Schumacher, Kurt (1895-1952)

นายคูร์ท ชูมัคเคอร์ (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๙๕)

 คูร์ท ชูมัคเคอร์ เป็นนักการเมืองสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (Social Democratic Party of Germany-SPD)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๒ เขามีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านระบอบนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSADP; Nazi Party)* อย่างรุนแรงมาแต่ต้นใน ค.ศ. ๑๙๓๓ หลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจเขาจึงถูกจับกุมและถูกส่งไปคุมขังในค่ายกักกันของนาซีหลายแห่งเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี การลงโทษอย่างทารุณของนาซีทำให้สุขภาพของชูมัคเคอร์ทรุดโทรมและบอบชํ้าจนเกือบเสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขัง แต่เขาก็รอดชีวิตมาจนได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพอังกฤษของฝ่ายพันธมิตรในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังการจัดตั้งประเทศเยอรมนีตะวันตกใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ชูมัคเคอร์เป็นคู่แข่งคนสำคัญของคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนหรือซีดียู (Christian Democratic Union-CDU) ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน แม้ว่าพรรรคของเขาจะแพ้คะแนนเสียงรวมกันของพรรคซีดียูกับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียนหรือซีเอสยู (Christian Social Union-CSU) และไม่ได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่ชูมัคเคอร์ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ได้ทำหน้าที่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างแข็งขันตลอดมา

 ชูมัคเคอร์เกิดในครอบครัวชาวปรัสเซียโปรเตสแตนต์เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ ที่เมืองคุล์ม [ (Kulm) ปัจจุบันคือเมืองเชล์มโน (Chelmno) ในโปแลนด์] บริเวณพรมแดนด้านตะวันออกของเยอรมนี บิดาเป็นนักธุรกิจที่มีแนวคิดเสรีนิยม ชูมัคเคอร์มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม และสนใจการเมืองในแนวสังคมนิยมมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ชูมัคเคอร์ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๙ ปี และกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมีสำนึกในหน้าที่ต่อชาติอย่างรุนแรง ได้ละทิ้งการเรียนโดยทันทีเพื่ออาสาเข้าร่วมรบในกองทัพเยอรมันเขาถูกส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันออกเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย ขณะสู้รบอยู่ในสมรภูมิทางด้านตะวันตกของเมืองโลดซ์ (Lódz) ในโปแลนด์ในเดือนธันวาคม เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแรงระเบิดของปืนกลจนต้องตัดแขนขวาตั้งแต่หัวไหล่และถูกปลดประจำการหลังทำการรบในสมรภูมิเพียง ๑ เดือน ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ชูมัคเคอร์ กลับเข้าศึกษาต่อในสาขากฎหมายและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยฮัลเลอ (Halle) ไลพ์ซิก (Leipzig) เบอร์ลินและมึนสเตอร์ (Münster) ตามลำดับ ขณะเดียวกันเขาก็กลายเป็นนักการเมืองสังคมนิยมอย่างเหนียวแน่นชูมัคเคอร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมึนสเตอร์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐โดยทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “The Struggle for the Concept of the State within German Social Democracy” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาสนับสนุนการทำสงครามของเยอรมนีและเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าการปฏิรูปประเทศของพรรคเอสพีดีรวมทั้งการมุ่งใช้เครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะทำให้เยอรมนีเจริญขึ้นได้

 ชูมัคเคอร์เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองอย่างเต็มตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดีในปลายปีเดียวกันเมื่อเยอรมนีใกล้จะแพ้สงครามและเกิดการปฏิวัติในกรุงเบอร์ลิน เขาเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มทหารนอกประจำการจัดตั้งสภาคนงานและทหาร (Workers’ and Soldiers’ Council) ขึ้นในกรุงเบอร์ลินเพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องสภาพการทำงานการกลับเข้าสู่การทำงานของลูกจ้าง ค่าจ้างแรงงานและอื่น ๆ นอกจากนี้ เขายังดำเนินการต่อต้านความพยายามยึดครองอำนาจของพวกคอมมิวนิสต์กลุ่มต่าง ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังมีการจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* พรรคเอสพีดีได้ส่งชูมัคเคอร์ไปประจำสาขาที่เมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) เพื่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของพรรคชื่อ Schwäbische Tagwatch ขณะเดียวกันเขาได้ช่วยงานของพรรคเอสพีดีสาขาชตุทท์การ์ทอย่างแข็งขันด้วย

 ในช่วงที่อยู่ที่ชตุทการ์ทนั้น ชูมัคเคอร์ได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมเยอรมันในขณะนั้นอย่างแหลมคมหลายบทความ เขาเรียกร้องเสรีภาพทั้งเรื่องชนชั้นและรัฐโดยยํ้าว่าชนชั้นและรัฐไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม หากต้องร่วมมือซึ่งกันและกันโดยวิถีทางประชาธิปไตยสังคมซึ่งจะทำให้รัฐให้เสรีภาพแก่ชนชั้นต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นสภาพแวดล้อมทางการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ในขณะนั้นก็ไม่อำนวยให้พรรคเอสพีดีเข้าร่วมรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ ตามที่ชูมัคเคอร์เรียกร้องได้อย่างไรก็ดี การทำงานทั้งทางด้านหนังสือพิมพ์และการเมืองของพรรคที่ชตุทท์การ์ทได้ทำให้ชื่อของชูมัคเคอร์เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนมากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ชูมัคเคอร์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) และดำรงตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๑ ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขายังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเอสพีดีของรัฐนี้ด้วยในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เมื่อพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจทางการเมืองในสาธารณรัฐไวมาร์ชูมัคเคอร์ยังได้จัดตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมหัวรุนแรงขึ้นเพื่อต่อต้านพรรคนาซี เพราะเขาไม่ชอบระบอบนาซีและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคนี้อย่างมาก ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ชูมัคเคอร์ได้ก้าวขึ้นสู่การเมืองระดับชาติโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตาก (Reichstag) และต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๒ ขณะอายุ ๓๗ ปี ชูมัคเคอร์ซึ่งเป็นสมาชิกจากพรรคเอสพีดีที่มีอายุน้อยที่สุดก็ได้รับเลือกให้อยู่ในกลุ่มผู้นำพรรคในรัฐสภา

 เกือบตลอดช่วงสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ ชูมัคเคอร์ เป็นนักการเมืองฝีปากกล้าที่มุ่งทำงานเพื่อพรรคอย่างกล้าหาญและปราศจากความเกรงกลัวผู้ใด เขาสนับสนุนการปกครองในระบอบสาธารณรัฐโดยดำเนินการรณรงค์ต่อต้านทั้งพวกคอมมิวนิสต์และพรรคนาซีอย่างแข็งขันและต่อเนื่องทั้งในและนอกรัฐสภา ชูมัคเคอร์มุ่งโจมตีพรรคนาซีอย่างรุนแรงเพราะเห็นว่าเป็นอันตรายต่อระบอบสาธารณรัฐและต่อมนุษยชาติ ในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงในรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๒ เขากล่าวโจมตีและประณามลัทธินาซีอย่างห้าวหาญและรุนแรงว่าเป็นลัทธิ ที่ได้รับความสนใจจากมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณอันตํ่าช้าเท่านั้นและเป็นลัทธิที่นำมนุษยชาติไปสู่ความโง่เขลาเบาปัญญาแม้ว่าสุนทรพจน์นี่จะสร้างความเด่นดังให้แก่ชูมัคเคอร์แต่ก็ทำให้ฮิตเลอร์และบรรดาสมาชิกพรรคนาซีขุ่นเคืองเขาอย่างมาก อย่างไรก็ดีพรรคเอสพีดีก็ไม่สามารถสร้างแนวร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อต่อต้านพรรคนาซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฮิตเลอร์จึงขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และออกคำสั่งในทันทีให้จับชูมัคเคอร์มาลงโทษชูมัคเคอร์พยายามหลบหนีไปซ่อนตัวตามที่ต่าง ๆ แต่การที่เขาไม่มีแขนข้างขวาทำให้เขาถูกพวกนาซีสะกดรอยตามได้โดยง่ายและในที่สุดก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ชูมัคเคอร์ถูกส่งตัวไปคุมขังยังค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ของนาซีในที่ต่าง ๆ ได้แก่ ค่ายที่ฮอยแบร์ก (Heuberg) คูแบร์ก (Kuhberg) ฟลอสเซินบูร์ก (Flossenbürg) และดาเคา (Dachau) ในค่ายกักกันแต่ละแห่ง เขาถูกผู้คุมเฆี่ยนีอย่างทารุณจนร่างกายบอบชํ้า แต่ที่ดาเคาซึ่งเขาถูกคุมขังอยู่นานที่สุด เขาได้รับความปรานีจากผู้คุมมากกว่าที่อื่น เพราะเป็นค่ายกักกันที่นาซีต้องการสงวนชีวิตนักโทษที่ยังมีประโยชน์ในเรื่องความลับและความรู้ความสามารถอื่น ๆ ประกอบกับเขาเป็นทหารนอกประจำการที่มีร่างกายพิการ แต่เขาก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมรับความผิดครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการอดอาหารประท้วงผู้คุมหลายครั้ง

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ขณะที่ชูมัคเคอร์อยู่ในสภาพทรุดโทรมใกล้ตาย เขาได้รับความช่วยเหลือจากพี่เขยซึ่งขอให้เจ้าหน้าที่นำเขาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลนาซีเพื่อขอสิทธิคุ้มครองศาลพิจารณาว่าเขาเป็นผู้พิการไม่สามารถกระทำการที่เป็นพิษเป็นภัยต่อนาซีได้อีกต่อไป เขาจึงได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในเดือนมีนาคมปีเดียวกันโดยอยู่ในความดูแลของพี่เขย หลังจากนั้น ชูมัคเคอร์ได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่เมืองฮันโนเวอร์ (Hanover) และหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นพนักงานในร้านขายหนังสือ ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาถูกจับอีกครั้งและถูกส่งไปคุมขังที่ค่ายกักกันนอยเอินกัมเมอ (Neuengamme) จนได้รับการปล่อยตัวโดยกองทัพอังกฤษของฝ่ายพันธมิตรในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากนั้น เขากลับมาอันโนเวอร์เพื่อเริ่มบทบาททางการเมืองทันที

 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปยุติลงในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เพียงเล็กน้อย ชูมัคเคอร์ซึ่งต้องการให้เยอรมนีหลังสงครามเป็นสังคมนิยมโดยมีพรรคเอสพีดีเป็นผู้นำได้จัดตั้งสำนักงาน ดร.ชูมัคเคอร์ (Dr. Schumacher Bureau) ขึ้นที่เมืองอันโนเวอร์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการทำงานทางการเมืองของพรรคและได้ฟื้นฟูจัดตั้งพรรคเอสพีดีขึ้นไหม่โดยไม่ได้ขออนุญาตจากมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรที่เข้าไปทำการยึดครองเยอรมนีในเขตตะวันตก แต่เขาก็ไม่ได้รับการทักท้วงแต่ประการใด เพราะเป็นช่วงที่มหาอำนาจกำลังวุ่นวายอยู่กับปัญหาการยึดครองเยอรมนีและปัญหาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า ต่อมาไม่นานชูมัคเคอร์ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับออทโท โกรทโวล (Otto Grotewohl) หัวหน้าพรรคเอสพีดีในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตซึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการกลางแห่งพรรคเอสพีดีขึ้นในกรุงเบอร์ลินตะวันออกในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ และ เสนอแผนให้ชูมัคเคอร์รวมพรรคเอสพีดีในเขตตะวันตกเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีหรือเคพีดี (Communist Party of Germany-KPD) แต่ชูมัคเคอร์ไม่ยอมรับแผนนี้เพราะเขามีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ทั้งยังไม่ต้องการตกอยู่ใต้อำนาจของสหภาพโซเวียต พรรคเอสพีดีจึงแยกออกเป็น ๒ สาขาโดยปริยายจนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ พรรคเอสพีดีในเขตตะวันออกจึงได้รวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกอย่างสมบูรณ์ในชื่อพรรคเอกภาพสังคมนิยมหรือเอสอีดี (Socialist Unity Party-SED) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะผู้นำ ๓ คน คือ โกรทโวล วัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)* และวิลเฮล์ม พีค (Wilhelm Pieck)* ส่วนชูมัคเคอร์ ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ของพรรคเอสพีดีขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองอันโนเวอร์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และเขาก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในเขตตะวันตก

 ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้การยอมรับพรรคเอสพีดีและอนุญาตให้ชูมัคเคอร์ดำเนินการปฏิรูปพรรคเอสพีดีในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองแห่งชาติพรรคหนึ่ง ในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๗ ชูมัคเคอร์ได้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้พรรคเอสพีดีฟื้นฟูสาขาในเมืองต่าง ๆ ขึ้นทั่วเขตตะวันตก พร้อมกับปฏิรูปองค์กรและพัฒนาพรรคให้ทันสมัยและเข้มแข็ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในอนาคต แม้ว่าในขณะนั้นมหาอำนาจยังตกลงกันไม่ได้ในปัญหาว่าจะแยกหรือรวมเยอรมนีภายหลังสิ้นสุดการยึดครอง อย่างไรก็ดี การที่เขาเป็นบุคคลในระดับหัวหน้าพรรคเอสพีดีเพียงคนเดียวที่ผ่านพ้นยุคนาซีมาได้โดยไม่ได้ให้ความร่วมมือกับนาซี ทำให้ชูมัคเคอร์ ได้รับการยกย่องจากคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง เขาจึงมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำเยอรมนีเพราะมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรที่ทำการยึดครองเยอรมนีในเขตตะวันตก และผู้ออกเสียงชาวเยอรมันทั่วไปต่างยอมรับเขา แต่ชูมัคเคอร์ก็ยังมีคู่แข่งคนสำคัญคือ คอนราด อาเดเนาร์ อดีตนายกเทศมนตรีเมือง โคโลญ (Cologne) ซึ่งได้รวบรวมอดีตสมาชิกพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* และบรรดานักการเมืองอนุรักษนิยมในช่วงก่อนสงครามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ในชื่อพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตยและได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ต้องการเห็นเยอรมนีเป็นสังคมนิยมในรูปแบบใดทั้งสิ้น เพราะตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๗ เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกากำลังเริ่มทำสงครามเย็น (Cold War)* กับสหภาพโซเวียต ชูมัคเคอร์จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเท่าที่ควรแม้เขาจะมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และการปกครองในระบอบเผด็จการ เบ็ดเสร็จทุกรูปแบบอย่างแข็งขันและประกาศยํ้าหลายครั้งว่าเขาสนับสนุนประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกก็ตาม

 อย่างไรก็ดี ชูมัคเคอร์ก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะทำให้พรรคเอสพีดีเป็นปึกแผ่น ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ เขาได้ดำเนินการรณรงค์หาเสียงเพื่อสร้างเยอรมนีตะวันตกให้เป็นสังคมนิยมที่เข้มแข็งแต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์โดยมีนโยบายปฏิรูปสังคมในด้านต่าง ๆ และโอนธุรกิจเอกชนและอุตสาหกรรมหนักมาเป็นของชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เจ้าของให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนแก่พวกนาซีที่ทำให้นาซีขึ้นสู่อำนาจจะเป็นที่จับตามองเป็นพิเศษจากชูมัคเคอร์ เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับนโยบายในบางเรื่องของเขา ชูมัคเคอร์ก็ไม่พอใจทั้งยังตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนเขาเพราะเห็นว่าเขาเป็นคนหัวแข็งและดื้อรั้นขณะที่อาเดเนาร์ไม่ชอบสังคมนิยมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังเห็นว่าวิธีที่จะทำให้มหาอำนาจคืนสิทธิการปกครองตนเองให้แก่เยอรมนีโดยเร็วที่สุดก็คือ การให้ความร่วมมือแก่มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรโดยเฉพาะมหาอำนาจตะวันตกเขาจึงได้รับการหนุนหลังจากมหาอำนาจตะวันตกในหลาย ๆ เรื่อง ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างชูมัคเคอร์กับอาเดเนาร์ในเรื่องนี้ทำให้ชูมัคเคอร์ถูกวิจารณ์ว่าเขาค่อนข้างเชื่องช้าต่อการตอบสนองความต้องการของมหาอำนาจตะวันตกหรือมิฉะนั้นก็ขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่ชูมัคเคอร์และอาเดเนาร์มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับรัฐเยอรมนีตะวันตกที่จะจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ แม้ว่าชูมัคเคอร์จะสนับสนุนการปกครองในระบอบสหพันธ์แต่เขาต้องการให้มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากกว่านายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีความมั่นใจว่าเขาจะได้รับเลือกตั้งให้ครองตำแหน่งนี้ ทั้งยังต้องการให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือรัฐบาลของรัฐ แต่ร่างฉบับแรกของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของเยอรมนีตะวันตกกลับกำหนดให้เยอรมนีตะวันตกมีการปกครองในระบอบสหพันธ์ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจไม่มากนักซึ่งเป็นความต้องการของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสรวมทั้งพรรคซีดียูด้วย แต่ชูมัคเคอร์ไม่เห็นด้วยจึงต่อต้านอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้เป็นกำลังสำคัญที่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความในรัฐธรรมนูญบางประเด็นตามที่ชูมัคเคอร์ต้องการเพราะในขณะนั้นมหาอำนาจตะวันตกทั้งสามต้องการให้รัฐเยอรมนีตะวันตกมีสถานะเป็นประเทศที่ดำเนินงานได้โดยเร็วที่สุด เพื่อแข่งกับสหภาพโซเวียตที่กำลังจัดตั้งประเทศเยอรมนีตะวันออกอยู่ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วจึงให้อำนาจสูงสุดแก่รัฐบาลกลางของสหพันธ์เหนืออำนาจของรัฐต่าง ๆ แต่ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจน้อยกว่านายกรัฐมนตรี

 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว เยอรมนีตะวันตกได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ แม้ว่าชูมัคเคอร์และผู้สังเกตการณ์ทั่วไปจะมีความมั่นใจว่าพรรคเอสพีดีน่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พรรคซีดียูของอาเดเนาร์ก็มีข้อได้เปรียบพรรคเอสพีดีหลายประการ เช่น การที่เขตฐานเสียงที่แข็งแกร่งที่สุดของพรรคเอสพีดีในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะนั้นอยู่ในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตเกือบทั้งหมด ในขณะที่เขตที่เป็นอนุรักษนิยมและเป็นคาทอลิกส่วนใหญ่ของเยอรมนี เช่น บาวาเรีย (Bavaria) ไรน์แลนด์ (Rhineland) อยู่ในเขตเยอรมนีตะวันตกซึ่งประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เสียงสนับสนุนพรรคเอสพีดีน้อยกว่าพรรคซีดียู นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสยังชอบอาเดเนาร์มากกว่าชูมัคเคอร์ซึ่งนอกจากเป็นสังคมนิยมแล้วยังมีนโยบายแข็งกร้าวและไม่ยอมประนีประนอมกับผู้ใดเพราะอาเดเนาร์แม้จะเป็นอนุรักษนิยมแต่ก็มีแนวคิดเสรีนิยมและดำเนินนโยบายสายกลางรวมทั้งให้ความร่วมมือกับฝ่ายตะวันตกตลอดมา มหาอำนาจทั้งสองจึงได้ช่วยรณรงค์หาเสียงให้อาเดเนาร์เท่าที่จะทำได้ ขณะที่อังกฤษแสดงท่าทีเป็นกลาง ขณะเดียวกันสงครามเย็นที่ขยายตัวออกนอกยุโรปรวมทั้งท่าทีอันแข็งกร้าวของสหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมโดยรวม ในเยอรมนีตะวันตกด้วย มีผู้วิจารณ์ว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๕ พรรคเอสพีดีอาจได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากนี้ สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปค่าเงินมาร์คของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจในเขตตะวันตกที่มีลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard)* แห่งพรรคซีดียูเป็นประธานก็มีส่วนช่วยเพิ่มคะแนนเสียงให้แก่พรรคซีดียูด้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือสุขภาพอันทรุดโทรมของชูมัคเคอร์ที่ทำให้เขาป่วยหนักและในที่สุดต้องตัดขาข้างซ้ายในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาวเยอรมันผู้ออกเสียงเกรงว่าเขาอาจไม่สามารถทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศได้อย่างเต็มที่ แม้ชาวเยอรมันส่วนใหญ่จะยังคงชื่นชมและยกย่องความกล้าหาญ ความทรหดอดทน และความสามารถของเขาก็ตาม

 อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคเอสพีดีได้คะแนนเสียงมากกว่าทุกพรรคโดยได้ร้อยละ ๒๙.๒ ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง แต่แพ้คะแนนเสียงของพรรคซีดียูกับพรรคซีเอสยูซึ่งเป็นพรรคน้องหรือสาขาของพรรคซีดียูในเขตบาวาเรียรวมกันซึ่งได้คะแนนเสียงร้อยละ ๓๒ หรือมากกว่าพรรคเอสพีดีถึง ๔๒๔,๐๐๐ คะแนน จึงถือว่าพรรคเอสพีดีแพ้คะแนนเสียงพรรคซีดียู พรรคซีดียูจึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยนำพรรคประชาธิปไตยเสรีหรือเอฟดีพี (Free Democratic Party-FDP) พรรคเยอรมัน (German Party) และพรรคเล็กอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้าร่วมด้วยพรรคเอสพีดีจึงกลายเป็นพรรคฝ่ายด้าน ทำให้ชูมัคเคอร์ผิดหวังและเสียใจมาก แต่เขาก็ยังคงอดทนทำหน้าที่พรรคฝ่ายด้านที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และนโยบายของเขาต่อไป

 ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านชูมัคเคอร์หันมามุ่งเน้นที่นโยบายต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพรรคเอสพีดีเพราะในช่วงก่อนสงครามพรรคเอสพีดีมุ่งให้ความสำคัญแก่นโยบายภายในประเทศเป็นหลัก เขาต่อต้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอาเดเนาร์แทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายการผูกพันประเทศไว้กับฝ่ายตะวันตกและการเข้าร่วมในแผนบูรณาการยุโรปของเยอรมนีตะวันตก ซึ่งได้แก่ การรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) และการเข้าร่วมในแผนชูมอง (Schuman Plan)* ตามข้อเสนอของโรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community-ECSC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ตลอดจนการเข้าร่วมในแผนจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community-EDC) ในปีเดียวกัน เพราะเขาเห็นว่าการเข้าร่วมในแผนเหล่านี้จะทำให้เยอรมนีตะวันตกกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ระบบทุนนิยมเข้มแข็งขึ้นและจะทำให้เยอรมนีตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้นด้วย

 ชูมัคเคอร์ยังมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับอีซีเอสซีว่าการรวมอุตสาหกรรมหนักของยุโรปเข้าด้วยกันจะกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเยอรมนีตะวันตก ทั้งยังวิจารณ์ว่าการจัดตั้งประชาคมดังกล่าวเป็นความคิดของพวกอนุรักษนิยมพวกนักบวช พวกทุนนิยม และกลุ่มธุรกิจที่ต้องการกระจายทุนเท่านั้น ทั้งยังสงสัยในเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์การในระบบเหนือรัฐ (supranationalism) ของฝรั่งเศสว่าอาจเป็นความพยายามของฝรั่งเศสที่จะเข้าไปมีอำนาจเหนือชาติสมาชิกอื่น เขาจึงไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอีซีเอสซีของเยอรมนีตะวันตก ส่วนอีดีซีนั้นชูมัคเคอร์ต่อต้านอย่างรุนแรงมาแต่ต้นเช่นกัน เพราะเห็นว่ากองทัพเยอรมันไม่ได้อยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกับกองทัพของชาติสมาชิกอื่นเขายํ้าว่า “ยุโรปหมายถึงสิทธิอันเท่าเทียมกัน” (Europe means equal rights) นอกจากนี้ เขายังเห็นว่าการเข้าร่วมในอีดีซีจะทำให้เยอรมนีตะวันตกมีกองทัพติดอาวุธซึ่งเป็นการขัดต่อนโยบายความเป็นกลางของเยอรมนีตามที่เขาได้เสนอไว้ตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยชูมัคเคอร์ได้ยํ้าอยู่ตลอดเวลาว่าเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่กว้างใหญ่จะสามารถตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและสันติสุขก็โดยการรวมเป็นประเทศเดียวกันที่เป็นกลางและไม่มีกองทัพติดอาวุธเท่านั้น อย่างไรก็ดี ความเห็นของเขาในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไปเท่าใดนักแม้แต่พรรคการเมืองสังคมนิยมในยุโรปตะวันตกและสมาชิกพรรคเอสพีดีบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับเขา

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๒ ชูมัคเคอร์ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่ให้รวมเยอรมนีทั้ง ๒ ประเทศเข้าด้วยกัน โดยให้เยอรมนีที่รวมกันแล้วเป็นประเทศที่เป็นกลางในทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส รวมทั้งอาเดเนาร์ แม้ว่าอาเดเนาร์จะมีนโยบายการรวมเยอรมนีใหม่ (Reunification of Germany) เป็นนโยบายหลักของประเทศก็ตาม ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตกและอาเดเนาร์ทำให้ชูมัคเคอร์ผิดหวังมากขึ้น หลังจากนั้น บทบาทของเขาได้รับการยอมรับจากมหาชนน้อยลง เนื่องจากคนเหล่านั้นเห็นว่านโยบายของเขาเป็นนโยบายที่เคร่งครัดตายตัวเกินไปขาดความยืดหยุ่น และไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศและประชาชนเท่าที่ควร ในขณะที่อาเดเนารีกลับประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถนำประเทศไปสู่การยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ประกอบกับสุขภาพของชูมัคเคอร์ก็ทรุดโทรมและอ่อนล้าจนล้มปวยหนักหลายครั้ง การลงโทษอย่างทารุณของนาซีได้ทำลายระบบการย่อยอาหารในร่างกายจนเกือบจะไม่ทำงาน ในแต่ละวันชูมัคเคอร์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารเพียงเล็กน้อย ยาระงับปวด ยาย่อยอาหาร การสูบบุหรี่อย่างหนัก และการดื่มชาดำแก่จัด ๑๕ ถ้วย เขาจึงผ่ายผอมชนิดหนังหุ้มกระดูก หลังค่อมและต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเวลาเดิน ชูมัคเคอร์มีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานมาโดยตลอด แต่เขาก็ยังคงทำงานทางการเมืองต่อมาด้วยความอดทนจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 คูร์ท ชูมัคเคอร์ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันด้วยโรคสมองขาดเลือดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๒ ขณะ อายุ ๕๗ ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของพรรคเอสพีดีและของชาติ เพราะเขาได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาพรรคเอสพีดีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้กลับมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองของเยอรมนีได้อีกครั้ง อีกทั้งการทำงานในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านควบคู่กับอาเดเนาร์ในช่วงสงครามโลกยุติลงใหม่ ๆ ก็ถือได้ว่า เขามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงให้แก่เยอรมนี อาเดเนาร์ซึ่งยกย่องความมีศักดิ์ศรี พลังใจอันแข็งแกร่ง และความสามารถในการทำงานของชูมัคเคอร์เป็นอย่างมากจึงกล่าวสรรเสริญชูมัคเคอร์ว่า “แม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่เราก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือความพยายามที่จะทำทุกสิ่งเพื่อผลประโยชน์และความอยู่ดีของประชาชนของเรา” นอกจากนี้ ความตั้งใจอันแน่วแน่และความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยรวมทั้งคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่ทำให้คนเคารพรักยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ชักนำให้นักการเมืองและนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานกับพรรคเอสพีดีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกหลายคน อาทิ คาร์ล ชิลเลอร์ (Karl Schiller) วิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* คาร์โล ชมิด (Carlo Schmid) และแฮร์แบร์ท เวเนอร์ (Herbert Wehner).



คำตั้ง
Schumacher, Kurt
คำเทียบ
นายคูร์ท ชูมัคเคอร์
คำสำคัญ
- กฎหมายพื้นฐาน
- โกรทโวล, ออทโท
- ค่ายกักกัน
- ชมิด, คาร์โล
- ชิลเลอร์, คาร์ล
- ชูมอง, โรแบร์
- ชูมัคเคอร์, คูร์ท
- ประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี
- แผนชูมอง
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีหรือเคพีดี
- พรรคนาซี
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยเสรีหรือเอฟดีพี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสหภาพ
- พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนหรือซีดียู
- พรรคสหภาพสังคมคริสเตียนหรือซีเอสยู
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเอกภาพสังคมนิยม
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- ระบบเหนือรัฐ
- ลัทธินาซี
- เวเนอร์, แฮร์แบร์ท
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภานิติบัญญัติแห่งรัฐเวือร์ทเทมแบร์ก
- สภาไรค์ชตาก
- สภาแห่งยุโรป
- อาเดเนาร์, คอนราด
- แอร์ฮาร์ด, ลุดวิก
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1895-1952
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-