Scotland (-)

สกอตแลนด์ (-)

 สกอตแลนด์เป็นดินแดน ๑ ใน ๔ แห่ง คือ อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) ตั้งอยู่ตอนบนของเกาะบริเตนใหญ่ เดิมเป็นราชอาณาจักรที่สถาปนามาตั้งแต่สมัยกลาง (Middle Ages) และได้ผนวกรวมเข้ากับอังกฤษตามพระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๐๗ (Act of Union, 1707) แต่ยังสามารถคงไว้ซึ่งระบบกฎหมายการศึกษา และศาสนาคริสต์นิกายสกอตแลนด์ (Church of Scotland) หรือนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ของตนต่อไปใน ค.ศ. ๑๙๙๗ รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ที่กรุงลอนดอนได้ผ่านพระราชบัญญัติสกอตแลนด์ ค.ศ. ๑๙๙๘ (Scotland Act, 1998) ให้สิทธิปกครองตนเอง (Home Rule) แก่สกอตแลนด์ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐสภาของสกอตแลนด์ขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ หลังจากว่างเว้นมาเกือบ ๓ ศตวรรษ เพื่อออกกฎหมายส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสกอตแลนด์โดยตรง แม้จะคงการมีประมุขร่วมกับอังกฤษอยู่ แต่นับจากนี้สกอตแลนด์มีผู้บริหารสูงสุดตำแหน่งมุขมนตรี (First Minister) นำคณะรัฐมนตรีดูแลกิจการภายใน และถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกันกับอังกฤษและถือว่าพลเมืองเป็นชาวบริติช (British) เช่นเดียวกับคนอังกฤษ แต่ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะแยกสกอตแลนด์ออกจากอังกฤษในฐานะประเทศอธิปไตย

 ดินแดนสกอตแลนด์ซึ่งมีภูมิประเทศทั่วไปเป็นเขตภูเชามีความยาวจากเหนือจดใต้ ๔๔๑ กิโลเมตร ส่วนแคบที่สุดมีระยะทางเพียง ๔๐ กิโลเมตร ครอบคลุมดินแดน ๑ ใน ๓ ทางตอนบนของเกาะบริเตนใหญ่ และมีพื้นที่ทั้งหมด ๗๘,๗๘๓ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ เขตใหญ่ คือ เขตที่ราบสูงหรือไฮแลนดส์ (Highlands) เขตที่ราบตํ่าตอนกลางหรือโลว์แลนดส์ (Lowlands) ซึ่งเป็นเขตพำนักของประชากร ๒ ใน ๓ ของประเทศ และเขตที่ราบสูงทางใต้ (Southern Uplands) ซึ่งเป็นป่าไม้และเขตปศุสัตว์ ทิศใต้ติดต่อกับภาคเหนือของอังกฤษส่วนทิศอื่น ๆ ล้อมรอบด้วยผืนนํ้า ทิศเหนือและทิศตะวันตกจดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกจดทะเลเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดช่องแคบนอร์ท (North Channel) และทะเลไอริช (Irish Sea) บริเวณพื้นนํ้าของสกอตแลนด์นี้โดยเฉพาะบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและทะเลเหนือเป็นแหล่งสำรองนํ้ามันดิบที่ใหญ่ที่สุดเขตหนึ่งของสหภาพยุโรป (European Union)* เมืองอาเบอร์ดีน (Aberdeen) ริมทะเลเหนือซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ ๓ ของสกอตแลนด์จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงน้ำมันของยุโรปนอกจากบริเวณที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว สกอตแลนด์ยังมีเกาะใหญ่น้อยอีกกว่า ๗๙๐ เกาะ (มีผู้อยู่อาศัยน้อยกว่า ๙๐ เกาะ) ซึ่งรวมหมู่เกาะเหนือ (Northern Isles) อันได้แก่หมู่เกาะเชตแลนด์ (Shetland) และหมู่เกาะออร์กนีย์ (Orkney) เป็นสำคัญ และหมู่เกาะเฮบริดีส (Hebrides) ทางตะวันตกด้วย นครเอดินบะระ (Edinburgh) เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่อันดับ ๒ ทั้งเป็นศูนย์กลางการเงินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ส่วนนครกลาสโกว์ (Glasgow) เมืองใหญ่ที่สุดนั้นเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกมาก่อน ภาษาอังกฤษ ภาษาสกอต และภาษาเกลิกสกอต (Scottish Gaelic) เป็นภาษาราชการประชากร (ค.ศ. ๒๐๑๓) มีจำนวนประมาณ ๕,๓๒๗,๐๐๐ คน

 เดิมพวกโรมันเคยเรียกดินแดนนี้ว่า คาลิโดเนีย (Caledonia) ส่วนชื่อสกอตแลนด์มาจากภาษาละตินว่าสโกตี (Scoti) อันหมายถึง ชาวเกล (Gael) ซึ่งเป็นประชากรทั้งในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ คำว่า สโกเชีย (Scotia) ในภาษาละตินที่แปลว่า ดินแดนของชาวเกลนั้นแรก ๆ ใช้หมายถึงไอร์แลนด์ จนประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ มีการใช้คำว่าสโกเชียเมื่อหมายถึงสกอตแลนด์ (ดินแดนที่พูดภาษาเกล) ส่วนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำฟอร์ท (Forth) ครั้นเข้าสู่ปลายสมัยกลาง การใช้คำว่า สกอต (Scot) และสกอตแลนด์ (Scotland) ในความหมายดินแดนสกอตแลนด์ปัจจุบันก็ได้เป็นที่แพร่หลายส่วนประวัติศาสตร์ของการมีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้สืบย้อนไปได้ถึงสมัยหินเก่า ส่วนหมู่บ้านรุ่นแรก ๆ ในยุคหินใหม่อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยมีผู้คนเดินทางมาจาก ๒ สาย สายแรกใช้เส้นทางการค้าเก่าแก่จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาขึ้นฝั่งทางภาคตะวันตกและภาคเหนือของสกอตแลนด์โดยผ่านอ่าวบิสเคย์ (Biscay) สายที่ ๒ มาจากภาคพื้นทวีปยุโรปข้ามทะเลเหนือมาขึ้นบกทางส่งตะวันออกของสกอตแลนด์ การตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จากนั้นจึงมีการตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำตอนใน ผู้คนที่มาอยู่อาศัยนี้ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ต่อมา ไม่กี่ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช พวกเคลต์ (Celt) ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้เหล็กและเป็นสังคมชนเผ่าที่ตั้งป้อมค่ายในเขตภูเขาเป็นชนกลุ่มใหม่ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐาน

 ระหว่าง ค.ศ. ๘๒-๒๐๘ พวกโรมันเข้ารุกรานสกอตแลนด์หลายครั้งแต่ไม่สามารถตั้งมั่นได้อย่างถาวร อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๐ พวกโรมันได้สร้างกำแพงเฮเดรียน (Hadrian’s Wall) จากแม่นํ้าไทน์ (Tyne) ในอังกฤษไปจนถึงอ่าวซอสเวย์หรือซอลเวย์เฟิร์ท (Solway Firth) และจากแม่นํ้าไคลด์ (Clyde) ถึงอ่าวฟอร์ท (Firth of Forth) เพื่อป้องกันพวกเคลต์ ขณะเดียวกันก็เป็นการระบุเขตของจักรวรรดิโรมันบนเกาะบริเตนซึ่งมีดินแดนบริทานเนีย (Britannia) ที่เป็นอังกฤษและเวลส์ปัจจุบันแต่กำแพงเฮเดรียนไม่สามารถสกัดกั้นพวกคาลิโดเนียน (Caledonian) หรือพวกพิกต์ (Pict) ซึ่งเป็นคำที่พวกโรมันเรียกชนเผ่าที่ชอบสู้รบและอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของแม่นํ้าฟอร์ทและพูดภาษาที่เจือปนภาษาเคลด์ บ่อยครั้งพวกนี้รุกลํ้าเข้าไปถึงตอนใต้ของอังกฤษ แต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๓ และ ๔ เผ่าต่าง ๆ ทางตอนใต้ของสกอตแลนด์เป็นพันธมิตรกับพวกโรมัน

 ก่อนที่กองพลทหารม้าและกองพลทหารราบของพวกโรมันจะถอนออกไปจากเกาะบริเตนในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ พวกสกอตจากไอร์แลนด์ได้สถาปนาอำนาจที่เมืองอาร์กิลส์ (Argyll) ทางชายฝั่งตะวันตก ไม่นานต่อมาพวกแองเกิล (Angles) ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันก็เริ่มเข้าไปครอบครองเขตโลเทียน (Lothian) ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มตอนกลางทำให้มีประชากรตั้งถิ่นฐานหนาแน่นกว่าเขตอื่นจากนั้นพวกไบรตัน (Britons) ซึ่งเป็นชนเผ่าเคลต์ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของพวกโรมันก็ถูกรุกไล่ไปทางตะวันตก ดังนั้น ประมาณ ค.ศ. ๖๐๐ มีกลุ่มชน ๔ กลุ่มอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของสกอตแลนด์ โดยพวกพิกต์ครอบครองดินแดนไฮแลนดส์ทางตอนเหนือเกือบหมด ยกเว้นแต่เขตของพวกสกอตที่ดัลรีอาดา (Dalriada) หรืออาร์กิลล์ ส่วนเขตตะวันตกของโลว์แลนดส์หรือสแตรทไคลด์ (Strathclyde) ก็ถูกพวกไบรตันที่รับอิทธิพลโรมันครอบครองบางส่วนส่วนเขตตะวันออกเฉียงใต้ของโลว์แลนดส์หรือโลเทียนก็ถูกพวกแองเกิลยึดครอง ในช่วงหนึ่งดูเหมือนว่าพวกแองเกิลคิดขยับขยายไปทางเหนือและทางตะวันตก แต่ใน ค.ศ. ๖๘๕ ถูกพวกพิกต์สกัดไว้ได้จากยุทธการที่เนชตันสเมียร์ (Battle of Nechtansmere)

 เมื่อพวกโรมันถอนทัพออกไป กำแพงเฮเดรียนก็ไม่เป็นเขตพรมแดนอีกต่อไป มี ๒ อาณาจักรที่สถาปนาขึ้นคร่อมพรมแดน คือ สแตรทไคลด์ของพวกไบรตันทางตะวันตก และนอร์ทัมเบรีย (Northumbria) ของพวกแองเกิลทางตะวันออก เหนืออาณาจักรทั้งสองขึ้นไป คือ อาณาจักรของพวกพิกฅ์ซึ่งครอบครองดินแดนถึงตอนเหนือของช่องแคบไคลด์-ฟอร์ท (Clyde-Forth) และอาณาจักรของพวกสกอดซึ่งปกครองชายฝั่งตะวันตกบางส่วนและหมู่เกาะเฮบริดีส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๘ พวกเดนส์ (Danes) ได้เข้ามาแทนที่พวกแองเกิลและมุ่งขยายดินแดนไปทางใต้และตะวันตกมากกว่าขึ้นไปทางเหนือ แต่พวกเดนส์อีกกลุ่มที่รุกเข้ามาจากทางทะเลตอนเหนือต้องการพิชิตดินแดนทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ปัจจุบัน และตีครอบครองไปเรื่อย ๆ เริ่มจากหมู่เกาะเชตแลนด์ ออร์กนีย์ เฮบริดีส และตามชายฝั่งทางเหนือและตะวันตกของเกาะบริเตน ซึ่งทุกวันนี้ยังปรากฏร่องรอยการเข้าครอบครองโดยเฉพาะที่ออร์กนีย์เชตแลนด์ และเคทเนสส์ (Caithness) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของพวกรุกราน

 เมื่อมีการรุกรานจากผู้คนทางเหนือหรือพวกนอร์เวย์ เคนเนท แมกอัลพิน (Kenneth MacAlpin) หรือพระเจ้าเคนเนทที่ ๑ (Kenneth I) ของพวกสกอตก็รวบรวมกำลังต่อสู้ผลักดันพวกนอร์เวย์ออกไปและประมาณ ค.ศ. ๘๔๓ ทรงสามารถผนวกอาณาจักรสโกเชียของพวกสกอตและพวกพิกต์เข้าด้วยกันซึ่งบางครั้งเรียกว่า อาณาจักรอัลบัน (Alban) ประมาณ ค.ศ. ๑๐๑๘ โลเทียนของพวกนอร์ทัมเบรียก็ถูกผนวกเข้ากับอัลบัน และใน ค.ศ. ๑๐๓๔ สแตรทไคลด์ซึ่งเคยเป็นรัฐบริวารของอัลบันก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรในปลายสมัยพระเจ้ามัลคอล์มที่ ๒ (Malcolm II ค.ศ. ๑๐๐๔-๑๐๓๔) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ชนเผ่าจากทางเหนือค่อย ๆ เริ่มสละการยึดครองดินแดนของสกอตแลนด์ในขณะที่อำนาจของราชอาณาจักรของพวกสกอตก็ค่อย ๆ ขยายออกไป

 สหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์เป็นปึกแผ่นไปจนถึง ค.ศ. ๑๐๕๗ ซึ่งสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าแมกเบท [Macbeth ซึ่งวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักแต่งบทละครเรืองนามของอังกฤษนำเรื่องราวของพระองค์ไปแต่งเป็นบทละครลือชื่อ] เพราะเมื่อพระเจ้ามัลคอลมที่ ๓ (Malcolm III ค.ศ. ๑๐๔๘-๑๐๙๓) ซึ่งเคยเสด็จหนีพระเจ้าแมกเบทไปลี้ภัยในอังกฤษและอภิเษกสมรสกับสตรีอังกฤษสูงศักดิ์ปกครองต่อมาอิทธิพลของอังกฤษเริ่มแผ่ขยายเข้าสู่ดินแดนสกอตแลนด์ภาวะสันติระหว่างสกอตแลนด์กับอังกฤษที่ดำเนินไปประมาณ ๑๐๐ ปีระหว่าง ค.ศ. ๑๑๕๓-๑๒๘๖ นับเป็นยุคทองของสกอตแลนด์ช่วงหนึ่ง มีการปกครองแบบรัฐ รวมศูนย์ การค้าและการเกษตรรุ่งเรือง หมู่เกาะเฮบริดีสก็สามารถกอบกู้คืนจากชาวนอร์เวย์ช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกสกอตแลนด์ไม่ได้รวมเขตหมู่เกาะหรือเขตมณฑลทางเหนือสุด หลังยุทธการที่คาร์แฮม (Battle of Carham) ระหว่างพวกสกอตกับนอร์ทัมเบรียที่หมู่บ้านคาร์แฮมออนทวีด (Carham on Tweed) หมู่เกาะเฮบริดีสและไอล์ออฟแมน (Isle of Man) จึงได้ถูกผนวกเข้าใน ค.ศ. ๑๒๖๖ ส่วนหมู่เกาะออร์กนีย์และหมู่เกาะเชตแลนด์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสกอตแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๔๖๘-๑๔๖๙ เมื่อพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑ (Christian I) แห่งเดนมาร์กพระราชทานให้เป็นส่วนหนึ่งของสินสมรสของพระราชธิดาในการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ (James III) แห่งสกอตแลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ มีการกำหนดพรมแดนระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ให้เป็นไปตามแม่นํ้าทรีด (Tweed) เทือกเขาเชเวียตฮิลส์ (Cheviot Hills) และซอลเวย์เฟิร์ท แต่ช่วงเวลาแห่งความสงบและรุ่งเรืองต้องยุติลงอย่างกะทันหัน เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถมาร์กาเรตแห่งสกอตแลนด์ [ (Margaret of Scotland; Maid of Norway ค.ศ. ๑๒๘๖-๑๒๙๐) พระราชธิดาในพระเจ้าอีริคที่ ๒ (Erik II) แห่งนอร์เวย์กับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชนัดดาในพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๒๔๙-๑๒๘๖) แห่งสกอตแลนด์] ซึ่งเป็นคู่หมายของพระราชโอรสและรัชทายาทในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ (Edward I ค.ศ. ๑๒๗๒-๑๓๐๗) แห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์กะทันหันที่หมู่เกาะออร์กนีย์ขณะกำลังเสด็จมาสกอตแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๒๙๐ ทำให้บัลลังก์สกอตแลนด์ว่างลงและมีผู้อ้างสิทธิ์ (competitor) จะขึ้นครองบัลลังก์แทนถึง ๑๓ ราย

 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามกลางเมือง พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ ทรงได้รับการขอร้องให้เป็นผู้ขึ้ขาด จึงทรงเลือกจอห์น บัลเลียล (John Balliol) เป็นกษัตริย์และทำพิธีราชาภิเษกที่สโคน (Scone) ใน ค.ศ. ๑๒๙๒ อย่างไรก็ดี พระเจ้าจอห์น บัลเลียลทรงต้องยอมรับความเป็นลอร์ดสูงสุดแห่งสกอตแลนด์ (Lord Paramount of Scotland) ของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ แห่งอังกฤษตามระบบฟิวดัล (Feudalism) ความขุ่นเคืองที่ต้องเป็นวัสซัล (vassal) ของอังกฤษผลักดันให้พระเจ้าจอห์น บัลเลียลทรงแข็งขืนต่ออำนาจของอังกฤษในที่สุด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งคงเพราะทรงเชื่อมั่นในฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของสกอตแลนด์ตามความตกลงที่ทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมกันทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๙๕ ที่ต่อมาเรียกว่า โอลด์อัลลิอันซ์ (Auld Alliance ค.ศ. ๑๒๙๕-๑๕๖๐) ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสงครามเพื่อเอกราชของชาวสกอตขึ้น พระเจ้าจอห์น บัลเลียลทรงถูกอังกฤษจับกุมและคุมขังเป็นเวลา ๓ ปี จากนั้นก็ประทับที่ฝรั่งเศสจนสวรรคต ใน ค.ศ. ๑๒๙๗ เซอร์วิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) ของสกอตแลนด์ก็สร้างวีรกรรมท้าทายอังกฤษอีกครั้งที่สเตอร์ลิงบริดจ์ (Stirling Bridge) และมีชัยชนะ


ในตอนต้นแต่ในที่สุด วอลเลซก็ถูกหักหลังและถูกส่งตัวให้อังกฤษลงโทษประหาร การต่อต้านเกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๓๐๖ โดยรอเบิร์ต บรูซ (Robert Bruce) ทายาทของผู้ที่เคยประสงค์ในบัลลังก์สกอตแลนด์คนหนึ่ง พวกสกอตได้ส่งจดหมายถึงสันตะปาปาว่าตราบใดที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่จะไม่มีวันอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์อังกฤษ

 ชัยชนะเหนืออังกฤษทำให้พระเจ้ารอเบิร์ตที่ ๑ เดอะบรูซ (Robert I the Bruce) ทรงประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ใน ค.ศ. ๑๓๒๐ แปดปีต่อมาพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๓ (Edward III) แห่งอังกฤษทรงให้การรับรองโดยการทำสนธิสัญญานอร์ทแทมป์ตัน (Treaty of Northampton) หรือสนธิสัญญาเอดินบะระ (Treaty of Edinburgh) และใน ค.ศ. ๑๓๒๙ สันตะปาปาจอห์นที่ ๒๒ (John XXII) ทรงรับรองอธิปไตยของสกอตแลนด์โดยคำประกาศแห่งอาร์โบรท (Declaration of Arbroath) ซึ่งนับเป็นเอกสารประกาศเอกราชที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ส่วนชื่อราชวงศ์สจวต (Stewart) นั้นมีที่มาจากการที่พระเจ้ารอเบิร์ตที่ ๒ [ (Robert II ค.ศ. ๑๓๗๑-๑๓๙๐) พระราชนัดดา (หลานตา) ในพระเจ้ารอเบิร์ตที่ ๑ โอรสของวอลเตอร์ (Walter ค.ศ. ๑๒๙๓-๑๓๒๖) สจวตที่ ๖ แห่งสกอตแลนด์ (High Stewart of Scotland) ซึ่งสมรสกับเจ้าหญิงมาร์จอรี (Marjory) พระราชธิดาในพระเจ้ารอเบิร์ตที่ ๑] ได้ขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สจวตซึ่งมีกษัตริย์รวมทั้งสิ้น ๙ พระองค์ที่ปกครองสกอตแลนด์ก่อนมีประมุขร่วมกับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๖๐๓

 เกือบตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กษัตริย์ของสกอตแลนด์ซึ่งอันที่จริงก็มาจากตระกูลขุนนางตระกูลหนึ่งต้องต่อสู้กับขุนนางตระกูลอื่น ๆ ที่หมุนเวียนกันมาท้าทายอำนาจ รัฐสภาของสกอตแลนด์ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ก็คือที่ประชุมของขุนนางในระบบฟิวดัล จนกระทั่งสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ ๔ (James IV ค.ศ. ๑๔๘๘-๑๕๑๓) ทรงกุมอำนาจเหนือเหล่าขุนนางสำเร็จและทรงสามารถเพิ่มพูนรายได้ของสถาบันกษัตริย์ ทรงเจรจากับชาติยุโรปอื่น ๆ และทำสนธิสัญญาสันติภาพถาวร (Treaty of Perpetual Peace) กับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๕๐๒ อีกทั้งยังทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต (Margaret) แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) พระราชธิดาองค์โตในพระเจ้าเฮนรีที่ ๗ (Henry VII) แห่งอังกฤษในปีต่อมา (สำหรับราชวงศ์ทิวดอร์ที่เพิ่งสถาปนาใน ค.ศ. ๑๔๘๕ การอภิเษกสมรสกับราชวงศ์ยุโรปที่มีมาก่อนเท่ากับเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่สายราชวงศ์ใหม่อย่างทิวดอร์) ซึ่งเท่ากับเป็นการกรุยทางให้กับการมีประมุขร่วมกันของ ๒ ดินแดนต่อไปใน ค.ศ. ๑๖๐๓ แต่พระเจ้าเจมส์ที่ ๔ ทรงยังคงหันไปใช้วิเทโศบายเดิมของสกอตแลนด์คือการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสเหมือนเมื่อครั้งช่วงสงคราม ๑๐๐ ปี [ (Hundred Years’ War ค.ศ. ๑๓๓๗-๑๔๕๓) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่กองทหารรักษาพระองค์ชาวสกอต (Scots Guard) ซึ่งพระเจ้าชาลส์ที่ ๗ (Charles VII) แห่งฝรั่งเศสทรงจัดตั้งขึ้นได้ร่วมกับโจนออฟอาร์ก (Joan of Arc) ต่อสู้กับอังกฤษ] จึงทรงยกทัพใหญ่บุกอังกฤษแตกถูกตีพ่ายและทรงถูกปลงพระชนม์ในยุทธการที่ฟล็อดเดน (Battle of Flodden) หรือแบรงซ์ตัน (Branxton) ในมณฑลนอร์ททัมเบอร์แลนด์ (Northumberland) ใน ค.ศ. ๑๕๑๓ นับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเกาะบริเตนที่สวรรคตในสมรภูมิ หลังเหตุการณ์พ่ายแท้ที่ฟล็อดเดน ขุนนางสกอตก็ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ชาวสกอตที่นับถือนิกายลูเทอรัน (Lutheranism) เห็นว่าสกอตแลนด์ควรจะเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ แต่เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ ๕ (James V ค.ศ. ๑๕๑๓-๑๕๔๒) ทรงเจริญพระชันษาพอที่จะทรงนำการบริหารอาณาจักรด้วยพระองค์เองใน ค.ศ. ๑๕๒๘ ทรงปฏิเสธคำเชื้อเชิญของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ที่ให้ทรงร่วมกันต่อต้านสันตะปาปาโดยการปฏิรูปศาสนาในสกอตแลนด์

 สกอตแลนด์รับนับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่เมื่อเซนต์ โคลอมบา (St. Colomba) เดินทางมาเผยแผ่ใน ค.ศ. ๕๖๓ ในช่วงนั้นมีชาวไอริชจำนวนมากอพยพจากตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หมู่เกาะเฮบริดีสและทางภาคตะวันตกของสกอตแลนด์ เซนต์โคลอมบาสามารถทำให้กษัตริย์ของพวกพิกต์ที่อินเวอร์เนสส์ (Inverness) หันมายอมรับนับถือศาสนาคริสต์ได้ นอกจากพระเจ้าเจมส์ที่ ๕ จะไม่ทรงตอบรับนโยบายของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ แล้ว ยังทรงหันไปเรียกร้องเงินจากสันตะปาปาเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สกอตแลนด์ยังคงยึดมั่นกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกต่อไป นอกจากนั้น ทรงกระชับสัมพันธ์กับฝรั่งเศสด้วยการอภิเษกกับสตรีฝรั่งเศส ๒ ครั้ง ครั้งแรกกับเจ้าหญิงมาดแลน (Madeleine) พระราชธิดาในกษัตริย์ฝรั่งเศสซึ่งสิ้นพระชนม์หลังการอภิเษกสมรสเพียง ๖ เดือน ครั้งหลังกับมารี เดอ กีส-ตอร์แรน (Marie de Guise-Lorraine) หรือมารี เดอ กีสใน ค.ศ. ๑๕๓๘ ใน ค.ศ. ๑๕๔๒ พระเจ้าเจมส์ที่ ๕ ทรงยกทัพบุกอังกฤษอย่างไม่เต็มพระทัยนักซึ่งเผชิญกับความพ่ายแพ้ที่ซอลเวย์มอสส์ (Solway Moss) และไม่นานก็สวรรคตหลังจากเพิ่งทรงทราบได้ไม่กี่วันว่าสมเด็จพระราชินีมารี เดอ กีสทรงมีพระประสูติการเป็นพระราชธิดาซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งชาวสกอต (Mary, Queen of Scots ค.ศ. ๑๕๔๒-๑๕๖๗) เมื่ออังกฤษไม่สามารถบีบบังคับให้สกอตแลนด์จัดการหมั้นเจ้าหญิงแมรีที่ยังเยาว์มากกับเจ้าชาย เอดเวิร์ดรัชทายาทได้ จึงยกทัพบุกทางใต้ของสกอตแลนด์ ซึ่งเท่ากับผลักให้สกอตแลนด์ต้องพึ่งฝ่ายฝรั่งเศสอีก เจ้าหญิงแมรีทรงถูกส่งไปประทับที่ฝรั่งเศสเมื่อมีพระชันษาได้ ๕ ปี เพื่อจะได้ปลอดภัยจากอังกฤษ ดังนั้นทรงเติบโตในราชสำนักฝรั่งเศสและได้อภิเษกสมรสใน ค.ศ. ๑๕๕๘ กับเจ้าชาย ฟรานซิส มกุฎราชกุมาร ซึ่งปีต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฟรานซิสที่ ๒ (Francis II) ในระหว่างนั้น สมเด็จพระราชินีมารี เดอ กีส ราชินีม่ายในพระเจ้าเจมส์ที่ ๕ ทรงปกครองสกอตแลนด์ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีการตั้งค่ายทหารฝรั่งเศสขึ้นในดินแดนสกอตแลนด์ ชาวสกอตจึงเกิดความไม่พอใจที่ดูเสมือนตกอยู่ใต้การปกครองของต่างชาติ

 เมื่อสกอตแลนด์มีการเคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปศาสนาที่จอห์น นอกซ์ (John Knox) อดีตบาทหลวงคาทอลิกผู้ลี้ภัยไปนครเจนีวา (Geneva) และเดินทางกลับมามีตำแหน่งศาสนาจารย์แห่งเอดินบะระ (Minister of Edinburgh) เทศนาเผยแผ่นิกายกัลแวง (Calvinism) อย่างแข็งขันโดยเฉพาะในหมู่ขุนนางและชนชั้นกลาง ซึ่งในสกอตแลนด์เรียกว่า นิกายเพรสไบทีเรียน และการที่ชาวสกอตรู้สึกขุ่นเคืองกับการถูกครอบงำโดยฝรั่งเศสและความกลัวว่าสกอตแลนด์จะถูกปกครองโดยกษัตริย์เชื้อสายฝรั่งเศสไปเรื่อย ๆ ใน ค.ศ. ๑๕๕๙ จึงเกิดการลุกฮือต่อต้านฝรั่งเศสและคริสตจักรแห่งกรุงโรมขึ้น มีการเผาโบสถ์คาทอลิก และจอห์น นอกซ์ก็ประกาศกร้าวต่อต้านการปกครองโดยสตรี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ แห่งอังกฤษได้ทรงส่งทหารอังกฤษไปช่วยป้องกันไม่ให้ทหารฝรั่งเศสปราบปรามพวกกบฏ เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี เดอ กีส ผู้สำเร็จราชการสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๕๖๐ ทหารฝรั่งเศสก็ยอมแพ้ที่ลีท (Leith) มีการลงนามในสนธิสัญญาเอดินบะระ (Treaty of Edinburgh) ในปีนั้นระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงถอนทัพออกจากสกอตแลนด์ สนธิสัญญานี้เท่ากับยุติการเป็นพันธมิตรระหว่างสกอตแลนด์กับฝรั่งเศสและบ่งบอกการจะร่วมมือ


กับอังกฤษซึ่งเคยเป็นศัตรูดั้งเดิมมากขึ้น นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๕๖๐ รัฐสภาสกอตแลนด์ก็ประกาศปฏิเสธการเป็นประมุขของสันตะปาปาและห้ามการเฉลิมฉลองทำพิธีมิสซาในสกอตแลนด์ ที่สำคัญคือ นิกายเพรสไบทีเรียนได้รับการประกาศให้เป็นนิกายประจำชาติสกอตแลนด์ (Church of Scotland) หรือเดอะเคิร์ก (the Kirk)

 ในปีเดียวกัน พระเจ้าฟรานซิสที่ ๒ แห่งฝรั่งเศสสวรรคต สมเด็จพระราชินีนาถแมรีจึงเสด็จกลับสกอตแลนด์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๕๖๑ รัชสมัยของพระนางไม่ยืนยาวและอื้อฉาว ขณะที่กลุ่มของจอห์น นอกซ์ประกาศต่อต้านการมีพระราชินีคาทอลิก พระนางก็ไม่ทรงแสดงทักษะในการปกครองประเทศ และเมื่อทรงสมรสกับเฮนรี สจวต (Henry Stuart) หรือลอร์ดดาร์นลีย์ (Lord Darnley) พระราชนัดดา (หลานยาย) ในสมเด็จพระราชินีนาถแมรีซึ่งมีสิทธิสืบราชบัลลังก์อังกฤษได้ ก็ทรงทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ ทรงเคลือบแคลงพระทัยในเจตนา และเมื่อลอร์ดดาร์นลีย์ถูกฆาตกรรมใน ค.ศ. ๑๕๖๗ ผู้คนโดยทั่วไปเชื่อกันว่าสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงมีส่วนรู้เห็นในการเสียชีวิตของพระสวามี ต่อมาทรงอภิเษกสมรสใหม่กับเจมส์ เฮปเบิร์น เอิร์ลที่ ๔ แห่งบอทเวลล์ (James Hepburn, 4ᵗʰ Earl of Bothwell) ซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้คนสงสัยว่าอาจเป็นผู้บงการการฆาตกรรมลอร์ดดาร์นลีย์ ทำให้ทรงถูกต่อต้านจากทั้งกลุ่มคาทอลิกและกลุ่มโปรเตสแตนต์ในประเทศ และต่อมาทรงถูกกักบริเวณในปราสาทลอคเลเวน (Loch Leven Castle) และในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๕๖๗ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้สละราชย์แก่พระราชโอรสที่ยังเยาว์อยู่ซึ่งประสูติจากการอภิเษกกับลอร์ดดาร์นลีย์และยินยอมให้เจมส์ สจวต เอิร์ลแห่งมอเรย์ (James Stewart, Earl of Moray) พระเชษฐาต่างพระมารดาแต่นอกกฎหมายเป็นผู้สำเร็จราชการ หลังจากนั้นทรงสามารถหลบหนีออกจากปราสาทแต่ต้องเผชิญกับการไล่ล่าของกองทหารของเอิร์ลแห่งมอเรย์ ในที่สุดทรงข้ามพรมแดนสกอตแลนด์ไปยังส่งอังกฤษใน ค.ศ. ๑๕๖๘ ซึ่งต้องทรงพำนักอย่างถูกกักบริเวณ

 สกอตแลนด์มีผู้สำเร็จราชการปกครองรวม ๔ คนขณะที่พระเจ้าเจมส์ที่ ๖ (James VI ค.ศ. ๑๕๖๗-๑๖๒๕) ซึ่งขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษา ๑๓ เดือนยังทรงพระเยาว์จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา จึงทรงหลบหนีออกจากปราสาทรูทเวน (Ruthven Castle) และทรงเริ่มบริหารประเทศเองตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๘๓ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๐๓ พระเจ้าเจมส์ที่ ๖ ในฐานะผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าเฮนรีที่ ๗ ทรงได้รับการอัญเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (James I ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๖๒๕) แห่งอังกฤษด้วยทรงเปลี่ยนตัวสะกดของชื่อราชวงศ์จาก Stewart เป็น Stuart ซึ่งเป็นการสะกดแบบภาษาฝรั่งเศสตามพระราชนิยมของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งชาวสกอต พระราชมารดาที่ชื่นชมวัฒนธรรมของฝรั่งเศส อังกฤษและสกอตแลนด์จึงมีประมุขร่วมกันนับแต่นั้นมาจนทุกวันนี้แต่การมีประมุขร่วมในครั้งนั้น อังกฤษและสกอตแลนด์ต่างยังคงมีสภานิติบัญญัติและระบบกฎหมายที่เป็นอิสระต่อกัน พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ เสด็จไปประทับที่กรุงลอนดอนตลอด โดยเสด็จกลับมายังสกอตแลนด์เพียงครั้งเดียว ใน ค.ศ. ๑๖๑๗ และถือพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ทรงปกครองสกอตแลนด์จากลอนดอนในลักษณะที่ทรงยึดมั่นในพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่ทรงรู้ขอบเขตในการใช้พระราชอำนาจ ทรงระมัดระวังที่จะตั้งคำถามไต่สวนผู้ที่เข้าไปยึดทรัพย์สินของคริสตจักรคาทอลิกในสกอตแลนด์ในช่วงปฏิรูปศาสนา ซึ่งต่างกับพระราชโอรสที่ปกครองอังกฤษต่อมา คือ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๖๒๕-๑๖๔๙) ซึ่งไม่คุ้นเคยกับราษฎรชาวสกอตและมีพระประสงค์จะสานต่อนโยบายยึดมั่นในอำนาจกษัตริย์ของพระราชบิดา ทรงเริ่มรัชกาลด้วยการไต่สวนพวกที่เข้าไปยึดทรัพย์สินของคริสตจักรคาทอลิก และปีต่อ ๆ มาก็ทรงต้องการกอบกู้สมบัติเดิมของคริสตจักรเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ ทำให้เจ้าของที่ดินชาวสกอตไม่มั่นใจในการถือครอง

 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ทรงพยายามเปลี่ยนแปลงความเชื่อในศาสนาของสกอตแลนด์ให้เป็นรูปแบบเดียวกับนิกายอังกฤษ (Church of England) หรือนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) ซึ่งสืบสานนโยบายของพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนบิชอป (bishop) ในองค์กรการบริหารสงฆ์ และให้ใช้ The Book of Common Prayer ซึ่งเป็นหนังสือสวดมนต์ของนิกายอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๖๓๗ ก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงทันทีและนำไปสู่การทำความตกลงแห่งชาติ (National Covenant) ในหมู่ผู้ต่อต้านนโยบายศาสนาของพระองค์ในสกอตแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๖๓๘ ซึ่งยืนยันว่ากษัตริย์ทรงทำผิดกฎหมายและไม่นานต่อมาก็มีการรับรองนิกายเพรสไบทีเรียนอีกครั้งในสกอตแลนด์ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเค้าลางสงครามกลางเมืองในอังกฤษระหว่างฝ่ายพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ กับฝ่ายรัฐสภาพวกสกอตที่นับถือนิกายเพรสไบทีเรียนแสดงตนสนับสนุนขุนนางฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ในที่สุดหลังว่างเว้นการเรียกประชุมสภามา ๑๑ ปี พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ทรงต้องจำพระทัยเรียกประขุมรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๖๔๐ ที่ต่อมาเรียกว่า รัฐสภาสมัยสั้น (Short Parliament ๑๓ เมษายน - ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๔๐) และรัฐสภาสมัยยาวนาน (Long Parliament ค.ศ. ๑๖๔๐-๑๖๖๐) เพื่อให้ทรงสามารถจัดกองทัพปราบปรามพวกเพรสไบทีเรียนสกอตในการทำสงครามบิชอป (Bishops’ Wars ค.ศ. ๑๖๓๙-๑๖๔๐) เมื่อสงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. ๑๖๔๒-๑๖๔๙) เกิดขึ้น กองทหารสกอตได้เข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายสภาอังกฤษต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์ โดยเฉพาะที่มาร์สตันมัวร์ (Marston Moor) ใน ค.ศ. ๑๖๔๔ แต่ต่อมา เจมส์ เกรแฮม มาร์ควิสที่ ๑ แห่งมอนด์โรส (James Graham, 1ᵗʰ Marquis of Montrose) ผู้นำความตกลงแห่งชาติคนหนึ่งได้เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ ที่ ๑ เพราะเกรงว่าอีกฝ่ายจะล้มเลิกสถาบันกษัตริย์และจัดกองทัพจากเขตไฮแลนดส์มาหนุน แต่กองกำลังสกอตฝ่ายเพรสไบทีเรียนสามารถเอาชนะเขาที่ฟิลิปฮอ (Philiphaugh) ในปีต่อมา

 นอกจากนี้ ผู้ลงนามในความตกลงแห่งชาติ (Covenanters) ซึ่งคุมสกอตแลนด์อยู่ได้ทำความตกลงที่เรียกว่าสันนิบาตโซเลมน์และคัฟเวอแนนด์ (Solemn League and Covenant) ใน ค.ศ. ๑๖๔๓ กับสมาชิกสภาอังกฤษที่เปิดประชุมอยู่ว่าจะช่วยรัฐสภาในการต่อต้านพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ โดยเข้าใจว่าต่อไปนิกายเพรสไบทีเรียนจะได้รับการสถาปนาทั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และในสกอตแลนด์แต่หลังจากพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ทรงเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าในการรบกับฝ่ายรัฐสภา ทรงเสนอว่าจะอนุญาตให้นิกายเพรสไบทีเรียนสถาปนาในสกอตแลนด์เป็นเวลา ๓ ปี กองทัพสกอตจึงเปลี่ยนไปรุกรานอังกฤษ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสภาที่มีโอลิเวอร์ ครอมเวลส์ (Oliver Cromwell) เป็นแม่ทัพที่เพรสตัน (Preston) ใน ค.ศ. ๑๖๔๘ ในปีต่อมา สมาชิกสภาอังกฤษก็ลงมติให้ประหารพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ และครอมเวลล์แม่ทัพฝ่ายรัฐสภาก็ประกาศสนับสนุนนิกายอินดิเพนเดนต์ (Independent) หาใช่เพรสไบทีเรียนอย่างที่ฝ่ายสกอตเข้าใจไม่ ฝ่ายสกอตจึงหันไปสนับสนุนโอรสของพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ และประกาศว่าทรงเป็นพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ครอมเวลส์จึงหันมาปราบปรามพวกสกอตจนแตกพ่ายอย่างสั้นเชิงที่ดันบาร์ (Dunbar) ใน ค.ศ. ๑๖๕๐ และวูสเตอร์ (Worcester) ใน ค.ศ. ๑๖๕๑

 เมื่ออังกฤษได้ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (Restoration) อีกครั้งหนึ่งหลังสมัยครอมเวลล์ใน ค.ศ. ๑๖๖๐ สกอตแลนด์ก็กลับสู่สภาพเดิม กษัตริย์อังกฤษสามารถควบคุมสภาของสกอตแลนด์ได้โดยผ่านขุนนางในสภาและสภาองคมนตรีนิกายอังกฤษก็กลับคืนสู่สกอตแลนด์และเป็นนิกายทางการอีกครั้งหนึ่งแม้พวกเพรสไบทีเรียนหัวรุนแรงจะประท้วงจนถูกอังกฤษลงโทษด้วยการเนรเทศไปยังอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ ใน ค.ศ. ๑๖๘๗ พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘) แห่งอังกฤษหรือพระเจ้าเจมส์ที่ ๗ แห่งสกอตแลนด์ทรงเสนอนโยบายศาสนาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ชาวสกอตจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยที่มาตรการยืดหยุ่นนี้มอบให้คริสตชนคาทอลิกเช่นกัน เมื่อเกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ค.ศ. ๑๖๘๘-๑๖๘๙ ขึ้นในอังกฤษเพื่อขับไล่พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ให้พ้นจากการครองบัลลังก์ สกอตแลนด์ยอมรับการปฏิวัติเหมือนดังที่ยอมรับการมีกษัตริย์ปกครองอีกครั้งแต่มีบรรยากาศเปลี่ยนแปลงมากกว่าในอังกฤษเองเมื่อรัฐสภาสกอตแลนด์ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติเต็มที่ ไม่ฟังเสียงขุนนาง ดังเดิม ยิ่งกว่านั้น มีการสถาปนานิกายเพรสไบทีเรียนเป็นนิกายทางการของสกอตแลนด์ด้วย พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๖๘๙-๑๗๐๒) ซึ่งรัฐสภาอังกฤษอัญเชิญให้ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ คู่กับพระมเหสีก็ทรงอึดอัดพระทัยที่รัฐสภาสกอดแลนด์แข็งกร้าวต่ออำนาจกษัตริย์อังกฤษหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เช่น การบ่อนทำลายนโยบายต่างประเทศของพระองค์ที่ประสงค์จะคงไมตรีอันดีกับสเปนแต่สกอตแลนด์กลับต้องการจะตั้งอาณานิคมที่ดาเรียน (Darien) ใกล้คอคอดปานามา (Isthmus of Panama) ในทวีปอเมริกาโดยไม่ฟังเสียงสเปนซึ่งเป็นเจ้าของในนาม เจ้าของที่ดินชาวสกอตที่มีฐานะพากันลงทุนในโครงการนี้ซึ่งอังกฤษไม่สนับสนุน เมื่อโครงการล้มละลาย พวกชนชั้นนำชาวสกอตที่สูญเสียเงินจึงเห็นว่าควรผนวกรวมกับอังกฤษ กอปรกับมีความหวั่นเกรงการถูกคุกคามจากอังกฤษด้วย ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การรวมเป็นสหราชอาณาจักรระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ในรัชกาลต่อมา โดยเริ่มต้นจากการที่รัฐสภาของทั้ง ๒ ราชอาณาจักรรับรองสนธิสัญญาการรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๐๖ และในปีต่อมารัฐสภาทั้ง ๒ แห่งต่างออกพระราชบัญญัติการรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษเพื่อจัดตั้งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่อันมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๐๗

 ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (Anne ค.ศ. ๑๗๐๒-๑๗๑๔) พระประมุของค์แรกแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ อังกฤษยังติดพันในสงครามสืบราชสมบัติสเปน (War of the Spanish Succession) ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๐๐ สกอตแลนด์เอนเอียงเข้าข้างฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรูกับอังกฤษ แต่เมื่อจำต้องเสือกระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ผู้นับถือนิกายเพรสไบทีเรียนเห็นว่าการอยู่กับอังกฤษที่นับถือนิกายแองกลิคันน่าจะเป็นการดีกับนิกายของตนมากกว่าการเข้ากับฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก นอกจากนี้ การชูประเด็นเรื่องการค้าเสรีกับอาณานิคมอังกฤษทั้งปวงก็ทำให้พ่อค้าสกอตแลนด์ เอนเอียงทางอังกฤษมากขึ้น แม้รู้ว่าการเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจกับอังกฤษจะทำลายอุตสาหกรรมบางประเภทของตนเพราะได้รับการคุ้มครองจากพิกัดอัตราภาษี แต่สิ่งที่ฝ่ายสกอตแลนด์รู้สึกสูญเสียมากที่สุดจากการรวมราชอาณาจักรก็คือการยุติการมีรัฐสภาของตนเอง โดยนับแต่นี้ผู้แทนชาวสกอต ๔๕ คนจะเข้านั่งในสภาสามัญ (House of Commons) และ ๑๖ คนในสภาขุนนาง (House of Lords) ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี สกอตแลนด์ก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งนิกายเพรสไบทีเรียน ระบบกฎหมายซึ่งมีเอกลักษณ์บางประการ เช่น การมีคณะลูกขุนที่ประกอบด้วยบุคคล ๑๕ คน หาใช่ ๑๒ คนแบบประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอื่น ๆ ไม่ และตามกฎหมายอาญาของสกอตแลนด์คำตัดสินมีได้ ๓ แบบ คือ ผิด (guilty) ไม่ผิด (not guilty) และไม่ได้ถูกพิสูจน์ (not proven) คำตัดสิน ๒ ประการ หลังจะมีผลให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่อาจดำเนินการพิจารณาคดีอีก นอกจากนี้ สกอตแลนด์สามารถคงระบบการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งของตน เพราะนับตั้งแต่นครรัฐสปาร์ตา (Sparta) ในยุคกรีกโบราณแล้ว สกอตแลนด์ เป็นประเทศแรกที่จัดระบบการศึกษาทั่วไป ปัจจุบันจึงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (University of st. Andrews) มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีนมหาวิทยาลัยเอดินบะระ

 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ พระประมุของค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สจวตสวรรคต กษัตริย์ราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* ได้มาปกครองสืบต่อใน ค.ศ. ๑๗๑๔ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการตกลง ค.ศ. ๑๗๐๑ (Act of Settlement 1701) ชาวสกอตในเขตไฮแลนดส์จำนวนมากที่ยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์สจวตได้ก่อกบฏขึ้น ๒ ครั้ง ทำให้ช่วง ๕๐ ปีต่อมาหลังการผนวกเข้ากับอังกฤษ การเมืองสกอตแลนด์จึงเป็นเรื่องระหว่างผู้สนับสนุนการรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษและราชวงศ์แฮโนเวอร์กับผู้สนับสนุนการเป็นเอกราชของสกอตแลนด์และราชวงศ์สจวต สงครามกลางเมืองได้เกิดขึ้น ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๗๑๕ และระหว่าง ค.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๔๖ ซึ่งไม่มีวี่แววแต่อย่างใดว่าเชื้อสายราชวงศ์สจวตจะมีชัยเหนืออังกฤษเพราะไม่สามารถพึ่งการช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากฝรั่งเศสได้ ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ขบวนการจาโคไบต์ (Jacobitism) มาจากคำว่า Jacob หรือ Jacobus ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของคำว่า James (จากพระนามพระเจ้าเจมส์ที่ ๒) เพื่อพระราชวงศ์สจวตที่ถูกเนรเทศและอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งนำโดยเจ้าชายเจมส์ เอดเวิร์ด สจวต (James Edward Stuart) ใน ค.ศ. ๑๗๑๕ และเจ้าชายชาลส์ เอดเวิร์ด สจวต (Charles Edward Stuart) ใน ค.ศ. ๑๗๔๕ ก็จบสิ้นลง ประวิติศาสตร์ของสกอตแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษนับแต่นั้น

 การรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๐๗ แม้ทำให้ฐานะการเป็นดินแดนเอกเทศของสกอตแลนด์สิ้นสุด แต่ก็ทำให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากขึ้น จนทำให้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นช่วงที่สกอตแลนด์โดดเด่นและมั่งคั่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนครกลาสโกว์รุ่งโรจน์จากการค้าขายกับอาณานิคมอเมริกา โดยเฉพาะการค้ายาสูบที่ทำให้เส้นทางเดินเรือสินค้าจากกลาสโกว์ไปรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) เร็วที่สุด ก่อนสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชใน ค.ศ. ๑๗๗๖ กลาสโกว์เป็นเมืองท่าควบคุมการค้าและส่งออกยาสูบของโลก การค้าเนื้อสัตว์กับอังกฤษก็เฟื่องฟู การเกษตรก็มีการปลูกพืชใหม่ ๆ ที่ได้รับการแนะนำได้แก่ เทอร์นิป และมันฝรั่ง มีการปลูกหญ้าในพื้นที่ทำการเกษตรและใช้ระบบปลูกพืชหมุนเวียน รัฐบาลตั้งกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าลินินและการทำประมงปลาเฮริงรายได้ที่เกิดจากการยึดทรัพย์ของพวกจาโคไบต์หรือพวกสนับสนุนพระราชวงศ์สจวตที่ถูกเนรเทศก็นำไปจัดตั้งโรงเรียนสอนทอผ้า ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการทอผ้าในครัวเรือนด้วย อุตสาหกรรมด้านโลหะและเคมีก็ขยายใหญ่ขึ้น

 ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๘๒๐ การปฏิวัติอุตสาหกรรมดำเนินอย่างเต็มที่ในเขตสกอตแลนด์พร้อม ๆ กับการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของจำนวนประชากร อุตสาหกรรมต่อเรือเหมืองถ่านหิน การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าได้เช้าแทนที่อุตสาหกรรมทอผ้าที่เคยเป็นอุตสาหกรรมหลักของสกอตแลนด์ กลาสโกว์เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศโดยเฉพาะการสร้างหัวรถจักรและการต่อเรือสินค้าเมือง ๗ เมืองได้พัฒนาจนต่อมามีสถานะเป็นนคร (city) ตามเอกสารสิทธิบัตร (letters patent) ได้แก่ เอดินบะระ กลาสโกว์ ดันดี (Dundee) สเตอร์ลิง เพิร์ท (Perth) ในเขตที่ราบภาคกลาง อาเบอร์ดีน และอินเวอร์เนสส์ในเขตไฮแลนดส์

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สกอตแลนด์ร่วมกับอังกฤษในสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สกอตแลนด์สมทบทั้งในแง่กำลังคน ยานพาหนะ เครื่องจักร อาหาร และเงินสด ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ สกอตแลนด์มีประชากร ๔.๘ ล้านคนแต่ส่งกำลังคนเข้าร่วมสงครามถึง ๕๐๐,๐๐๐ คน จอมพลเซอร์ดักลาส เฮก (Douglas Haig)* ชาวสกอตก็ได้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษในแนวรบด้านตะวันตก ส่วนในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* รอเบิร์ต วัตสัน-วัตต์ (Robert Watson-Watt) ชาวสกอตก็ได้ประดิษฐ์เรดาร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการยุทธ์โดยเฉพาะในช่วงยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ที่อังกฤษถูกเครื่องบินรบเยอรมันทิ้งระเบิดถล่มอย่างหนักหน่วง จอมพลอากาศ เซอร์ฮิวจ์ ดาวดิง (Hugh Dowding)* ชาวสกอตก็เป็นผู้บัญชาการฝูงบินขับไล่ของกองทัพอากาศอังกฤษหรืออาร์เอเอฟ (Royal Air Force-RAF)

 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II)* เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เกิดปัญหาการเรียกพระนามในสกอตแลนด์ เพราะชาวสกอตชาตินิยมเห็นว่าสกอตแลนด์ยังไม่เคยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ ปกครองมาก่อน เกิดเป็นคดีความว่าอาจจะทำให้ทรงละเมิดมาตรา ๑ ของพระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๐๗ จึงต้องให้ศาลวินิจฉัยใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าทรงทำได้ เพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงเสนอให้การนับลำดับที่ของกษัตริย์สหราชอาณาจักรในอนาคตขึ้นกับบูรพกษัตริย์ทั้งของอังกฤษและสกอตแลนด์โดยให้คำนึงถึงลำดับที่สูงกว่า ดังนั้น ในอนาคตหากสหราชอาณาจักรจะมีกษัตริย์ พระนามเจมส์ ก็จะเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๘ เพราะสกอตแลนด์มีกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้าเจมส์ที่ ๗ หรือหากมีพระนามว่าเฮนรี ก็จะเฉลิมพระนามพระเจ้าเฮนรีที่ ๙ แม้ว่าสกอตแลนด์ไม่เคยมีกษัตริย์พระนามเฮนรีเลย

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สกอตแลนด์มีภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอยเพราะต้องแข่งขันกับชาติอื่นและปัญหาข้อพิพาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อุตสาหกรรมหนักดั้งเดิมของสกอตแลนด์ตกตํ่ารัฐบาลจึงอุดหนุนเงินทุนในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ตั้งแต่พลังงานนิวเคลียร์ การผลิตปิโตรเคมี และสนับสนุนให้สกอตแลนด์เป็นศูนย์การผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นฐานในการขุดเจาะปิโตรเลียมนอกส่งทะเลและก๊าซธรรมชาติจากเขตทะเลเหนือ นอกจากนี้ ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ สกอตแลนด์ทันมาเน้นเศรษฐกิจภาคบริการมากขึ้น นครเอดินบะระซึ่งเป็นศูนย์กลางบริการการเงินของสกอตแลนด์ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเงินใหญ่ลำดับที่ ๖ ของยุโรปรองจากลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt) ซูริก (Zurich) และอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ดังนั้น สินค้าส่งออกสำคัญลำดับต้น ๆ ของสกอตแลนด์ปัจจุบันคือ บริการทางการเงิน นอกเหนือจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และวิสกี้

 ในสมัยรัฐบาลมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* อังกฤษเรียกเก็บภาษีรายหัว (poll tax) เพื่อบำรุงชุมชนในเขตสกอตแลนด์ก่อนที่อื่นๆ ในสหราชอาณาจักร ๑ ปี ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สกอตแลนด์มีสิทธิดูแลกิจการภายในของตนมากขึ้นการลงประชามติเกี่ยวกับประเด็นนี้ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติสกอตแลนด์ ค.ศ. ๑๙๙๘ ซึ่งสถาปนารัฐบาลท้องถิ่นและรัฐสภาของสกอตแลนด์ขึ้นทีนครเอดินบะระเพื่อดูแลและออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเฉพาะของสกอตแลนด์ เช่น สาธารณสุข การศึกษา การคมนาคมขนส่ง ส่วนรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษยังคงสงวนอำนาจในการกำหนดบางเรื่อง เช่น การเรียกเก็บและขึ้นภาษี การประกันสังคม การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การกระจายเสียง รัฐสภาของสกอตแลนด์มีลักษณะเป็นสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิก ๑๒๙ คน จาก ๗๓ เขต มีวาระ ๔ ปี พระประมุขของอังกฤษจะทรงเป็นผู้แต่งตั้งมุขมนตรีจากสมาชิกทั้งหมด ซึ่งมุขมนตรีจะดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นทำหน้าที่บริหาร

 ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๒๐๑๑ พรรคแห่งชาติสกอต (Scottish National Party-SNP) ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลเพราะได้รับ ๖๙ ที่นั้งจาก ๑๒๙ ที่นั้งในสภา พรรคนี้มีนโยบายให้สกอตแลนด์เป็นอิสระจากอังกฤษมากขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๑๒ ประชาชนร้อยละ ๑๒ แสดงความจำนงว่าต้องการเป็นอิสระ การให้ชาวสกอตลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของสกอตแลนด์ได้กำหนดไว้แล้วในปลาย ค.ศ. ๒๐๑๔ และกำหนดว่าจะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจสู่สกอตแลนด์ราวฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๒๐๑๔ ปัจจุบัน สกอตแลนด์ยังคงเลือกผู้แทนจากเขตต่าง ๆ ของตน จำนวน ๕๙ คนเข้าไปนั่งในสภาสามัญของอังกฤษอยู่ ตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการสกอตแลนด์ (Secretary of state for Scotland) ก็เป็นตำแหน่งหนึ่งในคณะรัฐมนตรี (cabinet) ของอังกฤษ.



คำตั้ง
Scotland
คำเทียบ
สกอตแลนด์
คำสำคัญ
- การปฏิรูปศาสนา
- การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ขบวนการจาโคไบต์
- ความตกลงแห่งชาติ
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ดาวดิง, จอมพลอากาศ เซอร์ฮิวจ์
- เดอะเคิร์ก
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- นิกายเพรสไบทีเรียน
- นิกายลูเทอรัน
- นิกายสกอตแลนด์
- นิกายอังกฤษ
- นิกายอินดิเพนเดนต์
- นิกายแองกลิคัน
- บรูซ, รอเบิร์ต
- บัลเลียล, จอห์น
- พรรคแห่งชาติสกอต
- พระราชบัญญัติการตกลง ค.ศ. ๑๗๐๑
- พระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๐๗
- ภาษีรายหัว
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่คาร์แฮม
- ยุทธการที่เนชตันสเมียร์
- ยุทธการที่ฟล็อดเดน
- รัฐสภาสมัยยาวนาน
- รัฐสภาสมัยสั้น
- วอลเลซ, เซอร์วิลเลียม
- สกอตแลนด์
- สงคราม ๑๐๐ ปี
- สงครามบิชอป
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญานอร์ทแทมป์ตัน
- สนธิสัญญาเอดินบะระ
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- สหภาพยุโรป
- สิทธิปกครองตนเอง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-