Wilson, Harold, Baron Wilson of Rievaulx (1916–1995)

ฮาโรลด์ วิลสัน บารอนวิลสันแห่งรีโว (พ.ศ. ๒๔๕๘–๒๕๓๘)

 ฮาโรลด์ วิลสัน บารอนวิลสันแห่งรีโว เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษสังกัดพรรคแรงงาน (Labour Party)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๔–๑๙๗๐ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๔–๑๙๗๖ ในช่วงที่เขาเป็นผู้นำรัฐบาลซึ่งสมาชิกพรรคมีทัศนะแตกต่างกันจนแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม อังกฤษดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางด้านสังคมหลายประการ เช่น การให้การทำแท้งและการเป็นรักร่วมเพศชอบด้วยกฎหมาย การยกเลิกการเซ็นเซอร์บทละครและภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม นโยบายดังกล่าวเท่ากับเป็นการช่วยตราสังคมอังกฤษในทศวรรษ ๑๙๖๐ ว่าเป็นสังคมเปิดกว้างในเรื่องเพศ (permissive society) วิลสันให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบรัฐสวัสดิการ (welfare state)* ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง ด้วยการจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงในอัตราที่สูงมากตามแนวคิดที่ว่าทำให้คนจนรวยขึ้นและคนรวยจนลง เขาพยายามผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าด้วยการจัดตั้งกระทรวงกิจการเศรษฐกิจ (Department of Economic Affairs–DEA) ขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ เพื่อวางแผนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะยาว และปล่อยให้กระทรวงการคลัง (Treasury) รับผิดชอบการจัดหารายได้เข้าคลังในระยะสั้นและจัดการทางด้านการเงินเท่านั้น วิลสันไม่ประสบความสำเร็จนักในด้านการต่างประเทศในความพยายามที่จะเพิ่มบทบาทและอิทธิพลของอังกฤษในเวทีโลก การยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community–EEC)* หรือที่คนอังกฤษเรียกว่า ตลาดร่วมยุโรป (European Common Market)* ก็ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ ๒ ในขณะที่ความสำคัญของการเป็นผู้นำเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)*ของอังกฤษลดลงและดินแดนอาณานิคมเก่าก็ยังคงทยอยกันเป็นเอกราช

 วิลสันซึ่งมีชื่อเดิมว่าเจมส์ ฮาโรลด์ วิลสัน (James HaroldWilson)เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่เมืองฮัดเดอส์ฟีลด์ (Huddersfield) เขตเวสต์ไรดิง (West Riding) มณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เจมส์ เฮอร์เบิร์ต วิลสัน (James Herbert Wilson) บิดาเป็นนักเคมีอุตสาหกรรมของบริษัทไอซีไอ (ICI–Imperial Chemical Industries) และเคยเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน มารดาชื่อเอทเทล (Ethel) สกุลเดิมเซดดอน (Seddon) ซึ่งเป็นครูโรงเรียนก่อนสมรสกับบิดา ในวัยเด็กวิลสันได้รับทุนการศึกษาให้เข้าเรียนที่รอยส์ฮอลล์แกรมมาสกูล (Royds Hall Grammar School) ในเขตบ้านเกิดต่อมาเมื่อบิดาถูกปลดออกจากงานใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เพราะบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย และต้องออกหางานใหม่จนต้องโยกย้ายไปอยู่ที่เมืองวีร์รัล (Wirral) มณฑลเชเชียร์ (Cheshire) วิลสันจึงต้องย้ายไปเรียนที่วีร์รัลแกรมมาสกูล (Wirral Grammar School for Boys) ผลการเรียนของเขาดีแต่ไม่ได้ทุนเล่าเรียนต่ออย่างไรก็ดี เขาก็ได้เงินทุนสนับสนุนจากมณฑลเชเชียร์ทำให้เขาสามารถเข้าเรียนสาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่จีซัสคอลเลจ (Jesus College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ หลังจากเรียนไปได้ ๑ ปี วิลสันก็เปลี่ยนไปเรียนสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์จนจบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากนั้นใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาได้สอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่นิวคอลเลจ (New College) ทำให้วิลสันได้ชื่อว่าเป็นผู้บรรยายที่อายุน้อยที่สุดของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘–๑๙๓๙ เขายังเป็นนักวิจัยที่ยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ (University College) ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น วิลสันซึ่งสมัครเข้ารับใช้ประเทศได้รับการพิจารณาว่าเขาเหมาะสมกับการเป็นนักวิชาการมากกว่า เขาจึงได้เป็นผู้ช่วยวิจัยของเซอร์วิลเลียม เบเวอริดจ์ (William Beveridge)* ผู้บริหารสูงสุดของยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ (Master of the University College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ศึกษาหนทางที่จะสร้างสังคมที่ผาสุกหลังจากประเทศผ่านพ้นภาวะสงครามและสร้างอนาคตใหม่ให้แก่ชาวอังกฤษที่อดทนฟันฝ่าสงครามมาด้วยกัน งานวิจัยเล่มสำคัญเรื่อง Social Insurance and Allied Services หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า รายงานเบเวอริดจ์ (Beveridge Report)*ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ว่าด้วยนโยบายประกันสังคมและมาตรการจัดหาสวัสดิการต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓–๑๙๔๔ วิลสันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสถิติของกระทรวงเชื้อเพลิงและพลังงาน (Ministry of Fuel and Power) เขาศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเขียนหนังสือเรื่อง New Deal for Coal ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ช่วงสงครามที่ทำให้เขาเห็นว่าการโอนกิจการเหมืองถ่านหินเป็นของรัฐจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ความคิดนี้ได้เป็นพื้นฐานให้แก่นโยบายของพรรคแรงงานในการโอนกิจการเหมืองถ่านหินเป็นของรัฐในเวลาต่อมา

 เมื่อสงครามโลกใกล้สิ้นสุด วิลสันซึ่งสนใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจึงลาออกจากราชการ เขาเป็นผู้แทนจากเขตออมส์เคิร์ก (Ormskirk) ในเวสต์แลงคาเชียร์ (West Lancashire) ลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งพรรคแรงงานได้ชัยชนะอย่างถล่มทลาย วิลสันได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ (Parliamentary Secretary to the Ministry of Works) ทันที และอีก ๒ ปีต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะมีอายุ ๓๑ ปี นับเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การรับตำแหน่งนี้ทำให้วิลสันเดินทางไปสหภาพโซเวียต (Soviet Union)* หลายครั้งหลายหนเพื่อเจรจาทำสัญญาจัดส่งสินค้า ซึ่งประวัติชีวิตช่วงนี้ทำให้มีผู้กล่าวหาเขาในภายหลังว่าแท้ที่จริงแล้ววิลสันเป็นสายลับเคจีบี (KGB)* อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ เขาก็ลาออกพร้อมกับสมาชิกพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายอีก ๒ คน คือ แอนูริน เบวัน (Aneurin Bevan)และจอห์น ฟรีแมน (John Freeman) เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* ซึ่งใช้โครงการรัดเข็มขัด (Austerity Program) ลดค่าใช้จ่ายของรัฐหลังสงคราม และเรียกเก็บเงิน ๑ ชิลลิงสำหรับค่าใบสั่งยา และค่าธรรมเนียมเล็กน้อยสำหรับการทำแว่นตาและฟันปลอมเพื่อเพิ่มงบประมาณให้แก่กองทัพสำหรับการเข้าร่วมในสงครามเกาหลี (Korean War ค.ศ. ๑๙๕๐–๑๙๕๓) แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นรัฐบาลเองก็ต้องลาออกเมื่อพรรคแรงงานพ่ายแพ้แก่พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม

 เมื่อพรรคแรงงานพ้นจากการเป็นรัฐบาล วิลสันทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเงาของพรรคทางด้านการคลังระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕–๑๙๖๑ และการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑–๑๙๖๓ ในช่วงเวลานี้ เขาเคยลงสมัครใน ค.ศ. ๑๙๖๐ เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากฮิว เกตสเกลล์ (Hugh Gaitskell) ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำพรรคหลังจากแอตต์ลีลาออกตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ แม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเกตสเกลล์ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๓ วิลสันก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานในที่สุดโดยมีชัยชนะอย่างฉิวเฉียดเหนือจอร์จ บราวน์ (George Brown) ที่วิลสันเคยพ่ายแพ้การชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. ๑๙๖๒ และเจมส์ คัลลาแฮน (James Callaghan)* สมาชิกคนสำคัญอีกคนที่ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา หลังจากนั้นวิลสันก็มุ่งมั่นสร้างความสามัคคีในหมู่สมาชิกพรรคซึ่งไม่กลมเกลียวกันนัก เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๖๔ การเกิดกรณีโพรฟูโม (Profumo Affair) ในปีก่อนหน้าซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวจากกรณีที่จอห์น โพรฟูโม (John Profumo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามในรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมออกมายอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับคริสตีน คีเลอร์ (Christine Keeler) นางแบบและโสเภณีวัย ๑๙ ปี ซึ่งเปิดเผยว่าเธอมีความสัมพันธ์กับเยฟเกนี อีวานอฟ (Yevgeny Ivanov) ผู้ช่วยทูตทหารเรือและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองโซเวียตด้วยในขณะเดียวกัน สาธารณชนอังกฤษจึงหวั่นเกรงว่าความลับเกี่ยวกับความมั่นคงอาจรั่วไหลกรณีอื้อฉาวนี้ทำให้โพรฟูโมลาออก นายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ แมกมิลแลน (Harold Macmillan)* ของพรรคอนุรักษนิยมเองในที่สุดก็ลาออกเช่นกัน ผลการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่าพรรคแรงงานได้ชัยชนะโดยได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดเป็นจำนวน ๔ ที่นั่ง วิลสันก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 ในช่วงรัฐบาลวิลสันสมัยแรก มีการดำเนินการปฏิรูปสังคมหลายประการ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพการสร้างที่อยู่อาศัย การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีในการหย่าร้างการเป็นรักร่วมเพศ การทำแท้งสำหรับหญิงที่หากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปแล้วจะก่อผลเสียหายต่อจิตใจและร่างกาย อีกทั้งยกเลิกโทษประหารชีวิต นโยบายสวัสดิการสังคมก็ได้รับการพิจารณามากกว่าสมัยรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม ค่าธรรมเนียมสำหรับการออกใบสั่งยาถูกยกเลิกในทันที เพิ่มเงินบำนาญของรัฐเงินช่วยเหลือยามตกงานและเจ็บป่วย และให้เงินสงเคราะห์สำหรับคนพิการและเด็กยากจน อย่างไรก็ดีนโยบายเด่น ๆ ทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกโทษประหาร การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการหย่าร้างการเป็นรักร่วมเพศ การห้ามทำแท้ง การยกเลิกการเซ็นเซอร์บทละครและภาพยนตร์ และการลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก ๒๑ ปี เป็น ๑๘ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ นั้นมาจากการผลักดันของสมาชิกพรรคแรงงานและรอย เจงกินส์ (Roy Jenkins)* และคัลลาแฮนที่เปลี่ยนกันมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะวิลสันเองนั้นไม่ค่อยกระตือรือร้นกับการสร้างสังคมเสรีนักเพราะมีภูมิหลังมาจากครอบครัวต่างจังหวัดที่เคร่งกับการนับถือนิกายนอนคอนฟอร์มิสต์ (Non-conformist) หรือพวกที่ปฏิเสธนิกายทางการของอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมที่เปิดกว้างให้แก่เยาวชนอังกฤษนี้เป็นไปตามกระแสเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ และในสหรัฐอเมริกา จำนวนสมาชิกของโบสถ์และผู้ไปโบสถ์ในทศวรรษ ๑๙๖๐ จึงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่อัตราอาชญากรรมและจำนวนบุตรนอกสมรสเพิ่มขึ้นด้วย และในทศวรรษต่อมาอัตราการหย่าร้างของอังกฤษก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 อย่างไรก็ตาม วิลสันสนับสนุนด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษาเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กจากครอบครัวผู้ใช้แรงงานสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ช่วงรัฐบาลวิลสันจึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษามากกว่าการป้องกันประเทศมีมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายแห่งซึ่งมีผลให้ผู้หญิงเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ วิลสันได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยคนแรกของมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด (University of Bradford) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่เพิ่งได้รับพระราชทานกฎบัตร (Royal Charter) ให้จัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ ๔๐ ของประเทศ เขาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๘๕ วิลสันยังได้รับการยกย่องในการสนับสนุนแนวคิดจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) ขึ้นเป็นครั้งแรกของอังกฤษเพื่อจัดการศึกษาต่อเนื่องซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยอาศัยสถานที่ของโรงเรียนฤดูร้อนและผ่านทางรายการโทรทัศน์ ส่วนการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ผ่านทางไปรษณีย์ ทำให้ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ หรือ ๑๐ ปีนับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเริ่มจัดการเรียนการสอนมีผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเปิดถึง ๔๕,๐๐๐ คน นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดหาเงินให้แก่วิทยาลัยทางการศึกษาในเขตภูมิภาคอีกด้วยและจัดตั้งสถาบันโพลีเทคนิคอีก ๒๙ แห่ง อีกทั้งใน ค.ศ. ๑๙๗๐มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ซึ่งแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน โดยจัดการให้การศึกษาระดับมัธยมเป็นการศึกษาภาคบังคับ อันเป็นการยุติการแบ่งแยกนักเรียนระหว่างสายวิชาการกับสายอาชีวะ

 ในช่วงรัฐบาลสมัยแรก วิลสันยังเผชิญกับปัญหาอาณานิคมเก่าของอังกฤษในแอฟริกา อันเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่แมกมิลแลน นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมแสดงสุนทรพจน์ “กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Wind of Change) ในรัฐสภาของแอฟริกาใต้ที่นครเคปทาวน์ (Cape Town) เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า “กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านทวีปนี้ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ การเพิ่มพูนของสำนึกชาตินิยมก็เป็นข้อเท็จจริงทางการเมือง” (The wind of change is blowing through this continent. Whether we like it or not, this growth of national consciousness is a political fact.) สุนทรพจน์ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงเจตจำนงของอังกฤษในการจะมอบเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ ในแอฟริกา เมื่อถึงสมัยรัฐบาลวิลสัน ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ สหภาพแห่งนยาซาแลนด์และโรดีเซีย (Federation of Nyasaland and Rhodesia) หรือสหพันธรัฐแอฟริกากลาง (Central African Federation) ยุบตัวลง ซึ่งนำไปสู่การได้รับเอกราชของมาลาวี (Malawi หรือ นยาซาแลนด์เดิม) และแซมเบีย (Zambia หรือโรดีเซียเหนือเดิม) และเข้าเป็นสมาชิกเครือจักรภพ แต่โรดีเซียใต้ [Southern Rhodesia หรือซิมบับเว (Zimbabwe) ในปัจจุบัน] ไม่ได้รับการยินยอมจากอังกฤษด้วยเพราะอังกฤษไม่เห็นชอบกับการบริหารงานของรัฐบาลเอียน สมิท (Ian Smith) ที่เป็นรัฐบาลชนผิวขาวซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของประเทศโดยมีอยู่ ๒๕๐,๐๐๐ คน และกีดกันชนพื้นเมืองจำนวน ๖ ล้านคน เมื่อเป็นเช่นนี้โรดีเซียใต้จึงออกประกาศเอกราชฝ่ายเดียว เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๕ สมิทเลือกวันเวลาดังกล่าวโดยเจตนาให้รัฐบาลอังกฤษนึกถึงวันสงบศึก (Armistice Day)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สมิทนั้นเคยเป็นนักบินในหน่วยบินรบสปิตไฟร์ (Spitfire) ของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๒ วิลสันไม่สามารถยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวของโรดีเซียใต้ และต้องตัดสินใจใช้มาตรการทางเศรษฐกิจคว่ำบาตรมากกว่าที่จะใช้กำลังทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโรดีเซีย แต่ก็ไม่ได้ผลนัก

 นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสงครามเวียดนาม (Vietnam War ค.ศ. ๑๙๕๕–๑๙๗๕) ที่ประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน(Lyndon B. Johnson ค.ศ. ๑๙๖๓–๑๙๖๙) ของสหรัฐอเมริกาต้องการให้อังกฤษแสดงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาด้วยการส่งทหารเข้าร่วมรบ แต่วิลสันพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้อังกฤษต้องส่งกำลังทหารเข้าไปโดยอ้างว่าอังกฤษติดพันกับภาระหนักหน่วงในการคงกำลังรักษาการทางฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซ (East of Suez) ในอียิปต์อยู่วิลสันจึงแสดงการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาด้วยวาจาแทน อย่างไรก็ดี ในกิจการด้านต่างประเทศนั้น เรื่องที่ท้าทายรัฐบาลวิลสันมากที่สุดคือการสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเกตสเกลล์หัวหน้าพรรคแรงงานคนก่อนได้แสดงท่าทีใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ว่าไม่สนับสนุน เมื่อวิลสันเข้าบริหารประเทศ ในตอนแรกเขาก็ยังลังเลที่จะดำเนินเรื่อง เพราะรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมโดยแมกมิลแลนเคยยื่นสมัครใน ค.ศ. ๑๙๖๑ และถูกประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ของฝรั่งเศสใช้สิทธิยับยั้งใน ค.ศ. ๑๙๖๓ สมาชิกพรรคแรงงานเองก็ไม่เห็นไปในทางเดียวกัน เช่น ริชาร์ดครอสส์แมน (Richard Crossman) บรรณาธิการ News Statesman นิตยสารกลางซ้ายรายอาทิตย์ชั้นนำก็มักจะตีพิมพ์บทความแนวต่อต้านประชาคมยุโรป ขณะที่เจงกินส์ให้การสนับสนุน แต่ในที่สุดเมื่อคำนึงถึงสถานะของอังกฤษในการเมืองยุโรปและในเครือจักรภพที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ รัฐบาลวิลสันก็ตัดสินใจดำเนินการขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ซึ่งก็ถูกประธานาธิบดีเดอ โกลยับยั้งเหมือนครั้งก่อน

 แม้วิลสันจะทำให้พรรคแรงงานได้จำนวนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๖๖ โดยได้เสียงเกินครึ่งจำนวน ๙๖ ที่นั่ง แต่ในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ ความนิยมในตัวเขากลับลดลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ วิลสันจำต้องประกาศลดค่าเงินปอนด์ลงในที่สุดในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๗ จากอัตราเดิม ๑ ปอนด์ เท่ากับ ๒.๘๐ ดอลลาร์สหรัฐเป็น ๑ ปอนด์ เท่ากับ ๒.๔๐ ดอลลาร์สหรัฐ อัตราการว่างงานของประชากรก็สูงขึ้นจากจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน เมื่อเขาเริ่มรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเกือบ ๖๐๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ การพิพาทเรื่องแรงงานทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นโยบายสวัสดิการสังคมบางอย่างที่เขาเคยสนับสนุนก็จำต้องยกเลิก เช่นการหันไปเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบสั่งซื้อยาใน ค.ศ. ๑๙๖๘ การเพิ่มค่ารักษาทางทันตกรรมการกำหนดให้ประชาชนต้องเพิ่มเงินสมทบในโครงการประกันสังคม การยกเลิกการจัดนมฟรีให้แก่โรงเรียนมัธยมนอกเหนือจากนโยบายด้านการตัดทอนแล้ว รัฐบาลหันไปเพิ่มอัตราภาษีรายได้และภาษีจากการขายสินค้าจนแม้กระทั่งนักดนตรีวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ที่โด่งดังของอังกฤษยังนำวิลสันไปล้อเลียนในบทเพลงโดยเรียกเขาว่า “คนเก็บภาษี” (Mr.Taxman) นอกจากนี้วิลสันพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการจัดตั้งกระทรวงกิจการเศรษฐกิจขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ เพื่อวางแผนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะยาว และปล่อยให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบการจัดหารายได้เข้าคลังในระยะสั้นและจัดการทางด้านการเงิน แต่ปรากฏว่าหน่วยงานใหม่ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ได้ผลตามที่เขามุ่งหวังและในที่สุดต้องยกเลิกไปใน ค.ศ. ๑๙๖๙ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งหน่วยงานใหม่นี้ วิลสันอาจทำไปด้วยเหตุผลเพื่อให้ตำแหน่งผู้บริหารองค์กรแก่จอร์จ บราวน์ซึ่งเคยชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วยกันมากกว่า จากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๐ พรรคอนุรักษนิยมที่มีเอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath)* เป็นผู้นำจึงเป็นฝ่ายมีชัยวิลสันจึงพ้นจากการเป็นผู้นำรัฐบาลและกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

 ผลของการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๔ หลังจากที่รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมที่มีฮีทเป็นผู้นำเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ค.ศ. ๑๙๗๓ ความไม่สงบในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมู่คนงานเหมืองถ่านหินและการท้าทายรัฐบาลของสหภาพแรงงานจนฮีทเหลืออด และหาเสียงในการเลือกตั้งด้วยการตั้งคำถามว่า “ใครบริหารอังกฤษ? รัฐบาลหรือสหภาพแรงงาน?” พรรคอนุรักษนิยมมีชัยชนะแต่ไม่ได้เสียงข้างมากและไม่สามารถชักชวนพรรคเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จ วิลสันจึงได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในเดือนมีนาคมโดยเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตามเขาก็ได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนตุลาคมเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่พรรค ผลคือพรรคแรงงานได้เสียงข้างมากอย่างฉิวเฉียด ในสมัยรัฐบาลวิลสันชุดที่ ๒ นี้เขาก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ต่อไป และไม่สามารถยับยั้งการขอขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา การเพิ่มการเก็บภาษีผู้มีฐานะตามนโยบาย “เก็บภาษีคนรวย” (taxtherich) ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ค่าของเงินปอนด์ลดลงเรื่อย ๆ จนในกลาง ค.ศ. ๑๙๗๖ เงิน ๑ ปอนด์ มีค่าเท่ากับ ๑.๗๐ ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

 สถานะผู้นำพรรคของวิลสันถูกท้าทายมากขึ้นจากทั้งสมาชิกกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มสหภาพแรงงาน และกลุ่มสังคมประชาธิปไตยภายในพรรค ปัญหาการที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปทำให้สมาชิกพรรคแรงงานแตกแยกมากที่สุด เมื่อวิลสันต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่สมาชิกพรรคเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษทีเดียว ผลปรากฏว่าร้อยละ ๖๗ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบให้อังกฤษคงสมาชิกภาพไว้ ความแตกร้าวในพรรคแรงงานเกี่ยวกับประเด็นนี้จึงสิ้นสุดลงอย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาเศรษฐกิจที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนยังคงมีอยู่ ค่าของเงินปอนด์เหวี่ยงไปมา ขณะที่รัฐบาลใกล้ถึงเวลาต้องเสนอแผนงบประมาณครั้งสำคัญ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๖ หลังวันคล้ายวันเกิดของเขา ๕ วัน วิลสันประกาศลาออกท่ามกลางความงงงันของคณะรัฐมนตรีและผู้คนทั่วไปแม้เขาจะอ้างเหตุผลว่าเป็นความตั้งใจมา ๒ ปีแล้วที่จะเกษียณจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี และเขารู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจเหตุผลที่แท้จริงในการลาออกของวิลสันซึ่งก่อนกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ถึง ๓ ปียังคงเป็นที่คลุมเครือตลอดมา ทำให้เกิดการคาดเดาเกี่ยวกับวิลสันไปในประการต่าง ๆ บ้างก็ว่าเพราะความเหนื่อยหน่ายกับสมาชิกปีกซ้ายในพรรคแรงงาน บ้างว่าเพราะเขารู้ว่าเริ่มมีอาการขั้นต้นของโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่บิดาของเขาประสบ บ้างว่าวิลสันเข้าใจว่ามีผู้จะเลื่อยขาเก้าอี้ผู้นำพรรคหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่ามีเครื่องมือดักฟังการสื่อสารซ่อนอยู่ในทำเนียบนายกรัฐมนตรีบ้างก็กล่าวว่าวิลสันเป็นสายลับของโซเวียตและโยงวิลสันกับการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของเกตสเกลล์ หัวหน้าพรรคแรงงานคนก่อน

 อย่างไรก็ดีในเดือนต่อมาหลังการแถลงของวิลสันว่าจะลาออก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒– )* เสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ถนนดาวนิง (Downing) นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ หลังจาก เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ที่ได้รับพระราชทานเกียรติดังกล่าว ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ ยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Knight of the Garter) ให้แก่เขาอีกด้วย เมื่อวิลสันตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๘๓ เขาก็ได้รับการสถาปนาเป็นบารอนวิลสันแห่งรีโวซึ่งมาจากชื่อโบสถ์รีโว (Rievaulx Abbey) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลยอร์กเชียร์ ถิ่นกำเนิดของเขาซึ่งทำให้วิลสันได้ที่นั่งในสภาขุนนาง (House of Lords) ตลอดชีวิต อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่าเขาแสดงบทบาทอะไรนักในสภาแห่งนี้และได้ขึ้นอภิปรายครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. ๑๙๘๖ แต่เขาก็ยังคงการเป็นสมาชิกสภาจนเข้าประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔

 ในด้านชีวิตส่วนตัว วิลสันสมรสกับแกลดิส แมรี บอลด์วิน (Gladys Mary Baldwin) ซึ่งเป็นกวีที่มีชื่อเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ณ โบสถ์ของแมนส์-ฟีลด์คอลเลจ (Mansfield College) ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีบุตรชายด้วยกัน ๒ คน ในช่วงที่บุตรทั้งคู่อายุ ๒๐ ปีเศษ มีการถูกขู่ลักพาตัวโดยกองกำลังสาธารณรัฐไอริชหรือไออาร์เอ (Irish Republican Army–IRA)* อันเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของวิลสันที่ส่งกำลังทหารไประงับความวุ่นวายในไอร์แลนด์เหนือที่ไออาร์เอก่อความไม่สงบเนือง ๆเพื่อให้อังกฤษยอมปล่อยให้รวมเข้ากับสาธารณรัฐไอร์แลนด์

 ฮาโรลด์ วิลสัน บารอนวิลสันแห่งรีโว ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองในรูปบุรุษสวมเสื้อโค้ตกันฝนและสูบไปป์ (แม้ส่วนตัวแล้วเขาเปิดเผยว่าชอบซิการ์มากกว่า) ผู้นำพรรคแรงงานเป็นเวลา ๑๓ ปี และนำพรรคชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ๔ ครั้ง เขาป่วยเป็นอัลไซเมอร์และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ขณะอายุ ๘๐ ปี พิธีศพจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) โดยมีเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Charles, Prince of Wales) มกุฎราชกุมารนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ (John Major)* และบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เอดเวิร์ด ฮีท เจมส์ คัลลาแฮน มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* รวมทั้งโทนี แบลร์ (Tony Blair)* นักการเมืองคนสำคัญของพรรคแรงงานซึ่งต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธี วิลสันมีผลงานการประพันธ์ได้แก่ The Labour Government, 1964–1970 (ค.ศ. ๑๙๗๑) The Governance of Britain (ค.ศ. ๑๙๗๖) และ Final Term: The Labour Government 1974–1976 (ค.ศ. ๑๙๗๙)



คำตั้ง
Wilson, Harold, Baron Wilson of Rievaulx
คำเทียบ
ฮาโรลด์ วิลสัน บารอนวิลสันแห่งรีโว
คำสำคัญ
- กรณีโพรฟูโม
- คัลลาแฮน, เจมส์
- เคจีบี
- เครือจักรภพ
- เจงกินส์, รอย
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- เดอ โกล, ชาร์ล
- ตลาดร่วมยุโรป
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- เบเวอริดจ์, เซอร์วิลเลียม
- แบลร์, โทนี
- ประชาคมยุโรป
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- เมเจอร์, จอห์น
- แมกมิลแลน, ฮาโรลด์
- รัฐสวัสดิการ
- รายงานเบเวอริดจ์
- วันสงบศึก
- วิลสัน, ฮาโรลด์
- เวลส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามเวียดนาม
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
- ฮีท, เอดเวิร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1916–1995
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๘–๒๕๓๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-