแต่สมัยประชุม ค.ศ. ๑๙๓๙ ทำหน้าที่บริหารกิจการประจำและด้านการเงินของสันนิบาตชาติเขาดำรงตำแหน่งมาโดยตลอดเพราะไม่มีการคัดเลือกประธานคนใหม่และไม่มีการประชุมกันใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฝรั่งเศสซึ่งมีจอมพลฟิลิป เปแตง (Phillippe Pétain)* เป็นผู้นำและร่วมมือกับเยอรมนีได้ขอถอนตัวออกจากสมาชิกภาพ แต่ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ นายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๗๐)* ผู้นำขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ประกาศยืนยันว่าฝรั่งเศสยังคงเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติอยู่ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง มีการประชุมสมัชชาสันนิบาตชาติครั้งที่ ๒๑ ระหว่างวันที่ ๘-๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งเป็นการประชุมสมัชชาครั้งสุดท้าย ผู้แทนประเทศสมาชิกรวม ๓๔ ชาติลงมติเป็นเอกฉันท์ยุติการดำเนินงานของสันนิบาตชาติ และให้โอนกิจการต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สิน ๑๑,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐไปยังองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปิดบัญชีและมอบโอนงานกันเรียบร้อยในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็นับเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของสันนิบาตชาติ
     สันนิบาตชาติสามารถรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้เมื่อประเทศมหาอำนาจร่วมกันสนับสนุนระบบการประกันความมั่นคงร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ และการลดกำลังอาวุธ แต่เมื่อประเทศมหาอำนาจสำคัญโดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักในสันนิบาตชาติไม่ดำเนินการขัดขวางการรุกรานอย่างจริงจัง และไม่สามารถตกลงกันได้รวมทั้งมักยึดหลักการให้ความร่วมมือตามความพอใจของตน สันนิบาตชาติจึงอ่อนแอและไม่มีอำนาจที่แท้จริง การไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหรัฐอเมริกาก็มีส่วนทำให้สันนิบาตชาติไม่เข้มแข็งเพราะขาดกำลังสนับสนุนที่สำคัญ และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น สันนิบาตชาติก็ไม่แน่ใจในบทบาทของสหรัฐอเมริกาและจำต้องลดระดับการผูกพันที่องค์การจะพึงมีต่อสมาชิกลง นอกจากนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศนอกองค์การไม่ว่าจะเป็นการขยายอำนาจทางทหารของเยอรมนีและญี่ปุ่น สงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* และการขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ซึ่งเกิดจากการดำเนินนโยบายของประเทศมหาอำนาจที่มีอุดมการณ์คุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยก็มีส่วนขัดขวางและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสันนิบาตชาติไม่ให้บรรลุผล
     กติกาสัญญาของสันนิบาตชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ชาย และสนธิสัญญาสันติภาพยังทำให้ประเทศที่พ่ายแพ้คำนึงว่าสันนิบาตชาติเป็นองค์การของประเทศที่ชนะสงครามเพื่อใช้บังคับควบคุมตน เมื่อประเทศสมาชิกที่แพ้สงครามแข็งแกร่งพอก็จะ ละเมิดกติกาสัญญา ข้อบัญญัติในกติกาสัญญาสันนิบาตชาติหลายข้อก็มีลักษณะขัดแย้ง และไม่รัดกุมซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลวในทางปฏิบัติด้วย เช่น การกำหนดในการลงมติใด ๆ ทั้งในสมัชชาและคณะมนตรีต้องได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ แต่กรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศซึ่งขัดแย้งกันก็ทำให้หาข้อยุติไม่ได้ง่ายนัก นอกจากนี้ โครงสร้างของสันนิบาตชาติซึ่งได้อิทธิพลทางความคิดมาจากความร่วมมือของประเทศมหาอำนาจในระบบความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๕)* โดยยึดหลักการการประกันความมั่นคงร่วมกันที่ ประเทศมหาอำนาจมีบทบาทสำคัญก็เคร่งครัดมากจนทำให้มหาอำนาจที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ของตนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และละเมิดกติกาสัญญา ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ จึงพยายามแก้ไขปัญหานอกขอบข่ายของสันนิบาตชาติ โดยหันไปใช้ระบบดุลแห่งอำนาจเพื่อตกลงเรื่องความขัดแย้งและผลประโยชน์แทน ขณะเดียวกันการกระจายของประเทศสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกก็ไม่กว้างขวางเหมือนกับสหประชาชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลัง เมื่อมีการละเมิดกติกาสัญญา และมีการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ มาตรการที่บังคับใช้ไม่ค่อยได้ผลเพราะประเทศที่ถูกลงโทษสามารถติดต่อค้าขายกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติได้
     สันนิบาตชาติประสบความสำเร็จอย่างมากในการดำเนินงานด้านสังคม โดยเฉพาะด้านการอนามัยองค์การอนามัยซึ่งให้ข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกได้กลายเป็นแม่แบบของการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติในเวลาต่อมา สันนิบาตชาติได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกิจกรรมทางสังคมหลายคณะ เช่น การจัดตั้งศูนย์ข่าวกรองเกี่ยวกับโรคระบาดเขตตะวันออก (Eastern Epidemiological Intelligence Center) ที่สิงคโปร ( ค.ศ. ๑๙๒๕) ซึ่งประสบความสำเร็จในการแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดของอหิวาต์และไทฟอยด์จากสหภาพโซเวียตและโปแลนด์แก่ศูนย์อนามัยต่าง ๆ กว่า ๑๐๐ แห่งเพื่อหาทางป้องกัน และคณะกรรมการกลางถาวรควบคุมฝิ่น (Permanent Central Opium Board) เพื่อติดตามการค้าฝิ่นและการลำเลียงฝิ่นเข้าออกในประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการควบคุม โดยหน่วยงานตรวจยาเสพติดที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ จะควบคุมและลดจำนวนการนำเข้าและส่งออกของฝิ่นในแต่ละประเทศเป็นต้น การดำเนินงานด้านสังคมนับเป็นงานความ ร่วมมือระหว่างประเทศที่ขยายขอบเขตและหน้าที่นอกกรอบกติกาสันนิบาตชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
     แม้สันนิบาตชาติจะดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่สันนิบาตชาติก็เป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกที่จัดตั้งขึ้นซึ่งมุ่งรักษาสันติภาพของโลกและความมั่นคงระหว่างประเทศ ความบกพร่องของสันนิบาตชาติส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน และการที่ประเทศมหาอำนาจมักตัดสินปัญหาสำคัญ ๆ ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวและความสำเร็จของสันนิบาตชาติก็เป็นบทเรียนและแนวทางที่ดีของ องค์การสหประชาชาติซึ่งต่อมาจะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ถาวรในการจะแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และจุดหมายที่วางไว้.


ประเทศที่ เป็นสมาชิกถาวรแรกเริ่มจนถึงวันสิ้นสุดของสันนิบาตชาติ ค.ศ. ๑๙๔๖ จำนวน ๓๑ ประเทศ ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์กเนเธอร์แลนด์โปรตุเกส นอร์เวย์สวีเดน ฟินแลนด์ลักเซมเบิร์กสวิตเซอร์แลนด์กรีซยูโกสลาเวียเชโกสโลวะเกียโปแลนด์บัลแกเรียไลบีเรียสหภาพแอฟริกาใต้โบลิเวียคิวบา อุรุกวัยปานามา อาร์เจนตินา โคลอมเบียแคนาดา ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ จีนอินเดียสยาม เปอร์เซีย

คำตั้ง
League of Nations
คำเทียบ
สันนิบาตชาติ
คำสำคัญ
- สงครามกลางเมืองสเปน
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- โกล, ชาร์ล เดอ
- เปแตง, ฟิลิป
- ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓, พระเจ้า
- ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ
- เมเมล, เมืองท่า
- บรียอง, อาริสตีด
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- คณะกรรมาธิการลิตตัน
- เคลลอกก์, แฟรงก์ บี.
- พิธีสารเจนีวา
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- แทฟต์, วิลเลียม โฮเวิร์ด
- เซซิล, ลอร์ดรอเบิร์ต
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ลัทธิฟาสซิสต์
- สมาคมเฟเบียน
- สหประชาชาติ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สันนิบาตชาติ
- การประชุมที่กรุงเฮก
- ฟิลลิมอร์, เซอร์วอลเตอร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- บูร์ชัว, เลออง
- วิลสัน, วูดโรว์
- แผนฟิลลิมอร์
- สมึตส์, ยาน คริสเตียน
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- กงเปียญ, เมือง
- การสงบศึก
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- สหภาพสันนิบาตชาติ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- กติกาสัญญาสันนิบาตชาติ
- เฮาส์, เอดเวิร์ด
- มุสตาฟา เคมาล ปาชา
- วิกฤตการณ์ชานัก
- โมฮัมเม็ดที่ ๖, สุลต่าน
- สนธิสัญญาแซง-แชร์แมง
- สนธิสัญญาโลซาน
- สนธิสัญญาแซฟวร์
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญาเนยยี
- ดรัมมอนด์, เซอร์เอริก
- เลสเตอร์, ชอน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สงครามอะบิสซิเนีย
- อาเวอนอล, โชเซฟ
- บอลติก, สาธารณรัฐ
- ออลันด์, หมู่เกาะ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- กติกาสัญญาปารีส ค.ศ. ๑๙๒๘
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- อันชลุสส์
- กติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก์
- ระบบความร่วมมือแห่งยุโรป
- คณะกรรมาธิการไต่สวนตะวันออกไกล
- ฮัมโบร, คาร์ล
- คารีเลีย, เขต
- วีบอร์ก, เมือง
- ฮังกอ, คาบสมุทร
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf