แมรี วุลสโตนคราฟต์เป็นนักปรัชญาการเมืองและนักประพันธ์ชาวอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ งานเขียนของเธอเรียกร้องให้สตรีได้รับสิทธิทางการเมืองและสังคม และมีโอกาสศึกษาเฉกเช่นเดียวกับบุรุษ เพราะการศึกษาจะทำให้สตรีสามารถแสดงศักยภาพอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอาชีพหรือมีบทบาทเพียงในครอบครัวอย่างที่สังคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ คาดหวังอย่างไรก็ดี การดำเนินชีวิตของวุลสโตนคราฟต์ที่ผิดจากจารีตของสตรีสมัยนั้นดูโลดโผนในสายตาของคนร่วมสมัยและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนจึงสนใจเรื่องราวชีวิตของเธอมากกว่าผลงานและมองข้ามสาระในแนวคิดที่เธอสื่อสารออกมาเป็นเวลานาน ในทศวรรษ ๑๙๘๐ วุลสโตนคราฟต์ได้รับยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวอังกฤษรุ่นบุกเบิก
วุลสโตนคราฟต์เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๙ ที่บ้านบนถนนพริมโรส (Primrose Street) ในย่านสปิทัลฟีลส์ (Spitalfields) กรุงลอนดอน เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน ๗ คนของเอดเวิร์ด จอห์น วุลสโตน-คราฟต์ (Edward John Wollstonecraft) ช่างทอผ้าเช็ดหน้า และเอลิซาเบทดิกซัน (Elizabeth Dixon) ซึ่งมีเชื้อสายไอริช ปู่เป็นนายช่างทอผ้าที่ทิ้งมรดกจำนวนไม่น้อยให้แก่ทายาท แต่บิดาของเธอล้มเหลวในการลงทุนทำการเกษตร และพาครอบครัวโยกย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เอปปิง (Epping) บาร์กิง (Barking) เบเวอร์ลีย์ (Beverley) ฮอกซ์ตัน (Hoxton) วัลเวิร์ท (Walworth) และลาร์น (Laugharne) ในแคว้นเวลส์จากนั้นก็วกกลับมากรุงลอนดอนอีกฐานะของครอบครัวก็ยากจนลงตามลำดับจนทำให้เอดเวิร์ด (Edward) เป็นบุตรเพียงคนเดียวที่ได้รับการศึกษาในระบบจนสำเร็จการศึกษาและได้ประกอบอาชีพทนายความ ส่วนพี่น้องคนอื่นๆเรียนหนังสือที่บ้านนอกจากไม่สามารถเพิ่มพูนทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่งจากมรดกและยังทำให้ร่อยหรอลงจนครอบครัวอัตคัดแล้ว เอดเวิร์ด จอห์นวุลสโตนคราฟต์ยังเป็นคนขี้โมโห ชอบวางอำนาจและทุบตีภรรยาเป็นประจำเมื่อเมาสุรา ตอนวัยรุ่นแมรีจึงมักจะนอนอยู่หน้าห้องนอนของมารดาบ่อยครั้งเพื่อปกป้องมารดา
ความไม่พอใจในพฤติกรรมของบิดา วุลสโตนคราฟต์จึงตัดสินใจออกไปดำเนินชีวิตด้วยตนเองใน ค.ศ. ๑๗๗๘ ขณะมีอายุ ๑๙ ปีโดยรับงานเป็นผู้ติดตามดูแลซาราห์ดอว์สัน (Sarah Dawson) สตรีม่ายสูงวัยที่ค่อนข้างเจ้าอารมณ์ที่เมืองบาท(Bath)แต่งานนี้ไม่ถูกกับอุปนิสัยของเธอเลยต่อมาอีก๒ปีเธอจึงกลับบ้านเพื่อพยาบาลมารดาที่ล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุดหลังจากนั้นไม่นานบิดาก็แต่งงานใหม่วุลสโตนคราฟต์ก็ย้ายเข้าไปพักกับครอบครัวของแฟนนี(ฟรานซิส)บลัด[Fanny(Frances) Blood] เพื่อนสนิท โดยช่วยมารดาของแฟนนีทำงานเย็บปักถักร้อยขณะที่แฟนนีวาดรูปภาพสีน้ำ ใน ค.ศ. ๑๗๘๓ ความรู้สึกอยากปกป้องน้องสาวทำให้เธอช่วยอิไลซา (Eliza) หนีจากเมเรอดิท บิชอป (Meredith Bishop)สามีที่มักทำร้ายร่างกายภรรยาไปหลบซ่อนตัวจนกระทั่งสามารถแยกกันอยู่ได้ตามกฎหมายแต่การที่อิไลซาทิ้งสามีและลูกทำให้เธอถูกสังคมตำหนิติเตียนและเมื่อไม่ได้สมรสอีก เธอจึงต้องยังชีพอย่างยากจนและทำงานหนักไปตลอด ในปีต่อมาวุลสโตนคราฟต์อิไลซา และบลัด ได้ช่วยกันเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงที่นิววิงตันกรีน (Newington Green) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้เขตแฮกนีย์(Hackney)ทางเหนือของกรุงลอนดอนเพื่อเป็นการหาเลี้ยงชีพณที่นี้วุลสโตน-คราฟต์ได้มีโอกาสรู้จักกับริชาร์ด ไพรซ์ (Richard Price)ซึ่งเป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์ในท้องถิ่นและโจเซฟพรีสต์ลีย์ (Joseph Priestley) ศาสนาจารย์นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ทั้งสองอยู่ในกลุ่มนักคิดหัวรุนแรงที่ต้องการการปฏิรูปการเมือง
การไปร่วมในวงสนทนาที่บ้านไพรซ์ทำให้วุลสโตน-คราฟต์ได้พบกับโจเซฟจอห์นสัน(Joseph Johnson) เจ้าของสำนักพิมพ์ย่านมหาวิหารเซนต์พอล (St.Paul) ซึ่งประทับใจแนวความคิดของเธอในเรื่องการศึกษาซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากประสบการณ์การสอนในโรงเรียนที่นิวอิงตันกรีนและจากการไปทำงานกับดอว์สัน จอห์นสันจึงจ้างให้เธอเขียนหนังสือแสดงความเห็นเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงและสตรี เรื่อง Thoughts on the Education of Girls (Daughters): with Reflections on Female Conduct in the more important Duties of Life (ค.ศ. ๑๗๘๖) หนังสือเรื่องนี้โจมตีวิธีการสอนเด็กผู้หญิงแบบที่เป็นอยู่และได้เสนอหัวข้อใหม่ ๆ ที่ควรสอนให้นักเรียนหญิงได้รับรู้ ต่อมาไม่นานบลัดแต่งงานกับฮิวสกีส์ (Hugh Skeys) ซึ่งมีอาชีพพ่อค้าและติดตามเขาไปโปรตุเกสเพื่อฟื้นฟูสุขภาพตนที่เปราะบาง กิจการของโรงเรียนที่ร่วมกันเปิดสอนมีท่าทีว่าต้องล้มเลิกเมื่อวุลสโตนคราฟต์ถูกตามตัวไปโปรตุเกสเพื่อพยาบาลบลัดซึ่งในที่สุดเสียชีวิตจากการคลอดบุตรก่อนกำหนดใน ค.ศ. ๑๗๘๕ เพื่อนสาวคนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บันดาลใจให้เธอเขียนเรื่อง Mary: A Fiction ในเวลา ๓ ปีต่อมา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครหญิงที่ถูกบังคับให้เข้าสู่การแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเงินโดยไม่มีพื้นฐานความรัก เธอจึงต้องชดเชยความปรารถนาในความรักด้วยการปลูกฝังมิตรภาพที่แนบแน่นหวือหวากับบุคคล ๒ คน รายหนึ่งเป็นผู้ชายและอีกรายเป็นผู้หญิง
ความเศร้าโศกกับการจากไปของเพื่อนรักและการต้องล้มเลิกโรงเรียนด้วยปัญหาการเงินหลังกลับจากโปรตุเกสทำให้วุลสโตนคราฟต์หันไปทำงานเป็นครูสอนตามบ้าน (governess) ให้แก่ครอบครัวคิงส์บะระ (Kingsborough) ที่ไอร์แลนด์ แต่ไม่นานก็เห็นว่าการทำงานตามบ้านไม่เหมาะกับเธอ วุลสโตนคราฟต์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับเลดีคิงส์บะระ แต่เข้ากันได้ดีกับเด็ก ๆ ซึ่งต่อมาทำให้วุลสโตนคราฟต์ได้ข้อมูลมาเขียนหนังสือเด็กเรื่อง Original Stories from Real Life (ค.ศ. ๑๗๘๘) เธอกลับมายังกรุงลอนดอนอีกครั้งและพักอยู่ที่ถนนจอร์จ (George Street) ด้วยความรู้สึกคับแค้นใจกับหนทางอาชีพที่จำกัดสำหรับผู้หญิงดี ๆ แต่ไม่มีทรัพย์สมบัติซึ่งเธอได้บรรยายออกมาในบทที่ชื่อว่า “Unfortunate Situation of Females, Fashionably Educated, and Left Without a Fortune” ในหนังสือ Thoughts on the Education of Daughters เธอจึงยึดอาชีพนักเขียนซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าบ้าบิ่นเพราะสมัยนั้นแทบไม่มีสตรีคนใดสามารถดำรงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือวุลสโตนคราฟต์เรียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสและทำงานเป็นนักแปลงานเขียน เช่น Of the Importance of Religious Opinions ของ ชาก เนแกร์ (Jacques Necker)* Elements of Morality, for the Use of Children ของคริสเตียนกอททิลฟ์ซัลซ์มันน์ (Christian Gotthilf Salzmann) และ Young Grandison ของมาดาม เดอก็องบง (Madame de Cambon) และเป็นที่ปรึกษาด้านหนังสือให้สำนักพิมพ์ของจอห์นสันซึ่งมีชื่อด้านการผลิตงานเขียนที่แสดงแนวคิดรุนแรง นอกจากนี้วุลสโตนคราฟต์ยังเขียนบทวิจารณ์นวนิยายเผยแพร่ใน Analytical Review ซึ่งเป็นวารสารที่เธอกับจอห์นสันช่วยกันเริ่มจัดทำขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๘ นอกจากนั้น ผลงานรวมเรื่อง The Female Reader; Miscellaneous Pieces in Prose and Verse; Selected from the Best Writers and Disposed under Proper Heads; for the Improvement of Young Women ก็ได้พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ แต่วุลสโตนคราฟต์ยังปกปิดความเป็นสตรีโดยใช้นามแฝงว่า มิสเตอร์เครสวิก ครูสอนศิลปะการพูด (Mr. Cresswick, teacher of Elocution)
การมาทำงานกับจอห์นสันทำให้สังคมของวุล-สโตนคราฟต์ขยายวงกว้างเช่นเดียวกับความสนใจทางด้านภูมิปัญญา ช่วงนี้เองที่เธอได้พบกับวิลเลียมก็อดวิน (William Godwin) นักปรัชญาการเมืองซึ่งเป็นสามีเธอในเวลาต่อมา การรู้จักกันในช่วงแรกนี้ทั้งคู่ถกเถียงและขัดแย้งกันทางความคิด ขณะนั้นวุลสโตนคราฟต์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอยู่กับเฮนรีฟูเซลี (Henry Fuseli) จิตรกรอังกฤษเชื้อสายสวิสและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ซึ่งสมรสแล้วกับโซเฟีย รอว์ลินส์ (Sophia Rawlins) นางแบบในภาพวาดของเขา ฟูเซลีเคยวาดภาพวุล-สโตนคราฟต์ด้วย ในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับฟูเซลีสิ้นสุดลง เมื่อวุลสโตนคราฟต์เสนอว่าจะย้ายเข้าไปอยู่ร่วมกับครอบครัวของฟูเซลีโดยมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเท่านั้น แต่รอว์ลินส์ซึ่งวัยใกล้เคียงกับวุล-สโตนคราฟต์และอ่อนกว่าฟูเซลีราว ๒๐ ปีตื่นตกใจกับความคิดดังกล่าวและไม่ยินยอม
เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ไพรซ์ได้เทศนาสรรเสริญการปฏิวัติและแสดงทัศนะว่าชาวอังกฤษก็สามารถถอดกษัตริย์จากบัลลังก์ได้เช่นเดียวกับชาวฝรั่งเศสเอดมัน เบิร์ก (Edmund Burke)* นักปรัชญาและสมาชิกสภาสามัญตอบโต้ทัศนะนี้ด้วยการเขียนReflections on the Revolution in France ซึ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์วุลสโตนคราฟต์โกรธเคืองที่เบิร์กซึ่งเคยโต้เถียงแทนชาวอาณานิคมอเมริกันกลับมาโจมตีการปฏิวัติฝรั่งเศสในคราวนี้ และการดูหมิ่นไพรซ์ก็ทำให้เธอขุ่นเคืองใจมากและต้องการโต้เถียงแทน จึงเขียนจุลสารเรื่อง A Vindication of the Rights of Man ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๐ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกไม่เปิดเผยชื่อ แต่มาเปิดเผยในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ กลางเดือนธันวาคมต่อมา ในงานเขียนชิ้นนี้เธอไม่เพียงแต่กล่าวปกป้องไพรซ์ แต่ยังชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่เป็นอยู่ในสังคม เช่น การค้าทาส การปฏิบัติต่อคนจนอย่างไม่สมควร ความคิดเห็นของเธอเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากปัญญาชนช่วงเวลานั้นซึ่งเป็นสมัยแห่งภูมิธรรม (Enlightenment) เธอเชื่อในประเด็นความก้าวหน้าของสังคม จึงดูแคลนที่เบิร์กเน้นเรื่องจารีตและประเพณีเธอกล่าวว่าระบบที่เบิร์กสนับสนุนจะทำให้การเป็นทาสยังดำเนินต่อไปเพียงเพราะว่าเป็นจารีตมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เมื่อจุลสารนี้เผยแพร่ก็เป็นที่สนใจของนักคิดหัวรุนแรงคนอื่น ๆ เช่น ทอมัส เพน (Thomas Paine)* จอห์น คาร์ตไรต์ (John Cartwright) ก็อดวิน วิลเลียม เบลก (William Blake)
สองปีหลังจากออกผลงานสำคัญเล่มแรกชื่อ A Vindication of the Rights of Man เธอก็พิมพ์ผลงานที่ต่อมาถือกันว่าเป็นชิ้นสำคัญที่สุดของเธอ คือ A Vindication of the Rights of Woman: with Strictures on Political and Moral Subjects ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* นักการเมืองและนักการทูตคนสำคัญของฝรั่งเศสเดินทางมาอังกฤษ เธอจึงอุทิศการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ให้แก่เขา ในงานเขียนชิ้นนี้นอกจากขยายความประเด็นที่เธอหยิบยกขึ้นในงานเขียนชิ้นก่อน เธอโจมตีข้อจำกัดทางการศึกษาที่ตีกรอบทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสภาวะโง่เขลาและไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เธอวิพากษ์สังคมที่ต้องการเห็นผู้หญิงเป็นบุคคลที่ว่าง่ายและสนใจรูปลักษณ์ของตนจนละเลยสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด การจำกัดวิถีชีวิตผู้หญิงให้อยู่ในขอบเขตทำให้พวกเธออัดอั้นและอาจแปรเปลี่ยนเป็นบุคคลที่กดขี่บุตรและคนรับใช้ในบ้านได้ ทางออกคือต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาที่ทัดเทียมกับผู้ชาย การศึกษาของสตรีที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถทำให้ผู้หญิงมีคุณสมบัติตามที่สังคมคาดหวังและแทบจะประกันได้ว่าพวกเธอจะมีชีวิตที่ไร้ความสุข ในส่วนที่เกี่ยวกับการสมรส เธอกล่าวว่าการสมรสเปรียบเหมือนการเป็นโสเภณีที่ถูกกฎหมายและเสริมว่าสตรีก็เสมือนทาสที่สนองต่อความสะดวก แต่อันที่จริงสภาวะทาสเช่นนี้เป็นการลดคุณค่าทั้งของผู้เป็นนายและทั้งทาสที่น่าสงสาร และในกรณีทั่วไป การสมรสเป็นการตกลงในเรื่องของทรัพย์สินเท่านั้น ทัศนะที่แสดงออกมาของวุลสโตนคราฟต์ก่อเสียงขัดแย้งอย่างครึกโครม นอกจากนี้เธอยังเขียนเรื่อง Maria หรือ The Wrongs of Woman ซึ่งยืนยันว่าผู้หญิงมีความปรารถนาทางเพศที่แรงกล้า การเสแสร้งว่าไม่จริงยิ่งเป็นการไม่ถูกต้องและทำให้ดูตกต่ำลงมากกว่า ผู้วิจารณ์งานของเธอในเวลาต่อมาเห็นว่างานชิ้นหลังนี้เพียงชิ้นเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอถูกประณามตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
หลังประสบความสำเร็จจากงานเขียนเรื่อง A Vindication of the Rights of Man ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนด้านการเมืองกอปรกับความอึดอัดใจจากการต้องตัดสัมพันธ์กับฟูเซลี วุลสโตนคราฟต์จึงตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เพื่อสังเกตเหตุการณ์การปฏิวัติด้วยตนเองซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* จะทรงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตีน ที่กรุงปารีสเธอได้มีโอกาสพบกับกิลเบิร์ต อิมเลย์ (Gilbert Imlay) นักธุรกิจค้าไม้และนักแสวงโชคชาวอเมริกันซึ่งเป็นกลุ่มคณะทูตอเมริกันประจำฝรั่งเศสในขณะนั้น เธอหลงรักเขาและมีความสัมพันธ์กันโดยไม่ได้มีการแต่งงานจนเธอคลอดแฟนนี อิมเลย์ (Fanny Imlay) บุตรสาวคนแรกใน ค.ศ. ๑๗๙๔ ที่เมืองเลออาฟร์ (Le Havre) แฟนนีเป็นชื่อที่วุลสโตนคราฟต์ตั้งให้บุตรสาวเพื่อเป็นการรำลึกถึงเพื่อนรักที่เคยก่อตั้งโรงเรียนร่วมกัน เธอดีใจกับการได้เป็นมารดาและยังคงทำงานเขียนต่อไป โดยในปีเดียวกันนี้ได้ตีพิมพ์เรื่อง An Historical and Moral View of the Origin and Progress of the French Revolution แต่เมื่อเหตุการณ์ในฝรั่งเศสดำเนินไปจนอังกฤษตัดสินใจประกาศสงครามกับฝรั่งเศส อิมเลย์เห็นว่าสถานการณ์อาจเป็นภัยต่อวุลสโตนคราฟต์ เขาจึงจดทะเบียนรับรองฐานะการเป็นภรรยาให้เธอโดยไม่ได้สมรสกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เธออยู่ในฐานะที่ได้รับการคุ้มครองแบบพลเมืองอเมริกัน แต่เพื่อนฝูงที่อยู่ในแวดวงของเธอก็ไม่ได้โชคดีไปทั้งหมด ทอมัส เพน ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนการปฏิวัติด้วยซ้ำยังถูกจับกุมต่อมาความเบื่อหน่ายกับช่วงเวลาที่วุลสโตนคราฟต์ต้องติดพันกับการเลี้ยงลูก อิมเลย์จึงละทิ้งทั้งแม่ทั้งลูกกลับกรุงลอนดอนไปในขณะที่ภาวะการเมืองในฝรั่งเศสกำลังปั่นป่วน
เมื่อวุลสโตนคราฟต์แน่ใจว่าถูกทอดทิ้งอยู่ที่ฝรั่งเศส เธอจึงเดินทางกลับกรุงลอนดอนเพื่อตามหาอิมเลย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๕ และเมื่อถูกเขาปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเธอพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม แต่อิมเลย์ช่วยไว้ได้ทันและกลับมาใช้ชีวิตคู่กับเธออีกครั้ง หลังจากนั้นเธอเดินทางพร้อมบุตรสาวไปสแกนดิเนเวียเป็นเวลา ๕ เดือน เพื่อกอบกู้ธุรกิจบางอย่างของอิมเลย์ โดยหวังว่าจะช่วยให้เธอชนะใจอิมเลย์อีกครั้ง ซึ่งจากการเดินทางนี้วุลสโตนคราฟต์ได้เขียนเล่าการเดินทางในผลงานชื่อ Letters Written During a Short Residence in Sweden, Norway and Denmark ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักกว้างขวางในทศวรรษ ๑๗๙๐ แต่เมื่อกลับมากรุงลอนดอนก็พบว่าอิมเลย์ยังคงนอกใจเธอ วุลสโตนคราฟต์จึงพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ ๒ ในค่ำคืนที่ฝนกำลังตก เมื่อเสื้อผ้าของเธอเปียกชุ่ม เธอก็กระโดดจากสะพานพัตนีย์ (Putney Bridge) ลงในแม่น้ำเทมส์ (Thames) แต่โชคดีมีคนพายเรือช่วยไว้ได้วุลสโตนคราฟต์ได้เลิกรากับอิมเลย์อย่างเด็ดขาดในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ หลังจากค่อย ๆ ฟื้นตัวจากภาวะจิตใจที่ถูกทอดทิ้ง วุลสโตนคราฟต์ก็ได้กลับคืนสู่ชีวิตนักเขียนและวงการวรรณกรรมซึ่งทำให้เธอได้พบกับก็อดวินอีกครั้งหนึ่งในเดือนต่อมา คราวนี้ทั้งคู่ตกหลุมรักกันภายในฤดูร้อนปีนั้น
ก็อดวินเป็นผู้หนึ่งที่วางแนวคิดปรัชญาอนาธิปไตยและเป็นผู้เขียนบทความประจำให้แก่วารสาร Analytical Review ที่วุลสโตนคราฟต์ช่วยจอห์นสันพิมพ์เผยแพร่ ก็อดวินประทับใจงานเขียนเล่าเรื่องการเดินทางไปสแกนดิเนเวียของเธอที่แสดงความชื่นชมธรรมชาติ ความนึกคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและการเรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของผู้คนที่เธอได้ไปพบปะจนถึงขนาดที่ก็อดวินกล่าวว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เขาหลงรักผู้ประพันธ์ ทั้งสองมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับการสมรสว่าเป็นเรื่องของการกดขี่ การวางอำนาจ ผู้หญิงจะสูญเสียสถานะทางกฎหมายของตน และกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสามี ดังนั้นการสมรสจึงเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีคนอยู่เคียงข้างกันอย่างรักใคร่ แต่เมื่อวุลสโตนคราฟต์ตั้งครรภ์ ทั้งคู่ก็จำต้องแต่งงานกันในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ ที่โบสถ์เซนต์แพงครัส (St. Pancras) จนทำให้เรื่องเปิดเผยขึ้นมาว่าเธอไม่ได้สมรสอย่างเป็นทางการกับอิมเลย์และทำให้เพื่อนฝูงหลายคนเลิกคบหาสมาคมกับทั้งคู่ก็อดวินเองก็ถูกตำหนิจากการที่เคยเขียนสนับสนุนให้เลิกล้มความคิดเรื่องการแต่งงานในงานเขียนเชิงปรัชญาเรื่อง Political Justice
คู่สมรสใหม่ย้ายเข้าไปอยู่ย่านโซเมอร์สทาวน์ (Somers Town) กลางกรุงลอนดอน โดยอยู่ในบ้านที่สร้างติดกันซึ่งเรียกว่า โพลีกอน (Polygon) เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้มีความเป็นอิสระในการเขียนผลงานต่อไป ในวันที่๓๐สิงหาคมแมรีวุลสโตนคราฟต์ก็อดวิน (Mary Wollstonecraft Godwin) บุตรสาวคนที่ ๒ ของเธอก็ถือกำเนิดขึ้น แต่การที่รกเด็กยังติดค้างอยู่ในครรภ์ของวุลสโตนคราฟต์ แพทย์จึงพยายามเอาออกแต่เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicimia) แมรีวุลสโตนคราฟต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๗ หลังจากคลอดบุตรสาวได้เพียง ๑๑ วัน ขณะอายุ ๓๘ ปี พิธีศพของเธอจัดขึ้นที่สุสานโอลด์เซนต์แพงครัส (Old Saint Pancras Churchyard) ป้ายเหนือหลุมศพมีคำจารึกว่า ผู้ประพันธ์เรื่อง A Vindication of the Rights of Woman ภายหลังเซอร์เพอร์ซี ฟลอเรนซ์ เชลลีย์ (Percy Florence Shelley) หลานชายได้ย้ายศพของเธอไปไว้ที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในบอร์นมัท (Bournemouth)
ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ก็อดวินซึ่งแทบหัวใจสลายกับการจากไปอย่างกะทันหันของภรรยาได้จัดพิมพ์หนังสือชุดรวมผลงานของเธอในชื่อ The Posthumous Works รวม ๔ เล่มออกเผยแพร่พร้อมๆกับผลงานของเขาเรื่อง Memoirs of the Author of A Vindication of the Rights of Woman ที่ว่าด้วยความทรงจำของก็อดวินเกี่ยวกับวุลสโตนคราฟต์อย่างจริงใจ การบรรยายเรื่องราวชีวิตของภรรยาอย่างเปิดเผยทั้งเรื่องความรักการถูกอิมเลย์ทรยศ กำเนิดของแฟนนีที่เป็นบุตรนอกสมรสการพยายามฆ่าตัวตายถึง๒ครั้งเพราะไม่สามารถทำใจได้กับการนอกใจเธอของอิมเลย์ รายละเอียดในชีวิตของเธอเช่นนี้ทำให้บรรดานักคิดและนักเขียนจำนวนมากแทบจะไม่สนใจชื่อของวุลสโตนคราฟต์อีกเลย หลายคนตกใจกับการเปิดเผยเรื่องราวที่ว่าด้วยการพยายามปลิดชีวิตตน ชีวิตรักที่ผิดแผกจากจารีตและการตั้งครรภ์นอกสมรสขณะเดียวกันก็มีคนวิจารณ์งานเขียนของเธออย่างเผ็ดร้อนและเห็นว่าผู้หญิงดี ๆ จะไม่อ่านผลงานพวกนั้น ดังนั้นความอาลัยรักภรรยาและความจริงใจในการเสนอเรื่องราวกลับทำให้ความคิดอ่านที่แสดงภูมิปัญญาของวุลสโตนคราฟต์ถูกมองข้ามไปเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงทางการเมือง งานของเธอก็ได้เริ่มเป็นที่รับรู้กันบ้าง มิลลิเซนต์ การ์เร็ตต์ ฟอว์เซตต์ (Millicent Garrett Fawcett)* ประธานสหภาพสมาคมเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรีแห่งชาติ (National Union of Women’s Suffrage Societies) เขียนคำนำของ A Vindication of the Rights of Woman ฉบับพิมพ์ ค.ศ. ๑๘๙๒ ในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีของงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งช่วยปัดเป่าความทรงจำด้านลบของผู้คนเกี่ยวกับวุลสโตนคราฟต์ไปได้บ้าง และกล่าวว่าเธอคือบรรพสตรีแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี และใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เรื่องของวุลสโตนคราฟต์ก็ได้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกด้วย แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเกิดขบวนการคตินิยมสิทธิสตรี (feminist movement) แบบในปัจจุบัน เสียงประณามวิถีชีวิตของวุลสโตนคราฟต์ก็ยังได้ยินกันอยู่จนกระทั่งทศวรรษ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ ภาพลักษณ์ใหม่ของวุลสโตนคราฟต์จึงได้ปรากฏขึ้นในหมู่ปัญญาชนที่อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นความมีเหตุมีผล (sensibility) เศรษฐศาสตร์และทฤษฎีทางการเมือง และสาระของงานเขียนเรื่องA Vindication of the Rights of Woman จึงได้รับการวิเคราะห์อย่างจริงจัง
A Vindication of the Rights of Woman ทำให้แมรี วุลสโตนคราฟต์ได้รับการเรียกขานว่าเป็นผู้หญิงอังกฤษคนแรกแห่งคตินิยมสิทธิสตรี (feminism) ถือเป็นงานเขียนคลาสสิกเกี่ยวกับสิทธิสตรีและไม่อาจถูกมองข้ามไปสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้านนี้วุลสโตนคราฟต์เสนอว่าผู้หญิงควรจะได้สิทธิเหมือนผู้ชายเพราะต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เธอโจมตีนักคิดอย่างจอห์น เกรกอรี (John Gregory) เจมส์ ฟอร์ไดซ์ (James Fordyce) และชอง ชาก รูโซ (Jean Jacques Rousseau) โดยเฉพาะคนหลังสุดที่เขียนผลงานเรื่อง Emile นอกจากไม่สนใจเรื่องการให้การศึกษาแก่สตรีแล้วยังกล่าวด้วยว่าผู้หญิงพึงได้รับการศึกษาเพียงเพื่อสนองความสุขของผู้ชาย วุลสโตนคราฟต์ยืนกรานว่าการที่ผู้หญิงสมัยเธอดูเหลวไหลและผิวเผิน โดยเธอใช้คำว่า ‘toys’ หรือ ‘spaniels’ หาใช่เพราะมีความบกพร่องทางธรรมชาติแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นเพราะผู้ชายปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา หากได้รับการศึกษาเหมือนและร่วมกันกับผู้ชาย (coeducation) ผู้หญิงก็จะเป็นคู่คิด ภรรยา และมารดาที่ดี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเพราะผู้หญิงเป็นผู้อบรมบุตรธิดา ซึ่งในที่สุดย่อมเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาตินอกจากนี้ ผู้หญิงควรจะได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงตนเองและบุตรได้ยามเป็นม่ายหรือผู้หญิงจะได้ไม่จำเป็นต้องสมรสหรือสมรสใหม่เพราะความจำเป็นทางการเงิน อาชีพผดุงครรภ์ก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้หญิง และผู้หญิงควรเป็นแพทย์ได้ เธอยังตำหนิวัฒนธรรมที่สอนผู้หญิงตั้งแต่เด็กให้คำนึงแต่ความสวยงามของตน หรือสังคมที่เห็นว่าสตรีเป็นเพียงอาภรณ์หรือเครื่องประดับในสังคม หรือเป็นเพียงทรัพย์สินที่รอการซื้อขายในตลาดสมรสเวอร์จิเนีย วุลฟ์ (Virginia Woolf) นักเขียนเพื่อสิทธิสตรีในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สรรเสริญทั้งชีวิตและผลงานของวุลสโตนคราฟต์ โดยกล่าวว่าวุลสโตนคราฟต์เสนอข้อคิดและทำการทดลอง สังคมยังคงได้ยินเสียงของเธอและรู้สึกถึงอิทธิพลของเธอ
วิลเลียม ก็อดวินเลี้ยงดูบุตรสาวทั้ง ๒ คนของวุลสโตนคราฟต์ ทั้งแฟนนี อิมเลย์ และแมรี ก็อดวินบุตรสาวคนหลังซึ่งเกิดกับเขานั้นเมื่อเติบโตเป็นสาวรุ่น อายุ ๑๖ ปี ได้คบหาอย่างสนิทสนมกับเพอร์ซี บิสช์ เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) กวีเอกชื่อเสียงโด่งดังที่สมรสแล้วและเป็นผู้ที่เลื่อมใสความเป็นนักคิดของก็อดวิน ทั้งคู่ซึ่งมีความสัมพันธ์กันเข้าสู่การสมรสหลังจากแฮร์เรียต เวสต์บรุก (Harriet Westbrook) ภรรยาของเชลลีย์ปลิดชีพตนเองด้วยการจมน้ำในทะเลสาบในไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ แมรีมีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ แมรี วุลสโตนคราฟต์เชลลีย์ (Mary Wollstonecraft Shelley) ผู้ประพันธ์เรื่อง Frankenstein หรือ The Modern Prometheus ซึ่งประสบความสำเร็จทันทีที่ปรากฏสู่สาธารณชนใน ค.ศ. ๑๘๑๘ ด้วยวัยเพียง ๒๑ ปี.