Ney, Michel, Duc d’ Elchingen, Prince de La Moskowa (1769-1815)

จอมพล มีเชล เนดุ๊กแห่งเอลชิงเกน เจ้าชายแห่งมอสโก (๒๓๑๑-๒๓๕๘)

​​​​​​​

     มีเชล เน เป็นจอมพลฝรั่งเศสที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรุ่นแรกในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* มีบทบาทในการรบทั้งในเชิงป้องกันและขยายอำนาจของประเทศตั้งแต่สมัยสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒) เรื่อยมาจนถึงสมัยจักรวรรดิ ฝรั่งเศสที่ ๑ (First French Empire ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* โดยต่อสู้กับกลุ่มประเทศสหพันธมิตร แต่เป็นแม่ทัพคนหนึ่งที่ขอให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงยอมแพ้นายพลเนยอมที่จะภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๔)* เมื่อกลุ่มประเทศพันธมิตรตกลงให้ราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* กลับมาปกครองฝรั่งเศส แต่ภายหลังเปลี่ยนใจหันไปร่วมมือกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่หวนคืนสู่บัลลังก์จนพ่ายแพ้ด้วยกันในยุทธการที่ตำบลวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* เขาถูกข้อหาเป็นกบฏต่อประเทศและถูกตัดสินประหารชีวิตท่ามกลางความเห็นคัดค้านของชาวฝรั่งเศสทั่วไป
     เนเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๗๖๙ ที่ซาร์ลุย (Sarrelouis) ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศสในแคว้นลอร์แรน (Lorraine) ซึ่งประชากรพูดภาษาเยอรมัน แต่ตกเป็นของฝรั่งเศสในกลางทศวรรษ ๑๗๔๐ เนจึงพูดได้ ๒ ภาษา เขาเป็นบุตรคนที่ ๒ ของปีแยร์ เน (Pierre Ney) ช่างทำถังไม้และตีเหล็กระดับนายช่าง (master) ซึ่งเคยรบในสงคราม ๗ ปี (Seven Years’ War) เนเข้าเรียนที่วิทยาลัยโอกูสแตง (Collège des Augustins) จากนั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ทะเบียนท้องถิ่นในบ้านเกิดและเป็นผู้ตรวจเหมืองแร่และโรงตีเหล็ก แต่เมื่อพบว่างานราชการไม่ถูกกับอุปนิสัย เขาจึงสมัครเข้าทำงานในกรมทหารใน ค.ศ. ๑๗๘๗ และก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหมู่ทหารชั้นประทวน โอกาสของเขามาถึงเมื่อเกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นอันเนื่องมาจากชาติยุโรปอื่น ๆ ในขณะนั้น ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัฐเยอรมันต่าง ๆ ต้องการทำลายการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจหลายประการ เนได้เป็นทหารชั้นสัญญาบัตรในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ โดยร่วมในการรบตั้งแต่ที่วาลมี (Valmy) และเชอมาปป์ (Jemappes) และย้ายไปที่ซองเบรอเอเมิส (Sambreet- Meuse) ในเหตุการณ์ปิดล้อมที่เมืองไมนซ์ (Mainz) นั้น เนได้รับบาดเจ็บ
     ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ขณะอายุ ๒๘ ปี เนได้เลื่อนเป็นพลจัตวาบัญชาการกองพลน้อยทหารม้าในเขตแนวรบเยอรมัน ในวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๗๙๓ เขานำกองพลทหารม้าเข้าสู้กับทหารม้าติดทวนของออสเตรียซึ่งพยายามเข้ายึดปืนใหญ่ของฝรั่งเศส ในระยะแรกฝ่ายออสเตรียถูกตีจนล่าถอย แต่ต่อมาฝ่ายเนก็ถูกออสเตรียตีกลับอย่างหนักหน่วง ในช่วงที่เกิดการต่อสู้อย่างชุลมุน เนกระเด็นตกจากหลังม้าและถูกจับเป็นเชลยที่มันน์ไฮม์ (Mannheim) แต่ในวันที่ ๘ พฤษภาคม เขาก็ได้รับการปล่อยตัวโดยแลกกับนายพลออสเตรียคนหนึ่ง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลใหญ่ และปลายปีนั้นก็นำกองพลทหารม้ารบในเขตสวิสและลุ่มน้ำดานูบ เนได้รับบาดเจ็บที่สะโพกและข้อมือในการรบที่วินเทอร์ทูร์ (Winterthur) เมื่ออาการดีขึ้นบ้างก็ไปสมทบกับนายพลวิกตอร์ โมโร (Victor Moreau) รบในเขตลุ่มแม่น้ำไรน์ที่โฮเฮนลินเดิน (Hohenlinden) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๐ ซึ่งเป็นยุทธการใหญ่ครั้งสุดท้ายของสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
     ในการรบสมัยแรก ๆ ของเน เขาแสดงให้เห็นบุคลิกที่เด่นชัด ๒ ประการ กล่าวคือ เขาแสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดขณะถูกระดมยิงจากศัตรู และเต็มใจที่จะกระโจนเข้าสู่การรบแม้จะต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อปลุกใจเหล่าลูกน้องหรือกระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี แต่เขาต่อต้านการเลื่อนตำแหน่ง เนไม่เต็มใจที่จะได้รับยศสูงขึ้นและเมื่อมีการเสนอชื่อของเขาขึ้นไป เขาก็คัดค้านทั้งต่อนายทหารระดับสูงกว่าและผู้อาวุโสทางการเมืองอย่างไรก็ดี เนก็ต้องเป็นฝ่ายยอมจำนนทุกครั้ง
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๑ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ซึ่งดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๙ เรียกเนไปพบที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ซึ่งนโปเลียนและโชเซฟีน เดอ โบอาร์เน (Joséphine de Beauharnais) ภริยาของเขา จัดการตกแต่งให้อลังการราวกับเป็นราชสำนัก นับเป็นการพบปะกันครั้งแรกซึ่งสำหรับเนแล้วไม่น่าจดจำนักและมีลักษณะเป็นทางการ ส่วนนโปเลียนซึ่งถือว่านายพลโมโรเป็นคู่แข่งของตนทางการทหารและเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ถือว่าบรรดาผู้ที่ใกล้ชิดกับนายพลผู้นี้ไม่น่าไว้วางใจ แต่โชเซฟินพอใจบุคลิกของเนและต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเขา จึงจัดหาคนสนิทของเธอให้เป็นภรรยา ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๐๒ เนซึ่งอายุ ๓๓ ปี จึงได้สมรสกับอากลาเอ โอกีเอ (Aglaé Auguié) นางกำนัลของโชเซฟินและเป็นบุตรสาวของข้าราชการระดับสูง โดยพิธีสมรสจัดขึ้นที่โบสถ์ในปราสาทโอกีเอใกล้เมืองแวร์ซาย (Versailles) จากการนี้ทำให้เนมีเครือข่ายอิทธิพลใหม่และกลายเป็นผู้โดดเด่นในแวดวงสังคมและการทหารในสมัยการปกครองการปกครองระบบกงสุล (Consulate System ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๔)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๐๒ เขาไปประจำการกับกองทัพฝรั่งเศสในเขตสวิสรวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการทูตด้วย
     เมื่อภาวะแห่งสันติระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสยุติลง นโปเลียนก็รวบรวมกองทัพไปจัดตั้งตามชายฝั่งช่องแคบ เนก็เสนอตัวเข้าประจำการและได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกองทัพน้อยที่ ๖ ในต้น ค.ศ. ๑๘๐๔ ตำรวจได้พบแผนการของพวกเอมีเกร (émigré) ซึ่งเป็นขุนนางระบอบเก่าที่เคยอพยพจากถิ่นที่อยู่เพื่อหนีภัยในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสว่าจะลักพาตัวหรือลอบสังหารนโปเลียนเพื่อนำราชวงศ์บูร์บงกลับมาปกครองฝรั่งเศส นายพลโมโรเพื่อนของเนก็ถูกกล่าวหาว่าพัวพันในแผนการด้วย ทั้งโมโรและคนอื่น ๆ ที่เชื่อว่าคบคิดกันวางแผนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดี หลังการตัดสินโทษ นโปเลียนได้เปลี่ยนโทษของโมโรจากการถูกจำคุก ๒ ปีเป็นถูกเนรเทศ
     ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ หนึ่งวันหลังจากที่นโปเลียนประกาศตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส (Emperor of the French) โดยจะเป็นตำแหน่งสืบตระกูล จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงรื้อฟื้นยศจอมพลขึ้นใหม่ ทำให้นายพล ๑๔ คน ซึ่งมีเนรวมอยู่ด้วยได้รับการแต่งตั้งเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิรุ่นแรกเมื่อประเทศยุโรปรวมกลุ่มพันธมิตรขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ในปลายปีนั้นเนนำกองทัพฝรั่งเศสบุกสู่ตอนกลางของยุโรปอย่างรวดเร็ว และมีชัยชนะในยุทธการแรกที่เอลชิงเกน (Elchingen) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ (ภายหลังเนได้รับการสถาปนาเป็นดุ๊กแห่งเอลชิงเกนวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๘) ปลายปีนั้นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงมีชัยเด็ดขาดต่อกองทัพผสมรัสเซีย-ออสเตรียที่ออสเตอร์ลิทซ์ (Austerlitz) ในวันที่ ๒ ธันวาคม หลังจากที่เนรบเปิดทางให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ บุกเข้าสู่กรุงเวียนนา
     ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ กองทัพของเนก็สามารถเอาชนะทัพปรัสเซียได้ในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* และยึดเมืองแอร์ฟูร์ท (Erfurt) ได้ จากนั้นก็เข้าล้อมเมืองมักเดบูร์ก (Magdeburg) และชนะทัพรัสเซียที่ไอเลา (Eylau) และฟรีดลันด์ (Friedland) ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ เนจึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์พญาอินทรี (grand eagle of the Legion d' honneur) เมื่อเนถูกส่งไปบัญชาการรบที่สเปนใน ค.ศ. ๑๘๐๘ ชื่อเสียงในด้านความกล้าหาญของเขาก็ยิ่งระบือไกล อย่างไรก็ดี เนก็เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นแม่ทัพเจ้าอารมณ์และฉุนเฉียวง่ายฝ่ายเสนาธิการทหารเห็นว่าการวางยุทธวิธีให้เนมักมีปัญหา เพราะความหุนหันพลันแล่นของเนทำให้เขามักไม่ยอมฟังคำสั่งหากคำสั่งนั้นไม่ใช่ของจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงนำทัพอยู่ห่าง ๆ ในการบุกสเปน เนก็ทะเลาะเบาะแว้งกับนายทหารที่อาวุโสหลายคน ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ เขาร่วมรบกับจอมพล อองเดร มาสเซอนา (Andŕe Massena) ในการบุกโปรตุเกส แต่ในช่วงที่ต้องออกทัพจากตอร์ริสเวดรัส (Torres Vedras) ก็มีปัญหาขัดแย้งกัน เนถูกปลดจากการบัญชาการรบเพราะขัดขืนไม่ยอมฟังคำสั่ง ในต้น ค.ศ. ๑๘๑๑ เขาจึงถูกส่งกลับฝรั่งเศสอย่างเสียหน้า
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงนำกองทัพใหญ่บุกรัสเซีย เนจึงกลับสู่กองทัพอีกครั้งโดยได้รับมอบหมายให้บัญชาการกองทัพที่ ๓ เขาได้รับบาดเจ็บที่คอในการรบที่สโมเลนสก์ (Smolensk) แต่ก็ยังยืนหยัดต่อสู้ที่โบโรดีโน (Borodino) แม้การรบไม่จบลงอย่างเด็ดขาด จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงสถาปนาให้เนเป็นเจ้าชายแห่งมอสโก เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจถอนกำลังออกจากรัสเซียเพราะชัยชนะดูห่างไกลขึ้นทุกทีและทหารฝรั่งเศสในสมรภูมิก็ประสบความยากลำบาก ในการรบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะถอยจากกรุงมอสโก กองทัพของเนอยู่หลังสุดซึ่งเสี่ยงต่อการอยู่ในวิถีกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายรัสเซียและการโจมตีของพวกคอสแซค (Cossack)* หลายต่อหลายครั้ง ในช่วงถอยทัพถือว่าเนโดดเด่นในเรื่องความกล้าหาญ ความเฉียบแหลมในการแก้ปัญหาและความมีไหวพริบอย่างทันควันซึ่งทำให้ลูกน้องใต้บังคับบัญชาอัศจรรย์ใจไปตาม ๆ กัน ในช่วงหนึ่งกองทัพของเนถูกตัดขาดจากกองทัพใหญ่ แต่ในที่สุดเนก็สามารถนำทัพ ไปสมทบกับกองทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้หลังจากที่เข้าใจกันว่าเขาหายสาบสูญไปแล้วเพราะเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพอพระทัยมากถึงกับพระราชทานฉายาให้เนว่า "ผู้กล้าที่สุดในหมู่ผู้กล้า" (Le Brave des Bravs)
     ในการรบกับประเทศพันธมิตรยุโรปหลังกลับจากรัสเซียนั้น เนต้องสู้รบกับเพื่อนเก่าอย่างนายพลโมโรซึ่งกลับจากสหรัฐอเมริกาหลังการถูกเนรเทศก็ไปเป็นที่ปรึกษาทางการทหารของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* โมโรเสียชีวิตหลังโดนกระสุนปืนใหญ่ของฝรั่งเศสนอกเมืองเดรสเดิน (Dresden) ในการรบที่เดนเนวิทซ์ (Dennewitz) เนก็ต้องตกใจที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้แม่ทัพของชาลส์ที่ ๑๐ จอห์น (Charles X John) มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน ซึ่งเคยเป็นสิบเอกในกองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสเช่นเดียวกับเน โดยในครั้งนั้นมีชื่อว่า ชอง แบร์นาดอต (Jean Bernadotte) เนได้รับบาดเจ็บในยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) จนต้องถูกส่งกลับฝรั่งเศส กองทัพของเขาที่กำลังพ่ายแพ้ต้องพยายามอย่างหนักในการรบแบบล่าถอยตัดข้าม ดินแดนเยอรมันกลับสู่ฝรั่งเศส ณ ที่นั้น จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงกำลังเตรียมการยุทธ์ครั้งใหม่โดยไม่สนพระทัยต่อเสียงเรียกร้องต่าง ๆ ที่ให้ทรงสร้างสันติภาพ เนก็ได้รับมอบหมายให้บัญชาการทางภาคตะวันออกของประเทศ และเขาก็ดำเนินการรบแบบปกป้องประเทศดังที่เคยทำในช่วงสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
     เมื่อเนเห็นว่าจักรวรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงมีพระประสงค์ที่จะระดมกำลังทหารที่ยังคงเหลือมาที่เมืองฟงแตนโบล (Fontainebleau)* เพื่อสู้กับฝ่ายสหพันธมิตรในกรุงปารีส เนได้ไปกราบทูลว่ากองทัพของเขาจะไม่เคลื่อนพลด้วย แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงยืนยันว่ากองทัพต่าง ๆ จะทำตามพระราชโองการเนจึงทูลตอบไปว่ากองทัพต่าง ๆ จะฟังเสียงแม่ทัพของพวกเขาเท่านั้น และจะไม่เข้าสู่กรุงปารีส เนในฐานะผู้แทนของกลุ่มจอมพลที่ก่อกบฏจึงทูลให้สละบัลลังก์ ในวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงทรงถูกบังคับให้สละราชสมบัติ หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง เนยังคงรักษายศทหารและบรรดาศักดิ์ของเขาไว้ได้ พร้อมทั้งได้รับพระราชทานรางวัล และได้ ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ อย่างไรก็ดี บรรดาขุนนางเก่าที่อพยพกลับมาหรือพวกเอมีเกรแสดงท่าทีเย็นชาต่อเนและยังดูถูกภูมิหลังอันต่ำต้อยของเขา
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงปลดประจำการทหารจำนวนมากออกจากกองทัพด้วยข้ออ้างว่าประเทศได้กลับสู่ภาวะสันติแล้ว และขณะเดียวกันทรงชดเชยสิทธิและผลประโยชน์แก่ขุนนางที่ลี้ภัย ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลก็ก่อตัวขึ้นทั่วไป จักรพรรดินโปเลียนซึ่งทราบข่าวดังกล่าวจึงลอบหนีจากเกาะเอลบา (Elba) กลับฝรั่งเศสเพื่อยึดอำนาจคืนในวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งเป็นการเริ่มสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* เนซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำการในเขตเบอซองซง (Besancon) ได้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ว่าเขาจะนำจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กลับสู่กรุงปารีสในกรงเหล็กแต่เมื่อเขาเห็นว่าชาวฝรั่งเศสในเขตรับผิดชอบเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์บูร์บง และหลังจากได้รับจดหมายจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เนจึงตัดสินใจไปพบพระองค์ที่ เมืองโอแซร์ (Auxerre) ในวันที่ ๑๘ มีนาคม เมื่อเผชิญหน้ากับพระองค์เขาประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายจักรพรรดิและคุกเข่าสวมกอดพระชานุด้วยน้ำตานองหน้า ซึ่งทำให้ทหารและประชาชนในเขตของเขาพากันโห่ร้องยินดี
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เสด็จหนีจากกรุงปารีสจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงเข้าประทับที่พระราชวังตุยเลอรีแทน เนใช้เวลาส่วนใหญ่พำนักอยู่ที่คฤหาสน์ในชนบทโดยเป็นการปลีกตัวออกอย่างไม่พึงใจนัก เขาจึงไม่ค่อยได้พบกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จนกระทั่ง ๓ วันก่อนยุทธการที่ตำบลวอเตอร์ลูในเบลเยียมปัจจุบันเนถูกเรียกตัวและได้รับการขอร้องให้ร่วมรบ เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลปีกซ้ายของกองทัพเหนือเพื่อต้านฝ่ายอังกฤษ ส่วนนโปเลียนดูแลปีกขวาเพื่อต่อต้านปรัสเซียจึงเป็นการกระจายกันรบ ๒ ทางพร้อมกัน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงตีทัพปรัสเซียจนนายพลบือเชอร์พ่ายแพ้ที่ลีญี (Ligny) ส่วนเนสู้กับอาเทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* แม่ทัพอังกฤษในยุทธการที่กาเตรอบรา (Quatre Bras) ซึ่งจบลงโดยไม่มีผลแพ้ชนะ แต่บทบาทของเนที่วอเตอร์ลูยังคงเป็นประเด็นที่นักวิชาการถกเถียงกันอยู่ว่าความเชื่องช้าของเขามีผลให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้ใช่หรือไม่ และหน่วยทหารของเขาต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวของพระองค์ครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ภาย หลังยุทธการที่วอเตอร์ลู เนและทหารคนอื่น ๆ ก็หลบหนีออกจากเขตรบ เขาเอาเขม่าควันทาใบหน้า และตะโกนพูดกับเพื่อนทหารโดยถือดาบหักในมือว่า "หากมันจับเราได้ครั้งนี้ มันจะแขวนคอเรา" คำพูดนี้ได้กลายเป็นจริงเหมือนดังคำพยากรณ์ชีวิตเขา
     เมื่อราชวงศ์บูร์บงกลับมาปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งหลังสมัยร้อยวัน และจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงถูกเนรเทศไปประทับที่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ในมหาสมุทรแอตแลนติก เนพยายามหนีออกจากฝรั่งเศสอย่างไม่สู้เต็มใจนัก และเมื่อมีคนจำหน้าเขาได้เนจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ ในดินแดนห่างไกลกรุงปารีสทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เขาถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในวันรุ่งขึ้นซึ่งเขาปฏิเสธที่จะให้พิจารณาคดีของเขา โดยยืนกรานสิทธิความเป็นขุนนางที่จะต้องให้สภาขุนนางไต่สวนเท่านั้นคำพิพากษาเป็นไปดังที่เนคาด เขาต้องโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาเป็นกบฏต่อประเทศแม้ว่าระหว่างการพิจารณาคดี มีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งพยายามปลดปล่อยเนให้เป็นอิสระ แต่ไม่สำเร็จ และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เองก็ไม่ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เนถูกประหาร การพิจารณาคดีของจอมพล เน เป็นคดีที่ ทำให้เกิดความแตกแยกมากที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส หลายคนมองว่าเนเป็นเพียงแม่ทัพของเหล่าทหาร ไม่ได้มีความทะเยอ ทะยานหรือมีความคิดอ่านทางการเมือง เนประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตด้วยการรบเพื่อรักษาพรมแดนของประเทศตั้งแต่ต้นจนอวสานของชีวิต แผนการครอบครองยุโรปของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ด้วยการทำสงครามนั้นซับซ้อนเกินความคิดของเขา เนไม่ได้ให้ความสำคัญหรือใส่ใจน้อยมากต่อยศศักดิ์และความสำเร็จในสังคม ความสง่างามที่เนแสดงออกเมื่อเผชิญหน้ากับวินาทีประหารช่วยลบความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับความแปรเปลี่ยนทางการเมืองของเขา และทำให้เนเป็นวีรบุรุษผู้หนึ่งของยุคสมัยที่ผู้คนชื่นชมความกล้าหาญว่ากันว่าเขาพูดกับเหล่าทหารปืนเพชฌฆาตว่าให้ยิงเขาเมื่อเขาออกคำสั่ง และให้ยิงตรงไปที่ หัวใจ และนั่นจะเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายของเขา เนกล่าวด้วยว่าเขาคัดค้านที่มีการสั่งให้ประหารชีวิตของเขา เพราะเขาสู้รบในสมรภูมิมานับร้อยครั้งเพื่อประเทศ ไม่เคยเลยสักครั้งที่กระทำการร้ายต่อฝรั่งเศส จากนั้นเขาก็ออกคำสั่งสุดท้าย
     จอมพลมีเชล เน ดุ๊กแห่งเอลชิงเกน เจ้าชายแห่งมอสโกถูกหน่วยพลปืนสำเร็จโทษในวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ ขณะอายุ ๔๗ ปี ที่สวนลักเซมบูร์ก (Luxembourg Gardens) ในกรุงปารีส การประหารเนก่อกระแสความไม่พอใจไปทั่วฝรั่งเศสและทำให้จอมพล และนายพลหลายคนได้รับการยกโทษจากราชวงศ์บูร์บง ศพของเนถูกนำไปฝังที่สุสานแปร์ลาแชส (Pere Lachaise) ในกรุงปารีส เรื่องราวของเขานอกจากจะมีคนอื่น ๆ เรียบเรียงแล้ว บุตรชายคนที่ ๒ ของเขาก็ตีพิมพ์ บันทึกความทรงจำของเขาในชื่อ Mémoires du maréchal Ney ( ค.ศ. ๑๘๓๓) ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ขนาดความยาว ๒ เล่มแต่มีเนื้อหาถึง ค.ศ. ๑๘๐๕ เท่านั้น.


จอมพลคนสำคัญของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งได้เป็นดุ๊กแห่งรีโวลี (Duke of Rivoli) ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ และเจ้าชายแห่งเอสลิง (Prince of Essling) ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ เขาต่างกับจอมพลเนที่ ไม่หวนกลับไปฝักใฝ่กับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘

คำตั้ง
Ney, Michel, Duc d’ Elchingen, Prince de La Moskowa
คำเทียบ
จอมพล มีเชล เนดุ๊กแห่งเอลชิงเกน เจ้าชายแห่งมอสโก
คำสำคัญ
- การรบที่สโมเลนสก์
- คอสแซค
- สมัยร้อยวัน
- ชาลส์ที่ ๑๐ จอห์น
- อากลาเอ โอกีเอ
- การรบที่เดนเนวิทซ์
- แอร์ฟูร์ท, เมือง
- เอสลิง, เจ้าชายแห่ง
- เอมีเกร, พวก
- ระบบกงสุล
- รีโวลี, ดุ๊กแห่ง
- มักเดบูร์ก, เมือง
- มาสเซอนา, อองเดร
- แวร์ซาย, เมือง
- เหตุการณ์ปิดล้อมที่เมืองไมนซ์
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- สงคราม ๗ ปี
- ยุทธการที่ตำบลวอเตอร์ลู
- โมโร, วิกตอร์
- โบอาร์เน, โชเซฟีน เดอ
- ลอร์แรน, แคว้น
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- บูร์บง, ราชวงศ์
- สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส
- การรบที่วินเทอร์ทูร์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- เดรสเดิน, เมือง
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- เน, มีเชล
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- ฟงแตนโบล, เมือง
- แบร์นาดอต, ชอง
- เอลบา, เกาะ
- เซนต์เฮเลนา, เกาะ
- เบอซองซง, เขต
- ยุทธการที่กาเตรอบรา
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- เวลสลีย์, อาร์เทอร์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน
- โอแซร์, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1769-1815
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๑-๒๓๕๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf