องค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศที่พัฒนามาจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade–GATT)* ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย(Uruguay Round) ครั้งที่ ๘ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖–๑๙๙๓ ประเทศสมาชิกแกตต์ได้ร่วมลงนามในกรรมสารสุดท้าย (Final Act) ที่เมืองมาราเกช (Marrakesh) ประเทศโมร็อกโกเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔ และนำไปสู่การจัดตั้งองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๕ วัตถุประสงค์ขององค์การการค้าโลกคือการลดอุปสรรคสำหรับการค้าและส่งเสริมการค้าให้เสรี การจัดการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund–IMF)* และธนาคารโลก (World Bank) และองค์กรอื่น ๆ องค์การการค้าโลกมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา (Geneva) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด ๑๖๔ ประเทศ และนับเป็นองค์การระหว่างประเทศทางด้านการค้าที่ใหญ่ที่สุด
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาเนื่องจากผลของสงครามสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* จึงร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เสรี และได้ร่วมกันจัดตั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศขึ้นในเดือนกรกฎาคมและธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ นอกจากสถาบันทั้งสองแล้วยังมีความพยายามจะจัดตั้ง “องค์การการค้าระหว่างประเทศ” (International Trade Organization) เพื่อทำหน้าที่กำหนดกติกา กฎเกณฑ์ และกลไกในการลดกำแพงภาษีและส่งเสริมการค้า แต่ความพยายามนี้มีอุปสรรคเนื่องจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกาและนักธุรกิจอุตสาหกรรมคัดค้าน เพราะเกรงว่าองค์การการค้าระหว่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ประธานาธิบดีเฮนรี เอส. ทรูแมน (Henry S. Truman) จึงไม่นำเรื่ององค์การการค้าระหว่างประเทศให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาพิจารณา ส่วนประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็คัดค้านเพราะเห็นว่าองค์การการค้าระหว่างประเทศมีกฎข้อบังคับที่มีรายละเอียดมากและมีลักษณะที่ผูกมัดจนเกินไป
อย่างไรก็ดี เมื่อการจัดตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศส่อเค้าว่าจะไม่เป็นผล สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร๒๒ประเทศได้ร่วมกันจัดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎเกณฑ์และกติกาขององค์การการค้าระหว่างประเทศใหม่อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ที่นครเจนีวา และนำไปสู่การเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีสินค้าขาเข้าระหว่างกันรวม ๔๕,๐๐๐ รายการ ครอบคลุมการค้ามูลค่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงนามร่วมกันในความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและการค้าหรือแกตต์เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ความตกลงทั่วไปดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไป แม้แกตต์จะเป็นเพียงความตกลงทางการค้าที่ประเทศภาคีทั้ง ๒๓ ประเทศให้สัญญาต่อกันว่าจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ แต่ต่อมาเมื่อการค้าโลกขยายตัว การเจรจาจึงครอบคลุมประเทศมากขึ้นและเกิดขึ้นหลายระดับและหลายรอบการประชุมครั้งใหญ่ระดับรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นครั้งต่อมา คือการประชุมรอบที่ ๒ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ที่เมืองอานซี (Annecy) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม ๓๔ ประเทศ ที่ประชุมตกลงเรื่องการลดภาษีขาเข้าเพิ่มเติมอีก ๕,๐๐๐ รายการเพราะมีการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องการลดภาษีขาเข้ายังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมในรอบต่อ ๆ ไป ซึ่งมีการหารือกันเป็นรอบที่ ๓ ในเดือนกันยายน ๑๙๕๐ ที่เมืองทอร์คี (Torquay) สหราชอาณาจักรรอบที่๔ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖ และรอบที่ ๕ ที่นครเจนีวาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐–๑๙๖๒
ในการประชุมแกตต์รอบที่ ๖ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๔–๑๙๖๗ ที่นครเจนีวา หรือที่เรียกว่า การประชุมรอบเคนเนดี (Kennedy Round) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีจอห์นเอฟ.เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ผลักดันการประชุมครั้งนี้ขึ้นซึ่งถูกลอบสังหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๓ ในการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากถึง ๔๘ ประเทศ ซึ่งรวมถึง ๖ ประเทศสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community–EEC)* และ ๗ ประเทศสมาชิกของสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association)* นอกจากการเจรจาการลดภาษีขาเข้าแล้ว ที่ประชุมหารือเรื่องมาตรการช่วยขยายตลาดการค้าของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการต่อต้านการทุ่มตลาด (anti-dumping) หรือการกำหนดราคาสินค้าส่งออกในตลาดสากลให้ต่ำกว่าราคาปรกติเพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งได้ส่วนแบ่งของตลาด ที่ประชุมมีมติกำหนดข้อตกลงที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกตอบโต้การทุ่มตลาดได้โดยการเรียกเก็บภาษีขาเข้าเพิ่มจากประเทศที่ใช้มาตรการการทุ่มตลาด
ในทศวรรษ ๑๙๗๐ ทั้งสหรัฐอเมริกาและประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่างกังวลว่าการลดอัตราภาษีขาเข้าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลเสียต่อการค้าภายในประเทศจึงพยายามใช้มาตรการกีดกันที่มิใช่พิกัดศุลกากร (non-tariff barriers) แทน อุปสรรคสำคัญสำหรับการค้าจึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการตั้งกำแพงภาษีอีกต่อไป การประชุมแกตต์รอบที่ ๗ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว (Tokyo) ประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๓–๑๙๗๙ จึงเพิ่มประเด็นการเจรจาให้ครอบคลุมเรื่องการควบคุมการใช้มาตรการกีดกันที่มิใช่พิกัดศุลกากรและมีสมาชิกเข้าประชุมมากถึง๑๐๒ประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ตระหนักถึงข้อเสียเปรียบจากการใช้มาตรการกีดกันที่มิใช่พิกัดศุลกากร อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งสำคัญที่สุดและมีสมาชิกเข้าประชุมถึง ๑๒๓ ประเทศรวมประเทศไทยด้วยคือการประชุมรอบที่ ๘ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖–๑๙๙๔ ที่เมืองปุนตาเดลเอสเต (Punta del Este) ประเทศอุรุกวัยในการประชุมครั้งนี้ซึ่งเรียกว่า การเจรจาแกตต์รอบอุรุกวัย ได้ขยายประเด็นการหารือให้ครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เงินอุดหนุนทางด้านการเกษตรข้อตกลงเรื่องสิ่งทอ และอื่น ๆ รวมถึงการลงนามในกรรมสารสุดท้ายเพื่อจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นภายใต้ข้อตกลงมาร์ราเกชโดยสมาชิกแกตต์รวม๑๒๔ประเทศร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔ ที่ประเทศโมร็อกโก องค์การการค้าโลกจึงจัดตั้งขึ้นได้สำเร็จและจะทำหน้าที่แทนแกตต์ในด้านการส่งเสริมการค้าเสรีและเป็นตัวกลางให้แก่ประเทศสมาชิกในกรณีที่เกิดข้อพิพาท
องค์การการค้าโลกเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๕ โดยการบริหารความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่สืบเนื่องจากการเจรจาแกตต์ การกำกับดูแลนโยบายทางการค้าของประเทศสมาชิกให้โปร่งใสและเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการค้าของประเทศสมาชิกอื่น ๆ การแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ การติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ และการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการประสานงานร่วมกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศองค์การการค้าโลกมีสมาชิกแรกก่อตั้ง ๗๕ ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ต่อมาสมาชิกของแกตต์ส่วนที่เหลือได้ทยอยกันเข้าเป็นสมาชิกปัจจุบันมีสมาชิกรวม ๑๖๔ ประเทศ โดยมีไลบีเรียและอัฟกานิสถานเป็นประเทศล่าสุดที่เข้าเป็นสมาชิกในวันที่ ๑๖ และ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๖ ตามลำดับนอกจากนี้ยังมีประเทศสังเกตการณ์อีก ๒๓ ประเทศองค์การการค้าโลกมีการประชุมหลายระดับ แต่การประชุมที่สำคัญที่สุดคือการประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) ซึ่งจะประชุมกันทุก ๒ ปี เพื่อตัดสินใจและกำหนดข้อตกลงที่เกี่ยวกับการค้าด้านต่าง ๆ
องค์การการค้าโลกได้กำหนดหลักการสำคัญในการทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ๕ ข้อ ได้แก่ ๑. การไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องใช้กฎปฏิบัติเดียวกันกับทุกประเทศ หากประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งให้ผลประโยชน์พิเศษใดกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกขององค์การการค้าโลก ประเทศนั้นจะต้องให้ผลประโยชน์นั้น ๆ กับทุกประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกด้วย ๒. การต่างตอบแทนผลประโยชน์ (Reciprocity) ประเทศสมาชิกต่างต้องตอบแทนผลประโยชน์ที่ได้รับจากประเทศสมาชิกอื่นด้วยสิ่งที่เท่าเทียมกัน ๓. การผูกพันข้อตกลง (Binding and enforceable commitments) ประเทศสมาชิกต้องจ่ายค่าทดแทน หากต้องการเปลี่ยนแปลงอัตราหรือกฎใดที่ตกลงไว้กับประเทศสมาชิกอื่น และทำให้สมาชิกอื่นนั้นได้รับความเสียหาย ๔. ความโปร่งใส (Transparency) ประเทศสมาชิกต้องแจ้งให้องค์การการค้าโลกทราบ ในกรณีเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า รวมถึงเผยแพร่นโยบายการค้าของตนให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบ ๕.มาตรการความปลอดภัย (Safety values) รัฐบาลของประเทศสมาชิกสามารถกำหนดมาตรการในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เมื่อมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีครั้งแรกขึ้นระหว่างวันที่ ๙–๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ ที่ประเทศสิงคโปร์โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินงานเพื่อจรรโลงระบบการค้าโลกให้เสรีและเป็นธรรม
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดกลุ่มทำงานขึ้น ๔ กลุ่มเพื่อดูแลเรื่องความโปร่งใสในประเด็นต่อไปนี้ ๑.การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ๒.การบริหารและอำนวยความสะดวกด้านการค้า ๓. การค้าและการลงทุน ๔. การค้าและการแข่งขัน หลังการประชุมครั้งนี้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอีกหลายครั้งการประชุมครั้งที่ ๒ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘–๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ ที่นครเจนีวา การประชุมครั้งที่ ๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน–๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ที่เมืองซีแอตเทิล (Seattle) สหรัฐอเมริกา ในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้เสนอชื่อ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปหลายประเทศสนับสนุน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนนายไมก์มอร์ (Mike More) อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และอดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำอังกฤษ แต่ทั้ง ๒ คนไม่ได้เสียงข้างมากพอที่จะชนะกันเด็ดขาด ที่ประชุมจึงมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่คนละครึ่งเทอม ๒ ปี แต่ต่อมาขยายเป็นคนละ ๓ ปี ส่วนการประชุมครั้งที่ ๔ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙–๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ที่เมืองโดฮา (Doha) ประเทศกาตาร์ นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการค้าระหว่างประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วที่มีสหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่นเป็นผู้นำ กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้เป็นกระบอกเสียงหลัก โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าทางการเกษตรและการบริการ ที่ประชุมยังพยายามวางแนวทางในการปฏิบัติที่เอื้อผลประโยชน์พิเศษให้ประเทศกำลังพัฒนา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นข้างต้น ประเด็นเดียวที่ที่ประชุมมีมติร่วมกันได้แก่การรับจีนเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๕ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐–๑๔ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๓ ที่เมืองกังกุน (Cancún) ประเทศเม็กซิโก และครั้งที่ ๖ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓–๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ที่ฮ่องกง เป็นการประชุมครั้งสำคัญอีกครั้งหลังสหภาพยุโรปตกลงทำตามข้อเรียกร้องจากประเทศกำลังพัฒนาที่จะลดจำนวนเงินช่วยเหลือที่มอบให้แก่เกษตรกรของตนเพื่อสนับสนุนการส่งออก นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติให้ยกเว้นภาษีขาเข้าสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน–๒ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ ที่นครเจนีวา และครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๑๕–๑๗ ธันวาคมค.ศ. ๒๐๑๑ ที่นครเจนีวา ที่ประชุมมีมติยอมรับรัสเซีย ซามัว และมอนเตเนโกรเป็นสมาชิก การประชุมครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๓–๗ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ ณ เกาะบาหลี (Bali) ประเทศอินโดนีเซีย มีการหารือกันถึงเรื่องการช่วยขยายตลาดการค้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาจนเกิดเป็นข้อตกลงบาหลี (Bali Package) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การลดภาษีขาเข้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วยังตกลงที่จะยกเลิกโควตานำเข้าสำหรับสินค้าทางการเกษตรจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อกระตุ้นการนำเข้า การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๑๕–๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่กรุงไนโรบี (Nairobi) ประเทศเคนยา ได้หารือถึงแนวทางที่จะช่วยเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทั้งยังยอมรับไลบีเรียและอัฟกานิสถานเป็นสมาชิก การประชุมครั้งที่ ๑๑ จัดขึ้นที่กรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ประเทศอาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ ๑๑–๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๗ ที่ประชุมหารือถึงประเด็นต่างๆทางการค้า โดยเฉพาะการทำธุรกิจการค้าออนไลน์
นอกจากการจัดประชุมในระดับรัฐมนตรีแล้วหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งขององค์การการค้าโลกคือการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ในกรณีที่เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศที่เสียผลประโยชน์สามารถขอคำปรึกษาจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อร่วมกันหาทางระงับข้อพิพาท หากไม่สำเร็จภายใน ๖๐ วัน ประเทศที่เสียผลประโยชน์สามารถยื่นคำร้องให้เลขาธิการองค์การการค้าโลกแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๓ ประเทศ มีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับข้อพิพาทซึ่งจะต้องนำเสนอให้ประเทศคู่ขัดแย้ง และภายใน ๒ สัปดาห์หลังจากประเทศคู่ขัดแย้งได้รับรายงาน คณะกรรมการจะต้องส่งรายงานดังกล่าวไปยังประเทศสมาชิกทุกประเทศเมื่อประเทศสมาชิกทุกประเทศได้รับรายงานจากคณะกรรมการแล้วก็จะทำหน้าที่เป็นองค์คณะระงับกรณีพิพาท (Dispute Settlement Body–DSB) โดยต้องประชุมร่วมกันภายใน ๖๐ วันเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ประเทศคู่ขัดแย้งสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่สิทธินี้จำกัดเฉพาะในประเด็นด้านกฎหมายและการตีความข้อกฎหมาย ในการพิจารณาข้ออุทธรณ์ทุกประเทศสมาชิกจะเลือกคณะกรรมการพิจารณาข้ออุทธรณ์จำนวน ๗ ประเทศ และในการพิจารณาแต่ละเรื่องอุทธรณ์จะเลือกกรรมการจำนวน ๓ ประเทศจากทั้งหมด๗ประเทศนี้ซึ่งอยู่ในวาระครั้งละ ๔ ปีกรรมการจากทั้ง ๓ ประเทศมีสิทธิที่จะยืนยัน แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่ถูกยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน ๖๐ วัน หรือไม่เกิน ๙๐ วัน ส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ ขององค์การการค้าโลกมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่อคำตัดสินของกรรมการพิจารณาข้ออุทธรณ์ได้ แต่ไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างใด
แม้องค์การการค้าโลกจะได้ชื่อว่าเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ช่วยให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ยุติธรรม แต่ในบางกรณีก็ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาขยายกว้างขึ้น เนื่องจากมักให้สิทธิพิเศษบางประการแก่ประเทศที่ร่ำรวย เช่น สิทธิในการเก็บภาษีขาเข้าในอัตราสูงสำหรับสินค้าบางประเทศ ประเทศที่กำลังพัฒนาจึงเสียเปรียบ การมุ่งส่งเสริมการค้าให้เสรีโดยละเลยปัญหาแรงงาน รวมถึงภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลสืบเนื่องจากการค้าและอื่นๆ ซึ่งองค์การการค้าโลกให้ความสำคัญน้อยก็มีส่วนทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยยังเห็นว่าองค์การการค้าโลกสามารถทำหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าให้เสรีและการแข่งขันที่ยุติธรรมระหว่างประเทศสมาชิกได้ หากขาดองค์การการค้าโลกแล้ว อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าหลายชนิดก็คงสูงจนประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้.