Schengen Agreement (1985)

ความตกลงเชงเงิน (พ.ศ. ๒๕๒๘)

ความตกลงเชงเงินเป็นสนธิสัญญาที่ชาติสมาชิกประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* ๕ ประเทศ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๕ ณ ตำบลเชงเงิน (Schengen) เมืองชายแดนเล็ก ๆ ของลักเซมเบิร์กด้านที่ติดต่อกับฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตก เป็นสนธิสัญญาที่บรรจุข้อตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศ ทั้งห้าร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อผ่อนปรนกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกของพลเมืองระหว่างกันต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ประเทศทั้งห้าได้ลงนามร่วมกันในอนุสัญญาการใช้ความตกลงเชงเงิน (Convention Implementing the Schengen Agreement) อีก ๑ ฉบับเพื่อเพิ่มเติมมาตรการต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับนี้ทำให้เกิดเขตเชงเงิน (Schengen Area) ขึ้นภายในประชาคมยุโรป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศที่ลงนามในความตกลงและอนุสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีการควบคุมพรมแดนภายในระหว่างกัน แต่มีระเบียบปฏิบัติต่อผู้เดินทางเข้าออกจากภายนอกเขตเสมือนหนึ่งเป็นรัฐเดียวกันโดยให้ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเพียงจุดเดียวหลังประชาคมยุโรปเปลี่ยนสถานภาพเป็นสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* แล้ว ชาติสมาชิกชองอียูอีกหลายประเทศได้เข้าร่วมในเขตเชงเงินนี้ แต่ทั้งความตกลงเชงเงินและอนุสัญญาเชงเงินก็ยังคงอยู่นอกกรอบสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome)* ค.ศ. ๑๙๕๗ และสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ค.ศ. ๑๙๙๒ จนใน ค.ศ. ๑๙๙๗ จึงได้ถูกนำมาผนวกไว้ในกฎหมายหลักของสหภาพยุโรป (Acquis Communautaire) ในสนธิสัญญาสำหรับยุโรป (Treaty for Europe) หรือสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ที่ลงนามในปีเดียวกันและมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๙๙

 ก่อน ค.ศ. ๑๙๑๔ การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศต่าง ๆ ในยุโรปสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สิ้นสุดลงและมีการสถาปนาประเทศใหม่ขึ้นอีกหลายประเทศตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาสันติภาพฉบับต่าง ๆ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๑๙ แล้วประเทศต่าง ๆ มีการออกหนังสือเดินทางและตรวจหนังสือเดินทางของผู้ที่เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ ณ จุดตรวจบริเวณพรมแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศสืบต่อมา อย่างไรก็ดี ยังมีข้อยกเว้นในหลายกรณี เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เมื่อมีการแยกเสรีรัฐไอร์แลนด์ (Irish Free state)* ออกจากสหราชอาณาจักร ประเทศทั้งสองก็ได้ออกกฎหมายเขตเดินทางร่วมกัน (Common Travel Area) เพื่อให้พลเมืองของ แต่ละประเทศสามารถเดินทางเข้าออกระหว่างกันเสมือนหนึ่งอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน เพื่อทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากรหลังการแยกประเทศเป็นไปโดยสะดวก ในปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ แต่ได้มีการปรับปรุงและมีข้อจำกัดเพิ่มเติมอีกหลายประการ

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐบาลพลัดถิ่นของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กได้ลงนามร่วมกันในความตกลงจัดตั้งสหภาพศุลกากรของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux Customs Union) ขึ้นที่กรุงลอนดอน ความตกลงดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ได้รวมข้อตกลงเกี่ยวกับการยกเลิกการควบคุมพรมแดนระหว่างกันไว้ด้วย นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปเหนือ ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และดินแดนสมทบบางแห่งของประเทศเหล่านี้ ได้จัดตั้งสหภาพหนังสือเดินทางของกลุ่มนอร์ดิก (Nordic Passport Union) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เพื่ออนุญาตให้ประชากรของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสหภาพเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้ใดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งประชาคมยุโรปขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๘ แล้ว การเดินทางเข้าออกประชาคมยุโรปของพลเมืองชาติสมาชิกก็มีความสะดวกขึ้นโดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกของแรงงานซึ่งได้รับการคํ้าประกันโดยมาตรา ๔๘ ของสนธิสัญญาโรม อย่างไรก็ดี ชาติสมาชิกก็ยังคงรักษากฎระเบียบตามกฎหมายเข้าเมืองของตนอยู่

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market-SEM)* ขึ้นภายในประชาคมยุโรปโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทุน สินค้า บริการ และแรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี มีการอภิปรายเกี่ยวกับความหมายของ “การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของบุคคล” ในที่ประชุมครั้งต่าง ๆ ของประชาคมยุโรปทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างกว้างขวาง ผู้แทนชาติสมาชิกบางประเทศเห็นว่าข้อความดังกล่าวควรใช้กับพลเมืองประชาคมยุโรปเท่านั้น โดยไม่รวมพลเมืองของประเทศที่สามเพื่อแยกระหว่างพลเมืองประชาคมยุโรปกับผู้ที่มิใช่พลเมืองประชาคมยุโรป ขณะที่ชาติสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรอนุญาตให้บุคคลทุกสัญชาติเข้าออกประชาคมยุโรปได้อย่างเสรี โดยยกเลิกการตรวจสอบภายในพรมแดนร่วมกันแต่ชาติสมาชิกซึ่งขณะนั้นมี ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อังกฤษ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก และกรีซ ก็ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าประชาคมยุโรปมีความชอบธรรมหรือมีอำนาจที่จะยกเลิกระบบการควบคุมพรมแดนภายในระหว่าง กันโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแกัไขสนธิสัญญาโรมได้หรือไม่ นอกจากนี้ บางประเทศก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รอง (Francois Mitterrand)* แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเฮลมุท โคล (Helmut Kohl)* แห่งเยอรมนีตะวันตก และผู้นำกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ซึ่งเห็นว่าประชาคมยุโรปค่อนข้างล่าช้าในการดำเนินการให้เสรีภาพแก่การเคลื่อนย้ายชองบุคคลภายในประชาคมได้ตัดสินใจจัดตั้ง “เขตที่ไม่มีพรมแดนภายใน” (territory without internal borders) ระหว่างกันขึ้นโดยไม่รอให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปแต่ประการใด ประเทศทั้งห้าได้ลงนามในความตกลงร่วมกันบนเรือโดยสารข้ามแม่นํ้าชื่อ “Princess Marie-Astrid” ซึ่งทอดสมออยู่กลางแม่นํ้าโมแซล (Moselle) ที่ไหลผ่านเมืองเชงเงิน ณ จุดที่พรมแดนฝรั่งเศส เยอรมนี และลักเซมเบิร์กมาบรรจบกันพอดี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ความตกลงดังกล่าวจึงรู้จักกันในชื่อ “ความตกลงเชงเงิน”

 ความตกลงเชงเงินเป็นความตกลงระหว่างประเทศทั้งห้าที่จะค่อย ๆ ยกเลิกการควบคุมพรมแดนภายในร่วมกันโดยประกอบด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาวรวม ๓๓ มาตรา มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การยกเลิกระบบการตรวจหนังสือเดินทางสำหรับการเข้าออกของพลเมืองชาติสมาชิกเขตเชงเงิน การผ่อนปรนพิธีการศุลกากร การปรับปรุงระเบียบการตรวจลงตราหนังสือเดินทางหรือการออกวีซา (Visa) ให้แก่พลเมืองของประเทศที่สามที่ประสงค์จะเดินทางเข้าออกเขตเชงเงิน รวมทั้งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างตำรวจพรมแดนของประเทศทั้งห้าและอื่น ๆ ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มและการใช้กฎระเบียบร่วมกันในการตรวจ ณ พรมแดนรอบเขตเชงเงินการประสานอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากรและภาษี สรรพสามิต รวมทั้งมาตรการยกเว้นภาษีและอื่น ๆ ให้เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกัน ความตกลงฉบับนี้กำหนดให้มีการยกเลิกการควบคุมพรมแดนภายในร่วมกันทั้งหมดภายในสิ้น ค.ศ. ๑๙๘๙ แม้ว่าความตกลงดังกล่าวจะเป็นความตกลงเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศที่ลงนามร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้จัดทำขึ้นในนามประชาคมยุโรป และอยู่นอกกรอบสนธิสัญญาโรมแต่ก็ถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประชาคมยุโรปเป็น “ยุโรปที่ไร้พรมแดน” ทั้งยังมีส่วนช่วยให้การเจรจาจัดทำกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act-SEA)* ในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๕-๑๙๘๖ สะดวกขึ้น

 อย่างไรก็ดี จนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๙๐ ความตกลงเชงเงินยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะประเทศทั้งห้ายังจัดทำมาตรการต่าง ๆ ไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ต่อมาในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ประเทศทั้งห้าได้ลงนามในอนุสัญญาการใช้ความตกลงเชงเงินอีก ๑ ฉบับ อนุสัญญานี่ประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ ๑๔๒ มาตรา ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ามาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในความตกลงฉบับแรกจะใช้ในกรณีใดบ้าง และการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันจะกระทำได้อย่างไร รวมทั้งมีการเพิ่มมาตราเกี่ยวกับการส่งและการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล การตรวจสอบและการปราบปรามการขนส่งยาเสพติดและอาวุธข้ามพรมแดนและการขอลี้ภัยหรือขอที่พักพิงชั่วคราวตลอดจนปัญหาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีความอ่อนไหว หลังอนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ได้มีการยกเลิกระบบการตรวจสอบพรมแดนภายในของประเทศสมาชิกเขตเชงเงินที่มีความพร้อมรวม ๗ ประเทศ ได้แก่ สมาชิกผู้ก่อตั้ง ๕ ประเทศ สเปน และโปรตุเกส พร้อมทั้งมีการจัดตั้งระบบการตรวจ ณ พรมแดนรอบเขตเชงเงินในฐานะที่เป็นเขตเดียวกัน โดยให้มีการตรวจหนังสือเดินทางและผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของบุคคลภายนอกที่เข้าออกเขตเชงเงิน ณ พรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงจุดเดียวตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองร่วมกันนอกจากนี้ ยังมีการออกกฎระเบียบร่วมกันเกี่ยวกับการออกวีซาให้แก่พลเมืองของประเทศที่สามหรือของชาติที่มิได้เป็นสมาชิกเขตเชงเงินโดยแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามระดับความสัมพันธ์ของประเทศนั้น ๆ กับสมาชิกเขตเชงเงิน และออกวีซาให้เพียงครั้งเดียวแต่ใช้ได้กับการเข้าออกทุกประเทศที่เป็นสมาชิกเขตเชงเงินทั้งยังมีการกำหนดสิทธิของการขอลี้ภัยและการขอเข้าไปอยู่อาศัยในระยะสั้น รวมทั้งมีการจัดระบบและพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ พรมแดนรอบเขตเชงเงินให้เข้มแข็งและรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อคัดกรองการเข้าเมืองของคนต่างชาติที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งการป้องกันอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ เพื่อทำให้การเคลื่อนย้ายของบุคคลภายในเขต เชงเงินกระทำได้โดยไม่ละเมิดกฎหมายและไม่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของแต่ละชาติสมาชิก

 นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะทำให้เสรีภาพมีความสมดุลักบความมั่นคงปลอดภัย จึงได้มีการปรับปรุงระบบความร่วมมือและการประสานงานระหว่างตำรวจกับหน่วยงานยุติธรรมของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อปกป้องความปลอดภัยภายใน และต่อสู้กับอาชญากรรมเครือข่ายทุกประเภท รวมทั้งมีการจัดตั้งระบบข้อมูลเชงเงินหรือ เอสไอเอส (Schengen Information System-SIS) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๕ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ฝรั่งเศส เอสไอเอสนี้เป็นหน่วยงานระบบข้อมูลที่ทันสมัยที่ชาติสมาชิกเขตเชงเงินสามารถใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและวัตถุได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการตรวจสอบและสร้างระบบความปลอดภัยระหว่างประเทศร่วมกัน และจาก ค.ศ. ๑๙๙๗ เป็นต้นมา ประเทศที่มีความพร้อมต่างก็ได้ทยอยกันเปิดพรมแดนภายในระหว่างกัน เพื่อทำให้เขตเชงเงินมีความสมบรูณ์ยิ่งขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ในการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไอจีซี (Intergovernmental Conference-IGC) เพื่อจัดทำสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมที่ประชุมได้ตกลงให้นำมาตราต่าง ๆ ในความตกลงเชงเงิน ค.ศ. ๑๙๘๕ และอนุสัญญาการใช้ความตกลงเชงเงิน ค.ศ. ๑๙๙๐ มารวมไว้ในกฎหมายหลักของประชาคมยุโรปโดยบรรจุไว้ในพิธีสาร (protocol) ของสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมทำให้เขตเชงเงินเข้ามาอยู่ในกรอบกฎหมายและสถาบันของสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ เมื่อสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมมีผลบังคับใช้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความตกลงเชงเงินและอนุสัญญาการใช้ความตกลงเชงเงินจึงไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาอีกต่อไปและเขตเชงเงินก็ได้เข้ามาอยู่ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรและสถาบันของสหภาพยุโรปอย่างเต็มที่โดยสหภาพยุโรปได้ผนวกหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเดิมเข้ากับหน่วยงานของตน กล่าวคือ ให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารเชงเงิน (Schengen Executive Committee) และรวมสำนักเลขาธิการเชงเงิน (Schengen Secretariat) เข้ากับสำนักเลขาธิการคณะมนตรี (General Secretariat of the Council) รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ ขึ้น เพื่อช่วยการดำเนินงานของคณะมนตรีด้วยในขณะเดียวกัน การออกกฎระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ของระบบเชงเงินก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปทุกประการ นอกจากนี้ กิจกรรมต่าง ๆ ของเขตเชงเงินยังต้องมาอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบและการคุ้มครองของรัฐสภายุโรป (European Parliament) และศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) ทั้งยังมีการโอนเอสไอเอสซึ่งเป็นระบบข้อมูลที่สำคัญของเขตเชงเงินมาเป็นหน่วยงานของสหภาพยุโรปด้วย ส่วนการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของบุคคลจะต้องกระทำโดยสอดคล้องกับมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในกฎหมายยุโรปตลาดเดียว ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยสหภาพยุโรปได้ให้การคํ้าประกันสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองชาติสมาชิกเขตเชงเงินตามกระบวนการประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมของสหภาพอย่างเต็มที่

 ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๐ เขตเชงเงินได้รับสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศคือรับอิตาลีเข้าเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ สเปนและโปรตุเกสเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ กรีซเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ออสเตรียเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๕ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดนพร้อมกับไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ (ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่เป็นสมาชิกสหภาพหนังสือเดินทางของกลุ่มนอร์ดิก) เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเงินเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ โดยไอซ์แลนด์และนอร์เวย์มีสถานะเป็นสมาชิกสมทบของเขตเชงเงินต่อมา สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเงินเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้เข้าเป็นสมาชิกสมทบของเขตเชงเงินใน ค.ศ. ๒๐๐๘ และ ค.ศ. ๒๐๑๑ ตามลำดับ ขณะที่บัลแกเรีย ไซปรัสและโรมาเนียยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างสมบรูณ์ ส่วนอังกฤษ และไอร์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกเขตเชงเงินตามมาตรายกเว้น (opt-out clause) ของสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมแต่ประเทศทั้งสองได้ให้ความร่วมมือในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล การต่อต้านยาเสพติด การก่อการร้าย และเรื่องอื่น ๆ ตามที่สหภาพยุโรปร้องขอ ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ เขตเชงเงินมีสมาชิกทั้งหมด ๒๖ ประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๔,๓๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร.



คำตั้ง
Schengen Agreement
คำเทียบ
ความตกลงเชงเงิน
คำสำคัญ
- กฎหมายเขตเดินทางร่วมกัน
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- เขตเชงเงิน
- เขตที่ไม่มีพรมแดนภายใน
- คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
- ความตกลงเชงเงิน
- โคล, เฮลมุท
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- บัลแกเรีย
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- เยอรมนีตะวันตก
- รัฐสภายุโรป
- โรมาเนีย
- ลิทัวเนีย
- ศาลยุติธรรมยุโรป
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สนธิสัญญาโรม
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- สโลวาเกีย
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหภาพยุโรป
- สหภาพศุลกากร
- สหภาพศุลกากรของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- สหภาพหนังสือเดินทางของกลุ่มนอร์ดิก
- เสรีรัฐไอร์แลนด์
- อนุสัญญาการใช้ความตกลงเชงเงิน
- เอสโตเนีย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1985
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๕๒๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-