จอห์น วิลกส์เป็นนักการเมืองหัวรุนแรงและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ เป็นสมาชิกสภาสามัญที่มีบทบาทและชื่อเสียงในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้แทนในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ The North Briton ซึ่งมีอิทธิพลจนได้รับฉายาว่า “หนังสือพิมพ์พยัคฆ์” (tiger paper) ในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศและการทำงานของรัฐบาลที่มีพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐–๑๘๒๐)* ทรงให้การสนับสนุนจนสร้างความขุ่นเคืองพระทัย มีการพยายามตั้งข้อหาวิลกส์ในเรื่องผิดศีลธรรมจรรยาและกำจัดเขาให้หมดบทบาททางการเมือง วิลกส์พยายามปกป้องเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพและการคุ้มครองสมาชิกสภาในสมัยประชุมจากการถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งลุกลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์อังกฤษเป็นเวลาหลายปี และจบลงด้วยชัยชนะของเขา วิลกส์ยังมีชื่อเสียงและได้รับความชื่นชมในการปกป้องเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์และสิทธิของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolution) จนเขาได้รับการยกย่องและชื่นชมอย่างมากจากชาวอเมริกันในช่วงสงครามปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolutionary Wars) รวมทั้งชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการแสดงความคิดเรื่องเสรีภาพของเขา
จอห์น วิลกส์เกิดเมื่อวันที่๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๒๕ ณ คลาร์เคนเวลล์ (Clerkenwell) กรุงลอนดอน เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของอิสราเอล วิลกส์ (Israel Wilkes) และซาราห์ ฮีตัน วิลกส์ (Sarah Heaton Wilkes) บิดามีฐานะมั่นคงจากธุรกิจกลั่นสุราและใช้ชีวิตแบบเศรษฐีใช้รถม้าพ่วง ๖ ตัว (coach-and-six) และมีคนรับใช้เกาะท้ายอีก ๒ คนด้วย ซึ่งถือว่าหรูหราและเป็นรถม้าขนาดใหญ่กว่าทั่วไปที่ใช้ม้าลากเพียง๔ตัวเท่านั้นวิลกส์มีพี่น้อง ๔ คน อิสราเอลที่ ๓ (Israel III) พี่ชายคนโตได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกาและมียศพลเรือตรีในกองทัพเรือ ซาราห์ พี่สาวมีภาพลักษณ์ที่ชาลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) นักเขียนที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยเอาบุคลิกภาพของเธอไปสร้างภาพแฮวิชัม Wilks (Miss Havisham วิลกส์) หญิงสาวสูงศักดิ์ในนวนิยายเรื่องGreat Expectations ที่ถูกเจ้าบ่าวสลัดทิ้งในพิธีแต่งงานและต้องอยู่กับความเจ็บแค้นกับอดีตของตนเธอสวมใส่ชุดวิวาห์ตลอดชีวิตและปิดกั้นตัวเองจากสังคม ส่วนแมรี ฮีตัน วิลกส์ (Mary Heaton Wilkes) น้องสาวมีชื่อเสียงและได้รับยกย่องเป็นสตรีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการเดินเรือและการค้ากับอเมริกา รวมทั้งการล่าและค้าวาฬ
วิลกส์ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในโรงเรียนรัฐบาลที่ฮาร์ตฟอร์ด (Hertford) แต่เนื่องจากเขาเป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาด หัวไวกว่าเพื่อน ๆ จนครอบครัวตัดสินใจให้เขาไปเรียนตัวต่อตัวกับลีซันแห่งเอลส์เบรี (Leeson of Aylesbury) นักเทศน์ในนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ณ มณฑลบักกิงแฮมเชียร์ (Buckinghamshire) ลีซันสอนให้เขาหลุดจากกรอบของการศึกษาในขณะนั้น มีความคิดเป็นอิสระและเชื่อมั่นในตัวเอง ต่อมาวิลกส์ได้เข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยไลเดิน (University of Leiden) ในเนเธอร์แลนด์ซึ่งขณะนั้นปกครองในระบอบสาธารณรัฐ เขาได้รู้จักกับแอนดรูว์ ไบเออร์ (Andrew Beyer) นักเทศน์ในนิกายเพรสไบทีเรียนซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแนวคิดเรื่องศาสนาของเขา แม้ว่าวิลกส์จะยึดมั่นในนิกายอังกฤษ (Church of England) ตลอดชีวิต แต่เขาก็มีความเชื่ออย่างยิ่งในขันติธรรมทางศาสนาและมีความเห็นใจพวกโปรเตสแตนต์นิกายอื่นๆที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษหรือพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ (non-conformist) และเป็นบุคคลแรก ๆ ที่รณรงค์ให้เกิดขันติธรรมทางศาสนาในอังกฤษ ในกลาง ค.ศ. ๑๗๔๕ เมื่อพวกจาโคไบต์ (Jacobite) ได้ก่อกบฏขึ้นในสกอตแลนด์ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ ๒ (GeorgeII ค.ศ. ๑๗๖๐–๑๘๒๗) เพื่อสนับสนุนให้เจ้าชายชาลส์ เอดเวิร์ด สจวร์ต (Charles Edward Stuart) หรือบอนนี พรินซ์ ชาร์ลี (Bonnie Prince Charlie) ช่วงชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* วิลกส์แสดงตนเป็นผู้รักชาติและเข้าร่วมกับสมาคมภักดีแผ่นดิน (Loyal Association) ในกรุงลอนดอนเพื่อปกป้องกรุงลอนดอนจากการรุกรานของกองทัพสก็อต แต่เมื่อพวกกบฏถูกปราบได้ในยุทธการที่คัลลอเดน (Battle of Culloden) ในวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๗๔๖ เขาก็เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่เนเธอร์แลนด์
ใน ค.ศ. ๑๗๔๗ วิลกส์ได้สมรสกับแมรี มีด (Mary Meade) ซึ่งอายุมากกว่าเขา ๑๐ ปี และเป็นทายาทเจ้าของที่ดินแมนเนอร์แห่งเอลส์เบรี (manor of Aylesbury) ด้วยทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของภรรยาทำให้วิลกส์ได้รับการต้อนรับในสังคมชั้นสูงของบักกิงแฮมเชียร์และใช้ชีวิตในแบบของสุภาพบุรุษชนบทหรือสไควร์ (squire) และสามารถไต่เต้าชีวิตในทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คนชื่อ แมร์รี (Marry) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พอลลี (Polly) แต่ชีวิตคู่ไม่ราบรื่นและแยกทางกันใน ค.ศ. ๑๗๕๖ วิลกส์ไม่ได้สมรสใหม่แต่ใช้ชีวิตอย่างเสเพลต่อมามีลูกนอกสมรส ๒ คนคือ จอห์น เฮนรี สมิท (John Henry Smith) และแฮร์เรียต วิลกส์ (Harriet Wilkes)
ใน ค.ศ. ๑๗๔๙ วิลกส์ได้รับเลือกเป็นราชบัณฑิตและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำมณฑล (High Sheriff) แห่งบักกิงแฮมเชียร์ใน ค.ศ. ๑๗๕๔ ในปีเดียวกันนั้นเขาประสบความล้มเหลวในการรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเมืองเบริก (Berwick) แต่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตเอลส์เบรีใน ค.ศ. ๑๗๕๗ และ ค.ศ. ๑๗๖๑ ซึ่งมีการจัดให้ลงคะแนนเสียงกันในโบสถ์เซนต์แมรีเดอะเวอร์จิน (St. Mary the Virgin) ที่วิลกส์มีที่นั่งในโบสถ์ในฐานะเจ้าที่ดิน (manorial pew) อย่างไรก็ดีวิลกส์ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการติดสินบนเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งด้วย เพราะเขาหวังจะได้เงินคืนจากการเข้าสู่วงการการเมือง
วิลกส์ได้ชื่อว่าเป็นบุรุษที่หน้าตาอัปลักษณ์ที่สุดในอังกฤษเขามีรูปหน้าผิดส่วนหน้าผากลาดกรามห้อยและตาเหล่อย่างชัดเจน จนกล่าวกันว่าแม้แต่ม้ายังตกใจกลัวเมื่อเห็นใบหน้าอันน่าเกลียดของเขา แต่เขาก็มีความฉลาดและไหวพริบเป็นเลิศ มีเสน่ห์ในการพูดกล่าวกันว่าเขาสามารถใช้เวลาพูดเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงก็จะทำให้คู่สนทนารวมทั้งหญิงสาวหมดความสนใจในหน้าตาที่น่าเกลียดของเขาได้ ขณะเดียวกันเขาก็มีพฤติกรรมทางเพศที่สำส่อน ได้เข้าเป็นสมาชิกของ “กลุ่มอัศวินแห่งนักบุญเซนต์ฟรานซิสแห่งวิคัมบ์” (Order of the Knight of St. Francis of Wycombe) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “สมาคมไฟนรก” (Hellfire Club) จัดตั้งโดยเซอร์ฟรานซิส แดชวูด (Francis Dashwood) และมีบุคคลชั้นสูงเป็นสมาชิกจำนวนมากร่วมกิจกรรมกัน ณ ถ้ำเวสต์วิคัมบ์ (West Wycombe Caves) ใกล้สุสานของตระกูลแดชวูดซึ่งเป็นสถานที่เพื่อประกอบพิธีลับ ล้อเลียนศาสนพิธีของพวกคาทอลิก โดยผู้ชายสวมหน้ากากและเสแสร้งเป็นนักบวชและให้หญิงโสเภณีแต่งตัวเป็นแม่ชีและมีการร่วมเพศกัน สำหรับวิลกส์การกระทำดังกล่าวนี้เป็น “เสรีภาพ” ในการแสดงออกทางเพศอย่างหนึ่ง
ใน ค.ศ. ๑๗๖๐ พระเจ้าจอร์จที่๓ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ ๒ พระราชบิดาที่ทรงปล่อยให้อำนาจบริหารประเทศตกอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรี ส่วนพระเจ้าจอร์จที่ ๓ มีพระราชดำริที่จะปกครองอังกฤษด้วยพระองค์เองมากกว่าให้อำนาจการบริหารประเทศตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั้นที่อังกฤษทำสงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War ค.ศ. ๑๗๕๖–๑๗๖๓) กับฝรั่งเศสในอเมริกา กับพันธมิตรของฝรั่งเศสในภาคพื้นทวีป ซึ่งพระองค์ไม่ทรงต้องการให้อังกฤษไปเกี่ยวข้องกับ “เรื่องวุ่น ๆ ในดินแดนเยอรมัน” (German Affair) แม้ราชรัฐแฮโนเวอร์ที่ราชวงศ์อังกฤษปกครองในขณะนั้นอาจได้รับผลกระทบด้วย พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงติดสินบนเพื่อหาผู้สนับสนุนในการต่อต้านดุ๊กแห่งนิวคาสเซิล (Duke of Newcastle) นายกรัฐมนตรีและวิลเลียม พิตต์ (William Pitt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่วิลกส์ทำงานให้ และตัวเขาเองก็สนับสนุนสงครามเจ็ดปีด้วย พระองค์ทรงประสบความสำเร็จเมื่อสามารถหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาสามัญเพื่อขัดขวางพิตต์ไม่ให้ประกาศสงครามกับสเปนซึ่งให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศส จนทำให้พิตต์ต้องลาออกจากคณะรัฐบาลผสมในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๖๑ ต่อมาดุ๊กแห่งนิวคาสเซิลและรัฐมนตรีจากพรรควิก (Whig) คนอื่น ๆ ก็ขอลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๖๒ ดังนั้นพระเจ้าจอร์จที่๓ทรงเห็นเป็นโอกาสแต่งตั้งจอห์น สจวร์ต เอิร์ลที่ ๓ แห่งบิวต์ (John Stuart 3ʳᵈ Earl of Bute) พระพี่เลี้ยงและอาจารย์คนสนิทชาวสก็อตซึ่งเป็นพวกทอรี (Tory) เป็นนายกรัฐมนตรีรวมทั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ลอร์ดบิวต์นับเป็นชาวสก็อตคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (United Kingdom of the Great Britain) หลังจากมีการออกพระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ (Act of Union) ใน ค.ศ. ๑๗๐๗
ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบโต้พระเจ้าจอร์จที่ ๓ และเอิร์ลแห่งบิวต์ที่พระองค์สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล วิลกส์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัดพรรควิกจึงได้จัดทำหนังสือพิมพ์ The North Briton แข่งขันกับหนังสือพิมพ์ The Briton ของฝ่ายรัฐบาลขึ้นโจมตีลอร์ดบิวต์อย่างรุนแรง โดยมีลักษณะเสียดสีความเป็นชาวสก็อตของเขาและเป็นผู้ทรยศต่ออังกฤษในการทำสนธิสัญญาปารีสกับฝรั่งเศสและสเปนที่สร้างความเสียหายให้แก่อังกฤษ ทำให้อังกฤษต้องเสียดินแดนบางส่วนที่ยึดได้ในระหว่างสงครามเจ็ดปี รวมทั้งลอร์ดบิวต์ยังมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับพระราชมารดาของพระเจ้าจอร์จที่ ๓
ขณะที่ลอร์ดบิวต์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นแม้เขาจะได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าจอร์จที่ ๓ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้มีความสามารถและถูกโจมตีจากสมาชิกของพรรควิกอยู่เนือง ๆ ในที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๗๖๓ หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ถึง ๑ ปี (๒๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๖๒–๗ เมษายน ค.ศ. ๑๗๖๓) การโจมตีอย่างต่อเนื่องของวิลกส์ทำให้ลอร์ดบิวต์เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ถูกประชาชนเกลียดชังมากที่สุดด้วย
เมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ ๒๓ เมษายนพระเจ้าจอร์จที่ ๓ มีพระราชดำรัสรับรองสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. ๑๗๖๓ (Treaty of Paris 1763)* ที่ลอร์ดบิวต์เป็นผู้ร่าง ต่อมาวิลกส์ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ The North Briton ฉบับที่ ๔๕ ในวันที่ ๓๐ เมษายน ซึ่งตัวเลข ๔๕ สอดคล้องกับกบฏจาโคไบต์ ค.ศ. ๑๗๔๕ (Jacobite Rising of 1745) ซึ่งเรียกเหตุการณ์นั้นว่า The ‘45’ อันมีนัยถึงลอร์ดบิวต์ที่เป็นชาวสก็อตและเป็นพวกจาโคไบต์ที่ประสงค์ร้ายจะสร้างความเสียหายให้แก่อังกฤษ การโจมตีของวิลกส์ได้สร้างความขุ่นเคืองพระทัยให้แก่พระเจ้าจอร์จที่ ๓ เป็นอันมาก อันนำไปสู่การตั้งข้อหาการโฆษณาปลุกปั่นเพื่อล้มล้างรัฐบาล (seditious libel) แก่วิลกส์ วิลกส์ถูกจับกุมและถูกนำไปคุมขังที่หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London) แต่ขณะเดียวกันหมายจับเขากลับทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และเห็นพ้องกันว่าการจับกุมเขาเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาคดีวิลกส์ได้อ้างถึงอภิสิทธิ์ของการเป็นสมาชิกรัฐสภาในการปกป้องตนเองจาก “การกลั่นแกล้ง” และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ ศาลจึงตัดสินให้วิลกส์พ้นจากข้อกล่าวหาและถูกปล่อยตัวให้กลับไปทำหน้าที่ผู้แทนสภาสามัญต่อไป วิลกส์ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่จับกุมเขา ท้ายสุดการตั้งข้อกล่าวหาการโฆษณาปลุกปั่นเพื่อล้มล้างรัฐบาล “วิลกส์เสรีภาพและหมายเลข ๔๕” (Wilkes, Liberty and Number 45) กลายเป็นหัวข้อสนทนาในช่วงเวลานั้น ในเวลาไม่ช้ารัฐสภาก็ได้ลงคะแนนเสียงอย่างรวดเร็วให้ยกเลิกสิทธิการคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาจากการจับกุมหากมีการเขียนและพิมพ์โฆษณาปลุกปั่นเพื่อล้มล้างรัฐบาล
ต่อมาในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๓ แซมวล มาร์ติน (Samuel Martin) ซึ่งเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าจอร์จที่ ๓ และไม่พอใจวิลกส์ที่ล่วงล้ำพระราชอำนาจของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ในการคัดค้านการแต่งตั้งให้จอร์จ เกรนวิลล์ (Gorge Grenville) ที่พระองค์ทรงเลือกเพื่อสืบทอดอำนาจและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากลอร์ดบิวต์ และได้ท้าดวลกับเขา วิลกส์ได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุนเจาะเข้าที่ท้อง อย่างไรก็ดี ศัตรูทางการเมืองของเขาก็ยังไม่ยอมยุติเรื่องพิพาทกับเขาโดยง่ายในจำนวนนี้มีจอห์นมอนตากิวเอิร์ลที่ ๔ แห่งแซนด์วิช (John Montagu 4ᵗʰ Earl of Sandwich) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเคยเป็นสมาชิกของสโมสรไฟนรกด้วย ลอร์ดแซนด์วิชได้นำบทกวีเรื่อง “Essay on Woman” ที่แต่งโดยวิลกส์กับทอมัส พอตเตอร์ (Thomas Potter) เพื่อล้อเลียนกวีนิพนธ์เรื่อง “Essay on Man” ของอะเล็กซานเดอร์ โพป (Alexander Pope) ซึ่งเป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเป็นเจ้า แต่ “Essay on Woman” เป็นเรื่องลามกอนาจาร การร่วมเพศ และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชาย ไปเป็นหลักฐานในการกล่าวโทษว่าวิลกส์เป็นคนไร้ศีลธรรมจรรยา บทกวีเรื่อง “Essay on Woman” ซึ่งพิมพ์จำนวนจำกัดเพียง ๑๒ เล่มและอ่านกันในกลุ่มสมาชิกไฟนรกถูกนำไปอ่านในสภาขุนนาง เนื้อหาที่ลามกโจ่งแจ้งถึงกับทำให้นักบวชสมณศักดิ์สูงบางรูปถึงกับเป็นลม วิลกส์จึงถูกสภาขุนนางขับออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา เขาหลบหนีออกนอกประเทศไปยังกรุงปารีสก่อนที่เขาอาจจะถูกจับกุมและนำตัวขึ้นศาล วิลกส์ถูกพิจารณาคดีลับหลังในข้อหาหมิ่นประมาทหยาบคาย (obscene libel) และหมิ่นประมาทปลุกระดม (sedition libel) จากคดีเก่า และถูกประกาศให้เป็นบุคคลนอกกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๗๖๔ รวมทั้งถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ นับว่าเป็นชัยชนะของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ที่ทรงใช้อิทธิพลที่มีต่อรัฐสภาในการกำจัดวิลกส์ให้หมดบทบาททางการเมืองได้ในระยะเวลาหนึ่ง
ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๖๔ ถึงต้น ค.ศ. ๑๗๖๘ วิลกส์ได้ใช้ชีวิตในกรุงปารีสโดยหวังว่าเพื่อน ๆ นักการเมืองของเขาจะกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งและสามารถช่วยเขาให้พ้นจากข้อกล่าวหาได้ แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีส เขาต้องตัดสินใจกลับอังกฤษเนื่องจากหนี้สินจำนวนมากและเกรงจะถูกเจ้าหนี้ทำร้าย เมื่อกลับมาอังกฤษเขาได้ลงเลือกตั้งในเขตกรุงลอนดอนโดยที่รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการจับกุมเขาและปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ดำเนินต่อไป วิลกส์จึงสามารถสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเขตเลือกตั้งกรุงลอนดอน แต่เขาได้รับคะแนนเสียงต่ำสุดในบรรดาผู้ลงสมัคร ๗ คน ต่อมาเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่มิดเดิลเซกซ์ (Middlesex) วิลกส์ถูกจับกุมในเดือนเมษายนและถูกปฏิเสธสิทธิการมีที่นั่งในรัฐสภา เขาไม่ได้รับการผ่อนผันการจับกุมวิลกส์จึงถูกศาลตัดสินโทษจำคุก ๒ ปี พร้อมเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ ปอนด์ และรัฐสภาได้ขับเขาออกจากการเป็นสมาชิกด้วย
วิลกส์ถูกจองจำที่ทัณฑสถานคิงเบนช์ (King Bench Prison) มีชาวลอนดอนที่สนับสนุนเขาไปเยี่ยมเป็นจำนวนมากพร้อมกับส่งเสียงตะโกน “ไม่มีเสรีภาพไม่มีกษัตริย์” (no liberty, no king) กลุ่มผู้สนับสนุนได้ถูกทหารระดมยิงกระสุนปืนใส่ มีผู้เสียชีวิต ๗ คน และบาดเจ็บ ๑๕ คน เหตุการณ์สังหารนี้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า “การสังหารหมู่ที่ทุ่งเซนต์จอร์จ” (St.George’s Fields Massacre) ขณะเดียวกันประชาชนที่มิลเดิลเซกซ์ยังคงเลือกเขาเป็นผู้แทนสภาสามัญอีกในเดือนมีนาคม และเขาก็ถูกขับออกจากรัฐสภาอีก และในการเลือกตั้งครั้งต่อมา รัฐสภาได้ประกาศให้เฮนรี ลัตเทรลล์ (Henry Luttrell) ที่แพ้คะแนนเขาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างไรก็ดีบรรดาเพื่อนๆและผู้สนับสนุนเขาได้จัดตั้งสมาคมปกป้องพระราชบัญญัติสิทธิพลเมือง (Society for the Defence of the Bill of Rights) ขึ้นเพื่อยืนหยัดปกป้องสิทธิและที่นั่งในรัฐสภาของเขาและหาเงินสนับสนุนเพื่อชำระหนี้สินให้แก่เขา วิลกส์ใช้กรุงลอนดอนและสมาคมปกป้องพระราชบัญญัติสิทธิพลเมืองเดินหมากทางการเมืองต่าง ๆ ขณะอยู่ในคุก เขาได้รับเลือกเป็นเทศมนตรี (alderman) ของกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๗๖๙ จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวรัฐสภาให้ล้มล้างการกีดกันเขาเป็นผู้แทนรัฐสภาและปลดปล่อยเขาออกจากคุกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๗๐ เขาได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ประจำมณฑล (sheriff) ของกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๗๗๑ และเป็นผู้ว่าการกรุงลอนดอน (Lord Mayor of London) ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ ในปีเดียวกันนั้นเขายังได้รับเลือกเป็นผู้แทนจากมิลเดิลเซกซ์อีกด้วยจากการจัดทำโครงการสุดโต่งต่าง ๆ เขาต่อต้านนโยบายส่งทหารอังกฤษไปรบในสงครามปฏิวัติของชาวอเมริกันหลังจากอเมริกาประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๗๖ และได้รับความชื่นชมจากชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากในฐานะนักหนังสือพิมพ์นักการเมืองหัวรุนแรง และผู้รักเสรีภาพ เขามีบทบาทสำคัญในการจัดให้มีเสรีภาพในการพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ช่วงที่เขาเป็นผู้แทนในทศวรรษ ๑๗๗๐ เขายังเรียกร้องขันติธรรมทางศาสนา คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสิ่งตีพิมพ์ และให้สิ่งตีพิมพ์สามารถรายงานข้อโต้แย้งหรือข้อถกเถียงในรัฐสภาได้อย่างอิสระ ยกเลิกเขตเลือกตั้งกระเป๋า (pocket borough) และการขยายสิทธิในการเลือกตั้งแก่พลเมืองชายซึ่งบางประเด็นนับเป็นข้อเสนอที่สุดโต่งของทศวรรษ ๑๗๗๐ และต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่รัฐสภาจะออกร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ค.ศ. ๑๘๓๒ และการขยายสิทธิการเลือกตั้งแก่พลเมืองชายใน ค.ศ. ๑๘๖๗
ใน ค.ศ. ๑๗๗๙ วิลกส์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรมเมือง(Chamberlain)แห่งกรุงลอนดอนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยต่าง ๆ นับเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบสูง เขาดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงแก่กรรมในอีก ๘ ปีต่อมา อย่างไรก็ดีการดำรงตำแหน่งดังกล่าวทำให้วิลกส์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลกอร์ดอน (Gordon Riots) ในกลาง ค.ศ. ๑๗๘๐ ซึ่งมีสาเหตุจากการที่พวกโปรเตสแตนต์เดินขบวนและก่อการจลาจลประท้วงพระราชบัญญัติคาทอลิก (Papists Act) ค.ศ. ๑๗๗๘ ที่ออกมาเพื่อบรรเทาทุกข์และลดความเหลื่อมล้ำที่มีต่อนิกายคาทอลิกในอังกฤษ ยกเลิกบทลงโทษและข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพศาสนิกชนคาทอลิก การจลาจลกอร์ดอนได้รับชื่อมาจากลอร์ดจอร์จ กอร์ดอน (George Gordon) นายกสมาคมโปรเตสแตนต์ (Protestant Association) ที่เป็นหัวหอกในการต่อต้านพระราชบัญญัติคาทอลิกฉบับนี้และออกมาเตือนประชาชนถึงผลของพระราชบัญญัติที่จะทำให้พวกคาทอลิกในกองทัพสามารถเป็นตัวอันตรายต่อกองทัพอังกฤษได้ พวกประท้วงได้ก่อการจลาจลขึ้นและการลุกฮือได้ขยายตัวไปทั่วจนกองทัพต้องเข้าปราบปรามระหว่างวันที่ ๒–๙ มิถุนายนนับว่าเป็นการจลาจลที่สร้างความเสียหายให้แก่กรุงลอนดอนมากที่สุด มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นักโทษในทัณฑสถานนิวเกต (Newgate Prison) ถูกผู้ก่อการจลาจลช่วยเหลือปลดปล่อยออกจากคุกมีคนไปเขียนบนกำแพงคุกว่านักโทษถูกปลดปล่อยโดยอำนาจของ “พระเจ้าม็อบ” (His Majesty, King Mob) อันมีนัยถึงฝูงชนที่ก่อการจลาจลเป็นผู้กระทำ ต่อมาคำว่า “พระเจ้าม็อบ” จึงถูกนำไปใช้ในความหมายของพวกชนชั้นกรรมาชีพที่ดื้อรั้นและก่อความรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้
ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์การจลาจลกอร์ดอนวิลกส์ในฐานะกรมเมืองกรุงลอนดอนได้สั่งให้กองกำลังคุ้มครองธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) อย่างเข้มแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงและฝูงชนเห็นเป็นโอกาสเข้าปล้นธนาคาร ทั้งเขายังเป็นผู้ออกคำสั่งให้กองกำลังใช้อาวุธปืนระดมยิงเข้าไปยังกลุ่มผู้ก่อการจลาจลอีกด้วย ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่แรงงานเป็นจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเขาเคยนับถือวิลกส์ว่าเป็น “คนของประชาชน” และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเป็นพวกแสแสร้ง ไม่จริงใจ และหลอกลวง ดังนั้นพวกชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นฐานอำนาจและสนับสนุนวิลกส์มาโดยตลอดต่างหมดศรัทธาในตัวเขาและตีจาก วิลกส์ยังถูกโจมตีว่าหลักการหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ของเขาเป็นภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแผ้วทางไปสู่การเมือง เป็นบุคคลทุจริต ขี้โกง เจ้าเล่ห์ และนักฉวยโอกาสที่ปั่นหัวสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง ส่วนอิทธิพลของเขาในสหรัฐอเมริกาก็ลดลงเนื่องจากหลังได้รับชัยชนะในสงครามปฏิวัติของชาวอเมริกันแล้วชาวอเมริกันต่างมุ่งจัดตั้งประเทศและสร้างระบบความคิดและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในแนวทางของตนเอง โดยเลิกสนใจกับ “ความเป็นอังกฤษ” ที่เคยมีอิทธิพลในสังคมอเมริกัน รวมทั้งแนวคิดของนักการเมืองหัวรุนแรงเช่นวิลกส์ด้วยอย่างไรก็ดี เรื่องเสรีภาพในการเสนอข่าวและการพิมพ์และการปกป้องสิทธิของสมาชิกรัฐสภาของวิลกส์ได้ถูกนำไปเป็นสาระสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาด้วย
การเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๗๘๔ แม้วิลกส์ยังสามารถรักษาที่นั่งในรัฐสภาโดยเป็นผู้แทนเขตมิดเดิลเซกซ์ไว้ได้ แต่บทบาทและอิทธิพลของเขาในรัฐสภาก็จางหายไป ชื่อของเขาที่เคยใช้เป็นคำขวัญคู่กับเสรีภาพ “เสรีภาพกับวิลกส์” (Wilkes and Liberty) กลายเป็นคำขวัญที่ล้าสมัยไปแล้ว และเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองด้วยกันอีกด้วย ดังนั้นในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๗๙๐ วิลกส์จึงตัดสินใจถอนตัวจากการลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้เหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* ซึ่งแบ่งแยกแนวคิดทางการเมืองของชาวอังกฤษเป็น ๒ ฝ่าย วิลกส์ซึ่งเคยสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอเมริกันกลับแสดงความคิดเห็นต่อต้านการใช้ความรุนแรงของฝ่ายปฏิวัติและอยู่ตรงข้ามกับพวกหัวรุนแรง และมีแนวคิดสอดคล้องกับพวกอนุรักษนิยมเช่นเดียวกับเอดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)* นักคิดนักปรัชญาร่วมสมัยที่สังกัดพรรควิกและเคยสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอเมริกันซึ่งกลายเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสไปในที่สุด
ในบั้นปลายชีวิต จอห์น วิลกส์ได้ครอบครองคฤหาสน์วิลลาคิน (Villakin) ที่แซนดาวน์ (Sandown) ในไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight) แต่เสียชีวิตด้วยโรคผอมแห้งหรือโรคกษัย (wasting disease) ที่บ้านพักในเขตเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ ขณะอายุ ๗๒ ปี ศพของเขาได้ฝังในหอสวดมนต์โกรสเวอเนอร์ (Grosvenor Chapel) กรุงลอนดอน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปปั้นเต็มตัวของเขาที่เฟตเตอร์เลน(FetterLane) ในกรุงลอนดอนซึ่งครั้งหนึ่งวิลกส์เคยได้รับยกย่องจากชาวลอนดอนว่าเป็นผู้ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิของสมาชิกรัฐสภาจากการใช้อำนาจของรัฐและปกป้องเสรีภาพของประชาชน.